ภาคผนวก: คำให้สัมภาษณ์และตอบชี้แจง (ฉบับย่อ-เพิ่มเติม)

20 กรกฎาคม 2533
เป็นตอนที่ 14 จาก 15 ตอนของ

ภาคผนวก: เพื่อความเข้าใจปัญหาโพธิรักษ์
คำให้สัมภาษณ์และตอบชี้แจง
ฉบับย่อ-เพิ่มเติม

– เวลานี้ กรณีระหว่างท่านโพธิรักษ์ กับมหาเถรสมาคม กำลังได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก

เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเพียงกรณีระหว่างท่านโพธิรักษ์ กับมหาเถรสมาคม ศึกษาเรื่องให้ตลอดก่อนแล้วจะเห็นว่า เรื่องนี้เป็นกรณีระหว่างท่านโพธิรักษ์ กับผู้รักษาพระพุทธศาสนา กับผู้รักพระธรรมวินัย และกับคนที่รักความจริงโดยทั่วไป

การที่อาตมาพูดและเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ใช่เพราะว่าท่านโพธิรักษ์มีปัญหากับมหาเถรสมาคม แต่เพราะเห็นว่า ท่านโพธิรักษ์ได้ทำให้เกิดปัญหาขึ้นแก่พระพุทธศาสนา ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนวิปริตขึ้นแก่หลักพระธรรมวินัย และมีพฤติการณ์ที่แสดงถึงการขาดความซื่อตรงต่อความจริง

อนึ่ง เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ บางทีก็เรียกกันว่า กรณีสันติอโศก แต่ที่จริง คำว่า กรณีสันติอโศก นั้น เป็นการเรียกอย่างคลุมๆ หมายถึงจุดหรือหย่อมที่เกิดเหตุการณ์ ถ้าว่าให้ชัด เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ตัวท่านโพธิรักษ์ผู้เดียว ส่วนที่จะเป็นปัญหาแก่ผู้อื่นในสันติอโศก ก็เป็นเพียงเรื่องที่โยงออกไปจากท่านโพธิรักษ์เท่านั้น ถ้าจะพูดให้ตรงจุดตรงเป้าจริงๆ จึงต้องเรียกว่า ปัญหาโพธิรักษ์ หรือกรณีโพธิรักษ์

– ท่านโพธิรักษ์พยายามชี้ให้ประชาชนเห็นว่า พระฝ่ายสันติอโศก ต่างจากพระของมหาเถรสมาคมอย่างไร

ที่เรียกกันว่าพระฝ่ายสันติอโศก และพระของมหาเถรสมาคมนั้น เป็นการใช้คำพูดที่ไม่ถูกต้อง

ยกตัวอย่าง ตัวอาตมาผู้ให้สัมภาษณ์นี้เอง บวชเข้ามาเป็นพระสงฆ์ไทย อยู่ในประเทศไทย ทางการบ้านเมืองได้ออกกฎหมายปกครองคณะสงฆ์มา แล้วก็ตั้งมหาเถรสมาคมขึ้นมาเป็นองค์กรปกครองคณะสงฆ์ อาตมาก็เลยกลายเป็นว่าต้องอยู่ภายใต้การปกครองนั้นไปด้วย แต่ก็ไม่ได้มีความหมายว่าอาตมาเป็นพระของมหาเถรสมาคม ทั้งท่านโพธิรักษ์ และอาตมาต่างก็ไม่ได้เป็นพระของมหาเถรสมาคม แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม ตามกฎหมายด้วยกันทั้งนั้น จึงไม่ควรพูดว่า นั่นพระฝ่ายสันติอโศก นั่นพระของมหาเถรสมาคม เพราะเป็นการทำให้เกิดความเข้าใจผิดพลาด แต่ถ้ายังจะขืนให้เป็นฝ่ายให้ได้ ก็ต้องพูดว่ามี ๓ ฝ่าย คือ ฝ่ายสันติอโศก ฝ่ายมหาเถรสมาคม และฝ่ายอิสระอย่างเช่นอาตมานี้เป็นต้น ไม่ใช่มีแค่ ๒ ฝ่าย

เรื่องนี้ถ้าจับประเด็นให้ถูก ก็จะเข้าใจว่า กรณีโพธิรักษ์นี้ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับปัญหาอื่นๆ เล็กบ้างใหญ่บ้าง ที่ผุดโผล่ขึ้นมาในวงการพระศาสนา ซึ่งผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ถ้ามีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน ก็จะต้องเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหา แม้พระสงฆ์อื่นๆ และชาวพุทธทั่วไปก็มีความรับผิดชอบ ที่จะต้องป้องกันแก้ไขพฤติการณ์ที่ขัดแย้งกับพระธรรมวินัยนั้นด้วย ไม่ใช่เรื่องที่จะมาเรียกว่าเป็นฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ ไม่มีฝ่ายสันติอโศก หรือฝ่ายมหาเถรสมาคม มีแต่ปัญหา กับการที่ว่าจะช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างไร อาตมาเป็นพระสงฆ์องค์หนึ่ง เป็นพระทั่วไปนี้แหละ เมื่อเห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา ที่กระทบกระเทือนต่อพระธรรมวินัย ก็ถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องรักษาพระธรรมวินัยไว้ จึงได้พูดจาขีดเขียนต่างๆ ทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเป็นอิสระ เพื่อทำความเข้าใจกันให้ถูกต้อง

– เรื่องท่านโพธิรักษ์เป็นปัญหาอย่างไร?

ก่อนจะเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาอย่างไร จะต้องทำความเข้าใจให้ชัดว่าปัญหาในพระพุทธศาสนาคืออะไร ปัญหาในพระพุทธศาสนานั้น แยกได้เป็น ๒ ระดับคือ

๑. ปัญหาเกี่ยวกับตัวศาสนาเอง คือ ปัญหาเกี่ยวกับหลักการและรูปแบบของพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า พระธรรมวินัย แยกเป็น ธรรม คือหลักการของพระพุทธศาสนา หรือหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า และวินัย คือระบบและรูปแบบที่จัดตั้งขึ้นตามหลักการนั้น ซึ่งเป็นเครื่องรักษาหลักการนั้นไว้ โดยเฉพาะรูปแบบของพระภิกษุสงฆ์

เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระธรรมวินัยนี้ถูกประมวลรักษาไว้ในคัมภีร์ที่เรียกว่าพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกจึงเป็นมาตรฐานตัดสินว่า คำสอน ความเชื่อ และความประพฤติปฏิบัติใดเป็นธรรมวินัยคือเป็นพระพุทธศาสนาหรือไม่

ปัญหาเกี่ยวกับตัวศาสนาจะเกิดขึ้นใน ๒ ลักษณะ คือ

ก. ปัญหาการทำพระธรรมวินัยให้วิปริต เช่น มีผู้สอนสิ่งที่ไม่มีในพระไตรปิฎก ว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ลบล้างหรือดัดแปลงแต่งเติมแก้ไขพุทธพจน์ และพุทธบัญญัติในพระไตรปิฎกให้ผิดเพี้ยนไปต่างๆ เรียกง่ายๆ ว่า ปลอมแปลงพระธรรมวินัย (คำสอนที่ผิดเพี้ยน หรือปลอมแปลงขึ้นมานี้ เรียกว่า สัทธรรมปฏิรูป) การกระทำในข้อนี้เป็นความชั่วร้ายแรงที่สุด เป็นการทำลายพระพุทธศาสนาโดยตรงถึงรากถึงแก่น

ข. ปัญหาเกี่ยวกับการตีความพระธรรมวินัย ปัญหานี้ในพระพุทธศาสนาไม่ค่อยสำคัญมากนัก เพราะพระพุทธ ศาสนาให้เสรีภาพทางปัญญามาก แต่ก็ต้องระวังว่าให้เป็นการตีความด้วยสุจริตใจ ไม่มีเจตนาบิดเบือน

๒. ปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคลในศาสนา คือ ความประพฤติของพระภิกษุสามเณรเป็นต้น ที่ย่อหย่อนผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากพระธรรมวินัย เช่น การล่วงละเมิดพุทธบัญญัติต่างๆ ในพระวินัย ที่เรียกกันว่า ทำผิดศีล เรียกง่ายๆ ว่าประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย

