ทัศนะชาวตะวันตกที่มองชาวพุทธ

1 กรกฎาคม 2525
เป็นตอนที่ 4 จาก 10 ตอนของ

ทัศนะชาวตะวันตกที่มองชาวพุทธ

ทีนี้ เรามองดูว่าคนอื่นเขาคิดอย่างไรต่อเรา ลองมองดูพวกตะวันตก เพราะพวกนี้นับถือศาสนาอื่นเป็นส่วนมาก แล้วก็ต่างวัฒนธรรม ต่างอารยธรรม ดูว่าในช่วงเวลาไม่นานมานี้ที่เขามาสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเรา เขามองเราอย่างไร ภาพที่เขามองประเทศไทยนี่หรือเอเชียอาคเนย์ทั้งหมด

ด้านหนึ่ง เขามองไปที่เรื่องการประพฤติปฏิบัติ การแสวงหาการบำเพ็ญเพียรทางจิตใจ ด้านนี้ก็ปรากฏว่า มีพวกชาวตะวันตกไม่น้อยเลยมีความตื่นเต้น และได้มองเห็นเมืองไทยว่ามีความเจริญในด้านนี้ เราก็เอามาพูดมาภูมิใจกันว่า พระพุทธศาสนาของเราที่นับถือนั้น มีคนต่างชาติ ต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรม เลื่อมใส แสดงว่าเรามีของดีแน่

ชาวต่างชาติเหล่านี้ไปอยู่ในป่าในเขาก็หลายท่าน มีสำนักที่เป็นพระต่างประเทศล้วนๆ อยู่ในเมืองไทย ถึงกับเจ้าอาวาสเป็นพระฝรั่ง1 ก็มี และคำสอนเหล่านี้ก็ยังแพร่หลายไปในทางตะวันตก ฝรั่งมาเล่าเรียนไป มาปฏิบัติ มาบวชพระ ไปแล้วกลับไปประเทศของตน บางทีถึงแม้จะสึกไปแล้ว แกก็ไปตั้งสำนักกัมมัฏฐาน2 สอนในอเมริกาก็มี อันนี้เป็นข้อที่น่าชื่นชม

แต่มองไปอีกด้านหนึ่ง พวกที่มองทางด้านสังคมในช่วง ๑๐ หรือ ๒๐ ปีมานี้ ในด้านนี้จะปรากฏคำติเตียนพระพุทธศาสนาอย่างมากมาย การริเริ่มในทางติเตียนนี้มีนานหลายสิบปีแล้ว เช่น นักสังคมวิทยาชาวเยอรมันที่มีชื่อเสียงชื่อ แมกซ์ เวเบอร์ แต่ว่าในช่วง ๑๐ กว่า ๒๐ ปีนี้ก็เด่น ตัวอย่างเช่น เมื่อตั้งคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ที่สอนในระดับปริญญาขั้นสูงเหนือกว่าปริญญาตรี ตอนนั้นได้มีโครงการร่วมกับทางมหาวิทยาลัยในประเทศอเมริกาและอาจารย์ในเมืองนอก ก็มาร่วมช่วยเหลือในการริเริ่ม ท่านเหล่านี้ก็ได้มาพิจารณาสำรวจสถาบันต่างๆ ที่เป็นพื้นฐานอะไรต่ออะไรของประเทศไทย ว่าจะเกื้อกูลแก่การพัฒนาประเทศชาติ โดยเฉพาะในการจัดสรรการปกครองประเทศนี้ให้เจริญก้าวหน้าไปอย่างไรบ้าง

