พุทธจริยธรรมเกี่ยวกับเศรษฐกิจ

10 มิถุนายน 2531
เป็นตอนที่ 12 จาก 20 ตอนของ

พุทธจริยธรรมเกี่ยวกับเศรษฐกิจ

ที่พูดมานี้ก็เพื่อให้เห็นว่า คำสอนในทางพระพุทธศาสนานั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก เพราะเศรษฐกิจนั้นมีความสำคัญ ตอนนี้อาตมาอยากจะขอให้เสียเวลานิดหน่อยในเรื่องคำสอนของพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ เพื่อว่าเราจะได้เอาคำสอนเหล่านี้มาวิเคราะห์หาสาระสำคัญว่ามีความหมายทางเศรษฐกิจเป็นอย่างไร อย่างที่อาตมาได้พูดมาแล้วว่า คำสอนเกี่ยวกับเศรษฐกิจจำนวนมากนี้ ส่วนที่สอนแก่ชาวบ้านทั่วไปจะอยู่ในพระสูตร ในลักษณะที่เป็นพระธรรมเทศนา หรือคำสนทนากับบุคคลหรือกลุ่มชนในกาละและเทศะต่างๆ คำสอนในแบบนี้ที่เราพบเห็นกันบ่อยๆ ก็เช่น พระพุทธเจ้าทรงสอนคฤหัสถ์ถึงวิธีการที่จะให้บรรลุประโยชน์สุขในปัจจุบัน หรือประโยชน์ที่เรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ ซึ่งเป็นเรื่องของความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การมีทรัพย์สินเงินทอง ตลอดจนความมั่นคงทางสังคม การมีเพื่อนพ้องมิตรสหายบริวารอะไรต่างๆ แต่เริ่มแรกก็คือทางเศรษฐกิจ พระพุทธเจ้าตรัสสอนข้อปฏิบัติสำคัญที่จะทำให้เกิดผล คือความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทำให้มีทรัพย์สินเงินทอง พึ่งตนเองได้ เรียกว่า ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ปัจจุบันหรือ ธรรมที่เป็นไปเพื่อ ทิฏฐธัมมิกัตถะ มีสี่ข้อด้วยกัน ซึ่งเราได้ยินกันบ่อยๆ

๑. อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร รู้จักใช้ปัญญาไตร่ตรองพิจารณาหาวิธีการที่แยบคายในการทำงาน มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รู้จักจัด รู้จักทำ รู้จักดำเนินการด้านเศรษฐกิจ ทำการงานประกอบอาชีพให้ได้ผลดี

๒. อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษา สามารถปกป้องคุ้มครองรักษาทรัพย์สินที่หามาได้ ไม่ให้สูญหายพินาศไปด้วยภัยต่าง ๆ

๓. กัลยาณมิตตตา รู้จักคบคนดีหรือมีกัลยาณมิตร ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่ช่วยให้เจริญก้าวหน้าในวงการอาชีพนั้นๆ ทำให้รู้เห็นช่องทางและโอกาสต่างๆ ในการงานทันต่อเหตุการณ์ ตลอดจนรู้จักปฏิบัติต่อทรัพย์ของตนอย่างถูกต้อง ไม่ถูกปาปมิตรชักจูงไปในทางอบายมุข ซึ่งจะทำให้ทรัพย์สินไม่เพิ่มพูน หรือมีแต่จะหดหายลงไป

๔. สมชีวิตา ความเป็นอยู่พอดี หรือความเป็นอยู่สมดุล คือ เลี้ยงชีพแต่พอดี ไม่ให้ฟุ่มเฟือย ไม่ให้ฝืดเคือง ให้รายได้เหนือรายจ่าย มีเหลือเก็บไว้

หลักธรรมอีกหมวดหนึ่งที่ตรัสไว้ปนๆ อยู่กับธรรมหมวดอื่น เรียกว่า โภควิภาค ๔ แสดงถึงวิธีการจัดสรรทรัพย์ในการใช้จ่าย บอกให้จัดสรรทรัพย์เป็นสี่ส่วน ส่วนหนึ่งใช้บริโภค เลี้ยงตนเองให้เป็นสุข เลี้ยงดูครอบครัว และคนที่อยู่ในความรับผิดชอบให้เป็นสุข และใช้ในการทำความดี บำเพ็ญคุณประโยชน์ต่างๆ ทรัพย์สองส่วนต่อไป จัดสรรไว้สำหรับลงทุนประกอบการงาน ส่วนที่สี่ ให้เก็บไว้ใช้เป็นหลักประกันในยามจำเป็น เพราะอาจจะมีเภทภัย อุบัติเหตุ หรือเหตุสะดุดในการทำงานประกอบอาชีพขึ้นมา เช่น เจ็บไข้ได้ป่วย หรืออาจจะตกงานทันทีทันใด เป็นต้น

