มองไม่ทั่วตลอด ด้านหน้า ด้านใน และด้านข้าง

10 มิถุนายน 2531
เป็นตอนที่ 9 จาก 20 ตอนของ

มองไม่ทั่วตลอด ด้านหน้า ด้านใน และด้านข้าง

ข้อต่อไป ที่ว่าเศรษฐศาสตร์จะไม่สามารถเป็นวิทยาศาสตร์ได้อย่างแท้จริง ก็เพราะไม่เป็นไปตามหลักการของธรรมในแง่ที่สอง คือ กระบวนการของเหตุปัจจัยหรือกฎเกณฑ์ของธรรมชาตินั่นเอง เศรษฐศาสตร์ที่เป็นอยู่นี้ เป็นศาสตร์ที่ไม่สอดคล้องกับกระบวนการของเหตุปัจจัยในธรรมชาติ ไม่สอดคล้องอย่างไร ประการที่หนึ่ง เศรษฐศาสตร์เท่าที่เป็นมานี้ มองไม่ตลอดกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยที่ส่งผลสืบทอดต่อกันออกไป จึงขัดกับกระบวนการของเหตุปัจจัยในธรรมชาติ ตามธรรมดาในธรรมชาตินั้น การกระทำอย่างหนึ่งจะต้องส่งผลสืบต่อไป เมื่อส่งผลสืบต่อไปแล้ว ผลนั้นกลับเป็นเหตุ แล้วส่งผลสืบทอดต่อไปอีก มันจะเป็นกระบวนการของความเป็นเหตุเป็นปัจจัยต่อเนื่องกันไป การที่จะเข้าใจความเป็นจริงก็คือ ต้องเข้าใจและมองกระบวนการของความเป็นเหตุปัจจัยกันนี้ให้ตลอดสาย แต่การคิดพิจารณาของเศรษฐศาสตร์นั้น จะมีลักษณะที่ตัดตอน คือตัดตอนในกระบวนการของเหตุปัจจัย หรือตัดตอนในความเป็นไปของกฎธรรมชาตินี้ ถือเป็นสิ้นสุดที่ตอนใดตอนหนึ่ง แล้วไม่พิจารณาต่อไปว่า ผลจากนั้นจะเกิดอะไรขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เราเกิดความต้องการขึ้นมา สมมติว่าต้องการอาหารเราก็ทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้ได้อาหารมารับประทาน ก็เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจขึ้น พอได้อาหารมาแล้วก็บริโภค เมื่อบริโภคแล้วก็ได้สนองความต้องการนั้น สนองความต้องการก็คือ ได้รับความพึงพอใจ พึงพอใจแล้วเศรษฐศาสตร์ก็จบที่นี่ เราจะไม่พิจารณาต่อไปว่าจะมีผลสืบทอดไปข้างหน้าอย่างไรอีก

แต่ในความเป็นจริงนั้นเป็นไปไม่ได้ ในความเป็นจริงนั้น เมื่อมีการบริโภคขึ้นแล้ว ก็ต้องเกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่ง เราต้องพิจารณาเรื่องนี้เพราะมันเป็นความมุ่งหมายของเศรษฐศาสตร์เองด้วย คือ ในการบริโภคนั้น ผลของการบริโภคอยู่ที่ไหนกันแน่ ในทรรศนะของเศรษฐศาสตร์ บอกว่าเอาแค่ความพึงพอใจ เมื่อได้บริโภคแล้ว เกิดความพึงพอใจก็จบ แต่การบริโภคนั้นเกิดผลที่แท้จริงคืออะไร ผลแท้จริงที่ชีวิตต้องการคืออะไร การที่มนุษย์บริโภคนั้นเพื่ออะไร คนบริโภคเพื่อให้ได้คุณภาพชีวิต คุณภาพชีวิตคืออะไร การที่ร่างกายของเราต้องการอาหารมาหล่อเลี้ยง ทำให้เกิดกำลังวังชา ความแข็งแรง และซ่อมแซมร่างกาย อันนี้คือความต้องการคุณภาพชีวิต การบริโภคอาหารคือการทำให้ได้มาซึ่งคุณภาพชีวิต ความพึงพอใจกับการได้คุณภาพชีวิต อันไหนเป็นผลของการบริโภคที่ตรงกว่ากัน อันนี้เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณา

