๒. คุณสมบัติของผู้สอน

1 ตุลาคม 2513
เป็นตอนที่ 3 จาก 9 ตอนของ

๒. คุณสมบัติของผู้สอน

ในที่นี้จะแสดงตามแนวพุทธคุณ และเห็นควรแยกเป็น ๒ ส่วน คือ เป็นคุณสมบัติที่ปรากฏออกมาภายนอก อันได้แก่บุคลิกภาพอย่างหนึ่ง และคุณสมบัติภายใน อันได้แก่คุณธรรมต่างๆ อย่างหนึ่ง

ก. บุคลิกภาพ

ในด้านบุคลิกภาพ จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าทรงมีพระลักษณะทั้งทางด้านความสง่างามแห่งพระวรกาย พระสุรเสียงที่โน้มนำจิตใจ และพระบุคลิกลักษณะอันควรแก่ศรัทธาปสาทะทุกประการ ดังจะเห็นจากตัวอย่างที่ทราบกันทั่วไป และที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ต่างๆ เช่น

๑. ทรงมีพระมหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการ และอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ มีพระวรกายสง่างามอย่างที่มีผู้ชมว่า

“พระสมณโคดม มีพระรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีพระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก วรรณะและพระสรีระดุจดังพรหม น่าดูน่าชมนักหนา”1

๒. ทรงมีพระสุรเสียงไพเราะ และตรัสพระวาจาสุภาพสละสลวย อย่างคำชมของจังกีพราหมณ์ที่ว่า

“พระสมณโคดม มีพระวาจาไพเราะ รู้จักตรัสถ้อยคำได้งดงาม มีพระวาจาสุภาพ สละสลวย ไม่มีโทษ ยังผู้ฟังให้เข้าใจเนื้อความได้ชัดแจ้ง”2

และคำของอุตรมาณพที่ว่า

“พระสุรเสียงที่เปล่งก้องจากพระโอษฐ์นั้นประกอบด้วยคุณลักษณะ ๘ ประการ คือ แจ่มใส ๑ ชัดเจน ๑ นุ่มนวล ๑ ชวนฟัง ๑ กลมกล่อม ๑ ไม่พร่า ๑ ซึ้ง ๑ กังวาน ๑”3

หรือตามมหาบุรุษลักษณะข้อที่ ๒๙ ว่า

“มีพระสุรเสียงดุจพรหม ตรัสมีสำเนียงใสไพเราะดุจนกการเวก”4

๓. ทรงมีพระอากัปกิริยามารยาททุกอย่างที่งดงามน่าเลื่อมใส เริ่มแต่สมบัติผู้ดี และมารยาทอันเป็นที่ยอมรับของสังคม ตลอดจนพระบุคลิกลักษณะที่เป็นเสน่ห์ทุกประการ พร้อมไปด้วยความองอาจ ความสง่างาม ความสงบเยือกเย็น การแสดงธรรมของพระองค์ นอกจากแจ่มแจ้งด้วยสัจธรรมแล้ว ยังก่อให้เกิดความรู้สึกเพลิดเพลินสุขใจ ชวนให้อยากฟังอยากใกล้ชิดพระองค์อยู่ไม่วาย อย่างคำชมของบุคคลต่างๆ เช่น:-

“นี่ ท่านปิงคิยานี มองเห็นสารประโยชน์อันใด จึงเลื่อมใสในพระสมณโคดมถึงเพียงนี้”

“ท่านผู้เจริญ เปรียบเหมือนบุรุษผู้อิ่มในรสอันเลิศแล้ว ย่อมไม่ปรารถนารสอื่นๆ ที่เลว ฉันใด บุคคลฟังธรรมของพระสมณโคดมพระองค์นั้น โดยลักษณะใดๆ จะโดยสุตตะ โดยเคยยะ โดยไวยากรณ์ หรือโดยอัพภูตธรรมก็ดี ย่อมไม่ปรารถนาวาทะของสมณะเป็นอันมากเหล่าอื่น โดยลักษณะนั้นๆ เลย ฉันนั้น

เปรียบเหมือนบุรุษผู้หิวและอ่อนเพลีย มาได้รวงผึ้ง ก็พึงลิ้มรส ย่อมได้รสแท้แสนชุ่มชื่น ฉันใด บุคคลฟังธรรมของท่านพระโคดมพระองค์นั้น…ย่อมได้รับความดีใจ ปลาบปลื้มใจ ฉันนั้น

เปรียบเหมือนบุรุษ ได้ไม้จันทน์ เป็นจันทน์เหลือง หรือจันทน์แดง จะสูดกลิ่นตรงที่ใด จะเป็นราก ลำต้น หรือที่ยอด ก็ย่อมได้กลิ่นหอมสนิทเป็นกลิ่นแท้ ฉันใด บุคคลฟังธรรมของท่านพระโคดมพระองค์นั้น…ก็ย่อมได้ปราโมทย์ ได้ความโสมนัส ฉันนั้น

เปรียบเหมือนบุรุษอาพาธ เจ็บปวด เป็นไข้หนัก นายแพทย์ผู้ฉลาดพึงบำบัดอาพาธเขาได้ฉับไว ฉันใด บุคคลฟังธรรมของท่านพระโคดมพระองค์นั้นแล้ว…ความโศกเศร้า ปริเทวนาการ ความทุกข์โทมนัส และความคับแค้นใจของเขา ย่อมหมดไป ฉันนั้น

เปรียบเหมือน สระใหญ่มีน้ำใส เย็น จืดสนิท น่าเจริญใจ มีท่าราบเรียบน่ารื่นรมย์ บุรุษผู้ร้อนด้วยแสงแดด ถูกแดดแผดเผา เหน็ดเหนื่อย หิวกระหาย เดินมาถึง เขาลงไปอาบ ดื่ม ในสระน้ำนั้น พึงระงับความกระวนกระวาย ความเหน็ดเหนื่อย และความเร่าร้อนทั้งปวงได้ ฉันใด บุคคลฟังธรรมของท่านพระโคดมพระองค์นั้นแล้ว…ความกระวนกระวาย ความเหน็ดเหนื่อย และความเร่าร้อนของเขา ก็ย่อมระงับไปได้หมดสิ้น ฉันนั้น”5

