๖. กลวิธีและอุบายประกอบการสอน

1 ตุลาคม 2513
เป็นตอนที่ 7 จาก 9 ตอนของ

๖. กลวิธีและอุบายประกอบการสอน

๑. การยกอุทาหรณ์ และการเล่านิทานประกอบ การยกตัวอย่างประกอบคำอธิบาย และการเล่านิทานประกอบการสอน ช่วยให้เข้าใจความได้ง่ายและชัดเจน ช่วยให้จำแม่น เห็นจริง และเกิดความเพลิดเพลิน ทำให้การเรียนการสอนมีรสยิ่งขึ้น

ตัวอย่างเช่น เมื่อจะอธิบายให้เห็นว่า คนมีความปรารถนาดี อยากช่วยทำประโยชน์ แต่หากขาดปัญญา อาจกลับทำลายประโยชน์เสียก็ได้ ก็เล่านิทานชาดกเรื่อง ลิงเฝ้าสวน1 หรือ คนขายเหล้า2 เป็นต้น

พระพุทธเจ้าทรงใช้อุทาหรณ์และนิทานประกอบการสอนมากมายเพียงใด จะเห็นได้จากการที่ในคัมภีร์ต่างๆ มีอุทาหรณ์และนิทานปรากฏอยู่ทั่วไป เฉพาะคัมภีร์ชาดกอย่างเดียวก็มีนิทานชาดกถึง ๕๔๗ เรื่อง

๒. การเปรียบเทียบด้วยข้ออุปมา คำอุปมาช่วยให้เรื่องที่ลึกซึ้งเข้าใจยาก ปรากฏความหมายเด่นชัดออกมา และเข้าใจง่ายขึ้น โดยเฉพาะมักใช้ในการอธิบายสิ่งที่เป็นนามธรรม เปรียบให้เห็นชัดด้วยสิ่งที่เป็นรูปธรรม หรือแม้เปรียบเรื่องที่เป็นรูปธรรมด้วยข้ออุปมาแบบรูปธรรม ก็ช่วยให้เนื้อความหนักแน่นเข้า เช่น

“ภูเขาศิลาล้วน เป็นแท่งทึบ ย่อมไม่หวั่นไหวด้วยแรงลม ฉันใด บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะคำนินทาและสรรเสริญ ฉันนั้น”3

“คนผู้เรียนรู้น้อย ได้แต่แก่เฒ่าเหมือนโคถึก เนื้อหนังของเขาเติบใหญ่ แต่ปัญญาหาเจริญไม่”4

“เมื่อพระอาทิตย์จะอุทัย มีแสงเงินแสงทองปรากฏขึ้น เป็นนิมิตมาก่อน ฉันใด ความมีกัลยาณมิตร ก็เป็นเบื้องต้น เป็นนิมิตหมายแห่งการบังเกิดขึ้นของโพชฌงค์ ๗ ฉันนั้น”5
ฯลฯ

การใช้อุปมานี้ น่าจะเป็นกลวิธีประกอบการสอนที่พระพุทธองค์ทรงใช้มากที่สุด มากกว่ากลวิธีอื่นใด

๓. การใช้อุปกรณ์การสอน ในสมัยพุทธกาล ย่อมไม่มีอุปกรณ์การสอนชนิดต่างๆ ที่จัดทำขึ้นไว้เพื่อการสอนโดยเฉพาะเหมือนสมัยปัจจุบัน เพราะยังไม่มีการจัดการศึกษาเป็นระบบขึ้นมาอย่างแพร่หลายกว้างขวาง หากจะใช้อุปกรณ์บ้าง ก็คงต้องอาศัยวัตถุสิ่งของที่มีในธรรมชาติ หรือเครื่องใช้ต่างๆ ที่ผู้คนใช้กันอยู่

อีกประการหนึ่ง คำสอนของพระพุทธเจ้าที่มีบันทึกไว้ก็มักเป็นคำสอนที่ตรัสแก่ผู้ใหญ่ และเป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักธรรม ทั้งสอนเคลื่อนที่ไปในดินแดนแว่นแคว้นต่างๆ อย่างอิสระ ชนิดที่ผู้สอนไม่มีทรัพย์สมบัติติดตัว ด้วยเหตุนี้ ความจำเป็นที่จะใช้อุปกรณ์จึงมีน้อย และโอกาสที่จะอาศัยอุปกรณ์ก็เป็นไปได้ยาก

นอกจากนั้น การใช้ข้ออุปมาต่างๆ ก็สะดวกกว่า และให้ความเข้าใจชัดเจนอยู่แล้ว แม้เมื่อใช้ของจริงเป็นอุปกรณ์ ก็มักใช้ในแง่อุปมาอีกนั่นเอง จึงปรากฏว่าคำสอนในแง่อุปมามีมากมาย แต่ไม่ค่อยปรากฏการใช้อุปกรณ์การสอน

อย่างไรก็ดี มีตัวอย่างการที่พระพุทธเจ้าทรงใช้อุปกรณ์การสอน ในกรณีสอนผู้เรียนที่อายุน้อยๆ ซึ่งเข้าใจจากวัตถุได้ง่ายกว่านามธรรม โดยทรงใช้เครื่องใช้ที่มีอยู่ จึงปรากฏเรื่องที่พระองค์ทรงสอนสามเณรราหุลเมื่ออายุ ๗ ขวบว่า