ไม่ใช่แค่นั้น การบริโภคไม่ใช่มีความหมายเพียงให้ได้คุณภาพชีวิต แต่การบริโภคมีความหมายสำหรับคนจำนวนมาก ในแง่ว่าเป็นการได้เสพรสเอร็ดอร่อย คนจำนวนไม่น้อยกินอาหารเพื่อจะได้เอร็ดอร่อย ถ้ากินอาหารแล้วได้สนองความต้องการคือได้รับรสอร่อยแล้ว ก็เป็นอันว่าได้รับความพึงพอใจ เศรษฐศาสตร์อาจจะเข้ากับแนวความคิดในความหมายที่สองนี้ก็ได้ เพราะถือเอาการได้รับความพึงพอใจเป็นผลที่ต้องการของการบริโภค แต่ก็ยังไม่ชัดลงไปทีเดียว เพราะอาจจะพึงพอใจจากการได้คุณภาพชีวิต หรือพึงพอใจจากการได้เสพรสอร่อยก็ได้ และเรื่องนี้ก็ไปสัมพันธ์กับการบริโภคที่มีผลสองอย่าง ซึ่งมีความสัมพันธ์กันทุกเรื่องตั้งต้นแต่ความต้องการมาเลยทีเดียว

การที่คนต้องการอาหารบริโภค เขาจะมีความต้องการไม่เหมือนกัน คนหนึ่งต้องการบริโภคเพื่อให้ได้คุณภาพชีวิต เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงมีสุขภาพดี หล่อเลี้ยงร่างกาย ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ อะไรต่างๆ แต่อีกคนหนึ่งต้องการบริโภคเพียงเพื่อเอร็ดอร่อย เมื่อความต้องการต่างกัน กิจกรรมในการบริโภคก็ต่างกัน แล้วผลที่เกิดขึ้นตามมาก็ต่างกัน คนหนึ่งบริโภคไปแล้วได้คุณภาพชีวิต คือ อาหารนั้นมีคุณค่าต่อร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรงเจริญเติบโต ซ่อมแซมส่วนสึกหรอ มีสุขภาพดี ไม่มีโรค อีกคนหนึ่งบริโภคแล้วได้ความเอร็ดอร่อย แต่เพราะความเอร็ดอร่อยก็ทำให้ไม่รู้จักประมาณหรือไม่รู้จักเลือกอาหาร เลือกอาหารที่อร่อย ไม่เลือกอาหารที่มีคุณค่า ก็กินอาหารเพียงเพื่อเอร็ดอร่อย อาจจะปรุงแต่งสีสัน ทำให้เกิดโทษเกิดพิษต่อร่างกาย หรือกินมากเกินไป ทำให้ท้องอืด ไม่ย่อย เสียสุขภาพ และเกิดโรค ความต้องการที่ต่างกันนั้นก็มีผลต่างกัน และความพึงพอใจที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน ในความพึงพอใจแบบหนึ่ง จุดของความพึงพอใจอยู่ที่การได้รับสิ่งที่เป็นคุณภาพชีวิต แต่สำหรับอีกคนหนึ่งนั้น ความพึงพอใจอยู่ที่การได้เสพรสอาหาร แล้วความพึงพอใจนี้ก็จะมีผลกระทบย้อนกลับไปสู่การตัดสินใจทางเศรษฐกิจด้วย การตัดสินใจทางเศรษฐกิจจะมีความหมายสัมพันธ์กับเรื่องความพึงพอใจนี้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเศรษฐศาสตร์จะคำนึงหรือไม่ก็ตาม มันก็จะกลับมีผลต่อเศรษฐกิจด้วย การที่เศรษฐศาสตร์ละเลยความหมายต่างๆ เหล่านี้ไป จึงเป็นการมองกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยไม่ครบถ้วน และเมื่อมองกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยไม่ครบถ้วน จะเป็นวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร เพราะมันขัดกับความเป็นจริง ความเป็นจริงของธรรมชาติคือ การที่สิ่งทั้งหลายมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน สืบทอดกันโดยกฎแห่งเหตุปัจจัยนั้น ฉะนั้น เมื่อการบริโภคเกิดขึ้น จะต้องคำนึงต่อไปว่า การบริโภคที่เป็นผลนั้นกลายมาเป็นเหตุ แล้วจะทำให้เกิดอะไรต่อไป ถ้าพิจารณาในแง่ของความเป็นจริง จะละทิ้งผลสืบเนื่องต่างๆ ไม่ได้ ฉะนั้น ถ้าเศรษฐศาสตร์จะตัดตอนให้ข้อพิจารณาของตัวเองขาดลอยออกไปอย่างนี้ ก็จะต้องจำกัดขอบเขตความสำคัญของตนเองด้วยเหมือนกัน และในกรณีเช่นนี้ เมื่อจะแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์ก็จะต้องไปสัมพันธ์เชื่อมโยงและร่วมมือกับวิชาการอื่น มิฉะนั้นก็จะต้องนำเอาความหมายแง่อื่นๆ ในความจริงของธรรมชาติหรือตัวปัจจัย หรือองค์ประกอบในกระบวนการของธรรมชาติที่เป็นเหตุปัจจัยกันในแง่อื่นเข้ามาพิจารณาด้วย

