สถาบันพระพุทธศาสนาในเมืองไทยปัจจุบัน ถึงยุคที่เราจะเรียกว่า เป็นต้นไม้ที่ยืนต้นตายได้หรือไม่

30 เมษายน 2525
เป็นตอนที่ 13 จาก 13 ตอนของ

ถาม สถาบันพระพุทธศาสนาในเมืองไทยปัจจุบัน ถึงยุคที่เราจะเรียกว่า เป็นต้นไม้ที่ยืนต้นตายได้หรือไม่

ตอบ คำที่ว่านี้ก็เคยพูดเองและเคยได้ยิน ดูเหมือนว่าตอนนี้จะได้ยินมากขึ้นบ้าง และท่าทีต่อเรื่องนี้ก็เหมือนกับที่พูดเมื่อตะกี้ หรือเหมือนกับคำถามที่ถามมาแล้ว คือว่าอย่าด่วนใช้อารมณ์ ไม่ใช่ใครว่าอย่างนี้เราก็โมโหโกรธไป แต่เป็นข้อสังเกตสำหรับเตือนสติ และนำมาพิจารณาศึกษาวิเคราะห์ดูว่าเป็นอย่างไรกันแน่ จะได้ดำรงอยู่ในความไม่ประมาท

ข้อสำคัญก็คือว่า คำติติงคำเตือนอะไรต่างๆ เหล่านี้ เราควรจะได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น เพื่อจะทำให้เกิดความไม่ประมาท และเป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา

มีความจริงอยู่ไม่น้อยว่า สภาพของพระพุทธศาสนาที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นสภาพของการได้รับผลบุญเก่า บางทีอาจจะพูดรุนแรงไปว่ากินบุญเก่า คือว่าบรรพบุรุษของเราได้สร้างกันมา สั่งสมกันมา มีวัดวาอารามมากมายใหญ่โต มีประเพณีที่เอื้ออำนวยให้มีพระสงฆ์บวชจำนวนมากมาย และสิ่งก่อสร้างจำนวนมากที่สร้างไว้เป็นวัตถุ ดูว่าภายนอก พระพุทธศาสนาเจริญ สิ่งเหล่านี้แม้ที่สร้างในปัจจุบัน ก็เป็นผลแสดงของนามธรรม จากการสั่งสมของบรรพบุรุษนั่นเอง

ปัญหาอยู่ที่ว่า ปัจจุบันนี้เราได้ทำอะไรที่เป็นเครื่องแสดงถึงความเจริญ และความดำรงอยู่อย่างมั่นคงของพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน ที่จะเป็นผลสืบไปถึงในอนาคต

ขณะนี้เรามีความมั่นใจในการกระทำของตนเองหรือเปล่า เริ่มต้นตั้งแต่ว่าเรามีความเข้าใจในพระพุทธศาสนาดีหรือไม่ เป็นต้น มีความมั่นใจในภูมิคุ้มกันต่ออันตรายจากภายนอกจริงหรือไม่ และชุมชนหรือสังคมของเราปัจจุบันนี้มีเครื่องหมายอะไรให้เกิดความมั่นใจว่าอยู่ในภาวะที่แน่นแฟ้นในพระพุทธศาสนา ซาบซึ้งในคุณค่าของพระพุทธศาสนาอย่างถึงจิตถึงปัญญา ไม่ใช่ว่าแต่ปากลอยๆ การที่จะแน่ใจว่า เมืองไทยเป็นสังคมที่จะดำรงพระพุทธศาสนาให้สืบต่อเจริญก้าวหน้าต่อไปได้นั้น เรามีอะไรที่ทำให้มั่นใจ

