พุทธศาสนาในสังคมไทย

1 กรกฎาคม 2525
เป็นตอนที่ 9 จาก 10 ตอนของ

พุทธศาสนาในสังคมไทย

ด้านหนึ่ง ได้แก่ ศาสนธรรม คือ หลักคำสอน อีกด้านหนึ่ง คือ สิ่งที่เราเรียกในสมัยใหม่ว่าสถาบัน หมายถึงสถาบัน หรือกิจการทั้งหลายซึ่งเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาในสังคมนี้

นิสิตนักศึกษาชาวพุทธนั้นเมื่อไม่พูดถึงด้านความประพฤติในด้านความรู้ก็ควรจะมีความรู้พระพุทธศาสนาดีกว่าผู้อื่น เป็นตัวแทนได้ทั้งในแง่ศาสนธรรมและสถาบัน และมีความรู้ดีทั้งในแง่ของศาสนธรรม และสถาบันหรือกิจการพุทธศาสนา แล้วข้อนี้จะนำไปสู่การเข้าใจสังคมของเราในทางที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องเกื้อกูลสังคมหรืออนาคตของประเทศชาติต่อไปด้วย

มีข้อสังเกตว่า ปัจจุบันนิสิตนักศึกษาที่เข้ามานี่ บางทีเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาในจิตใจของตนเอง แล้วก็เลยมุ่งแต่ในด้านศาสนธรรม ซึ่งไม่ผิดเลยถูกต้อง แต่มักจะมองข้ามเรื่องกิจการและสถาบัน เมื่อมีเหตุการณ์อะไรต่ออะไร เกิดขึ้นในทางดีก็ตาม ไม่ดีก็ตาม ไม่เข้าใจ และไม่สามารถเป็นตัวแทนชี้แจงได้ อันนี้จะถือเป็นความบกพร่องได้หรือไม่ การศึกษาเข้าใจเรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่เสียหาย เพราะว่าสิ่งดีก็ตาม ไม่ดีก็ตาม เมื่อศึกษาแล้วเกิดความเข้าใจ เมื่อเกิดความเข้าใจแล้ววางท่าทีได้ถูกต้อง บางทีสิ่งที่เราเห็นว่าชั่วช้าเสียหาย เราเรียนศึกษาให้เข้าใจแล้วเราวางใจได้ถูก แทนที่จะเกิดความชิงชังมันก็เกิดกรุณาขึ้นแทน บางทีเราไปเห็นคนผู้หนึ่งทำความชั่ว เป็นโจรผู้ร้าย เราก็เกิดความโกรธว่า คนผู้นี้มันทำอะไรไม่ดี น่าชิงชังเหลือเกิน แต่พอได้ศึกษาชีวิต รู้ภูมิหลังความเป็นมาแล้ว ก็กรุณาสงสารขึ้นมาได้ อ๋อ…นี่มันมีเหตุปัจจัยเป็นอย่างนี้ นอกจากกรุณาแล้ว ยังรู้หนทางที่จะแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดต่อไปด้วย หลักการของพุทธศาสนาสอนให้รู้เท่าทันความเป็นจริง แก้ไขปัญหาที่มูลเหตุ

ทีนี้ ในแง่ของความรับผิดชอบในฐานะชาวพุทธชั้นผู้นำและเป็นตัวแทนของพุทธศาสนาทั้งศาสนธรรมและสถาบัน ก็หมายความว่าพุทธศาสนาในประเทศไทยจะเจริญหรือเสื่อม นิสิตนักศึกษาน่าจะมีส่วนด้วย ความเป็นไปทั้งหมดในกิจการพุทธศาสนาอย่างน้อยก็ควรจะรู้และเข้าใจ ต่อไปจะต้องไปอยู่ในฐานะผู้แก้ไขปัญหาด้วยไม่น้อย อาตมาคิดว่าอย่างนั้น

ผู้ที่ศึกษาเหล่านี้ เมื่อสำเร็จไปแล้ว ไปทำงานอยู่ในราชการหรือกิจการทั้งหลาย เช่น ไปเป็นนักปกครอง ไปเป็นผู้นำอยู่ในท้องถิ่น ก็ต้องไปสัมผัสเกี่ยวข้องกับประชาชนในท้องถิ่น โดยทั่วไปจะต้องเข้าใจชาวบ้าน เข้าใจสถาบันที่อยู่ในหมู่บ้านนั้น เช่น วัด เป็นต้น ถ้าเรารู้ความเป็นไป รู้องค์ประกอบของสถาบันต่างๆ ในชุมชนนั้น เราก็วางท่าทีได้ถูกต้อง เมื่อมีปัญหาอะไรที่จะทำให้เกิดความเสื่อมในชุมชนในสถาบันนั้น เราจะมีทางช่วยแก้ไขได้ด้วย อาตมาว่าน่าจะมองกว้างอย่างนี้

