ภาคสนทนา: การถือมังสวิรัติ ผิดหรือถูกอย่างไร

1 กรกฎาคม 2525
เป็นตอนที่ 10 จาก 10 ตอนของ

ในภาคสนทนา ได้มีผู้ถามปัญหาเกี่ยวกับมังสวิรัติว่า การถือในเรื่องนี้ผิดหรือถูกอย่างไร เห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ จึงขอตอบไว้ ณ ที่นี้ด้วย

เรื่องมังสวิรัตินี้ ขอให้พิจารณาด้วยใจเป็นกลาง ไม่ถือสาด้วยอารมณ์ ทั้งนี้เพราะปัจจุบันดูจะกลายเป็นเรื่องฝักฝ่าย ถือรั้นเข้าหากัน

สำหรับพระภิกษุถือไม่ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะถือฉันเนื้อ หรือถือมังสวิรัติ (ถือไม่ฉันเนื้อ) ข้อปฏิบัติที่ถูกต้องสำหรับพระภิกษุ คือ ฉันอาหาร (ทั้งนี้หมายถึงพระภิกษุในพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ส่วนพระภิกษุสงฆ์ฝ่ายมหายาน ท่านเลิกฉันอาหารบิณฑบาตนานแล้ว ถึงแม้ปัจจุบันนี้จะมีพระมหายานบิณฑบาตบ้าง ก็เป็นการกลับริเริ่มขึ้นใหม่บ้าง เป็นกิจที่คลาดเคลื่อนไปจากความหมายเดิมแล้วบ้าง นับไม่ได้)

ที่พูดนี้มิใช่เป็นการพูดเล่นสำนวน หมายความว่าพระสงฆ์ฉันอาหารตามที่ได้ สุดแต่ชาวบ้านถวาย เขากินอะไร ก็ได้ฉันตามนั้น ยกเว้นเพียงว่าเป็นอาหารเนื้อสัตว์ ถ้าพระได้เห็น ได้ยิน หรือระแวงสงสัย ว่าเขาฆ่าสัตว์นั้นโดยจำเพาะที่จะทำอาหารมาถวายแก่ตน อย่างนี้ฉันไม่ได้ มีความผิด หรือจะถือจำเพาะฉันอาหารมังสวิรัติ รังเกียจอาหารเนื้อสัตว์ก็ไม่ได้ พระเทวทัตต์ก็เคยขอพุทธานุญาต แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต1 ชาวบ้านเขามีอะไร เขากินอะไร ก็พลอยได้พลอยฉันตามนั้น เขามีแต่อาหารผัก ตัวอยากฉันเนื้อ ก็ไม่ได้ฉันอย่างใจ เขามีแต่อาหารเนื้อ ตัวอยากฉันมังสวิรัติ ก็หาได้ตามอยากไม่ ถ้าที่ไหนเมื่อใด ชาวบ้านเขากินมังสวิรัติกันหมด พระก็พลอยได้แต่ฉันอาหารมังสวิรัติไปเอง โดยไม่ต้องถือ พระจะสนับสนุนชาวบ้านถือมังสวิรัติก็ย่อมได้ แต่ตนเองไม่ควรขวนขวายจุกจิกวุ่นวายให้ความสำคัญเกินไปกับเรื่องอาหาร สำหรับพระผู้อาศัยเขายังชีพ เขาเลี้ยงง่าย อาหารเป็นเรื่องผ่านๆ ต้องให้วุ่นน้อยที่สุด

สำหรับคฤหัสถ์คือชาวบ้าน ถือมังสวิรัติได้ และเมื่อถือก็มีแง่ที่ควรแก่การยกย่องชมเชย คือ คือมีผลดีอยู่พอสมควร แม้จะเกินขีดความรับผิดชอบ เกินขั้นศีล อย่างน้อยก็ช่วยให้มีการเบียดเบียนสัตว์น้อยลงอีกส่วนหนึ่ง แม้จะไม่ถึงกับพ้นการเบียดเบียนได้สิ้นเชิง ดังตัวอย่างพระเจ้าอโศกมหาราชกษัตริย์ชาวพุทธองค์สำคัญ ก็ทรงดำเนินพระจริยาวัตร นำไปในทางที่จะให้เกิดมังสวิรัติ2 แม้แต่ประเพณีห้ามขายเนื้อขายปลาในวันพระของไทย ก็คงมุ่งหมายชักนำในทางนี้เหมือนกัน

