ตอน ๒ คำอธิบายเชิงวิจารณ์

1 ตุลาคม 2513
เป็นตอนที่ 9 จาก 9 ตอนของ

ตอน ๒ คำอธิบายเชิงวิจารณ์

ในการอธิบายเพิ่มเติมและวิจารณ์ความในพระสูตรนี้ เห็นควรพิจารณาเป็น ๒ แง่ คือ ในแง่วิธีสอน อย่างหนึ่ง และในแง่สาระสำคัญ หรือหลักธรรม อย่างหนึ่ง

ในแง่วิธีสอน

พระธรรมเทศนาอาทิตตปริยายสูตร ที่ทรงแสดงแก่ชฎิล มีข้อควรสังเกตในแง่การสอน ที่เป็นข้อสำคัญ ๒ อย่าง คือ:-

๑. ทรงสอนให้ตรงกับความถนัดและความสนใจของชฎิล พระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าจะทรงแสดงที่ใดและแก่ใคร ย่อมมีจุดหมายเป็นแนวเดียวกัน คือ มุ่งให้เกิดความรู้ความเข้าใจในสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง แล้วให้มีทัศนคติและปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างถูกต้อง ในทางที่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและบุคคลอื่น แต่เนื้อเรื่องและวิธีการสอน ย่อมยักเยื้องต่างกันไป ตามอุปนิสัย ความถนัด และความสนใจของผู้ฟัง สุดแต่เรื่องใด วิธีใด จะช่วยให้เขาเข้าใจธรรมได้ดี

ในกรณีของอาทิตตปริยายสูตรนี้ก็เช่นเดียวกัน ชฎิลทั้งหลายเป็นผู้บูชาไฟ มีชีวิตเกี่ยวข้องกับไฟมาโดยตลอด ประสบการณ์และความคิดคำนึงต่างๆ ก็พัวพันอยู่กับเรื่องไฟบูชายัญ แม้เมื่อเลิกบูชาไฟแล้ว เรื่องพิธีกรรม กิจวัตร ที่เกี่ยวกับไฟ ก็ยังคงเต็มอยู่ในความทรงจำ เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเรื่องเกี่ยวกับไฟ เกี่ยวกับการลุกไหม้เผาผลาญ ก็เป็นที่สนใจ และชักจูงใจของชฎิลให้เพลินคิดเห็นไปตามกระแสพระธรรมเทศนาได้ง่าย

ยิ่งกว่านั้น ยังได้ทรงเร้าความสนใจให้มากขึ้น โดยมิได้ตรัสเรื่องกองไฟบูชายัญที่ชฎิลจำเจอยู่และเบื่อหน่ายทิ้งมาแล้ว แต่ทรงกระตุกความรู้สึกเหมือนให้สะดุ้งขึ้นว่า

    – ไฟนั้นมิได้ลุกไหม้อยู่นอกกายไกลตัวเลย แต่ไฟนั้นลุกไหม้เต็มอยู่ภายในตัวทั่วกายไปหมดแล้ว
    – เป็นไฟที่ลุกลามไหม้อยู่ตลอดเวลา รุนแรงกว่าไฟภายนอก ควรหันมาสนใจไฟนี้มากกว่า และ
    – แทนที่จะให้บำรุงบำเรอ ให้เติมเชื้อ กลับตรัสให้ไม่มีเยื่อใยยินดี เป็นทำนองให้ดับเสียด้วยซ้ำ

โดยนัยนี้ พึงตระหนักว่า การทรงแสดงเรื่องไฟ เรื่องการลุกไหม้ เรื่อง อาทิตต หรือ อาทิตย์ นี้ เป็นวิธีการยักเยื้องพระธรรมเทศนาให้ตรงกับอุปนิสัย ตรงกับความประพฤติที่ได้สั่งสมฝึกอบรมมา เพื่อผลในด้านความสนใจ และความรู้ความเข้าใจง่ายเป็นสำคัญ

ส่วนสาระสำคัญก็คงมุ่งที่จะให้รู้ให้เข้าใจเรื่องของชีวิตนี้ แล้วให้มีทัศนคติและปฏิบัติต่อมันอย่างถูกต้อง เช่นเดียวกันกับพระธรรมเทศนาเรื่องอื่นๆ

ในข้อนี้ หากเทียบกับการทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร และอันธภูตสูตรด้วย ก็จะเข้าใจชัดยิ่งขึ้น

ธรรมจักรนั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่พระภิกษุเบญจวัคคีย์ พระภิกษุเบญจวัคคีย์นั้น แต่เดิมมีใจยึดมั่นอยู่กับการบำเพ็ญทุกรกิริยาว่าคนจะบรรลุธรรมได้ต้องทรมานกายอย่างรุนแรง ยิ่งทำได้ยิ่งยวดเท่าใด ก็ยิ่งน่าเลื่อมใสสำหรับตนมากเท่านั้น และรังเกียจความเป็นอยู่อย่างสะดวกสบายว่าเป็นสิ่งเสียหายลามก ที่ละทิ้งพระพุทธเจ้าเมื่อคราวทุกรกิริยา ก็เพราะได้เห็นพระองค์เลิกทรมานพระกาย เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจักร จึงทรงเริ่มต้นด้วยเรื่อง ที่สุดสองอย่าง และมัชฌิมาปฏิปทา เป็นการกระทบตรงความในใจของท่านเหล่านั้น

ส่วนในอันธภูตสูตร1 ผู้อ่านจะได้พบข้อความที่เกือบตรงข้ามกับอาทิตตปริยายสูตรทีเดียว คือ เริ่มต้นว่า “สพฺพํ ภิกฺขเว อนฺธภูตํ” แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย ทุกสิ่งทุกอย่างมืดมิดไปหมดแล้ว แล้วตรัสต่อไปว่า อะไรคือทุกสิ่งที่มืดมิด ก็ได้คำตอบว่า จักษุ รูป ฯลฯ อย่างเดียวกับในอาทิตตปริยายสูตรนั่นเอง ที่มืดมิดไปหมดแล้ว ดังนี้เป็นต้น เป็นการยักเยื้องพระธรรมเทศนา ชักนำความสนใจและจูงเข้าสู่ธรรมอีกแบบหนึ่ง.