ปัญหาเกี่ยวกับตัวพระศาสนาในข้อ ก. คือการดัดแปลงแก้ไขปลอมปน หรือคัดค้านล้มล้างพระธรรมวินัย เช่น ไม่ยอมรับพุทธพจน์และพุทธบัญญัติต่างๆ หรือบัญญัติคำสอนของตนเองขึ้นใหม่ไม่ตรงตามพระธรรมวินัย เป็นความผิดที่ร้ายแรงที่สุด เพราะเป็นการทำลายเนื้อตัวของพระพุทธศาสนา เท่ากับไม่ยอมรับพระศาสดา เป็นความผิดต่อพระรัตนตรัยโดยตรง ทำให้หลักแห่งพระธรรมวินัยลบเลือนคลาดเคลื่อนและสับสน ไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจนสำหรับวินิจฉัยความเชื่อถือ และการประพฤติปฏิบัติสืบต่อไป

ในด้านปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคลในศาสนา ถ้ามีพระภิกษุประพฤติผิดวินัย ล่วงละเมิดพุทธบัญญัติกันมาก ก็เป็นเรื่องสำคัญเพราะทำให้เกิดความเสื่อมโทรมแก่พระพุทธศาสนา และทำให้พระพุทธศาสนาอำนวยประโยชน์สุขแก่สังคมไม่ได้เท่าที่ควร แต่ตราบใดที่พระภิกษุเหล่านั้น แม้จะชั่วช้าเลวทรามอย่างไร แต่ยังยอมรับพระวินัย ไม่คัดค้าน ไม่ลบล้างดัดแปลงแก้ไขพระพุทธบัญญัติ ก็เท่ากับยังยอมรับพระศาสดาอยู่ ยังมีโอกาสแก้ไขได้ ยังไม่เป็นการทำลายเนื้อตัวของพระพุทธศาสนา เมื่อใดการปกครองสงฆ์เข้มแข็งขึ้นมา ก็จะแก้ไขปัญหาปรับให้เข้ารูปเข้ารอยได้อีก

อนึ่ง พระภิกษุนอกจากเป็นสมาชิกในคณะสงฆ์แล้ว ก็เป็นพลเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่งด้วย เมื่อเป็นพลเมืองของประเทศใด หรืออยู่ในประเทศใด ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศนั้น ถ้าละเมิดกฎหมาย ก็ถูกพิจารณาสอบสวนลงโทษตามความผิด

กรณีของท่านโพธิรักษ์นี้ เป็นการทำความผิดทุกอย่างที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด คือ ทั้งละเมิดกฎหมาย ทั้งละเมิดพุทธบัญญัติประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย และทั้งคัดค้านแก้ไขดัดแปลงพระพุทธบัญญัติ ทำพระธรรมวินัยให้วิปริต โดยเฉพาะเมื่อประพฤติผิดพระวินัย ล่วงละเมิดพุทธบัญญัติแล้ว ก็ไม่ยอมให้ปรับโทษอย่างภิกษุอื่นที่ทำความผิด กลับอ้างว่าสิ่งที่ตนกระทำถูกต้องแล้ว คัดค้านไม่ยอมรับพุทธบัญญัติ แก้ไขดัดแปลงพุทธบัญญัติและบัญญัติหลักเกณฑ์เอาใหม่ เพื่อให้ตนพ้นความผิด นอกจากนั้น ในการละเมิดกฎหมาย ก็มิใช่ละเมิดเฉพาะข้อนั้นข้อนี้เหมือนใครอื่น แต่ฝ่าฝืนกฎหมายทั้งฉบับ ไม่ยอมรับอำนาจปกครองของกฎหมายนั้นเลย เป็นเหมือนการประกาศตัวตั้งเป็นรัฐอิสระซ้อนขึ้นมาในแผ่นดิน

– ที่ว่าท่านโพธิรักษ์ละเมิดกฎหมาย ละเมิดพระวินัย และล้มล้างดัดแปลงพระพุทธบัญญัตินั้น ท่านทำอย่างไร และที่ว่า ตัวท่านผู้ให้สัมภาษณ์ทำงานเรื่องนี้อย่างเป็นอิสระ ท่านเข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหานี้อย่างไร?

ก. ในแง่การละเมิดกฎหมาย ท่านโพธิรักษ์ประกาศไม่ยอมรับกฎหมายบ้านเมือง ที่รัฐตราขึ้นสำหรับปกครองพระสงฆ์ไทยทั้งหมดทั่วประเทศ (กฎหมายฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบัน เรียกว่า พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕) ไม่ยอมรับอำนาจปกครองของมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรปกครองคณะสงฆ์ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายนั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงละเมิดกฎหมายนั้นทั่วไปหมดแล้วแต่ท่านจะพอใจ เช่น ตั้งตัวเป็นพระอุปัชฌาย์ บวชพระเอาเองโดยไม่ได้รับตราตั้ง อยู่เป็นพระโดยไม่สังกัดวัดใดวัดหนึ่ง ตั้งสำนักขึ้นมาเองโดยไม่ได้รับการอนุญาตสร้างวัดตามกฎหมาย ตั้งตัวเป็นเจ้าสำนักเองโดยไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส

ข. ในแง่การละเมิดพุทธบัญญัติ ประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย ท่านโพธิรักษ์บวชเข้ามาแล้วก็ไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย และไม่ยอมรับการฝึกอบรมตามกำหนดแห่งพระวินัย ก่อปัญหาแก่พระอุปัชฌาย์อาจารย์ถึงขั้นตัดขาดจากกัน เป็นอยู่โดยไม่ถือนิสสัยตามพระวินัย ตั้งตนเป็นอุปัชฌาย์ทั้งที่ยังมีพรรษาไม่ครบตามพุทธบัญญัติ โดยเฉพาะกรณีที่เด่นมาก เพราะทำอยู่เสมอเป็นอาจิณ และโยงไปถึง การทำความผิดในข้อสุดท้ายด้วย ก็คือ การอวดอุตริมนุสธรรม หรืออวดคุณวิเศษต่างๆ เช่น อวดอ้างว่าตนเป็นพระอริยะ เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอรหันต์ เป็นต้น ในพระวินัยปิฎก พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ชัดเจนว่า ถ้าภิกษุอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีจริงโดยเจตนาพูดเท็จ ก็มีความผิดขั้นเป็นอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที เป็นความผิดขั้นร้ายแรงที่สุด ๑ ใน ๔ ข้อ เท่ากับภิกษุร่วมประเวณี ลักทรัพย์ หรือฆ่าคน และทรงบัญญัติไว้อีกข้อหนึ่งว่า ถึงแม้ภิกษุจะมีอุตริมนุสธรรม คือคุณวิเศษนั้นในตนจริง แต่ถ้าบอกแก่อนุปสัมบัน คือคนที่มิใช่ภิกษุหรือภิกษุณี ก็เป็นความผิดขั้นอาบัติปาจิตตีย์ ซึ่งเป็นความผิดที่เบาลงมา

ท่านโพธิรักษ์ต่างจากภิกษุอื่นๆ ทั่วๆ ไปที่เมื่อทำผิดแล้ว คนอื่นค้นพบ มาดำเนินการ ก็ยอมรับผิด แต่โพธิรักษ์ไม่ยอมรับความผิดเลย และยังหาญกล้าถึงกับปฏิเสธไม่ยอมรับพุทธบัญญัติ ทำให้กลายเป็นการทำผิดในข้อต่อไปอีก

สำหรับการทำความผิดของท่านโพธิรักษ์ ในแง่การละเมิดกฎหมาย และในการทำผิดพระวินัยละเมิดพุทธบัญญัตินี้ อาตมาไม่ยุ่งเกี่ยวด้วย เพราะถือว่าเป็นเรื่องของผู้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณาดำเนินการกันไป แต่จะพูดแสดงความเห็นบ้าง ในเมื่อเห็นว่า ท่านโพธิรักษ์และคนของท่านพูดไม่เป็นเหตุเป็นผล ดูเค้าว่าจะไม่ซื่อตรงต่อความจริง จึงขอติงบ้าง แต่ที่ต้องสละเวลาเข้ามาพูดมาเขียนนี้ ก็เพราะท่านโพธิรักษ์ก้าวไปถึงขั้นทำความผิด ต่อเนื้อตัวของพระศาสนา ทำพระธรรมวินัยให้วิปริต ซึ่งเป็นหน้าที่ของพระภิกษุและชาวพุทธทุกรูปทุกคนที่จะต้องช่วยกันปกป้องรักษา

