เมื่อปฏิบัติถูกชัดแน่แล้ว ก็เข้มแข็งจริงจังแน่วไปเลย

7 มีนาคม 2557
เป็นตอนที่ 5 จาก 8 ตอนของ

เมื่อปฏิบัติถูกชัดแน่แล้ว ก็เข้มแข็งจริงจังแน่วไปเลย

ตอนนี้ ถ้าชัดแก่ตนแล้วว่า เรารู้ความหมายและความมุ่งหมายเข้าใจถูกต้อง ทีนี้ก็ปฏิบัติด้วยความเข้มแข็ง จิตใจก็จะแช่มชื่นเบิกบาน มีความมั่นใจ ก็เอาจริงเอาจังเต็มที่เลย จะเหยาะแหยะไม่ได้ พอรู้แน่แล้ว ก็มุ่งแน่วไปเลย ไม่มัวละล้าละลัง

ศีลและพรตที่ขยายออกไปนี่ ก็เป็นข้อปฏิบัติขั้นศีลนั่นแหละ เป็นแค่ขั้นต้น อะไรกัน ถ้าแค่ข้อปฏิบัติขั้นต้น แค่ขั้นพฤติกรรมภายนอกนี่ยังทำไม่ไหวแล้ว ถึงขั้นจิตใจ จะไปสู้อะไรได้

ต่อจากศีล ก็คือขั้นสมาธิ ขั้นจิตใจ ที่จะต้องชนะจิตใจของตนได้ จนเป็นเจโตวสี คือมีอำนาจเหนือจิตใจของตนได้ จึงจะเป็นความสำเร็จ จึงต้องมีความเข้มแข็ง

เมื่อมั่นใจว่าถูกต้องแน่ชัดแล้ว ก็ทำเต็มที่เลย ตอนนี้ก็จะได้ฝึกจิตใจไปด้วย ข้างนอกทำจริงจัง ในใจก็มีความเข้มแข็งมั่นแน่ว แล้วก็ก้าวต่อไปในขั้นสมาธิของจิต จุดสำคัญอยู่ที่นี่ ไม่ใช่มัวอ่อนแอป้อแป้ ถ้าถือศีลและพรตที่ถูกต้อง เช่นอย่างถือธุดงค์ แล้วไปมัวอ่อนแอ จะทำสำเร็จได้อย่างไร ธุดงค์ทุกข้อนั้นก็ชัดอยู่แล้ว ท่านวางไว้เป็นพรตให้เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก จะทำสำเร็จได้ ก็ต้องเข้มแข็งอย่างมากเท่านั้น ถ้าไม่เข้มแข็ง จะถือธุดงค์ได้อย่างไร ไม่มีทาง

อะไรจะละจะเว้น ก็ละก็เว้นได้จริง อะไรตกลงให้ทำ ก็ทำให้จริง ไม่ใช่เหยาะแหยะเหลาะแหละไปหมด กลายเป็นคนที่ล้มเหลว ไม่ได้เรื่องได้ราวอะไรสักอย่าง นี่คือฝึกในทางตรงข้ามกับที่ท่านสอน ปล่อยตัวให้เรื่อยเปื่อย ต่อไปก็จะกลายเป็นคนอ่อนแอจนเคยชินเป็นนิสัย

ข้อสำคัญอยู่ที่ต้องรู้ว่าเราปฏิบัติเพื่ออะไร จึงจะไม่เป็นสีลัพพตปรามาส ต้องมีปัญญารู้ความหมายความมุ่งหมาย เช่นว่า ธุดงค์นี่เพื่ออะไร เพื่อขัดเกลากิเลส เออ เรานี่เป็นคนขี้เกียจ ความขี้เกียจนี่เป็นกิเลสตัวร้าย เราจะต้องขัดเกลากิเลสตัวขี้เกียจนี้ เราก็ต้องเข้มแข็ง เอาชนะไล่ความขี้เกียจไปได้ นี่คือปฏิบัติตรง

ถ้าเราเป็นคนอ่อนแอ คอยตามใจอยากของตัวเอง อยากอย่างไร ก็จะเอาอย่างนั้น เช่น อยากฉันนั่นฉันนี่อยู่เรื่อย ฉันตามเวลาตามกติกาแล้วไม่พอ ในระหว่างมื้อยังอยากฉันอีก นึกอยากจะฉันอะไร ก็ฉันอีก อย่างนี้ไม่ได้ นี่เป็นความล้มเหลวในธรรมวินัย

