เศรษฐศาสตร์กับพุทธศาสตร์ คล้ายเป็นคนละแดน

10 มิถุนายน 2531
เป็นตอนที่ 2 จาก 20 ตอนของ

เศรษฐศาสตร์กับพุทธศาสตร์ คล้ายเป็นคนละแดน

สำหรับหัวข้อเรื่องเศรษฐศาสตร์แนวพุทธศาสตร์นี้ เป็นการนำเอาวิชาการสองด้าน ซึ่งในความรู้สึกของคนจำนวนมากเห็นว่าเป็นคล้ายๆ สุดทางคนละด้าน มาประสมประสานกัน ทำให้เกิดความรู้สึกในใจของบางคนเหมือนกับว่า มีความขัดแย้งอยู่บ้าง กล่าวคือ เศรษฐศาสตร์นั้นคนไม่น้อยมองไปว่าเป็นเรื่องทางด้านวัตถุเต็มที่ จนกระทั่งรู้สึกว่านักเศรษฐศาสตร์นั้นเป็นคนที่มีลักษณะแนวความคิดในทางที่นิยมวัตถุจัด หรือมากทีเดียว ส่วนทางด้านพุทธศาสตร์นั้น หลายคนก็มองว่าเป็นวิชาที่มุ่งในทางจิตใจ เรียกว่าเต็มที่เหมือนกัน สองวิชานี้จะมาประสมประสานกันได้อย่างไร ยิ่งถ้านิมนต์พระมาพูดทางด้านเศรษฐศาสตร์ โดยเป็นเศรษฐศาสตร์ล้วนๆ ก็จะมีคนไม่น้อยรู้สึกว่าขัด โดยทางฝ่ายเศรษฐศาสตร์ก็จะมองว่า เอ๊ะ ทำไมพระเข้ามาพูดในเรื่องเศรษฐศาสตร์ แต่ในเวลาเดียวกัน ทางฝ่ายพุทธศาสนิกชนจำนวนมากก็จะมองไปว่า เอ๊ะ ทำไมพระออกไปพูดในทางเศรษฐศาสตร์ ที่ว่านี้หมายความว่า วิชาทั้งสองนี้เหมือนกับเป็นคนละแดน การที่ผู้ซึ่งอยู่ในวงวิชาการ ฝ่ายพุทธศาสตร์จะไปพูดในทางเศรษฐศาสตร์ ก็เหมือนกับว่าออกไปจากแดนของตน แม้จะตั้งชื่อให้มีทั้งสองอย่างรวมกันแล้วเป็นเศรษฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์ ผู้ที่มองก็ยังมีความรู้สึกว่าคงจะมาพูดในความหมายเกี่ยวกับจริยธรรม ว่าจริยธรรมมีความหมาย มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์อย่างไร ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ เราพูดได้ว่า การศึกษาเศรษฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์นี้ ยังเป็นเรื่องที่ใหม่ ยังต้องการการทำความเข้าใจ การทำความหนักแน่นมั่นคงในทางวิชาการอีกมากทีเดียว และการที่จะทำเช่นนี้ได้ เราคงจะต้องการผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจดี ทั้งทางเศรษฐศาสตร์ และทางพุทธศาสตร์มาพูด แต่ในสภาพปัจจุบันนี้ การสนใจศึกษาวิชาการต่างๆ มักเป็นไปในรูปของความชำนาญพิเศษ คือใครรู้อะไรก็รู้ไปด้านหนึ่ง รู้ชำนาญให้ลึกซึ้งในด้านนั้นๆ เพราะฉะนั้น เราก็จะประสบปัญหาที่ว่า จะหาคนที่มีความรู้ทั้งสองด้านพร้อมกันได้ยาก เมื่อหาคนที่มีความรู้พร้อมกันสองด้านได้ยาก การที่จะเอาความรู้สองด้านนี้มาประสมประสานกันจึงมิใช่เป็นเรื่องที่ง่าย โดยจำเพาะอาตมภาพผู้พูดเองนี้ ก็ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาโดยตรงในทางเศรษฐศาสตร์ เพียงแต่ว่าจะนำเอาแนวคิดทางพุทธศาสตร์มาเสนอแก่วงการเศรษฐศาสตร์ เพราะฉะนั้น ก็อาจจะทำได้เพียงในขั้นที่เรียกว่าสุกเอาเผากิน ในระยะยาว การที่จะให้วิชาการเศรษฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์นี้ตั้งตัวได้มั่นคง ก็คงจะต้องอาศัยท่านที่อยู่ในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์นั่นเอง ที่จะได้มาศึกษาทางฝ่ายพุทธศาสตร์ แล้วนำเข้าไปใช้ในวิชาการสายของตน โดยพิจารณาให้เห็นชัดว่า จะนำไปผสมกลมกลืนกันได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ในการที่ทางคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในส่วนของคณะเศรษฐศาสตร์ มาจัดประชุมครั้งนี้ขึ้น ในแง่หนึ่งเราก็ควรจะต้องอนุโมทนาในความคิดริเริ่มนี้ แต่ในเวลาเดียวกัน ก็คงไม่ต้องหวังหรือเล็งผลเลิศจนเกินไปนัก ขอให้เป็นเพียงการมาช่วยกันคิดว่าจะตั้งต้นและเดินหน้ากันไปอย่างไร

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< (กล่าวนำ)สองนัยของธรรม ที่สัมพันธ์กับเศรษฐศาสตร์ >>

No Comments

Comments are closed.