วันหนึ่งพระผู้มีพระภาคเสด็จมา ณ ที่อยู่ของสามเณรราหุล สามเณรมองเห็นแล้ว ก็ปูลาดอาสนะและจัดน้ำล้างพระบาทไว้ พระผู้มีพระภาคล้างพระบาทแล้ว ทรงเหลือน้ำไว้ในภาชนะหน่อยหนึ่ง เมื่อสามเณรถวายบังคมนั่งเรียบร้อยแล้ว

พระองค์ได้ตรัสถามว่า “ราหุล เธอเห็นน้ำที่เหลืออยู่หน่อยหนึ่งในภาชนะนี้หรือไม่?” สามเณรราหุลทูลว่า เห็น จึงตรัสว่า “คนที่พูดเท็จทั้งที่รู้อยู่ ก็มีคุณธรรมของสมณะเหลืออยู่น้อยเหมือนอย่างนั้น

เสร็จแล้วทรงเทน้ำนั้นเสีย ตรัสถามว่า “เธอเห็นเราเทน้ำหน่อยหนึ่งนั้นทิ้งไปแล้วไหม?” สามเณรทูลว่า เห็น ตรัสว่า “คนที่ไม่มีความละอายในการกล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่ ก็เป็นผู้เทคุณธรรมของสมณะออกทิ้งเสียเหมือนอย่างนั้น

แล้วทรงคว่ำภาชนะลง ตรัสถามว่า “เธอเห็นภาชนะนี้คว่ำลงแล้วไหม?” สามเณรทูลว่า เห็น ตรัสว่า “คนที่ไม่มีความละอายในการพูดเท็จทั้งรู้อยู่ คุณธรรมของสมณะของเขาก็ชื่อว่าคว่ำไปแล้ว เหมือนอย่างนั้น

แล้วทรงหงายภาชนะขึ้น ตรัสถามว่า “เธอเห็นภาชนะนี้ว่างเปล่าไหม?” สามเณรทูลว่า เห็น จึงตรัสว่า “คนที่ไม่มีความละอายในการพูดเท็จ ทั้งที่รู้อยู่ คุณธรรมแห่งสมณะของเขาก็ว่างเปล่า เหมือนอย่างนั้น

ตรัสถามว่า “ราหุล แว่นมีประโยชน์อย่างไร?

ทูลตอบว่า “มีประโยชน์สำหรับส่องดู พระเจ้าข้า

ตรัสว่า “อันนั้นเหมือนกัน ราหุล บุคคลควรพิจารณาเสียก่อน จึงกระทำกรรมด้วยกาย วาจา และใจ6

ในการสอนสามเณรนี้ บางทีก็ทรงใช้วิธีทายปัญหา ซึ่งคงจะช่วยให้เกิดความรู้สึกสนุกสำหรับเด็ก อย่างเรื่องสอนธรรมยากๆ ด้วยสามเณรปัญหาว่า “อะไรเอ่ย มีอย่างเดียว?, อะไรเอ่ย มีสองอย่าง?, อะไรเอ่ย มีสามอย่าง?” ฯลฯ7

๔. การทำเป็นตัวอย่าง วิธีสอนที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะในทางจริยธรรม คือการทำเป็นตัวอย่าง ซึ่งเป็นการสอนแบบไม่ต้องกล่าวสอน เป็นทำนองการสาธิตให้ดู แต่ที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำนั้นเป็นไปในลักษณะที่ทรงเป็นผู้นำที่ดี

การสอนโดยทำเป็นตัวอย่าง ก็คือพระจริยาวัตรอันดีงามที่เป็นอยู่ตามปกตินั่นเอง แต่ที่ทรงปฏิบัติเป็นเรื่องราวเฉพาะก็มี เช่น

คราวหนึ่ง พระพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระอานนท์ตามเสด็จ ขณะเสด็จไปตามเสนาสนะที่อยู่ของพระสงฆ์ ได้ทอดพระเนตรเห็นพระภิกษุรูปหนึ่ง อาพาธเป็นโรคท้องร่วง นอนจมกองมูตรและคูถของตน ไม่มีผู้พยาบาลดูแล จึงเสด็จเข้าไปหา จัดการทำความสะอาด ให้นอนโดยเรียบร้อย เสร็จแล้วจึงทรงประชุมสงฆ์ ทรงสอบถามเรื่องนั้น และตรัสตอนหนึ่งว่า

“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่มีมารดา ไม่มีบิดา ผู้ใดเล่าจะพยาบาลพวกเธอ ถ้าพวกเธอไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจักพยาบาล ผู้ใดจะอุปฐากเรา ผู้นั้นพึงพยาบาลภิกษุอาพาธเถิด”8

๕. การเล่นภาษา เล่นคำ และใช้คำในความหมายใหม่ การเล่นภาษาและเล่นคำ เป็นเรื่องของความสามารถในการใช้ภาษาผสมกับปฏิภาณ ข้อนี้ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระพุทธเจ้าที่มีรอบไปทุกด้าน

เมื่อผู้ใดทูลถามมาเป็นคำร้อยกรอง พระองค์ก็ทรงตอบเป็นคำร้อยกรองไปทันที ทำนองกลอนสด

บางทีเขาทูลถามหรือกล่าวข้อความโดยใช้คำที่มีความหมายไปในทางไม่ดีงาม พระองค์ก็ตรัสตอบไปด้วยคำพูดเดียวกันนั้นเอง แต่เป็นคำพูดในความหมายที่ต่างออกไปเป็นฝ่ายดีงาม