“ชนทั้งหลาย ที่ท่านพระโคดมทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว เมื่อลุกไปจากที่นั่ง ก็ยังเหลียวหลังกลับมามอง ด้วยไม่อยากจะละจากไป”6

ข. คุณธรรม

พระพุทธคุณในแง่คุณธรรมมีมาก ไม่อาจแสดงได้ครบทุกนัย จึงขอเลือกแสดงตามแนวพระคุณ ๓ คือ:-

๑. พระปัญญาคุณ พระปัญญาคุณที่เกี่ยวกับงานสอน ขอยกมาแสดง ๒ อย่าง คือ ทศพลญาณ และปฏิสัมภิทา

๑) ทศพลญาณ คือ พระญาณอันเป็นกำลังของพระตถาคตที่ทำให้พระองค์สามารถบันลือสีหนาท ประกาศพระศาสนาได้มั่นคง

ในที่นี้ จะแสดงความหมายที่เป็นพุทธคุณแท้ กับความหมายที่ผู้สอนทั่วไปพึงนำมาใช้ได้ดังนี้

ทศพลญาณ7 ความหมายส่วนที่ผู้สอนทั่วไปพอจะปฏิบัติได้
๑. ฐานาฐานญาณ ปรีชาหยั่งรู้ฐานะและอฐานะ คือ รู้กฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับขอบเขต และขีดขั้นของสิ่งทั้งหลายว่าอะไรเป็นไปได้ อะไรเป็นไปไม่ได้ และแค่ไหนเพียงไร โดยเฉพาะในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล และกฎเกณฑ์ทางจริยธรรมเกี่ยวกับสมรรถวิสัยของบุคคลซึ่งจะได้รับผลกรรมที่ดีและชั่วต่างๆ กัน ๑. มีความรู้เข้าใจในเนื้อหา และขอบเขตของกฎเกณฑ์ และหลักการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและที่จะนำมาใช้ในการสอนอย่างชัดเจน ตลอดจนรู้ความสามารถของบุคคลที่มีพัฒนาการอยู่ในระดับต่างๆ
๒. กรรมวิปากญาณ ปรีชาหยั่งรู้ผลของกรรม สามารถกำหนดแยกการให้ผลอย่างสลับซับซ้อนระหว่างกรรมดีกับกรรมชั่วที่สัมพันธ์กับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ มองเห็นรายละเอียดและความสัมพันธ์ภายในกระบวนการก่อผลของกรรมอย่างชัดเจน ๒. มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์เป็นอย่างดี
๓. สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ ปรีชาหยั่งรู้ข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่คติทั้งปวง (คือสู่สุคติทุคติ หรือพ้นจากคติ) หรือปรีชาหยั่งรู้ข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่อรรถประโยชน์ทั้งปวง (จะเป็นทิฏฐธัมมิกัตถะ หรือสัมปรายิกัตถะ หรือปรมัตถะ ก็ตาม) รู้ว่าเมื่อต้องการเข้าสู่จุดหมายใด จะต้องทำอะไรๆ มีรายละเอียดวิธีปฏิบัติอย่างไร ๓. รู้วิธีการและกลวิธีปฏิบัติต่างๆ ที่จะนำเข้าสู่เป้าหมายที่ต้องการ
๔. นานาธาตุญาณ ปรีชาหยั่งรู้สภาวะของโลกอันประกอบด้วยธาตุต่างๆ เป็นเอนก รู้สภาวะของธรรมชาติทั้งฝ่ายอุปาทินนกสังขาร และอนุปาทินนกสังขาร เช่นในเรื่องชีวิต ก็ทราบองค์ประกอบต่างๆ สภาวะขององค์ประกอบเหล่านั้น พร้อมทั้งหน้าที่ของมัน เช่น การปฏิบัติหน้าที่ของขันธ์ อายตนะและธาตุต่างๆ ในกระบวนการรับรู้ เป็นต้น และรู้เหตุแห่งความแตกต่างกันของสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ๔. มีความรู้ในวิชาสรีรวิทยา และจิตวิทยา อย่างน้อยทราบองค์ประกอบต่างๆ และการปฏิบัติหน้าที่ขององค์ประกอบเหล่านั้นในกระบวนการเรียนรู้ของบุคคล และถ้าเป็นไปได้ควรมีความรู้ทั่วไปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในทางวิทยาศาสตร์ เพื่อรู้จักสภาวะของสิ่งทั้งหลาย และมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อสิ่งเหล่านั้น อันจะเป็นเครื่องเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการสอนให้ได้ผลดียิ่งขึ้น.
๕. นานาธิมุตติกญาณ ปรีชาหยั่งรู้อธิมุติ (คือรู้อัธยาศัย ความโน้มเอียง แนวความสนใจ ฯลฯ) ของสัตว์ทั้งหลาย ที่เป็นไปต่างๆ กัน ๕. รู้ความแตกต่างระหว่างบุคคล ในด้านความโน้มเอียง แนวความสนใจ และความถนัดโดยธรรมชาติ
๖. อินทริยปโรปริยัตตญาณ ปรีชาหยั่งรู้ความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย รู้ว่า สัตว์นั้นๆ มีแนวความคิด ความรู้ ความเข้าใจ แค่ไหนเพียงใด มีกิเลสมาก กิเลสน้อย มีอินทรีย์อ่อนหรือแก่กล้า สอนง่ายหรือสอนยาก มีความพร้อมที่จะเข้าสู่การตรัสรู้หรือไม่ ๖. รู้ความแตกต่างระหว่างบุคคลในด้านระดับสติปัญญา ความสามารถ พัฒนาการด้านต่างๆ และความพร้อมที่จะเรียนรู้
๗. ฌานาทิสังกิเลสาทิญาณ ปรีชาหยั่งรู้เหตุที่จะทำให้ฌานวิโมกข์ และสมาบัติเสื่อม หรือเจริญ คล่องแคล่วจัดเจน หรือก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป ๗. รู้ปัจจัยต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค ถ่วง หรือส่งเสริมเพิ่มพูนผลสำเร็จของการเรียนรู้และการฝึกอบรมในระดับต่างๆ กับรู้จักใช้เทคนิคต่างๆ เข้าแก้ไข หรือส่งเสริม นำการเรียนรู้ และการฝึกอบรมให้ดำเนินก้าวหน้าไปด้วยดี
๘. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ปรีชาหยั่งรู้ระลึกชาติภพในหนหลังได้ ๘. รู้ประวัติพื้นเพเดิม และประสบการณ์ในอดีตของผู้เรียน
๙. จุตูปปาตญาณ ปรีชาหยั่งรู้จุติ และอุบัติของสัตว์ทั้งหลายอันเป็นไปตามกรรม ๙. รู้จักสังเกตดูผู้เรียน ในขณะที่เขามีบทบาทอยู่ในชีวิตจริง ภายในกลุ่มชน ในสังคม รู้เท่าทัน และเข้าใจพฤติกรรมต่างๆ ที่เขาแสดงออกในขณะนั้นๆ ว่าเป็นผู้มีปัญหาหรือไม่ อย่างไร มองเห็นสาเหตุแห่งปัญหานั้น และพร้อมที่จะเข้าช่วยเหลือแก้ไขได้ทันที.
๑๐. อาสวักขยญาณ ปรีชาหยั่งรู้ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ๑๐. รู้ชัดเข้าใจแจ่มแจ้ง และแน่ใจว่า ผลสัมฤทธิ์ที่เป็นจุดหมายนั้น คืออะไร เป็นอย่างไร และตนเองสามารถกระทำผลสัมฤทธิ์นั้นให้เกิดขึ้นได้จริงด้วย

