พูดตักเตือนว่ากล่าว ไม่จำเป็นอะไรที่จะทำด้วยความโกรธ หวังดีก็เตือนได้

4 มีนาคม 2557
เป็นตอนที่ 8 จาก 8 ตอนของ

พูดตักเตือนว่ากล่าว ไม่จำเป็นอะไรที่จะทำด้วยความโกรธ หวังดีก็เตือนได้

อีกข้อหนึ่งบอกว่า เมื่อพบเห็นคนทำผิดกฎระเบียบ เราไม่ควรแสดงความโกรธ หรือพูดจาตักเตือนว่ากล่าว แต่เราควรรักษาใจตัวเองโดยการนิ่งเฉยเสีย เพราะถ้าเราโกรธ แล้วแสดงออกมาทางกายวาจา เท่ากับว่าเรากำลังประพฤติผิดศีล ขณะที่อีกฝ่ายแค่ประพฤติผิดวินัยเท่านั้น ใครจะทำผิดก็ชั่งเขา ให้รักษาจิตเราเอาไว้ก่อน

ถ้าสอนอย่างนี้จริง ก็แสดงว่าคนที่สอนนั้นเองสับสน เมื่อพบเห็นคนทำผิดกฎระเบียบ เราไม่ควรแสดงความโกรธ ตอนนี้ถูกต้อง แต่ที่ไม่ให้พูดจาตักเตือนว่ากล่าวนั้น ยังไม่ถูกต้อง

ควรพูดเสียใหม่ว่า เมื่อพบเห็นคนทำผิดกฎระเบียบ เราไม่ควรแสดงความโกรธ แต่ควรพูดจาตักเตือนว่ากล่าวด้วยเมตตา ด้วยกรุณา คือไม่ต้องไปด่าว่าเขาด้วยความโกรธหรือด้วยโทสะ แต่ควรมีความปรารถนาดีต่อเขา แล้วก็ว่ากล่าวตักเตือนเพื่อให้เขาไม่จมอยู่ในความผิดในความชั่ว

ควรจะสอนว่า ถ้าเราเห็นคนทำผิด แล้วเราโกรธ อยากจะด่าว่าตักเตือนเขา นี่คือถึงโอกาสที่จะได้ฝึกตัวเราเองแล้ว จะได้ทำประโยชน์แก่คนที่ทำผิดนั้นด้วย แล้วก็จะได้ทำประโยชน์แก่ส่วนรวมด้วย คือ ตัวเราเองก็จะได้ฝึกใจให้เปลี่ยนจากโกรธเป็นเมตตากรุณา คืออยากช่วยให้เขาพัฒนาเป็นคนที่ดีขึ้น ให้เป็นคนรู้จักระเบียบวินัย แล้วเราก็ฝึกวาจาของตน แทนที่จะใช้คำหยาบ ก็จะได้พยายามใช้คำพูดที่สุภาพอ่อนโยน ทำให้พูดเป็น ถ้าพูดให้เขารู้ตัวได้โดยเขาไม่โกรธ ให้เขาเชื่อและทำตามได้ ทั้งเราและเขา ก็จะเจริญในธรรมยิ่งขึ้นไปด้วยกัน ส่วนด้านสังคมหรือส่วนรวมนั้นก็จะดีขึ้น ได้ประโยชน์แน่นอนชัดอยู่แล้ว ไม่ต้องอธิบาย

โดยเฉพาะพระสงฆ์ ที่ท่านให้อยู่ร่วมกันเป็นสงฆ์ อยู่กันเป็นชุมชนเป็นวัด ก็เพื่อให้มาช่วยบอกกล่าวแนะนำตักเตือนสั่งสอนกัน ทุกคนจะได้เจริญงอกงามไปในธรรมวินัย จึงมีอุปัชฌาย์อาจารย์ มีการปวารณา ฯลฯ

การนิ่งเฉยเสีย ไม่ใช่การรักษาใจ แต่เป็นการดูดายข้างนอก เป็นการไม่ฝึกตนข้างใน และเป็นความประมาทในธรรม

ถ้าจะนิ่งไว้ก่อน ยังไม่ว่ากล่าวตักเตือนเขา ก็ต้องทำด้วยเหตุผลอย่างอื่น ไม่ใช่เรื่องที่จะมารักษาใจ แต่ต้องฝึกทั้งใจและใช้ปัญญา คือ พิจารณาเห็นเหตุผล เช่นว่า กาลเวลายังไม่เหมาะ หรือตัวเราตัวเขายังไม่พร้อม พูดไปเวลานี้ อาจเกิดผลเสีย เราก็คิดหาทางแก้ปัญหา คือจะช่วยเขา ฝึกตัวเรา และทำประโยชน์ของส่วนรวมให้สำเร็จนั่นแหละ แต่หาวิธีอื่น เช่นเอาไปปรึกษาหารือผู้สมควร หรือรอเวลาที่เหมาะ เป็นต้น ไม่ใช่จมอยู่ในความประมาท แล้วอ้างว่ารักษาใจ

พึงตระหนักว่า การทำที่เรียกว่ารักษาใจกำกวมอย่างนี้ ในระยะยาว จะเสียหายมาก เป็นทางมาของความเสื่อมอย่างเดียว

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ดูใจ ขึ้นไปให้ถึงปัญญา ไม่ใช่ปล่อยใจให้จมอยู่ใต้สิ่งที่ดู

No Comments

Comments are closed.