ดูใจ ขึ้นไปให้ถึงปัญญา ไม่ใช่ปล่อยใจให้จมอยู่ใต้สิ่งที่ดู

7 มีนาคม 2557
เป็นตอนที่ 7 จาก 8 ตอนของ

ดูใจ ขึ้นไปให้ถึงปัญญา ไม่ใช่ปล่อยใจให้จมอยู่ใต้สิ่งที่ดู

ทีนี้ก็มาดูใจ ดูใจนี่ ถ้าว่าถึงหลักเดิมก็คือ จิตตานุปัสสนา ในสติปัฏฐาน ๔ เมื่อปฏิบัติในระยะแรกๆ บางสำนักก็จะเน้นการดูจิต มันเป็นเทคนิคของสำนักนั้นๆ

สติปัฏฐานนั้น ๔ อย่าง กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนา เวลาปฏิบัติจริงก็คือ ในชีวิตที่เป็นอยู่เป็นไปตลอดเวลา ชีวิตก็อยู่ในอนุปัสสนา ๔ เมื่อปฏิบัติครบ ๔ อันนี้ ก็คือครบทั้งชีวิต แต่พอเริ่มต้น จะทำให้ครบทั้ง ๔ มันไม่ค่อยจะไหว

ทีนี้ สำนักทั้งหลายก็มีเทคนิคของตัว คือ ตอนแรก ตอนเริ่ม เอาหมดทั้งสี่ ยังไม่ไหว จะเริ่มที่อันไหนดี ตามโบราณสืบมา มักเอากายานุปัสสนาเป็นตัวเริ่ม แต่บางสำนักอย่างโกเอนก้าหรือโคเองก้า ท่านว่าเวทนา เรื่องเจ็บปวด เรื่องสุข-ทุกข์ นี่ชัด มันเด่น ก็เอาเวทนานุปัสสนาเป็นจุดเปิดการปฏิบัติ เอาเวทนานุปัสสนาเป็นที่เริ่ม บางสำนักก็เริ่มที่จิตตานุปัสสนา เน้นการดูจิต

สำหรับโบราณนั้น เขามองว่าร่างกายเป็นของหยาบ ดูชัดจับง่ายหน่อย จึงเอากายานุปัสสนาเป็นจุดเริ่ม แล้วค่อยๆ ขยายไปถึงอนุปัสสนาอย่างอื่นในสติปัฏฐาน ๔ แต่ในที่สุดแล้ว ต้องมาประสานกันหมด คือในที่สุด เมื่อปฏิบัติได้จริง ก็พรึ่บเลย หมายความว่า ไม่ว่าด้านไหนโผล่มา ต้องได้หมด ต้องทันหมด แต่ตอนเริ่มแรกมันทันไม่ไหว ก็เลยเอาอันไหนที่ท่านเห็นว่าง่ายหรือได้ผลไว

ทีนี้ เรามาดูเรื่องจิต ดูจิตดูใจ ก็ดูไปตามที่มันเป็น แล้วในการดูตามที่มันเป็นนั้น จะทำอย่างไร การปฏิบัติในการดู ก็ก้าวไปในหลักศีล สมาธิ ปัญญานั่นแหละ แล้วตอนที่ปฏิบัติอยู่น่ะ มันเป็นศีล สมาธิ ปัญญาอย่างไร

การที่เราดูไปนั้น ก็เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงดูจิตของพระองค์นั่นแหละ พระองค์ทรงเล่าในพระสูตรว่า เมื่อประทับอยู่ ทรงเกิดความรู้สึกอย่างนี้ขึ้นมา พระองค์ก็สืบสาว ก็ตามดูเจ้าความรู้สึกนี้ที่เกิดขึ้นนั้น ก่อนมันจะเกิด อะไรเกิดขึ้น มีความรู้สึกอะไรก่อน แล้วความรู้สึกนี้จึงเกิดขึ้น สืบสาวตามดู อ้อ อันนั้นเกิดขึ้นแล้ว อันนี้จึงเกิด แล้วอันนั้นล่ะ ก่อนที่อันนั้นจะเกิด อะไรเกิดขึ้น อย่างนี้ ก็ตามดู ก็ตามสังเกตนั่นเอง อนุปัสสนา ฝรั่งแปลกันว่า observation ก็คือสังเกตดูความเป็นไป ดูของจริงนะ ดูตามที่มันเกิด ตามที่มันเป็นไป

