๓. หลักทั่วไปในการสอน

1 ตุลาคม 2513
เป็นตอนที่ 4 จาก 9 ตอนของ

๓. หลักทั่วไปในการสอน

ในเรื่องหลักทั่วไปของการสอนนี้ จะขอแบ่งเป็น ๓ หมวด คือ ที่เป็นข้อควรคำนึงต่างๆ เกี่ยวกับเนื้อหาหรือเรื่องที่สอนพวกหนึ่ง เกี่ยวกับตัวผู้เรียนพวกหนึ่ง และที่เกี่ยวกับตัวการสอนเองพวกหนึ่ง และจะบรรยายเพียงโดยสรุป เพราะได้กินเนื้อที่มามากแล้วในสองหัวข้อก่อน

ก. เกี่ยวกับเนื้อหาหรือเรื่องที่สอน

๑. สอนจากสิ่งที่รู้เห็นเข้าใจง่ายหรือรู้เห็นเข้าใจอยู่แล้ว ไปหาสิ่งที่เห็นเข้าใจได้ยาก หรือยังไม่รู้ไม่เห็นไม่เข้าใจ ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ อริยสัจจ์ ซึ่งทรงเริ่มสอนจากความทุกข์ ความเดือดร้อน ปัญหาชีวิตที่คนมองเห็นและประสบอยู่โดยธรรมดา รู้เห็นประจักษ์กันอยู่ทุกคนแล้ว ต่อจากนั้นจึงสาวหาเหตุที่ยากลึกซึ้ง และทางแก้ไขต่อไป

๒. สอนเนื้อเรื่องที่ค่อยลุ่มลึกยากลงไปตามลำดับชั้น และต่อเนื่องกันเป็นสายลงไป อย่างที่เรียกว่า สอนเป็นอนุบุพพิกถา ตัวอย่างก็คือ อนุบุพพิกถา ไตรสิกขา พุทธโอวาท ๓ เป็นต้น

๓. ถ้าสิ่งที่สอนเป็นสิ่งที่แสดงได้ ก็สอนด้วยของจริง ให้ผู้เรียนได้ดู ได้เห็น ได้ฟังเอง อย่างที่เรียกว่าประสบการณ์ตรง เช่น ทรงสอนพระนันทะที่คิดถึงคู่รักคนงาม ด้วยการทรงพาไปชมนางฟ้า นางอัปสรเทพธิดา ให้เห็นกับตา เรื่องอาจารย์ทิศาปาโมกข์ให้หมอชีวกทดสอบตัวเอง1 เรื่องนามสิทธิชาดก2หรืออย่างที่ให้พระเพ่งดูความเปลี่ยนแปลงของดอกบัว เป็นต้น

๔. สอนตรงเนื้อหา ตรงเรื่อง คุมอยู่ในเรื่อง มีจุด ไม่วกวน ไม่ไขว้เขว ไม่ออกนอกเรื่อง

๕. สอนมีเหตุผล ตรองตามเห็นจริงได้ อย่างที่เรียกว่า สนิทานํ

๖. สอนเท่าที่จำเป็นพอดีสำหรับให้เกิดความเข้าใจ ให้การเรียนรู้ได้ผล ไม่ใช่สอนเท่าที่ตนรู้ หรือสอนแสดงภูมิว่าผู้สอนมีความรู้มาก

เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้า เมื่อประทับอยู่ในป่าประดู่ลายใกล้เมืองโกสัมพี ได้ทรงหยิบใบไม้ประดู่ลายเล็กน้อยใส่กำพระหัตถ์ แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ใบประดู่ลายในพระหัตถ์ กับในป่า ไหนจะมากกว่ากัน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ในป่ามากกว่า จึงตรัสว่า สิ่งที่พระองค์ตรัสรู้แต่มิได้ทรงสอน เหมือนใบประดู่ลายในป่า ส่วนที่ทรงสั่งสอนน้อยเหมือนใบประดู่ลายในพระหัตถ์ และตรัสแสดงเหตุผลในการที่มิได้ทรงสอนทั้งหมดเท่าที่ตรัสรู้ว่า เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่เป็นประโยชน์ มิใช่หลักการดำเนินชีวิตอันประเสริฐ ไม่ช่วยให้เกิดความรู้ถูกต้องที่จะนำไปสู่จุดหมาย คือนิพพานได้3