๒. ทรงสอนให้ตรงกับระดับสติปัญญา และระดับชีวิตของชฎิล ข้อสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าทรงคำนึงถึงในการทรงสอน คือ ความยิ่ง และหย่อน แห่งอินทรีย์ของผู้ฟัง ทรงพิจารณาว่า ผู้ฟังมีสติปัญญาอยู่ในระดับใด ได้รับการศึกษาอบรมมาในทางใดมากน้อยเพียงไหน ดำรงชีวิตอยู่อย่างไร จะต้องแสดงเรื่องอะไรเขาจึงจะรู้เข้าใจ สามารถนำไปใช้เป็นคุณประโยชน์แก่ชีวิตของเขาได้

ดังนั้น เรื่องราวที่คล้ายคลึงกัน แต่แสดงแก่ต่างคน นอกจากต่างวิธีสอนแล้ว เนื้อหาสาระก็ต่างขั้นต่างระดับกันด้วย

ในกรณีของอาทิตตปริยายสูตร ชฎิลทั้งหลายเป็นนักบวช สละโลกียวิสัยออกมาแล้ว มุ่งหน้าประพฤติปฏิบัติเพื่อเข้าถึงจุดหมายสูงสุดของศาสนาอย่างเดียว และเป็นผู้ได้ศึกษาอบรมทางศาสนามาอย่างดี เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั้งหลาย เรียกได้ว่าเป็นปัญญาชนระดับสูงสุดในสมัยนั้น และในเวลาที่ฟังพระสูตรนี้ ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนาแล้วด้วย เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม จึงทรงชี้แจงหลักธรรมที่ลึกซึ้ง ที่ต้องพิจารณาด้วยสติปัญญาอันละเอียดอ่อน อาศัยพื้นฐานการศึกษาอบรมมาพอสมควร เหมาะสำหรับผู้ดำรงชีวิตเป็นบรรพชิต และให้เกิดความรู้ความเข้าใจถึงขั้นกำจัดกิเลสาสวะได้ทั้งหมด

เรื่องนี้ จะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ถ้าได้เทียบกับพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับเรื่องไฟที่ได้ทรงแสดงแก่คนอื่นๆ เช่น อัคคิสูตร2 ที่ทรงแสดงแก่อุคคตสรีรพราหมณ์ เป็นต้น

ในกรณีของอัคคิสูตร อุคคตสรีรพราหมณ์ เป็นพราหมณ์ครองเรือน คราวหนึ่ง พราหมณ์ผู้นี้ตระเตรียมพิธีบูชายัญ ได้สั่งให้จัดโคผู้ ลูกโคผู้ ลูกโคเมีย แพะ และแกะ อย่างละ ๕๐๐ ตัวมาผูกไว้กับเสาหลักบูชายัญ เตรียมพร้อมที่จะบูชายัญ

พราหมณ์รู้สึกปีติยินดีในบุญกุศลที่ตนจะได้จากการบูชายัญตามแบบของพราหมณ์ จึงได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทูลว่า ตามที่เขาได้เรียนรู้มา การก่อกองไฟบูชายัญ และการปักเสาหลักบูชา มีผลมีอานิสสงส์มาก และทูลขอความเห็นจากพระพุทธองค์ในเรื่องนี้

พระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงครั้งนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับไฟเหมือนกัน แต่มีเนื้อหาและระดับคำสอนต่างออกไปอีกอย่างหนึ่งคือ ในอัคคิสูตรนั้น ทรงแสดงหลักธรรมสำหรับการครองชีวิตของคนทั่วไปที่ยังครองเรือนอยู่ เพราะพราหมณ์ผู้ทูลถามยังเป็นคฤหัสถ์ครองชีวิตอยู่ในโลกียวิสัย

ในพระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไฟ ๗ อย่าง3 ที่ควรได้รับการปฏิบัติเอาใจใส่ต่างๆ กัน โดยยึดเอาความรู้สึกและถ้อยคำต่างๆ ของพราหมณ์มาทรงแสดงในแนวใหม่

ไฟ ๗ อย่างนั้น แบ่งเป็น ๓ ประเภท ดังนี้:-

๑. ไฟที่ควรดับ หรือควรหลีกเว้น ๓ อย่าง คือ

    ๑) ไฟราคะ
    ๒) ไฟโทสะ
    ๓) ไฟโมหะ

เหตุที่ควรดับควรเว้น เพราะคนถูกราคะ โทสะ โมหะ ครอบงำย่ำยีจิตใจแล้ว ย่อมประพฤติทุจริตทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจได้ เมื่อประพฤติทุจริตแล้วก็เป็นเหตุให้ได้รับความทุกข์ ไปเกิดในอบายทุคติ

พึงสังเกตว่า ในอาทิตตปริยายสูตร ก็มีไฟ ๓ อย่างนี้เหมือนกัน แต่ในอัคคิสูตร พระพุทธเจ้าทรงแสดงในแบบง่ายๆ เท่าที่เกี่ยวกับความประพฤติของคนในโลกทั่วๆ ไป มิให้ประพฤติการทุจริตเท่านั้น ส่วนในอาทิตตปริยายสูตร ทรงแสดงในแง่ที่ต้องพิจาณาลึกซึ้ง ซึ่งเหมาะแก่การศึกษาของนักปรัชญาและนักจิตวิทยา

๒. ไฟที่ควรบำรุง ๓ อย่าง สำหรับไฟหมวดนี้ พระพุทธเจ้าทรงนำเอาชื่อไฟศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่เดิมในศาสนาพราหมณ์ มาทรงใช้ในความหมายใหม่ และเรียงลำดับใหม่ (ต่างแต่ของพราหมณ์เป็นภาษาสันสกฤต ของพุทธเป็นภาษาบาลีเท่านั้น) ซึ่งเท่ากับเป็นการล้มเลิกคำสอนเดิมของศาสนาพราหมณ์ และทรงประทานคำสอนใหม่ไปด้วยพร้อมกัน จะให้ไว้ทั้งความหมายเดิมของพราหมณ์ และความหมายใหม่ของพุทธศาสนาเพื่อเทียบกัน ดังนี้

๑) คารหปัตยัคนี (ไฟเจ้าบ้าน) คือไฟที่เจ้าบ้านรับสืบทอดต่อจากบิดาของตน และส่งทอดต่อไปยังบุตรหลาน ไฟนี้เจ้าบ้านต้องบำรุงไว้ให้ติดไม่ขาดสาย และสังเวยเป็นประจำ เมื่อจะประกอบพิธีบูชายัญ ก็จุดไฟบูชายัญไปจากไฟนี้; พระพุทธเจ้าทรงประทานความหมายใหม่ในชื่อภาษาบาลีและจัดเป็นลำดับที่สองว่า

