ขอทราบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล

30 เมษายน 2525
เป็นตอนที่ 2 จาก 13 ตอนของ

ถาม ขอทราบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล

ตอบ คำถามนี้กว้างมาก และมีรายละเอียดที่ต้องวิเคราะห์แยกแยะกันอีกหลายอย่าง ความจริงเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ได้เรื่องหนึ่งทีเดียว ในที่นี้ถ้าอนุญาตก็อยากจะขอจำกัดขอบเขตหรือเปลี่ยนคำถามให้แคบเข้ามาว่า ลักษณะความสัมพันธ์ที่ถูกต้องหรือที่ควรจะเป็น ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนา หรือระหว่างอาณาจักรกับพุทธจักรเป็นอย่างไร ถ้าจำกัดกันเพียงแค่หลักการอย่างนี้ก็ตอบง่ายขึ้นสักหน่อย

หลักเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนานั้น จะเห็นได้จากข้อธรรมต่างๆ เช่นอย่างในอปริหานิยธรรม ซึ่งมี ๗ ข้อ ข้อที่ ๗ พูดถึงหน้าที่ของรัฐว่า จัดให้ความอารักขาคุ้มครองป้องกันอันชอบธรรมแก่พระอรหันต์ทั้งหลาย โดยตั้งใจว่า ขอพระอรหันต์ทั้งหลายที่ยังมิได้มาพึงมาสู่แว่นแคว้น ที่มาแล้วพึงอยู่ในแว่นแคว้นโดยผาสุก หลักนี้พระพุทธเจ้าตรัสแสดงแก่เจ้าลิจฉวีแห่งแคว้นวัชชี ซึ่งปกครองรัฐโดยระบอบสามัคคีธรรม หรืออย่างในจักรวรรดิวัตรก็จะมีข้อธรรมที่แสดงถึงหน้าที่ของผู้ครองแผ่นดินที่จะพึงปฏิบัติเกี่ยวกับทางศาสนา คือการจัดการรักษาคุ้มครองป้องกันโดยชอบธรรมแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย และในข้อสุดท้ายก็จะมีว่า สมณพราหมณปริปุจฉา หมายถึงการไปปรึกษาสอบถามปัญหากับสมณพราหมณ์ที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ผู้ไม่ประมาทมัวเมาอยู่เสมอตามกาลอันควร เพื่อให้รู้ชัดว่าการอันใดดี การอันใดชั่ว ควรประกอบหรือไม่ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขหรือไม่ แล้วประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง

นอกจากการที่จะต้องมีความสัมพันธ์กับสถาบันทางศาสนาแล้ว ผู้ปกครองก็มีหน้าที่ต่อธรรมะโดยตรง เช่นว่าเป็นธรรมาธิปไตย เคารพนับถือบูชายำเกรงธรรม ถือธรรมเป็นใหญ่เป็นหลักในกิจการทั้งปวง ให้ความคุ้มครองรักษาป้องกันอันชอบธรรมแก่ชนทุกหมู่เหล่าในแว่นแคว้น และรักษาความเป็นธรรม ไม่ให้มีการประพฤติหรือทำการอันผิดธรรมขึ้นในบ้านเมืองเป็นต้น

ถ้าสรุปโดยย่อก็คงจะได้เป็น ๒ อย่าง อย่างที่ ๑ คือการอุปถัมภ์บำรุงคุ้มครอง อย่างที่ ๒ คือการปรึกษาสดับฟังธรรม นำเอาธรรมะมาใช้ปฏิบัติ เพราะว่าผู้ปกครองจะต้องเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรมด้วยตนเอง เป็นผู้มีธรรม ประพฤติชอบธรรม และปกครองแผ่นดินโดยธรรม ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ที่อยู่ใต้ปกครองทั้งหมด