๗. สอนสิ่งที่มีความหมาย ควรที่เขาจะเรียนรู้และเข้าใจ เป็นประโยชน์แก่ตัวเขาเอง อย่างพุทธพจน์ที่ว่า พระองค์ทรงมีพระเมตตา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย จึงตรัสพระวาจาตามหลัก ๖ ประการ คือ

๑) คำพูดที่ไม่จริง ไม่ถูกต้อง, ไม่เป็นประโยชน์, ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น – ไม่ตรัส
๒) คำพูดที่จริง ถูกต้อง, แต่ไม่เป็นประโยชน์, ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น – ไม่ตรัส
๓) คำพูดที่จริง ถูกต้อง, เป็นประโยชน์, ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น – เลือกกาลตรัส
๔) คำพูดที่ไม่จริง ไม่ถูกต้อง, ไม่เป็นประโยชน์, ถึงเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น – ไม่ตรัส
๕) คำพูดที่จริง ถูกต้อง, แต่ไม่เป็นประโยชน์, ถึงเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น – ไม่ตรัส
๖) คำพูดที่จริง ถูกต้อง, เป็นประโยชน์, เป็นที่รักที่ชอบใจของคนอื่น – เลือกกาลตรัส4

ลักษณะของพระพุทธเจ้าในเรื่องนี้ คือ ทรงเป็นกาลวาที สัจจวาที ภูตวาที อัตถวาที ธรรมวาที วินัยวาที

ข. เกี่ยวกับตัวผู้เรียน

๑. รู้ คำนึงถึง และสอนให้เหมาะตามความแตกต่างระหว่างบุคคล อย่างในทศพลญาณข้อ ๕ ข้อ ๖ ที่อธิบายมาแล้ว เช่น คำนึงถึงจริต ๖ อันได้แก่ ราคจริต โทสจริต โมหจริต ศรัทธาจริต พุทธิจริต และวิตกจริต5 และรู้ระดับความสามารถของบุคคล อย่างที่พระพุทธเจ้าได้ทรงพิจารณาเมื่อก่อนเสด็จออกประกาศพระศาสนาว่า

“เหล่าสัตว์ที่มีธุลีในดวงตาน้อยก็มี ที่มีกิเลสในดวงตามากก็มี ที่มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี ที่มีอินทรีย์อ่อนก็มี ที่มีอาการดีก็มี มีอาการทรามก็มี ที่จะสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี ที่จะสอนให้รู้ได้ยากก็มี บางพวกที่ตระหนักถึงโทษภัยในปรโลกอยู่ก็มี ทั้งนี้อุปมาเหมือนดังในกออุบล กอประทุม หรือกอบุณฑริก”6

ต่อจากนั้นได้ทรงยกบัว ๓ เหล่าขึ้นมาเปรียบ ในที่นี้จะนำไปเทียบกับบุคคล ๔ ประเภท ที่พระองค์ตรัสไว้ในที่อื่น ดังนี้:-

ก. บุคคลผู้รู้เข้าใจได้ฉับพลัน แต่พอยกหัวข้อขึ้นแสดงเท่านั้น เรียกว่า อุคฆฏิตัญญู เทียบกับบัวพ้นน้ำ แต่พอรับสัมผัสรัศมีตะวัน ก็จะบาน ณ วันนั้น
ข. บุคคลผู้สามารถรู้เข้าใจได้ ต่อเมื่อท่านอธิบายความพิสดารออกไป เรียกว่า วิปจิตัญญู เทียบกับบัวปริ่มน้ำ จักบานต่อวันรุ่งขึ้น
ค. บุคคลผู้พอจะหาทางค่อยชี้แจงแนะนำใช้วิธีการยักเยื้องให้เข้าใจได้ต่อๆ ไป เรียกว่า ไนยยะ เทียบกับบัวงามใต้พื้นน้ำ จักบานในวันต่อๆ ไป
ง. บุคคลผู้อับปัญญา มีดวงตามืดมิด ยังไม่อาจให้บรรลุคุณวิเศษได้ในชาตินี้ เรียกว่า ปทปรมะ เทียบกับบัวจมใต้น้ำ น่าจักเป็นภักษาแห่งปลาและเต่า7