ค. ในแง่การคัดค้านลบล้างดัดแปลงพุทธพจน์และพุทธบัญญัติ ตลอดจนบัญญัติสิ่งที่มิใช่พุทธบัญญัติขึ้นมา ทำพระธรรมวินัยให้วิปริต ข้อนี้เป็นเรื่องร้ายแรงที่สุดดังกล่าวแล้วข้างต้น และท่านโพธิรักษ์ก็ได้ทำเป็นอันมาก ดังที่ท่านโพธิรักษ์ได้กล่าวไว้เองว่า ท่านบวชเข้ามาด้วยความมุ่งหมายเพียงเพื่อใช้เพศพระภิกษุ เป็นเครื่องสร้างความเชื่อถือที่จะทำให้ประชาชนเลื่อมใสในลัทธิคำสอนของตนได้ง่าย เมื่อบวชเข้ามาแล้วจึงไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย แต่ได้ดำเนินการเผยแพร่ลัทธิคำสอนของตนเองที่เชื่อถือมาตั้งแต่เป็นคฤหัสถ์ และที่อ้างว่ารู้เองด้วยญาณ พุทธพจน์ใดเข้ากับตนได้ก็อ้างมาสนับสนุน หลักธรรมใดไม่เข้ากับตนก็ลบล้างดัดแปลง อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยการทำความผิดในข้อนี้เป็นเรื่องของหลักธรรมวินัย ที่มีถ้อยคำเป็นศัพท์เฉพาะมาก ยากที่จะพูดให้คนทั่วไปเข้าใจได้ในเวลาสั้นๆ จึงจะยกกรณีเด่นๆ ที่โยงกับการทำความผิดในข้อก่อนมาเป็นตัวอย่าง

จะต้องทำความเข้าใจและย้ำเน้นกันไว้ก่อนว่า ปัญหาของท่านโพธิรักษ์ในข้อนี้ ไม่ใช่เป็นปัญหาในระดับการตีความ แต่เป็นปัญหาการทำความผิดต่อตัวพุทธบัญญัติโดยตรง คือคัดค้านดัดแปลงพุทธบัญญัติ ตลอดจนตั้งบัญญัติขึ้นเองใหม่เช่น

ในพุทธบัญญัติที่ว่า ภิกษุบอกอุตริมนุสธรรมที่มีจริงในตนแก่อนุปสัมบัน เป็นความผิดขั้นอาบัติปาจิตตีย์นั้น พระวินัยปิฎกบัญญัติความหมายของ “อนุปสัมบัน” ไว้ว่า “อนุปสัมบัน” ได้แก่ คนอื่นนอกจากภิกษุและภิกษุณี (วินย.๒/๓๐๖/๒๑๑) ภิกษุจึงบอกอุตริมนุสธรรมแก่คฤหัสถ์คือชาวบ้านไม่ได้ แต่พระโพธิรักษ์บัญญัติความหมายของอนุปสัมบันขึ้นมาใหม่ว่า อนุปสัมบัน คือ คนที่ยังมีภูมิธรรมไม่ถึงขั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงอวดอุตริมนุสธรรมแก่ชาวบ้านก็ได้ เมื่อท่านทำอย่างนี้ ก็กลายเป็นว่าท่านได้ตั้งบัญญัติขึ้นใหม่ โดยคัดค้านไม่ยอมรับวินัยบัญญัติของพระพุทธเจ้า ต่อจากนี้ เมื่อท่านหลบความผิดทางพระวินัยไม่พ้นแล้ว ท่านก็อ้างต่อไปว่า พระอรหันต์ก็ทำความผิดต้องอาบัติได้เหมือนกัน ดังนี้เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องยืดยาวไม่จำเป็นต้องนำมาเล่าทั้งหมด ใจความก็คือ ท่านหาทางหลบหลีกความผิดเรื่อยไป โดยไม่คำนึงว่าในการทำเช่นนั้น ท่านจะลบล้างและลบหลู่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทำพระธรรมวินัยของพระองค์ให้วิปริตไปเพียงใด

ในแง่หลักธรรม ท่านโพธิรักษ์ก็ดัดแปลงให้วิปลาสคลาดเคลื่อน หรือบัญญัติเอาใหม่ตามต้องการเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ท่านโพธิรักษ์ประกาศว่าท่านเป็นทั้งพระอรหันต์ และเป็นพระโพธิสัตว์ในเวลาเดียวกัน ซึ่งตามหลักการของพระพุทธศาสนาย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะพระอรหันต์เป็นผู้บรรลุโพธิแล้ว ส่วนพระโพธิสัตว์เป็นผู้ที่ยังไม่บรรลุโพธิ แต่กำลังแสวงหาโพธิอยู่ และเป็นคำที่ใช้เฉพาะสำหรับเรียกผู้แสวงโพธิ ที่กำลังบำเพ็ญบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า ดังนั้น จึงไม่มีใครเป็นทั้งพระอรหันต์ และเป็นทั้งพระโพธิสัตว์ได้ในเวลาเดียวกัน แสดงว่าท่านปฏิเสธหลักการของพระพุทธศาสนาเสีย แล้วบัญญัติคำสอนขึ้นมาใหม่เอง นอกจากนั้น การประกาศตนเป็นพระอรหันต์ยังเป็นการผิดพระวินัยฐานอวดอุตริมนุสธรรม ดังได้กล่าวแล้วในข้อก่อนด้วย

อนึ่ง หลักการของพระพุทธศาสนาวางไว้แน่นอนชัดเจนว่า ผู้ที่บรรลุธรรมเป็นอริยบุคคลแล้ว คือเป็นพระโสดาบัน จนถึงเป็นพระอรหันต์ จะไม่ถอยกลับลงมาเป็นคนมีกิเลสธรรมดาที่เรียกว่าปุถุชนอีก ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลขั้นสูงแล้วก็ไม่ถอยกลับลงมาเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่ำลงมา เช่น เป็นพระอรหันต์แล้วก็ไม่ถอยกลับลงมาเป็นพระอนาคามีจนถึงพระโสดาบันเป็นต้น แต่ปรากฏว่า นักบวชในสำนักสันติอโศกบางคนที่ท่านโพธิรักษ์ประกาศว่าเป็นอริยบุคคลแล้ว (ถึงขั้นอนาคามีก็มี) ต่อมาทำความผิดวินัยขั้นร้ายแรงที่สุดคือเป็นปาราชิก ขาดจากความเป็นพระภิกษุ แสดงว่าอริยบุคคลของท่านโพธิรักษ์ถอยกลับลงมาเป็นคนธรรมดาที่ทำความชั่วอย่างร้ายแรงได้ จึงเห็นได้ชัดว่า ท่านโพธิรักษ์สอนธรรมไม่เป็นไปตามคำสอนของพระพุทธเจ้า จะมองว่าท่านเอาธรรมของพระพุทธเจ้ามาดัดแปลงเอาตามชอบใจ หรือบัญญัติหลักคำสอนขึ้นมาใหม่แทนคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ได้

ความเป็นพระอรหันต์ก็ดี ความเป็นพระโพธิสัตว์ก็ดี เป็นหลักสำคัญยิ่งในพระธรรมวินัย เป็นหลักธรรมระดับจุดหมายของพระศาสนา ถ้าพูดอย่างชาวบ้านก็ว่าเป็นของสูงยิ่ง แต่ท่านโพธิรักษ์นำมาพูดตามที่ตนพอใจ โดยไม่คำนึงว่า หลักการของพระพุทธศาสนา จะถูกกระทบกระเทือนอย่างไร ทำประดุจเป็นของเล่น เมื่อท่านกล้าที่จะทำกับหลักการสำคัญของพระธรรมวินัยได้แล้ว ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่ว่าท่านจะทำตามพอใจกับหลักธรรมวินัยอื่นๆ ได้ อย่างไม่ต้องยับยั้งชั่งใจเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ความวิปริตผิดเพี้ยนก็จะเกิดขึ้นแก่พระศาสนาอย่างมากมาย