 

๒) ปฏิสัมภิทา คือ ปัญญาแตกฉานในด้านต่างๆ ซึ่งมีทั่วไปแก่พระมหาสาวกทั้งหลายด้วย ดังนี้

  1. อรรถปฏิสัมภิทา ความเข้าใจแจ่มแจ้งในความหมายของถ้อยคำ ข้อความหรือข้อธรรมต่างๆ สามารถขยายความแยกแยะออกไปได้โดยพิสดาร แม้นได้เห็นเหตุใดๆ ก็สามารถคิดเชื่อมโยงแยกแยะกระจายความคิดออกไปล่วงรู้ถึงผลต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ แปลสั้นๆ ว่า ปัญญาแตกฉานในอรรถ
  2. ธรรมปฏิสัมภิทา ความเข้าใจแจ่มแจ้งในหลักหรือข้อธรรมต่างๆ สามารถจับใจความของคำอธิบายที่กว้างขวางพิสดาร มาตั้งเป็นกระทู้หรือหัวข้อได้ เมื่อมองเห็นผลต่างๆ ที่ปรากฏ ก็สามารถสืบสาวกลับไปหาเหตุได้ แปลสั้นๆ ว่า ปัญญาแตกฉานในธรรม
  3. นิรุตติปฏิสัมภิทา ความรู้แตกฉานในภาษา รู้ภาษาต่างๆ และรู้จักใช้ถ้อยคำชี้แจงแสดงอรรถและธรรมให้คนอื่นเข้าใจ และเห็นตามได้ แปลสั้นๆ ว่า ปัญญาแตกฉานในนิรุกติ
  4. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ความมีไหวพริบ สามารถเข้าใจ คิดเหตุผลได้เหมาะสมทันการ และมีความรู้ความเข้าใจชัดในความรู้ต่างๆ ว่ามีแหล่งที่มา มีประโยชน์อย่างไร สามารถเชื่อมโยงความรู้ทั้งหลายเข้าด้วยกัน สร้างความคิดและเหตุผลขึ้นใหม่ได้ แปลสั้นๆ ว่า ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ

พระวิสุทธิคุณ

๒. พระวิสุทธิคุณ ความบริสุทธิ์เป็นพระคุณสำคัญยิ่งเช่นกันที่จะทำให้ประชาชนเชื่อถือและเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ความบริสุทธิ์นี้อาจมองได้จากลักษณะต่างๆ ดังนี้:-

ก. พระองค์เองเป็นผู้บริสุทธิ์หลุดพ้นจากอาสวกิเลสทั้งปวง ไม่กระทำความชั่วทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ไม่มีเหตุที่ใครจะยกขึ้นตำหนิได้

ข. ทรงทำได้อย่างที่สอน คือ สอนเขาอย่างไร พระองค์เองก็ทรงประพฤติปฏิบัติอย่างนั้นด้วย อย่างพุทธพจน์ที่ว่า ตถาคตพูดอย่างใดทำอย่างนั้น จึงเป็นตัวอย่างที่ดี และให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในคุณค่าของคำสอนได้

ค. ทรงมีความบริสุทธิ์พระทัยในการสอน ทรงสอนผู้อื่นด้วยมุ่งหวังประโยชน์แก่เขาอย่างเดียว ไม่มีพระทัยเคลือบแฝงด้วยความหวังผลประโยชน์ส่วนตน หรืออามิสตอบแทนใดๆ