๒. ปรับวิธีสอนผ่อนให้เหมาะกับบุคคล แม้สอนเรื่องเดียวกันแต่ต่างบุคคล อาจใช้ต่างวิธี ข้อนี้เกี่ยวโยงต่อเนื่องมาจากข้อที่ ๑

๓. นอกจากคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลแล้ว ผู้สอนยังจะต้องคำนึงถึงความพร้อม ความสุกงอม ความแก่รอบแห่งอินทรีย์ หรือญาณ ที่บาลีเรียกว่า ปริปากะ ของผู้เรียนแต่ละบุคคลเป็นรายๆ ไปด้วย ว่าในแต่ละคราว หรือเมื่อถึงเวลานั้นๆ เขาควรจะได้เรียนอะไร และเรียนได้แค่ไหนเพียงไร หรือว่าสิ่งที่ต้องการให้เขารู้นั้น ควรให้เขาเรียนได้หรือยัง เรื่องนี้จะเห็นได้ชัดในพุทธวิธีสอน ว่าพระพุทธเจ้าทรงคอยพิจารณาปริปากะของบุคคล เช่น

คราวหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ทรงดำริว่า

“ธรรมเครื่องบ่มวิมุตติของราหุลสุกงอมดีแล้ว ถ้ากระไรเราพึงช่วยชักนำเธอในการกำจัดอาสวะให้ยิ่งขึ้นไปอีก” ดังนี้

ครั้นเมื่อเสด็จไปบิณฑบาต เสวยเสร็จแล้ว จึงตรัสชวนพระราหุลให้โดยเสด็จไปพักผ่อนกลางวันในป่าอันธวัน เมื่อถึงโคนไม้แห่งหนึ่ง ก็ได้ประทับนั่งลงและทรงสอนธรรมด้วยวิธีสนทนา วันนั้นพระราหุลก็ได้บรรลุอรหัตตผล8

อีกเรื่องหนึ่ง เมื่อคราวประทับอยู่ ๒ องค์กับพระเมฆิยะ ณ จาลิกบรรพต พระเมฆิยะทูลลาไปบิณฑบาตในหมู่บ้านชันตุคาม ในระหว่างทางกลับจากบิณฑบาตมาถึงฝั่งลำน้ำกิมิกาฬา ท่านได้เห็นสถานที่ในป่าอัมพวันน่ารื่นรมย์ เกิดความคิดว่าเป็นสถานที่เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร ครั้นกลับถึงจาลิกบรรพต จึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลขออนุญาตลาไปบำเพ็ญเพียร ณ ป่าริมฝั่งน้ำนั้น

พระพุทธองค์ทรงทราบว่า ญาณของพระเมฆิยะยังไม่สุกงอมพอที่จะไปบำเพ็ญเพียรอยู่ผู้เดียวให้เกิดผลสำเร็จก้าวหน้าขึ้นไปได้ แต่ก็จะทรงให้พระเมฆิยะได้บทเรียน จึงมิได้ทรงห้ามทีเดียว แต่ทรงทัดทานว่า “รอก่อนเถิดเมฆิยะ เราอยู่คนเดียว เธอจงรอจนกว่าจะมีภิกษุรูปอื่นมาเสียก่อน”

การที่ตรัสดังนี้ ก็เพื่อให้รู้สึกว่าพระองค์มีพระทัยเยื่อใยเมตตาต่อพระเมฆิยะอยู่ เป็นแรงคอยโน้มน้าว เมื่อพระเมฆิยะมีเหตุขัดข้องอะไรขึ้นจะได้กลับมาเฝ้าพระองค์ ครั้นพระเมฆิยะทูลคะยั้นคะยอ พระองค์ก็ทรงอนุญาต

