พ้นจากทำให้ทันสมัย กลายเป็นกำลังพัฒนา

7 พฤษภาคม 2531
เป็นตอนที่ 6 จาก 22 ตอนของ

พ้นจากทำให้ทันสมัย กลายเป็นกำลังพัฒนา

ตามปกตินั้น ในการที่สังคมหรือประเทศชาติใดจะเจริญก้าวหน้าไปด้วยดีโดยราบรื่น องค์ประกอบทั้งหลายของสังคม ไม่ว่าจะเป็นผู้คนพลเมือง สถาบันหรือกิจการต่างๆ จะต้องเจริญก้าวหน้าไปด้วยกันอย่างประสานกลมกลืน ได้สัดได้ส่วนกันพอดีและสมดุล อันนี้เป็นหลักที่สำคัญมาก แต่ในการเร่งรัดความเจริญนั้น เราจำเป็นต้องรีบปรับปรุงเปลี่ยนแปลง และเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องปล่อยให้คนบางพวก กิจการบางอย่าง สถาบันบางสถาบัน หรือองค์ประกอบบางส่วนของสังคม เจริญล้ำหน้าส่วนอื่นๆ ออกไป นี้เป็นความจำเป็นในการเร่งรัดพัฒนา แต่ในภาวะเช่นนี้ เมื่อพัฒนาประเทศชาติไปไม่นาน ก็จะเกิดสภาพอย่างหนึ่งขึ้นมา กล่าวคือ สภาพที่องค์ประกอบทั้งหลายของสังคม ตั้งแต่ระดับประเทศลงไปจนถึงระดับชุมชน มีความไม่ประสานกลมกลืนกัน ขาดความสมดุล เหมือนกับว่าองค์ประกอบเหล่านั้นไม่ใช่องค์ประกอบของสังคมหรือชุมชนเดียวกัน แต่เหมือนกับเป็นส่วนประกอบของคนละสังคม แล้วเอามาจับรวมให้อยู่ด้วยกัน คนบางพวก สถาบันบางอย่าง หรือวิทยาการบางสาขา แซงล้ำหน้าไป เจริญเติบโตโดดเดี่ยว ออกไปอยู่ต่างหาก เข้ากันไม่ได้กับส่วนประกอบที่ล้าหลังอยู่ องค์ประกอบบางอย่างเกิดมีการแยกกัน เป็นแบบเก่ากับแบบใหม่ หรือเป็นของมาจากนอกกับของที่อยู่ข้างในมาแต่เดิม แล้วทีนี้ ถ้าเราไม่รู้ตัวเท่าทันในเรื่องนี้ และไม่พยายามหรือไม่สามารถประสานเชื่อมโยงให้เก่ากับใหม่ ให้ของในกับของนอกนี้เชื่อมโยงประสานกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันได้ และให้เจริญสืบทอดต่อเนื่องออกไป ก็จะเกิดการขาดตอนตัดแยกขึ้น ของเก่าก็ขาดตอนหยุดอยู่ ของใหม่ก็เริ่มไปต่างหาก แล้วก็เกิดการแบ่งแยกไปคนละอย่าง ไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจกัน กลายเป็นคู่ถ่วงกันบ้าง คู่แย้งกันบ้าง ยิ่งกว่านั้น ของเก่าที่ไม่ได้รับความเอาใจใส่ ก็ดำเนินต่อไปอย่างสะเปะสะปะ เคว้งคว้างเลื่อนลอย เมื่อขาดการควบคุมดูแลรักษาก็คลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนไปจากเดิม บ้างก็กลายเป็นโทษ เกิดปัญหาในลักษณะต่างๆ ปรากฏในสภาพปัจจุบันที่ขาดคุณค่าซึ่งเคยมีมาแต่เดิม นอกจากนั้น ของเก่าที่ดีงามบางอย่าง เมื่อเราไปตื่นเต้นกับของใหม่จนหลงลืมไปไม่เอาใจใส่ ไม่สนใจกัน ก็ถูกปล่อยปละละเลย ทอดทิ้ง แล้วก็เลือนรางหายไป ไม่มีปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เดี๋ยวนี้ มีการหันกลับไปสนใจสิ่งเก่าๆ และของโบราณที่มีคุณค่า แต่ปรากฏว่า ของที่สูญหายเลือนลางจางไปแล้วก็มากมาย เวลานี้เรามีศัพท์ที่พูดกันใหม่ว่า การละทิ้งภูมิธรรมภูมิปัญญาไทย หมายความว่า ภูมิปัญญาไทย บางอย่างสูญหายไปแล้ว บางอย่างเลือนรางไปก็มีการฟื้นฟู สภาพที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็เกิดจากการพัฒนาอย่างไม่ประสานกลมกลืนกัน

