ถ้ารัฐกับศาสนาไม่มีความผูกพันกัน แล้วทั้งสองฝ่ายจะดำเนินไปได้ด้วยดีเสมอไปไหม

30 เมษายน 2525
เป็นตอนที่ 7 จาก 13 ตอนของ

ถาม ถ้ารัฐกับศาสนาไม่มีความผูกพันกันแล้ว ทั้ง ๒ ฝ่ายจะดำเนินไปได้ด้วยดีเสมอไปไหมครับ

ตอบ ในที่นี้ คำว่าผูกพัน ก็เป็นคำที่ต้องขยายความ ถ้าคำว่า ผูกพัน มีความหมายอย่างคำว่า สัมพันธ์ ละก็ การที่จะไม่สัมพันธ์เห็นจะเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าศาสนาเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับประชาชน และรัฐก็ปกครองประชาชนอยู่ ถ้าเกี่ยวข้องกับประชาชนก็ต้องเกี่ยวข้องกับศาสนาอยู่ดี หนีไปไหนไม่ พ้น

แม้แต่ประเทศที่ว่าแยกรัฐกับศาสนาออกจากกัน อย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ที่บอกว่าแยก Church กับ State ออกจากกันเป็นคนละส่วน ก็ต้องมีความสัมพันธ์กับศาสนาอยู่ไม่ใช่น้อย เรื่องความสัมพันธ์นั้น ถ้าไม่สัมพันธ์ในแง่บวก ก็ต้องสัมพันธ์ในแง่ลบ เช่น ระวังไม่ให้ศาสนาต่างๆ มาปะทะกัน เป็นต้น

สำหรับประเทศที่ไม่มีเอกภาพทางศาสนา ปัญหาเรื่องการระวังความสัมพันธ์ที่เป็นไปในแง่ลบนี้อาจจะมากสักหน่อย ส่วนประเทศที่มีเอกภาพในทางศาสนา ก็มีโอกาสที่จะมีความสัมพันธ์ในแง่บวกมากขึ้น

ถ้าพูดถึงความผูกพัน ในความหมายของสถาบัน คือ สถาบันฝ่ายศาสนา กับสถาบันของรัฐ ถ้าแยกออกไปต่างหากจากกัน ในแง่นี้ก็มีทั้งแง่ดีและแง่เสีย

ทางฝ่ายศาสนาก็อาจจะได้รับผลเสียบางประการ เช่นว่าทางฝ่ายศาสนาต้องดิ้นรนเอง เมื่อดิ้นรนเองก็อาจจะมีความเข้มแข็ง มีการที่ต้องพยายามปรับปรุงตัวเอง ในแง่นั้นก็อาจจะเป็นผลดี แต่ในเวลาเดียวกัน เมื่อไม่ได้รับความปกป้องจากรัฐ ก็อาจจะมีกลุ่ม มีขบวนการดีๆ ร้ายๆ ต่างๆ ตั้งขึ้นมา ทำให้เกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากหลักพระธรรมวินัย โดยเฉพาะในสมัยที่ประชาชนขาดการศึกษา ความรู้ความเข้าใจธรรมก็จะไขว้เขวไปได้มาก หรือแม้แต่ในองค์การศาสนาในสถาบันใหญ่เอง อาจมีผู้ปลอมปนเข้ามา มีการประพฤติผิดพลาดเสียหายต่างๆ เมื่อไม่มีอำนาจไปจัดการ หรือว่าไม่สามารถจะจัดการด้วยตัวเองได้ และถ้ารัฐไม่เข้ามาช่วยเหลือ ผลเสียก็เกิดขึ้น อาจจะเกิดความเสื่อมโทรมในทางศาสนาได้เช่นเดียวกัน

ส่วนทางฝ่ายรัฐ ถ้าไม่มีช่องทางที่จะผูกพันประสานกับศาสนา ศาสนาก็อาจจะเป็นเหตุให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชนได้ง่าย เมื่อประชาชนแตกแยกแล้ว ก็จะเกิดผลเสียแก่รัฐ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่มองเห็นได้ไม่ยาก ส่วนอะไรนอกจากนี้ จะไม่พูดให้มากสำหรับข้อนี้