ฝ่ายพระเมฆิยะ เมื่อไปอยู่ที่ป่าอัมพวันผู้เดียวแล้ว ต่อมาก็เกิดมีอกุศลวิตกขึ้น เพราะญาณของตนยังไม่แก่กล้าสุกงอม ไม่สามารถแก้ไขได้ จึงกลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้า และกราบทูลให้ทรงทราบ พระองค์จึงตรัสสอนเรื่องธรรม ๕ อย่างที่ช่วยให้เกิดปริปากะแก่เจโตวิมุตติ ที่ยังไม่แก่กล้า

ธรรมเหล่านี้คือ ความมีกัลยาณมิตร ๑ ความมีศีล ๑ การมีโอกาสได้ยินได้ฟัง ได้ร่วมสนทนาอย่างสะดวกสบายในเรื่องต่างๆ ที่ช่วยชำระจิตใจให้ปลอดโปร่งผ่องใส เช่น เรื่องความเพียร ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ เป็นต้น ๑ การบำเพ็ญเพียรสร้างกุศลธรรมอย่างหนักแน่นจริงจัง ๑ และความมีปัญญา ๑

โดยเฉพาะทรงเน้นว่า ความมีกัลยาณมิตรนั้นเป็นพื้นเบื้องต้นอันสำคัญ ที่จะช่วยให้ได้ทั้งศีล ให้ได้ฟังเรื่องที่ดีงาม ให้ได้บำเพ็ญเพียร และให้ได้ปัญญา9

เป็นอันว่า ขณะนั้นพระเมฆิยะยังไม่มีปริปากะ ยังไม่พร้อมที่จะออกไปบำเพ็ญเพียรผู้เดียวอย่างที่ตนประสงค์ ยังต้องพึ่งอาศัยกัลยาณมิตรอยู่

๔. สอนโดยให้ผู้เรียนลงมือทำด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจชัดเจน แม่นยำและได้ผลจริง เช่น ทรงสอนพระจูฬปันถกผู้โง่เขลาด้วยการให้นำผ้าขาวไปลูบคลำ เป็นต้น

๕. การสอนดำเนินไปในรูปที่ให้รู้สึกว่าผู้เรียนกับผู้สอนมีบทบาทร่วมกัน ในการแสวงความจริง ให้มีการแสดงความคิดเห็น โต้ตอบเสรี

หลักนี้เป็นข้อสำคัญในวิธีการแห่งปัญญา ซึ่งต้องการอิสรภาพในทางความคิด และโดยวิธีนี้ เมื่อเข้าถึงความจริง ผู้เรียนก็จะรู้สึกว่าตนได้มองเห็นความจริงด้วยตนเอง และมีความชัดเจนมั่นใจ

หลักนี้พระพุทธเจ้าทรงใช้เป็นประจำ และมักมาในรูปการถามตอบ ซึ่งอาจแยกลักษณะการสอนแบบนี้ได้เป็น

ก. ล่อให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นของตนออกมา ชี้ข้อคิดให้แก่เขา ส่งเสริมให้เขาคิด และให้ผู้เรียนเป็นผู้วินิจฉัยความรู้นั้นเอง ผู้สอนเป็นเพียงผู้นำชี้ช่องทางเข้าสู่ความรู้

ในการนี้ ผู้สอนมักกลายเป็นผู้ถามปัญหา แทนที่จะเป็นผู้ตอบ

ข.  มีการแสดงความคิดเห็น โต้ตอบอย่างเสรี แต่มุ่งหาความรู้ ไม่ใช่มุ่งแสดงภูมิ หรือข่มกัน

๖. เอาใจใส่บุคคลที่ควรได้รับความสนใจพิเศษเป็นรายๆ ไป ตามควรแก่กาละเทศะและเหตุการณ์ เช่น

ชาวนาคนหนึ่งตั้งใจไว้แต่กลางคืนว่าจะไปฟังพุทธเทศนา บังเอิญวัวหาย ไปตามได้แล้วรีบมา แต่กว่าจะได้ก็ช้ามาก คิดว่าทันฟังท้ายหน่อยก็ยังดี ไปถึงวัดปรากฏว่าพระพุทธเจ้ายังทรงประทับรออยู่นิ่งๆ ไม่เริ่มแสดง ยิ่งกว่านั้นยังให้จัดอาหารให้เขารับประทานจนอิ่มสบาย แล้วจึงทรงเริ่มแสดงธรรม หรือ