๒) คหปตัคคิ (ไฟเจ้าบ้าน) หมายถึง บุตร ภรรยา คนรับใช้และคนงาน

๒) อาหวนียัคนี (ไฟอันควรแก่ของเซ่นสรวง) คือ ไฟสำหรับรับเครื่องสังเวยในยัญพิธี ซึ่งจุดต่อออกมาจากคารหปัตยัคนี เมื่อจะประกอบพิธีบูชายัญ และตั้งไว้ทางขวาของคารหปัตยัคนี; พระพุทธเจ้าทรงประทานความหมายใหม่ในภาษาบาลี และจัดเป็นลำดับที่ ๑ ว่า

๑) อาหุไนยัคคิ (ไฟอันควรแก่ของคำนับ) หมายถึงมารดาบิดา

๓) ทักษิณาคนี (ไฟด้านใต้) คือ ไฟที่จุดต่อจากคารหปัตยัคนี และจัดตั้งไว้ทางทิศใต้ของแท่นบูชายัญ ใช้สำหรับรับเครื่องสังเวยที่อุทิศให้แก่ผีปีศาจและบุรพบิดา ในยัญพิธี; พระพุทธเจ้าทรงประทานความหมายใหม่ในภาษาบาลีว่า

๓) ทักขิไณยัคคิ (ไฟที่ควรแก่ทักษิณา) หมายถึง สมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดีประพฤติชอบ

 

ไฟ ๓ อย่างนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา จัดการบำรุงให้เป็นสุขด้วยดี

ข้อสังเกตสำหรับไฟหมวดที่สองนี้ คือ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เลิกการเซ่นสรวงบูชายัญ อันเหลวไหลเสีย หันมาเอาใจใส่กับพันธะทางสังคม ให้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลทำนุบำรุงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับตนให้ดี เพราะบุคคลเหล่านี้ก็เทียบได้กับไฟ ซึ่งต้องคอยเอาใจใส่เติมเชื้อ บำรุงให้ดี จึงจะเกิดคุณประโยชน์ดีงาม แต่หากปฏิบัติไม่ดี ก็ให้โทษ เป็นไฟเผาผลาญได้มากเช่นเดียวกัน

๓. ไฟที่ควรจุดควรดับควรระวังตามสมควร ๑ ได้แก่ กัฏฐัคคิ (ไฟเกิดแต่ไม้ หรือไฟที่ก่อขึ้นจากเชื้อสำหรับใช้หุงต้ม เป็นต้น) ไฟอย่างนี้ควรก่อขึ้น ก่อแล้วควรเอาใจใส่ระมัดระวัง เสร็จแล้วควรดับแล้วควรเก็บไว้ตามกาละที่สมควร

จะเห็นได้ว่า ใน อัคคิสูตร นี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องไฟในแง่คำแนะนำสั่งสอนสำหรับผู้ครองชีวิตมีเหย้ามีเรือนอยู่ในฆราวาสวิสัย

ในกรณีอื่นอีก เมื่อตรัสถึงการบูชาไฟ พระพุทธเจ้าตรัสสอนคติที่ควรยึดถือปฏิบัติสำหรับสังคมทั่วไปว่า:-

“ถึงหากบุคคลผู้ใดจะไปบูชาไฟอยู่ในป่าเป็นเวลาตั้งร้อยปี การบูชาคนที่ฝึกอบรมตนแล้วชั่วขณะเดียว ก็ยังประเสริฐกว่าการบูชาไฟนั้น การบูชาไฟตั้งร้อยปีจะมีประโยชน์อะไร”4

ข้อนี้ หมายความว่า พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้สังคมหันมาช่วยกันยกย่องให้เกียรติคนดี เพราะเป็นสิ่งที่ให้คุณประโยชน์รักษาคุณธรรมของสังคมไว้ ดีกว่าจะมัวไปหลงใหลในการเซ่นสรวงสังเวย อันเป็นเรื่องไร้เหตุผล อันเป็นการกระทำที่มุ่งผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นสำคัญ ทั้งยังเป็นทางให้เกิดความเสื่อมเสียขึ้นในสังคมได้ ในเมื่อผู้คนมุ่งประโยชน์ส่วนตน คอยพะเน้าพะนอเอาใจเทวดาที่ชอบเครื่องเซ่น เป็นเหตุให้มีแต่เทวดาประเภทนี้มาคอยคุ้มครองและแสดงอิทธิพลในหมู่มนุษย์

เมื่อมนุษย์คบหาให้กำลังแก่เทวดาประเภทนักเลง ประเภทชอบลาภสักการะ ก็เป็นธรรมดาอยู่เอง ที่เทวดาผู้ตั้งอยู่ในคุณธรรม ผู้ให้ความคุ้มครองโดยธรรมโดยสงบย่อมจะเสื่อมถอยกำลัง และปลีกตนหลบลี้ออกไปอยู่โดยสงบ ไม่เป็นที่ปรากฏ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมมนุษย์ มองเห็นได้ไม่ยาก

เมื่อเข้าใจวิธีสอนธรรมของพระพุทธเจ้า ที่แตกต่างกันได้แม้ในเรื่องคล้ายกัน โดยสัมพันธ์กับสติปัญญาและการดำรงชีวิตของผู้ฟังเช่นนี้แล้ว จะได้ข้อเตือนใจว่า ในขณะที่อ่านหรือกล่าวถึงอาทิตตปริยายสูตร จะต้องรำลึกถึงเหตุผลในแง่การสอนให้เหมาะสมกับระดับสติปัญญาและการศึกษาอบรมไว้ด้วย และจะต้องตระหนักในใจเสมอว่า ตนกำลังอ่านหรือกล่าวถึงหลักธรรมที่โดยปกติเป็นข้อสำหรับถกเถียงและพิจารณาศึกษา ของนักปรัชญาและนักจิตวิทยาทั้งหลาย

นอกจากนี้ เมื่อว่าตามเป็นจริง ในปัจจุบันนี้ นักปรัชญาและนักจิตวิทยาทั้งหลาย ก็กำลังศึกษาค้นคว้าถกเถียงวุ่นวายอยู่กับเรื่องเหล่านี้นี่เอง หาพ้นไปได้ไม่.