คำสนทนาโต้ตอบแบบนี้ มีรสอยู่แต่ในภาษาเดิม แปลออกสู่ภาษาอื่นย่อมเสียรสเสียความหมาย ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เช่นในภาษาไทยว่า “ปากกาหัก” “ฟันตาตกน้ำ” อาจใช้ในความหมายต่างกันได้ในภาษาไทย แต่เมื่อแปลเป็นภาษาอื่นย่อมเสียรส

บางครั้ง ผู้มาเฝ้า บริภาษพระองค์ด้วยคำพูดที่รุนแรงยิ่ง พระองค์ทรงยอมรับคำบริภาษเหล่านั้นทั้งหมด แล้วทรงแปลความหมาย อธิบายเสียใหม่ให้เป็นเรื่องที่ดีงาม เช่น กรณีของเวรัญชพราหมณ์9 และสีหเสนาบดีผู้รับแผนมาจากนิครนถนาฏบุตร10

แม้ในด้านการสอนหลักธรรมทั่วไป พระองค์ก็ทรงรับเอาคำศัพท์ที่มีใช้อยู่แต่เดิมในลัทธิศาสนาเก่ามาใช้ แต่ทรงกำหนดความหมายให้ใหม่ ซึ่งเป็นวิธีการช่วยให้ผู้ฟังผู้เรียนหันมาสนใจ และกำหนดคำสอนได้ง่าย เพียงแต่มาทำความเข้าใจเสียใหม่เท่านั้น และเป็นการช่วยให้มีการพิจารณาเปรียบเทียบไปในตัวด้วยว่า อย่างไหนถูก อย่างไหนผิดอย่างไร

จึงเห็นได้ว่า คำว่า พรหม พราหมณ์ อริยะ ยัญ ตบะ ไฟบูชายัญ ฯลฯ ซึ่งเป็นคำในลัทธิศาสนาเดิม ก็มีใช้ในพระพุทธศาสนาด้วยทั้งสิ้น แต่มีความหมายต่างออกไปเป็นอย่างใหม่

๖. อุบายเลือกคน และการปฏิบัติรายบุคคล การเลือกคนเป็นอุบายสำคัญในการเผยแพร่พระศาสนา ในการประกาศธรรมของพระพุทธเจ้า เริ่มแต่ระยะแรกประดิษฐานพระพุทธศาสนา จะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงดำเนินพุทธกิจด้วยพระพุทโธบายอย่างที่เรียกว่า การวางแผนที่ได้ผลยิ่ง ทรงพิจารณาว่า เมื่อจะเข้าไปประกาศพระศาสนาในถิ่นใดถิ่นหนึ่งควรไปโปรดใครก่อน

เมื่อตรัสรู้ใหม่ๆ ได้เสด็จไปโปรดเบญจวัคคีย์ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดพระองค์เมื่อครั้งออกแสวงธรรมก่อน ข้อนี้พิจารณาได้ทั้งในแง่ที่เบญจวัคคีย์เป็นผู้ใฝ่ธรรม มีอุปนิสัยอยู่แล้ว หรือในแง่ที่เป็นผู้เคยมีอุปการะกันมา หรือในแง่ที่ว่าเป็นการสร้างความมั่นใจ ทำให้ผู้เคยเกี่ยวข้องหมดความคลางแคลงในพระองค์ ตัดปัญหาในการที่ท่านเหล่านี้อาจไปสร้างความคลางแคลงใจขึ้นแก่ผู้อื่นต่อไปด้วย

ครั้นเสร็จสั่งสอนเบญจวัคคีย์แล้ว ก็ได้โปรดยสกุมาร พร้อมทั้งเศรษฐีผู้บิดา และญาติมิตร และเมื่อจะเสด็จเข้าแคว้นมคธ พระองค์ก็เสด็จไปโปรดชฎิล ๓ พี่น้อง พร้อมทั้งบริวารทั้งพัน เริ่มด้วยชฎิลคนพี่ใหญ่เสียก่อน แล้วนำชฎิลเหล่านี้ ผู้กลายเป็นสาวกแล้ว เข้าสู่นครราชคฤห์ ประกาศธรรม ณ พระนครนั้น ได้ราชาเป็นสาวก

เป็นอันว่าพอเริ่มต้นประกาศพระศาสนา ก็ได้ทั้งนักบวชผู้ใหญ่ เศรษฐี และราชา ซึ่งเป็นคนชั้นสูงสมัยนั้นเป็นสาวก เป็นการทำทางเสด็จเผยแผ่ให้ปลอดโปร่งต่อไป

ในการทรงสั่งสอนคนแต่ละถิ่น หรือแต่ละหมู่คณะ ก็มักทรงเริ่มต้นที่บุคคลผู้เป็นประมุข เช่นพระมหากษัตริย์ หรือหัวหน้าของชนหมู่นั้นๆ ทำให้การประกาศพระศาสนาได้ผลดีและรวดเร็ว และเป็นการยืนยันพระปรีชาสามารถของพระองค์ด้วย

ในการบำเพ็ญพุทธกิจประจำวัน พระองค์ก็ทรงสอดส่องพิจารณาบุคคลผู้ควรโปรดในวันนั้นตั้งแต่เวลาจวนรุ่งสาง และเสด็จไปโปรดในเวลาเช้า เป็นการให้ความสนพระทัยสงเคราะห์บุคคลเป็นรายๆ ซึ่งให้ผลดีในการสอนยิ่งกว่าการสอนแบบสาดๆ ไป