ในการปฏิบัติที่ถูกต้อง เมื่อเร่งรัดพัฒนากันแบบนี้ เราพัฒนาไปได้พักหนึ่งแล้ว พอส่วนที่เจริญล้ำหน้าหรือกิจการใหม่ตั้งตัวได้ที่อยู่ตัวดีแล้ว เราควรจะต้องหันมาระดมแรงจัดสรรพัฒนาองค์ประกอบอื่นๆ ที่เราทิ้งไว้ข้างหลัง ที่เคว้งคว้างล้าหลัง ที่ตามไม่ทันทั้งหลาย ให้เจริญขึ้นไปประสานกลมกลืนเข้าด้วยกันกับส่วนที่ได้เจริญรุดล้ำไปก่อน และสร้างความสมดุลพอดีให้เกิดขึ้น ถ้าอย่างนี้ก็จะเป็นการแก้ปัญหาได้ ซึ่งความจริงในระยะเริ่มต้นนั้น ก็ได้มีการพยายามพัฒนาอย่างประสานกลมกลืนเหมือนกัน มิใช่ว่าจะไม่ได้พยายามทำ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ยังพอยกตัวอย่างได้ เช่น ในด้านการศึกษา เมื่อจะเริ่มการศึกษาแบบสมัยใหม่ ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ก็ทรงพยายามเชื่อมต่อเก่ากับใหม่เข้าด้วยกัน ระบบการศึกษาเก่าของไทยคืออะไร ก็คือ ระบบวัด วัดเป็นศูนย์กลางการศึกษาของชุมชน พระเป็นครู เป็นผู้สอน วัดก็เป็นสถานที่เล่าเรียน หรือเป็นโรงเรียน ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีคำว่าโรงเรียน เมื่อในหลวงจะนำเอาระบบการศึกษาสมัยใหม่เข้ามา ก็ทรงเอามาประสานกลมกลืนเข้ากับระบบเก่า โดยตอนแรกมอบให้วัดและพระสงฆ์เข้ามาร่วมจัดการศึกษาแบบสมัยใหม่ คือเอาวัดซึ่งเป็นสถานศึกษาเดิมของชุมชนมาเป็นโรงเรียนในระบบการศึกษาใหม่ เอาพระสงฆ์ที่เป็นครูในชุมชนแต่เดิมมาเป็นผู้สอนในโรงเรียนใหม่นั้น แล้วก็เอาเนื้อหาวิชาเดิมเข้ากลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษาใหม่ เท่ากับว่าเป็นการปรับเก่ากับใหม่ให้กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วก็หวังว่าจะสืบทอดต่อเนื่องมาอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นี้ก็เป็นการดำเนินการในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งมีหลักฐานเห็นได้ชัดว่า ในฝ่ายวัด ในหลวงได้ทรงมอบหมายให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงรับผิดชอบการศึกษาของกุลบุตร กุลธิดาทั่วประเทศไทย โดยมีเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย คือสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นฝ่ายอุปถัมภ์ จัดสรรอำนวยความสะดวกในเรื่องอุปกรณ์ต่างๆ แล้วก็ดำเนินงานร่วมกันมา