ส่วนทางฝ่ายพุทธจักร หน้าที่ก็คือการแนะนำสั่งสอนเผยแพร่ธรรมแก่ประชาชน อันนี้เป็นหน้าที่โดยตรง เมื่อแนะนำสั่งสอนประชาชน เผยแพร่ให้ความรู้ความเข้าใจถูกต้อง ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในศีลธรรม และรู้จักฝึกอบรมจิต ฝึกอบรมปัญญา ประชาชนอยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุข ประพฤติดีปฏิบัติชอบแล้ว ก็เป็นผลประโยชน์แก่แผ่นดินไปเอง

นอกเหนือจากหน้าที่ที่ปฏิบัติอย่างกว้างๆ ต่อประชาชนแล้ว ก็อาจจะมีความสัมพันธ์กับองค์พระมหากษัตริย์เองหรือว่าผู้ปกครองแผ่นดิน ในฐานะเป็นที่ปรึกษา ให้ความรู้ความเข้าใจแนะนำในทางธรรม และในเรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา แต่จะไม่เข้าไปกุมอำนาจการเมืองอย่างนักบวชบางศาสนา

เมื่อว่าตามหลักการอย่างนี้แล้ว หันไปดูในทางปฏิบัติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนา ก็ปรากฏว่าได้เป็นไปในทำนองนี้ ซึ่งจะเห็นได้ในพระประวัติของพระพุทธเจ้า เท่าที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับรัฐ เช่นที่ว่าทางฝ่ายรัฐหรือผู้ปกครองแสวงหาธรรมเป็นผู้ใฝ่ใจในธรรมนั้น ก็มีตัวอย่างมากมาย อย่างในพระวินัยปิฎก มหาวรรค บันทึกไว้ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ เสด็จมายังแคว้นมคธ ประทับอยู่ที่สวนป่าลัฏฐิวัน พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงสดับข่าวก็พร้อมด้วยข้าราชบริพารจำนวนมากเสด็จมาที่สวนป่าลัฏฐิวันนั้น ณ ที่นั้นก็ได้ทรงสดับพระธรรมจากพระพุทธเจ้า เป็นเหตุให้ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ถวายพระเวฬุวันแด่พระพุทธเจ้า เป็นต้น หลังจากนั้นก็คงจะได้เสด็จมาเฝ้าพระพุทธเจ้าบ่อยๆ ดังมีเรื่องที่ท่านบันทึกกันมาว่าทรงเป็นผู้ที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา อุปถัมภ์บำรุงเป็นอย่างมาก

ต่อมาในสมัยพระราชโอรส คือพระเจ้าอชาตศัตรู แม้ว่าจะได้เคยเป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนา แต่ต่อมาก็ทรงใฝ่แสวงธรรมเช่นเดียวกัน พระเจ้าอชาตศัตรูเคยเสด็จมาเฝ้าพระพุทธเจ้า อย่างเรื่องในทีฆนิกาย สีลักขันธวรรค ในสามัญญผลสูตร พระเจ้าอชาตศัตรู เสด็จมาเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อสอบถามเกี่ยวกับเรื่องธรรมะหรือเรื่องทางศาสนา และหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระเจ้าอชาตศัตรูก็ได้อุปถัมภ์การสังคายนาครั้งแรก

อีกตัวอย่างหนึ่ง ได้แก่ พระเจ้าปเสนทิโกศล ซึ่งครองแคว้นโกศล ณ นครสาวัตถี พระพุทธเจ้าประทับที่นครสาวัตถีบ่อย จึงมีเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้าปเสนทิโกศลไปเฝ้าพระพุทธเจ้ามากมายหลายเรื่อง รวบรวมไว้ในสังยุตตนิกาย โกศลสังยุตต์ ในบาลีเล่ม ๑๕ เสด็จไปถามธรรมะต่างๆ บ่อยๆ ทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับส่วนพระองค์ เรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นไปของรัฐและประชาชน

