ลักษณะสำคัญของเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ

10 มิถุนายน 2531
เป็นตอนที่ 20 จาก 20 ตอนของ

ลักษณะสำคัญของเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ

เพื่อรวบรัดตัดตอน จะขอข้ามไปพูดเรื่องลักษณะสำคัญของเศรษฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์ เศรษฐศาสตร์แนวพุทธศาสตร์มีลักษณะที่สำคัญคือ

๑. เป็นเศรษฐศาสตร์สายกลาง หรือเศรษฐศาสตร์มัชฌิมาปฏิปทา เศรษฐศาสตร์แนวพุทธศาสตร์ มุ่งที่ความพอดีหรือความสมดุล สมดุลนี้ในแง่หนึ่งก็อย่างที่พูดมาแล้ว คือ การบริโภคเพื่อสนองหรือบำบัดความต้องการ จะทำให้เกิดความพอดีได้อย่างไร ถ้าเป็นแบบเศรษฐศาสตร์ปัจจุบัน การบริโภคก็เป็นการสนองความต้องการที่ไม่รู้จบ เพราะความต้องการไม่จำกัด แต่ในทางพุทธศาสนา จะมีหลักของความพอดี คือมีปัญญาและฉันทะเข้ามาเกี่ยวข้องในพฤติกรรมทางเศรษฐกิจนั้น แล้วทำให้เกิดความพึงพอใจขึ้นมา โดยมีความพอดีเกิดขึ้น เพราะความต้องการมาบรรจบกับจุดหมายที่สิ้นสุดของมัน ความพอใจที่มีความพอดี ก็คือการที่ได้สนองความต้องการคุณภาพชีวิต หรือทำให้เกิดคุณภาพชีวิตขึ้นมา เพราะฉะนั้น จุดที่ทำให้เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ เป็นเศรษฐศาสตร์แห่งความพอดีหรือมัชฌิมาปฏิปทา ก็คือการที่บริโภคแล้วทำให้ได้คุณภาพชีวิต แล้วเกิดความพึงพอใจที่จุดนี้ ซึ่งมันจะเป็นตัวทำให้เกิดความพอดีในการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยไม่เกิดปัญหา แต่ถ้าเป็นเศรษฐศาสตร์แบบปัจจุบันแล้ว การสนองความต้องการซึ่งไม่มีที่สิ้นสุด จะทำให้ไม่มีความพอดีเกิดขึ้น และก็จะต้องมีปัญหาอย่างแน่นอน อันนี้เป็นจุดของความพอดีอันหนึ่ง

จุดของความพอดีอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ หลักการไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น กิจกรรมทางเศรษฐกิจตามแนวพุทธศาสตร์ จะต้องพิจารณาถึงการไม่เบียดเบียนตนไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วย ไม่เบียดเบียนตนก็คือ ไม่ทำลายคุณภาพชีวิตของตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่นก็คือ ไม่เบียดเบียนสังคมและสภาพแวดล้อมที่ปัจจุบันเขาเรียกว่าระบบนิเวศ การไม่เบียดเบียนนี้ก็ทำให้เกิดความประสานกลมกลืนหรือความสมดุล ซึ่งเป็นความเกื้อกูลกันระหว่างองค์ประกอบทั้งหลาย ในระบบการดำรงอยู่ของมนุษย์ นี้ก็เป็นความพอดีอีกด้านหนึ่ง และจึงเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งทำให้มนุษย์ทั้งกายและใจพร้อมทั้งธรรมชาติแวดล้อมและสังคม สามารถดำรงอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลต่อกัน นี่ก็เป็นความพอดีอีกด้านหนึ่ง

๒. เศรษฐศาสตร์แนวพุทธศาสตร์มีลักษณะสำคัญที่พูดมาแล้วเช่นกัน คือ การที่ถือว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ใช่เป็นกิจกรรมที่จบสิ้นในตัว แต่เป็นกิจกรรมที่เป็นฐานของการที่จะได้พัฒนาศักยภาพยิ่งๆ ขึ้นไป รวมทั้งถือว่า ผลได้ทางเศรษฐกิจก็ไม่ใช่จบที่การได้เสพ ได้บำบัดความต้องการ แต่ผลได้ทางเศรษฐกิจนั้นจะกลายมาเป็นความพร้อม เป็นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตหรือพัฒนาศักยภาพยิ่งๆ ขึ้นไป ยิ่งกว่านั้น ยังถือว่า กิจกรรมในทางเศรษฐกิจทุกอย่าง เป็นกิจกรรมในการพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือเป็นกิจกรรมในการพัฒนาศักยภาพของตนไปด้วยในตัว