ทีนี้ ดูจิตของเรา ก็ดูตามที่มันเป็น ถ้าเราฝึกปฏิบัติอะไรอยู่ ก็ดูไปตามนั้น แล้วก็ก้าวไปในการปฏิบัติด้วย ถ้าดูจิตดูใจ ก็ดูแล้วก็รู้ตามที่มันเป็นอยู่นั่นแหละ ทีนี้ การดูก็ไปพร้อมอยู่ในการปฏิบัติ การปฏิบัติก็คือการฝึกใช่ไหม ก็คือการฝึกตน

เราฝึกตนอยู่ ก็ดูใจในขณะแห่งการฝึกของเรานั้นแหละว่า เรากำลังฝึกกำลังปฏิบัติในเรื่องนี้ แล้วจิตในเวลานั้น เป็นอย่างไรๆ นี่รู้ เป็นขั้นหนึ่งละ

ทีนี้ การดูใจนั้น ไม่ใช่การปล่อยใจหรือตามใจ มันคนละเรื่องกัน การดูใจ คือดูตามที่มันเป็น แล้วก็รู้ตามที่มันเป็น เป็นเรื่องของความ “รู้” เป็นเรื่องของปัญญา จบตอนของมันแล้ว ไม่มีเรื่องของการปล่อยใจ หรือไม่ปล่อยใจ ไม่มีเรื่องของการตามใจ หรือไม่ตามใจ เป็นคนละขั้นคนละตอนกัน

การปล่อยใจ หรือไม่ปล่อยใจ และการตามใจ หรือไม่ตามใจนั้น เป็นเรื่องของความ “ตั้งใจ” คือเป็นเจตนา ไม่ใช่เป็นเรื่องของปัญญา แม้ว่าอาจจะเป็นเจตนาอย่างอ่อนจนไม่รู้ตัว แต่ก็คือเจตนานั่นแหละ

พอเป็นเจตนา ก็เป็นสังขาร ทีนี้แหละ กุศล หรือไม่ก็อกุศล ย่อมแทรกย่อมปนเข้ามา คือก็จะเป็นกุศล หรือไม่ก็เป็นอกุศล ก็ให้พิจารณาเองว่าจะเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ที่จริงก็ง่ายๆ เจตนาที่ปล่อยตัวตามใจ ก็คือขี้เกียจ ไปจนถึงประมาท ก็เป็นอกุศลนั่นเอง ทีนี้ก็ซับซ้อนขึ้นละ ก็คือดูใจที่ขี้เกียจ หรือดูใจที่มีกิเลสหรือดูจิตที่ถูกกิเลสครอบงำนั่นเอง

ทีนี้ ถ้าดูจิตในการปฏิบัติ ความตั้งใจในการปฏิบัติ หรือเจตนาในการฝึกนั้น ก็ชัดแล้วว่าเป็นกุศล ทีนี้ ก็กลายเป็นว่า ดูจิตแล้ว แทนที่จะปฏิบัติคือฝึกให้ไปทางกุศล นี่กลับให้เป็นอกุศล ตรงข้ามกับการปฏิบัติ

ยิ่งกว่านั้น พอตามใจ ปล่อยใจไปตามอำนาจกิเลส ก็เสื่อมจากการปฏิบัติ ที่จริง การดูจิตดูใจในขณะปฏิบัติ ก็เพื่อรู้แล้วจะได้ทำให้ดี คือ ถ้าดูแล้วรู้ว่า จิตเป็นอกุศลอยู่ มีเจตนาอกุศลแทรกอยู่ จะได้ละ จะได้แก้ไข ถ้ารู้ว่าเป็นกุศล จะได้เจริญ แต่นี่ดูรู้แล้วว่า จิตเกียจคร้าน เป็นอกุศล แทนที่จะปฏิบัติ แทนที่จะฝึก คือแก้ไข ละอกุศลนั้นเสีย ก็ไม่ทำ การปฏิบัติก็เหลวหมด แทนที่จะลดละอกุศล และเจริญกุศล ก็กลับตรงข้าม การปฏิบัติ หรือการฝึกก็เหลวหมด

หนำซ้ำ เมื่อปล่อยตัวปล่อยใจอย่างนี้ ยอมให้อกุศลครอบงำหรือให้มันหมักหมมอยู่ โดยไม่จัดการแก้ไข และไม่พยายามหันไปทำให้เป็นกุศลขึ้นมา ก็คือการตกอยู่ในความประมาท เลยยิ่งเป็นการปฏิบัติที่ผิดไปไกล ไม่รู้ว่าปฏิบัติอะไร ไปจบไปตันอยู่แค่ได้เป็นคนงอก่องอขิง จมอยู่ในความประมาท

