จากความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หันมาสัมพันธ์กับวิชาการอื่น

10 มิถุนายน 2531
เป็นตอนที่ 4 จาก 20 ตอนของ

จากความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
หันมาสัมพันธ์กับวิชาการอื่น

แต่ก่อนอื่น ก็จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิชาเศรษฐศาสตร์นิดหน่อยด้วยเช่นกันว่า เศรษฐศาสตร์สมัยใหม่นี้เป็นวิทยาการที่มาจากตะวันตก เกิดขึ้นในตะวันตก และแม้จะเกิดขึ้นมานานแล้ว ดังที่เราอาจจะพูดว่า ได้เกิดมีความคิดในทางเศรษฐกิจมาแล้วตั้งแต่ยุค Plato หรือ Aristotle โน้น แต่วิชาการเศรษฐศาสตร์ที่จะเจริญอย่างแท้จริงนี้ ก็มาเจริญในยุคอุตสาหกรรม เป็นวิทยาการสาขาหนึ่งที่เจริญแบบเดียวกับวิทยาการสาขาอื่นๆ ในสมัยอุตสาหกรรม คือ เจริญแบบชำนาญพิเศษในด้านของตนๆ ดังที่เรียกกันว่าเป็นความเจริญในยุคของ specialization ซึ่งวิชาการแต่ละสาขาก็พยายามที่จะค้นคว้าให้ละเอียดลึกซึ้งลงไปในด้านของตนๆ ตรงออกไปๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะฉะนั้น เศรษฐศาสตร์นี้จึงได้พยายามที่จะแยกเอากิจกรรมทางเศรษฐกิจออกมาพิจารณาต่างหากจากกิจกรรมด้านอื่นๆ ของชีวิตมนุษย์ เมื่อทำอย่างนี้นานๆ เข้า เศรษฐศาสตร์ก็โดดเดี่ยวตัวเองออกมาเป็นวิชาการที่ออกจะด้วนๆ ไม่ค่อยจะมีความสัมพันธ์กับวิชาการและกิจกรรมด้านอื่นๆ ของมนุษย์ เพราะฉะนั้นในระยะยาวก็จึงเกิดปัญหาขึ้นมา คือว่า ปัญหาของมนุษย์นั้นโยงถึงกันหมด การแก้ปัญหาจะต้องสัมพันธ์ โยงซึ่งกันและกันมาถึงปัจจุบันนี้ ในเมื่อความเจริญในยุคอุตสาหกรรมได้เจริญเต็มที่ ก็เกิดปัญหาขึ้น เพราะการกระทำของมนุษย์ที่เจริญไปในด้านหนึ่งๆ หลายด้านมาเกิดความขัดแย้งกัน ก็เกิดผลเสียที่เราเห็นชัดก็คือ การพัฒนาทางเศรษฐกิจนี้ ในปัจจุบันได้ทำให้เกิดปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มนุษย์จึงกลับมารู้สึกตัวว่า กิจกรรมหรือการพัฒนาแต่ละด้านนั้น จะเอาแต่ด้านของตนอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเมื่อทำไปแล้วในที่สุดมันจะมีผลกระทบต่อด้านอื่นๆ ด้วย เพราะฉะนั้นในปัจจุบันนี้ มนุษย์จึงเกิดความสนใจที่จะหันมาสอดส่อง พิจารณาผลกระทบจากการกระทำกิจกรรม และการพัฒนาในด้านของตน ต่อความเป็นไปในด้านอื่น ทั้งในแง่ของธรรมชาติ ในแง่ของสังคม และในแง่ชีวิตทั้งกายและใจของมนุษย์เอง นี่ก็เป็นเรื่องของความเจริญของเศรษฐศาสตร์ที่เป็นมาจนถึงปัจจุบัน

