— — ข. การอ้างพุทธพจน์โดยตัดทอนหรือบิดเบือนความ ให้สนับสนุนมังสวิรัติ

20 กรกฎาคม 2533
เป็นตอนที่ 10 จาก 15 ตอนของ
ข. การอ้างพุทธพจน์โดยตัดทอนหรือบิดเบือนความ ให้สนับสนุนมังสวิรัติ

ในเรื่องนี้จะขอยกตัวอย่างเพียงเรื่องเดียวก่อน เพราะหัวข้อก่อนกินเนื้อที่ยาวมากแล้ว โดยจะกล่าวถึงเรื่องที่เกี่ยวกับหลักการสำคัญอย่างหนึ่งของท่านโพธิรักษ์ คือ การถือมังสวิรัติ

ท่านโพธิรักษ์ พยายามอธิบายและอ้างหลักฐานต่างๆ มาแสดงเพื่อให้เห็นว่า พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติหรือตรัสสอนให้ภิกษุถือมังสวิรัติ ในการอธิบายอย่างนี้ เหตุผลอย่างหนึ่งที่ท่านโพธิรักษ์อ้าง ก็คือคำอธิบายเกี่ยวกับคำว่า อุททิสสมังสะ โดยท่านโพธิรักษ์อธิบายคำว่า อุทฺทิสฺส ในเชิงที่มีความหมายเท่ากับคำว่า สญฺจิจฺจ (ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดขั้นหนึ่งแล้ว) ต่อจากนั้น ก็แปลคำ อุทฺทิสฺส และ สญฺจิจฺจ นั้น ว่าเป็นการจงใจหรือเจาะจงกระทำร้ายต่อชีวิต (สัตว์), กระทำต่อชีวิตสัตว์ จงใจทำร้าย, หรือ ทำร้ายสัตว์ (หรือฆ่าสัตว์) อย่างจงใจ (เป็นการเข้าใจสับสน ขั้นที่สอง) ซึ่งเป็นการอธิบายและแปลเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปว่า อุททิสสมังสะ หมายถึงเนื้อสัตว์ที่จงใจฆ่า ไม่จำเป็นต้องฆ่าเพื่อใคร เมื่อเป็นเนื้อที่เจาะจงฆ่าเพื่อทำเป็นอาหารแล้ว ก็เป็นอุททิสสมังสะทั้งหมด ภิกษุฉันไม่ได้ทั้งนั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องฆ่าเพื่อเจาะจงถวายตนแล้วจึงจะฉันไม่ได้ ต่อจากนั้น เพื่อให้คำอธิบายของท่านหนักแน่น ท่านโพธิรักษ์ก็ยกพุทธพจน์ในชีวกสูตรมาอ้างว่า พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ทำนองเดียวกับที่ท่านอธิบาย คือ เนื้อสัตว์ที่เอามาถวายพระพุทธเจ้าหรือพระสงฆ์นั้น เพียงเป็นเนื้อสัตว์ที่ตั้งใจฆ่า ก็เอามาถวายไม่ได้แล้ว เป็นบาป ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเนื้อสัตว์ที่ฆ่าเจาะจงเพื่อถวายโดยตรง ข้อความที่อ้างตอนนี้ว่า

“ดูกรชีวก ผู้ใดกระทำต่อสัตว์โดยมุ่งหมายร้าย (อุททิสสะ ปาณัง อารภติ ไม่ว่าเชิงหนักหรือเบาปานใด ก็ตาม) แล้วนำมาถวายตถาคต หรือสาวกตถาคต ผู้นั้นย่อมได้รับบาปอย่างหนัก มิใช่บุญเลย ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ …” (ไขข้อข้องใจมังสวิรัติกับเทวทัต, หน้า ๑๙)

หนำซ้ำยังอ้างว่า “เพราะพระบาลีที่มีมาในพระไตรปิฎกแท้ๆ นั้น เนื้อความก็มีอยู่เพียงสั้นๆ แค่ว่า อุททิสสะ ปาณัง อารภติ และหรือบางแห่งท่านก็ว่าสัญจิจจะ ปาณัง ชีวิตา โวโรเปตุง เท่านี้เอง ซึ่งไม่มีคำความอะไรที่ขยายหรือไม่มีคำความอะไรให้จำกัด จำเขี่ยความหมายไว้ว่า สัตว์นั้นจะต้อง เป็นการฆ่าโดยผู้ฆ่าต้องระบุให้แก่คนนั้นคนนี้เฉพาะ แล้วคนนั้นหรือผู้ที่ถูกระบุนั้น จึงจะกินเนื้อสัตว์ที่ฆ่านั้นไม่ได้” (อ้างแล้ว, หน้า ๑๑)

สำหรับคำว่า อุททิสสะ นั้นที่จริงมีคำขยายที่เป็นการจำกัดคือระบุตัว (มีตัวกรรม) อย่างชัดเจน หาใช่เป็นอย่างที่ ท่านโพธิรักษ์อธิบายไม่ (ส่วน สัญจิจจะ ไม่ต้องมีตัวกรรมต่างหาก เพราะเป็นคำแสดงเจตนาต่อตัวสัตว์เอง) ดังหลักฐานในบาลี แห่งชีวกสูตรที่ท่านโพธิรักษ์ยกมาอ้างข้างบนนั้นเอง ซึ่งมีข้อความว่า