ขอให้จับจุดว่า จะปล่อยใจ จะตามใจไม่ได้ มันไม่ใช่เป็นการดูจิตดูใจอะไรเลย มันผิดขั้นผิดตอนไปแล้ว แยกแยะให้ถูก ถามตัวเองว่า ดูใจ ให้รู้จักใจ แล้วจะได้ตามใจอย่างนั้นหรือ หรือว่าจะดูใจ ให้รู้จักใจ แล้วจะได้ก้าวไปในการปฏิบัติ ด้วยการละและการเจริญให้ตรงเรื่องกัน

เมื่อดูจิต ได้รู้จิตตามที่มันเป็นแล้ว เวลานั้นเราปฏิบัติอะไรอยู่ ถ้าเราดูใจ รู้สภาวะของใจในขณะนั้นแล้ว ก็เป็นการให้โอกาสแก่การปฏิบัติหรือแก่การฝึก

ทีนี้ ถ้าฝึกใจไปตามปกติ มันก็เป็นสมถะ ดูจิตนี่เป็นสมถะหรือไปวิปัสสนาก็ได้ ทีนี้ เมื่อดูจิตดูใจ ก็ฝึกไปด้วย เช่นว่า จิตเรายังมีโทสะมาก เราก็รู้ว่าควรเจริญเมตตา เราก็เจริญเมตตาดูซิ แล้วดูความเป็นไปของจิต จิตที่มีเมตตา เปลี่ยนจากโทสะนี้ มันมีอาการอย่างไร ดูจิตอย่างนี้ ดูตามที่มันเป็น แล้วควบประสานไปกับการฝึกอย่างนี้ ก็เจริญสมถะควบไป

ส่วนวิปัสสนาก็คือว่า ไม่ใช่แค่ดู แล้วฝึกให้จิตเข้มแข็ง ให้มีเมตตา หรืออะไรอย่างนั้น นั่นสมถะ ทีนี้ เราก็ดูจิตดูใจตามที่มันเป็นอย่างนั้น ดูว่ามันเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างไร ดูแล้วก็รู้ตามที่มันเป็นๆ ต่อไปๆ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสเมื่อกี้ จิตมีความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้น เมื่ออันนี้เกิดแล้วอันนั้นก็เกิดขึ้น เมื่ออันนั้นเกิดแล้ว อันโน้นเกิด เมื่ออันนี้เกิดแล้ว อันนั้นจึงเกิด เมื่ออันนี้ไม่เกิด อันนั้นก็ไม่เกิด ตามดูไปอย่างนี้ ก็ได้เห็นเหตุปัจจัย ทีนี้การเห็นปฏิจจสมุปบาทก็จะมา

ดูตามที่มันเป็น อ๋อ จิตนี้ดับไปแล้ว จิตนี้เกิดมา จิตที่มีอารมณ์แบบนี้ ที่มีความรู้สึกอย่างนี้แต่ก่อนไม่มี แต่บัดนี้มีขึ้นแล้ว แล้วเดี๋ยวมันก็หายไปอีก ดูไปๆ รู้ไปๆ ตามที่มันเป็นไปอย่างนั้น ก็เห็นความเกิดดับ การดูอย่างนี้ ก็เป็นวิปัสสนาแล้ว

เป็นอันว่า ดูจิตนี่ก็ไปได้ ๒ ทาง ดูแบบสมถะก็ได้ฝึกจิต เราต้องการให้คุณธรรมความดี กุศลธรรมอะไรเกิดขึ้นมา เราดูไป พร้อมกันนั้นเราก็ได้ฝึกละอกุศลฝึกเจริญกุศลไปด้วย ในแบบของสมถะ หรือดูแบบวิปัสสนา ก็ดูตามที่มันเป็นนั่นแหละ ดูความเป็นไปของจิตที่มันมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อันนี้เกิด อันนั้นดับ อันนี้ดับ แล้วอันนั้นเกิด อันนี้มีแล้ว อันนั้นจึงมี นี่ก็ฝึกไปด้วย คือฝึกปัญญา วิปัสสนาก็มา

แต่ถ้าเราดูโดยปล่อยเรื่อยเปื่อย เราปล่อยใจ ใจมันก็เป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง คือเมื่อมันไม่ดำเนินไปในการฝึก มันก็เป็นไปตามกิเลส เมื่อมันไม่ไปในทางที่ปัญญาเป็นใหญ่ มันก็ไปตามทางของเจตนา