แม้ในระดับเจ้านาย ข้าราชการ เสนาบดีต่างๆ ก็ไปแสวงหาธรรมกันอยู่เสมอ อย่างอภัยราชกุมาร โพธิราชกุมาร ก็มีเรื่องเล่ามาแต่ละสูตรๆ วัสสการพราหมณ์ก็เคยไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ดังในเรื่องมหาปรินิพพานสูตรและในอังคุตตรนิกาย ที่เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าตรัสอปริหานิยธรรม และวัสสการพราหมณ์คนเดียวกันนี้ ก็ได้ไปซักถามพระอานนท์ภายหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว เป็นที่มาของโคปกโมคคัลลานสูตร ซึ่งแสดงเรื่องการปกครองคณะสงฆ์ หรืออย่างสีหเสนาบดีแห่งวัชชี ก็มีเรื่องราวปรากฏว่านับถือนิครนถ์ และต่อมาได้หันมานับถือพระพุทธศาสนา มีพระสูตรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้

ส่วนในข้อที่รัฐทำหน้าที่อุปถัมภ์บำรุงคุ้มครองทางฝ่ายศาสนานั้น ก็มีเรื่องราวปรากฏ ซึ่งแสดงชัดถึงหลักการนี้ เช่น อย่างในอังคุลิมาลสูตร ที่ว่าด้วยเรื่ององคุลิมาล อยู่ในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๓ ในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่าถึงการที่พระพุทธเจ้าได้ไปปราบโจรองคุลิมาล ทำให้องคุลิมาลเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา แล้วเข้ามาบวช เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นโดยที่พระเจ้าปเสนทิโกศลยังไม่ทรงทราบ อยู่มาคราวหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเห็นว่า เรื่องโจรองคุลิมาลนั้นเป็นเรื่องใหญ่โต ก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนมาก จึงทรงยกทัพจะไปปราบ ระหว่างทางที่ไปปราบนั้นก็มาแวะเฝ้าพระพุทธเจ้าก่อน ทีนี้ จะขออ่านพระไตรปิฎกให้ฟัง ความในพระไตรปิฏกเล่ม ๑๓ ข้อ ๕๒๖ ภาษาไทย หน้า ๓๙๒ ว่า

ได้ยินว่า ณ ที่พระนครสาวัตถีนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นหมู่มหาชนประชุมกันอยู่ที่ประตูพระราชวังของพระเจ้าปเสนทิโกศล ส่งเสียงอื้ออึงว่า

“ข้าแต่สมมติเทพ ในแว่นแคว้นของพระองค์มีโจรชื่อองคุลิมาล เป็นคนหยาบช้า มีมือเปรอะเปื้อนด้วยเลือด ปักใจในการฆ่าตี ไม่มีความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย องคุลิมาลโจรนั้น กระทำบ้านไม่ให้เป็นบ้าน กระทำนิคมไม่ให้เป็นนิคม กระทำชนบทไม่ให้เป็นชนบท เขาเข่นฆ่ามนุษย์แล้วเอานิ้วมือร้อยเป็นพวงๆ ไว้ ขอพระองค์จงกำจัดมันเสีย”

ครั้งนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จออกจากนครสาวัตถีด้วยกระบวนม้าประมาณ ๕๐๐ เสด็จไปทางพระอารามแต่ยังวันทีเดียว เสด็จไปบนภาคพื้นภูมิประเทศ จนสุดมรรคาที่ยานพาหนะจะไปได้แล้ว ลงดำเนินด้วยพระบาทเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคประทับนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกับพระเจ้าปเสนทิโกศล ผู้ประทับนั่งแล้ว ณ ที่ควรข้างหนึ่งว่า “มหาบพิตร พระเจ้าแผ่นดินมคธจอมเสนา คือพระเจ้าพิมพิสาร ทรงทำให้พระองค์ขัดเคืองหรือหนอ หรือเจ้าลิจฉวี เมืองเวสาลี หรือว่าพระราชาผู้เป็นปฏิปักษ์เหล่าอื่น”

พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าแผ่นดินมคธจอมเสนา พระนามว่าพิมพิสาร หาได้ทรงทำให้หม่อมฉันขัดเคืองไม่ แม้เจ้าลิจฉวีเมืองเวสาลี ก็ไม่ได้ทรงทำให้หม่อมฉันขัดเคือง แม้พระราชาที่เป็นปฏิปักษ์เหล่าอื่น ก็ไม่ได้ทำให้หม่อมฉันขัดเคือง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในแว่นแคว้นของหม่อมฉัน มีโจรชื่อว่าองคุลิมาล เป็นคนหยาบช้า ทำชนบทไม่ให้เป็นชนบท เขาเข่นฆ่าพวกมนุษย์ แล้วเอานิ้วมือร้อยเป็นพวง หม่อมฉันจะกำจัดมันเสีย”

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “มหาบพิตร ถ้าพระองค์ทอดพระเนตรเห็นองคุลิมาลปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นพูดเท็จ ฉันอาหารมื้อเดียว ประพฤติพรหมจรรย์ มหาบพิตรจะพึงทรงกระทำอย่างไรกับเขา”

พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันพึงไหว้ พึงลุกรับ พึงเชื้อเชิญด้วยอาสนะ พึงบำรุงเขาด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร หรือพึงจัดการรักษาป้องกัน คุ้มครองอย่างเป็นธรรม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่องคุลิมาลโจรนั้นเป็นคนมีบาปธรรม จะมีความสมบูรณ์ด้วยศีลถึงปานนี้แต่ที่ไหน”

เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสอย่างนี้ เวลานั้นพระองคุลิมาลก็นั่งอยู่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทเจ้าจึงทรงยกพระหัตถ์ขึ้นตรัสบอกพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า “พระองคุลิมาลอยู่ที่นั่น” พระเจ้าปเสนทิโกศลก็สะดุ้งตกพระทัย แต่พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสบอกว่า ไม่ให้ทรงกลัว ไม่มีภัยจากพระองคุลิมาลแล้ว หลังจากนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้สติ เสด็จเข้าไปหาพระองคุลิมาล แล้วทรงสอบถามสนทนา และตรัสในตอนท้ายว่า

“ท่านผู้เจริญ ขอพระผู้เป็นเจ้าคัคคมันตานีบุตร จงอภิรมย์เถิด ข้าพเจ้าจะทำการขวนขวายเพื่อจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร แก่พระผู้เป็นเจ้าคัคคมันตานีบุตร” (คัคคะ นั้นเป็นชื่อบิดา และมันตานี เป็นชื่อมารดาของพระองคุลิมาล เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า คัคคมันตานีบุตร)

นี้ก็เป็นตัวอย่างแสดงถึงธรรมเนียมความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพระสงฆ์ คือในแง่ที่เป็นบุคคล ทางรัฐก็มีหน้าที่อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์ แม้แต่ผู้ที่อยู่ในเพศคฤหัสถ์เคยกระทำการร้ายมา เมื่อบวชแล้วก็ได้รับความคุ้มครองรักษา ได้รับการเคารพนับถือ นี่เป็นด้านรัฐต่อฝ่ายศาสนา

ส่วนทางฝ่ายพระศาสนาก็เห็นได้ชัดอยู่อย่างเดียวกันแล้วว่า เมื่อทางฝ่ายรัฐหรือทางผู้ปกครองไปถามไถ่ปรึกษาเรื่องธรรมะ ก็ชี้แจงแนะนำไป นอกจากการชี้แจงแนะนำสั่งสอนอย่างทั่วๆ ไปแล้ว บางคราวก็มีเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงเข้าไปเกี่ยวข้องในกิจการระดับรัฐที่เป็นเรื่องการเมืองโดยตรง แต่เป็นแง่ที่เกี่ยวกับธรรมะ เรื่องความสงบหรือสันติภาพ ที่ปรากฏชัดก็คือ เรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามทัพของพระญาติ ๒ ฝ่าย ได้แก่ฝ่ายศากยะ กับโกลิยะ ที่จะรบชิงแม่น้ำโรหิณี ทรงสั่งสอนชี้แจงทำให้พระญาติทั้ง ๒ ฝ่ายนั้นได้มองเห็นสิ่งที่ควรไม่ควร ระงับโทสะกันได้ แล้วเลื่อมใสในธรรม สงบศึกกัน ไม่เสียเลือดเนื้อ ตกลงกันได้โดยทางสันติ นอกจากนั้น เนื่องจากเห็นพระคุณของพระพุทธเจ้า จึงตกลงกันให้พวกเจ้าชายทั้งหลายที่จะมารบกันนั้น มาบวชกับพระพุทธเจ้าทั้งหมดถึง ๕๐๐ ท่าน

