มัวหวังพึ่ง ขอผล ก็ต้องอ่อนแอ ลอยไปในกระแส อย่างเป็นเหยื่อที่ดี

1 ตุลาคม 2538
เป็นตอนที่ 9 จาก 17 ตอนของ

มัวหวังพึ่ง ขอผล ก็ต้องอ่อนแอ
ลอยไปในกระแส อย่างเป็นเหยื่อที่ดี

๔. ในสภาพที่คนไทยชอบความสะดวกสบาย และเลี่ยงปัญหา ไม่สู้สิ่งยาก ชักจะอ่อนแออยู่แล้ว ก็เกิดมีทางเลือกมาเสนอแก่เราอีก กล่าวคือ กระแสความเชื่อทางศาสนาในสังคมไทยมี ๒ กระแสใหญ่ด้วยกัน

กระแสที่ ๑ คือ พระพุทธศาสนา ที่สอนหลักการกระทำด้วยความเพียรพยายาม โดยพึ่งตนเอง พูดสั้นๆ ว่าต้องทำต้องพึ่งตนเอง และหวังผลจากการกระทำ กับ

กระแสที่ ๒ คือ ลัทธิไสยศาสตร์ ความเชื่ออำนาจเร้นลับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่มีเจ้าพ่อเจ้าแม่ มีเทวดาให้อ้อนวอน หมายความว่า มีอะไรอยากได้อะไร อยากพ้นเคราะห์พ้นภัย ก็ไปขอให้ท่านช่วย ให้ท่านบันดาลให้ หวังพึ่งอำนาจภายนอกมาช่วยตัวเอง เรียกสั้นๆ ว่า ลัทธิรอผลดลบันดาล

คนไทยนั้นชักจะอ่อนแออยู่แล้ว เมื่อสังคมซับซ้อนขึ้น ต้องคิดมากและทำยาก เมื่อคนไม่อยากสู้ปัญหา ก็หวังพึ่งความช่วยเหลือ ตอนนี้กระแสไสยศาสตร์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็เฟื่องขึ้นมาเลย

เพราะอะไร เพราะว่าพอเจอปัญหาอะไร อยากได้อะไร ไม่อยากทำด้วยแรงของตัว ไม่อยากสู้ปัญหา ไม่อยากคิด ก็ไปขอความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์อ้อนวอนเจ้าพ่อเจ้าแม่ ให้ท่านทำให้

การขอผลดลบันดาลอะไรต่างๆ ก็คือการถ่ายโอนภาระ ใช่ไหม ตัวเองมีภาระจะต้องทำ ก็ถ่ายโอนภาระไปให้เทวดา ขอให้ท่านช่วยทำให้ ตัวเองไม่สู้ ไปอ้อนวอนท่านแล้ว ก็นอนรอผลที่ท่านจะทำให้ เป็นอันว่า ปัจจัยที่ ๔ มาซ้ำเข้าให้อีก

ปัจจุบันนี้ ครบชุดเลย ๔ อย่าง สังคมไทยก็ยิ่งเอนเอียงไปทางอ่อนแอ คอยรอเสพความสะดวกสบาย

ถ้าคนไทยเป็นอย่างนี้ คือ

๑. ขาดความใฝ่รู้ (ไม่มี วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์)

๒. ไม่สู้สิ่งยาก (ไม่มี วัฒนธรรมอุตสาหกรรม)

ก็จะไม่เข้มแข็ง เพียงแค่จะเอาชนะในการแข่งขันระหว่างสังคม ก็ยาก แต่จะต้องเป็นเหยื่อเขาแน่ เพราะตัวชอบสะดวกสบาย ก็เป็นนักบริโภคท่าเดียว เป็นนักผลิตไม่ได้ เพราะการที่จะผลิต ต้องเข้มแข็ง

เมื่อไม่สู้ปัญหา ก็คอยรอแต่บริโภค คอยหาเสพ จะดิ้นบ้างก็เพราะถูกแรงบีบคั้นในการแข่งหาสิ่งเสพ แต่เป็นเพียงดิ้นชั้นสอง คือดิ้นเพราะพลังที่ต้องการเสพ ไม่ใช่ดิ้นเพราะความเข้มแข็งในเนื้อแท้ของคุณภาพจิตใจ ที่จะเพียรผลิต เพียรสร้างสรรค์