พระวิสุทธิคุณเหล่านี้ จะเห็นได้จากคำสรรเสริญของบุคคลต่างๆ ในสมัยพุทธกาล เช่น:-

“ดูกรนาคิตะ ขออย่าให้เราต้องข้องเกี่ยวกับยศเลย และขออย่าให้ยศมาข้องเกี่ยวกับเราด้วย บุคคลผู้ใดไม่ได้โดยง่ายซึ่งความสุขอันเกิดจากเนกขัมมะ ความสุขอันเกิดจากวิเวก ความสุขอันเกิดจากความสงบ ความสุขอันเกิดจากความตรัสรู้ เหมือนอย่างที่เราได้ บุคคลผู้นั้นจึงจะยินดีความสุขแบบอาจม ความสุขที่เกิดจากการหลับ และความสุขที่เกิดจากลาภ สักการะ สรรเสริญ”8

จากคำกล่าวของพระสารีบุตรว่า:-

“ท่านทั้งหลาย พระตถาคตมีกายสมาจาร วจีสมาจาร มโนสมาจารบริสุทธิ์ พระตถาคตมิได้มีความประพฤติชั่วทางกาย ทางวาจา ทางใจ ที่พระองค์จะต้องปกปิดรักษาไว้ โดยตั้งพระทัยว่า ขอคนอื่นๆ อย่าได้รู้ถึงความประพฤติชั่วทางกาย ทางวาจา ทางใจของเราเลย”9

“ดูกรโมคคัลลานะ เราเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ จึงปฏิญาณได้ว่าเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ศีลของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง บรรดาสาวกไม่ต้องคอยรักษาเราโดยศีล และเราก็ไม่ต้องคิดหวังให้สาวกช่วยรักษาเราโดยศีล เรามีอาชีวะบริสุทธิ์ มีธรรมเทศนาบริสุทธิ์ มีไวยากรณ์บริสุทธิ์ มีญาณทัศนะบริสุทธิ์…ไม่ต้องคิดหวังให้สาวกช่วยรักษา (คือช่วยระมัดระวังปกปิดความเสียหายในเรื่องเหล่านั้น)”10

ภิกษุทั้งหลายเคยแสดงความรู้สึกของตนต่อพระผู้มีพระภาคในเรื่องการทรงสั่งสอนธรรมว่า:-

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ไม่มีความดำริในพระผู้มีพระภาคเลยว่า พระสมณโคดมทรงแสดงธรรมเพราะเหตุ(ปรารถนา)จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ หรือเพราะเหตุหวังสุขในการได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้”

“พวกข้าพระองค์มีความดำริในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคผู้ทรงอนุเคราะห์ ทรงปรารถนาประโยชน์เกื้อกูล อาศัยความกรุณา จึงทรงแสดงธรรม”

พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เพราะการที่เธอทั้งหลายมีความดำริต่อเราอย่างนี้ ฉะนั้น ธรรมเหล่าใดที่เราแสดงแล้วแก่เธอทั้งหลาย เพื่อความรู้ยิ่ง…เธอทั้งปวงพึงพร้อมเพรียงกัน บันเทิงใจ ไม่วิวาท ศึกษาอยู่ในธรรมเหล่านั้นเถิด”11

ในอุทุมพริกสูตร พระพุทธเจ้าตรัสว่า

“พระผู้มีพระภาคนั้น เป็นพุทธะ (คือตรัสรู้) เองแล้ว จึงทรงแสดงธรรมเพื่อความตรัสรู้, พระองค์เป็นผู้ฝึกเองแล้ว จึงทรงแสดงธรรมเพื่อความฝึก, พระองค์เป็นผู้สงบระงับแล้ว จึงทรงแสดงธรรมเพื่อความสงบ, พระองค์เป็นผู้ข้ามพ้นไปได้แล้ว จึงทรงแสดงธรรมเพื่อความข้ามพ้น, ทรงเป็นผู้ดับเย็นแล้ว จึงทรงแสดงธรรมเพื่อความดับเย็น”

“เรากล่าวดังนี้ว่า บุรุษผู้เป็นวิญญูชน ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา เป็นคนตรง จงมาเถิด เราจะสั่งสอน เราจะแสดงธรรม เขาปฏิบัติอย่างที่ได้รับคำสั่งสอนแล้ว จักกระทำให้สำเร็จซึ่งประโยชน์อันยอดเยี่ยม อันเป็นที่ปรารถนาของกุลบุตรผู้ออกบวช อันเป็นจุดหมายแห่งพรหมจรรย์ได้ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบันชาตินี้เอง โดยใช้เวลา ๗ ปี… ๖ ปี… ๕ ปี… ๔ ปี… ๓ ปี… ๒ ปี… ปีเดียว… ๗ เดือน…๖ เดือน… ๕ เดือน… -๔ -๓ – ๒ – ๑ เดือน… กึ่งเดือน… ๗ วัน เท่านั้น”

“บางทีท่านอาจคิดว่า พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้เพราะใคร่ได้ศิษย์ ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น อาจารย์ผู้ใดของท่านเป็นอย่างนี้ ขอให้ผู้นั้นแหละคงเป็นอาจารย์ของท่าน… เรากล่าวอย่างนี้ เพราะใคร่ได้ศิษย์ก็หาไม่ ต้องการให้ท่านถอนตัวจากอุเทศของตนก็หาไม่ ต้องการให้ท่านถอนตัวจากอาชีวะของท่านก็หาไม่ ต้องการให้ท่านเข้าไปติดอยู่ในธรรมที่จัดว่าเป็นอกุศลตามลัทธิฝ่ายอาจารย์ของตนก็หาไม่ ต้องการให้ท่านเคลื่อนคลาดไปจากธรรมที่จัดว่าเป็นกุศลตามลัทธิฝ่ายอาจารย์ของตนก็หาไม่