ในขั้นหนึ่ง การดูเป็นการปฏิบัติ คือดูก็ได้รู้ แต่ทีนี้ รู้นั้นเกี่ยวอะไรกับการปฏิบัติที่ดำเนินไป มันจะเสริมการฝึกละอกุศลเจริญกุศลไหม หรือจะได้เสริมการดูรู้เห็นตามความเป็นจริงของวิปัสสนาไหม

ทีนี้ ถ้าเราดูโดยไม่มีการปฏิบัติต่อไป จิตมีกิเลสอะไรเกิดขึ้น ก็เห็นกิเลสนั้น ถ้าเป็นคนปัญญาไว ก็แล้วไป ก็จะไปต่อได้ อย่างที่ว่า คนที่แม้แต่ว่ากำลังจะตาย ก็ยังตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ได้ อันนี้หมายความว่า ตัวเองปฏิบัติมาไม่ถูก ใจเกิดมีกิเลส ก็เห็นกิเลสอะไรต่ออะไร ใจก็เศร้าหมอง แต่พอดีเกิดจิตสำนึกวาบขึ้นมา เกิดความรู้ทันกิเลสขึ้น ก็อาจจะพลิกทีเดียวเลย คือเกิดความรู้เข้าใจเห็นโพลงสว่างตามความเป็นจริง มองเห็นสภาวะ ก็ไปวิปัสสนาได้ โดยเกิดโยนิโสมนสิการมาช่วย แต่นั่นไม่ใช่การปฏิบัติตามปกติ

การปฏิบัติตามปกติก็คือว่า จะเอาสมถะก็ฝึกจิตไปด้วย โดยการดูรู้เห็นช่วยให้ก้าวไปในการปฏิบัติที่ละอกุศลเจริญกุศลนั้น หรือเอาวิปัสสนาก็ดูตามที่มันเป็น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จิตอะไรเป็นอย่างไรๆ ก็รู้ตามที่มันเป็น อย่างที่ท่านบรรยายว่า จิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ จิตมีโทสะหรือไม่มีโทสะ ก็รู้ตามที่มันเป็นอย่างนั้น จิตมีโมหะ จิตไม่มีโมหะ จิตเศร้าหมอง จิตผ่องใส ก็รู้ตามที่มันเป็น แต่ไม่ใช่ปล่อยเรื่อยเปื่อย คือมันมาในการฝึก มีการฝึกไปด้วย โดยละอกุศลเจริญกุศล หรือก้าวไปในการรู้เห็นตามเป็นจริง ไม่ใช่ปล่อยใจไปตามกิเลสเรื่อยเปื่อย รวมความว่า หลักใหญ่คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ไปด้วยกัน มาหนุนกัน

ในกระบวนนี้ ถ้าปฏิบัติถูก ก็ตรวจสอบได้ เอ นี่เรามีศีลหรือเปล่า ถ้าไม่มีศีล ก็คงจะไม่ค่อยถูกแล้วนะ เรามีความรู้เข้าใจปัญญาเจริญขึ้นไหม ถ้าปัญญาก็มืดๆ มัวๆ มีแต่ใจที่ปล่อยไปตามกิเลส อย่างนี้จะไปรอดอะไร ต้องตรวจสอบได้ ต้องมีทั้งศีล สมาธิ และปัญญา เมื่อถูกหลักแล้ว ไม่ว่าปฏิบัติอะไร มันก็คือการฝึกนั่นแหละ

คำว่าปฏิบัตินั้น แปลว่าดำเนิน เดิน ก้าว ก็คือ การไปข้างหน้า เดินต่อไป เป็นศัพท์หนึ่งที่ท่านใช้ควบคู่หรืออยู่ในกลุ่มพวกคำว่าฝึก ฝึกไปก็คือสิกขานั่นเอง สิกขา ก็ฝึก ทมะ ก็ฝึก (ทมะ กับทันตะ ก็อันเดียวกัน ทมะเป็นนาม และเป็นต้นเดิมของกิริยาศัพท์ ทันตะคือคนที่ฝึกแล้ว) แล้วก็ภาวนา ก็ฝึกปรือให้เป็นให้มีให้เจริญขึ้นไป สิกขา ภาวนา ทมะ เป็นหลักรวมการปฏิบัติ คุมและคลุมหมด เวลาเราปฏิบัติ ก็คือดำเนินไปในหลักรวมที่ว่านี้