นอกเหนือจากนี้ที่ไม่มีเวลาพูดเพียงพอ แต่ขอเท้าความอิงไปนิดหน่อยคือ เศรษฐศาสตร์ปัจจุบันนี้ มักจะมองในแง่ของสิ่งที่นำมาซื้อขายได้เท่านั้น คือมองในแง่การตลาด พิจารณาเฉพาะสิ่งที่เข้าสู่ตลาด ซึ่งมีค่าในการซื้อขายเป็นเงินเป็นทอง ฉะนั้น ในแง่การผลิต ก็จะไม่มองถึงการผลิตที่ไม่มีคุณค่าที่จะมาเป็นสินค้าซื้อขายแลกเปลี่ยน ในการวิภาค (distrilution) ก็จะไม่มองถึงการวิภาค (distrilution) ในรูปที่เรียกว่า ทาน ซึ่งเป็นการให้โดยไม่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยน แต่ในทางพุทธศาสตร์จะไม่มองอย่างนั้น ในแง่การผลิตก็จะมองทั้งการผลิตเพื่อขาย และการผลิตเพื่อบริโภคเองด้วย ความจริงการผลิต จำนวนมากทีเดียว เป็นการผลิตเพื่อบริโภคเอง แต่เศรษฐศาสตร์ ปัจจุบันนี้เจริญเติบโตขึ้นมาในยุคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นยุคที่การตลาดเฟื่องฟู ก็เลยมีลักษณะเป็นเศรษฐศาสตร์แห่งการซื้อขายในตลาด ซึ่งเป็นลักษณะที่ทำให้มองเห็นได้ว่า ทำไมเศรษฐศาสตร์ปัจจุบันจึงมองอะไรต่ออะไรในขอบเขตอย่างนี้ คือ เพราะเขาเจริญมาในยุคอุตสาหกรรม ต่างจากยุคเกษตรกรรมที่มนุษย์มีการผลิตเพื่อบริโภคเอง หรือเพื่อบริโภคในชุมชนของตัวเองมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ต่อไปนี้สังคมกำลังเปลี่ยนแปลงจากยุคอุตสาหกรรม ไปเป็นยุคใหม่ ที่บางคนเรียกว่ายุคหลังอุตสาหกรรม บางคนเรียกว่ายุค Information คือยุคข่าวสารข้อมูลหรือสารวิทยา ในยุคต่อไปนี้ วิถีชีวิตของคนตามที่นักเก็งอนาคต และนักวิจารณ์สังคมคาดหมาย จะหวนกลับไปคล้ายกับชีวิตในยุคเกษตรกรรมมากขึ้น มนุษย์จะทำการผลิตเพื่อการบริโภคเอง โดยตนเองและครอบครัว หรือในชุมชนของตนเองมากขึ้น ฉะนั้น ความหมายและขอบเขตของเศรษฐศาสตร์ ก็จะต้องขยายกว้างออกไปด้วย ดังเช่นที่มีผู้ตั้งศัพท์ใหม่ขึ้นมาสำหรับผู้บริโภค ปัจจุบันนี้เรามีผู้บริโภคเรียกว่า consumer แต่เวลานี้พวกฝรั่งบางคนได้คิดคำใหม่ขึ้นมาคำหนึ่งเรียกว่า prosumer เขาบอกว่าในยุคต่อไปนี้ ซึ่งพ้นจากยุคอุตสาหกรรมแล้ว มนุษย์ก็จะมีลักษณะเป็น prosumer prosumer มาจาก producer บวกกับ consumer รวมความหมายเข้าด้วยกัน คือ เป็นผู้ที่ทั้งผลิตและบริโภคเอง ในสภาพเช่นนี้ การตลาดก็จะเปลี่ยนไปด้วย เพราะฉะนั้น เศรษฐศาสตร์จะต้องขยับขยายตัวเอง ถ้าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจในอนาคต เศรษฐศาสตร์จะจำกัดตัวเองอยู่ในขอบเขตที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่ได้แล้ว ส่วนพุทธศาสนานั้นมองเรื่องการผลิต การบริโภค และการวิภาค (distrilution) แจกจ่าย โดยไม่จำกัดเฉพาะกิจกรรมที่มาซื้อขายแลกเปลี่ยนด้วยเงินตราได้ หรืออยู่ในการตลาด แต่มองไปถึงกิจกรรมทุกอย่างในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในด้านวัตถุที่จะส่งเสริมความเป็นอยู่ดี และเป็นฐานแห่งการพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือพัฒนาศักยภาพของตนต่อไป

นี้เป็นการพูดโดยสรุป เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์ ความจริงยังมีหัวข้อที่ยังไม่ได้พูดอีก เช่น หน้าที่ของรัฐ เป็นต้น ซึ่งก็เป็นส่วนสำคัญเหมือนกันในเรื่องของเศรษฐศาสตร์ แต่เวลาได้ล่วงเลยไปมากแล้ว เพราะฉะนั้น วันนี้อาตมาคิดว่า ได้เสนอแนวความคิด ความเข้าใจทั่วๆ ไป กว้างๆ ว่าพุทธศาสนานี้ มองเศรษฐศาสตร์และกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างไร อย่างน้อยให้เห็นว่า มันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกได้จากชีวิตด้านอื่นๆ ของมนุษย์ และมันก็ควรเป็นตัวส่งเสริมการมีชีวิตที่ดีงาม อย่างที่ว่ามาแล้ว คือเป็นส่วนที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิต เพื่อจุดมุ่งหมายในการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์ได้มีโอกาสมีความพร้อมยิ่งขึ้น ในการที่จะเข้าถึงสิ่งที่ดีงาม สิ่งประเสริฐ ที่ชีวิตจะพึงได้รับยิ่งๆ ขึ้นไป

ในที่สุดนี้ อาตมภาพขออนุโมทนาต่อทาง ส.ว.ช. โดยเฉพาะคณะอนุกรรมการส่งเสริมวิชาการตามแนวพุทธศาสตร์และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ได้ร่วมมือกันจัดการประชุมบรรยาย และเสวนาทางวิชาการครั้งนี้ขึ้น หวังว่าความคิดเห็นที่มีในครั้งนี้ อาจจะเป็นส่วนร่วมที่จะช่วยเกื้อหนุน ในการพัฒนาแนวความคิดเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์ให้มีความมั่นคงและชัดเจนยิ่งๆ ขึ้นไป ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัย จงเป็นปัจจัยอภิบาลรักษาให้ทุกท่าน ผู้เข้าร่วมประชุม จงได้เจริญด้วยกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา และคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ ที่จะเป็นพื้นฐานในการเข้าถึงสิ่งที่ดีงาม คือ อิสรภาพ สันติ และความสุขโดยทั่วกันทุกท่าน เทอญ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< จากคุณค่าแท้/คุณค่าเทียม สู่พฤติกรรมในการบริโภค

No Comments

Comments are closed.