พระธรรมวินัยนั้น เป็นทั้งเนื้อตัวและเป็นแก่นเป็นแกนของพระพุทธศาสนา เมื่อพระพุทธเจ้าจะปรินิพพานได้ตรัสกำชับไว้ว่า “เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ธรรมและวินัยที่เราได้แสดงและบัญญัติไว้แล้ว จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย” พระสงฆ์และชาวพุทธทุกคนจึงมีหน้าที่ช่วยกันรักษา และปกป้อง พระธรรมวินัยไว้ให้บริสุทธิ์ ถ้าพระธรรมวินัยไม่ดำรงอยู่ ก็คือ พระพุทธศาสนาหมดสิ้นไป ผู้ใดทำลายพระธรรมวินัย ก็คือทำร้ายต่อองค์พระศาสดาและทำลายพระพุทธศาสนา เป็นความผิดต่อพระรัตนตรัย ถ้าใครจะทำความดีในแบบของตน ที่ไม่ตรงกับพระพุทธศาสนา ก็ควรออกไปทำและตั้งรูปแบบของตนเองนอกพระพุทธศาสนา จะต้องอาศัยรูปแบบของพระพุทธศาสนา ให้กลายเป็นการแอบแฝงไปทำไม สถานการณ์ในขณะนี้ มาถึงขั้นซึ่งเหมือนกับที่โยมท่านหนึ่งกล่าวว่า ระหว่างท่านโพธิรักษ์กับพระพุทธเจ้า จะเลือกเอาใคร

– พระไตรปิฎกสำคัญอย่างไรถึงต้องใช้เป็นมาตรฐานตัดสินพระพุทธศาสนา? พระไตรปิฎกทั้งหมดเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งนั้นหรือ?

เรานับถือพระพุทธศาสนา ก็คือ นับถือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แต่เรารู้คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้จากที่ไหน อะไรเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมด เท่าที่ตกทอดมาถึงเรานั้น มีอยู่ในพระไตรปิฎก เรารู้คำสั่งสอนหรือพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าได้จากพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกเป็นที่บรรจุรักษาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ตลอดจนคำกล่าว คำอธิบาย และคำเล่าของบุคคลอื่นๆ โดยเฉพาะของพระสาวกผู้ใหญ่จนถึงหลังพุทธกาลสองสามร้อยปี

ท่านผู้รู้ไม่มีใครพูดว่าข้อความทั้งหมดในพระไตรปิฎกเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แต่ท่านกล่าวว่า คำสั่งสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้าเรารู้ได้จากพระไตรปิฎก หรือว่าพระไตรปิฎกเป็นหลักฐานแสดงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเท่าที่มีมาถึงเรา หรือเท่าที่เราจะรู้ได้ เมื่อต้องการรู้ว่าอะไรเป็นพระพุทธศาสนา คือเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่ จึงต้องเอาพระไตรปิฎกส่วนที่เป็นพุทธพจน์มาตัดสิน

– พระไตรปิฎกนั้นท่านจำกันมาด้วยปากเปล่าตั้งเกือบ ๕๐๐ ปี จึงได้จารึกลงในใบลาน และรักษากันมาถึงปัจจุบันก็เก่าแก่กว่า ๒๕๐๐ ปีแล้ว ในระหว่างนี้ คำสอนบางส่วนของพระพุทธเจ้าก็คงตกหล่นสูญหายไป และคงมีคำสอนนอกพระพุทธศาสนาปะปนเข้ามาบ้าง เมื่อเป็นอย่างนี้ เราจะเชื่อพระไตรปิฎกได้อย่างไร?

พระไตรปิฎกมีความสำคัญยิ่ง อย่างที่กล่าวมาแล้ว ท่านจึงรักษากันมาด้วยความระมัดระวังอย่างที่สุด เช่น ในยุคท่องปากเปล่า ท่านแบ่งกันเป็นคณะใหญ่ๆ ซึ่งรับผิดชอบทรงจำคณะละหมวดตอน โดยใช้วิธีสาธยายหรือสวดพร้อมกันเป็นประจำ วิธีนี้แม่นยำมาก น่าจะแน่นอนยิ่งกว่าการเขียนคัดลอกด้วยซ้ำ เพราะพระที่ชุมนุมสวดทั้งหมู่จะต้องว่าลงกันทุกตัวอักษรจึงจะราบรื่นกลมกลืนสวดไปได้ ถ้าใครว่าผิดเพี้ยนไปแม้แต่ตัวเดียว ก็ขัดกับพวกและรู้กันทันที (ขอให้ดูการประชุมทำวัตรสวดมนต์ของพระสงฆ์ในวัดใหญ่ๆ ปัจจุบันนี้เป็นตัวอย่าง; ในพม่าเวลานี้ ยังมีพระภิกษุที่จำพระไตรปิฎกได้หมดทั้งสองหมื่นกว่าหน้า ซึ่งทางการมีประเพณียกย่องเรียกว่าพระติปิฎกธร) และใครจะเอาอะไรมาเติมเข้าไปก็ไม่ได้ นอกจากทั้งคณะสมคบกัน

ต่อมาในยุคของการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร โอกาสที่จะคัดลอกตกหล่นคลาดเคลื่อนมีได้มากขึ้น ก็มีการถือกำกับกันมาว่า อักษรจารึกพระธรรมหนึ่งตัวมีค่าเท่ากับพระพุทธรูปหนึ่งองค์ และมีพระไตรปิฎกไว้ตรวจสอบกันหลายๆ ฉบับ ชาวพุทธจึงมั่นใจในพระไตรปิฎกได้มาก

อย่างไรก็ตาม แม้จะระมัดระวังกันมากเพียงใดก็ตาม ในระยะเวลาที่ยาวนานเป็นพันๆ ปี ก็คงต้องมีการตกหล่นผิดเพี้ยนบ้างเป็นธรรมดา จึงต้องมีการประชุมเอาฉบับต่างๆ จากถิ่นต่างๆ มาตรวจชำระกันเป็นคราวๆ (มีพุทธพจน์บางแห่งดูว่าน่าจะคลาดเคลื่อน พอเทียบกับฉบับอื่นหรือดูที่อรรถกถายกไปอ้าง ก็รู้ว่าที่ถูกเป็นอย่างไร พุทธพจน์บางข้อความปรากฏอยู่กับคำอธิบายในอรรถกถา แต่ไม่พบในพระไตรปิฎก จึงสันนิษฐานว่าคงหลุดหายไป แต่กรณีเช่นนี้มีน้อยอย่างยิ่ง)

สมมติว่า มีข้อความคลาดเคลื่อนหรือแปลกปนเข้ามาบ้าง ก็เท่ากับว่าเรามีโอกาสรู้จักคำสอนที่แท้ของพระพุทธเจ้าได้น้อยลง หรือคำสอนของพระพุทธเจ้าเหลือมาถึงเราน้อยลง ในกรณีเช่นนี้ สิ่งที่เราจะทำได้อย่างดีที่สุดก็คือ รักษาพระไตรปิฎกไว้ให้บริบูรณ์ตรงตามที่มีมาถึงเรา เท่าไรก็เท่านั้น เพื่อให้คนรุ่นหลังจากเรา ได้พบพระไตรปิฎกในสภาพเดียวเท่ากับเรา ไม่ลดน้อยหรือคลาดเคลื่อนไปมากกว่าที่มาถึงเรา และเขาจะได้มีโอกาสเท่ากับเราในการพิจารณาพระไตรปิฎก โดยไม่ถูกเราผูกขาดปิดกั้นในทางปัญญา

ถ้าสงสัยข้อความบางแห่งว่า อาจจะแปลกปลอมเข้ามา ก็ตรวจสอบด้วยหลักสำหรับสอบสวนเทียบเคียง เรียกว่ามหาปเทส ที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ โดยดูว่า ตัวบทและพยัญชนะสอดคล้องลงกันกับสูตรและวินัยทั่วไปหรือไม่ ด้วยวิธีการเช่นนี้ ถ้าพระไตรปิฎกส่วนใหญ่ยังคงอยู่ ก็ยังรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้

ปัจจุบันนี้ มั่นใจได้ว่า เนื้อหาส่วนใหญ่ของพระไตรปิฎกยังคงอยู่ ชาวพุทธจึงมั่นใจได้ว่ายังสามารถรู้พระธรรมวินัยคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าตามที่พระองค์ได้ทรงสอนไว้

– บางคนบอกว่าพระไตรปิฎกก็เก่าแก่มากแล้ว ควรจะแก้ไขให้ทันสมัย เขาว่าอย่างนี้ถูกไหม?