เรื่องเด็กหญิงชาวบ้านลูกช่างหูกคนหนึ่ง อยากฟังธรรม แต่มีงานม้วนกรอด้ายเร่งอยู่ เมื่อทำเสร็จจึงเดินจากบ้านเอาม้วนด้ายไปส่งบิดาที่โรง ผ่านโรงธรรมก็แวะหน่อยหนึ่ง นั่งอยู่แถวหลังสุดของที่ประชุม พระพุทธองค์ก็ยังทรงเอาพระทัยใส่หันไปรับสั่งให้เข้าไปนั่งใกล้ๆ ทักทายปราศรัย และสนทนาให้เกียรติให้เด็กนั้นพูดแสดงความเห็นในที่ประชุม และทรงเทศนาให้เด็กนั้นได้รับประโยชน์จากการมาฟังธรรม

๗. ช่วยเหลือเอาใจใส่คนที่ด้อย ที่มีปัญหา เช่น เรื่องพระจูฬปันถกที่กล่าวแล้ว เป็นต้น

ค. เกี่ยวกับตัวการสอน

๑. ในการสอนนั้น การเริ่มต้นเป็นจุดสำคัญมากอย่างหนึ่ง การเริ่มต้นที่ดีมีส่วนช่วยให้การสอนสำเร็จผลดีเป็นอย่างมาก อย่างน้อยก็เป็นเครื่องดึงความสนใจ และนำเข้าสู่เนื้อหาได้

พระพุทธเจ้าทรงมีวิธีเริ่มต้นที่น่าสนใจมาก โดยปกติพระองค์จะไม่ทรงเริ่มสอนด้วยการเข้าสู่เนื้อหาธรรมทีเดียว แต่จะทรงเริ่มสนทนากับผู้ทรงพบหรือผู้มาเฝ้า ด้วยเรื่องที่เขารู้เข้าใจดี หรือสนใจอยู่ เช่น เมื่อทรงสนทนากับควาญช้าง ก็ทรงเริ่มสนทนาด้วยเรื่องวิธีฝึกช้าง พบชาวนาก็สนทนาเรื่องการทำนา พบพราหมณ์ก็สนทนาเรื่องไตรเพท หรือเรื่องธรรมของพราหมณ์

บางทีก็ทรงจี้จุดสนใจ หรือเหมือนสะกิดให้สะดุ้ง เป็นการปลุกเร้าความสนใจ เช่น เมื่อเทศน์โปรดชฎิลผู้บูชาไฟ ทรงเริ่มต้นด้วยคำว่า “อะไรๆ ร้อนลุกเป็นไฟหมดแล้ว” ต่อจากนั้นจึงถามและอธิบายต่อไปว่าอะไรร้อน อะไรลุกเป็นไฟ นำเข้าสู่ธรรม

บางทีก็ใช้เรื่องที่เขาสนใจ หรือที่เขารู้นั่นเอง เป็นข้อสนทนาไปโดยตลอด แต่แทรกความหมายทางธรรมเข้าไว้ให้

๒. สร้างบรรยากาศในการสอนให้ปลอดโปร่ง เพลิดเพลิน ไม่ให้ตึงเครียด ไม่ให้เกิดความอึดอัดใจ และให้เกียรติแก่ผู้เรียน ให้เขามีความภูมิใจในตัว เช่น เมื่อพราหมณ์โสณทัณฑะกับคณะไปเฝ้า ท่านโสณทัณฑะครุ่นคิดวิตกอยู่ในใจว่า

“ถ้าเราถามปัญหาออกไป หากพระองค์ตรัสว่า ‘พราหมณ์ ปัญหาข้อนี้ท่านไม่ควรถามอย่างนี้’ ที่ประชุมก็จะหมิ่นเราได้

“ถ้าพระสมณโคดมจะพึงตรัสถามปัญหาเรา ถ้าแม้เราตอบไม่ถูกพระทัย หากพระองค์ตรัสว่า ‘พราหมณ์ ปัญหาข้อนี้ ท่านไม่ควรตอบอย่างนี้ ที่ถูกควรแก้อย่างนี้’ ที่ประชุมก็จะหมิ่นเราได้