ต่อมาก็เรื่องที่พระเจ้าวิฑูฑภะยกทัพจะไปล้างเผ่าศากยะ พระพุทธเจ้าก็เสด็จไปประทับในระหว่างทาง ทำให้พระเจ้าวิฑูฑภะยกทัพกลับถึง ๓ ครั้ง หลังจากนั้น จึงทรงปล่อยไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง

แต่กรณีอย่างนี้ต้องระมัดระวัง อย่าตีความว่า พระพุทธเจ้าเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการบ้านเมืองการรบราฆ่าฟันโดยตรง เรื่องที่เล่ามานี้เป็นกรณีที่พระองค์ทำในฐานะพระญาติด้วย และอีกอย่างหนึ่งก็ทรงทำในแง่บทบาทเท่าที่พระจะทำได้ หรือทางฝ่ายศาสนาจะทำได้ คือมีขอบเขตที่จะทำ อย่างกรณีแรก เรื่องพระญาติแย่งแม่น้ำโรหิณีนั้น พระพุทธเจ้าก็ทรงปฏิบัติด้วยการทรงแนะนำสั่งสอนให้เห็นคุณค่าของชีวิตของผู้ที่จะมารบและเทียบกับคุณค่าของน้ำ เท่ากับให้เห็นคุณค่าของความสงบด้วยการแนะนำโดยทางธรรม ส่วนกรณีที่ ๒ ก็เสด็จไปพอเป็นการให้รู้ให้เข้าใจเอาเอง ส่วนที่เป็นเรื่องการเมืองจะปฏิบัติต่อกันเองนั้น พระองค์ก็ไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง นอกจากนี้แล้ว พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงเอื้อต่อทางฝ่ายรัฐคือในแง่ที่เป็นขอบเขตอำนาจรัฐ พระองค์ก็ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง หมายความว่าทางบ้านทางเมือง ทางฝ่ายคฤหัสถ์ เขาจะอยู่ปกครองกัน ถ้าเป็นเรื่องที่เป็นไปด้วยดีโดยชอบ ก็ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง ไม่ให้เขาเสียระบบระเบียบของเขา

ฉะนั้น ในวินัยจะเห็นว่าพระองค์ได้บัญญัติสิกขาบทขึ้น เพื่อไม่ให้พระสงฆ์เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงกิจการของรัฐที่เขาดำเนินกันอยู่ตามปกติ แม้แต่การบวชก็จะมีการวางสิกขาบทไว้ เช่นว่า ไม่ให้รับบวชบุคคลที่เป็นข้าราชการ หรือไม่ให้รับบวชคนที่เป็นโจรมีชื่อเสียงโด่งดัง อะไรดังนี้เป็นต้น สิ่งใดที่พอจะอนุโลมได้ก็ยังมีหลักไว้ว่า ราชูนํ อนุวตฺติตุํ คือทรงอนุญาตให้อนุวัตรตามพระราชา (พระราชา หมายถึงทางฝ่ายรัฐหรือฝ่ายบ้านเมืองนั้นเอง) เกี่ยวกับเรื่องที่เป็นขอบเขตอำนาจของรัฐที่พึงเป็นไปได้โดยชอบธรรม ที่ไม่เป็นการเสียหายแก่หลักการอะไรของศาสนา เป็นเรื่องของความเป็นอยู่ทั่วๆ ไป เช่นการนับวันเวลาเป็นต้น

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ขอสนทนาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพระพุทธศาสนา ในรอบ ๒ ศตวรรษ / ในสมัยพุทธกาลทำไมทางฝ่ายรัฐจะต้องมาสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนา >>

No Comments

Comments are closed.