ที่เล่ามาตอนนี้เป็นเรื่องเก่าที่เป็นหลักฐานแสดงว่า ได้มีการพยายามทำให้เก่ากับใหม่ และในกับนอกเกิดความประสานกลมกลืน แต่ผู้นำที่บริหารประเทศในยุคต่อมาคงจะไม่เข้าใจแนวทางการพัฒนาแบบนี้ และยังเข้าใจผิดกันอีกด้วยว่า รัฐได้รับช่วงถ่ายทอดโอนภาระในการศึกษามวลชน หรือในสมัยนั้นเรียกว่าการศึกษาสำหรับทวยราษฎร์ ออกจากวัดมาหมดแล้ว ก็เลยแยกตัวมาจัดการศึกษาทั้งหมดเอง ให้วัดและพระเลิกและวางมือออกไปจากกิจการศึกษาของรัฐ แล้วต่อมา ก็กลายเป็นการทำให้เกิดปัญหาแทรกซ้อนขึ้นในการศึกษา ซึ่งยังเป็นอยู่แม้ในปัจจุบัน โดยที่นานทีเดียวคนไทยทั่วไปไม่รู้ตัวเลยว่ามีปัญหานี้อยู่ และแม้จนบัดนี้ คนส่วนมากก็ยังไม่รู้ตัวเลยว่ามีปัญหานี้ กล่าวคือ ในเมื่อไม่ได้กลมกลืนเข้าด้วยกัน และของเก่าไม่ได้รับความเอาใจใส่ แต่ก็ไม่ได้หมดไป ก็เลยกลายเป็นมี ๒ อย่างที่เข้ากันไม่ได้ แล้วก็ก่ายเกยกีดขวางกัน เช่น ในปัจจุบัน นอกจากการศึกษาของรัฐแล้ว ก็ยังมีระบบการศึกษาของวัดที่เป็นระบบซ้อนแฝงอยู่ ระบบการศึกษาของวัดในที่นี้ ไม่ใช่หมายถึงการศึกษาสำหรับพระเณรที่จะอยู่สืบศาสนาโดยตรง แต่เป็นการศึกษาของวัดในความหมายที่ว่า ให้การศึกษาแก่พลเมืองของไทยที่เข้าไปบวชเรียนเป็นพระเณรอยู่ในวัดตามประเพณีบวชเรียนของสังคมไทย ซึ่งในปัจจุบันนี้ ได้ทำให้วัดกลายเป็นช่องทางเลื่อนสถานะของผู้ด้อยโอกาสในสังคม เรื่องนี้ถ้ามีเวลาก็อาจจะพูดกันต่อไป แต่ยกขึ้นมาพูดในที่นี้เพื่อเป็นตัวอย่างอันหนึ่ง แต่รวมความก็คือ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีการพยายามที่จะสร้างความประสานกลมกลืน ด้วยการต่อเก่ากับใหม่ให้เชื่อมกันได้ แต่การพัฒนาประเทศหลังรัชกาลที่ ๕ แล้ว เป็นการเอาใจใส่ จัดทำกับส่วนที่เจริญก้าวหน้าเติบโตโดดเดี่ยวออกมาแล้วทั้งสิ้น ก็เลยทำให้เกิดความห่างเหิน แยกตัวออกจากกัน ห่างไกลออกไปมากยิ่งขึ้น แทนที่จะหันกลับไปแก้ปัญหาที่เกิดจากการสูญเสียความประสานกลมกลืน หรือเสียสมดุลนั้น เราก็กลับซ้ำเติมปัญหาให้หนักมากยิ่งขึ้น

จะขอยกตัวอย่างเรื่องราวทางด้านการศึกษาต่อไปอีกสักหน่อย ดังได้พูดมาแล้วว่า ในรัชกาลที่ ๕ พระช่วยจัดการศึกษา ราชการฝ่ายศาสนาและราชการฝ่ายการศึกษาก็อยู่ด้วยกัน เพื่อให้เกื้อกูลช่วยกันได้และสามารถรับช่วงกันได้อย่างชนิดสืบต่อกลมกลืน เพราะฉะนั้น หน่วยราชการสมัยนั้น ทั้งส่วนที่รับผิดชอบการศาสนา และส่วนที่ทำงานด้านการศึกษาก็ร่วมอยู่ด้วยกัน เรียกว่า กระทรวงธรรมการ แต่พอสิ้นรัชกาลที่ ๕ แล้ว ขึ้นรัชกาลที่ ๖ ก็เห็นว่าการศึกษากับเรื่องศาสนานั้นไปด้วยกันไม่ได้ เป็นกิจการคนละอย่าง ก็เลยประกาศเปลี่ยนแปลงว่า ให้เปลี่ยนชื่อกระทรวงธรรมการ เป็นกระทรวงศึกษาธิการ แล้วย้ายเอากรมธรรมการที่เป็นกิจการเกี่ยวกับพระสงฆ์ออกไปไว้ในวัง นี้ก็เป็นเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นได้ชัดถึงกระแส และทิศทางของการพัฒนาประเทศในยุคต่อมา เมื่อทำด้วยความไม่รู้เข้าใจชัดเจน แล้วไม่จัดให้ลงตัวกันเรียบร้อย ไปๆ มาๆ ก็จึงทำให้มีการศึกษาระบบแฝงเร้นของพลเมืองไทยที่ซ่อนอยู่ในวัด อย่างที่ว่าเมื่อกี้ การพัฒนาประเทศยุคพัฒนาหลังจาก พ.ศ. ๒๕๐๐ แล้วก็เช่นเดียวกัน ล้วนแต่ได้ใส่ใจให้ความสำคัญแก่ส่วนที่เจริญล้ำหน้าออกมาแล้วทั้งสิ้น เป็นการเดินหน้าในเส้นทางการพัฒนาสายเดียวกัน เพียงแต่เน้นย้ำทำให้เข้มข้นเข้าในบางเรื่องบางจุดเท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงย่อมทำให้เกิดภาวะเสียดุลยภาพในสังคม

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ย้อนสู่ต้นกระแสของการพัฒนาปัญหาจากการพัฒนาไม่สมดุล >>

No Comments

Comments are closed.