ขอย้ำว่า พระไตรปิฎกเป็นหลักฐานแสดงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเท่าที่เรามีอยู่ เรารักษาพระไตรปิฎกไว้ก็เพื่อจะได้รู้ว่า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามีว่าอย่างไร เราต้องการรู้ว่าพระองค์ตรัสอะไรไว้ ถ้าพระองค์ตรัสไว้ไม่ทันสมัย ก็ให้รู้ตามตรงว่าไม่ทันสมัย เนื้อเดิมของพระไตรปิฎกที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เหลืออยู่เท่าใด เราก็รู้จักพระพุทธศาสนาเท่านั้น ถ้าเนื้อเดิมของพระไตรปิฎกหมดไป ก็เรียกได้ว่าพระพุทธศาสนาหมดสิ้นแล้ว เรื่องก็จบเท่านั้น ไม่ต้องไปแก้ ไม่ต้องไปเติม

ถ้าคุณแก้ไขพระไตรปิฎก อันที่แก้นั้นก็เป็นคำพูดของคุณเอง ไม่ใช่คำพูดของพระพุทธเจ้าแล้ว คนเขาต้องการรู้คำพูดของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ต้องการรู้คำพูดของคุณ ถ้าคุณอยากแก้พระไตรปิฎก ก็ไปเขียนเสนอไว้ข้างนอก ไม่ใช่มาเขียนใส่พระไตรปิฎก ทางที่ดีที่สุดก็คือเขียนคำสอนของคุณเองขึ้นมาใหม่ ไม่ต้องเอามาปะปนกับคำสอนของพระพุทธเจ้า หน้าที่ของเราอย่างดีที่สุดก็คือ รักษาพระไตรปิฎกไว้ให้บริบูรณ์ตรงตามเดิมเท่าที่มีมาถึงเรา

นี่ขนาดว่าท่านพยายามรักษากันมาอย่างดีที่สุดแล้ว ก็ยังมีความคลาดเคลื่อนและของเสีย เล็ดลอดเข้าไปปะปนในพระไตรปิฎกได้บ้าง เหมือนกับสมบัติที่เฝ้ารักษากันมาอย่างดี ก็ยังมีคนร้ายลอบเข้ามาทำลายได้บ้าง แต่เมื่อเกิดเหตุอย่างนั้นขึ้นแล้ว วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องก็คือ จะต้องเพิ่มความระมัดระวังรักษาด้วยความไม่ประมาทมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่ว่า พอเสียไปหน่อยแล้ว ก็เลยปล่อยทิ้งหมด หรือทำตัวเป็นโจรทำลายเสียเองเลย

– แม้ว่าท่านโพธิรักษ์จะอวดอุตริมนุสธรรม แต่ท่านก็ยังดีที่ไม่ได้ทำดิรัจฉานวิชา

การอวดอุตริมนุสธรรมก็ดี ทำดิรัจฉานวิชาก็ดี เป็นความผิดทั้งนั้น ถ้าไม่ทำเสียเลยทั้งสองอย่าง จะดีกว่า พระที่ดีไม่ทำทั้งสองอย่าง

พระเหลวไหลที่เล่นดิรัจฉานวิชา ถูกท่านโพธิรักษ์ยกขึ้นมาโจมตีให้เด่น แต่แล้วท่านโพธิรักษ์เองก็อวดอุตริมนุสธรรม เหมือนกับจะแข่งกันทำความผิด ฝ่ายหนึ่งอวดอุตริมนุสธรรม อีกฝ่ายหนึ่งทำดิรัจฉานวิชา ฝ่ายหนึ่งเจาะไชรากของพระศาสนา อีกฝ่ายหนึ่งทับถมลำต้นด้วยกาฝาก เรามาช่วยกันส่งเสริมพระที่ไม่ทำทั้งสองอย่างนั้นเลยจะดีกว่า

พระมากมาย ที่ถูกเรียกว่าพระของมหาเถรสมาคมนั้น ท่านไม่ทำทั้งการอวดอุตริมนุสธรรม และดิรัจฉานวิชา

– แม้ว่าท่านโพธิรักษ์จะทำไม่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา แต่ท่านก็สอนคนให้ทำความดี และท่านก็อยากสอนต่อไป ท่านจะถือเพศเป็นภิกษุเพื่อทำงานสอนต่อไปไม่ได้หรือ?

ถ้าท่านโพธิรักษ์จะสอนคนให้ทำความดี ตัวท่านเองก็จะต้องทำความดีด้วย คือต้องซื่อตรงในการทำความดี ถ้าจะถือเพศเป็นภิกษุ ก็ต้องสอนให้ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา การเข้ามาอาศัยรูปแบบของพระภิกษุ ที่พระพุทธเจ้าจัดตั้งไว้สำหรับรักษาหลักการของพระองค์ ไปสอนหลักการอื่นที่ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า หรือทำการดัดแปลงคำสอนของพระองค์ นอกจากเป็นการประทุษร้ายต่อพระพุทธศาสนาแล้ว ก็เป็นการหลอกลวงประชาชน ไม่ใช่เป็นความดี แต่เป็นความชั่วอย่างร้ายแรง ยิ่งถ้าท่านต้องอาบัติปาราชิก เพราะอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีจริง ท่านก็ขาดจากภาวะของพระภิกษุไปแล้ว ท่านก็ไม่มีสิทธิครองเพศต่อไปเลยด้วยซ้ำ

การลาสิกขาสละรูปแบบของพระภิกษุ ออกไปทำงานสั่งสอนหลักการของตนในรูปแบบอื่น ไม่ใช่เป็นการขัดขวางการทำดี แต่เป็นการแสดงความซื่อตรง เหมือนนักบวชในศาสนาอื่น ที่เขาใช้รูปแบบอื่นของเขา สอนคนให้ทำความดีตามแบบของเขา ก็ไม่มีใครว่าอะไร

– ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕ ทุกคนมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา ท่านโพธิรักษ์จะสอนจะปฏิบัติพระพุทธศาสนาอย่างไร ก็ย่อมได้

การพูดอย่างนี้ ก็คือการแยกความหมายไม่ถูกต้องเอง ที่ว่าให้มีเสรีภาพในการนับถือศาสนาก็คือว่า มีศาสนาต่างๆ ให้เราเลือกนับถือได้มากมายหรือหลายศาสนา เราจะเลือกนับถือศาสนาไหนก็ได้ ไม่มีใครจะบังคับเราได้ เมื่อเราเลือกนับถือศาสนาใด ก็คือเราชอบใจหลักธรรมคำสอนของศาสนานั้น ยอมรับและยินดีถือปฏิบัติตามนั้น และเมื่อใดเราเกิดเปลี่ยนใจ ไม่ชอบหลักธรรมคำสอนของศาสนานั้น เราก็เลิกนับถือศาสนานั้นได้ การนับถือก็บ่งบอกความหมายอยู่ในตัวแล้วว่าเราชอบใจ และยินดียอมรับเชื่อถือปฏิบัติตาม เสรีภาพในการนับถือศาสนา ไม่ใช่เสรีภาพในการไปดัดแปลงแก้ไขศาสนา เมื่อหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาไม่ถูกกับความคิดเห็นของเราแล้ว เราก็มีเสรีภาพโดยสมบูรณ์ที่จะเลิกนับถือพระพุทธศาสนา และออกจากพระพุทธศาสนาไป ไม่ใช่ว่าเข้าไปในพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ไปดัดแปลงแก้ไขหลักธรรมคำสอนเอาตามที่เราชอบใจ ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ใช่พระพุทธศาสนาแล้ว แต่กลายเป็นศาสนาใหม่ของเราเอง

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๕ บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญให้เป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนาไม่ได้

เสรีภาพที่จะนับถือศาสนาใดก็ได้ ไม่ใช่เสรีภาพที่จะทำกับศาสนาอย่างไรก็ได้ ถ้าจะทำกับศาสนาตามที่ตนชอบใจ ก็ไม่ใช่นับถือศาสนานั้นแล้ว

– มีบางคนว่า ท่านโพธิรักษ์จะเป็นเหมือนมาร์ติน ลูเธอร์ของพุทธศาสนา จริงหรือไม่?