อย่างไรก็ตามคฤหัสถ์ที่ถือมังสวิรัติ ควรรับฟังคำชมเชยสรรเสริญของผู้อื่นเท่านั้น ไม่พึงถือว่าตนดีกว่าผู้อื่นหรือใกล้พระนิพพานกว่าผู้อื่นเพราะการกินมังสวิรัติเลยเป็นอันขาด เพราะไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด มีแง่ที่ควรระลึกไว้เป็นเครื่องเตือนสติผู้ถือเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตลอดถึงการรับประทานมื้อเดียว และรับประทานน้อยที่สุด เป็นต้น อีกหลายอย่างเช่น

– ผู้ถือมังสวิรัติพึงสำนึกไว้เสมอว่าตนเองไม่มีทางดีกว่าหรือประเสริฐกว่าคนอย่างน้อยอีกประเภทหนึ่งได้เลย คือ คนที่เขาไม่วุ่นวาย ไม่ให้ความสำคัญอะไรนักกับเรื่องอาหาร พอมีอะไรช่วยรักษากายไว้ทำกิจได้ก็กิน ๆ เข้าไป เสียเวลา เสียแรงงาน เสียความใส่ใจกับเรื่องนี้น้อยที่สุด มุ่งแต่จะทำกิจที่พึ่งทำให้สำเร็จ เพราะคนประเภทนี้ดำเนินวิธีตามหลักของพระพุทธศาสนา

– มีคนอีกไม่น้อยที่ไม่มีโอกาสจะเลือก ว่ากินมังสวิรัติหรือไม่มังสวิรัติ เพราะแทบจะไม่มีกินเลย คำถามของเขาไม่ใช่ว่าจะกินอย่างไหน แต่เป็นว่าจะมีอะไรกิน ควรจะเอาใจใส่กับปัญหาประเภทนี้ มากกว่ามายุ่งอยู่กับเรื่องมังสวิรัติหรือไม่มังสวิรัติ

– มีวัตรบางอย่างที่ยิ่งไปกว่าการถือมังสวิรัติ เช่น การถือวัตรกินเฉพาะผลไม้ที่หล่นเองจากต้น วัตรข้อนี้ นักบวชบางประเภทในสมัยพุทธกาลและก่อนพุทธกาล3 เช่นฤาษีชีไพร ได้ถือกันไม่น้อย แม้ในแง่ของการเบียดเบียน การถือวัตรข้อนี้ก็เลิศกว่าการถือมังสวิรัติทั่วไป วัตรข้อกินผลไม้ที่หล่นเองนั้น ต้องจัดเป็นมังสวิรัติในสูง เพราะทำให้พ้นจากการเบียดเบียนสัตว์อย่างชนิดแทบจะสิ้นเชิงทีเดียว เช่นไม่มีการกำจัดทำลายสัตว์ที่เป็นอันตรายต่อพืช ในการทำเกษตรกรรมเป็นต้น อย่างไรก็ตามพึงสังเกตว่า ฤาษีชีไพรและนักบวชผู้ถือวัตรข้อนี้ ก็ไม่ปรากฏว่าได้บรรลุมรรคผลแต่อย่างใด และพระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงสอนให้ชาวพุทธ ไม่ว่าพระหรือคฤหัสถ์ ดำเนินชีวิตด้วยการถือวัตรข้อนี้ แต่ท่านให้เป็นอยู่กับชีวิตจริง

– พึงระลึกว่าการถือมังสวิรัติไม่ใช่เป็นศีล เป็นเพียงวัตรเท่านั้น (การกินผลไม้ที่หล่นเองจากต้นที่กล่าวข้างบน ยังเป็นวัตรที่เคร่งครัดเข้มงวดยิ่งกว่า) แม้การถือกินน้อย กินมื้อเดียว เป็นต้น ก็เป็นวัตรเช่นเดียวกัน

ศีล เป็นหลักความประพฤติที่จำเป็นสำหรับชีวิตและสังคมระดับนั้นๆ เช่นการเว้นจากลักทรัพย์ เว้นจากพูดปด เป็นศีลสำหรับคนทั่วไป จำเป็นสำหรับสังคมสามัญที่จะอยู่โดยสงบสุข

วัตร เป็นข้อปฏิบัติที่ช่วยเสริมการดำรงอยู่ในศีล และข้อปฏิบัติอื่นๆ ให้มั่นคงแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เช่นถ้าใครถือวัตรว่า จะแตะต้องของคนอื่น ต้องให้เจ้าของกล่าวคำเชิญหรืออนุญาตขึ้นก่อน ก็เท่ากับเขาตัดโอกาสที่ตนเองจะลักของคนอื่นออกไปเกือบหมดสิ้น หรือพระภิกษุคณะหนึ่งถือวัตรไม่พูดกันเลย ตลอดพรรษา ก็ตัดโอกาสที่จะพูดเท็จ ตลอดจนพูดจาไม่ดีไม่งามอย่างอื่นๆ ออกไปได้หมดสิ้น