ในแง่สาระสำคัญหรือหลักธรรม

หลักธรรมที่เป็นสาระสำคัญของพระสูตรนี้ เป็นเรื่องละเอียด ลึกซึ้ง และกว้างขวางอย่างยิ่ง ในการอธิบาย จะรวบรัดสรุปให้เหลือเล็กน้อยเป็นข้อสั้นๆ ก็ได้ หรือจะอธิบายให้เชื่อมโยงสัมพันธ์กับเรื่องอื่นๆ พิสดารออกไป อย่างที่แทบจะกล่าวได้ว่า ไม่มีที่สิ้นสุด ก็ได้ สุดแต่จะใช้กลวิธียักเยื้องอธิบายอย่างไร

ในที่นี้ จะพยายามอธิบายสักแนวหนึ่ง โดยสัมพันธ์กับใจความที่ได้สรุปไว้ข้างต้น

๑. สภาพที่เป็นปัญหา สิ่งที่เป็นตัวการ หรือเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในพระสูตรนี้ ได้แก่ อายตนะภายใน อายตนะภายนอก วิญญาณ ผัสสะ และเวทนาทั้งหลาย ที่เกิดสืบเนื่องมาจากผัสสะเหล่านั้น สิ่งเหล่านี้ก็คือ กระบวนการรับรู้ และการคิดคำนึงทั้งหมดของบุคคล

ชีวิตทั้งหมดเท่าที่บุคคลรู้สึกก็ดี โลกทั้งโลกเท่าที่ปรากฏแก่บุคคลก็ดี ความรู้ความเข้าใจทุกอย่างที่เกิดมีขึ้นแก่บุคคลโดยปกติก็ดี ย่อมอยู่ในขอบเขตของกระบวนการรับรู้และการคิดคำนึงนี้ เมื่อกล่าวในแง่หนึ่ง สิ่งเหล่านี้จึงเป็นทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับบุคคล

ข้อที่ว่า ถูกไฟลามติดลุกไหม้อยู่ ย่อมหมายความว่า สิ่งเหล่านี้หรือกระบวนการนี้ ตกอยู่ในภาวะรุ่มร้อน ดิ้นรนกระวนกระวาย มิได้ปฏิบัติหน้าที่ไปโดยปกติตามสภาพของมัน เพราะมีไฟราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ที่จะกล่าวในตอนสาเหตุ มาเผาลนให้พล่าน ให้กระสับกระส่าย ให้พร่าให้สับสน จนปรากฏอาการออกมาเป็นปัญหาต่างๆ ทั้งหยาบทั้งละเอียด ทั้งเบาทั้งรุนแรง ทั้งที่เป็นเรื่องส่วนตัว และปัญหาร่วมกันของสังคม

พูดในมุมกลับว่า ปัญหาต่างๆ ทั้งมวลของมนุษย์ ทั้งส่วนบุคคลและสังคม สืบสาวต้นตอลงไปได้ถึงการที่ถูกไฟเหล่านี้เผาลนอยู่ กล่าวโดยรวบรัดว่า

ก. ในแง่บุคคล ในขั้นรุนแรง คนถูกราคะ โทสะ โมหะ เข้าแผดเผา กลุ้มรุม ผลักดัน จึงกระทำการทุจริต หรือแม้กรรมชั่วร้ายแรงต่างๆ ที่โดยปกติกระทำไม่ได้ และทำให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนต่างๆ แก่ตนเองติดตามมา และเกี่ยวพันถึงสังคมในข้อต่อไป

ในขั้นละเอียดอ่อน แม้โดยปกติมนุษย์ปุถุชนย่อมถูกไฟเหล่านี้ บังคับบัญชาการกระทำ คำพูด ความคิด ตลอดจนทัศนคติต่างๆ อยู่แล้ว ที่เห็นได้ง่ายๆ คือ ปกติคนมีความอยากได้ ก็ถูกความอยากได้ดึงไป หรือถ้าพูดให้เป็นไฟก็คือเผาให้ทนอยู่ไม่ได้ เที่ยววิ่งพล่านทะยานหาสิ่งที่ต้องการ เมื่อยังไม่ได้ หรือไม่ได้ หรือได้ไม่เท่าที่หวัง ก็เกิดความขุ่นมัวอัดอั้น หรือขัดใจ เป็นทุกข์ ได้สมหวังแล้วก็ปรารถนาต่อๆ ไป ยิ่งๆ ขึ้นไป

ถ้าเป็นไปในกระบวนการนี้โดยไม่มีการควบคุมหรือรู้เท่าทัน คือปล่อยสุดแต่มันจะเป็นไป ก็คือการมีชีวิตอยู่อย่างคลุ้มคลั่งกระหายและทุรนทุราย อย่างถูกไฟลุกไหม้เผาลนอยู่ตลอดเวลานั่นเอง

อีกอย่างหนึ่ง คนถูกไฟเหล่านี้เผาลน ถูกควันไฟรุมให้มัว ย่อมไม่รู้ไม่เข้าใจ ไม่ใช้ ไม่ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งทั้งหลายให้ถูกทาง หรือให้เท่าค่าของมันได้

ยกตัวอย่างในขั้นหยาบๆ ที่เห็นได้ง่ายๆ เช่น เก้าอี้มีไว้สำหรับนั่ง เกิดความโกรธขึ้น กลับเอามาใช้ทำร้ายกัน; เห็นของสวยงาม หรือของมีราคาที่เขานำมาเสนอขาย อยากได้ ความอยากได้รุนแรงทำให้ไม่ได้พินิจพิจารณา ถูกเขาหลอกลวงเอาได้ง่าย; บางทีขัดใจอะไรตอนเช้านิดเดียว ไม่รู้จักพิจารณาปลงใจ อารมณ์เสียไปทั้งวัน; บางทีพบคนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน เขาแสดงอะไรผิดพลาดนิดเดียว เกิดทัศนคติผิดพลาด มองเขาไปในทางไม่ดีตลอด ไม่ได้พิจารณาให้ลึกซึ้ง; หรือมีความลุ่มหลง ยามีไว้ใช้รักษาโรค กลับนำมาพล่าชีวิตตนเองเสีย ดังนี้เป็นต้น

ไฟเหล่านี้เป็นปฏิปักษ์กับปัญญา เมื่อถูกไฟเหล่านี้กลุ้มรุมแผดเผาแล้ว ก็ทำให้เกิดทัศนคติผิด ตัดสินใจผิด และปัญญาความรู้ความเข้าใจตามความเป็นจริงก็ไม่เกิด