ขอย้ำว่าหน้าที่และภารกิจของนิสิตนักศึกษาชาวพุทธคงจะไม่จบอยู่แค่เมื่อเป็นนิสิตนักศึกษาเท่านั้น นิสิตนักศึกษาทั้งหลายที่มาเล่าเรียน ส่วนหนึ่งก็เพื่อเตรียมตัวสำหรับอนาคตที่จะรับผิดชอบต่อสังคม รับผิดชอบต่อประเทศชาติ ทีนี้ ในเมื่อเป็นนิสิตนักศึกษาชาวพุทธก็มีหน้าที่รับผิดชอบเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง คือ รับผิดชอบต่ออนาคตของพุทธศาสนาด้วย แทรกเพิ่มเข้าไปในนั้น

ดังนั้น หน้าที่หรือการเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาจึงไม่จบอยู่แค่การเป็นนักศึกษา แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งคือการเตรียมตัวเพื่อเวลาข้างหน้า แล้วข้างหน้านั้นมันยาวกว่าข้างนี้เป็นไหนๆ มาเป็นนิสิตนักศึกษากันอยู่ไม่กี่ปี อาจเป็นสี่ปี บางทีมาอยู่ในชมรมพุทธ ชุมนุมพุทธ กลุ่มพุทธ เป็นกรรมการ หรือช่วยเหลือกิจการได้เพียงปีสองปีเท่านั้นเรียนจบแล้ว พอออกจากความเป็นนิสิตนักศึกษาพ้นไปแล้วก็เลิกกัน บางทีไม่มีโอกาสเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเลยอย่างนี้มันก็ตัน เมื่อไรๆ ก็วนเวียนอยู่แค่นี้ พอรุ่นนี้จบไปหมดหน้าที่ รุ่นใหม่มาคนเก่าก็เลิก ไปทำงานทำการแล้วก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรอีก

ความจริงน่าจะให้เป็นว่า ที่เราอยู่นี่น่ะเป็นส่วนย่อยไว้สำหรับจะเตรียมตัวไว้ให้พร้อม ถ้าหากเรารักที่จะช่วยส่งเสริมพระพุทธศาสนา เมื่อสำเร็จไปแล้ว เราน่าที่จะทำหน้าที่นี้ได้มากขึ้น ไม่ใช่ว่าจำกัดอยู่เท่านี้ หมายความว่าข้างหน้านี้ควรจะทำได้ มากกว่าที่ทำในปัจจุบัน ไม่ใช่ว่าปัจจุบันนี้ทำได้มากกว่าแล้วก็จบอยู่เท่านี้ อันนี้เป็นข้อคิดเห็นที่อาตมามองๆ ดูแล้ว เกิดได้แง่ความหมายอะไรบางอย่างขึ้นมา

ขอโยงความต่อไปอีกข้อหนึ่งว่า นอกจากความเป็นนิสิตนักศึกษาที่เป็นชาวพุทธ ก็คือความเป็นนิสิตนักศึกษาของตนเองที่เป็นหลักใหญ่อยู่ ในเมื่อเป็นนิสิตนักศึกษา ธรรมะของเราบอกว่า เมื่อเรายอมรับตัวเราอยู่ในภาวะใด ฐานะใด เราก็ต้องรู้จักตนเอง ตามที่เป็นอย่างนั้น นี้คือ อัตตัญญุตา ซึ่งเป็นสัปปุริสธรรมข้อหนึ่ง แล้วก็ทำหน้าที่ของตนเองในภาวะนั้นให้ดีที่สุดสำหรับความเป็นนิสิตนักศึกษา ก็หมายความว่า นิสิตนักศึกษาจะต้องเป็นนักศึกษาที่ดี