“หากแต่ว่า อกุศลธรรมที่ทำให้เกิดความเศร้าหมองที่สร้างชาติสร้างภพ มีแต่ความเร่าร้อนกระวนกระวาย ให้ผลเป็นทุกข์ ชักนำชาติชรามรณะมาให้เรื่อยไป ซึ่งท่านยังละไม่ได้นั้นมีอยู่ เราแสดงธรรมก็เพื่อให้กำจัดอกุศลเหล่านี้ได้ เมื่อท่านปฏิบัติตาม สิ่งที่เป็นเหตุก่อความเสื่อมเสียทั้งหลายก็จะถูกกำจัดหมดไป และสิ่งที่เสริมสร้างความถูกต้องผ่องแผ้วก็จะพัฒนายิ่งๆ ขึ้น ท่านก็จักได้รู้ยิ่งเห็นจริง ได้บรรลุความบริสุทธิ์แห่งปัญญา และความไพบูลย์ด้วยตนเอง ตั้งแต่ในปัจจุบันทีเดียว” 12

เมื่อครั้งท่านสีหะ เสนาบดีแห่งแคว้นเวสาลี ผู้เป็นศิษย์นิครนถนาฏบุตร มาเฝ้าทูลถามปัญหาพระพุทธเจ้า และบังเกิดความเลื่อมใส กล่าวคำปฏิญาณตนเป็นอุบาสก พระพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนว่า

“ท่านจงใคร่ครวญให้ดีเสียก่อน การใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำ เป็นความดีสำหรับคนผู้มีชื่อเสียงอย่างท่าน”

ครั้นท่านเสนาบดียืนยันว่า เขาเลื่อมใส ขอเป็นอุบาสกแน่นอนแล้ว พระองค์ได้ตรัสอีกว่า

“ท่านสีหะ ตระกูลของท่านเป็นเสมือนบ่อน้ำของนิครนถ์ทั้งหลายมาช้านาน (ต่อไปนี้) เมื่อนิครนถ์มาหา ท่านก็พึงใส่ใจในเรื่องที่จะถวายบิณฑบาตด้วย”13

เหตุการณ์คล้ายคลึงกันนี้ ได้เกิดแก่อุบาลีคฤหบดีผู้เป็นศิษย์นิครนถนาฏบุตรเช่นเดียวกัน 14

อีกแห่งหนึ่งว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าบุคคลเหล่าอื่นจะด่าบริภาษ โกรธ เบียดเบียน กระทบกระเทียบตถาคตในการประกาศจตุราริยสัจนั้น ตถาคตก็ไม่มีความอาฆาต ไม่มีความโทมนัส ไม่มีจิตยินร้าย; ถ้าว่าชนเหล่าอื่นจะสักการะ เคารพ นับถือ บูชาตถาคตในการประกาศจตุราริยสัจนั้น ตถาคตก็ไม่ดีใจ ไม่เกิดโสมนัส ไม่มีใจเย่อหยิ่งในสักการะเป็นต้นเหล่านั้น”15

นอกจากทรงพระคุณนี้เองแล้ว ยังทรงสอนภิกษุสาวกไว้ด้วยว่า

“ภิกษุทั้งหลาย…. ธรรมเทศนาของภิกษุเช่นไร ไม่บริสุทธิ์ ธรรมเทศนาของภิกษุเช่นไร บริสุทธิ์?

“ภิกษุรูปใดมีความคิดว่า ‘ขอให้ชนทั้งหลายฟังธรรมของเรา ครั้นฟังแล้ว พึงเลื่อมใสธรรม ขอให้คนทั้งหลายที่เลื่อมใสแล้ว แสดงอาการของผู้เลื่อมใสแก่เรา’ ธรรมเทศนาของภิกษุเช่นนี้ ไม่บริสุทธิ์;

“ส่วนภิกษุรูปใด มีความคิดว่า ‘พระธรรมนี้เป็นของตรัสไว้ดีแล้ว เป็นสันทิฏฐิกะ เป็นอกาลิกะ เป็นโอปนยิกะ วิญญูชนพึงรู้ประจักษ์จำเพาะตน ขอให้ชนทั้งหลายฟังธรรมของเรา ครั้นฟังแล้ว ขอให้เขาเข้าใจธรรม ครั้นเข้าใจชัดแล้ว ขอให้ปฏิบัติให้ได้อย่างนั้น’ ดังนี้ แล้วแสดงธรรมแก่คนอื่น โดยเหตุที่ธรรมนั้นเป็นของดีของถูกต้อง โดยเหตุที่มีความการุณย์ โดยเหตุที่มีความเอื้อเอ็นดู แสดงด้วยอาศัยความอนุเคราะห์ ธรรมเทศนาของภิกษุทั้งหลายเช่นนี้ ชื่อว่าบริสุทธิ์”16

๓. พระกรุณาคุณ อาศัยพระมหากรุณาธิคุณ พระพุทธเจ้าจึงได้เสด็จออกประกาศพระศาสนา โปรดสรรพสัตว์ ทำให้พระคุณ ๒ อย่างแรก คือ พระปัญญาคุณ และพระวิสุทธิคุณ เป็นที่ปรากฏ และเป็นประโยชน์แก่ชาวโลกอย่างแท้จริง เสด็จไปช่วยเหลือแนะนำสั่งสอนมนุษย์ทั้งที่เป็นกลุ่มชนและที่เป็นรายบุคคล โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากลำบากของพระองค์เอง พระมหากรุณาธิคุณเหล่านี้ พึงเห็นตามคำสรรเสริญและคุณธรรมอื่นๆ ที่แสดงออก เช่น:-

“(พระสมณโคดม) ไม่ทรงดำริเพื่อเบียดเบียนพระองค์เอง ไม่ทรงดำริเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทรงดำริเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย ทรงดำริแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่พระองค์ สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น สิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย และสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ชาวโลกทั้งปวง” 17

“พึงทราบการวางสติ ๓ ประการที่พระอริยเจ้าปฏิบัติ ซึ่งเมื่อปฏิบัติแล้ว จึงควรเป็นศาสดาสั่งสอนหมู่ชน…