ท่านโพธิรักษ์ต่างกับมาร์ติน ลูเธอร์ ท่านไปไกลกว่า มาร์ติน ลูเธอร์ มาร์ติน ลูเธอร์ พาศาสนิกหวนกลับไปหา คัมภีร์ไบเบิล และยึดถือไบเบิลเป็นแบบแผนโดยเคร่งครัด ส่วนท่านโพธิรักษ์มีทีท่าว่า จะหวนกลับไปหาพระไตรปิฎก แต่แล้วกลับแก้ไขดัดแปลงพุทธบัญญัติในพระไตรปิฎก และตั้งบัญญัติใหม่ที่ต่างจากพระไตรปิฎก มาร์ติน ลูเธอร์ เพียงแต่ตั้งนิกายใหม่ขึ้นในคริสต์ศาสนา แต่การกระทำของพระโพธิรักษ์จะกลายเป็นการตั้งศาสนาใหม่ขึ้น โดยอาศัยรูปแบบของพระพุทธศาสนาเข้าไปทำลายเนื้อหาของพระพุทธศาสนา

เหตุที่เป็นอย่างนี้ ก็เพราะว่า มาร์ติน ลูเธอร์ ศึกษาเล่าเรียนคัมภีร์ไบเบิลจนรู้เข้าใจเป็นอย่างดี ก่อนเทศนาสั่งสอน แต่ท่านโพธิรักษ์ไม่เล่าเรียนพระธรรมวินัย ไม่ศึกษาพระไตรปิฎกให้รู้หลักการของพระพุทธศาสนาอย่างชัดเจน ตั้งตัวเป็นผู้สั่งสอนโดยอ้างว่ารู้เองด้วยญาณ

– ท่านโพธิรักษ์ก็สอนให้คนทำดี ชาวสันติอโศกก็พยายามทำดีประพฤติดี อย่างนี้เป็นความผิดด้วยหรือ พระที่อื่นทำความผิดกันมากมาย ทำไมไม่ไปลงโทษ ทำไมจึงมาลงโทษสันติอโศก?

คนทำความผิดอย่างหนึ่ง ก็มักอ้างการทำความดีอีกอย่างหนึ่งหรือหลายๆ อย่างมากลบเกลื่อน เป็นอย่างนี้กันทั่วไปหมด

ส่วนที่สันติอโศกทำดี ก็ดีแล้ว ไม่มีใครลงโทษสันติอโศกเพราะการทำความดีนั้น คนอื่นๆ ก็ทำความดีกันคนละมากบ้างน้อยบ้าง แต่เมื่อเขาทำผิด ก็ต้องถูกลงโทษตามความผิดนั้น

หลักการทั่วไปในเรื่องนี้มีอยู่ว่า บุคคลจะอ้างความดีบางอย่างของตน หรือความผิดของคนอื่น มาเป็นเหตุพ้นความผิดตามพระวินัยหรือตามกฎหมายไม่ได้

ที่จริง ในเรื่องนี้ เขาไม่ได้คิดทำอะไรกับชาวสันติอโศกเลย เขาเห็นใจด้วยซ้ำ ปัญหาอยู่ที่ตัวท่านโพธิรักษ์ และเขาก็ดำเนินการกับท่านโพธิรักษ์เท่านั้น แต่การทำผิดบางอย่างของท่านโพธิรักษ์ มีผลโยงมาถึงชาวสันติอโศกบางคนเข้าเอง แม้ว่ากิจการของสันติอโศก จะต้องพลอยกระทบกระเทือนไปด้วยบ้างเป็นธรรมดา แต่ชาวสันติอโศกก็สามารถทำความดีต่อไปได้ ทั้งนี้ก็อยู่ที่ชาวสันติอโศกเอง จะต้องพิสูจน์ตนว่ายังคงมั่นคงในความดี และควรแสดงตัวให้เห็นว่า ถือธรรมเป็นใหญ่ มิใช่ถือตัวบุคคลเป็นใหญ่

ท่านโพธิรักษ์อาจจะได้ทำความดีบางอย่าง แต่ความไม่ซื่อตรงและการทำผิดต่อพระธรรมวินัย เป็นความชั่วที่ยิ่งใหญ่ร้ายแรงกว่ามากมาย เทียบกันไม่ได้

– ความดีที่ท่านโพธิรักษ์ทำแทบทั้งหมดเป็นเพียงความเคร่งครัดวัตรปฏิบัติภายนอก ใช้ธรรมขั้นต้นก็พอ ทำไมท่านจะต้องไปดัดแปลงหลักธรรมชั้นสูงของพระพุทธเจ้าด้วย?

นี้คือข้อสงสัยอย่างหนึ่ง ซึ่งคงต้องหาคำตอบกันต่อไป

– มหาเถรสมาคมทำไมมาหาความผิดกับท่านโพธิรักษ์ พระของตัวเองประพฤติเสียหาย ทำดิรัจฉานวิชามากมาย ทำไมไม่ไปจัดการแก้ไข?

ถ้าพระภิกษุอื่นเป็นพระของมหาเถรสมาคม พระโพธิรักษ์ก็เป็นพระของมหาเถรสมาคมเหมือนกัน ไม่ว่าพระรูปใดทำความผิด มหาเถรสมาคมก็ควรไปจัดการทั้งนั้น

ดังนั้น ถ้าจะพูดให้ถูก คำถามข้างต้นนั้น ควรจะเปลี่ยนใหม่เป็นคำพูดกระตุ้นเร่งเร้าว่า “มหาเถรสมาคมดำเนินการแก้ไขปัญหาท่านโพธิรักษ์แล้ว ก็ขอให้เร่งจัดการแก้ไขปัญหาพระทำดิรัจฉานวิชาเสียด้วย”

– ท่านโพธิรักษ์ว่า ท่านเป็นนานาสังวาสกับมหาเถรสมาคม ดังนั้น มหาเถรสมาคมจึงทำอะไรท่านไม่ได้

ท่านโพธิรักษ์พูดอย่างนี้จะด้วยไม่เข้าใจหรือแกล้งพูดเฉไฉก็แล้วแต่ คนที่รู้เรื่องดีย่อมมองเห็นว่าท่านเอาเรื่องคนละอย่างมาพูดให้สับสนปนเปกัน มหาเถรสมาคมเป็นเพียงองค์กรปกครองคณะสงฆ์ ไม่สามารถจะไปเป็นนานาสังวาสกับใครได้

อนึ่ง การที่ท่านโพธิรักษ์เรียกตัวเป็นคณะสงฆ์หนึ่งต่างหากนั้น ก็เป็นเพียงการตั้งตัวเองเท่านั้น ถ้าจะเป็นอิสระกันได้ ด้วยการตั้งตัวเองอย่างนี้ พระอื่นๆ เมื่อทำความผิด จะไม่ยอมให้ลงโทษ ก็คงตั้งตัวกันขึ้นอย่างนั้นมากมาย ที่จริง มองในมุมกลับ การที่ท่านโพธิรักษ์ตั้งตัวขึ้นอย่างนี้นี่แหละ จึงทำให้ผู้ที่รักพระศาสนาไม่เชื่อว่า ท่านจะมีความหวังดีต่อพระศาสนาอย่างแท้จริง แต่สงสัยว่าท่านมีเจตนาอะไรอยู่เบื้องหลังกันแน่

ท่านโพธิรักษ์กับคณะของตน เป็นเพียงพระที่อยู่ในปกครองคณะสงฆ์ไทย เสมอกันกับพระอื่นๆ ทั่วไป หาได้มี อภิสิทธิ์อะไรไม่ การเรียกเป็นฝ่ายหรือเป็นอีกพวกหนึ่งนั้น เป็นวิธีการที่เกิดจากความไม่ซื่อตรงทั้งสิ้น

สิ่งที่แน่นอน มีหลักฐานชัดเจน ก็คือ ท่านโพธิรักษ์คัดค้านพุทธบัญญัติ ลบล้างหลักการตามพระพุทธพจน์ และบัญญัติหลักการใหม่เอาเอง ซึ่งต่างจากหลักคำสอนในพระไตรปิฎก ฉบับที่รองรับความเป็นพระภิกษุที่ท่านโพธิรักษ์ใช้อ้างตนอยู่

ฉะนั้น จึงเป็นทั้งความซื่อตรงและชอบธรรมตามหลักจริยธรรมสามัญ และเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องตามสิทธิมนุษยชนและตามเสรีภาพโดยรัฐธรรมนูญ ที่ท่านโพธิรักษ์จะสละความเป็นพระภิกษุ ออกไปแสวงหารูปแบบอย่างอื่นที่สอดคล้องกับหลักการที่เป็นเนื้อหาของตน

สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ พึงเป็นไปเพื่อส่งเสริมการกระทำที่ซื่อตรงและชอบธรรม ไม่พึงถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการที่จะทำอะไรได้ตามชอบใจ หรือการอาศัยรูปแบบของพระพุทธศาสนา แอบแฝงเข้ามาทำลายเนื้อตัวของพระพุทธศาสนา

– ท่านโพธิรักษ์เปรียบเทียบว่า มหาเถรสมาคมเป็นเหมือนบริษัทใหญ่ที่ผลิตปาท่องโก๋ผิดสูตร เป็นผลเสียหายก่ออันตรายแก่ประชาชน ท่านจึงแยกตัวไปตั้งร้านใหม่ผลิตปาท่องโก๋ด้วยสูตรที่ถูกต้องของท่านเองต่างหาก เป็นคนละสูตรกัน ควรจะปล่อยให้ท่านทำของท่านไป จะมาเอาเรื่องหรือลงโทษท่านได้อย่างไร?