ถ้าหากว่าไม่มีความมั่นใจในสิ่งเหล่านี้แล้ว คำกล่าวที่ว่ามาเมื่อกี้มันก็อาจจะเป็นจริงขึ้นมาได้ คือคำนั้นมีความหมายว่า เรามองเห็นตัวสถาบันพระพุทธศาสนา มีรูปลักษณะภายนอก โดยเฉพาะด้านวัตถุและปริมาณ เช่นว่าวัดวาอาราม ปูชนียวัตถุสถานที่ใหญ่โต จำนวนพระสงฆ์ที่มากมายนี้ เปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ แต่ถ้าหากว่าวัตถุเหล่านั้นไม่ดำรงหรือบรรจุไว้ซึ่งแก่นแท้หรือเนื้อหาของพระพุทธศาสนา เช่นพระภิกษุสงฆ์มีมาก แต่ไม่มีความรู้ความเข้าใจ ขาดการศึกษา ไม่รู้หลักธรรมวินัย วัดวาอารามไม่เป็นที่ประกอบกิจกรรมในทางพระพุทธศาสนา ที่จะให้เกิดความรู้การประพฤติธรรม หรือช่วยให้ประชาชนพัฒนากาย ศีล จิต ปัญญาแท้จริง ก็หมายความว่า เป็นแต่ต้นไม้ที่เป็นเพียงรูปวัตถุหรือเป็นซากต้นไม้ ไม่มีชีวิตชีวา เมื่อไม่มีชีวิตชีวาก็เหมือนกับต้นไม้ที่ยืนต้นตาย

ถ้าอยู่ในสภาพอย่างนั้น คำกล่าวเมื่อกี้ก็เป็นความจริงได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ให้ไปพิจารณากันดู แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะวินิจฉัยเด็ดขาดในที่นี้ คือผู้ที่จะกล่าวอย่างนั้นจริงๆ ควรจะพูดให้ได้เหตุผลหนักแน่น ก่อนจะพูดต้องไปศึกษาค้นคว้า วิเคราะห์สภาพปัจจุบันนี้ออกมาทีเดียว ให้เห็นเป็นอย่างๆ เป็นเรื่องๆ ไป เห็นเป็นรายละเอียด แสดงให้เห็นภาพที่ชัดเจน เป็นข้อเท็จจริงที่จะไม่มีใครกล่าวหาได้ว่าพูดเอาเอง

ขอย้อนไปพูดถึงตอนต้นว่า อย่างไรก็ตาม เราก็ควรจะได้รับประโยชน์จากคำที่ว่านั้น โดยถือเป็นข้อสังเกตที่เตือนสติ เพื่อจะได้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ถ้าคำกล่าวของเขาไม่เป็นจริง เราศึกษาสำรวจตัวเองแล้ว เราก็จะได้มีความมั่นใจ แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาทำในสิ่งที่จะเป็นเหตุแห่งความเจริญมั่นคงของพระพุทธศาสนาต่อไป หากว่ามันมีเค้าว่าจะเป็นความจริง เราจะได้รีบแก้ไข มันก็เป็นประโยชน์ทั้ง ๒ ทาง แต่ตัวฟังคำเขาว่าแล้วเอาแต่โกรธเขา ก็มีหวังว่าจะต้องเสียประโยชน์นี้ทั้ง ๒ ทาง เพราะตกอยู่ในความประมาท และอาจจะต้องเป็นอย่างที่ว่ามาเมื่อกี้ คือยืนต้นตายแน่ๆ

(ความจริงนั้น สภาพปัจจุบันมีความซับซ้อนยิ่งกว่าที่พูดมานั้นอีก ซึ่งถ้ายังประมาทอยู่และไม่รู้เท่าทัน อาจจะไม่ใช่เพียงยืนต้นตายเท่านั้น แต่บางทีอาจจะต้องพบกับพระพุทธศาสนาที่กลายเป็นตอไม้ใหญ่ และบนตอนั้นมีต้นไม้อื่นยืนต้นขึ้นไปแทน)

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< เป็นไปได้ไหมที่มีบางคนพูดว่าเมืองไทยไม่เคยมี พระพุทธศาสนาที่แท้จริงเลย

No Comments

Comments are closed.