พิจารณาให้ลึกซึ้ง คนเราถูกไฟเหล่านี้บังปัญญา ทำให้เข้าใจผิด เกิดทัศนคติที่ผิด ตัดสินใจผิดๆ กระทำการต่างๆ ที่ปราศจากเหตุผล ที่แม้แต่ตนเองนึกขึ้นมาภายหลัง ก็รู้สึกละอาย หรือเห็นน่าขำอยู่เสมอทั่วๆ กันทุกคนอยู่แล้ว มากน้อยตามขนาดของไฟที่แต่ละคนปล่อยให้ลุกลามอยู่ในตัวของตัว

ข. ในแง่สังคม ความขัดแย้ง การแย่งชิง การรังแก ข่มเหง เอารัดเอาเปรียบ ประทุษร้ายกันระหว่างมนุษย์ เกิดจากไฟเหล่านี้เป็นตัวการสำคัญ

คนอยากได้ของสิ่งเดียวกัน เกิดผิดใจกัน แตกแยกและแย่งชิงกัน คนชอบใจทำคนละอย่าง ก็แตกแยกกัน ไปด้วยกันไม่ได้ คนเห็นแก่ตัวอยากได้ไม่มีที่สิ้นสุด ก็หาทางเอาเปรียบ ทำลายผู้อื่น; บุคคลผู้เดียว ในหมู่คณะหนึ่ง ไปกระทำผิดพลาดต่อคนในอีกหมู่คณะหนึ่งเป็นกรณีส่วนบุคคล แรงราคะต่อฝ่ายตนและโทสะฝ่ายอื่น ทำให้ไม่พิจารณาสอบสวนให้เห็นความจริง เกิดเป็นกรณีขัดแย้ง รบราฆ่าฟันระหว่างหมู่คณะ; พ่อแม่รักและหลงลูก จนเลี้ยงลูกผิดๆ ให้ลูกเสียก็มาก ฯลฯ

ในแง่ความก้าวหน้าทางปัญญา กลุ่มชนที่มีความเชื่อถือผิดๆ ยึดถือลัทธิทฤษฎีต่างๆ โดยโมหะ ก็ทำให้ไม่สามารถพิจารณาสอบสวนค้นคว้าเห็นความจริง หรือเห็นเหตุเห็นผลของธรรมชาติได้ เป็นอุปสรรคต่อความเจริญก้าวหน้าทางสติปัญญา

แม้วิทยาศาสตร์ วิทยาการ วิธานวิทยาต่างๆ ที่เจริญก้าวหน้ามากมายทั้งหลาย ถ้ามนุษย์นำมาใช้ตามแรงผลักดันของไฟเหล่านี้ ก็เป็นไปเพื่อหายนะของหมู่มนุษย์นั่นเอง

สรุปว่า อายตนะทั้งหลายที่เป็นเครื่องเชื่อมต่อระหว่างขันธ์ ๕ ที่เป็นภายใน กับขันธ์ ๕ ที่เป็นโลกภายนอก ให้เกิดการรับรู้ และความรู้ต่างๆ ตามกระบวนของมันนั้น ขณะนี้มิได้ปฏิบัติหน้าที่ไปตามกระบวนการแท้ๆ หรือตามสภาวะอาการล้วนๆ ของมัน แต่ถูกไฟต่างๆ เผาลนอยู่ตลอดเวลา

เมื่อกระบวนการนี้ถูกไฟลุกไหม้ ก็เกิดความระส่ำระสาย ปฏิบัติหน้าที่เคลื่อนคลาดจากปกติ ความรู้ต่างๆ ที่ได้รับก็บิดเบือน ตัวบุคคลก็ไม่เป็นตัวของตัวเอง เกิดความสับสนวุ่นวาย ถูกครอบงำหรือลากจูงให้เอนเอียงไปบ้าง ถูกรมให้มืดหน้าตามัวบ้าง ไม่สามารถกลั่นกรองวินิจฉัยข้อเท็จจริงโดยถูกต้อง เที่ยววิ่งแล่นไปตามแหล่งของการรับรู้ที่ถูกไฟไหม้ ถูกชักพาไปตามสายของการรับรู้นั้นๆ เกิดความยึดติดพัวพัน ตกเป็นทาส ไม่เป็นอิสระ เกิดทัศนคติผิดพลาด ตัดสินผิดพลาด และปฏิบัติผิดพลาดต่อสิ่งทั้งหลาย

เมื่อตนเองเดือดร้อนวุ่นวายแล้ว ก็แผ่ความเดือดร้อนวุ่นวายนั้นไปให้แก่ผู้อื่นด้วย บุคคลที่มีปัญหาในตัวเอง ก็ย่อมเป็นเหตุสร้างปัญหาแก่ผู้อื่นขึ้นด้วย คนที่มีแต่ความรุ่มร้อนกระวนกระวายในตัว แก้ปัญหาในตัวเองไม่ได้ จะอยู่กับชาวโลกสงบเรียบร้อยไม่ก่อปัญหาเลยไม่ได้

๒. สาเหตุ ในด้านสาเหตุย่อมอธิบายได้ทั้งในขั้นตื้นๆ และในขั้นลึกซึ้ง

เมื่ออธิบายอย่างตื้นๆ สาเหตุของปัญหานี้ ก็คือการถูกไฟกิเลสเผาลนให้ระส่ำระสายวุ่นวาย อย่างที่กล่าวแล้วในตอนสรุปข้อ ๑

แต่เมื่ออธิบายลึกซึ้งละเอียดลงไป ก็ต้องสืบค้นถึงพื้นฐาน ซึ่งพอจะเห็นแนวทางดังนี้:-

ชีวิตนั้น เป็นกระบวนการอันหนึ่ง เกิดจากการรวมตัวกันเข้าของส่วนประกอบต่างๆ ซึ่งโดยสรุปได้แก่นามและรูป หรือขยายออกไปได้แก่ขันธ์ ๕

ส่วนประกอบเหล่านี้ แต่ละอย่างมีการเปลี่ยนแปลง ที่ต่อเนื่องและสัมพันธ์กันเป็นกระบวนการ ทำให้คุมรูปกันอยู่ดูเหมือนเป็นตัวเป็นตน

แต่ในเมื่อเป็นกระบวนและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดทุกขณะ ก็ย่อมไม่มีตัวแก่นแท้ที่คงที่แน่นอน และในกระบวนการอันนี้เองที่มนุษย์เข้าไปยึดถือว่าเป็นตัวตนของตน และเข้าไปตั้งความปรารถนาไว้ในทุกขั้นทุกระดับ หวังจะให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ในรูปที่จะให้มีตัวตนให้จงได้