ทีนี้ เมื่อมารู้สึกถึงปัญหาขึ้นแล้ว เศรษฐศาสตร์ในยุคปัจจุบันนี้ก็จึงมีความตระหนักขึ้นว่า จะต้องมีการอิงอาศัยกันหรือโยงกัน โดยร่วมมือกับวิทยาการแขนงอื่นๆ ด้วย ในระบบความสัมพันธ์ของชีวิต ธรรมชาติ และสังคม ย้อนหลังไปในยุคที่ผ่านมาแล้ว ศาสตร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์มากสักหน่อย ตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดความตระหนักถึงเรื่องความอิงอาศัยกันของกิจกรรมมนุษย์ในด้านต่างๆ นี้ วิชาการด้านนั้นก็คือการเมือง เพราะว่า กิจกรรมทางด้านการเมืองได้ส่งผลเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจมาก และปัญหาเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องใหญ่สำหรับการเมือง เศรษฐศาสตร์จึงให้ความสนใจทางด้านการเมืองมาก ดูเหมือนว่าจะเป็นพิเศษกว่าด้านอื่นๆ การเมืองก็เลยมีความพัวพันใกล้ชิดกับเรื่องเศรษฐศาสตร์ แม้แต่นักการเมืองเอง ก็ต้องเอานักเศรษฐศาสตร์เข้าไปช่วยในวงกิจการของตน ครั้นมาถึงตอนนี้ เศรษฐศาสตร์ก็ได้เกิดความสนใจ และกำลังให้ความสำคัญแก่วิชาการเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง และรู้สึกว่าอาจจะสนใจมากและให้ความสำคัญใกล้ชิดอย่างมากด้วย อย่างที่กล่าวแล้วเมื่อกี้ว่า ในเมื่อความเจริญทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาทางวัตถุ ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพแวดล้อม คือเรื่องทรัพยากรธรรมชาติที่ร่อยหรอไป และระบบนิเวศที่เกิดความเสียหาย เกิดความไม่สมดุล ซึ่งทำให้เกิดผลร้ายแก่ชีวิตของมนุษย์ นี้เป็นเหตุผลส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันเกิดความตระหนักว่า ศาสตร์ของตนจะต้องมีความสัมพันธ์กับนิเวศวิทยามาก จนกระทั่งนักเศรษฐศาสตร์บางท่านถึงกับพูดออกมาว่า ในระบบเศรษฐกิจยุคใหม่นี้ ควรจะต้องผนวกเอาวิชาเศรษฐศาสตร์เข้ากับวิชานิเวศวิทยา อันนี้ก็เป็นทรรศนะหนึ่ง แต่อย่างน้อยก็มีสาระสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความตระหนักในความสำคัญของเรื่องสภาพแวดล้อม เรื่องระบบนิเวศ และการที่กิจกรรมทั้งหลายของมนุษย์นั้นอิงอาศัยซึ่งกันและกัน มีผลกระทบต่อกัน ทำให้นักเศรษฐศาสตร์มองอะไรต่ออะไรกว้างขึ้น แต่มองในแง่หนึ่งก็คล้ายๆ ว่า ต้องรอให้เกิดผลเสียมากระทบเสียก่อน จนกระทั่งหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว นักเศรษฐศาสตร์ก็จึงต้องหันไปสนใจให้ความสำคัญ คือกลายเป็นว่า เดี๋ยวนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นในธรรมชาติหรือในสภาพแวดล้อมนี้ บังคับให้นักเศรษฐศาสตร์เป็นต้น ต้องหันมาสนใจเรื่องสภาพแวดล้อม และเมื่อสนใจแล้วจึงหันไปเอาเรื่องกับสิ่งนั้นทีหนึ่งเรื่องหนึ่ง จนกระทั่งต่อไป เมื่อไรมีปัญหาด้านอื่นเข้ามากระทบก็จะไปสนใจด้านนั้นอีกทีหนึ่ง อีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเป็นอย่างนี้ คงจะไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง ถ้าเราตระหนักถึงความสัมพันธ์กันขององค์ประกอบทั้งหลายในธรรมชาติ ในสังคมมนุษย์ ในอะไรทุกอย่าง แม้แต่ในกายใจของมนุษย์เองนี้แล้ว ถ้าเรารู้ถึงความสัมพันธ์อิงอาศัยกันของสิ่งทั้งหลายแล้ว เราก็รีบศึกษาให้รู้ถึงความสัมพันธ์ ความเกี่ยวข้องนั้นทั้งหมด องค์ประกอบอะไรที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เราก็เอาใจใส่ศึกษาทุกอย่าง แม้แต่เรื่องจริยธรรมนี้ ก็คิดว่ามีความสำคัญ และสัมพันธ์กับเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ถ้ามันมีความสำคัญจริงๆ แล้ว มันก็จะต้องส่งผลกระทบมา เมื่อส่งผลกระทบมาแล้ว เราจะรอให้เกิดผลเสียหาย แล้วจึงให้ความสนใจ ก็คงจะเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง แต่ควรจะรู้เสียก่อนว่า อะไรมีความหมาย มีความสัมพันธ์ แล้วก็เอามาคิดเอามาศึกษาเพื่อจะมาจัดเสียให้ถูกต้องโดยทางของเหตุและผล

