ความหมายของสีลัพพตปรามาส

7 มีนาคม 2557
เป็นตอนที่ 3 จาก 8 ตอนของ

ตอบ

ความหมายของสีลัพพตปรามาส

คำสอนที่เล่ามาในคำถามนั้น ไม่ใช่แค่ครึ่งๆ กลางๆ ข้างๆ คูๆ เท่านั้น แต่จะพาออกนอกลู่นอกทาง ถึงกับออกนอกพระธรรมวินัยไปเลยทีเดียว จึงขอให้ช่วยกันทำความเข้าใจให้ชัด และช่วยคนที่จะหลงผิดไปให้ทำความเข้าใจและปฏิบัติให้ถูกต้อง หรืออย่างน้อยให้ใกล้หลักเข้ามา

เรื่องที่ถามนี้ ไม่ใช่เรื่องสีลัพพตปรามาสอะไรหรอก เป็นเพียงเรื่องของความเข้มแข็งหรือความอ่อนแออย่างธรรมดาๆ เท่านั้นเอง

ต้องเข้าใจก่อนว่า สีลัพพตปรามาส แปลว่า ความถือมั่นในศีลพรตจนเลยเถิด ควรแยกศัพท์ดูกันนิดหนึ่ง

“สีลัพพต” = ศีลและพรต; สีล ก็คือ ศีล, พต มาจาก วต; เอา วต ตัวนี้เป็น พต เพราะในบาลี เป็น ได้, วต จึงเป็น พต, แต่ไทยเอาเป็นพรต โดยใช้คำสันสกฤต คือแปลจากบาลีไปเขียนอย่างสันสกฤต กลายเป็น พรต,

สีล + พต = (ซ้อน “พ” เข้าไปตามหลักภาษาของเขา) ก็เป็น สีลัพพต แล้วก็แปลว่า ศีลและพรต

กำหนดไว้ให้ดีว่า วต นี้แปลว่า พต แล้วเป็น พรต ไม่ใช่ วัตต (วัตต ที่แปลว่า วัตร) คนละคำ (กิจวัตร เป็นต้น ไม่อยู่ใน วต หรือ พรตนี้) สีลัพพต จึงไม่ใช่ ศีลและวัตร

(ขอเล่าแถมแทรกไว้นิดหนึ่งว่า ในเมืองไทยเรานี่ใช้ผิดเยอะ ผมเองตอนแรกก็พลอยเขียนตาม เช่น เราชอบพูดกันว่า “ธุดงควัตร” แต่พอตรวจสอบกันจริงๆ ธุดงควัตรไม่มีหรอก แล้วแถมอรรถกถาบาลีฉบับไทยนี่ชำระกัน ก็ไม่แน่ลงไป เป็น ธุตงฺควตฺต บ้าง เป็น ธุตงฺควต บ้าง คำนี้ ในฉบับพม่าเขาเสมอต้นเสมอปลายแน่นอนลงไปเลย คือของเขาเป็น ธุตงฺควต อย่างเดียว ไม่มี ธุตงฺควตฺต เลย แต่ฉบับของไทยเรานี่ยังยุ่ง มีปนๆ กันไป ควรจะต้องค้นตรวจสอบให้ลงกันทั้งหมด เป็นอันว่า เป็นคนละคำ วต ก็คำหนึ่ง วตฺต อีกคำหนึ่ง, วต เป็นพรต วตฺต เป็นวัตร)

วตฺต คือ วัตร เป็นพวกขนบธรรมเนียมในการปฏิบัติแต่ละกิจแต่ละเรื่อง เช่น จะปฏิบัติตัวในการเข้าส้วมเข้าห้องน้ำ ก็มีวัจจกุฎีวัตร อาคันตุกะมาจะปฏิบัติหรือต้อนรับอย่างไร ก็มีอาคันตุกวัตร จะไปอยู่อาศัยไปนอนไปนั่งจะปฏิบัติต่อที่นั่นอย่างไร ก็ทำตามเสนาสนวัตร นี่คือ วตฺต (วัตร)

ส่วน วต คือ พรต เป็นหลักการที่ถือปฏิบัติ ที่เรียกว่าบำเพ็ญพรต เช่น ถืออดอาหาร ถือโหนกิ่งไม้ ถือยืนขาเดียว มีมากนอกพุทธศาสนา ในพุทธศาสนาท่านให้ปฏิบัติได้ในขอบเขตหนึ่งโดยมีความเข้าใจที่จะทำให้ถูกต้อง ไม่ให้กลายเป็นการทรมานตนของคนขาดปัญญา

ตัวอย่างที่ชัด คือธุดงค์ ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่ยกขึ้นมาถือ คือเป็นพรตชุดหนึ่ง แต่อย่างที่ว่าแล้ว ของเราไม่รุนแรงอย่างเขา แค่ใช้ขัดเกลากิเลส เช่น นอกพุทธศาสนา เขาถือพรตอดอาหาร เราถือธุดงค์แค่ฉันมื้อเดียว นอกพุทธศาสนาเขาถือไม่นุ่งผ้า หรือนุ่งแบบคนป่า ปิดข้างหน้า เปิดข้างหลัง หรือปิดข้างหลัง เปิดข้างหน้า เราถือธุดงค์แค่นุ่งห่มจีวรบังสุกุล