แม้เมื่อแสดงธรรมในที่ประชุม ก็ทรงกำหนดบุคคลที่ควรเอาพระทัยใส่พิเศษในคราวนั้นๆ ไว้ด้วย กับทั้งแสดงธรรมโดยวิธีการที่จะทำให้ทุกคนในที่ประชุมได้รับผลประโยชน์ไปอย่างเป็นที่น่าพอใจ ให้เกิดความรู้สึกแก่ทุกคนว่า พระพุทธเจ้าตรัสอยู่กับตน ดังกล่าวมาแล้ว

๗. การรู้จักจังหวะและโอกาส ผู้สอนต้องรู้จักใช้จังหวะและโอกาสให้เป็นประโยชน์ เมื่อยังไม่ถึงจังหวะ ไม่เป็นโอกาส เช่น ผู้เรียนยังไม่พร้อม ยังไม่เกิดปริปากะแห่งญาณหรืออินทรีย์ ก็ต้องมีความอดทน ไม่ชิงหักหาญหรือดึงดันทำ แต่ก็ต้องตื่นตัวอยู่เสมอ เมื่อถึงจังหวะหรือเป็นโอกาส ก็ต้องมีความฉับไวที่จะจับมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ไม่ปล่อยให้ผ่านเลยไปเสียเปล่า

แม้ในการเผยแพร่ธรรมแก่คนส่วนใหญ่ พระพุทธเจ้าก็ทรงปฏิบัติตามจังหวะและโอกาสด้วย เช่น

ในระยะแรกประกาศพระศาสนา ณ วันมาฆบูรณมี หลังตรัสรู้ ๙ เดือน เมื่อประทับอยู่ ณ เวฬุวัน พระสงฆ์สาวกมาชุมนุมพร้อมกัน ณ ที่นั้น และเป็นโอกาสเหมาะ พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์สำหรับเป็นหลักยึดถือร่วมกันของสงฆ์ ที่จะแยกย้ายกันไปบำเพ็ญศาสนกิจ

เมื่อคราวนิครนถนาฏบุตรสิ้นชีวิต เกิดความแตกแยกในหมู่นิครนถ์ พระสารีบุตรถือเหตุการณ์นั้นเป็นตัวอย่าง ชี้ให้ภิกษุสงฆ์เห็นความสำคัญในการร้อยกรองธรรมวินัย ชักชวนพระสงฆ์ให้พร้อมใจกันทำสังคายนา และท่านได้ทำสังคายนาเป็นตัวอย่าง โดยแสดงสังคีติสูตรไว้11

๘. ความยืดหยุ่นในการใช้วิธีการ ถ้าผู้สอนสอนอย่างไม่มีอัตตา ตัดตัณหา มานะ ทิฏฐิเสียได้ ก็จะมุ่งไปยังผลสำเร็จในการเรียนรู้เป็นสำคัญ สุดแต่จะใช้กลวิธีใดให้การสอนได้ผลดีที่สุด ก็จะทำในทางนั้น ไม่กลัวว่าจะเสียเกียรติ ไม่กลัวจะถูกรู้สึกว่าแพ้ บางคราวเมื่อสมควรก็ต้องยอมให้ผู้เรียนรู้สึกตัวว่าเขาเก่ง บางคราวสมควรข่มก็ข่ม บางคราวสมควรโอนอ่อนผ่อนตาม ก็ยอมตาม สมควรขัดก็ขัด สมควรคล้อยก็คล้อย สมควรปลอบก็ปลอบ มีพุทธพจน์ว่า

“เราย่อมฝึกคนด้วยวิธีละมุนละไมบ้าง ด้วยวิธีรุนแรงบ้าง ด้วยวิธีที่ทั้งอ่อนละมุนละไม และทั้งรุนแรงปนกันไปบ้าง”12

คนบางคน จะให้เขายอมได้ด้วยการที่ยอมให้เขารู้สึกว่าตัวเขามีเกียรติหรือเก่ง หรือได้สมใจก่อน ผู้สอนจับจุดได้ก็ใช้วิธีสนองความต้องการแล้วดึงเข้าสู่ที่หมายได้ตามประสงค์ เช่น คราวที่เวรัญชพราหมณ์บริภาษพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงรับสมอ้างตามคำบริภาษนั้นให้สมใจพราหมณ์ แล้วจึงค่อยชี้แจงแก้ไข ให้เขายอมรับตามพระองค์ภายหลัง

เมื่อเผชิญอาฬวกยักษ์ผู้ดุร้าย พระองค์เสด็จเข้าไปในที่อยู่ของอาฬวกะ อาฬวกะสั่งพระองค์ให้เสด็จออกไป พระองค์ก็เสด็จออกตามสั่ง อาฬวกะสั่งพระองค์ให้เสด็จเข้าไปอีก พระองค์ก็เสด็จเข้าอีก อาฬวกะสั่งให้พระองค์เสด็จเข้าเสด็จออกอย่างนี้ ซึ่งพระองค์ก็ทรงปฏิบัติตามอย่างว่าง่ายถึง ๓ วาระ ให้เขารู้สึกสมใจในอำนาจของตนก่อน ต่อจากนั้นจึงทรงเปลี่ยนกลวิธีและก็ได้โปรดอาฬวกะลงเป็นสาวกสำเร็จ13