ถ้าเป็นนิสิตนักศึกษาชาวพุทธ ด้วยความเป็นชาวพุทธนั้นก็จะต้องเสริมความเป็นนิสิตนักศึกษาของตนให้ดียิ่งขึ้นอีก เพราะอะไร เพราะว่านิสิตนักศึกษาส่วนนี้เป็นส่วนพิเศษที่ได้มีชื่อว่าเป็นชาวพุทธด้วย ถ้าเป็นประชาชนก็เป็นคนทั่วไป พอเป็นประชาชนชาวพุทธก็ต้องเป็นประชาชนที่มีลักษณะอะไรดีพิเศษ ผู้ที่เป็นนิสิตนักศึกษาอยู่แล้ว ครั้นมาเป็นนิสิตนักศึกษาชาวพุทธ จะต้องมีความเป็นนิสิตนักศึกษา ที่เข้าใจกันในความหมายของการเป็นนิสิตนักศึกษานั้นบริบูรณ์ดีด้วย เช่น ในทางวิชาการ หรือในทางกิจกรรมใดๆ ก็ตาม นิสิตนักศึกษาชาวพุทธก็จะเป็นผู้เลิศเป็นผู้เยี่ยมวิชาการ หรือกิจกรรมที่นักศึกษาชาวพุทธไปทำละก็ต้องเป็นอันดีเยี่ยม ดีทั้งในแง่ที่ประสบความสำเร็จ ก่อคุณประโยชน์และก็ดีทั้งในแง่ของคุณธรรม คือ ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยถูกต้องดีงามสุจริต เป็นต้น

อันนี้หมายความว่า ความเป็นชาวพุทธนี้จะต้องไปเสริมความเป็นนิสิตนักศึกษานั้นให้ดียิ่งขึ้น แล้วความเป็นกลุ่มนิสิตนักศึกษาชาวพุทธนั้น มันจึงจะมีค่าขึ้นมาเป็นชุมนุมระดับผู้นำในหมู่นิสิตนักศึกษาด้วย

อย่างไรก็ตาม ย้ำว่า ความเป็นนิสิตนักศึกษาที่มีเป็นหลักอยู่นั้น มันจะต้องเป็นสิ่งที่นิสิตนักศึกษาชาวพุทธรักษาไว้ และทำให้บริบูรณ์ด้วย ไม่ใช่ว่าเมื่อมาเป็นนิสิตอยู่ชุมนุมพุทธแล้วก็เลยว่า เราจะไม่เอาใจใส่ในความเป็นนิสิตนักศึกษา เพราะนั่นคือหน้าที่โดยตรงที่เราจะต้องทำให้ดี แล้วมันกลับมาเกื้อกูลความเป็นชาวพุทธ ไม่ควรให้เขาพูดได้ว่าพวกชาวพุทธนี้ไม่เอาเรื่อง สิ่งที่จะต้องทำสิ่งที่เป็นกิจของตนเอง เมื่อเรายอมรับยังต้องทำอยู่ ก็ต้องทำให้มันดี และอันนั้นแหละคือช่องทางส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้ดีเยี่ยมด้วย

เมื่อชาวพุทธไปเป็นนิสิตนักศึกษาที่ดีเยี่ยม เช่น มีความเป็นเลิศในทางวิชาการ นั่นคือการเผยแพร่และส่งเสริมพุทธศาสนาแล้วส่งเสริมในตัวโดยทันทีว่า อ๋อ…ถ้าเป็นนิสิตนักศึกษาชาวพุทธแล้วเขาเป็นอย่างนี้ ไม่ว่าชาวพุทธเข้าไปแตะเข้าไปเกี่ยวข้องอะไร เรื่องนั้นเป็นดีงาม มีค่ามีคุณประโยชน์ไปหมด ภาพพจน์ดีเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ผู้อื่นก็บอก เอ๊ะ…เราต้องเป็นนิสิตนักศึกษาชาวพุทธบ้างซิ อย่างนี้เป็นต้น เราก็เผยแพร่ไปในตัวโดยไม่ต้องไปพูดอะไรเลย

ต่อไปข้างหน้าก็เหมือนกัน ขณะนี้เราเป็นนิสิตนักศึกษาที่ดีแล้ว เอาความเป็นชาวพุทธไปเสริมเข้าอีก เราก็ทำหน้าที่ของเราดีที่สุด พอจบไป ไปทำงานทำการ เราทำได้ดี และมีความคิดดี แต่ก่อนนี้เราเคยมีความคิดอย่างคนธรรมดาว่า เออ…เราเรียนไป เราจะได้ไปทำงานทำการดี มีเงินเดือนดี ตำแหน่งดี เราคิดไปในแง่นั้น พอมาเป็นชาวพุทธเราก็คิดใหม่ว่า เออ…ดีแล้ว ที่เราเรียนได้ดีนี้ สังคมเขายังมีค่านิยมยกย่องเรื่องฐานะเกียรติอะไรกันอยู่ เราสำเร็จไป เราได้ไปทำงานดีๆ เราจะใช้ฐานะดีนั้นเป็นช่องทางที่จะนำธรรมะออกแก้ปัญหาทำงาน