ดังได้กล่าวแล้วว่า เศรษฐศาสตร์ในยุคปัจจุบันนี้มีลักษณะของความเจริญในทางวิชาการแบบยุคอุตสาหกรรมที่ว่า เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง มีความชำนาญพิเศษในด้านของตน เป็น specialization การที่เป็นศาสตร์แห่งความชำนาญพิเศษในด้านของตนนั้น ก็มีแง่ดีเหมือนกัน คือทำให้เราศึกษาลึกเข้าไปโดยละเอียดในกลไกที่ซับซ้อน สามารถแยกแยะเหตุปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ชัดเจนขึ้น อันนี้ก็เป็นผลดี ในความเจริญแห่งยุคอุตสาหกรรมที่ผ่านมานี้ เศรษฐศาสตร์ได้เจริญในด้านนี้มาก เราก็ไม่ควรจะละทิ้งผลดีที่เกิดจากความเจริญอันนี้เสีย แต่ส่วนที่ยังขาดอยู่ซึ่งเป็นแง่เสียก็คือ ในเมื่อสนใจเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง แล้วพยายามโดดเดี่ยว เอาเรื่องเศรษฐกิจออกไปอยู่ต่างหากอย่างนั้น มันก็ไม่สอดคล้องกับความจริงของสิ่งทั้งหลายที่อิงอาศัยสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เมื่อสิ่งทั้งหลายตามความจริงในธรรมชาติทั่วทั้งโลกนี้เป็นสิ่งที่อิงอาศัยซึ่งกันและกัน ปัญหาต่างๆ ก็ต้องโยงกันไปหมด เมื่อปัญหาต่างๆ ประกอบด้วยเหตุปัจจัยที่โยงซึ่งกันและกัน เรามาคิดเฉพาะด้านของเรา ก็ติดตันและแก้ปัญหาไม่ได้ ในที่สุดปัญหาก็ยิ่งแพร่ขยายออกไป ดังปรากฏในสภาพปัจจุบันที่ศาสตร์ต่างๆ วิทยาการต่างๆ ไม่สามารถจะแก้ปัญหาของโลก โดยเฉพาะเศรษฐศาสตร์ก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ตกไปได้ เป็นอันว่าทางปฏิบัติที่ถูกต้องก็คือ ต้องไม่ลืมหลักการที่ว่า จะต้องร่วมกับองค์ประกอบหรือวิทยาการอื่นๆ ในการแก้ปัญหาชีวิตและสังคมของมนุษย์ ไม่หลงไปว่าศาสตร์ของตัวลำพังจะแก้ปัญหาของมนุษย์ได้หมด หรือแม้กระทั่งมองกิจกรรมทุกอย่างในแง่ว่าเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แม้ว่ากิจกรรมทุกอย่างจะเป็นกิจกรรมที่มีแง่ความหมาย หรือมีนัยทางเศรษฐกิจอยู่ด้วย แต่ในกิจกรรมเดียวกันนั้นมันก็มีนัยความหมายในแง่ของวิทยาการอื่นอยู่ด้วยพร้อมกัน นั้นก็คือ การที่ว่าเศรษฐศาสตร์จะต้องยอมรับส่วนร่วมและความสำคัญของศาสตร์อื่นๆ และกิจกรรมอื่นๆ ในการที่จะพิจารณาแก้ปัญหาของโลก โดยเฉพาะในการที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ในการที่จะพัฒนาสังคม พัฒนาประเทศชาติกันต่อไป

มีข้อที่ต้องระวังอย่างหนึ่ง คือ ดังได้กล่าวแล้วว่าเศรษฐศาสตร์นี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐศาสตร์ หรือการเมืองมาก แล้วก็มีความโน้มเอียงของนักการเมืองอยู่ไม่น้อย ที่จะนำเอาเศรษฐศาสตร์ไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง บางครั้งก็เป็นการสนองประโยชน์ส่วนตน กล่าวคือ การที่นักการเมืองเอาเศรษฐศาสตร์ไปใช้ หรือเอานักเศรษฐศาสตร์ไปช่วยกิจการของตนเองนั้น ก็เป็นไปได้ทั้งสองแง่ ทั้งในแง่ที่จะสนองประโยชน์ส่วนรวม เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศชาติบ้านเมือง ในการพัฒนาสังคม และในแง่ที่นำไปใช้เพื่อสนองประโยชน์ส่วนตน ดังปรากฏว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานี้ มีหลายครั้งที่เศรษฐศาสตร์ได้กลายไปเป็นเครื่องมือของนักการเมืองหรือผู้ชำนาญการด้านอื่นๆ เพราะฉะนั้น จึงเป็นข้อที่ต้องระวังอย่างหนึ่ง นี้เป็นความเข้าใจเบื้องต้นที่เราจะต้องมีร่วมกันไว้ก่อน เพื่อเป็นฐานในการพิจารณาเรื่องเศรษฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์ต่อไป

ย้อนกลับมาหาจุดสำคัญที่พูดทิ้งไว้ คือ ดังได้กล่าวแล้วว่า กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์หรือวิชาการต่างๆ นั้น สัมพันธ์เชื่อมโยงต่อกัน ทีนี้มันเชื่อมโยงกันอย่างไร นี้ก็เป็นข้อพิจารณาหนึ่งว่า เศรษฐศาสตร์เมื่อพยายามจะแก้ปัญหาจะต้องกำหนดให้ได้ว่า ตนเองเชื่อมต่อกับวิชาการไหน โยงสัมพันธ์กับวิชาการไหน ในด้านใด จุดใด เมื่อจับจุดนี้ได้แล้ว ก็จะมีการร่วมมือกันและส่งต่อภาระแก่กัน ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปด้วยดียิ่งขึ้น

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< สองนัยของธรรม ที่สัมพันธ์กับเศรษฐศาสตร์ความสำคัญของจริยธรรมต่อเศรษฐกิจ >>

No Comments

Comments are closed.