อีกตัวอย่างหนึ่ง พราหมณ์คนหนึ่งเป็นคนมีมานะ นิสัยแข็งกระด้าง ไม่ไหว้แม้แต่มารดา บิดา อาจารย์ และพี่ชาย วันหนึ่งขณะพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมอยู่ในที่ประชุม เขาคิดว่าจะลองเข้าไปเฝ้า

“ถ้าพระสมณโคดมตรัสกะเรา เราก็จะพูดกับท่าน ถ้าพระสมณโคดม ไม่ตรัสกะเรา เราก็จะไม่พูดกับท่าน”

แล้วเข้าไปยืนอยู่ข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคก็ทรงเฉยเสีย ไม่ตรัสด้วย พราหมณ์ทำท่าจะกลับออกไปโดยคิดว่า

“พระสมณโคดมองค์นี้ไม่มีความรู้อะไร”

พระผู้มีพระภาคทราบความในใจของเขาอยู่ ถึงตอนนี้จึงตรัสคาถาว่า

“พราหมณ์เอย ความถือตัวไม่ช่วยให้ใครได้ดีอะไรเลย ใครมาเพื่อประโยชน์ใด ก็ควรเสริมสร้างประโยชน์นั้นเสีย”

เมื่อตรัสพระดำรัสนี้ ในจังหวะนี้ ก็ได้ผล ทำให้พราหมณ์ชะงักคิดว่า “พระสมณโคดมรู้ใจเรา” ถึงยอมทรุดลงนั่งแสดงคารวะ ทำให้ที่ประชุมงงงวยประหลาดใจว่า

“น่าอัศจรรย์จริง พราหมณ์นี้ไม่ไหว้แม้แต่มารดา บิดา อาจารย์ พี่ชาย แต่พระสมณโคดมทรงทำให้คนอย่างนี้นอบนบได้เป็นอย่างดี”

จากนั้นพระองค์จึงได้ทรงเชิญให้เขานั่งบนอาสนะแล้วตอบปัญหาธรรมแก่เขา จนลงท้ายเขาได้ประกาศตนเป็นอุบาสก14

๙. การลงโทษและให้รางวัล มีคำสรรเสริญพระพุทธคุณที่ยกมาแสดงข้างต้นแล้วว่า

“พระผู้มีพระภาคทรงฝึกอบรมชุมชนได้ดีถึงเพียงนี้ โดยไม่ต้องใช้อาชญา”15

ซึ่งแสดงว่า การใช้อำนาจลงโทษ ไม่ใช่วิธีการฝึกคนของพระพุทธเจ้า แม้ในการแสดงธรรมตามปกติพระองค์ก็ทรงแสดงไปตามเนื้อหาธรรม ไม่กระทบกระทั่งใคร อย่างที่ว่า

“ทรงแสดงธรรมในบริษัท ไม่ทรงยอบริษัท ไม่ทรงรุกรานบริษัท ทรงชี้แจงให้บริษัทเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมิกถา”16

และว่า

“พึงรู้จักการยกยอ และการรุกราน ครั้นรู้แล้วไม่พึงยกยอ ไม่พึงรุกราน พึงแสดงแต่ธรรมเท่านั้น”17

ข้อนี้ ตีความไปได้ถึงว่า ไม่ใช้ทั้งวิธีลงโทษและให้รางวัล แม้ว่าพระพุทธเจ้าจะทรงใช้การชมเชยยกย่องบ้าง ก็เป็นไปในรูปการยอมรับคุณความดีของผู้นั้น กล่าวชมโดยธรรม ให้เขามั่นใจในการกระทำความดีของตน แต่ไม่ให้เกิดเป็นการเปรียบเทียบข่มคนอื่นลง

บางทีทรงชมเพื่อให้ถือเป็นตัวอย่าง หรือเพื่อแก้ความเข้าใจผิด ให้ตั้งทัศนคติที่ถูก เช่น ทรงชมพระนันทกะ18 ชมพระนวกะรูปหนึ่ง19 ชมพระสุชาต20 ชมพระลกุณฏกภัททิยะ21 ชมพระวิสาขปัญจาลบุตร22 และตำหนิเตือนพระนันทะ23 เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การลงโทษน่าจะมีอยู่แบบหนึ่ง คือ การลงโทษตนเอง ซึ่งมีทั้งในทางธรรม และทางวินัย

ในทางพระวินัย ถือว่ามีบทบัญญัติความประพฤติอยู่แล้ว และบทบัญญัติเหล่านี้พระพุทธเจ้าทรงตราไว้ โดยความเห็นชอบร่วมกันของสงฆ์ พร้อมทั้งมีบทกำหนดโทษไว้เสร็จ เมื่อผู้ใดล่วงละเมิดก็เป็นการกระทำผิดต่อส่วนรวม ต้องไถ่ถอนความผิดของตน มิฉะนั้นจะเป็นผู้ไม่เป็นที่ยอมรับของสงฆ์คือหมู่คณะทั้งหมด

ส่วนในทางธรรม ภิกษุที่เหลือขอจริงๆ สอนไม่ได้ ก็กลายเป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าและเพื่อนพรหมจารีทั้งปวงไม่ถือว่าเป็นผู้ที่ควรจะว่ากล่าวสั่งสอน โดยวิธีนี้ ถือว่าเป็นการลงโทษอย่างรุนแรงที่สุด24