“ถ้ากระไร ขอให้พระสมณโคดมถามปัญหาเราในเรื่องไตรเพท อันเป็นคำสอนของอาจารย์เราเถิด เราจะตอบให้ถูกพระทัยทีเดียว”

พระพุทธเจ้าทรงทายใจพราหมณ์ได้ ทรงดำริว่า

“โสณทัณฑะนี้ลำบากใจอยู่ ถ้ากระไร เราพึงถามปัญหาเขาในเรื่องไตรเพทอันเป็นคำสอนของอาจารย์ฝ่ายเขาเองเถิด”

แล้วได้ตรัสถามถึงคุณสมบัติของพราหมณ์ ทำให้พราหมณ์นั้นสบายใจ และรู้สึกภูมิใจที่จะสนทนาต่อไปในเรื่องซึ่งตัวเขาเองถือว่าเขารู้ชำนาญอยู่เป็นพิเศษ และพระองค์ก็ทรงสามารถชักนำพราหมณ์นั้นเข้าสู่ธรรมของพระองค์ได้ ด้วยการคอยทรงเลือกป้อนคำถามต่างๆ กะพราหมณ์นั้น แล้วคอยสนับสนุนคำตอบของเขา ต้อนเข้าสู่แนวที่พระองค์ทรงพระประสงค์10

ในทำนองเดียวกัน เมื่อพบนิโครธปริพาชก ก็ทรงเปิดโอกาสเชิญให้เขาถามพระองค์ด้วยปัญหาเกี่ยวกับลัทธิฝ่ายเขาทีเดียว11

๓. สอนมุ่งเนื้อหา มุ่งให้เกิดความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่สอนเป็นสำคัญ ไม่กระทบตนและผู้อื่น ไม่มุ่งยกตน ไม่มุ่งเสียดสีใครๆ12

แม้เมื่อมีผู้มาทูลถามเรื่องคำสอนของเจ้าลัทธิต่างๆ ว่าของคนใดผิดคนใดถูก พระองค์ก็จะไม่ทรงตัดสิน แต่จะทรงแสดงหลักธรรมให้เขาฟัง คือให้เขาคิดพิจารณาตัดสินเอาด้วยตนเอง

ยกตัวอย่าง เช่น คราวหนึ่ง พราหมณ์ ๒ คน เข้าไปเฝ้าทูลถามว่า ท่านปูรณกัสสป เจ้าลัทธิหนึ่ง กับท่านนิครนถนาฏบุตร อีกเจ้าลัทธิหนึ่ง ต่างก็ปฏิญาณว่าตนเป็นผู้ที่รู้ที่สุดด้วยกัน วาทะเป็นปฏิปักษ์กัน ใครจริง ใครเท็จ พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า

“อย่าเลยพราหมณ์ ข้อที่ทั้งสองนี้ต่างพูดอวดรู้ มีวาทะเป็นปฏิปักษ์กันนั้น ใครจะจริง ใครจะเท็จ พักไว้เถิด เราจักแสดงธรรมให้ท่านทั้งสองฟัง ขอให้ท่านตั้งใจฟังเถิด”13

เรื่องเช่นนี้มีปรากฏหลายแห่งในพระไตรปิฎก14 แม้เมื่อแสดงธรรมตามปกติในที่ประชุมสาวก ก็ไม่ทรงยกยอ และไม่ทรงรุกรานที่ประชุม ทรงชี้แจงให้รู้เข้าใจชัดเจนไปตามธรรม15

๔. สอนโดยเคารพ คือ ตั้งใจสอน ด้วยความรู้สึกว่า เป็นเรื่องจริงจัง มีคุณค่า มองเห็นความสำคัญของผู้เรียนและของงานสั่งสอนนั้น ไม่ใช่สักว่าทำ หรือเห็นผู้เรียนโง่เขลา หรือเห็นเป็นชั้นต่ำๆ อย่างพระพุทธจริยาที่ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้ตถาคตจะแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตย่อมแสดงโดยเคารพ ไม่แสดงโดยไม่เคารพ ถ้าแม้จะแสดงแก่ภิกษุณี แก่อุบาสกอุบาสิกา แก่ปุถุชนทั้งหลาย โดยที่สุดแม้แก่คนขอทานและพรานนก ก็ย่อมแสดงโดยเคารพ หาแสดงโดยขาดความเคารพไม่”16