วัตรที่ถือไม่พูดจากันนี้ เคยมีพระภิกษุได้ถือกันมาแล้วจริงๆ ในสมัยพุทธกาล เรียกว่า มูควัตร และดูเคร่งครัดน่าเลื่อมใส แม้แต่ในสมัยปัจจุบัน ก็มีนักบวชบางประเภทถือกันอยู่ทั้งในประเทศตะวันออกและตะวันตก และก็มีคนประเภทที่ชอบเคร่งครัดเข้มงวดพากันนิยมนับถือไม่น้อย แต่ตรงข้ามพระพุทธเจ้าหาได้ทรงยกย่องไม่ พระองค์กลับทรงตำหนิ ติเตียน ว่าเป็นการอยู่อย่างแพะแกะสัตว์เลี้ยง และทรงห้ามไม่ให้พระภิกษุทั้งหลายถือปฏิบัติ ใครถือปฏิบัติมีความผิด4

นี้เป็นข้อเตือนสติสำหรับให้ระวังรู้จักความหมายว่า อะไรเป็นศีล อะไรเป็นวัตร และเป็นข้ออันพึงระลึกสำหรับคนที่นิยมเคร่งครัดเข้มงวดจนหลงงมงาย สักว่ายิ่งเคร่งครัดยิ่งเข้มงวดยิ่งดี จนไม่รู้ความหมายว่าอะไรเพื่ออะไร

– ตัวอย่างที่พูดถึงแล้ว เช่น การกินน้อย กินมื้อเดียว เป็นวัตรที่ดี ใครถือได้ก็เป็นความดีน่ายกย่อง ถ้าไม่มีปัญหาแก่สุขภาพและการดำเนินชีวิตของผู้นั้น ก็น่าถือ ยิ่งในการปฏิบัติธรรมขั้นภาวนา ก็อาจเป็นผลดี เป็นเครื่องช่วยโดยอ้อม เช่น ตัดภาระกังวล ทำให้ใช้เวลาและแรงงานในการปฏิบัติได้มากยิ่งขึ้น และอาจช่วยให้ร่างกายเบา กระปรี้กระเปร่า ไม่ง่วงซึมเพราะอาหารมากเกิน ช่วยการปฏิบัติภาวนาได้ดีเป็นต้น แต่ก็ไม่ได้เป็นของดีด้วยความเคร่งครัดเข้มงวดในตัวของมันเอง หรือจะเป็นหลักประกันว่าคนนั้นจะบรรลุมรรคผลได้ดีกว่าคนอื่น ที่ไม่ได้ถืออย่างนั้น ซึ่งเขาอาจจะมีดีอย่างอื่น

ถ้ามองเอาที่ความเคร่งครัดเข้มงวดเป็นของดีของสำเร็จโดยตัวของมันเอง อย่างนั้นก็ยังสู้นักบวชอีกหลายพวกไม่ได้ เพราะนักบวชนอกพุทธศาสนาหลายพวก ถือฉันอาหารจำกัดอย่างยิ่ง บางพวกถือวัตรฉันแต่ข้าวต้ม บางพวกกินแต่เผือกมัน บางพวกกินแต่กากข้าว บางพวกกินแต่รำเท่านั้น และก็มีคนนิยมเลื่อมใสไม่น้อย แต่พระพุทธเจ้าทรงติเตียนไม่ให้สาวกถือวัตรเช่นนั้น

– ท่านที่ต้องการให้พระฉันอาหารมังสวิรัติ ไม่พึงพูดหรือเถียงอะไรกับใครทั้งนั้น สิ่งที่ต้องทำมีอย่างเดียวคือ นำอาหารมังสวิรัติไปถวาย หรือนิมนต์พระไปฉันแล้วถวายอาหารมังสวิรัติ พระก็จะกลายเป็นผู้ฉันอาหารมังสวิรัติไปเองในทันที ทั้งนี้เพราะในเรื่องอาหารนั้น กล่าวได้ว่าพระอยู่ในกำมือของชาวบ้าน ถ้ามัวพรรณนาแนะนำหรือถกเถียงว่าท่าน พระจะมีอาหารมังสวิรัติฉันขึ้นมาได้อย่างไร

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< พุทธศาสนาในสังคมไทย

เชิงอรรถ

  1. วินย. ๗/๓๘๔/๑๑๓
  2. จารึกศิลา ฉบับที่ ๑
  3. เช่น องฺ.ติก. ๒๐/๕๓๓/๓๑๐
  4. วินย. ๔/๒๒๕-๖/๓๑๒-๓

No Comments

Comments are closed.