พิจารณาจากพระพุทธคุณตอนต้นของข้อนี้ จะเห็นว่า การสอนโดยไม่ต้องลงโทษ เป็นการแสดงความสามารถของผู้สอนด้วย

ในระดับสามัญ สำหรับผู้สอนทั่วไป อาจต้องคิดคำนึงว่า การลงโทษ ควรมีหรือไม่ แค่ไหน และอย่างไร แต่ผู้ที่สอนคนได้สำเร็จผลโดยไม่ต้องใช้อาญาโทษเลย ย่อมชื่อว่าเป็นผู้มีความสามารถในการสอนมากที่สุด

๑๐. กลวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นต่างครั้งต่างคราว ย่อมมีลักษณะแตกต่างกันไปไม่มีที่สุด การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าย่อมอาศัยปฏิภาณ คือ ความสามารถในการประยุกต์หลัก วิธีการ และกลวิธีต่างๆ มาใช้ให้เหมาะสม เป็นเรื่องเฉพาะครั้ง เฉพาะคราวไป

อย่างไรก็ดี การได้เห็นตัวอย่างการแก้ปัญหาเช่นนี้ อาจช่วยให้เกิดความเข้าใจในแนวทางที่จะนำไปใช้ปฏิบัติได้บ้าง

ในการประกาศพระศาสนา พระพุทธเจ้าได้ทรงประสบปัญหาเฉพาะหน้าตลอดเวลา และทรงแก้สำเร็จไปในรูปต่างๆ กัน ตัวอย่างเช่น

พราหมณ์คนหนึ่งในเมืองราชคฤห์ ตนไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา แต่ภรรยาเป็นผู้มีศรัทธาในพระพุทธเจ้าอย่างแรงกล้า มักเปล่งอุทานว่า “นโม ตสฺส”

คราวหนึ่ง นางพราหมณีผู้ภรรยา ขณะนำอาหารมาให้สามี ก้าวพลาดลง จึงอุทานว่า “นโม ตสฺส”

พราหมณ์สามีได้ยินก็ไม่พอใจ จึงว่า “นางตัวร้ายนี่ชอบพูดสรรเสริญแต่ความดีของพระหัวโล้นองค์นั้นอยู่เรื่อย เดี๋ยวเถอะ นังตัวดี ข้าจะไปปราบวาทะศาสดาของแก”

นางพราหมณีตอบว่า “แน่ะ พ่อพราหมณ์ ฉันมองไม่เห็นว่าจะมีใครในโลกไหนๆ มาปราบวาทะของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เอาซิ พ่อพราหมณ์ จะไปก็เอา ไปแล้วก็จะรู้เอง”

ฝ่ายพราหมณ์ ทั้งโกรธอยู่นั้น ก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้ว ก็ทูลถามเป็นคำร้อยกรองว่า “ฆ่าตัวอะไรเสียได้ จึงจะนอนเป็นสุข ฯลฯ”

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “ฆ่าความโกรธเสียได้ ก็จะนอนเป็นสุข ฯลฯ” และทำให้พราหมณ์เลื่อมใสได้25

อีกเรื่องหนึ่ง พราหมณ์อีกคนหนึ่ง รู้ข่าวว่าพราหมณ์ตระกูลเดียวกับตนออกบวชอยู่กับพระพุทธเจ้า ก็โกรธ จึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไปถึงก็บริภาษพระองค์ด้วยคำหยาบคายต่างๆ พระพุทธเจ้าทรงปล่อยให้พราหมณ์นั้นบริภาษพระองค์เรื่อยไป จนพราหมณ์หยุดไปเอง

เมื่อพราหมณ์บริภาษจนพอแก่ใจ หยุดแล้ว พระองค์จึงตรัสถามว่า “ขอถามหน่อยเถิด ท่านพราหมณ์ พวกญาติมิตรแขกเหรื่อทั้งหลายน่ะ มีมาหาท่านบ้างหรือเปล่า?”

พราหมณ์ทูลว่า “ก็มีเป็นครั้งคราว”

พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า “แล้วท่านจัดอาหารของรับประทานมาให้เขาบ้างหรือเปล่า?”

พราหมณ์ทูลว่า “ก็จัดบ้าง”

พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า “ก็ถ้าคนเหล่านั้นเขาไม่รับสิ่งของเหล่านั้นเล่า ของจะเป็นของใคร?”

พราหมณ์กราบทูลว่า “ถ้าเขาไม่รับ มันก็เป็นของฉันเองน่ะซี”

พระพุทธเจ้าตรัสตอบ ความว่า “เอาละ เรื่องนี้ก็เหมือนกัน ที่ท่านมาด่าเราน่ะ เราไม่ขอรับคำด่าของท่านละ ขอให้เป็นของท่านเองก็แล้วกัน”

จากนั้น จึงได้ทรงสนทนากับพราหมณ์ต่อไปจนพราหมณ์เลื่อมใสยอมเป็นสาวก26

อีกเรื่องหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จไปบิณฑบาตที่บ้านอุทัยพราหมณ์ วันแรกพราหมณ์เอาข้าวมาใส่บาตรถวายจนเต็ม วันที่สอง พระพุทธเจ้าเสด็จไปอีก พราหมณ์ก็ถวายอีก

