วินัยมาช่วยให้ปฏิบัติธรรมได้จริง ย้ำให้ยิ่งต้องเข้มแข็งในการฝึก

7 มีนาคม 2557
เป็นตอนที่ 6 จาก 8 ตอนของ

วินัยมาช่วยให้ปฏิบัติธรรมได้จริง ย้ำให้ยิ่งต้องเข้มแข็งในการฝึก

กิจวัตรเป็นต้นนั้น เป็นส่วนหนึ่งของวินัย ว่าโดยความหมายทั่วไป วินัยนี้มุ่งในแง่สังคม มันเป็นเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อให้ชุมชนมีความประพฤติเสมอกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ช่วยรักษาสามัคคี

แต่วินัยมีความหมายในแง่ส่วนตัวด้วย คือเป็นเครื่องฝึก ตามศัพท์ท่านแปลว่า “เครื่องนำไปให้วิเศษ” ก็คือฝึกนั่นแหละ ฝึกเป็นการทำให้ดีขึ้น หรือทำให้วิเศษขึ้นไป เมื่อเราจะทำตัวให้ดีขึ้น จะทำอะไรให้เป็น ให้เก่ง ให้ชำนาญขึ้น เราก็ฝึก คนจึงต้องมีการฝึกตัวเอง

ในพระพุทธศาสนา เฉพาะอย่างยิ่งในวัด ในสังฆะ คือในหมู่พระนี้ บวชเข้ามาก็เพราะเห็นด้วยอย่างที่ท่านสอนแล้ว จึงตั้งใจว่าจะเอาจริงกับเรื่องที่พระพุทธเจ้าสอน ท่านจึงมีวินัยไว้ให้ วินัยนั้นเพื่อช่วยคนที่จะเอาจริง และเพื่อให้ทำจริงจัง

ท่านจัดตั้งวางวินัยให้มา เพราะว่า คนเรานี่ ถึงจะมาบวชเป็นพระแล้วก็เถอะ ทั้งๆ ที่รู้ตามธรรมว่า อันนี้ดี ควรจะทำ แต่ใจมันไม่เข้มแข็ง มันไม่ค่อยจะสู้ บางทีบางคนนั้นก็ถึงกับเหยาะแหยะ มันอ่อนแอป้อแป้ปวกเปียก หรือคอยจะท้อ

คนอย่างนี้ก็จะได้มาเจอกับวินัย นี่ก็คือมีเกณฑ์มาตรฐานวางไว้ให้แล้ว ก็เหมือนกับบังคับนั่นแหละ พอเจอกับวินัย ก็บอกตัวเองได้เลยว่าต้องทำ

ถ้าไม่เจอวินัย ทั้งที่ธรรมบอกไว้แล้วว่านี่ดี ควรจะทำ เห็นด้วย แต่ก็ยังรีรอ คิดจะผัดไว้ก่อน พอวินัยมากำกับ มาสำทับให้ต้องทำ การปฏิบัติธรรมก็เลยได้มีเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา เพราะวินัยมาช่วยให้เอาจริงกับการปฏิบัติธรรมนั้น นี่คือการฝึกเข้ามาแล้ว

คนไหนไม่เอากับวินัย ไม่เห็นประโยชน์ของวินัย ไม่เอากับวินัย การมาบวชอยู่ในสังฆะก็แทบไม่มีประโยชน์ ไม่รู้จะอยู่ในสงฆ์หรืออยู่ในวัดไปทำไม ถ้าจะอ้อแอ้ ก็ไปหาที่นอนแช่

วินัยมาทำให้เรากวดขันตัวเอง ช่วยให้เราบังคับตัวเองให้ทำให้ได้ ดังนั้น วินัยจึงเป็นเครื่องฝึกตัวเอง คอยสำทับให้เราต้องฝึกตัวเองให้ก้าวต่อไป เพราะฉะนั้น วินัยจึงมีประโยชน์ที่ว่ามาเสริมธรรม อย่างที่ว่าแล้ว ลำพังธรรมอย่างเดียวนี่ ทั้งที่เราได้เรียนได้รู้มาว่าควรจะทำ ควรปฏิบัติอะไร แต่ใจมันอ่อนแอ ไม่ยอมเริ่ม ไม่ยอมลงมือ ไม่ยอมก้าวไป วินัยก็มาเข้าคู่กับธรรม มากำกับสำทับให้คนปฏิบัติธรรม แล้วก็เลยปฏิบัติจริงจังต่อมา ก็จึงได้ผลขึ้นมา มิฉะนั้นก็จะนอนรออยู่นั่นเอง เมื่อคนนอนรอใจ ธรรมก็นอนรอคน แต่วินัยไม่ยอมให้รอ