การดิ้นรนหวังให้มีตัวตนนี้ ได้ปรากฏผลเป็นการดิ้นรนไม่เฉพาะในชีวิตคนธรรมดาสามัญ แต่ปรากฏตลอดประวัติศาสตร์วิชาปรัชญาทีเดียว

เมื่อไม่มีตัวตน มนุษย์ก็พยายามที่จะสร้างตัวตนให้มีขึ้นในรูปใดรูปหนึ่ง ตั้งแต่การทำมัมมี่ เพื่อรักษาร่างกายไว้ให้ชีวภูติกลับมาเข้าร่างดังเดิมของชาวอียิปต์โบราณ จนถึงปรัชญาของนักปรัชญาฝรั่งเศสชื่อเดคารทส์ แห่งคริสตศตวรรษที่ ๑๗ ผู้พยายามพิสูจน์ให้มีตัวตนให้ได้ อย่างวาทะของเขาที่ว่า “Cogito, ergo sum” ซึ่งแปลว่า “ฉันคิด เพราะฉะนั้น ฉันจึงมี” ซึ่งไม่พ้นไปจากทิฏฐิที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ไถ่ถอนมานานกว่า ๒๕๐๐ ปีแล้ว

เมื่อมนุษย์มีความหลงผิดยึดถือและปรารถนาให้มีตัวตนอยู่เช่นนี้ ในขณะเดียวกันนั่นเอง กระบวนการแห่งชีวิต ก็ตกอยู่ในกฎแห่งไตรลักษณ์ อันเป็นกฎธรรมชาติที่แน่นอนว่า ทุกสิ่งไม่คงที่ ไม่ทนอยู่ในสภาพเดิม ไม่อยู่ในอำนาจ และไม่มีตัวตนที่แท้

กฎนี้แสดงแก่ชีวิตในรูปแห่งชาติ ชรา มรณะ เป็นต้น ทั้งแบบหยาบตื้น และแบบลึกละเอียด จึงกลายเป็นอาการที่ขัดกัน หรือฝืนความปรารถนา พูดเป็นภาพพจน์ว่า ความยึดถือ กับกฎธรรมชาติเกิดขัดสีกันขึ้น ลุกเป็นไฟ

อาการขัดสี หรือฝืนนี้ ทำให้บุคคลเสริมซ้ำย้ำความยึดถือและความปรารถนาให้เหนียวแน่นและรุนแรงมากยิ่งขึ้น แต่เป็นความยึดถือด้วยความปรารถนาแบบกระวนกระวาย และแสดงออกทั้งในระดับที่รู้สึกได้ อันเป็นขั้นหยาบ และขั้นที่ไม่รู้สึก อันเป็นขั้นละเอียด ซับซ้อน อยู่ในจิตใต้สำนึก

เมื่อสืบค้นลงไปในกระบวนการของจิตอย่างละเอียด จนถึงจิตไร้สำนึก ก็จะพบเงื่อนงำว่า ความกลัวต่อชาติ ชรา มรณะ เป็นต้นนี้ มีซับซ้อนแฝงอยู่ในจิตใจของมนุษย์ และคอยบัญชาพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์อยู่ โดยที่มนุษย์เองไม่รู้สึกตัว ความกลัวนี้เริ่มจากจุดที่มนุษย์ไม่รู้ไม่เข้าใจในสภาพที่แท้จริงแห่งชีวิตของตน

จากจุดของความไม่รู้นี้ กระบวนการก็ดำเนินไปตามแนวทางแห่งหลักปฏิจจสมุปบาท และขั้นตอนที่สำคัญก็คือความขัดแย้งระหว่างความหลงผิดว่าเป็นตัวตน กับกระแสความเปลี่ยนแปลงตามกฎธรรมชาติหรือไตรลักษณ์ ผลักดันตัณหาให้แสดงตัวออกในกระบวนการรับรู้นั้น ซึ่งหมายความเลยไปถึงว่า ไฟความทุกข์ มีชาติ ชรา มรณะ เป็นต้น เป็นตัวผลักดันไฟกิเลส ราคะ โทสะ โมหะ ให้ออกหน้า และแสดงฤทธิ์วุ่นวาย

พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ไฟทุกข์เกิดจากการปะทะระหว่างกฎธรรมชาติ (ไตรลักษณ์) กับความหลงผิดยึดถือว่าเป็นตัวตน เมื่อปะทะกันแล้ว ไฟทุกข์ขับไฟกิเลส พลุ่งออกมาแสดงฤทธิ์เผาผลาญจนปรากฏผลเป็นปัญหาต่างๆ ดังกล่าวมาข้างต้น

ตราบใดที่ยังไม่รู้ไม่เข้าใจ และไม่เข้าไปจัดการกับกระบวนการและไฟเหล่านี้อย่างถูกต้อง ก็เท่ากับว่ามนุษย์พาเอากองไฟ หรืออาจจะถึงกับเป็นไฟนรกขุมหนึ่งติดไปกับตัวด้วยตลอดเวลา และเมื่อไฟติดอยู่กับตัวประจำเช่นนี้ ก็ย่อมไม่สามารถประสบความสุขที่แท้จริงยั่งยืนได้

๓.การแก้ไข หนทางแก้ไขปรากฏชัดอยู่แล้วในพุทธดำรัสนี้ว่า “อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้ว เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้” คำว่าเห็นอยู่อย่างนี้ หมายถึงการรู้การเข้าใจตามความเป็นจริง ซึ่งกระบวนการอย่างที่เป็นอยู่เช่นนั้น เริ่มแต่เข้าใจสภาพของปัญหา

การเข้าใจสภาพของปัญหา หรือการมองเห็นตัวปัญหานั่นเอง ย่อมเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญอย่างยิ่ง

เมื่อมองเห็นปัญหาที่ตนเข้าประสบอยู่แล้ว ก็สามารถถอนตัวออกมาตั้งหลักได้ อย่างที่ตรัสว่า “ย่อมหน่าย” จากนั้นก็ไม่ยึดติด หลุดพ้นเป็นอิสระ แต่ที่กล่าวนี้เป็นขั้นลึกซึ้ง

ในที่นี้ จะลองกล่าวถึงวิธีแก้ไขจัดการ ที่ลึกซึ้งไปตามลำดับขั้น

๑) ขั้นต้น เมื่อมองเห็นโทษของไฟเหล่านี้แล้ว ก็ควรควบคุมให้อยู่ในขอบเขต ไม่ให้ลุกลามรุนแรงถึงขั้นประพฤติทุจริตต่างๆ หรือทำให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนแก่ตนเองและสังคม

