๑. ปรัชญาพื้นฐาน

1 ตุลาคม 2513
เป็นตอนที่ 2 จาก 9 ตอนของ

๑. ปรัชญาพื้นฐาน

ก่อนจะพูดถึงหลักการสอนและวิธีสอน สมควรกล่าวถึงปรัชญาที่เป็นพื้นฐานเสียก่อน เพราะหลักการสอนย่อมดำเนินไปจากจุดเริ่ม ตามแนวทาง และสู่จุดหมายตามที่ปรัชญากำหนดให้

อย่างไรก็ดี เมื่อมองในแง่ปรัชญาการศึกษา พุทธธรรมก็เป็นเรื่องกว้างขวางมากอีก เพราะพุทธธรรมทั้งหมด เป็นเรื่องของระบบการศึกษาระบบหนึ่งนั่นเอง ในที่นี้ จึงขอนำมากล่าวเฉพาะที่เกี่ยวกับการสอนแต่สั้นๆ

ตามหลักพระพุทธศาสนาถือว่า ในการดำรงชีวิตของมนุษย์นั้น ความขัดข้องปรวนแปร ความเดือดร้อนลำบาก ความเจ็บปวด ความสูญเสีย ความพลัดพราก และปัญหาชีวิตต่างๆ ซึ่งทางพุทธศาสนาเรียกรวมว่าความทุกข์นั้น เป็นสิ่งที่มีอยู่ มนุษย์จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องและได้ประสบแน่นอน ไม่ว่ามนุษย์จะต้องการหรือไม่ต้องการ จะยอมรับว่ามันมีอยู่หรือไม่ยอมรับ หรือแม้จะเบือนหน้าหนีอย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นเช่นนี้ หากมนุษย์ต้องการมีชีวิตอยู่อย่างดีที่สุด มนุษย์จะต้องยอมรับความจริงอันนี้ จะรับรู้สู้หน้า และพร้อมที่จะจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ดีที่สุด

ชีวิตที่เป็นอยู่อย่างดีและมีความสุขที่สุด คือ ชีวิตที่กล้ารับรู้ต่อปัญหาทุกอย่าง ตั้งทัศนคติที่ถูกต้องต่อปัญหาเหล่านั้น และจัดการแก้ไขด้วยวิธีที่ถูกต้อง การหลีกเลี่ยงที่จะรับรู้ก็ดี การนึกวาดภาพให้เป็นอย่างที่ตนชอบก็ดี เป็นการปิดตาหรือหลอกตนเอง ไม่ช่วยให้พ้นจากความทุกข์ ไม่เป็นการแก้ปัญหา และให้ได้พบความสุขอย่างแท้จริง อย่างน้อยก็เป็นการฝังเอาความกลัว ซึ่งเป็นเชื้อแห่งความทุกข์เข้าไว้ในจิตใจอย่างลึกซึ้ง

ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่พระพุทธศาสนาสอนเป็นข้อแรก ก็คือ ความทุกข์ อันเป็นปัญหาที่มนุษย์พึงรับรู้และจัดการแก้ไขโดยถูกต้อง และถือว่าภารกิจของพระพุทธศาสนาและระบบการศึกษาของพระพุทธศาสนา ก็คือ การช่วยมนุษย์ให้แก้ปัญหาของตนได้

ความทุกข์ ความเดือดร้อน และปัญหาชีวิตนานาประการของมนุษย์นั้น เกิดจากตัณหา คือ ความอยาก ความต้องการ ความเห็นแก่ตัว ซึ่งทำให้มนุษย์มีทัศนคติต่อสิ่งต่างๆ เคลื่อนคลาดจากที่มันเป็นจริง และเป็นไปในรูปต่างๆ กันตามระดับความอยากและความยึดของตนต่อสิ่งนั้นๆ

เมื่อมีทัศนคติที่เคลื่อนคลาดไป ก็ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในตนเอง และความขัดแย้งระหว่างตนกับผู้อื่น แล้วปฏิบัติหรือจัดการกับสิ่งนั้นๆ ด้วยอำนาจความอยากและความยึดของตน คือ ไม่จัดการตามที่มันควรจะเป็นโดยเหตุผลแท้ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ย่อมเป็นการสร้างปัญหาให้เกิดขึ้น เกิดความขัดข้องขัดแย้ง และความทุกข์ ทั้งแก่ตนและผู้อื่น ตามระดับของตัณหา และขอบเขตของเรื่องที่ปฏิบัติ

ตัณหานั้น เกิดจากความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น มีทัศนคติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งเรียกว่า อวิชชา จึงเป็นเหตุให้ไม่จัดการกับสิ่งนั้นๆ ตามที่มันควรจะเป็นโดยเหตุผลบริสุทธิ์ การที่จะแก้ปัญหาหรือแก้ความทุกข์ จึงต้องกำจัดอวิชชา สร้างวิชชาให้เกิดขึ้น