อย่างที่พูดไปแล้วว่า ตามปกตินี่ ความสัมพันธ์กันระหว่างรัฐกับศาสนาเห็นจะต้องมี หนีไปไม่พ้น ถ้าไม่เป็นความสัมพันธ์ในแง่บวกก็เป็นในแง่ลบ บางท่านอาจจะอ้างถึงประเทศสหรัฐอเมริกาว่าแยกรัฐกับศาสนา หรือแยกรัฐกับสถาบันสงฆ์ออกจากกัน โดยให้ Church กับ State เป็นคนละส่วน แต่ว่ากันไปแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับรัฐในอเมริกาก็ยังมีมาก เพียงแต่จะต้องจับให้ถูกว่าเป็นความสัมพันธ์ในแง่ใด

ถ้าพูดในทางประวัติศาสตร์ ในประเทศอเมริกานั้น กิจการของรัฐ หรือความผูกพันของรัฐต่อศาสนา ก็เป็นไปในทางเพิ่มพูนขึ้น เช่น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ (ค.ศ. ๑๙๕๖) รัฐสภาอเมริกา (คองเกรส) ได้มีมติยกข้อความ In God We Trust (เรามอบชีวิตฝากจิตใจไว้ในองค์พระผู้เป็นเจ้า) ขึ้นเป็นคำขวัญของชาติ (national motto) เหมือนกับว่าศาสนาคริสต์เป็นทำนองศาสนาประจำชาติกลายๆ หรืออย่างในคำปฏิญาณธงของอเมริกา สภาคองเกรสก็ได้มีมติ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ ให้เพิ่มคำว่า under God เข้าต่อท้ายคำว่า one nation เช่นเดียวกัน พอพูดถึงสหรัฐอเมริกา ก็จะต้องมีคำว่า one nation under God (ประชาชาติอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้องค์พระผู้เป็นเจ้า) อันนี้ก็แสดงถึงความสัมพันธ์กับศาสนา

อย่างในเมืองไทยเรามีความผูกพัน ในรัฐธรรมนูญกับพระพุทธศาสนา คำพูดอาจจะอ่อนเสียกว่าของสหรัฐด้วยซ้ำ คือ จะพูดแต่เพียงว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ แล้วเราก็บอกว่าที่ให้พระมหากษัตริย์เป็นพุทธมามกะนี่แหละ คือ หมายถึงว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ความจริงนั้น คำที่พูดโดยตรงว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ หามีในรัฐธรรมนูญไทยปัจจุบันไม่

อันนี้ก็ให้เทียบกันอย่างที่กล่าวมาแล้ว อย่างของอเมริกาที่ว่า In God We Trust ก็ดี one nation under God ก็ดี ของเขาก็ไม่ใช่เรื่องห่างศาสนาแต่ประการใด แม้ในทางปฏิบัติในกิจการต่างๆ ของรัฐนั้น ก็จะมีเรื่องของศาสนาเข้าไปปนอยู่ด้วยเสมอ เช่นพิธีปฏิญาณตนเป็นประธานาธิบดีอเมริกา ก็จะต้องปฏิญาณต่อคัมภีร์ไบเบิล ตอนจบคำปฏิญาณก็เป็นธรรมเนียมให้ลงท้ายด้วยคำว่า So help me God และจะมีพระผู้ใหญ่ในศาสนาคริสต์ มีบาทหลวงหรือมี Minister ผู้ใหญ่ ไปกล่าวนำที่เรียกได้ว่าเป็นการให้โอวาท และกล่าวปิดท้ายพิธีด้วยการสรรเสริญขอบคุณพระเจ้าและอำนวยพร เสร็จแล้วจึงบรรเลงเพลงชาติเป็นจบพิธีการ ในพิธีประสาทปริญญาของมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ก็จะมีบาทหลวงหรือนักบวชของฝ่ายคริสต์ที่เป็นผู้ใหญ่ กล่าวให้โอวาทในตอนต้นพิธี เพราะฉะนั้น ในอเมริกา กิจการทางศาสนาจึงยังมีความสัมพันธ์ในกิจการของรัฐอยู่ไม่ใช่น้อย

ถ้าพูดอย่างนี้แล้ว ก็พูดเลยไปอีกว่าในเมืองไทยเรานี้ยังให้สิทธิและยกย่องศาสนาอื่นๆ มากกว่าในอเมริกา ดูให้ดีเถิดจะเป็นอย่างนั้น ยกตัวอย่างเพื่อเป็นความรู้ ศาสนาคริสต์ในเมืองไทยเรานี้ ตามสถิติว่ามีคริสต์ศาสนิกชนอยู่แสนกว่าคน และคนไทยอยู่ประมาณ ๔๘ ล้านคน จะเห็นว่าในกิจการบ้านเมืองโดยทั่วๆ ไป เริ่มตั้งแต่กรมการศาสนาและกิจการศึกษาอะไรต่างๆ นี่เราจะให้เกียรติยกย่องฐานะ ให้สิทธิ ให้โอกาสแก่ทางศาสนาคริสต์เป็นอย่างมาก