ในการจัดสรรทรัพย์ใช้จ่ายนี้ บางครั้งก็มีรายละเอียดแยกย่อยออกไปอย่างที่เรียกว่า โภคาทิยะ ๕ ประการ หลักโภคาทิยะ หรือ โภคอาทิยะ สอนว่า ควรจะถือเอาประโยชน์จากการมีโภคะหรือทรัพย์สิน ไม่ใช่มีทรัพย์สมบัติเก็บไว้เฉยๆ การมีทรัพย์ย่อมมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ให้เป็นประโยชน์ จะใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างไร ท่านก็ยกมาให้ดูว่าใช้ในทาง ๕ ประการ เรียกว่า ประโยชน์ที่ควรถือเอาจากโภคะ เป็นแนวทางของการใช้โภคทรัพย์ ๕ ประการ คือ

๑. ใช้จ่ายทรัพย์นั้นเลี้ยงตนเอง เลี้ยงดูครอบครัวมารดา บิดา ให้เป็นสุข

๒. ใช้ทรัพย์นั้นบำรุงเลี้ยงมิตรสหาย ผู้ร่วมกิจการงานให้เป็นสุข

๓. ใช้ป้องกันภยันตรายต่างๆ

๔. ทำพลี คือการสละบำรุงสงเคราะห์ ๕ อย่าง ได้แก่
ก) อติถิพลี ใช้ต้อนรับแขก คนที่ไปมาหาสู่ เป็นเรื่องของการปฏิสันถาร
ข) ญาติพลี ใช้สงเคราะห์ญาติ
ค) ราชพลี ใช้บำรุงราชการด้วยการเสียภาษีอากร เป็นต้น
ง) เทวดาพลี บำรุงเทวดา คือสิ่งที่เคารพนับถือตามลัทธิ ความเชื่อ หรือตามขนบธรรมเนียมของสังคม
จ) ปุพพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้แก่บุพการีชนท่านที่ล่วงลับไปแล้ว

๕. บำรุงสมณพราหมณ์ คือ พระสงฆ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ผู้ฝึกฝนพัฒนาตนเอง ไม่ประมาทมัวเมา

ต่อไปก็ยังมีหลักธรรมที่ตรัสไว้ในที่อื่นอีก ขอยกมาเป็นตัวอย่าง เช่น ท่านแบ่งกามโภคี หรือคนครองเรือนเป็น ๑๐ ประเภทด้วยกัน คนครองเรือน ๑๐ ประเภทนี้ แบ่งตามลักษณะการดำเนินชีวิตที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คือ แยกประเภทคนครองเรือนตามลักษณะเด่น

ด้านที่หนึ่ง ดูจากการแสวงหาทรัพย์ว่าได้มาอย่างไร ด้วยวิธีอย่างไร คือดูว่า คนนั้นแสวงหาทรัพย์มาโดยทางชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรม โดยการกดขี่ข่มเหงผู้อื่นหรือไม่

ด้านที่สอง พิจารณาในแง่การใช้จ่ายทรัพย์ว่าใช้ให้เป็นประโยชน์ และทำให้เกิดคุณประโยชน์ต่างๆ หรือไม่ เช่น ใช้จ่ายทรัพย์เลี้ยงตนเอง เลี้ยงครอบครัวให้เป็นสุข เผื่อแผ่แบ่งปัน ทำสิ่งดีงามมีคุณค่า บำเพ็ญประโยชน์

ด้านที่สาม ดูที่สภาพจิตใจของเขาว่าเป็นอย่างไร คือ ดูว่าในการเกี่ยวข้อง ครอบครอง ใช้จ่าย ปฏิบัติต่อทรัพย์สินนั้น เขามีจิตใจที่หมกมุ่น มัวเมา กระวนกระวาย เป็นห่วง กังวล มีความทุกข์จากการมีทรัพย์ ที่เรียกว่าเป็นทาสของทรัพย์ หรือมีจิตใจที่เป็นอิสระ เป็นนายของทรัพย์ เป็นอยู่โดยมีจิตใจเป็นสุข ใช้ทรัพย์ทำประโยชน์ที่ควรจะใช้ และไม่ต้องเป็นทุกข์ทรมานเพราะทรัพย์นั้น

ลักษณะเหล่านี้เป็นเครื่องแบ่งคนครองเรือน ออกเป็นประเภทต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องสัมพันธ์กับเศรษฐกิจทั้งนั้น นอกจากนี้ ยังตรัสถึง สุขของคฤหัสถ์ ๔ ประการว่า คฤหัสถ์คือ ผู้ครองเรือน หรือ ชาวบ้าน ควรจะมีความสุขสี่ประการ ซึ่งถือว่าเป็นความสุขที่ควรพยายามเข้าถึงให้ได้ คือ