วันที่สาม พระพุทธเจ้าเสด็จไปอีก พราหมณ์ก็ถวายอีก แต่คราวนี้ พอถวายแล้ว ก็กล่าวว่า “พระสมณโคดมองค์นี้ติดใจ จึงมาบ่อยๆ”

พระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบร้อยกรองเป็นคาถาเล่นคำโดยปฏิภาณ เป็นทำนองเตือนพราหมณ์โดยนัยว่า ไฉนจะท้อถอยเสีย การกระทำส่วนมากจะให้ได้ผลก็ต้องทำบ่อยๆ ดังนี้

“กสิกรก็หว่านพืชบ่อยๆ ฝนก็ต้องตกบ่อยๆ
ชาวนาก็ต้องไถนาบ่อยๆ รัฐจึงมั่งมีธัญญาหารบ่อยๆ
คนมาขอบ่อยๆ คนให้ให้ไปบ่อยๆ
คนให้ครั้นให้บ่อยๆ ก็ได้พบสวรรค์บ่อยๆ
คนรีดนมก็ย่อมรีดบ่อยๆ ลูกวัวก็หาแม่บ่อยๆ
ย่อมต้องเหนื่อยต้องดิ้นรนบ่อยๆ (ส่วน) คนเขลาเข้าหาครรภ์บ่อยๆ
แล้วก็เกิดก็ตายบ่อยๆ ต้องหามไปป่าช้าบ่อยๆ
มีปัญญาพบทางไม่เกิดบ่อย จึงไม่ต้องเกิดบ่อยๆ
(หรือ : คนฉลาดถึงเกิดบ่อยๆ ก็เพื่อพบทางไม่ต้องเกิดบ่อย)27

หรืออีกเรื่องที่คล้ายๆ กันว่า พระพุทธเจ้าเสด็จไปในบริเวณที่เขาเตรียมหว่านข้าวทำนา ขณะเขากำลังเลี้ยงดูกันอยู่ พระองค์ได้เสด็จไปประทับยืนอยู่ด้านหนึ่ง พราหมณ์เจ้าของนาเห็น ก็คิดว่าพระองค์มาขอบิณฑบาต จึงกล่าวว่า

“ท่านสมณะ ข้าพเจ้าย่อมไถนา หว่านข้าว ครั้นแล้วจึงได้บริโภค แม้ท่านก็จงไถนา จงหว่านข้าว แล้วจงบริโภคเอาเถิด”

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “ดูก่อนพราหมณ์ แม้เราก็ไถ ก็หว่านเหมือนกัน เมื่อได้ไถหว่านแล้วจึงได้บริโภค”

พราหมณ์ทูลว่า “ท่านสมณะ ข้าพเจ้าไม่เห็นท่านมีแอก มีไถ มีผาล มีปฏัก หรือโคเลย ไฉนท่านจึงมากล่าวว่า ‘แม้เราก็ไถก็หว่าน เสร็จแล้วจึงได้บริโภคเหมือนกัน’” แล้วก็สนทนาเป็นกลอนสด ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสตอบเป็นคาถาเช่นกันว่า

“เรามีศรัทธาเป็นพืช ความเพียรเป็นฝน ปัญญาเป็นแอกและไถ ฯลฯ เราไถนาอย่างนี้แล้ว ย่อมได้อมฤตเป็นผล ทำนาอย่างนี้แล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง”28

ขอจบเรื่องนี้ โดยนำเอาดำรัสของพระเจ้าปเสนทิโกศล มาเป็นคำสรุป ดังนี้

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง หม่อมฉันได้เห็นกษัตริย์บัณฑิตบางพวก ผู้มีปัญญาสุขุม สามารถปราบวาทะฝ่ายปรปักษ์ได้ มีปัญญาเฉียบแหลมดุจจะยิงขนทรายได้ ท่านเหล่านั้น เหมือนจะเที่ยวได้เอาปัญญาไปทำลายหลักทฤษฎีทั้งหลายของคนอื่นๆ

“พอได้ยินข่าวว่าพระสมณโคดมจักเสด็จมายังบ้านหรือนิคมโน้นๆ กษัตริย์เหล่านั้นก็พากันเตรียมปัญหาไว้ ด้วยตั้งใจว่า พวกเราจักพากันเข้าไปหาพระสมณโคดมแล้วถามปัญหา ถ้าพระสมณโคดมถูกพวกเราถามไปอย่างนี้ ตอบแก้มาอย่างนี้ พวกเราจะปราบวาทะของพระองค์อย่างนี้ ถ้าพระสมณโคดมถูกพวกเราถามอย่างนี้ ตอบแก้มาอย่างนี้ พวกเราก็จะปราบวาทะของพระองค์เสียอย่างนี้

“ครั้นได้ทราบข่าวว่าพระสมณโคดมเสด็จมาถึงบ้านหรือนิคมโน้นแล้ว ก็พากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้กษัตริย์เหล่านั้นเข้าใจชัด ให้เห็นตาม ให้แข็งขัน ให้บันเทิง ด้วยธรรมีกถาแล้ว กษัตริย์เหล่านั้นก็มิได้ทูลถามปัญหากะพระผู้มีพระภาค ที่ไหนเลยจะมาปราบวาทะพระองค์ได้เล่า ที่แท้กลับพากันมาสมัครตัวเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้อนี้ ก็เป็นความเลื่อมใสอันเนื่องด้วยธรรมของหม่อมฉัน ที่มีต่อพระผู้มีพระภาค

