ต้องมีปัญญาเลิศ จึงรู้จักความประเสริฐของอุเบกขา

1 ตุลาคม 2538
เป็นตอนที่ 14 จาก 17 ตอนของ

ต้องมีปัญญาเลิศ จึงรู้จักความประเสริฐของอุเบกขา

อุเบกขานี้เหนือความรู้สึก ไปสู่ระดับความรู้ สามข้อแรกอยู่ในระดับความรู้สึก แต่ข้อสี่เป็นระดับความรู้ คือปัญญา และปัญญานี้จะมาปรับความรู้สึกให้พอดีด้วย

ถ้าไม่มีปัญญาความรู้ เราก็กระวนกระวายร้อนใจว่า เขาทุกข์ ทำไมเราไม่ช่วย แต่พอปัญญามา มันก็ปรับความรู้สึกว่า เรามีเหตุผล จึงต้องหยุด ปัญญาปรับความรู้สึกให้พอดี

ฉะนั้น จิตที่เป็นอุเบกขา ซึ่งประกอบด้วยปัญญา จึงเรียบสงบ เพราะอยู่กับธรรม อยู่กับความจริง เป็นจิตที่เข้าถึงความจริง ด้วยเหตุนี้ จิตอุเบกขาท่านจึงว่าเป็นจิตที่ประเสริฐ เพราะมันอยู่ตัวลงตัว สงบ เรียบ อยู่กับความรู้

อุเบกขาที่เราเอามาใช้กันในหมู่คนไทยนั้น ต้องระวัง ถ้าเฉยเรื่อยเปื่อย ทางพระเรียกว่า “เฉยโง่” เป็นอกุศล คำพระว่า อัญญาณุเบกขา หมายถึงเฉยไม่รู้เรื่อง เฉยไม่เอาเรื่อง เฉยไม่ได้เรื่อง แต่เฉยของธรรม คือ เฉยด้วยปัญญา เพราะรู้แล้ว ก็วางตัวพอดี

โดยทั่วไป เมื่อมีสถานการณ์ตื่นเต้นเกิดขึ้น จะมีคน ๓ พวก

๑. คนที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย จึงเฉย

๒. คนที่รู้ครึ่งไม่รู้ครึ่ง อาจจะตื่นเต้นโวยวาย ลุกขึ้นมากระโดดโลดเต้น แต่แก้ไขปัญหาไม่ค่อยได้ บางทีตื่นเต้นโวยวายไปยิ่งทำให้เรื่องลุกลามใหญ่โต

๓. คนที่รู้เข้าใจหมด มองเห็นว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างไร เหตุปัจจัยเป็นอย่างไร มันจะเป็นไปอย่างไร จะแก้ไขที่จุดไหน ถึงจุดไหนจะต้องทำอะไร พวกนี้เฉยเหมือนกัน แต่เฉยพร้อมรอจังหวะ เมื่อถึงจุดนั้น ต้องทำอันนั้น ที่จุดนั้น ต้องทำอันนั้น เขาเฉย แต่พร้อมที่จะทำไปตามลำดับ ให้ถูกจุดถูกที่ พวกนี้แก้ปัญหาได้

ความนิ่งเฉยด้วยรู้นี่แหละ เรียกว่า “อุเบกขา

อุเบกขานี้เป็นธรรมสูงสุดในทางจริยธรรม สภาพจิตปกติของพระอรหันต์ คือ อุเบกขา เพราะอยู่ด้วยจิตที่ลงตัวพอดีด้วยปัญญา

มีอุปมาอย่างหนึ่ง คือ เรื่องสารถีขับรถ

สมัยก่อนนี้ คนขับรถม้า เอาม้าผูกเข้ากับรถแล้ว ม้าก็พารถไป สารถีที่เชี่ยวชาญขับรถม้า ก่อนที่รถจะวิ่งเข้าที่ แกก็ต้องชักบังเหียนบ้าง ใช้แส้บ้าง เพื่อให้ม้าพารถเข้าสู่ทาง แล้วก็ปรับความเร็วให้พอดี

พอม้าวิ่งเข้าทางดี และได้ความเร็วพอดีตามที่ต้องการแล้ว สารถีผู้เชี่ยวชาญนั้น จะอยู่พร้อมด้วยความตระหนักรู้ แกนั่งสบายเลย สงบนิ่ง แต่จิตนั้นอยู่ด้วยความรู้ ไวต่อการที่จะรับรู้และความคิดที่จะแก้ไข ไม่ว่าจะมีอะไรผิดพลาด เมื่อทุกอย่างลงตัวเข้าที่พอดีแล้ว เขานั่งสงบ และพร้อมที่จะแก้ไขปัญหา

ต่างจากคนที่ไม่ชำนาญ ซึ่งตื่นเต้น หวาด ไม่แน่ใจว่าจะเอาอย่างไร จะทำอย่างไร จิตไม่สบาย ไม่นิ่ง ไม่สงบ ไม่ลงตัว

มนุษย์ที่ยังไม่รู้เท่าทันจัดเจนโลก ไม่รู้ความจริงของชีวิต ก็เหมือนกับสารถีที่ยังไม่เจนจบ ส่วนพระอรหันต์นั้น เหมือนกับสารถีที่เจนจบ ท่านรู้เข้าใจโลกและชีวิตตามเป็นจริง จนวางจิตพอดีลงตัวหมด

ต่างจากมนุษย์ปุถชน ที่ยังไม่รู้ว่าชีวิตนี้คืออะไร โลกนี้เป็นอย่างไร อยากนั่น ยึดนี่ กังวลโน่น อยู่ด้วยความหวาดหวั่นพรั่นใจ ตื่นเต้นไป จิตลงตัวอุเบกขาไม่ได้

อุเบกขานั้น ไม่ต้องวางหรอก มันถึงเอง เพราะมันเป็นสภาพจิตอัตโนมัติที่เกิดจากปัญญา โดยปัญญามาปรับสภาพจิต ฉะนั้น ปัญญา กับ อุเบกขาจึงคู่กัน

พอปัญญาถึงขั้นเป็นโพธิญาณ หยั่งรู้ความจริงของชีวิตและโลก เจนจบ รู้เท่าทันสังขาร จิตก็ลงตัว เรียกว่าวางพอดีกับชีวิตและโลก เป็นอุเบกขาด้วยปัญญานั้น นี่คือจิตพระอรหันต์ ฉะนั้น จึงเหมือนสารถีที่ว่าเจนจบ สภาพนี้ดีแค่ไหน ก็ลองคิดดู

คนทั่วไปนึกไม่ออกว่า อุเบกขาดีอย่างไร นึกว่าเฉยๆ ไม่ได้เรื่องได้ราว อย่างนั้นเป็นเฉยโง่ (อัญญาณุเบกขา)

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< คนไทยต้องมีปัญญา รู้จักอุเบกขาให้เป็นถ้ามองไม่ชัดเจน เห็นไม่ทั่วระบบ ก็จะพบแต่ความสับสน >>

No Comments

Comments are closed.