๒) ขั้นกลาง รู้จักฝึกฝนอบรมจิตใจ รู้จักวิธีทำให้ไฟเหล่านี้สงบนิ่งอย่างน้อยเป็นครั้งคราว เหมือนอย่างไฟที่ไม่มีควันกลุ้มรุม ไม่มีเปลวที่แลบโฉบพึ่บพั่บ อยู่ในสภาพสงบนิ่ง ย่อมทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น

การทำจิตให้สงบนิ่ง ปราศจากการรบกวนของไฟเหล่านี้ได้แม้ชั่วคราว ย่อมช่วยให้มีสมาธิ อันเป็นกำลังเสริมให้เกิดปัญญาและทำการต่างๆ เช่น การศึกษาเล่าเรียน เป็นต้น ให้ได้ผลสำเร็จอย่างดี

ถ้าฝึกอบรมให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ก็สามารถทำสิ่งที่คนธรรมดาเห็นเป็นสิ่งวิเศษอัศจรรย์ได้

ที่เห็นได้ง่ายและวิทยาศาสตร์ปัจจุบันก็ทำกันได้แล้ว ก็คือ ในการสะกดจิต เมื่อจิตอยู่ในสภาพที่แน่วแน่ต่ออารมณ์อันเดียว ปราศจากสิ่งรบกวน คนที่ถูกสะกดจิต ก็สามารถทำสิ่งที่ตัวเขาไม่เคยสามารถทำได้ในยามปกติ

๓) ขั้นสูงสุด หมายถึงขั้นที่เป็นใจความในพระสูตร ได้แก่ขั้นที่เกิดความรู้ความเข้าใจในสภาพของกระบวนการเหล่านั้นอย่างถ่องแท้สมบูรณ์ ทำให้สามารถถอนตัวออกมาตั้งหลักอยู่ได้เป็นอิสระ ไม่ยึดติดหลงผิดว่า กระบวนการที่ลุกไหม้อยู่นั้นเป็นตัวตน ไม่ตกเป็นทาส ถูกฉุดลากไปต่างๆ แต่กลับเป็นนาย รู้จักที่จะปล่อยให้กระบวนการนั้นปฏิบัติหน้าที่ของมันไปอย่างถูกต้อง ได้รับความรู้ที่ไม่บิดเบือน และสามารถเข้าไปจัดการใช้แต่ในทางที่จะเป็นประโยชน์

ข้อนี้เหมือนกับการที่มนุษย์จะเปลี่ยนฐานะจากการเป็นทาสของธรรมชาติ กลับเป็นนายของธรรมชาติได้ ก็ด้วยการรู้ความจริง รู้สภาพ เข้าใจกฎเกณฑ์ กระบวนการแห่งเหตุผลของมันเสียก่อน

จากนั้นก็สามารถร่วมมือกับธรรมชาติ รู้วิธีจัดการควบคุมให้ธรรมชาติดำเนินไปตามกฎของมันเอง แต่เป็นไปตามแนวทางที่เรากำหนดให้มันได้ เรียกกันเป็นสำนวนว่า กลับเป็นนายของธรรมชาติ

ในขั้นสุดท้ายนี้ ความรู้ความเข้าใจต่างๆ ที่ได้รับเข้ามาย่อมเป็นไปตามสภาพที่มันเป็นจริง และการเข้าเกี่ยวข้องจัดการก็ย่อมเป็นไปตามอำนาจปัญญา หรือตามเหตุผล ไม่ใช่ตามอำนาจตัณหาอย่างแต่ก่อน

๔. ผล ผลที่ได้จากการปฏิบัติตามวิธีแก้ไข ย่อมเป็นไปตามลำดับของขั้นนั้นๆ

ในขั้นต้น เมื่อมนุษย์ควบคุมไฟให้อยู่ในขอบเขตที่สมควร ก็ทำให้สังคมมีศีลธรรมอยู่ร่มเย็นเป็นสุข ตัวบุคคลเองก็มีจิตใจสงบร่มเย็นตามควร

ในขั้นกลาง ย่อมช่วยให้มนุษย์ประสบสัมฤทธิ์ผลในงานต่างๆ ด้วยดียิ่งขึ้น และมีจิตใจที่เข้มแข็งมั่นคงยิ่งขึ้น มีความสุขที่ประณีตขึ้น

ในขั้นสูงสุด ทำให้มนุษย์หลุดพ้นจากความเป็นทาสของความหลงผิด ทาสของกิเลส ทาสของจิตใจตน เป็นอิสระ กลับเป็นนาย ในขั้นนี้เรียกตามพุทธดำรัสว่า อยู่จบพรหมจรรย์ ทำสิ่งที่ต้องทำเสร็จสิ้นแล้ว หมดกิจที่จะต้องทำเพื่อให้ได้เป็น(อิสระ)อย่างนี้อีก ที่หมดกิจก็เพราะได้รู้ ได้เข้าใจถูกต้องหมดแล้ว เป็นอิสระแล้ว มีทัศนคติพื้นฐานถูกต้องดีแล้ว

ต่อจากนี้ไป กระบวนการรับรู้ต่างๆ ก็จะดำเนินไปตามจังหวะหน้าที่ตามสภาวะอาการที่แท้ของมัน ความรู้ที่เกิดขึ้นก็จะถูกต้องตรงตามสภาวะที่เป็นจริง การปฏิบัติและจัดการกับสิ่งทั้งหลายก็จะเป็นไปตามแนวทางของเหตุผลบริสุทธิ์ เป็นไปในทางที่ก่อประโยชน์อย่างเดียว เป็นอันไม่ต้องมาคิดแก้ไขควบคุมและดับไฟกันอีก

ถ้าเทียบตามหลักโอวาทปาติโมกข์

ขั้นต้นก็คงเป็น สพฺพปาปสฺส อกรณํ – ไม่ทำชั่วทั้งปวง

ขั้นกลางคงเป็น กุสลสฺสูปสมฺปทา – ทำความดีให้พรั่งพร้อม

และขั้นสุดท้ายเป็น สจิตฺตปริโยทปนํ – ทำจิตใจให้บริสุทธิ์

สิ่งสำคัญที่พึงระลึก

๑. เรื่องอาทิตตปริยายสูตรนี้ อยู่ในวิชาพุทธประวัติ หรืออยู่ในวิชาพระพุทธศาสนา ส่วนที่เป็นประวัติของพระพุทธเจ้า

