ทำไมทางฝ่ายรัฐจะต้องมาสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนา

30 เมษายน 2525
เป็นตอนที่ 3 จาก 13 ตอนของ

ถาม ทำไมทางฝ่ายรัฐบาลจะต้องมาสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาอย่างนั้น เช่นว่าคุ้มครองป้องกัน อุปถัมภ์บำรุง เป็นต้น

ตอบ เรื่องนี้ยังไม่ตอบโดยตรง แต่เมื่อสรุปหลักความสัมพันธ์ดังกล่าวมาแล้ว ก็อาจเข้าใจเหตุผลได้เอง การที่รัฐสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนา เราอาจสรุปหลักการได้เป็น ๒ อย่างคือ

๑. เป็นหน้าที่เกี่ยวกับธรรม หรือหน้าที่ต่อธรรม คือรัฐ โดยเฉพาะผู้ปกครองที่ดี ย่อมเป็นผู้ใฝ่ธรรม แสวงหาธรรม และเป็นผู้เชิดชูธรรม พระสงฆ์หรือทางฝ่ายศาสนานั้นเป็นผู้ดำรงไว้ซึ่งธรรม เป็นผู้เผยแพร่ และสืบต่อ สืบทอดธรรมให้ดำรงอยู่ในโลก ในสังคม เพราะฉะนั้น รัฐก็ทำหน้าที่ในการที่จะช่วยผู้ดำรงรักษาสืบทอดธรรมเผยแพร่ธรรมนี้ ให้ทำหน้าที่นั้นด้วยดี การทำอย่างนั้นก็เท่ากับรัฐได้เชิดชูธรรมด้วย

การที่พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ยกย่องพระองคุลิมาล ทั้งๆ ที่โดยส่วนตัวพระองคุลิมาลก็มาบวชจากโจร การที่พระองค์ทรงกราบไหว้ หรือทะนุบำรุงนั้น หมายความว่าพระองค์ทรงเคารพธรรม หรือเชิดชูธรรม คือธรรมที่พระองคุลิมาลนี้ เมื่อได้เข้ามาบวชแล้ว จะต้องเป็นผู้รักษาประพฤติปฏิบัติและธำรงสืบทอดไว้

แม้ในสามัญญผลสูตร ก็มีหลักการอย่างเดียวกันนี้ตรัสไว้โดยพระเจ้าอชาตศัตรู เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถามพระเจ้าอชาตศัตรูว่า ถ้าชาวนาออกบวช พระเจ้าอชาตศัตรูจะตรัสกับชาวนานั้นว่า “เฮ้ย เจ้าคนนั้น เจ้าจงมา เจ้าเป็นชาวนา มาจ่ายค่าอากรเสีย อย่างนี้หรือ” พระเจ้าอชาตศัตรูก็ทูลตอบว่า “จะเป็นเช่นนั้นไม่ได้เลย อันที่จริงหม่อมฉันเสียอีกที่ควรจะไหว้เขาคือพระชาวนาที่มาบวชแล้วนั้น จะลุกรับเขา จะเชื้อเชิญให้เขานั่ง ควรจะบำรุงเขาด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ควรจะจัดการรักษาป้องกันคุ้มครองเขาอย่างเป็นธรรม”

สืบเนื่องจากหน้าที่ที่เกี่ยวกับธรรมนี้ ก็ทำให้พระมหากษัตริย์ หรือทางรัฐมีหน้าที่ต่อไปอีก คือจะต้องพยายามให้ศาสนาบริสุทธิ์ เพื่อให้มีธรรมดำรงอยู่สืบต่อไปในสังคมหรือในโลกนี้ การทำสังคายนาก็ดี การกำจัดชำระล้างศาสนาในบางสมัยก็ดี เป็นเรื่องที่จัดได้ว่าอยู่ในหน้าที่ข้อนี้

เมื่อมีเหตุการณ์ไม่เรียบร้อยขึ้นในวงการพระศาสนา รัฐก็เข้ามาอุปถัมภ์คณะสงฆ์ในการทำสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัย เพื่อรักษาธรรมที่บริสุทธิ์ไว้ สังคายนาสมัยต่างๆ โดยมากก็มีพระเจ้าแผ่นดินหรือทางรัฐเข้ามาเป็นผู้อุปถัมภ์ทั้งในประเทศอินเดีย ในศรีลังกา ตลอดจนกระทั่งในประเทศไทยหลายครั้งหลายสมัย