มีท่านหนึ่งได้เขียนหนังสือไว้ คือ ศาสตราจารย์ซัทตัน เมื่อท่านกลับไปแล้ว หนังสือก็ออกมาปรากฏว่า ได้ติเตียนพุทธศาสนาอย่างมากมาย ว่าเป็นตัวการสำคัญขัดขวางการพัฒนาประเทศไทย ท่านผู้นี้นอกจากได้แสดงข้อสังเกตของตนเองแล้ว ก็ได้อ้างคำสอนของนักปราชญ์ เช่น อัลเบิร์ต ชไวเซอร์ ซึ่งเป็นนักปราชญ์เยอรมัน เป็นบาทหลวงที่มีชื่อเสียง ได้วิเคราะห์หลักคำสอนในพุทธศาสนาไว้ว่า เป็นไปในทางที่ขัดขวางความเจริญ

หลังจากนั้นก็ยังมีหนังสือเป็นพวกตำรับตำราก็มี ที่กล่าวตำหนิติเตียนพุทธศาสนาในแง่ของสังคมนี้อีกหลายเล่ม คำตำหนิติเตียนเหล่านี้ ชี้ให้เห็นว่า พุทธศาสนาไม่เกื้อกูลหรือขัดถ่วงต่อการพัฒนาประเทศชาติ โดยอ้างคำสอนที่สำคัญทั้งสิ้น เช่นว่า พุทธศาสนานี้สอนให้คนมีท่าทีแห่งการปลีกตัวหลีกลี้หลบหนีออกจากสังคม ไม่สู้สังคม ไม่เข้าร่วมแก้ไขปัญหา แต่พยายามปลีกตัวหนีหลบออกไป เป็นท่าทีที่ไม่เกื้อกูลแก่การแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ

แล้วคำสอนอย่างที่สอนกันอยู่ อย่างที่เชื่อกันอยู่ (คำสอนแท้จะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่) ก็สอนให้คนละชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์ ที่ว่าละชั่วนั้น เอาละ…ชั่วก็ละชั่ว แต่ว่าทำดีนั้นทำอย่างไร ว่าทำดี ก็คือเว้นชั่วว่างั้น ว่าพระพุทธศาสนาได้แค่นั้น เช่น เขายกตัวอย่างคำสอนในมรรค สัมมาวาจาเป็นไฉน นี้เป็นข้อความในบาลี คำจำกัดความในบาลีก็บอกว่า สัมมาวาจาก็คือเว้นจากพูดปด เว้นจากพูดคำหยาบ เว้นจากพูดคำส่อเสียด เว้นจากคำพูดเพ้อเจ้อ แค่นี้คือดีแล้ว ก็หมายความว่า พูดดีในพุทธศาสนา ก็แค่ไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ทำดีก็แค่นั้น ว่าสัมมากัมมันตะ ทำชอบ การงานชอบคืออะไร เว้นจากปาณาติบาต เว้นจากอทินนาทาน เว้นจากกาเมสุมิฉาจาร ก็เท่านั้น เว้นชั่วคือทำดี ทำดีคือแค่เว้นชั่ว ไม่ช่วยให้ชาวพุทธได้ทำอะไรที่เป็นเรื่องในทางสร้างสรรค์ แค่ว่า เว้นชั่วได้เท่านั้นเอง

อ้อ…ที่สอนให้ทำดีก็ยังมีบ้าง คือ หลักพรหมวิหาร เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แต่เมตตาทำอะไรก็บอกว่าให้แผ่เมตตา ก็แค่มานอนแผ่เมตตาอยู่ ไม่ได้สอนให้เข้าไปช่วยสังคม ไม่ได้ไปลงมือลงแรงทำการอะไร สอนได้แค่ว่านั่งแผ่เมตตาอยู่ในห้อง นี่คือดีของพุทธศาสนาแล้ว ฉะนั้น อย่างนี้ก็ไม่ช่วยแก้ปัญหาสังคมอะไรได้เลย