พุทธประวัติส่วนที่นอกเหนือจากพระชีวประวัติส่วนพระองค์ของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็เป็นบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการบำเพ็ญพุทธกิจ หรือประวัติการทรงทำงานสั่งสอนของพระพุทธเจ้า บุคคลที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้นมีมากมายทุกชั้นทุกประเภท ว่าโดยระดับสติปัญญาก็มีตั้งแต่ฉลาดที่สุด ถึงโง่ที่สุด

ตามปกติ พุทธประวัติที่เล่าเรียนกัน โดยเฉพาะที่ย่อๆ ย่อมจะกล่าวถึงเฉพาะงานสั่งสอนครั้งสำคัญๆ เท่านั้น

บุคคลที่พระพุทธเจ้าทรงผจญในงานสอนครั้งนั้นๆ มักเป็นชั้นคณาจารย์ หรืออย่างน้อยก็มีประสบการณ์ในการค้นคิดทางปรัชญามาก สิ่งที่ทรงสอนก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนลึกซึ้ง เหมาะสำหรับปัญญาและประสบการณ์ของท่านเหล่านั้น และผลจากการสั่งสอนครั้งนั้นๆ ก็สูงถึงขึ้นบรรลุญาณวิเศษ โดยเฉพาะอรหัตตผล

ผู้ที่อ่านหรือเรียนพุทธประวัติตอนเหล่านี้ จะต้องสมมติตนเป็นนักปราชญ์ชั้นคณาจารย์ หรือเป็นนักบวชเหล่านั้น ขบคิดเนื้อธรรมด้วยสติปัญญา และอยู่ในบรรยากาศแห่งการสอนครั้งนั้นด้วยตนเอง จึงจะเข้าถึงรสอันเป็นแก่นธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

ถ้าจะเทียบให้มองเห็นง่ายๆ อีกแง่หนึ่ง เพียงปรัชญาของโสเครตีส พลาโต และอริสโตเติล หากจัดให้นักเรียนชั้น ม.ศ. ๔-๕ เรียน เราจะหวังให้เขาเข้าใจได้สักเท่าใด

ข้อเปรียบเทียบนี้อาจไม่ตรงกันทีเดียว เพราะคำสอนของนักปราชญ์เหล่านั้น เป็นเรื่องของนักคิด ส่วนคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องราวการประพฤติปฏิบัติในชีวิตจริง แต่ในแง่ระดับสติปัญญาของผู้ฟัง ก็น่าจะพอเทียบได้ไม่ไกลกันนัก

เมื่อเป็นอย่างที่ว่ามานั้น ถ้ายังเรียนพุทธประวัติกันในลักษณะนี้ ก็จะต้องตระหนักถึงความยาก ทั้งแก่ผู้สอน และแก่ผู้เรียน พร้อมทั้งชี้แจงให้นักเรียนเข้าใจถึงสาเหตุแห่งความยากนั้น กับทั้งควรหาโอกาสนำเอาเรื่องราวและคำสอนในระดับสามัญที่ง่ายๆ มาสอนแทรกตามสมควร

๒. ในการสอน ด้านประวัติ ควรเล่าโยงไปถึงภูมิหลังของสังคมแห่งชมพูทวีป ตั้งแต่ก่อนที่พระพุทธศาสนาอุบัติขึ้น ให้เห็นว่าคนยุคนั้นมีความเชื่อถือและเป็นอยู่ตามหลักของศาสนาพราหมณ์ เช่น เรื่องพระพรหม เทพเจ้า ระบบวรรณะ การบูชายัญ เป็นต้น อย่างไร

จากนั้นก็ชี้ให้ชัดว่าพระพุทธศาสนาสอนต่างออกไป และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร โยงมาถึงอาทิตตปริยายสูตรนี้

ถ้าผู้เรียนมองเห็นแง่นี้ เรื่องราวก็จะน่าสนใจ นักเรียนก็จะเข้าใจชัด และการเรียนก็จะมีชีวิตชีวาขึ้น

ส่วนในด้านเนื้อหา หากอธิบายให้นักเรียนสามารถเข้าใจได้เต็มบริบูรณ์ตามความหมายของพระสูตร ก็เป็นการดี แต่ถ้าได้อธิบายประยุกต์ในแง่ที่นักเรียนจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ หรือเล่าให้นักเรียนได้ทราบคำสอนแนวเดียวกัน หรือเกี่ยวกับเรื่องเดียวกันนี้ ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนแก่คนอื่นๆ ซึ่งเป็นคำสอนขั้นเบื้องต้น และเหมาะสำหรับการดำรงชีวิตในขั้นต้นๆ ไว้ด้วย ก็จะบังเกิดเป็นคุณประโยชน์แก่ตัวของนักเรียนมากขึ้น และจะช่วยให้เกิดความเข้าใจดีขึ้นด้วย

๓. อย่างไรก็ตาม แม้คำสอนของพระพุทธเจ้าจะแตกต่างกันเป็นหลายระดับ แต่สาระสำคัญที่เป็นแกนกลาง ก็เป็นแนวเดียวกัน คือ การดำรงชีวิตอยู่ด้วยปัญญา หรือมีชีวิตอยู่อย่างผู้รู้จักชีวิต รู้เท่าทันกระแสโลก ไม่งมงายปล่อยตัวตกเป็นทาสของกิเลสและความทุกข์ แล้วถูกฉุดลากจูงไปตามกระแส แต่สามารถมีชีวิตจิตใจที่เป็นอิสระ

อย่างน้อยก็รู้จักที่จะกลับไปเป็นนายบังคับควบคุมกิเลสของตนไว้ในแนวทางที่พึงปรารถนาได้บ้าง โดยระลึกถึงพุทธภาษิตที่ว่า

“ปญฺาชีวึ ชีวิตมาหุ เสฏฺฐํ”

มีชีวิตเป็นอยู่ด้วยปัญญา ปราชญ์กล่าวว่า เป็นชีวิตที่ประเสริฐสุด.

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< นิเทศอาทิตตปริยายสูตร

เชิงอรรถ

  1. สํ.สฬ. ๑๘/๓๒/๒๕
  2. องฺ.สตฺตก. ๒๓/๔๔
  3. ตามหลักศาสนาพราหมณ์ว่า อัคนีเทพ มีลิ้น ๗ แฉก
  4. ขุ.ธ. ๒๕/๑๘/๒๙

No Comments

Comments are closed.