ทีนี้ วินัยก็มาเชื่อมคนเข้ากับสังคม เมื่อคนมาเป็นส่วนร่วมในสังคม เมื่อตัวพระมาเป็นส่วนร่วมในวัดในสังฆะ วินัยก็เป็นมาตรฐานที่บอกแจ้งไว้ว่า คนอื่นเขาทำอย่างนี้ เราก็ต้องทำเหมือนเขานั่นแหละ คือเป็นเรื่องของทุกคน เพื่อให้สังคม ให้หมู่คณะอยู่กันด้วยดีเป็นอันเดียว แล้วก็อยู่ได้ นี่คือวินัยรักษาสังคม

แต่ที่นี่ เราพูดแค่ในแง่ตัวเองนี่แหละ เอาแค่ส่วนตัว ในแง่ส่วนตัวก็คือ วินัยมาทำให้เกิดความเข้มแข็ง และมีเครื่องกำกับให้ปฏิบัติตามธรรม อย่างที่พูดแล้วว่า ธรรมอยู่นี่แล้ว แต่ใจเราไม่แข็งแรงพอ วินัยจึงมาช่วยเสริมย้ำกำกับให้เราต้องทำ วินัยมากำกับความประพฤติ กำกับกิริยาอาการ ขับเคลื่อนรูปธรรมให้ต้องทำด้วย ให้ต้องทำตาม บังคับรูปธรรมคือร่างกาย ได้แก่กายวาจา ให้ประสานกับใจ แล้วใจนี่ก็อาศัยทางกายวาจาด้วย

เมื่อการประพฤติทางกายวาจาโน้มไปอย่างใด ใจก็จะโน้มตามไปด้วย เหมือนเราไปให้ทาน ใจก็ต้องบอกต้องสั่ง มือจึงให้ทานได้ และเรารู้หลักอยู่แล้วว่าให้มีเมตตา ถ้าคนรู้หลัก พอไปให้ทาน มันก็ทำให้เมตตาเพิ่มขึ้นง่าย ถ้าเรามีแต่เมตตา แผ่เมตตาแล้วไม่ทำอะไรสักที เมตตาในใจไม่แสดงออกไป มันก็ไม่เข้มแข็ง มันต้องออกไปเป็นรูปธรรมด้วย ไปให้เขา ไปทำการสงเคราะห์ และใจรู้หลักอยู่แล้ว ก็คือมีปัญญามาบอกใจ ใจที่รู้ก็จะได้เรียกเอาเมตตา เรียกเอากรุณามา ที่จะคิดหาทางช่วยเหลือเกื้อกูลให้เขาพ้นทุกข์ เป็นต้น นี่ก็คือประสานกันไป ท่านจึงให้ปฏิบัติโดยมีศีล สมาธิ และปัญญา เกื้อหนุนกันไป อย่างนี้จึงจะเจริญ

ในเรื่องที่พูดกันอยู่นี้ พอเริ่มต้นก็ต้องมีปัญญาอยู่บ้าง พอให้รู้ว่า นี่เราปฏิบัติศีลและพรตอันนี้ เพื่ออะไร ทำเพื่ออะไร เมื่อมีปัญญาพอรู้เข้าใจแล้ว ใจเอาด้วย ใจก็บอกตกลงจะทำ แล้วเราก็ปฏิบัติไปตามนั้น และเมื่อจะให้มั่นให้แน่ ก็เอาวินัยมาช่วยกำกับให้ทำให้ได้ ใจก็เข้มแข็งเพราะวินัยมากำกับกายวาจาให้เอา ก็ประสานไปด้วยกัน ได้ครบศีล สมาธิ ปัญญา จึงเป็นกระบวนการที่ประสานเสริมกันไป