คำเปรียบเทียบของท่านโพธิรักษ์นี้ ให้ภาพที่ผิดพลาด ถ้าพูดให้ถูกต้อง คำเปรียบเทียบจะเป็นดังนี้

คณะสงฆ์ไทยคือบริษัทใหญ่ที่ผลิตปาท่องโก๋ มีโรงงานในเครือมากมาย คือวัดทั้งหลายที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย ซึ่งจะต้องผลิตปาท่องโก๋โดยใช้สูตรเดียวกัน คือสูตรธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า บริษัทใหญ่ผลิตปาท่องโก๋นี้มีมหาเถรสมาคมเป็นคณะกรรมการบริหาร ทำหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไป

ถ้าคณะกรรมการบริหารทำงานเข้มแข็ง โรงงานส่วนใหญ่ก็จะตั้งใจผลิตปาท่องโก๋ให้เป็นไปตามสูตร ได้คุณภาพ ตามเกณฑ์มาตรฐานด้วยดี แต่ถ้าเมื่อใดคณะกรรมการบริหารย่อหย่อนอ่อนแอ ก็เป็นโอกาสให้โรงงานหลายแห่งที่เลวร้าย ผลิตปาท่องโก๋ด้อยคุณภาพ ซึ่งบางทีผิดสูตรห่างไกลถึงกับเป็นอันตรายต่อประชาชน

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริหารไม่ใช่เป็นผู้ผลิตปาท่องโก๋ แต่โรงงานต่างๆ เป็นผู้ผลิต ดังนั้น ไม่ว่าคณะกรรมการบริหารจะย่อหย่อนอ่อนแอหรือละเลยเพียงใด ก็จะมีโรงงานจำนวนหนึ่งที่ตั้งใจจริงตลอดทุกเวลา ทำการผลิตปาท่องโก๋ตรงตามสูตร มีคุณภาพสูง อย่างซื่อสัตย์และเป็นผลดีแก่ประชาชน

สภาพของคณะสงฆ์ไทย ที่เปรียบได้กับบริษัทใหญ่ผลิตปาท่องโก๋ ย่อมเป็นดังที่กล่าวมานี้

ท่านโพธิรักษ์อาศัยยี่ห้อของบริษัทใหญ่นั้น เข้ามาดำเนินการตั้งโรงงานผลิตปาท่องโก๋ขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงถูกหลายคนเรียกว่าเป็นโรงงานเถื่อน นอกจากไม่ยอมขึ้นต่อคณะกรรมการบริหารแล้ว ยังทำผิดกฎหมายด้วยประการต่างๆ และไม่ยอมรับผิดด้วยประการใดทั้งสิ้น แต่ที่ร้ายที่สุดก็ดังที่ท่านอวดอ้าง ซึ่งกลายเป็นการสารภาพขึ้นมาเองในบัดนี้ว่า ท่านใช้สูตรของท่านที่ท่านคิดขึ้นเอง ไม่ใช่สูตรเดียวกับของบริษัทใหญ่ (คือไม่ใช่สูตรธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า) แต่ทั้งที่ทำของตนขึ้นมาใหม่เองอย่างนี้แล้ว ท่านก็ยังเอาตราธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าไปติดป้ายเป็นชื่อสูตรของท่าน

เป็นการไม่ซื่อตรงและไม่ชอบธรรมใดๆ เลย ที่ท่านโพธิรักษ์ จะสมัครเข้ามาในบริษัทใหญ่เพียงเพื่อได้สิทธิของพนักงาน และทั้งที่ยังเป็นคนงานใช้สิทธิของบริษัท ก็อ้างว่าตนอยู่คนละบริษัทอยู่นอกความควบคุม โดยไม่สละสิทธิให้เสร็จสิ้นไป ยิ่งกว่านั้น เมื่อผลิตปาท่องโก๋ด้วยสูตรที่คิดขึ้นเองแล้ว ทั้งที่ไม่ใช้สูตรของพระพุทธเจ้า ก็ยังเอาชื่อหรือตราธรรมวินัยซึ่งเป็นสูตรของพระพุทธเจ้า มาใช้เรียกสูตรของตน ไม่เปลี่ยนไปใช้ชื่อ ใช้ตรา ยี่ห้อ เครื่องหมายการค้า เป็นต้น เป็นอย่างอื่นต่างหากให้ชัดเจนออกไป

ที่พูดอย่างนี้ มิใช่จะแกล้งกล่าวว่าหรือประณาม แต่เป็นการชี้ให้เห็นความจริงตามคำเปรียบเทียบของท่านโพธิรักษ์เอง โดยมุ่งเพื่อมิให้นำเอาคำเปรียบเทียบที่ไม่ถูกต้อง มาใช้ชักจูงประชาชนให้เข้าใจไขว้เขวผิดพลาดไป และเพื่อแสดงให้เห็นว่าคำเปรียบเทียบที่ถูกต้องจะเป็นอย่างไร

สิ่งที่ควรประณาม ซึ่งร้ายแรงยิ่งกว่าคำเปรียบเทียบที่ผิด ก็คือ เจตนาที่มิได้มุ่งที่จะสร้างความเข้าใจในความจริง แต่จงใจใช้คำพูดและการเปรียบเทียบต่างๆ ให้ผิด เพื่อสร้างภาพลวง ชักจูงประชาชนให้เกิดความสับสนไขว้เขว

– ท่านโพธิรักษ์ และชาวสันติอโศกก็ทำความดีหลายอย่าง เมื่อจะแก้ไข ทำไมจึงลงโทษรุนแรง ไม่หาทางประนีประนอม ไม่เมตตาอภัยกันบ้าง

ความผิดทางพระวินัยนั้น มีโทษตามพุทธบัญญัติในพระวินัยปิฎก ความผิดทางพระวินัยนั้นมีหลายระดับ ตั้งแต่ความผิดอย่างแรงถึงความผิดอย่างเบา มีความผิดอยู่ ๔ อย่าง ซึ่งมีโทษร้ายแรงที่สุด เรียกว่า ปาราชิก เมื่อทำแล้ว ขาดจากความเป็นพระภิกษุทันทีตั้งแต่เวลาที่กระทำ คือ ร่วมประเวณี ลักทรัพย์ ฆ่าคน และอวดอุตริมนุสธรรมหรือคุณวิเศษที่ไม่มีจริงในตน (เช่น อวดอ้างตนเป็นพระอรหันต์ เป็นพระโสดาบัน เป็นอริยบุคคล) ไม่มีใครจะช่วยแก้ไขให้กลับเป็นพระภิกษุได้อีก ถึงไม่สึกก็ไม่เป็นพระแล้ว ถ้าสึกไปแล้ว มาบวชใหม่ก็ไม่สามารถเป็นพระได้อีก โทษตามพุทธบัญญัตินี้ พระพุทธเจ้ากำหนดไว้อย่างไร คือตราไว้ในพระวินัยปิฎกอย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามนั้น พุทธบัญญัติเป็นของพระพุทธเจ้า มหาเถรสมาคมไม่ได้เป็นเจ้าของพุทธบัญญัติ แต่มีหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามพุทธบัญญัตินั้น ไม่มีพระภิกษุองค์ใด ไม่ว่าจะเป็นมหาเถรสมาคมหรือแม้แต่สมเด็จพระสังฆราช จะสามารถไปเปลี่ยนแปลงลดหย่อนโทษตามพระวินัยได้ ถ้าขืนทำ ผู้ทำนั้นเองก็กลายเป็นผู้ลบล้างพุทธบัญญัติไป กลายเป็นโทษแก่ตนเอง และถ้าพระภิกษุที่ทำความผิดเป็นปาราชิก เขาก็ไม่เป็นพระอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องที่จะประนีประนอมกันได้ เพราะไม่ใช่เรื่องระหว่างพระกับพระ แต่เป็นเรื่องระหว่างพระกับพระวินัยหรือพระพุทธบัญญัติ