แม้ในกรณีปลีกย่อย เมื่อปรากฏว่ามีคนของรัฐ หรือพลเมืองคือคนของบ้านเมืองที่เป็นคนร้าย คนไม่ดีเข้าไปซุกซ่อนตัวแอบแฝงอยู่ เข้าไปบวช เข้าไปเบียดเบียนทำลายศาสนา ซึ่งเท่ากับทำลายประโยชน์ของรัฐและประชาชนด้วย ทางรัฐหรือทางพระเจ้าแผ่นดิน ก็ช่วยรักษาความบริสุทธิ์ของพระศาสนาด้วยการไปเอาคนของตนเอง หรือพลเมืองของตนเองที่เป็นคนไม่ดีที่เข้าไปทำลายศาสนานั้นออกมา อันนี้ก็ถือว่าเป็นการชำระล้างศาสนา ด้วยการเอาคนร้ายพลเมืองไม่ดีของตนเองกลับออกมาเสีย ไม่ให้เข้าไปหรืออยู่ทำลายศาสนาต่อไป

๒. เป็นหน้าที่ในฐานะที่ผู้ปกครองหรือรัฐเป็นตัวแทนของประชาชนควรจะแสดงน้ำใจตอบแทนต่อทางฝ่ายสงฆ์หรือทางฝ่ายศาสนา ข้อนี้หมายความว่า ตามปกติพระภิกษุสงฆ์หรือทางฝ่ายศาสนา เป็นผู้แนะนำสั่งสอนประชาชนให้ดำรงอยู่ในศีลธรรม ให้ประพฤติปฏิบัติในทางที่ดีงาม ให้พัฒนาทางจิตใจ ทางปัญญา เมื่อพระสงฆ์ทำเช่นนี้ ประชาชนก็จะมีการศึกษาดี มีความรู้ ประพฤติดี มีจิตใจที่มีคุณภาพดี ก็จะเป็นพลเมืองที่ดี ผลประโยชน์นี้ก็ตกแก่รัฐด้วย ช่วยให้รัฐนั้นเจริญรุ่งเรืองมีความสงบสุข รัฐสำนึกในคุณของฝ่ายสงฆ์จึงถวายความคุ้มครองทะนุบำรุงอุปถัมภ์พระสงฆ์หรือทางศาสนานั้น เป็นการตอบแทนคุณความดีหรือบูชาคุณของฝ่ายศาสนา หรือฝ่ายสงฆ์นั่นเอง และทำหน้าที่ดังกล่าวแทนประชาชน คืออุปถัมภ์บำรุงศาสนาแทนประชาชน

การปฏิบัติหน้าที่อย่างนี้ หรือการมีความสำนึกในหลักการนี้ จะเห็นหลักฐาน เช่น ในโกศลสูตร ในอังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต บาลีเล่ม ๒๔ เล่าเรื่อง ว่า

ครั้งหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อเข้าไปแล้วก็ลงหมอบกราบถวายบังคมที่พระบาทของพระพุทธเจ้า ถึงกับได้ทรงกอดทรงจูบพระบาทของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสถามว่า เหตุใดพระองค์จึงได้ทรงแสดงความเคารพนอบน้อมถึงอย่างนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทูลตอบว่า พระองค์ (คือพระเจ้าปเสนทิโกศล) ทรงมุ่งจะแสดงความกตัญญูกตเวที จึงได้ทรงกระทำความเคารพนอบน้อมอย่างนั้น คือพระองค์ทรงเห็นว่า พระพุทธเจ้าปฏิบัติเพื่อประโยชน์และความสุขแก่พหูชน หรือประชาชนจำนวนมาก ทรงประดิษฐานพหูชนหรือประชาชนนั้นไว้ในกุศลธรรม ในกัลยาณธรรม

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะพูดให้สั้นที่สุด โดยมองในแง่วัตถุประสงค์ หลักความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพระพุทธศาสนา สรุปได้เป็นข้อเดียว คือ การสัมพันธ์กัน หรือช่วยกันปฏิบัติกิจ เพื่อประโยชน์สุขของพหูชน ตามหน้าที่ฐานะของตน เพราะมีพระพุทธพจน์ตรัสไว้มากมายในอังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ในวินัยปิฎก ในอิติวุตตกะ เป็นต้น เช่นว่า การที่พระพุทธเจ้าและจักกวัตติราชาอุบัติขึ้นก็ตาม การประกาศสั่งสอนธรรมก็ตาม การที่สงฆ์สามัคคีกันก็ตาม การทำสังคายนาก็ตาม การที่พระพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ยืนนานก็ตาม ก็ล้วนแต่เพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชนทั้งสิ้น

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ขอทราบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาลความเลวร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา มีขึ้นในยุคไหนบ้าง สาเหตุเกิดจากอะไร ผลที่สุดเป็นประการใด >>

No Comments

Comments are closed.