ทีนี้ เขาก็ว่าต่อไป หลักกรรม พระพุทธศาสนาก็สอนให้เห็นว่า คนที่เขาได้รับผลร้ายเกิดมาไม่ดี ยากจน มีโรคภัยไข้เจ็บพิการมา ก็เป็นเพราะผลกรรมของเขาแต่ชาติก่อน เมื่อมันเป็นกรรมของเขา เราก็วางอุเบกขา ก็วางเฉยเสีย ก็มันเป็นกรรมของเขาเองนี่ อุเบกขาในพรหมวิหารบอกว่า ไม่ยินดียินร้ายในการที่ผู้อื่นประสบความวิบัติใช่ใหมละ อ้าว…ก็เขาประสบความวิบัติ เพราะเกิดมาไม่ดี ก็เป็นกรรมของเขา เขาประสบความวิบัติ เราก็ไม่ยินดียินร้ายก็วางเฉย

รวมแล้วพุทธศาสนานี่ไม่เกื้อกูลแก่การพัฒนาประเทศชาติ ไม่ให้คนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้เอาตัวรอดคนเดียว อะไรต่ออะไรเขาก็ว่าไป แม้แต่คำสอนเรื่อง สุทธิ อสุทธิ ปัจจัตตัง นาญ โญ อัญญัง วิโสธเย ความบริสุทธิ์ ไม่บริสุทธิ์เป็นเรื่องเฉพาะตน คนอื่นจะทำให้คนอื่นบริสุทธิ์ไม่ได้ อะไรทำนองนี้ เขาก็ไปอ้างให้เห็นว่า พระพุทธศาสนานี่เอาแต่ตัวรอดคนเดียว ไม่ให้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

ทีนี้ ชาวพุทธเราได้ยินก็มีปฏิกิริยา บางท่านก็ได้ว่ากล่าวตอบโต้ บ้างก็ถึงกับใช้คำหยาบหรือถึงกับด่าเขา อย่างท่านซัทตัน ถูกด่ามาก มีผู้นำในหมู่ชาวพุทธบางท่านก็เขียนด่าอย่างแรงๆ ตอนหลังจากนั้นมาพวกเราก็ไม่ใส่ใจ ไม่สนใจ ลืมไปเสียเลย

ขอให้มาพิจารณาตามที่ว่านี้ เสียงของคนที่เขามองดูเรานี่ เป็นสิ่งที่เราควรจะนำมารับฟังและก็พิจารณาตนเอง บางทีเราอาจจะปฏิบัติคลาดเคลื่อนไปจากคำสอนของพระพุทธเจ้าที่แท้จริงก็ได้ พระพุทธเจ้าสอนเราอยู่แล้วให้รับฟังคำตำหนิติว่า อย่างในพรหมชาลสูตร นี่ก็เป็นพระสูตรแรกเลย พระสูตรแรกในบรรดาพระสูตรทั้งหลายในพระสุตตันตปิฎก คือ เล่มที่ ๙ ท่านบอกแล้วว่า ถ้าผู้อื่นมาติเตียนพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ก็ให้เราฟังด้วยจิตใจที่มั่นคง ไม่วู่วาม ไม่เที่ยวเร่าร้อนไป ให้พิจารณา อะไรที่มันไม่ถูกต้องก็ให้แก้ไขไป ตอบชี้แจงไปตามความเป็นจริง นี้เป็นตัวอย่างยกมาให้เห็นถึงแง่ที่มันเกิดปัญหาขึ้นมา เอาละ…นี่ก็เลยพูดขยายออกไปจากเรื่องพระคุณของพระพุทธเจ้า

รวมแล้วก็คือว่า หน้าที่ของชาวพุทธที่จะดำเนินตามพุทธจริยาวัตรนั้น ก็ได้แก่เรื่องอัตตหิตสมบัติและปรัตถปฏิบัติ ซึ่งมีธรรมะที่เป็นแกน เป็นมูลฐาน คือ ปัญญากับกรุณา ปัญญาเป็นคุณธรรมสำคัญในเรื่องของชีวิตของเรา การที่จะทำให้หลุดพ้นในขั้นสำเร็จกิจสำเร็จการก็อยู่ที่ปัญญา ทำให้เกิดอัตตหิตสมบัติ ซึ่งในขั้นสุดท้าย แม้แต่ศัพท์วิชาจำเพาะ เราก็ใช้คำว่า ปัญญาในรูปแบบต่างๆ เช่น วิปัสสนา หมายถึง ปัญญาที่รู้เท่าทันสภาวธรรมตามความเป็นจริง รู้เท่าทันเรื่องขันธ์ ๕ ไตรลักษณ์ รู้ปฏิจจสมุปบาท อะไรอย่างนี้