๑. ภิกษุทั้งหลาย ศาสดาเป็นผู้อนุเคราะห์ แสวงประโยชน์เกื้อกูล อาศัยเมตตา จึงแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า สิ่งนี้จะให้ประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกเธอ สิ่งนี้จะให้ความสุขแก่พวกเธอ แต่เหล่าสาวกของศาสดานั้นย่อมไม่ตั้งใจฟัง ไม่เงี่ยโสตลงสดับ ไม่ตั้งจิตรับรู้ และประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนของศาสดา ในกรณีนั้น ตถาคตจะได้มีความยินดีก็หาไม่ จะได้บังเกิดความพึงพอใจก็หาไม่ ทั้งจะได้ขัดเคืองขุ่นมัวก็หาไม่ ย่อมมีสติสัมปชัญญะดำรงอยู่…

๒. อีกประการหนึ่ง… เหล่าสาวกของศาสดานั้น บางพวกก็ไม่ตั้งใจฟัง… บางพวกย่อมตั้งใจฟัง เงี่ยโสตลงสดับ ตั้งจิตรับรู้ ไม่ประพฤติเคลื่อนคลาดจากคำสอนของศาสดา ในกรณีนั้น ตถาคตจะได้มีความยินดีก็หาไม่ จะได้บังเกิดความพึงพอใจก็หาไม่ จะได้มีความไม่พอใจก็หาไม่ จะได้บังเกิดความไม่พอใจก็หาไม่ ตัดได้ทั้งความพอใจและความไม่พอใจทั้งสองอย่าง เป็นผู้อุเบกขา คงมีสติสัมปชัญญะอยู่…

๓. อีกประการหนึ่ง…เหล่าสาวกของศาสดานั้น (ทั้งหมด) ย่อมตั้งใจฟัง เงี่ยโสตลงสดับ ตั้งจิตรับรู้ ไม่ประพฤติเคลื่อนคลาดจากคำสอนของศาสดา ในกรณีนั้น ตถาคตย่อมเป็นผู้ชื่นชม บังเกิดความพึงพอใจ แต่ก็หากระหยิ่มเหิมใจไม่ ยังคงมีสติสัมปชัญญะดำรงอยู่”18

จากข้อความตอนนี้ พึงสังเกตด้วยว่า ความกรุณาที่แสดงออกอย่างได้ผลดีนั้น ต้องอาศัยมีอุเบกขา และสติสัมปชัญญะเข้าประกอบด้วย ในกรณีต่างๆ และในกรณีนั้นๆ จะต้องเข้าใจความหมายของอุเบกขาให้ถูกต้องด้วย

นอกจากนี้ ความกรุณาที่แสดงออกในทางการอบรมสั่งสอน ย่อมเป็นส่วนประกอบสำคัญให้เกิดคุณลักษณะของผู้สอนอย่างที่เรียกว่า องค์คุณของกัลยาณมิตร ซึ่งมี ๗ ประการ ดังต่อไปนี้:-

  1. ปิโย – น่ารัก (ในฐานเป็นที่วางใจและสนิทสนม)
  2. ครุ – น่าเคารพ (ในฐานให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ เป็นที่พึ่งได้ และปลอดภัย)
  3. ภาวนีโย – น่ายกย่อง (ในฐานทรงคุณคือความรู้และภูมิปัญญาแท้จริง)
  4. วตฺตา – รู้จักพูด (คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือน เป็นที่ปรึกษาที่ดี)
  5. วจนกฺขโม – อดทนต่อถ้อยคำ (พร้อมที่จะรับฟังคำซักถามต่างๆ อยู่เสมอ และสามารถรับฟังได้ด้วยความอดทนไม่เบื่อ)
  6. คมฺภีรญจฺ กถํ กตฺตา – (กล่าวชี้แจงแถลงเรื่องต่างๆ ที่ลึกซึ้งได้)
  7. โน จฏฺฐาเน นิโยชเย – (ไม่ชักจูงไปในทางที่เสื่อมเสีย)19

พึงสังเกตไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า พระพุทธศาสนาถือว่า ความสัมพันธ์ของผู้สอนที่มีต่อผู้เรียนนั้น อยู่ในฐานะเป็นกัลยาณมิตร คือ เป็นผู้ช่วยเหลือแนะนำผู้เรียนให้ดำเนินก้าวหน้าไปในมรรคาแห่งการฝึกอบรม20 องค์คุณทั้ง ๗ ที่กล่าวมานี้ เป็นคุณลักษณะที่ผู้สอนหรือครูผู้มีความกรุณาโดยทั่วไปจะมีได้ ไม่จำกัดเฉพาะพระพุทธเจ้าเท่านั้น

พระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงอนุเคราะห์ชาวโลกนั้น แสดงออกในพุทธกิจประจำวันหรือกิจวัตรประจำวันของพระองค์ ซึ่งเห็นได้ชัดว่า วันเวลาที่ผ่านไปแต่ละวัน เป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนอื่นๆ ทั้งนั้น และให้เห็นการรู้จักทำงานเป็นเวลาของพระมหาบุรุษ พุทธกิจประจำวันนั้น แบ่งเป็น ๕ ดังนี้