ท่านจึงให้ฝึก เมื่อรู้ตัวว่าเรานี้ชอบตามใจตัวในเรื่องการฉันโน่นฉันนี่ เราก็จะฝึกตัว เอาละ เราจะฉันมื้อเดียวละ ก็เอาจริงโดยสมาทานมันเลย สมาทานว่าเราถือธุดงค์ฉันมื้อเดียว โดยมีความตระหนักรู้ความมุ่งหมายว่า เราทำเพื่อฝึกตน เพื่อขัดเกลากิเลส จะได้ไม่อ่อนแอมัวแต่ตามใจตัว ไม่ไปไหนสักที

เมื่อรู้ความมุ่งหมายแม่นแก่ใจอย่างนี้แล้ว ก็ต้องเข้มแข็งใจสู้เต็มที่ ไม่ยอมตามใจกิเลส นี่แหละมันอยู่ที่นี่ มันเป็นเรื่องของความเข้มแข็ง กับความอ่อนแอ ไม่ใช่เรื่องสีลัพพตปรามาสอะไรเลย มันคนละขั้นคนละตอน คนละเรื่องกัน

ธรรมวินัยนี่เป็นของผู้มีวิริยารัมภะ ที่ว่าปรารภความเพียร ถูกไหม คือ ร่ำแต่จะเพียร จะเพียรพยายามอยู่ร่ำไป จึงเรียกว่า วิริยารัมภะ ซึ่งอยู่ที่เข้มแข็ง ถ้ามัวไปตามใจตัวเองอยู่ เป็นคนอ่อนแอ ก็ไปไม่รอด มีแต่จะต้องมีความเพียร จะมาขี้เกียจผัดผ่อนอ่อนแอเหยาะแหยะได้อย่างไร ถ้าเป็นอย่างนี้ ขออภัยใช้คำไม่ค่อยเพราะหน่อย ก็เรียกว่า “ใจหงิก”

คนที่ร่างกายเป็นง่อย ยังดีกว่าคนใจหงิก ทำไมเป็นอย่างนั้น คนง่อยนั้น ร่างกายเป็นง่อย จึงทำอะไรไม่ค่อยไหวใช่ไหม แต่ถ้าเขามีใจเข้มแข็ง ถึงกายจะง่อย เขาก็ยังพยายามสู้กระเสือกกระสนไป อันไหนทำได้ พอไปได้แค่ไหน ก็พยายามทำมันไปจนสุดเต็มที่แค่นั้น ยังมีทางก้าวไปได้ แต่ถ้าคนใจหงิกเสียแล้ว มันไม่เอาเลย แย่ยิ่งกว่าคนเป็นง่อย เพราะฉะนั้นจึงไปไม่รอด

ถ้าจะอยู่ในธรรมวินัยนี้ ต้องมีใจเข้มแข็ง มีอะไรต้องทำ เมื่อมันถูกต้อง เมื่อมันตรงจุดมุ่งหมาย แน่ใจแล้ว ก็ทำเต็มที่เลย เมื่อพระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพียรนั้น แม้แต่ทั้งชีวิตก็ทรงยอมทุ่ม ถูกไหม เมื่อทรงทราบว่าผิด ก็ทรงละเลิกได้เลย ไม่ใช่ครึ่งๆ กลางๆ นี่คือความถูกต้องจริงจัง

จุดของเรื่องที่เป็นปัญหา อยู่ที่ทำด้วยความไม่เข้าใจ ทำด้วยความไม่รู้ อันนั้นเป็นขั้นที่ ๑ ทีนี้ ขั้นต่อไป พอรู้แล้วกลับอ่อนแอเสียอีก ก็เลยไปไม่รอด จุดสำคัญอยู่ที่นี่ จึงได้บอกว่า ประเด็นของเรื่องนี้อยู่ที่ความเข้มแข็ง กับความอ่อนแอ ไม่เกี่ยวอะไรกับสีลัพพตปรามาส

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< พอใจจึงควรทำ ก็มี ไม่ต้องพอใจ แต่ใจเข้มแข็ง ควรจะทำ ก็มี สำคัญที่ฝึกตน โดยรู้จักใช้ปัญญาวินัยมาช่วยให้ปฏิบัติธรรมได้จริง ย้ำให้ยิ่งต้องเข้มแข็งในการฝึก >>

No Comments

Comments are closed.