ถ้ามัวอ่อนแอ เอาแต่สุขสบาย ก็ต้องไปเข้าสูตร “ทุกข์ง่าย สุขได้ยาก”

1 ตุลาคม 2538
เป็นตอนที่ 11 จาก 17 ตอนของ

ถ้ามัวอ่อนแอ เอาแต่สุขสบาย
ก็ต้องไปเข้าสูตร “ทุกข์ง่าย สุขได้ยาก”

คนที่ได้รับการบำรุงบำเรอมาก จะอ่อนแอและทุกข์ได้ง่าย เพราะอะไร เพราะมีพรั่งพร้อมทุกอย่าง เมื่อพรั่งพร้อมทุกอย่าง ขาดอะไรไปนิด ไม่ได้อะไรอย่างใจหน่อย ก็ทุกข์ทันที

เดี๋ยวนี้ทุกข์ง่าย หมายความว่า การมีสิ่งอำนวยความสะดวกสบายต่างๆ นั้น ถ้าคนเกิดมาในสภาพอย่างนั้น มันก็จะเป็นของธรรมดาสำหรับเขา คือ ความสะดวกสบายกลายเป็นสภาพปกติ ทีนี้ถ้าขาดอะไรนิดเดียว ก็ทุกข์ทันที ไม่ได้อย่างใจนิด ก็เป็นทุกข์ทันที ต้องทำอะไรเองนิด ก็ทุกข์ทันที

ต่างจากสมัยก่อน คนต้องทำอะไรต่ออะไรเอง เขาก็เฉยๆ ไม่เห็นทุกข์อะไร สภาพที่เราว่าเขาลำบาก แต่เขาเฉยๆ ฉะนั้นระดับชีวิตและดีกรีที่จะสุขจะทุกข์ มันก็ต่างกันไป

ส่วนที่ว่าเป็นคนสุขยาก คือเป็นคนสุขได้ยาก เพราะมีบริบูรณ์เต็มไปหมดแล้ว เป็นปกติ ของและความสะดวกสบายที่มีอยู่แล้ว ก็ชินชาเฉยๆ ไม่รู้สึกว่าสุข ครั้นจะหาอะไรมาเพิ่มเพื่อทำให้สุข ก็ยาก

ข้อนี้ต่างจากคนที่อยู่ด้วยความลำบาก ซึ่งต้องดำเนินชีวิตแบบดิ้นรนขวนขวายมาก กลับเป็นคนสุขได้ง่าย

สุขได้ง่ายอย่างไร เพราะว่ามันชินชาเป็นปกติกับความลำบาก เขาต้องทำอย่างนั้นเป็นธรรมดา พอได้อะไรมานิดหนึ่งก็มีความสุขเหลือเกิน หรือทำอะไรสำเร็จนิดหน่อย ก็สุข

แต่สมัยนี้ หันไปเจออะไรที่ต้องทำนิด ก็ทุกข์ หันไปทำอะไรก็ทุกข์หมด ต่างจากคนสมัยก่อนที่เขาต้องทำอะไรๆ เอง จนเป็นธรรมดาแล้ว พอทำอะไรสะดวกขึ้นหน่อย ก็สุขทันที จึงสุขง่าย

คนสมัยก่อนทุกข์ได้ยาก ก็อย่างที่ว่า คือมีสิ่งที่ต้องทำด้วยความยากลำบากอยู่เป็นเรื่องธรรมดา ก็ไม่ได้รู้สึกทุกข์ เมื่อเจอที่เบากว่านั้น ก็จะไปทุกข์อะไร

ฉะนั้น ผลของอารยธรรมจึงตีกลับมาที่ตัวมนุษย์เอง เป็นเครื่องเตือนว่า มนุษย์ถ้าไม่มีสติ ไม่พัฒนาตัวเอง เทคโนโลยีและความเจริญต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะไม่เป็นประโยชน์เท่าไร แต่กลับทำให้เกิดปัญหากับตัวเองมาก

ลองนึกดูถึงเด็กซึ่งเกิดในครอบครัวที่มั่งคั่งร่ำรวยอุดมสมบูรณ์ ถ้าไม่ฝึกให้ดี จะกลับเสียเปรียบ ไม่ใช่ได้เปรียบ จะเป็นคนอ่อนแอ เป็นคนที่ทุกข์ได้ง่าย สุขได้ยาก ใจเสาะ เปราะบาง

เรามองสังคมปัจจุบันนี้ว่ามีความพรั่งพร้อมขึ้น แต่ต้องระวัง

แม้แต่สังคมฝรั่ง ทั้งที่มีฐานสู้ความยาก เป็นนักผลิตมา อย่างที่ว่าสร้างตัวด้วยวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอุตสาหกรรมตั้ง ๒๕๐ ปี พอมาพรั่งพร้อมตอนนี้ คนรุ่นใหม่ก็อ่อนแอลงอย่างรวดเร็ว ใจเสาะ เปราะบาง ฆ่าตัวตายง่าย จึงพูดบ่อยๆ ว่า ทุกข์ได้ง่าย สุขได้ยาก