ทีนี้หันไปลองมองดูในสหรัฐอเมริกา มีประชากร ๒๐๐ กว่าล้านคน ในจำนวนนี้ก็มีพุทธศาสนิกชนอยู่จำนวนมิใช่น้อย เฉพาะที่ขึ้นต่อ Buddhist Churches of America ซึ่งเป็นของญี่ปุ่นนิกายโจโดชินอย่างเดียว ก็เข้าไปเกือบ ๑๐๐,๐๐๐ คน และยังมีพวกนับถือนิกายอื่น มีเชื้อสายจีน เชื้อสายญี่ปุ่นนิกายอื่น คนเชื้อสายไทย คนเชื้อสายพม่าอะไรเป็นต้น ตลอดจนชาวอเมริกันผิวขาวที่นับถือพระพุทธศาสนา เข้าใจว่าต้องหลายแสนคนทีเดียว (หมายความว่า พุทธศาสนิกชน ในอเมริกาคงจะมีเปอร์เซนต์สูงกว่าคริสต์ศาสนิกชนในประเทศไทย) แต่ในกิจการของรัฐ งานหลวง งานสาธารณะต่างๆ เขาหาได้แสดงความตระหนักรู้ถึงความมีอยู่หรือฐานะอะไรของพุทธศาสนาที่จะต้องคอยสนใจใส่ใจแต่ประการใดไม่ เรียกว่ามีการเอ่ยอ้างถึงน้อย เป็นเรื่องของเอกชนที่จะมาสนใจศึกษากันไปเอง (นี้หมายถึง พ.ศ. ๒๕๒๕)

สำหรับศาสนาคริสต์ในอเมริกานั้น เหตุที่ต้องระวังเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาก็เพราะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ที่หนักไปข้างผลในแง่ลบ เพราะว่าในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะเป็นคริสต์ศาสนิกชน คือ นับถือศาสนาคริสต์ แต่ศาสนาคริสต์นั้นมีนิกายมากมายเหลือเกิน อย่างน้อยก็มีคาทอลิก กับโปรเตสแตนต์อีกนับร้อย อันนี้ถ้ารัฐจะเข้ามาผูกพันกับศาสนาคริสต์ ก็มีปัญหาขึ้นมาว่าจะต้องผูกพันกับนิกายใดนิกายหนึ่ง ถ้ายกนิกายหนึ่งขึ้นไปแล้วนิกายอื่นก็ถือว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็จะเกิดความแตกแยกกันไปใหญ่ เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์จึงเน้นหนักไปในแง่ลบ ต้องระวังไม่ให้เกิดความแตกแยก คือเป็นเรื่องระหว่างศาสนาคริสต์ด้วยกันเอง แต่ต่างนิกาย อันนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการแยกระหว่างรัฐบาลกับสถาบันศาสนา เพื่อหลีกเลี่ยงผลในแง่ลบ คือถ้าไปผูกพันเข้าแล้ว จะกลายเป็นทำให้เกิดผลเสียแตกแยกในประเทศ เพราะเป็น ประเทศที่ไม่มีเอกภาพในทางศาสนา

ส่วนในประเทศที่มีเอกภาพทางศาสนา ถ้าผูกพันให้ถูกต้องพอดีกับความชอบธรรมแล้ว ก็จะทำให้เกิดผลดี คือความสามัคคี ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในแง่นี้ถ้าหากไม่สัมพันธ์เสียอีกจะกลับมีผลเสีย มันเป็นไปในทางกลับกัน คือกลายเป็นว่าถ้าไม่สัมพันธ์แล้วจะเกิดการแตกแยก

ตามหลักการนี้จะเห็นได้ว่า แม้แต่ในประเทศอเมริกา อย่างที่ว่ามานั้น ก็ยังต้องการความสัมพันธ์กับศาสนาชนิดที่มีผลดีต่อรัฐอยู่นั่นเอง ในเมื่อสัมพันธ์กับสถาบันศาสนาไม่ได้ คือสัมพันธ์กับ Church ไม่ได้ ก็ไปสัมพันธ์ในแง่ของตัวศาสนาที่เป็นนามธรรม ก็ออกในรูปที่เมื่อพูดถึงว่าเป็น one nation under God; In God We Trust อะไรพวกนั้น ตลอดจนกระทั่งเวลามีกิจการงานสำคัญ เมื่อผู้ที่มาปฏิญาณตนเป็นประธานาธิบดี นับถือนิกายไหน ก็ไปเอาบาทหลวงหรือ Minister นิกายนั้น หรือที่สมควรมา นี่ก็เพื่อแก้ปัญหาความสัมพันธ์ในแง่ลบ พยายามจัดให้เป็นความสัมพันธ์ในแง่บวกเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่จะตัดความสัมพันธ์แท้จริงไม่ปรากฏ

นอกจากในบางรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาอาจจะเป็นไปในแง่ของความสัมพันธ์อีกแบบหนึ่ง คือ การเป็นปฏิปักษ์กับศาสนา นี้ก็ถือเป็นความสัมพันธ์อีกเหมือนกัน เป็นการสัมพันธ์อีกแบบหนึ่ง เพราะว่าในรัฐเช่นนั้น อาจมีอุดมการณ์หรือลัทธิอย่างอื่นที่ตั้งตัวเป็นศาสนาเสียเอง แล้วก็ เลยต้องเป็นปฏิปักษ์กับศาสนาที่มีอยู่เดิม เพราะอุดมการณ์หรือลัทธิที่รัฐนั้นนับถือ มีหลักการทางศาสนาที่ขัดกับศาสนาแบบที่มีอยู่ก่อนแล้ว

เรื่องการแยกระหว่างรัฐกับศาสนาในอเมริกานี้ เป็นเรื่องน่าศึกษาอย่างหนึ่ง ว่ามีสาเหตุเป็นมาอย่างไร ความจริงที่ว่าแยกกันนั้น ก็เป็นการถือกันมาโดยนัยเท่านั้น (นัยนี้ เจฟเฟอร์สันเป็นผู้แสดงไว้) แต่ก็รู้กันมาเป็นประเพณีอย่างหนึ่งทีเดียว บางทีถึงกับเข้าใจกันว่ามีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอเมริกันว่าอย่างนั้น แต่แท้จริงแล้ว คำว่าแยกกันอย่างนั้น มิได้มีในรัฐธรรมนูญอเมริกันหรือในกฎหมายอเมริกันฉบับใดเลย เพียงแต่ว่าในรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไม่ให้ยกสถาบันศาสนาหนึ่งใดขึ้นเชิดชู ซึ่งเมื่อศึกษาสาเหตุ โดยสืบสาวไปถึงเหตุการณ์เมื่อตอนร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะรู้ว่าเป็นเพราะเหตุผลอย่างที่กล่าวมาข้างต้นนั้น

เหตุผลที่ว่านั้นขอพูดซ้ำอีก ก็คือ ในบรรดาสาเหตุ ๔ ข้อที่ทำให้บัญญัติมาตรานั้นในรัฐธรรมนูญอเมริกัน เป็นสาเหตุระหว่างนิกายต่างๆ ของศาสนาคริสต์เสีย ๓ ข้อ โดยเฉพาะข้อที่ต่างก็กลัวว่า ถ้าอีกนิกายหนึ่งขึ้นไป นิกายตัวจะแย่ ดังบทเรียนที่ได้ประสบมาเองแล้วในยุโรปก่อนอพยพ โดยเฉพาะในอังกฤษ และแม้แต่เหตุผลอีกข้อหนึ่งที่เหลืออยู่ ที่จริงก็เป็นเหตุผลเกี่ยวกับบทเรียนในยุโรป คือความตื่นตัวทางปัญญาที่วิทยาศาสตร์เจริญขึ้น บั่นทอนความเชื่อแบบบังคับศรัทธาที่ต้องถือตามคำบงการจากสวรรค์

เมื่อว่าโดยพื้นฐานแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาในประวัติศาสตร์ตะวันตก เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจรัฐของผู้บริหารฝ่ายโลกมนุษย์ กับอำนาจบันดาลของเทพเจ้าที่ศาสนจักรเป็นสื่อแสดงเทวประสงค์ สองฝ่ายนี้จึงมักมีการแข่งอำนาจกัน เข้าก้าวก่ายกิจการของกันและกัน โดยที่บ่อยครั้งศาสนจักรจะมีอิทธิพลครอบงำกิจการของรัฐ ประเพณีนี้ต่างกันไกลกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาในไทยที่เป็นการร่วมมือระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และมีวินัยสงฆ์กำกับกั้นป้องกันการเข้าไปก้าวก่ายในกิจการของรัฐ