“โย โข ชีวก ตถาคตํ วา ตถาคตสาวกํ วา อุทฺทิสฺส ปาณํ อารภติ โส ปญฺจหิ าเนหิ พหุํ อปุญฺํ ปสวติ” (ม.ม.๑๓/๖๐/๕๒)

คำขยายที่เป็นกรรมรับคำกิริยา อุทฺทิสฺส ก็คือ ตถาคตํ วา ตถาคตสาวกํ วา (เป็นธรรมดาของคำว่า อุทฺทิสฺส จะต้องมีคำขยายเป็นกรรมรับ ยกเว้นแต่ในกรณีที่กล่าวมาจนรู้กันแล้ว ละไว้ในฐานเข้าใจได้)

คำแปลที่ถูกต้อง ไม่เสริมแต่งดัดแปลงตัดเติมตามใจตัว จะเป็นดังนี้ (ขอให้เทียบกับคำแปลของท่านโพธิรักษ์ข้างต้น)

“ดูกรชีวก ผู้ใดดำเนินการฆ่าสัตว์ เจาะจงต่อตถาคต หรือสาวกของตถาคต ผู้นั้นย่อมประสบบาปเป็นอันมาก ด้วยเหตุ ๕ ประการ” (คำว่า ตถาคตหรือสาวกของตถาคต เป็นกรรมของคำว่าอุททิสสะ คือ ฆ่าโดยอุทิศ เจาะจง มุ่งให้ หรือระบุตัวต่อตถาคตหรือสาวกของตถาคต ไม่ใช่เป็นกรรมของคำว่านำมาถวาย และคำว่า นำมาถวาย ก็ไม่มีในข้อความที่อ้างนี้ด้วยซ้ำ)

เรื่องมังสวิรัตินี้ เมื่อมีเวลาก็จะได้เขียนชี้แจงไว้ต่างหากอีกส่วนหนึ่ง เพราะเป็นเรื่องที่ถูกทำให้เข้าใจสับสนมากเรื่องหนึ่ง ในที่นี้ยกมาแสดงพอให้เห็นถึงวิธีของท่านโพธิรักษ์ ในการยกพุทธพจน์มาอ้าง ซึ่งจะโดยไม่รู้ไม่เข้าใจ หรือโดยเจตนาอย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ได้ทำให้ข้อความสำคัญถูกตัด หรือตกหล่นหายไป ทำให้ความหมาย และเนื้อหาสาระของพุทธพจน์นั้นผิดเพี้ยน หรือกลายความหมายไปเป็นอย่างอื่น อันเป็นการกระทำที่ไม่สมควร และเป็นผลเสียหายทั้งต่อพระศาสนา ต่อความรู้ความเข้าใจของประชาชน และต่อความเป็นจริง

การถือมังสวิรัตินั้น จะว่าดีอย่างไร ก็แสดงเหตุผลไป และชักชวนกันไป โดยที่เหตุผลด้านอื่นๆ ที่จะยกมากล่าวก็มีมากทีเดียว ให้คนเห็นดีเห็นงามตามเหตุผลที่เป็นจริง นั่นจะเป็นการประเสริฐ ไม่มีใครขัดขวาง แต่ไม่น่าจะต้องมาใช้วิธีดัดแปลงแก้ไขพุทธพจน์ หรือหลักฐานในพระไตรปิฎกให้สนองความประสงค์ของตนหรือแปลความหมายของถ้อยคำให้คลาดเคลื่อน โดยไม่ศึกษาให้ชัดเจน ควรจะปล่อยพุทธพจน์ไว้ตามปกติที่เป็นอยู่ และช่วยกันรักษาไว้ให้ดีที่สุดเท่าที่มาถึงเรา ซึ่งเราก็มีสิทธิที่จะเชื่อหรือไม่ก็ได้ พระพุทธเจ้าย่อมทรงมีเหตุผลของพระองค์ เมื่อเราไม่เห็นด้วย ก็ปล่อยของท่านไว้ คนรุ่นหลังจะได้มีโอกาสศึกษาของเดิมอย่างเดียวกับที่เรามาพบ นอกจากนั้น แม้จะไม่ดัดแปลงแก้ไข แต่ในการแปลก็ควรพยายามระมัดระวังทำโดยรอบคอบ และให้แน่ใจที่สุด อย่าด่วนแปลเอาตามที่คิดโดยไม่ได้ศึกษาให้ชัดเจน ทั้งคำ ความ และหลักภาษาต้นเดิม

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< — — ก. กรณีอวดอุตริมนุสธรรมและคำว่าอนุปสัมบัน— — ค. การตั้งทฤษฎีว่าจะเป็นพระโพธิสัตว์ และพระอรหันต์ในคราวเดียวกัน >>

No Comments

Comments are closed.