คนที่ดิ้นเพราะจำเป็นต้องหามาเสพนี้ จะทุกข์มาก ส่วนคนที่ดิ้นรนขวนขวายเพราะความหมั่นเพียรเข้มแข็งในตัวเป็นพื้นนิสัย ก็เป็นเรื่องธรรมดาเขา

คนที่ต้องดิ้นเพราะแรงบีบของการที่มีความต้องการเสพสูง แต่ไม่มีสิ่งจะเสพ ก็เลยดิ้น อันนี้กลายเป็นการบีบบังคับ จึงทุกข์หนักขึ้น เพราะหมายถึงสภาพจิตที่ไม่เต็มใจ

ส่วนคนที่เข้มแข็งในตัว การดิ้นรนขวนขวายก็เป็นเรื่องธรรมดาของเขา เพราะเป็นนิสัยใจคอที่จะสู้ และเต็มใจทำ จึงไม่ทุกข์อะไรนัก

จำไว้เลยว่า คนอ่อนแอชอบสบายนี้ ไม่ต้องการจะสู้ ต้องการแต่จะเสพ แต่เพราะไม่มีจะเสพ เมื่อใจไม่สู้ ก็ต้องดิ้นด้วยความจำใจ ในเมื่อจำใจ ก็ทุกข์

ฉะนั้น คนอ่อนแอชอบสบาย จึงเสียทั้งในด้านสภาพจิตใจของคน ทั้งในแง่สังคม ก็สู้เขาไม่ได้ กลายเป็นเหยื่อของเขา ปัญญาก็ไม่พัฒนา

แล้วตัวเองก็ไปร่วมสมคบกับเขาโดยไม่รู้ตัว ในกระบวนการทำลายโลกแห่งธรรมชาติแวดล้อม ด้วยการกินการเสพบริโภค ที่หลงไปตามคำโฆษณาภายใต้ค่านิยมที่เขาชักจูง

ถ้าเป็นอย่างนี้ สังคมไทยจะเป็นสังคมที่อยู่ในภาวะที่พร้อมจะเป็นเหยื่อ และขาดความเข้มแข็ง อ่อนแอ จะสู้เขาไม่ได้ จะพ่ายแพ้ในการแข่งขัน และก็อย่างที่ว่า ผลขั้นสุดท้ายก็คือ ร่วมทำลายธรรมชาติแวดล้อมและโลกนี้

เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งต้องแก้อย่างตรงตามกระบวนการ ไม่ใช่เฉพาะว่าเป็นเรื่องของคนแต่ละคน และในการแก้นั้น ถ้าแก้ถูกจุด ก็ง่าย คือพัฒนาคนให้ถูกต้อง เริ่มตั้งแต่

๑. ให้รู้ทันว่า พวกประเทศผู้ผลิตนี้มาไม้ไหน ถ้าจะครอบงำเราๆ ไม่ยอมให้ครอบงำ จะทำอย่างไร

๒. รวมพลังสร้างจิตสำนึกทางสังคมให้เกิดขึ้น โดยมีจุดหมายใหญ่ของสังคมร่วมกัน และ

๓. คิดแก้ปัญหาให้แก่โลก คือคำนึงถึงอารยธรรมทั้งหมด

แล้วก็มาจัดสภาพชีวิตความเป็นอยู่ด้วยความรู้เข้าใจที่มีแนวคิดแห่งปัญญาเป็นฐานว่า ความหมายที่แท้จริงของชีวิตคืออะไร ชีวิตอยู่เพื่ออะไร สิ่งเสพเหล่านี้ให้ความสุขที่แท้จริงหรือไม่ อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งก็ย้อนกลับไปตั้งแต่เรื่องคุณค่าของชีวิตมนุษย์ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาลึกสุดสำหรับพวกประเทศที่พัฒนาแล้ว

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< วัฒนธรรมน้ำใจ ทำให้อบอุ่นดี วัฒนธรรมตัวใครตัวมัน ทำให้แข่งขันได้ดีระวัง! ถ้าไม่พัฒนาคนให้ดีล้ำ จะเพลี่ยงพล้ำแก่เทคโนโลยี >>

No Comments

Comments are closed.