เป็นอันว่า การบริโภคที่เป็นผลปลายทาง ซึ่งทำให้เกิดความพึงพอใจในทางเศรษฐกิจนั้น กลายเป็นเหตุที่จะส่งผลต่อไป โดยอาจทำให้ได้คุณภาพชีวิตก็ได้ หรืออาจจะทำให้เสื่อมเสียคุณภาพชีวิตก็ได้ แล้วก็มีผลย้อนกลับมาสู่การตัดสินใจทางเศรษฐกิจอีก และทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องของกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยในธรรมชาตินั่นเอง แล้วก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ว่า ในการแก้ปัญหาของมนุษย์นั้น จำเป็นจะต้องพิจารณาองค์ประกอบและปัจจัยเหล่านี้อย่างทั่วถึง แต่ทีนี้เมื่อเศรษฐศาสตร์นำเอาข้อประเด็นในธรรมชาติของมนุษย์ เช่น ความต้องการและความพึงพอใจเป็นต้น เข้ามาพิจารณาโดยเลือกเอาแต่เพียงบางแง่บางส่วนของความเป็นจริงมาใช้ เมื่อนำเอาเพียงบางแง่บางส่วนของความเป็นจริงมาใช้ ก็เรียกว่าเป็น การนำเอาปัจจัยและองค์ประกอบในกระบวนการของธรรมชาติมาพิจารณาไม่ครบถ้วน การนำเอาองค์ประกอบและปัจจัยในธรรมชาติมาพิจารณาไม่ครบถ้วน ก็ทำให้เกิดความไม่สมบูรณ์ในการมองเห็นความจริง เมื่อมองเห็นความจริงไม่สมบูรณ์คือไม่ทั่วตลอดกระบวนการของมัน ก็ทำนายผลผิดพลาดได้มาก เพราะฉะนั้น จึงเป็นความบกพร่องอีกสถานหนึ่งของเศรษฐศาสตร์ คือความบกพร่องที่ว่า พิจารณา รู้เข้าใจ แยกแยะปัจจัยและองค์ประกอบต่างๆ ในกระบวนการธรรมชาติไม่ทั่วถึง จับเพียงบางแง่บางส่วนของธรรมชาติมาแสดง นี้คือเหตุผลประการที่สอง ที่ทำให้เศรษฐศาสตร์ไม่สามารถเป็นวิทยาศาสตร์

ต่อไปประการที่สาม เมื่อกี้นี้เรามองในแง่ความเป็นเหตุปัจจัยที่สืบต่อตรงออกไปข้างหน้า มองตรงไปข้างหน้าว่ามีผลอันนี้เกิดขึ้น แล้วผลอันนี้กลายเป็นเหตุให้เกิดผลอันโน้นต่อไป มองสืบทอดตรงออกไปข้างหน้า ทีนี้มองข้างบ้าง ในแง่มองข้างหรือตามขวางก็เช่นเดียวกัน การที่สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นในกระบวนการของธรรมชาตินั้น นอกจากจะมีการสืบทอดโดยเป็นเหตุปัจจัยสืบเนื่องกันต่อๆ ไปแล้ว มันจะมีความสัมพันธ์อิงอาศัยเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นๆ ข้างเคียงรอบตัวทั้งหมดด้วย ดังเช่นในระบบนิเวศ เราจะเห็นตัวอย่างว่า ชีวิตทั้งหลายและสิ่งทั้งปวงมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ความเป็นไปหรือความเปลี่ยนแปลงของสิ่งหนึ่งย่อมมีผลกระทบต่อสิ่งอื่นด้วย นี้ก็คือความสัมพันธ์อิงอาศัยกันของสิ่งทั้งหลาย แต่เศรษฐศาสตร์จะมองเฉพาะกระบวนการที่ส่งทอดตรงออกไปแล้วก็ตัดตอนอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ไม่ได้มองถึงการอ้างอิงอาศัยกันในด้านข้างหรือตามขวาง เพราะฉะนั้น ก็ทำให้เกิดปัญหา ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ ก็คือ การผลิต