เพราะฉะนั้น คนในยุคที่ว่าพรั่งพร้อมนี่ จึงฆ่าตัวตายกันมาก สังคมยิ่งเจริญ ยิ่งพัฒนา ยิ่งพรั่งพร้อมมั่งคั่ง สถิติคนฆ่าตัวตายก็สูงขึ้นๆ ส่วนในสังคมที่ด้อยพัฒนา คนมีความทุกข์ยาก และทุกข์ได้ยาก ไม่ค่อยฆ่าตัวตายหรอก ลองไปสำรวจดูสิ

เป็นอันว่า เมื่อสภาพจิตอ่อนแอ ก็ทุกข์ง่าย และสุขภาพจิตก็เสื่อมโทรมง่ายด้วย ปัญหาสังคมก็ยิ่งเกิดมาก แล้วตัวเองก็ยิ่งต้องการสิ่งปรนเปรอมาช่วย ก็เลยเป็นวงจรร้ายที่ทำลายมนุษย์

ยกตัวอย่าง สังคมอเมริกันที่พรั่งพร้อมนั้น อยู่ติดกับประเทศเม็กซิโก ชายแดนติดกัน เม็กซิโกนั้นยากจนข้นแค้น ด้อยพัฒนา เสร็จแล้วเป็นอย่างไร สังคมอเมริกันมีสถิติฆ่าตัวตายสูงกว่าเม็กซิโก ประมาณ ๗.๔ เท่า มันกลับกัน ก็อย่างที่ว่า เพราะคนอเมริกันทุกข์ได้ง่าย สุขได้ยาก

เทียบอเมริกากับเม็กซิโก บางทีอาจเถียงได้ถึงความไม่แม่นยำเกี่ยวกับวิธีเก็บตัวเลขสถิติ เพราะฉะนั้น เปรียบเทียบในประเทศอเมริกาด้วยกันเองดีกว่า

ในช่วงใกล้ๆ นี้ เมื่ออเมริกาเจริญมั่งคั่งมาก ผ่านพ้นยุคอุตสาหกรรม (คือยุคขยันขันแข็ง สร้างเนื้อสร้างตัว สู้เหนื่อยยาก) เริ่มมาเป็นสังคมนักบริโภค ปรากฏว่า สถิติคนฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสถิติฆ่าตัวตายมาเด่นที่คนหนุ่มสาววัยรุ่น

ตัวเลขของสถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติว่า ในช่วง ๓๐ ปีที่แล้วนี้ ซึ่งเป็นระยะที่อเมริกากำลังเปลี่ยนจากยุคสร้างตัวมาเป็นยุคเสพสุข เด็กวัยรุ่นช่วงอายุ ๑๕-๑๙ ปีของสหรัฐฯ ฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น ๓๐๐ เปอร์เซนต์ จนการฆ่าตัวตายกลายเป็นสาเหตุการตายอันดับ ๒ ของวัยรุ่นอเมริกัน (สาเหตุอันดับ ๑ คือ อุบัติเหตุ; แต่บางสถิติว่าเป็นสาเหตุการตายอันดับ ๓ คือต่อจากฆ่ากันตาย)

ระวังให้ดี คนไทยก็จะเป็นอย่างนั้น โดยเฉพาะสังคมไทยเรานี้ ต้องมองว่า เป็นไปในทางที่จะทำให้แย่ทั้งนั้น เพราะมีเหตุปัจจัยดีๆ ที่จัดการไม่ดี อย่างที่ว่ามาแล้ว

ทั้งสภาพธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ทั้งเทคโนโลยีที่ไม่ต้องผลิต ก็ได้มาใช้ กับทั้งวัฒนธรรมน้ำใจ

การที่ถูกปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรมนี้หล่อหลอม ก็จะทำให้เป็นคนที่อ่อนแอ เห็นแก่ความสะดวกสบาย ชอบพึ่งพา รอให้คนอื่นทำให้ ชอบความง่ายๆ เอาแต่สะดวกเข้าว่า ทำท่าจะมักง่าย ไม่สู้สิ่งยาก หนีปัญหา เวลามีปัญหา ก็ไปหาเทวดาให้ช่วยแก้ไขให้แทน คือโอนภาระไปให้เทวดาเสียหมด

คนจะพัฒนาได้ ต้องสู้กับปัญหา ถ้าคนไม่สู้ปัญหา ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น เคยอยู่เท่าใด ก็อยู่เท่านั้น

พอเจอปัญหา ถ้าคิดแก้ ก็เริ่มพัฒนาทันที คนเราพัฒนาปัญญาจากการแก้ปัญหา ปัญหากับปัญญาคู่กัน ปัญหาเป็นเวทีพัฒนาปัญญา

ปัญหา คือแบบฝึกหัด ที่ช่วยให้คนพัฒนา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ระวัง! ถ้าไม่พัฒนาคนให้ดีล้ำ จะเพลี่ยงพล้ำแก่เทคโนโลยีรู้จักไทย เข้าใจฝรั่ง ทั้งในข้อด้อยข้อดี แล้วปรับให้เข้าที่เข้าดุล >>

No Comments

Comments are closed.