  1. ปุเรภัตตกิจ พุทธกิจภาคเช้าหรือภาคก่อนอาหาร ได้แก่ ทรงตื่นพระบรรทมแต่เช้า เสด็จออกบิณฑบาต เสวยแล้ว ทรงแสดงธรรมโปรดประชาชนในที่นั้นๆ เสด็จกลับพระวิหาร รอให้พระสงฆ์ฉันเสร็จแล้ว เสด็จเข้าพระคันธกุฏี
  2. ปัจฉาภัตตกิจ พุทธกิจภาคบ่ายหรือหลังอาหาร ระยะที่ ๑ เสด็จออกจากพระคันธกุฏี ทรงโอวาทภิกษุสงฆ์ เสร็จแล้วพระสงฆ์แยกย้ายกันไปปฏิบัติธรรมในที่ต่างๆ พระองค์เสด็จเข้าพระคันธกุฏี อาจทรงบรรทมเล็กน้อยแล้ว ถึงระยะที่ ๒ ทรงพิจารณาตรวจดูความเป็นไปของชาวโลก ระยะที่ ๓ ประชาชนในถิ่นนั้นมาประชุมในธรรมสภา ทรงแสดงธรรมโปรด
  3. ปุริมยามกิจ พุทธกิจยามที่ ๑ (ของราตรี) หลังจากพุทธกิจภาคกลางวันแล้ว อาจทรงสนานแล้วปลีกพระองค์อยู่เงียบๆ พักหนึ่ง จากนั้นพระภิกษุสงฆ์มาเฝ้า ทูลถามปัญหาบ้าง ขอกรรมฐานบ้าง ขอให้ทรงแสดงธรรมบ้าง ทรงใช้เวลาตลอดยามแรกนี้สนองความประสงค์ของพระสงฆ์
  4. มัชฌิมยามกิจ พุทธกิจในมัชฌิมยาม เมื่อพระสงฆ์แยกย้ายไปแล้ว ทรงใช้เวลายามที่สองตอบปัญหาพวกเทพทั้งหลายที่มาเฝ้า
  5. ปัจฉิมยามกิจ พุทธกิจในปัจฉิมยาม ทรงแบ่งเป็น ๓ ระยะ ระยะแรก เสด็จดำเนินจงกรมเพื่อให้พระวรกายได้ผ่อนคลาย ระยะที่ ๒ เสด็จเข้าพระคันธกุฏี ทรงพระบรรทมสีหไสยาสน์อย่างมีพระสติสัมปชัญญะ ระยะที่ ๓ เสด็จประทับนั่งพิจารณาสอดส่องเลือกสรรว่า ในวันต่อไปมีบุคคลผู้ใดที่ควรเสด็จไปโปรดโดยเฉพาะเป็นพิเศษ เมื่อทรงกำหนดพระทัยไว้แล้ว ก็จะเสด็จไปโปรดในภาคพุทธกิจที่ ๑ คือ ปุเรภัตตกิจ21

    การทรงใส่พระทัยช่วยเหลือโปรดบุคคลผู้สมควรเป็นส่วนเฉพาะบุคคลๆ เช่นนี้ ผู้ได้รับการโปรดอาจเป็นคนชั้นสูง ชั้นต่ำ เป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ ก็ได้ทั้งสิ้น เช่น เสด็จไปโปรดสิงคาลกมาณพผู้ไหว้ทิศ22 เสด็จไปโปรดเด็กชายมัฏฐกุณฑลีที่กำลังนอนเจ็บหนัก23

    นอกจากนี้ ยังทรงเอาพระทัยใส่ในความเป็นอยู่ ทุกข์ สุข ของพระภิกษุสงฆ์ทั่วไป เช่น เสด็จไปเยี่ยมภิกษุป่วย24 และพยาบาลภิกษุป่วยไข้ที่ไม่มีคนพยาบาลด้วยพระองค์เอง25

    ความกรุณาเช่นนี้ เป็นเหตุนำความเลื่อมใสศรัทธา เป็นประโยชน์ในการสอน ทรงสอนคนได้โดยไม่ต้องใช้อำนาจบังคับ ไม่ต้องใช้การลงโทษ และทรงได้รับความเคารพบูชาสูงสุดด้วยความจริงใจ

    ยกตัวอย่างให้เห็นได้ชัดจากดำรัสของพระเจ้าปเสนทิโกศล กษัตริย์แห่งแคว้นโกศล ที่เสด็จมาเฝ้า แสดงความเลื่อมใสศรัทธาอย่างสูงสุดในพระพุทธเจ้าและทูลไว้ มีความตอนหนึ่งว่า:-

    “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง หม่อมฉันเป็นขัตติยราช ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ย่อมสามารถสั่งฆ่าคนที่ควรฆ่าได้ จะให้ริบคนที่ควรริบได้ จะให้เนรเทศคนที่ควรเนรเทศก็ได้ เมื่อหม่อมฉันนั่งอยู่ในที่วินิจฉัยความ ก็ยังมีคนพูดสอดขึ้นในระหว่างบ้าง…

    “แต่หม่อมฉันได้เห็นภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ ในสมัยใด พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่ที่ประชุมคนหลายร้อย ในที่ประชุมนั้น สาวกของพระผู้มีพระภาคไม่มีเสียงไอเสียงจามเลย…

    “หม่อมฉันเกิดความคิดขึ้นมาว่า น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยมีมาก่อน พระผู้มีพระภาคทรงฝึกอบรมชุมชนได้ดีถึงเพียงนี้โดยไม่ต้องใช้อาชญา (อำนาจบังคับและการลงโทษ) โดยไม่ต้องใช้ศาสตรา

    “หม่อมฉันไม่เคยเห็นชุมชนอื่นที่ฝึกได้ดีอย่างนี้ นอกจากธรรมวินัยนี้ แม้ข้อนี้ก็เป็นความเลื่อมใสในธรรม ในพระผู้มีพระภาค ของหม่อมฉัน…”

    “อีกประการหนึ่ง ช่างไม้ ๒ คน คนหนึ่งชื่ออิสิทันตะ คนหนึ่งชื่อปุราณะ กินอยู่ของหม่อมฉัน ใช้ยวดยานของหม่อมฉัน หม่อมฉันให้เครื่องเลี้ยงชีพแก่เขา ให้ยศแก่เขา แต่ถึงกระนั้น เขาจะได้แสดงความเคารพนบนอบในหม่อมฉันเหมือนในพระผู้มีพระภาคก็หาไม่

    “เรื่องเคยมี คราวเมื่อหม่อมฉันยกกองทัพออกไป คิดจะทดลองช่างไม้อิสิทันตะและช่างไม้ปุราณะนี้ดู จึงเข้าพักอยู่ในที่พักอาศัยอันคับแคบแห่งหนึ่ง โอ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คราวนั้น นายช่างเหล่านี้ใช้เวลากล่าวธรรมกันจนดึก ได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ทิศใด เขาก็ผินศีรษะไปทางทิศนั้น นอนเหยียดเท้ามาทางหม่อมฉัน