การผลิตในความหมายทางเศรษฐศาสตร์คืออะไร เอาในความหมายของคนทั่วไปก่อน คนทั่วไปมักเข้าใจว่า การผลิต คือการทำให้เกิดขึ้นใหม่ เราผลิตอะไรก็คือทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น ทำให้มีสิ่งใหม่เกิดขึ้น แต่คำพูดเช่นนี้เป็นคำลวงหู ลวงตา ลวงสมอง ไม่เป็นความจริง การผลิตคือการทำให้มีอะไรเกิดขึ้นใหม่ ไม่เป็นความจริง นักเศรษฐศาสตร์บางท่านให้นิยามของการผลิตว่า คือ การแปรสภาพจากอย่างหนึ่งไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง ความหมายนี้เข้าทีขึ้น คือ การผลิตนั้น ไม่ได้ทำให้อะไรเกิดขึ้นใหม่แท้จริงเลย ไม่ใช่ว่าไม่มีอะไร แล้วมาทำขึ้นใหม่ เป็นไปไม่ได้ การแปรสภาพเป็นความหมายของการผลิต แต่การแปรสภาพก็ยังไม่ทำให้เข้าใจชัดเจน ในความหมายที่แฝงซ้อนอยู่ของการแปรสภาพ คือการที่จะมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นนั้น ก็ได้มีการทำลายสิ่งอื่นด้วย เพราะฉะนั้น ที่ว่าเราแปรสภาพหรือทำการผลิตนั้น ตามปกติก็จะมีการทำลายด้วยพร้อมกัน ในแง่หนึ่งเราพูดได้ว่า การผลิตจะมาพร้อมกับการทำลาย การผลิตย่อมมีการทำลายด้วยแทบจะเสมอไป แต่จะเป็นการทำลายที่พึงประสงค์หรือไม่ เป็นการทำลายที่เรายอมรับได้หรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เท่าที่ผ่านมาในยุคอุตสาหกรรม เศรษฐศาสตร์ต้องการให้คนทำการผลิต การผลิตเป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงถึงความเจริญของยุคอุตสาหกรรม แต่เพราะเหตุที่เราไม่ได้มองถึงธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงอิงอาศัยซึ่งกันและกัน จึงไม่ได้มองเห็นความหมายที่ว่า การผลิตก็คือ การทำลายในแง่หนึ่ง เมื่อมนุษย์มีการผลิตในด้านหนึ่งขึ้นแล้ว ก็มีการทำลายอีกด้านหนึ่งขึ้นมา ทีนี้การทำลายนั้นในบางครั้งก็เป็นการทำลายที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ในระบบนิเวศ เมื่อมนุษย์ทำการผลิตในระบบอุตสาหกรรมขึ้น ก็ปรากฏว่า พร้อมกันนั้น ได้มีการทำลายในระบบนิเวศเกิดขึ้น ซึ่งในระยะยาว มากระทั่งถึงบัดนี้ก็ได้เกิดปัญหามากมายดังที่เราประสบกันอยู่ อย่างที่เรียกว่าแทบจะเป็นทางตันทีเดียว และนี้ก็คือการที่เศรษฐศาสตร์มองกระบวนการของธรรมชาติไม่ทั่วถึงอีกด้านหนึ่ง คือด้านข้างหรือด้านตามขวาง

รวมความว่า เมื่อด้านหน้าตรงไปก็ตัดตอนเสีย ด้านในก็มองไม่ทั่ว และด้านขวางหรือด้านข้างก็ไม่มอง ความเป็นวิทยาศาสตร์ก็ไม่อาจสมบูรณ์ได้ นี่ก็เป็นเหตุผลอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นที่มาของปัญหาที่เราประสบกันอยู่ในปัจจุบัน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< เศรษฐศาสตร์กับความหวังที่จะเป็นวิทยาศาสตร์ไม่ถูกต้องตามธรรม จึงไม่เป็นวิทยาศาสตร์ >>

No Comments

Comments are closed.