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง หม่อมฉันได้เห็นพราหมณ์บัณฑิต ฯลฯ คฤหบดีบัณฑิต…สมณบัณฑิตบางพวก ผู้มีปัญญาสุขุม สามารถปราบวาทะฝ่ายปรปักษ์ได้ มีปัญญาเฉียบแหลม ดุจจะยิงขนทรายได้ ท่านเหล่านั้น เหมือนจะเที่ยวได้เอาปัญญาไปทำลายหลักทฤษฎีทั้งหลายของคนอื่นๆ

“พอได้ยินข่าวว่า พระสมณโคดมจักเสด็จมายังบ้านหรือนิคมโน้นๆ สมณะเหล่านั้นก็จะพากันเตรียมปัญหาไว้…พากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้สมณะเหล่านั้นเข้าใจชัด ให้เห็นตาม ให้แข็งขัน ให้บันเทิงด้วยธรรมีกถาแล้ว สมณะเหล่านั้นก็มิได้ทูลถามปัญหากะพระผู้มีพระภาค ที่ไหนเลยจะปราบวาทะของพระองค์ได้เล่า ที่แท้ก็พากันทูลขอโอกาสกะพระผู้มีพระภาคเพื่อออกบวชเป็นบรรพชิต พระผู้มีพระภาคก็ทรงบรรพชาให้

“ครั้นได้บรรพชาแล้วเช่นนั้น ท่านก็ปลีกตัวออกไปอยู่สงัด เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว ไม่นานเลยก็ได้รู้ยิ่งเห็นจริง กระทำสำเร็จซึ่งประโยชน์สูงสุด อันเป็นจุดหมายแห่งพรหมจรรย์ อันเป็นที่ปรารถนาของกุลบุตรผู้ออกบวชทั้งหลาย ด้วยตนเอง ในปัจจุบันชาตินี้เอง

“ท่านเหล่านั้นพากันกล่าวว่าดังนี้ ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พวกเราไม่พินาศแล้วสิหนอ แต่ก่อนนี้ พวกเราทั้งที่มิได้เป็นสมณะจริงเลย ก็ปฏิญาณว่าตนเป็นสมณะ ทั้งที่มิได้เป็นพราหมณ์จริงเลย ก็ปฏิญาณว่าตนเป็นพราหมณ์ ทั้งที่มิได้เป็นพระอรหันต์จริงเลย ก็ปฏิญาณว่าตนเป็นพระอรหันต์ บัดนี้พวกเราเป็นสมณะจริงแล้ว เป็นพราหมณ์จริงแล้ว เป็นพระอรหันต์จริงแล้ว’

“แม้ข้อนี้ก็เป็นความเลื่อมใสอันเนื่องด้วยธรรมของหม่อมฉันที่มีต่อพระผู้มีพระภาค…”29ฯ.

“ภิกษุทั้งหลาย ทุกอย่างลุกเป็นไฟไปหมดแล้ว… ลุกเป็นไฟเพราะอะไร… เพราะไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ… เพราะชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส….”

(วินย. ๔/๕๕/๖๒)

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ๕. วิธีสอนแบบต่างๆนิเทศอาทิตตปริยายสูตร >>

เชิงอรรถ

  1. ชา.อ. ๒/๒๓
  2. ชา.อ. ๒/๒๖
  3. ขุ.ธ. ๒๕/๑๖
  4. สํ.ม. ๑๙/๕๑๖
  5. ขุ.ธ. ๒๕/๒๑
  6. จูฬราหุโลวาทสูตร, ม.ม. ๑๓/๑๒๕–๑๒๙
  7. ขุ.ขุ. ๒๕/๔
  8. วินย. ๕/๑๖๖
  9. วินย. ๑/๒; องฺ.อฎฐก. ๒๓/๑๐๑
  10. วินย. ๕/๗๘; องฺ.อฎฐก. ๒๓/๑๐๒
  11. ที.ปา. ๑๑/๒๒๑–๓๖๓
  12. องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๑๑๑
  13. ขุ.สุ. ๒๕/๓๑๐
  14. สํ.ส.๑๕/๖๙๔–๗๐๐
  15. ม.ม. ๑๓/๕๖๕
  16. ม.ม. ๑๓/๕๘๙
  17. ม.อุ. ๑๔/๖๕๘
  18. องฺ.นวก. ๒๓/๒๐๘
  19. สํ.นิ. ๑๖/๖๙๖–๗๑๒
  20. สํ.นิ. ๑๖/๖๙๖–๗๑๒
  21. สํ.นิ. ๑๖/๖๙๖–๗๑๒
  22. สํ.นิ. ๑๖/๖๙๖–๗๑๒
  23. สํ.นิ. ๑๖/๖๙๖–๗๑๒
  24. องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๑๑๑
  25. สํ.ส. ๑๕/๖๒๖–๖๓๐
  26. สํ.ส. ๑๕/๖๓๑–๖๓๔ (แปลตัดรวบรัดความ)
  27. สํ.ส. ๑๕/๖๗๗–๖๘๑ (คำบาลีบางคำในที่นี้ตีความอย่างอื่นได้ด้วย คำแปลในที่นี้ จึงไม่อาจได้อรรถรสบริบูรณ์)
  28. สํ.ส. ๑๕/๖๗๑–๖๗๕; ขุ.สุ. ๒๕/๒๙๗–๓๐๐
  29. ม.ม. ๑๓/๕๖๗-๘

No Comments

Comments are closed.