ในสิกขา ก็มีการปฏิบัติ ปฏิบัติ แปลว่าเดิน ดำเนิน ปฏิบัติ ปฏิบัติอะไร ดำเนินเดินไปไหน ก็ปฏิบัติดำเนินไปในไตรสิกขา ทำอย่างไรสิกขาจะเกิดขึ้น ก็ปฏิบัติสิ ปฏิบัติแล้วสิกขาก็เกิดขึ้น ก็คือต้องเดิน ไม่ใช่อยู่เฉยๆ เมื่อคุณเดินไป สิกขาจึงจะเดินหน้าไปได้ ทมะจึงไปได้ ภาวนาจึงเป็นไปได้ และจะเดินไปได้ ก็ต้องเข้มแข็ง ต้องมีกำลัง มีเรี่ยวแรง

ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้น ปัญญาต้องรู้ ข้อปฏิบัตินี้มีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร ก็ต้องรู้ ต้องชัด เราทำอันนี้เพื่ออะไร ดูจิต ดูเพื่ออะไร ดูใจ ดูเพื่ออะไร ต้องตอบตัวเองได้ ดูว่าเราฝึกได้ผลไหม หรือดูให้รู้ตามที่มันเป็น ให้เห็นตามเป็นจริง เข้าไปถึงปฏิจจสมุปบาท เห็นไตรลักษณ์ ไปในวิปัสสนา

อย่างน้อยก็อย่างที่ว่าแล้ว ดูรู้ว่าจิตของเราขณะนี้มีกิเลสไหม นี่รู้ทัน แล้วเมื่อมีกิเลส เราตระหนักว่ากิเลสเป็นของไม่ดี มีโทษ ต้องละ ก็จะละได้ การรู้ตามเป็นจริง จึงช่วยในการละกิเลสนั้น และเมื่อรู้ว่าจิตมีกุศล เรารู้อยู่แล้วว่ากุศลต้องเจริญ คือต้องภาวนา เราก็เจริญกุศลนั้นได้ แต่ถ้าเราไม่ได้ดู ไม่ได้รู้ ไม่ได้เห็น ก็ไม่ได้ทำอะไร การดู รู้ เห็น จึงมาช่วยในการฝึก ในการปฏิบัติ

กระบวนการเหล่านี้เป็นปัจจัยแก่กันและกัน แล้วก็เดินหน้าไปเรื่อยๆ รวมแล้วหลักการทั่วไปคือ ต้องฝึก ต้องเดินหน้า แล้วก็ต้องมีความเข้มแข็ง

พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความเข้มแข็ง ศัพท์ธรรมะทุกคำบอกให้เข้มแข็งทั้งนั้น นึกให้ติดใจไว้ วิริยารัมภะนี่ตรัสเรื่อย วิริยารัมภะ แปลว่า ปรารภความเพียร หมายความว่าใจปรารภๆ จะเพียร มุ่งเอาอันนี้ ไม่ไปไหน คือใจมันเอา ร่ำแต่จะเพียร จะเพียรอยู่ร่ำไป เพียรพยายามเต็มที่เลย สู้ไม่มีถอย ถ้ามีวิริยารัมภะ ก็เดินหน้าอย่างเดียว นี่คือต้องเข้มแข็ง

พระพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาของคนอ่อนแอ พระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างของผู้เข้มแข็ง มีแต่เดินหน้า ตอนบำเพ็ญเพียร ทรงสู้ทุกอย่าง แม้แต่แทบจะแย่อยู่แล้ว พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงถอย แต่อันไหนรู้ว่าผิด อย่างการอดอาหาร บำเพ็ญทุกรกิริยา นั่นแหละพรต และเป็นพรตที่พระองค์ทรงทราบว่ามันผิด คือปัญญารู้แล้ว ก็เลิก

ถ้ารู้แล้วว่าผิด หรือยังไม่รู้ แต่ถือไปโดยงมงาย ก็เป็นสีลัพพตปรามาส ถ้าพระองค์ไปกลั้นหายใจ อดอาหาร โดยทำไปตามที่เขาว่า อย่างนี้จะทำให้หลุดพ้นได้ ทำไปโดยโมหะ ไม่มีปัญญา ก็เป็นสีลัพพตปรามาส แต่พระองค์รู้ทันแล้ว อันนี้ไม่ถูกแล้ว ไม่เอา เลิก ไม่ยอมตกอยู่ใต้สีลัพพตปรามาส ข้อปฏิบัติใดถูก มีความมุ่งหมายอย่างนี้ อยู่ในขั้นตอนนี้ เช่น ธุดงค์ ก็ปฏิบัติไปตามตรงตามความหมายและความมุ่งหมายของมัน แค่พอดี ตรงไปตรงมา