๕. ใช้ภาษาสุภาพ นุ่มนวล ไม่หยาบคาย ชวนให้สบายใจ สละสลวย เข้าใจง่าย อย่างที่ว่า

“พระสมณโคดมมีพระดำรัสไพเราะ รู้จักตรัสถ้อยคำได้งดงาม มีพระวาจาสุภาพ สละสลวย ไม่มีโทษ ยังผู้ฟังให้เข้าใจเนื้อความได้ชัดแจ้ง”17

ก่อนจบตอนนี้ ขอนำพุทธพจน์แห่งหนึ่ง ที่ตรัสสอนภิกษุผู้แสดงธรรม เรียกกันว่า องค์แห่งพระธรรมกถึก มาแสดงไว้ ดังนี้:-

“อานนท์ การแสดงธรรมให้คนอื่นฟัง มิใช่สิ่งที่กระทำได้ง่าย ผู้แสดงธรรมแก่คนอื่น พึงตั้งธรรม ๕ อย่างไว้ในใจ คือ:-

๑. เราจักกล่าวชี้แจงไปตามลำดับ

๒. เราจักกล่าวชี้แจงยกเหตุผลมาแสดงให้เข้าใจ

๓. เราจักแสดงด้วยอาศัยเมตตา

๔. เราจักไม่แสดงด้วยเห็นแก่อามิส

๕. เราจักแสดงไปโดยไม่กระทบตนและผู้อื่น”18

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ๒. คุณสมบัติของผู้สอน๔. ลีลาการสอน >>

เชิงอรรถ

  1. วินย. ๕/๑๒๙
  2. ชา.อ. ๒/๒๔๘
  3. ดู สํ.ม. ๑๙/๑๗๑๒
  4. ม.ม. ๑๓/๙๔; เทียบ ที.ปา. ๑๑/๑๑๙
  5. ดู วิสุทธิมรรค ปริเฉทที่ ๓
  6. วินย. ๔/๙
  7. บัว ๓ เหล่ามาใน วินย. ๔/๙; ม.มู. ๑๒/๓๒๑; ม.ม. ๑๓/๕๐๙ บัว ๔ มาในอรรถกถา คือ ที.อ. ๒/๘๓; ม.อ. ๒/๒๔๒; สํ.อ. ๑/๒๓๔; ๒/๕, ๓/๖๓; ฯลฯ บุคคล ๔ พวก มาใน องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๑๓๓
    หมายเหตุ พึงสังเกตว่า ปทปรมะ นั้น มิได้หมายความว่าสอนไม่ได้เลยทีเดียว แต่หมายถึงบุคคลที่ช่วยได้อย่างมากเพียงให้รู้พยัญชนะ แต่ไม่อาจเข้าใจอรรถ เป็นผู้ที่พระพุทธศาสนาไม่ทอดทิ้ง เพราะถือว่า แม้เขาไม่สามารถบรรลุธรรมได้ในชาตินี้ แต่ก็ยังเป็นการสั่งสอนอบรมเพื่อประโยชน์ในอนาคตต่อไป จึงควรต้องช่วยให้ดีที่สุดเท่าที่จะช่วยได้
  8. สํ.สฬ. ๑๘/๑๘๗-๘
  9. องฺ.นวก. ๒๓/๒๐๗; ขุ.อุ.๒๕/๘๕–๘๙
  10. ที.สี. ๙/๑๘๔–๑๙๔
  11. ที.ปา. ๑๑/๒๒
  12. เป็นองค์คุณอย่างหนึ่งของธรรมกถึก องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๑๕๙
  13. องฺ.นวก. ๒๓/๒๔๒
  14. เช่น ม.มู. ๑๒/๓๕๓
  15. ม.ม. ๑๓/๕๘๙
  16. องฺ. ปญฺจก. ๒๒/๙๙
  17. ม.ม. ๑๓/๖๕๐
  18. องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๑๕๙

No Comments

Comments are closed.