นี่เราคิดใหม่ แทนที่จะคิดว่าเราจะเอาสิ่งเหล่านั้นมาเป็นช่องทางของการแสวงหาผลประโยชน์อย่างคนทั่วไป เราไม่คิดแล้ว เราคิดเอาสิ่งเหล่านั้นมาเป็นช่องทางของการขยายธรรม ยิ่งนิสิตนักศึกษาชาวพุทธไปมีฐานะการทำงานตำแหน่งดีๆ ธรรมะก็ยิ่งมีโอกาสที่จะแพร่ขยาย เรื่องอะไรจะทำตัวซอมซ่ออยู่ บอกว่าฉันไม่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่เอาอะไรแล้ว ชาวพุทธก็เลยกลายเป็นคนหมดความหมาย ทำอะไรก็ไม่ได้

ขอให้นึกถึงพระเจ้าอโศกมหาราช พอมาเป็นชาวพุทธแล้ว ท่านเลิกเป็นพระเจ้าแผ่นดินหรือเปล่า ท่านอาจจะยังไม่พร้อมที่จะบวชในแง่หนึ่ง ถ้าพร้อมก็แล้วไป เราจะบวชก็บวชเสียเลยอย่าไปทำหงอยก๋อยอยู่ ไปทำหน้าที่ของเราให้ดี พระเจ้าอโศกในเมื่อท่านยังไม่พร้อมที่จะบวช ท่านก็ทำหน้าที่ต่อไปและทำให้ดียิ่งขึ้น ท่านทำศิลาจารึกไว้ บอกว่าอะไร ท่านบอกทำนองว่า ยศ เกียรติ อะไรทำนองนั้นทั้งหลาย รวมเป็นว่า อำนาจความยิ่งใหญ่ทั้งหลายนี่จะไม่มีความหมายเลย ถ้าหากไม่เป็นเครื่องช่วยให้ประชาชนทั้งหลายได้ประพฤติธรรม

ท่านทำจารึกไว้อย่างนี้ ก็หมายความว่า พระเจ้าอโศกนี่เปลี่ยนท่าทีต่ออำนาจ ยศ ศักดิ์ ความยิ่งใหญ่เสียใหม่ แทนที่จะใช้ยศ เกียรติ อำนาจนั้น เป็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์บำรุงบำเรอพระองค์ท่าน ท่านก็เอายศ เกียรติ อำนาจ นั้น มาเป็นช่องทางในการเผยแพร่ธรรมะ สร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ประชาชนต่อไป คุณความดีมันก็เกิดขึ้น ความเป็นชาวพุทธที่ถูกต้องคือทำคนให้เป็นคนดีที่มีคุณภาพ มีสมรรถภาพ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ฉะนั้น ในเมื่อเรายังยอมรับฐานะที่เป็นนิสิตนักศึกษา เราต้องทำหน้าที่นิสิตนักศึกษาให้ดีที่สุด เมื่อเป็นนิสิตนักศึกษาธรรมดาดีแค่ไหน เป็นนิสิตนักศึกษาชาวพุทธก็น่าจะดียิ่งขึ้นและเมื่อออกไปแล้วก็ต้องทำงานได้ดี มีคุณธรรม มีสติปัญญา มีความสุจริต ขยายความดีกว้างขวางออกไปด้วย

อันนี้เป็นเรื่องที่อาตมาเสนอให้พิจารณา คิดว่าได้พูดมาเป็นเวลานานพอสมควร และทางนี้ท่านได้บอกว่าเรายังมีโอกาสจะคุยกันต่อไปอีกด้วย ในรอบนี้อาตมาไม่ทราบว่าเวลาได้ล่วงไปเท่าไร แต่ก็เห็นควรว่าควรจะยุติได้ตอนหนึ่งก่อน ก็ขอโมทนาต่อนิสิตนักศึกษาทุกท่านในโอกาสนี้ด้วย

หมายเหตุ: แสดงในการสัมมนา ‘ความร่วมมือในการทำกิจกรรมของกลุ่มชาวพุทธ’ จัดโดยกลุ่มประสานงานนิสิตนักศึกษาชาวพุทธ ณ ธรรมสถาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๕ ธันวาคม ๒๕๒๓ พิมพ์ครั้งแรกใน ‘พุทธจักร’ ปีที่ ๓๖ ฉบับที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๒๕ ครั้งที่สองรวมอยู่ในหนังสือ ‘ลักษณะสังคมพุทธ’ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง พฤษภาคม ๒๕๒๗

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< หน้าที่ของปัญญาชนชาวพุทธภาคสนทนา: การถือมังสวิรัติ ผิดหรือถูกอย่างไร >>

No Comments

Comments are closed.