    “หม่อมฉันมีความคิดว่า น่าอัศจรรย์แท้ ไม่เคยมีมาก่อนเลย นายช่างเหล่านี้ กินอยู่ของเรา…ถึงกระนั้น เขาจะได้มีความเคารพนบนอบในเรา เหมือนในพระผู้มีพระภาคก็หาไม่ คนทั้งสองนี้ คงจะได้รู้สิ่งที่เป็นคุณความดีพิเศษยิ่งกว่าเดิม ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นแน่ แม้ข้อนี้ ก็เป็นความเลื่อมใสในธรรม ในพระผู้มีพระภาค ของหม่อมฉัน”26

    ในที่นี้ จะขอสรุปพระคุณสมบัติที่ควรสังเกตไว้ดังนี้:-

    1. ทรงสอนสิ่งที่จริง และเป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง
    2. ทรงรู้เข้าใจสิ่งที่สอนอย่างถ่องแท้สมบูรณ์
    3. ทรงสอนด้วยเมตตา มุ่งประโยชน์แก่ผู้รับคำสอนเป็นที่ตั้ง ไม่หวังผลตอบแทน
    4. ทรงทำได้จริงอย่างที่สอน เป็นตัวอย่างที่ดี
    5. ทรงมีบุคลิกภาพโน้มน้าวจิตใจให้เข้าใกล้ชิดสนิทสนมและพึงพอใจได้ความสุข
    6. ทรงมีหลักการสอนและวิธีสอนยอดเยี่ยม ดังจะกล่าวต่อไป
ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ๑. ปรัชญาพื้นฐาน๓. หลักทั่วไปในการสอน >>

เชิงอรรถ

  1. จังกีสูตร, ม.ม.๑๓/๖๕๐
  2. จังกีสูตร, ม.ม.๑๓/๖๕๐
  3. พรหมายุสูตร, ม.ม.๑๓/๕๘๙; ที.ม.๑๐/๑๙๘,๒๑๘
  4. ที.ม.๑๐/๒๙; ฯลฯ
  5. การณปาลีสูตร, องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๑๙๔
  6. พรหมายุสูตร, ม.ม.๑๓/๕๘๙
  7. ม.มู. ๑๒/๑๖๖; องฺ.ทสก. ๒๔/๒๑; อภิ.วิ. ๓๕/๘๓๙–๘๔๘; วิภงฺค.อ. ๕๒๐, ๕๕๐–๖๐๗ การศึกษาเปรียบเทียบนี้เป็นครั้งแรก จึงยังอาจได้ความหมายไม่ครอบคลุมครบถ้วน ขอให้ถือเป็นจุดเริ่มต้นไว้ก่อน
  8. นาคิตสูตร, องฺ.ฉกฺก.๒๒/๓๑๓
  9. สังคีติสูตร, ที.ปา.๑๑/๒๒๘
  10. กกุธสูตร, องฺ.ปญฺจก.๒๒/๑๐๐
  11. ม.อุ. ๑๔/๔๒–๔๔
  12. ที.ปา. ๑๑/๓๐–๓๑
  13. วินย. ๕/๗๘; องฺ.อฏฐก. ๒๓/๑๐๒
  14. ม.มู. ๑๓/๗๒–๗๓
  15. ม.มู. ๑๒/๒๘๖
  16. สํ.นิ. ๑๖/๔๗๒-๓
  17. พรหมายุสูตร, ม.ม. ๑๓/๕๘๙
  18. สฬายตนวิภังคสูตร, ม.อุ. ๑๔/๖๓๖
  19. สขสูตร, องฺ.สตฺตก.๒๓/๓๔
  20. พึงระลึกถึงฐานะของผู้สอนอันสัมพันธ์กับความตอนนี้ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “อกฺขาตาโร ตถาคตา – ตถาคตเป็นผู้บอกทางให้” (ขุ.ธ.๒๕/๓๐) และเรื่องที่ทรงชี้แจงแก่พราหมณ์ว่าพระองค์เป็นเพียงผู้ชี้ทาง ใน ม.อุ. ๑๔/๑๐๑ ด้วย
  21. ที.อ. ๑/๖๑; สํ.อ. ๑/๒๘๕; องฺ.อ. ๑/๖๖; ใน สุตฺต.อ. ๑/๑๖๖ ท่านแบ่งพุทธกิจไว้เพียง ๒ อย่าง คือ ปุเรภัตตกิจ กับ ปัจฉาภัตตกิจ โดยรวมเอาพุทธกิจที่ ๓ – ๔ – ๕ เข้าไว้ในปัจฉาภัตตกิจด้วย; ใน สวดมนต์ฉบับหลวง ท่านแต่งเป็นคาถาไว้เพื่อจำง่ายว่า:-

ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ สายณฺเห ธมฺมเทสนํ
ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหนํ
ปจฺจุสฺเสว คเต กาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ.

เช้าเสด็จไปบิณฑบาต บ่ายทรงแสดงธรรม ค่ำประทานโอวาทแก่ภิกษุ กลางคืนตอบปัญหาเทวดา เวลาจวนสว่างตรวจดูผู้ที่ควรและยังไม่ควรตรัสรู้

  • สิงคาลกสูตร, ที.ปา. ๑๑/๑๗๒-๒๐๖
  • ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๑
  • ดู สํ.ข. ๑๗/๒๑๕-๒๑๘; สํ.สฬ. ๑๘/๘๘, ๙๐; องฺ.ฉกฺก. ๒๒/๓๒๗
  • วินย. ๕/๑๖๖
  • ธรรมเจติยสูตร, ม.ม. ๑๓/๕๖๕, ๕๖๘
  • No Comments

    Comments are closed.