รวมความว่า ถ้าไม่เป็นเพราะเหตุผลเกี่ยวกับประสบการณ์อันขมขื่นในยุโรป และถ้าศาสนาคริสต์เมื่อตอนตั้งประเทศอเมริกาเป็นอันหนึ่งอันเดียว ไม่แตกแยกกัน บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญอเมริกันที่ถือกันว่าเป็นการแยกรัฐกับศาสนาดังกล่าวแล้ว ก็คงไม่ได้เกิดมีขึ้น ศาสนาคริสต์ก็อาจจะเป็น ศาสนาประจำชาติอเมริกันโดยสถาบันที่เป็นรูปธรรม มิใช่เป็นเพียงโดยอุดมคตินามธรรมว่า one nation under God

เรื่องหลักการต่างๆ ที่นิยมนับถือกันนั้น จะต้องศึกษาเหตุผลต้นปลายให้ดี มิใช่ว่าเห็นประเทศไหนเจริญ เขาทำอะไรก็เห็นเป็นดี นิยมตามๆ เขาไป เขามีหลักการอะไร ก็จะเอามาใช้ปฏิบัติบ้าง โดยไม่สืบสวนวิเคราะห์เหตุปัจจัยอันเป็นที่มาของหลักการนั้นให้ถ่องแท้ ถ้าจะทำตามเพียงที่นิยมว่าเขา เจริญ ก็คือความงมงายอย่างชัดๆ นี่เอง

ที่ว่าทันสมัยแต่ไม่พัฒนา ก็เพราะทำตามอย่างที่เขาทำ เห็นว่าประเทศเขาเจริญ ก็เอาหลักการของเขามาใช้ปฏิบัติ โดยไม่ได้ศึกษาเหตุปัจจัยข้อดีข้อเสียให้เข้าใจเขาอย่างชัดเจนนั้นเอง ถ้าหากว่าก่อนจะใช้ จะทำ จะปฏิบัติตามอย่างเขา ศึกษาวิเคราะห์เหตุผล คุณโทษ เป็นต้น ให้เข้าใจแจ่มแจ้งเสียก่อน ก็จะใช้ จะทำ จะนำมาปฏิบัติ และดัดแปลงให้เหมาะสมเป็นประโยชน์แก่ตนเองได้ การพัฒนาก็เกิดขึ้น และเป็นการพัฒนาที่ถูกต้อง อาจเป็นการพัฒนาที่มีความทันสมัยด้วย หรือบางอย่างอาจพัฒนาโดยไม่ต้องทันสมัย ก็ยังดีอยู่นั่นเอง

ได้พูดเลยออกไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาในอเมริกา ขอให้ถือเป็นเพียงความรู้ประกอบ ไม่ใช่จะเอามาเปรียบเทียบโดยตรง เพราะถ้าเทียบกันแล้ว ก็มีหลายอย่างที่ไม่ตรงกัน เช่น แม้แต่พระภิกษุกับบาทหลวงก็ต่างกันมาก พระภิกษุเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม เป็นส่วนหนึ่งร่วมอยู่ในบริษัท ๔ เป็นกัลยาณมิตรของชาวบ้าน แต่บาทหลวงเป็นเจ้าหน้าที่ศาสนา เป็นสื่อกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ ดังนี้เป็นต้น

ปัจจุบันนี้ ทางฝ่ายศาสนาคริสต์ในประเทศไทย มีนโยบายชัดเจนในการที่จะเข้ามาสัมพันธ์และปฏิบัติต่อพระพุทธศาสนา ชาวพุทธโดยเฉพาะพระภิกษุจะต้องเข้าใจความแตกต่างเป็นต้นนี้เป็นอย่างดี เพื่อจะสัมพันธ์ได้ถูกต้อง ถ้าสัมพันธ์โดยไม่มีความรู้ความเข้าใจชัดเจน ย่อมถือได้ว่าเป็นผู้ ขาดความรับผิดชอบและไร้สมรรถภาพในการที่จะรักษาสืบต่อพระพุทธศาสนา นี้เท่ากับพูดว่า พระพุทธศาสนานอกจากสัมพันธ์กับรัฐแล้ว ยังจะต้องสัมพันธ์กับศาสนาอื่นๆ ด้วย และความสัมพันธ์ระหว่างศาสนานั้นก็เป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< จริงไหมที่ว่ารัฐได้ใช้พระพุทธศาสนาหรือสถาบันสงฆ์ เป็นเครื่องมือในการปกครองประชาชนมีเรื่องอะไรบ้างที่ทางรัฐไม่ควรเข้ามาก้าวก่ายในศาสนจักร >>

No Comments

Comments are closed.