เป็นอันว่า พรต คือ วต เป็นหลักใหญ่ของชีวิตที่ถือไว้ โดยเข้าใจว่าจะทำให้หลุดพ้น ไม่ใช่เป็นธรรมเนียมวิธีปฏิบัติในแต่ละกิจแต่ละเรื่อง อย่างที่ว่าแล้ว กิจวัตรก็อยู่ใน วตฺต คือ วัตร ไม่ใช่ พรต แยกให้ได้นะ ในอรรถกถาบาลีของไทยเรา คำนี้สับสนพลาดไป

เป็นอันว่า ในคำว่า “สีลัพพต” ได้แก่ ศีลและพรต นั้น คือ สีล และ วต (พรต ไม่ใช่วัตร)

ทีนี้ “ปรามาส” แปลว่า การยึดถือมั่นจนเลยเถิด ถือเลยเถิดเป็นอย่างไร ที่ว่ายึดถือศีลพรตเลยเถิด ก็คือ ไม่ถือให้ตรงตามจุดมุ่งหมาย ก็เลยไม่ตรง ไม่พอดี จึงเลยเถิดไปเสีย

ยึดถือตามจุดมุ่งหมาย คือ ถือปฏิบัติโดยมีความรู้เข้าใจด้วยปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาจะรู้จุดหมายได้อย่างไร พูดสั้นๆ ก็คือว่า ถือปฏิบัติด้วยปัญญาที่รู้ความมุ่งหมาย เมื่อรู้ความมุ่งหมาย ก็ปฏิบัติถูกต้องได้ เมื่อเราจะปฏิบัติอะไร เราศึกษาไต่ถามให้รู้ชัดลงไปว่า อันนี้มีความหมายอย่างนี้ มีความมุ่งหมายอย่างนี้ เราก็ปฏิบัติให้ถูกต้องตามความมุ่งหมาย เวลาทำอะไร ก็มองไปที่จุดหมาย อย่างนี้ไม่เป็นสีลัพพตปรามาส

การยึดถือปฏิบัติที่เป็นสีลัพพตปรามาสนั้น เป็นความผิดพลาดเลยเถิดไปเพราะเจตนาของใจที่ขุ่นมัวโง่เลอะ ก็เลยยึดถือไปตามกิเลสที่เป็นเหตุต่างๆ คือ

๑. สีลัพพตปรามาสด้วยโมหะ คือยึดถือด้วยโมหะ ถือโดยหลงโง่งมงาย ปฏิบัติตามๆ เขาไปอย่างนั้นๆ โดยไม่รู้เรื่อง โดยไม่รู้ความหมาย ไม่รู้ความมุ่งหมาย อย่างที่ว่าแล้ว เขาสอนมาอย่างนั้น อาจารย์ทำมา ก็ทำตามกันไป อย่างนี้เป็นกันมาก เป็นสีลัพพตปรามาสด้วยโมหะ

๒. สีลัพพตปรามาสด้วยโลภะ ข้อนี้ท่านยกตัวอย่างบ่อยๆ เช่น ถือศีลโดยอยากไปเป็นเทวดา คิดว่า เราถือศีลอย่างนี้แล้ว จะได้เป็นเทวดาองค์นั้นองค์นี้ จะได้มีอำนาจฤทธิ์เดชอย่างนั้นๆ เรียกว่า ยึดถือด้วยโลภะ ที่จริงนั้น การไปเป็นเทวดา ไปสวรรค์อะไรๆ นั้น เป็นเรื่องของผลพลอยได้ เป็นผลพ่วง เมื่อปฏิบัติถูก ก็ไปเอง เป็นธรรมดาของมัน ไม่ต้องไปอยาก

๓. สีลัพพตปรามาสด้วยโทสะ เช่น ยึดถืออย่างเป็นปฏิกิริยา ได้ยินเขาว่าแล้วขัดใจขึ้นมา ฮึดฮัดบอกว่า ข้าจะถือของข้าอย่างนี้แหละ ใครจะว่าอย่างไรก็ว่าไป โกรธ อย่างนี้ก็โทสะ

ที่กล่าวมานี้เป็นการยกตัวอย่าง รวมความว่า สีลลพตปรามาส จะเกิดขึ้น เมื่อไม่ปฏิบัติด้วยปัญญา พูดสั้นๆ เอาง่ายๆ ก็ว่าปฏิบัติด้วยกิเลสคือ โลภะ โทสะ โมหะ แม้จะทำด้วยริษยาหรือกิเลสอะไร ก็อยู่ในนี้

เอาเป็นอันว่า นี่คือความหมายของคำ ยุติที่ว่าให้ปฏิบัติด้วยปัญญา โดยรู้ความหมายและความมุ่งหมาย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ถาม ๒ ข้อ – ตอบยาวแยกหลายข้อ สีลัพพตปรามาส วินัย ดูใจ ฯลฯพอใจจึงควรทำ ก็มี ไม่ต้องพอใจ แต่ใจเข้มแข็ง ควรจะทำ ก็มี สำคัญที่ฝึกตน โดยรู้จักใช้ปัญญา >>

No Comments

Comments are closed.