อีกด้านหนึ่งก็คือ คุณธรรมข้อกรุณาเป็นคุณธรรมที่เกื้อกูลในทางสังคม หรือจะให้เราทำหน้าที่ในทางสังคมได้ ดำเนินปรัตถปฏิบัติได้ ปรัตถปฏิบัตินี้ ถ้าเรามองดูในหลักของพระพุทธศาสนา จะเห็นว่าท่านสอนเราอยู่เสมอให้นึกถึงเพื่อนมนุษย์ สัตว์ทั้งหลายในฐานะเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันหมดทั้งสิ้น เพื่อนร่วมโลก เพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขของเรานี้ มันมีลักษณะอย่างหนึ่งใช้ศัพท์สมัยใหม่ว่า มีพัฒนาการในต่างระดับกัน ล้าหลังบ้าง ก้าวหน้าบ้าง มีคุณธรรมมากบ้างน้อยบ้าง ทั้งหมดนี้ล้วนมีลักษณะที่เป็นเพื่อนกันทั้งนั้น ไม่ว่าเขาจะใช้ศัพท์ว่าชั่วกว่าดีกว่าก็ตาม แม้จะชั่ว เลวทรามอะไร มันก็เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน

ฉะนั้นท่าทีของเราเบื้องแรกในฐานะที่อยู่ร่วมกัน คุณธรรมคู่กับกรุณาก็คือมีเมตตาก่อน มีความเมตตาต่อกัน มีความรักมีความปรารถนาดี ต้องการให้กันและกันมีความสุข และเมื่อเขาประสบความทุกข์หรือเราประสบความสุขแล้ว คนอื่นยังมีคุณธรรมที่ล้าหลังกว่า เราก็มีกรุณาคิดจะช่วยเหลือ ถ้าเรามองด้วยความเข้าใจในฐานะที่เขาเป็นเพื่อนร่วมโลก ร่วมเกิดแก่เจ็บตาย และด้วยคุณธรรมคือเมตตากรุณาแล้ว เราก็วางใจได้ถูก ต้องมองเห็นว่าชุมชนตามหลักพุทธศาสนา อาจประกอบด้วยบุคคลหรือเอกชน หรืออะไรก็ตามที่มีความแตกต่างกันได้มากมาย ตั้งแต่คนชั่วเลวทรามต่ำช้าที่เรียกว่ามากมายอย่างยิ่ง จนกระทั่งถึงดีจนกระทั่งบริสุทธิ์ไปเป็นพระอรหันต์ ชุมชนทั้งหมดนี้ควรจะได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนา ทุกคนควรจะน้อมเอาเข้ามาในวงการพุทธศาสนาได้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ปัญญา และ กรุณา พุทธคุณที่มาจาก อัตตหิตสมบัติ และปรัตถปฏิบัติความแตกต่างในสังคมชาวพุทธ >>

เชิงอรรถ

  1. ได้แก่วัดป่านานาชาติ สาขาวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี สวนโมกข์นานาชาติ สาขาสวนโมกขพลาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ฯลฯ
  2. เช่น นายแจ๊ค คอร์นฟิลด์ ชาวอเมริกัน เคยมาบวชอยู่กับหลวงพ่อชา ที่วัดหนองป่าพงระยะหนึ่ง เมื่อลาสิกขาแล้วได้กลับไปตั้งสำนักสอนกัมมัฏฐานที่เมือง Barre ในรัฐ Massachusette ประเทศสหรัฐอเมริกา

No Comments

Comments are closed.