รวมความว่า การปฏิบัติให้ถูกต้องตามพุทธบัญญัติ เมื่อผิดอย่างไร ก็ว่าไปตามนั้น นี่แหละเป็นความซื่อตรง ชอบธรรมและยุติธรรม และเป็นตัวกำหนดขอบเขตของความเมตตากรุณา การสละรูปแบบนี้ออกไป แล้วไปทำงานของตนในรูปแบบอื่น ไม่เป็นการปิดกั้นขัดขวางการทำความดี แต่จะเป็นการทำความดีด้วยความซื่อตรง

– ในเหตุการณ์นี้ ดูเหมือนว่าประชาชนจะสับสนมาก ในฐานะที่เป็นชาวพุทธ ควรจะวางตัวอย่างไร?

สาเหตุสำคัญที่ทำให้สับสน ก็เพราะมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากโดยที่ผู้ที่วิจารณ์นั้นไม่รู้ไม่เข้าใจเรื่องราวอย่างเพียงพอ ได้แต่พูดไปตามความรู้สึกจากข่าวที่ว่าตามๆ กันไป

ท่าทีที่ถูกต้องคือ คนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะในยุคแห่งข่าวสารข้อมูลนี้ เมื่อจะพูดจาแสดงอะไรออกไป ควรศึกษาเรื่องราวให้เข้าใจดีเสียก่อน ในเมื่อเรื่องนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับพระธรรมวินัย ถ้าเราจะแสดงความเห็น ก็ควรถามตนเองก่อนว่า เรารู้เข้าใจดีแล้วหรือว่าพระธรรมวินัยคืออะไร ปัญหาเกี่ยวกับพระธรรมวินัยเป็นอย่างไร ไม่ใช่พูดออกมาง่ายๆ ว่า เป็นปัญหาเกี่ยวกับความเชื่อ หรือเป็นเรื่องของการตีความ หรือว่าเป็นเรื่องพระขัดแย้งกัน เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นการชักพาให้ประชาชนเข้าใจไขว้เขว

การวางตัวให้ถูกก็คือ จะต้องไม่มองแคบๆ เพียงในแง่ว่าเป็นข้างไหนฝ่ายไหน แต่ต้องมองว่า การแก้ปัญหาของพระศาสนาหรือปัญหาของส่วนรวมจะเสร็จสิ้นไปได้อย่างไร

– เหตุการณ์นี้ น่าจะให้บทเรียนบางอย่างแก่ชาวพุทธไทยได้บ้าง

แน่นอน ควรจะได้บทเรียนมากทีเดียว อาตมาได้บอกแล้วแต่ต้นว่า ในวงการพระศาสนาของไทยเวลานี้ ความเข้มแข็งสมบูรณ์เหลือกระจายอยู่เป็นจุดเป็นหย่อมเท่านั้น แม้ว่ารวมกันแล้วพระดีจะยังมีจำนวนมาก แต่สภาพที่ปรากฏทั่วไป คือความอ่อนแอเสื่อมโทรม ถ้าความอ่อนแอเสื่อมโทรมนั้นไม่มี ปัญหาอย่างนี้ก็คงเกิดขึ้นไม่ได้ ฉะนั้น จึงอย่ามัวประมาทอยู่ ควรจะรีบตื่นตัวกันขึ้นมา เร่งรัดแก้ไขปรับปรุงกิจการพระศาสนาทุกด้าน โดยเฉพาะการศึกษาพระธรรมวินัยให้ได้ผล

การพูดในแง่หนึ่งว่า การพระศาสนาเวลานี้ รูปแบบยังพอเหลือชัดเจนอยู่ แต่เนื้อหาข้างในพร่องลงไปอย่างน่ากังวล จนเป็นโอกาสให้คนที่คิดร้าย เอารูปแบบนั้นไปใช้ใส่เนื้อหาอย่างอื่น ดังที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ จึงจะต้องช่วยกันเร่งรัดสร้างเนื้อหาที่แท้ขึ้นมาเติมใส่ให้เต็มโดยเร็ว

– โทษที่ท่านโพธิรักษ์ได้รับครั้งนี้ แม้ว่าจะต้องเป็นไปตามพระพุทธบัญญัติและตัวบทกฎหมาย แต่ก็อดสงสารท่านไม่ได้

ใช่ ก็ควรจะสงสาร แต่ต้องไม่ลืมว่า ที่น่าสงสารยิ่งกว่านั้นก็คือพระศาสนา ถ้าทุกฝ่าย โดยเฉพาะท่านโพธิรักษ์สงสารพระศาสนา เห็นแก่พระธรรมวินัยเป็นใหญ่ ปัญหาก็จะไม่เกิดขึ้น ถึงแม้จะเกิดขึ้น ก็จะแก้ไขกันได้ไม่ยาก

ส่วนที่สงสารก็สงสารกันไปในฐานะเพื่อนมนุษย์ แต่จะเอาความสงสารมาเหนือหลักการไม่ได้ ถ้าเอาแต่สงสารคน ไม่ว่าจะทำหรือแสดงอะไรออกมา ก็จะเป็นไปด้วยอคติ แต่ถ้าสงสารพระศาสนาหรือคำนึงถึงพระศาสนาเป็นใหญ่ ก็จะแก้ปัญหาได้โดยชอบธรรม

– เมื่อแก้ปัญหาระหว่างสองฝ่ายยุติลงได้ เรื่องก็คงจบกันเสียที

อย่ามองปัญหาสั้นๆ แคบๆ อย่างนั้น ขอให้คิดให้ดีว่า จุดหมายของการแก้ปัญหาอยู่ที่ไหน บอกแล้วตั้งแต่ต้นว่า มันไม่ใช่เรื่องของการเป็นฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ เราไม่ได้แก้ปัญหา เพื่อท่านโพธิรักษ์หรือเพื่อมหาเถรสมาคมหรือเพื่อใครๆ ทั้งนั้น จุดหมายของการแก้ปัญหาอยู่ที่พระศาสนา และประโยชน์สุข อันยั่งยืนของสังคม การแก้ปัญหาสำเร็จไม่ใช่อยู่ที่ว่าปัญหาระหว่างสองฝ่ายยุติลง หรือการทำให้เรื่องราวยุติลงได้ แต่ต้องดูว่าเจตนารมณ์ที่แท้จริงของการแก้ปัญหาได้สัมฤทธิ์ผลหรือไม่

ประเด็นอยู่ที่ว่า ปัญหาได้เกิดขึ้นแก่พระศาสนาซึ่งเป็นรากฐานสำคัญอย่างหนึ่ง แห่งประโยชน์สุขของประชาชน การที่ว่าจะแก้ปัญหาสำเร็จหรือไม่ ก็ต้องดูว่า ปัญหาที่ได้เกิดขึ้นแก่พระศาสนานั้นได้หมดไปแล้วหรือไม่ พระศาสนาได้คืนเข้าสู่สภาพเรียบร้อยสมบูรณ์เป็นปกติ พร้อมที่จะเอื้ออำนวยความสงบสุขแก่สังคมต่อไปหรือไม่ การแก้ไขได้ช่วยให้มีอะไรที่จะเป็นหลักประกัน สำหรับรักษาความบริสุทธิ์บริบูรณ์ของพระศาสนานั้น และประโยชน์สุขของประชาชนในระยะยาว

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< หมายเหตุ: ข่าวคืบหน้า หลักฐานเท็จ “พระโพธิสัตว์เป็นพระอรหันต์”เรื่องล่าสุด: เนื้อแท้ของปัญหาโพธิรักษ์ หรือ บทพิสูจน์ขบวนการสันติอโศก >>

No Comments

Comments are closed.