ปัญญา และ กรุณา พุทธคุณที่มาจาก อัตตหิตสมบัติ และปรัตถปฏิบัติ

1 กรกฎาคม 2525
เป็นตอนที่ 3 จาก 10 ตอนของ

ปัญญา และ กรุณา พุทธคุณที่มาจาก
อัตตหิตสมบัติ และปรัตถปฏิบัติ

ทีนี้ สืบลึกลงไปอีก ท่านบอกว่า คุณคือสมบัติและปฏิบัติสองอย่างนี้มีความเกี่ยวข้องกันกับหลักธรรมใหญ่ๆ อยู่ ๒ ประการ และพุทธคุณที่ว่าเป็นอัตตหิตสมบัติและปรัตถปฏิบัติ ก็มาจากธรรม ๒ ประการนี้

ข้อที่ ๑ คือ ปัญญา ความรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง

ข้อที่ ๒ คือ กรุณา ความมีจิตหวั่นไหวเมื่อผู้อื่นมีความทุกข์ พร้อมที่จะช่วยเหลือให้เขาพ้นจากความทุกข์

สรุปว่า พุทธคุณ ถ้าพูดในแง่ของตัวธรรมะที่เป็นแกนเป็นแหล่งที่มาของการปฏิบัติกิจการ ก็มีปัญญา และกรุณา พุทธคุณ ก็สรุปลงไปได้เป็น ๒ ข้อ ตอนหลังเราเพิ่มวิสุทธิคุณเข้าไปอีกข้อหนึ่ง หรือใครจะเพิ่มอะไรเข้าไปอีกก็ได้ ในเมืองไทยนิยมเพิ่มวิสุทธิคุณเข้าไปเป็น ๓ แต่ว่าตัวหลักแท้ๆ ก็มี ๒ คือ ปัญญาคุณ กับกรุณาคุณ นี่ของแท้และดั้งเดิม เป็นคุณธรรมหลักของพระพุทธเจ้า พุทธศาสนิกชนหรือชาวพุทธในฐานะที่เป็นพุทธสาวกก็ดำเนินตามพระพุทธจริยาวัตรนี้ในการที่สร้างเสริมคุณธรรมหลักสำคัญ คือ ปัญญาและกรุณา

ควรสังเกตด้วยว่า คุณธรรม ๒ อย่างนี้มีความสำคัญมาก ถึงขั้นที่เป็นข้อแสดงความแตกต่างระหว่างสองนิกายใหญ่ของพระพุทธศาสนา คือ พุทธศาสนาเถรวาทอย่างที่เรานับถือกันนี้ มีปราชญ์มากมายบอกว่า เป็นนิกายที่เน้นคุณธรรมข้อปัญญา ทุกคนจะต้องเพียรพยายามฝึกอบรมปัญญา เพื่อเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนาด้วยเรี่ยวแรงของตน ส่วนนิกายมหายานเน้นคุณธรรมข้อกรุณา ถือว่าจะต้องพยายามช่วยเหลือผู้อื่นก่อน ตามคติพระโพธิสัตว์

คติพระโพธิสัตว์ถือว่า ถ้าหากคนอื่นยังไม่บรรลุ ไม่เข้าถึงนิพพาน ยังไม่พ้นจากบ่วงแห่งความทุกข์แล้ว ตัวเราเองก็จะไม่ยอมเข้าถึงความหลุดพ้นนั้น นี่เรียกว่า ยึดขยายกันออกไป ก็เกิดเป็นนิกายที่เรียกว่า ‘มหายาน’ ขึ้น เราถือว่า ๒ นิกายพุทธศาสนานี่เน้นคนละอย่าง เน้นปัญญาไปด้านหนึ่ง เน้นกรุณาไปอีกด้านหนึ่ง จากการที่เน้นต่างกันนี้ ก็ทำให้เกิดความแตกต่างกันขึ้นทั้งในหลักการปลีกย่อย ทั้งในด้านรูปแบบต่างๆ ขยายออกไปมากมายเหลือเกิน

อย่างไรก็ตาม การแตกแยกอันนี้ก็เป็นคติเตือนใจเราว่า เราจะต้องทบทวนกันเสมอๆ ว่าอันที่จริงแล้ว ธรรมะที่เป็นหลักเป็นคุณของพระพุทธเจ้าก็มีทั้ง ๒ ประการนี้ การที่จะเน้นไปข้างเดียวๆ จนเกินไปนั้น นานไปมันก็เกิดเป็นปัญหาขึ้นมาจนกระทั่งแยกนิกายกันได้เป็นต้น เมื่อเน้นจนเกินไปด้านใดด้านหนึ่งแล้ว มันก็เกิดความบกพร่องด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย อาจจะไปเสียอัตตหิตสมบัติ หรือไปเสียด้านปรัตถปฏิบัติ เพราะฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของชาวพุทธเองที่จะต้องมาพิจารณาสำรวจว่า หลักธรรมทั้ง ๒ ด้านนี่จะต้องพยายามทำให้บริบูรณ์ และพยายามที่จะไม่ให้เสื่อมเสียไปด้านใดด้านหนึ่ง

เรื่องการเน้นเกินไปจนกระทั่งเกิดการประพฤติปฏิบัติอะไรต่างๆ นี้ ถ้าเรารู้จักอาศัยภาพที่คนอื่นเขามองดูเรา บางทีก็ช่วยได้เหมือนกัน ยกตัวอย่างในเรื่องฝ่ายเถรวาท พุทธศาสนาเถรวาทโดยมากอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แถวๆ ประเทศไทย พม่า เขมร ลาว ที่เดี๋ยวนี้ก็เกิดสงสัยว่าเป็นอย่างไรบ้าง แล้วก็ไปลังกา ที่ถือว่าได้รับก่อน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< อัตตหิตสมบัติ กับ ปรัตถปฏิบัติทัศนะชาวตะวันตกที่มองชาวพุทธ >>

No Comments

Comments are closed.