โดยนัยนี้ ภารกิจสำคัญของการศึกษาก็คือ การฝึกอบรมบุคคลให้พัฒนาปัญญา ให้เกิดความรู้ความเข้าใจในข้อเท็จจริงและสภาวะของสิ่งทั้งหลาย มีทัศนคติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง ปฏิบัติและจัดการกับสิ่งทั้งหลายตามที่ควรจะเป็น เพื่อให้เกิดเป็นประโยชน์ตน คือ ความมีชีวิตอยู่อย่างสำเร็จผลดีที่สุด มีจิตใจเป็นอิสระ มีสุขภาพจิตสมบูรณ์ และประโยชน์ผู้อื่น คือ สามารถช่วยสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ชนทั้งหลายที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคมได้

จากข้อความที่กล่าวมา มีข้อที่ควรกำหนด คือ:-

  1. ภารกิจสำคัญของการศึกษา ได้แก่ การช่วยให้บุคคลเกิดทัศนคติที่ถูกต้อง คือ รู้จักมองสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น และสามารถจัดการกับสิ่งเหล่านั้นตามที่ควรจะเป็น ให้เกิดเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและสังคม ไม่ให้มองเห็นและจัดการสิ่งทั้งหลายตามอำนาจกิเลสตัณหา
  2. ทัศนคติที่ถูกต้อง และความสามารถจัดการดังกล่าวนั้น เกิดขึ้นได้ด้วยการพัฒนาปัญญา และปัญญาเป็นความรู้ความเข้าใจที่เกิดขึ้นในตัวบุคคลนั้นเองเท่านั้น ผู้อื่นจะนำมายัดเยียดให้หรือบังคับให้รับเข้าไว้ไม่ได้
  3. ในเมื่อปัญญาต้องเกิดจากความรู้ความเข้าใจที่พัฒนาขึ้นในตัวบุคคลเอง ภารกิจของผู้สอนและให้การศึกษาทั้งหลาย จึงเป็นเพียงผู้ชี้นำทางหรืออำนวยโอกาส ช่วยให้ผู้เรียนหรือผู้รับการศึกษาอบรม ดำเนินเข้าสู่ปัญญา สิ่งที่ดีที่สุดที่ผู้สอนที่ดีจะทำได้ก็คือ ตั้งใจช่วยเหลือ พยายามสรรหาอุบาย กลวิธี และอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะมาช่วยผู้เรียนให้เข้าถึงปัญญาอย่างได้ผลดีที่สุด อย่างที่สำนวนบาลีเรียกว่า เป็นกัลยาณมิตร
  4. โดยเหตุผลเดียวกัน ในระบบการศึกษาเช่นนี้ ผู้เรียนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นผู้สร้างปัญญาให้เกิดแก่ตน จึงต้องเป็นผู้มีส่วนร่วมและเป็นผู้ได้ลงมือกระทำให้มากที่สุดเท่าที่จะช่วยให้ตัวเขาเกิดปัญญานั้นขึ้นได้ และโดยนัยนี้ ความสามารถ ความถนัด อุปนิสัยต่างๆ ของผู้เรียน จึงเป็นสิ่งที่ผู้สอนจะต้องคำนึงอย่างสำคัญ เพื่อจัดสภาพการเรียนและกลวิธีสอนต่างๆ เป็นต้น ให้ผู้เรียนเรียนอย่างได้ผลดีที่สุด
  5. ในเมื่อปัญญาเป็นของยัดเยียดบังคับให้รับเอาไม่ได้ การเรียนการสอนจึงต้องใช้วิธีการแห่งปัญญา คือ ผู้เรียนต้องเป็นอิสระในการใช้ความคิด และในการที่จะซักถามโต้ตอบสืบเสาะค้นหาความจริงต่างๆ ให้ได้รับความรู้ความเข้าใจขึ้นในตน

ในระบบการศึกษาแบบนี้ จึงมีการปฏิบัติอย่าง กาลามสูตร ไม่มีการบังคับให้เชื่อ ความเชื่อหรือศรัทธาในระบบการศึกษานี้ หมายเพียงความเชื่อมั่นในหลักการ วิธีการและสมมติฐานต่างๆ ที่ตนได้ตั้งขึ้น โดยมีเหตุผลเป็นฐานรองรับอย่างเพียงพอแล้วว่าจะนำให้ดำเนินไปสู่จุดหมายได้อย่างแท้จริง และเป็นสิ่งที่จะพิสูจน์ได้ต่อไปตามลำดับในระหว่างดำเนินไปสู่เป้าหมายนั้น