เอาละนะ ทวนว่า พวกกิจวัตรนั้นเป็นเรื่องของวินัย ข้อกิจวัตรทั้งหลายเป็นส่วนหนึ่งของวินัย พรตก็พวกหนึ่ง ใหญ่ๆ วัตรก็พวกหนึ่ง ย่อยๆ อย่างที่ย้ำว่า วัตรเป็นข้อปฏิบัติปลีกย่อยเล็กน้อย ที่ท่านเรียกว่าขนบธรรมเนียม แล้วทั้งหมดนั้นก็จัดเข้าในศีล พูดว่าศีลคำเดียว ก็คลุมหมด แต่ต้องพูดด้วยรู้ด้วยเข้าใจ คือ คำว่าพรตก็อยู่ในศีลด้วย วัตตะหรือวัตรก็อยู่ในศีล

การที่เราต้องปฏิบัติวัตรต่างๆ ก็เพราะว่า วัตรเป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้เราต้องทำอย่างนั้นๆ เป็นประจำ มันก็เลยเป็นวินัยที่มาหนุนมากำกับมาบังคับควบคุมตัวเองให้เราต้องทำจริงจังจนเป็นแบบแผนเคยชิน เพราะต้องทำตลอดเวลา ทำสม่ำเสมอ เช่น ทุกวันลงทำวัตรสวดมนต์ เช้า-ค่ำ ทำได้จนทำเป็นธรรมดา จึงเป็นวินัยช่วยให้เข้มแข็งเป็นจริงเป็นจัง ถ้าไม่มีวัตรตั้งไว้ เราก็ไม่รู้จะจับจุดที่ไหน พอมีวัตรไว้ ก็คือท่านบอกแล้วว่าให้ทำนั่นๆ เราก็ไปทำตามนั้นปั๊บ เราก็มีใจเข้มแข็งด้วย เพราะต้องเอาจริงเอาจังจึงทำได้ พอเราทำได้ตามวัตรนั้น วินัยก็ได้ผลขึ้นมา

เพราะฉะนั้น ท่านจึงว่า วัตรเป็นส่วนย่อยของความประพฤติประจำตัว ติดตัว พอประพฤติได้อย่างนั้นๆ เป็นคุณสมบัติของเรา อยู่ในตัวเรา มันก็เป็นศีล นี่แหละมันมาช่วยหนุนให้คนมีศีล ท่านจึงบัญญัติวัตรไว้เป็นส่วนหนึ่งของวินัย เราจะได้มีเครื่องกำหนดหรือจุดจับในชีวิตความเป็นอยู่ ไม่ใช่อยู่ๆ จะมีศีลขึ้นมาได้ มันต้องมีข้อปฏิบัติเหล่านี้มาช่วย ทำให้มีจุดกำหนดว่าจะทำอะไร แล้วทำไปตามนั้น พอทำได้อยู่ตัว เข้าในตัว เป็นปกติของเรา ก็คือมีศีล

เป็นอันว่า ในวินัยที่กว้างใหญ่นั้น วัตรเป็นข้อปฏิบัติปลีกย่อย แม้กระทั่งหยุมหยิม ในชีวิตประจำวัน หรือประจำชีวิต ซึ่งช่วยให้เราฝึกตัว ทำให้มีโอกาสเกิดศีลได้ง่ายขึ้น ช่วยให้ไม่ต้องไปนั่งคิดนั่งคลำ ว่าจะเจริญศีลตรงไหนดี กายวาจาอาศัยข้อปฏิบัติที่กำหนดไว้เป็นวัตรนี่แหละ เราทำ เราพูดให้ถูกตามวัตรที่ท่านวางไว้ เช่น จะทำอะไรในที่ประชุม เราบอกขอโอกาส ก็เป็นวัตรอย่างหนึ่ง เราปฏิบัติต่ออาคันตุกะ ปฏิบัติต่อเสนาสนะให้เหมาะสม ก็เป็นวัตรทั้งนั้น แม้แต่หยุมๆ หยิมๆ พอเราทำ ก็คือทำในส่วนของวินัย ก็เป็นวินัย พอวินัยมา ก็นำศีลให้เกิดขึ้น

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< เมื่อปฏิบัติถูกชัดแน่แล้ว ก็เข้มแข็งจริงจังแน่วไปเลยดูใจ ขึ้นไปให้ถึงปัญญา ไม่ใช่ปล่อยใจให้จมอยู่ใต้สิ่งที่ดู >>

No Comments

Comments are closed.