ธุดงค์ไม่ได้พาไปถึงนิพพาน แต่เป็นขั้นตอนเบื้องต้น ซึ่งเลือกได้ด้วย เป็นขั้นตอนในการช่วยกำจัดขัดเกลากิเลส การขัดเกลากิเลสนั้นช่วยเรา เพราะว่าใจเราไม่เข้มแข็ง เรานี่ช่างอ่อนแอเหลือเกิน ตามใจตัวเองอยู่เรื่อย ไม่ได้เรื่องได้ราวสักที เรารู้ตัว เราจึงสมาทานธุดงค์

สมาทาน คือรับหรือจับเอามาทำอย่างจริงจัง การที่จะถือธุดงค์ได้ ต้องเข้มแข็งจริงๆ เราก็เลยสมาทานธุดงค์นั้น เราจะเอาข้อไหนดี ธุดงค์ไม่ได้จำเป็น ไม่ได้บังคับใคร แต่ท่านให้ดูว่า ข้อนี้ถ้าเราฝึกน่าจะดี จะได้แก้ความขี้เกียจ แก้ความตามใจตัวเองเสียที ธุดงค์ก็จะมาบังคับ เช่น ถือบิณฑบาตประจำทุกวันไม่ขาด ถือแค่ไตรจีวร ถือผ้าบังสุกุลเป็นพรต (ไม่ใช่เป็นวัตร) เอาแต่ผ้าบังสุกุลจีวรอย่างเดียว ธุดงค์นี่ชัด ทุกข้อมาช่วยเสริมกำลังจิตให้เข้มแข็ง ไม่ยอมให้เราตามใจกิเลส ไม่ยอมให้เราปล่อยจิตปล่อยใจของเราให้อ่อนแอ ท่านจึงจัดหาพรตมาให้เราฝึก เพื่อจะได้เข้มแข็ง ให้ก้าวไปได้ ไม่อย่างนั้นมันก็จะมัวแต่อ่อนแอ เหยาะแหยะ ปวกเปียก ป้อแป้

เพราะฉะนั้น อย่าให้ใจหงิก แล้วมัวแต่หง็อกแหง็ก ไม่ไปไหน เดี๋ยวจะสู้คนเป็นง่อยไม่ได้ ต้องเข้มแข็ง ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องเข้มแข็งทั้งนั้น เมื่อเราฝึกปฏิบัติธรรมด้วยความเข้มแข็ง ต่อไปไม่ว่างานอะไรก็ไม่ต้องกลัว สู้ได้หมด

ถ้าแค่ในจิตใจตัวเอง จะปฏิบัติธรรมยังเข้มแข็งไม่ได้ แล้วต่อไปจะสู้งานอะไรข้างนอก ถ้าแพ้ใจตัวเองเสียแล้ว จะไปเอาชนะมารที่ไหน ท่านให้เอาชนะมาร พระพุทธเจ้าสำเร็จก็ด้วยชนะมาร ท่านจึงบอกว่าต้องเอาชนะใจตัวเองให้ได้ ผู้ที่เอาชนะใจตัวเองได้ คือมีชัยชนะสูงสุด

พระพุทธเจ้าเน้นให้เอาชนะใจตนเอง ไม่ใช่ให้ยอมแพ้ ถ้าใจปวกเปียกอ่อนแอ จะเอาอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ต้องตรวจสอบว่ามันถูกต้องหรือเปล่า ถ้าไม่ถูก ข้าไม่เอากับแก จิตของเราอ่อนแอ มันจะเอาอย่างนั้น เรามีปัญญา เราก็บอกว่าแกไม่ถูกแล้ว ข้าต้องบังคับแก แล้วเราก็ชนะใจตัวเองได้ พอชนะใจได้ เราก็เดินหน้า ถ้ามิฉะนั้นก็ไม่ต้องไปไหนแล้ว ได้แต่วนเวียนจมอยู่แค่ความประมาทนั่นแหละ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< วินัยมาช่วยให้ปฏิบัติธรรมได้จริง ย้ำให้ยิ่งต้องเข้มแข็งในการฝึกพูดตักเตือนว่ากล่าว ไม่จำเป็นอะไรที่จะทำด้วยความโกรธ หวังดีก็เตือนได้ >>

No Comments

Comments are closed.