วางเป็นข้อสรุปที่เกี่ยวกับการสอน ดังนี้:-

  1. ปัญญาเป็นสิ่งสร้างสรรค์ขึ้นภายในตัวผู้เรียนเอง
  2. ผู้สอนทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร ช่วยชี้นำทางการเรียน
  3. วิธีสอน อุบาย และกลวิธีต่างๆ เป็นสื่อหรือเป็นเครื่องผ่อนแรงการเรียนการสอน
  4. อิสรภาพในทางความคิด เป็นอุปกรณ์สำคัญในการสร้างปัญญา

อนึ่ง โดยที่ปัญญาเป็นส่วนสำคัญยิ่งในระบบการศึกษานี้เช่นที่กล่าวมาแล้ว จึงสมควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องปัญญา ที่มักแปลกันว่า ความรู้ ไว้เพื่อกันความสับสนสักเล็กน้อย

ความรู้ในที่นี้ ควรแยกเป็น ๒ ประเภท คือ:-

  1. สุตะ คือ ความรู้จากการสดับตรับฟัง หรือเล่าเรียน อ่าน รับถ่ายทอดจากแหล่งความรู้ต่างๆ การสั่งสมความรู้ประเภทนี้ไว้ได้มาก เป็นฐานของ พาหุสัจจะ ที่แปลว่า ความเป็นพหูสูต คือ ความเป็นผู้คงแก่เรียน หรือได้เรียนรู้มาก

สุตะ เป็นความรู้ประเภทประมวลหรือรวบรวมสิ่งอันจะพึงรู้ เป็นข้อมูล เป็นข้อรู้ ทำตนให้เป็นคลังเก็บความรู้ ซึ่งถือว่าเป็นคุณสมบัติที่ดีของบุคคลอย่างหนึ่ง เป็นอุปกรณ์สำหรับนำไปใช้ทำประโยชน์ต่างๆ ได้มาก แต่ไม่ถือเป็นองค์ธรรมแกนในระบบการศึกษา

๒. ปัญญา คือ ความรู้ประเภทเข้าใจสภาวะ รู้คิด รู้เลือกคัด วินิจฉัย และรู้ที่จะจัดการ เป็นความรู้ประเภทที่มุ่งหมายและเป็นส่วนสำคัญในระบบการศึกษานี้ ปัญญานี้มีไวพจน์มากมาย เช่น ญาณ วิชชา ปริญญา ปฏิสัมภิทา วิปัสสนา สัมมาทิฏฐิ เป็นต้น ซึ่งแสดงถึงความหมายในแง่ต่างๆ และขั้นต่างๆ ของปัญญานั่นเอง

สิ่งที่ควรทำความเข้าใจอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ลักษณะงานสอน ซึ่งแตกต่างกันตามประเภทวิชา อาจแยกได้เป็น ๒ ประเภท คือ วิชาประเภทชี้แจงข้อเท็จจริง เช่น ภูมิศาสตร์ และประวัติศาสตร์ เป็นต้น การสอนวิชาประเภทนี้ หลักสำคัญอยู่ที่ทำให้เกิดความเข้าใจในข้อเท็จจริง การสอนจึงมุ่งเพียงหาวิธีการให้ผู้เรียนเข้าใจตามที่สอนให้เกิดพาหุสัจจะเป็นใหญ่

ส่วนวิชาอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวด้วยคุณค่าในทางความประพฤติปฏิบัติ โดยเฉพาะวิชาศีลธรรม และจริยธรรมทั่วไป การสอนที่จะได้ผลดี นอกจากให้เกิดความเข้าใจแล้ว จะต้องให้เกิดความรู้สึกมองเห็นคุณค่าและความสำคัญ จนมีความเลื่อมใสศรัทธาที่จะนำไปประพฤติปฏิบัติด้วย

สำหรับวิชาประเภทนี้ ผลสำเร็จอย่างหลังเป็นสิ่งสำคัญมาก และมักทำได้ยากกว่าผลสำเร็จอย่างแรก เพราะต้องการคุณสมบัติขององค์ประกอบในการสอนทุกส่วน นับแต่คุณสมบัติส่วนตัวของผู้สอนไปทีเดียว

ยิ่งในงานประดิษฐานพระศาสนาที่จะให้คนจำนวนมากยอมรับด้วยวิธีการแห่งปัญญาด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก

ฉะนั้น การพิจารณาหลักการสอนของพระพุทธเจ้า จึงจะเริ่มแต่คุณสมบัติของผู้สอนไปทีเดียว.

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< พุทธวิธีในการสอน๒. คุณสมบัติของผู้สอน >>

No Comments

Comments are closed.