๑. อัตถิสุข สุขเกิดจากการมีทรัพย์ เป็นหลักประกันของชีวิต โดยเฉพาะความอุ่นใจปลาบปลื้มภูมิใจว่าเรามีทรัพย์ ที่หามาได้ด้วยเรี่ยวแรงกำลังความขยันหมั่นเพียรโดยชอบธรรม

๒. โภคสุข สุขเกิดจากการบริโภคหรือใช้จ่ายทรัพย์คือ ไม่ใช่ว่ามีทรัพย์แล้ว เอามาเก็บไว้เฉยๆ ไม่ได้ใช้จ่ายอะไร อย่างที่ว่ามีเงินทองมากมายเหมือนน้ำทะเลที่มากแต่ดื่มกินไม่ได้ หรือเป็นทุกข์เพราะการมีทรัพย์นั้น แต่รู้จักใช้จ่ายทรัพย์นั้นให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตของตน ตนเองก็เป็นสุข และเลี้ยงดูคนที่อยู่ในความรับผิดชอบ แล้วก็ทำประโยชน์แก่ผู้อื่น บำเพ็ญสิ่งที่มีคุณค่าแก่สังคม แก่เพื่อนมนุษย์ ช่วยเหลือสงเคราะห์กัน

๓. อนณสุข สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้ ไม่ต้องทุกข์ใจ เป็นกังวล เพราะมีหนี้สินติดค้างใคร

๔. อนวัชชสุข สุขเกิดจากความประพฤติที่ไม่มีโทษ หมายความว่า มีกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมที่สุจริต ที่ใครติเตียนไม่ได้ บริสุทธิ์สะอาด มีความมั่นใจในการดำเนินชีวิตของตน

จะเห็นว่า พระพุทธศาสนานั้น มีลักษณะที่น่าสังเกตอย่างหนึ่ง คือ จะมองเรื่องเศรษฐกิจนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต ซึ่งนอกจากจะมีความเป็นอยู่ดีทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ก็ต้องมีคุณค่าของชีวิตด้านอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะจะมองดูว่า ความเป็นอยู่ดีทางเศรษฐกิจนั้นไปสัมพันธ์กับชีวิตด้านอื่น รวมทั้งด้านจิตใจอย่างไร ส่งเสริมเกื้อกูลกันอย่างไร จะต้องพูดรวมถึงกันหมด ตามหลักการที่กล่าวมาแล้ว คือเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงอิงอาศัยซึ่งกันและกัน นอกจากนั้น ก็มีคำสอนเป็นส่วนรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ บางแง่บางมุม แทรกอยู่เป็นแห่งๆ กระจายไป เช่นหลักที่เรียกว่า ปาปณิกธรรม กล่าวถึงนักการค้า หรือคนที่ประกอบธุรกิจ ว่าจะต้องมีลักษณะอย่างไร จึงจะประกอบธุรกิจได้ผลดี บางที่ก็ตรัสถึงเรื่อง อบายมุข ว่าเป็นทางที่จะทำให้โภคทรัพย์สูญหายเสื่อมสลายไป แล้วก็มีสิ่งที่เราเรียกว่าเป็นพุทธภาษิต ซึ่งเป็นคำสอน คำแนะนำให้ขยันหมั่นเพียร ให้รู้จักประกอบสัมมาชีพ รู้จักทำงาน รู้จักปฏิบัติต่อทรัพย์ เช่นว่า ปฏิรูปการี ธุรวา อุฏฺฐาตา วินฺทเต ธนํ แปลว่า ขยัน เอาธุระ ทำเหมาะจังหวะ ย่อมหาทรัพย์ได้ ธมฺเมน วิตฺตเมเสยฺย พึงหาเลี้ยงชีพโดยทางชอบธรรม ปโยชเย ธมฺมิกํ โส วณิชฺชํ พึงประกอบการค้าที่ชอบธรรม ฯลฯ คำสอนที่เป็นภาษิตอย่างนี้มีมากแห่ง กระจัดกระจายกันไป

อีกด้านหนึ่งก็คือคำสอนเกี่ยวกับนักปกครอง ซึ่งแนะว่าผู้บริหารประเทศ หรือผู้รับผิดชอบสังคมโดยส่วนรวม ควรจะจัดการเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจในสังคมของตนอย่างไร เรื่องนี้ถ้ามีเวลาก็จะได้พูดถึงต่างหากโดยเฉพาะต่อไป

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ฐานะของเศรษฐกิจในแหล่งคำสอนของพุทธศาสตร์แนวคิดแบบพุทธเกี่ยวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ >>

No Comments

Comments are closed.