ย้อนสู่ต้นกระแสของการพัฒนา

7 พฤษภาคม 2531
เป็นตอนที่ 5 จาก 22 ตอนของ

ย้อนสู่ต้นกระแสของการพัฒนา

ประเทศไทยเรา ได้เริ่มสร้างสรรค์ความเจริญแบบสมัยใหม่นี้มาตั้งแต่เมื่อไร เราพูดได้ตามประวัติศาสตร์ว่า เราได้เริ่มสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าแบบสมัยใหม่นี้มาแล้วประมาณ ๑ ศตวรรษ เหตุที่เราจะเริ่มต้นความเจริญแบบนี้ ก็เนื่องจากการที่ลัทธิอาณานิคมได้รุ่งเรืองขึ้น ประเทศตะวันตกพากันมาล่าเมืองขึ้นในทางตะวันออก และกลายเป็นภัยคุกคามต่อประเทศชาติ ทำให้องค์พระประมุขของประเทศต้องพยายามสร้างสรรค์ความเจริญขึ้นไป เพราะมองเห็นว่าประเทศไทยยังไม่เจริญก้าวหน้า ไม่มีกำลังแข็งแรงพอจะต้านทานประเทศตะวันตกเหล่านั้นได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถึงแม้เมืองไทยจะรอดจากการเป็นเมืองขึ้น แต่เราก็ต้องยอมเสียดินแดนไปหลายจังหวัดทีเดียว ดังนั้น เพื่อให้ประเทศชาติมีกำลังแข็งแรง ก็จึงได้มีการสร้างสรรค์ความเจริญ ซึ่งมีความหมายว่า จะต้องทำประเทศให้เจริญก้าวหน้าทันสมัยทัดเทียมกับประเทศตะวันตกเหล่านั้น แล้วก็จะได้พ้นจากภัยคุกคามของลัทธิอาณานิคม ตามที่ว่ามานี้จะเห็นได้ว่า การสร้างสรรค์ความเจริญของประเทศในสมัยนั้น มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน ดังได้เห็นกันว่า แต่ก่อนนี้เราได้ยินได้อ่านข้อความที่พูดกันบ่อยว่า เราจะสร้างประเทศให้เจริญก้าวหน้าทันสมัยทัดเทียมอารยประเทศ หรือที่ชอบใช้สำนวนว่า “เทียมบ่าเทียมไหล่” กับอารยประเทศ สมัยนั้นเราเรียกประเทศตะวันตกว่า อารยประเทศ แสดงว่า เรายอมรับประเทศตะวันตกเหล่านั้น ว่าเป็นอารยะ เรายอมยกคำว่า “อารย” ให้กับประเทศตะวันตกเหล่านั้น เรียกเขาว่าอารยประเทศ คือเป็นประเทศที่เจริญเพริศแพร้ว หรือศิวิไลซ์

คำว่า “อารย” เป็นคำสันสกฤต ตรงกับคำบาลีว่า “อริยะ” “อริยะ” นั้น เป็นคำสำคัญที่ใช้ในพระพุทธศาสนา คือในทางธรรม เราเรียกบุคคลในอุดมคติว่าเป็นอริยบุคคล หมายถึงบุคคลผู้ประเสริฐซึ่งกำจัดกิเลสได้มากแล้ว จนกระทั่งถึงขั้นสูงสุดหมดกิเลสสิ้นเชิงก็เป็นพระอรหันต์ เป็นพระอริยะขั้นสุดท้าย คำว่า “อารยะ” นั้นเป็นคำสันสกฤตที่มีความหมายอย่างเดียวกับ “อริยะ” นี้ เรายกย่องให้ประเทศตะวันตก เป็นอารยประเทศ เป็นประเทศที่เจริญ เป็นประเทศที่ประเสริฐ ซึ่งสมควรแก่การที่เราจะเอาอย่าง แล้วเราก็ได้พยายามที่จะพัฒนาประเทศชาติให้เจริญขึ้นมาทัดเทียมประเทศเหล่านั้น วิธีการของเราในการที่จะพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าทันสมัยนั้น ก็คือ ต้องทำให้เหมือนเขา จึงต้องเน้นไปที่การสร้างความเจริญทางวัตถุ และปรับปรุงระบบการต่างๆ ของประเทศชาติและสังคมให้ทันสมัยทัดเทียมกับประเทศตะวันตก โดยการนำเอาระบบและวิธีการของตะวันตกเข้ามาใช้ เริ่มตั้งแต่จัดระบบการปกครองประเทศใหม่ ตามแบบประเทศตะวันตก มีการจัดตั้งเป็นกระทรวง ทบวง กรม จัดตั้งกระบวนการยุติธรรม นิติบัญญัติ การทหาร ตลอดจนการพาณิชย์แบบสมัยใหม่ ตามอย่างประเทศตะวันตกนั้น นี้เป็นด้านที่หนึ่ง ด้านที่สองก็คือ การที่จะต้องสร้างคนที่มีคุณภาพให้เป็นกำลังในการสร้างความเจริญนั้น อันจะทำได้ด้วยการให้การศึกษาแบบสมัยใหม่ ซึ่งก็เป็นการศึกษาแบบตะวันตกนั้นแหละ เพราะฉะนั้น ในตอนนั้นเราจึงมีการเน้นวิทยาการ ด้านที่จะใช้ในการสร้างความเจริญของประเทศตามแบบตะวันตก เช่น วิชากฎหมาย การปกครอง การพาณิชย์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ การแพทย์ และการฝึกหัดครู นอกจากนั้น เพื่อจะให้มีกำลังคนมาใช้งานในการสร้างความเจริญแก่ประเทศชาติได้อย่างรวดเร็ว ก็ต้องผลิตคนที่มีคุณภาพ ที่มีความรู้วิทยาการสมัยใหม่นี้ เข้ามาในระบบราชการ เพราะว่า ระบบราชการเป็นขุมกำลังใกล้ตัว ใกล้องค์พระประมุข ใกล้ผู้บริหารประเทศชาติ อยู่ในบังคับบัญชาที่จะใช้ประโยชน์ได้ทันที เพราะฉะนั้น เราก็จึงผลิตคนโดยมุ่งให้เข้ารับราชการ นี้คือวิธีการโดยทั่วไปในการสร้างสรรค์ความเจริญของประเทศชาติในสมัยนั้น

ลักษณะอย่างหนึ่ง ของการสร้างความเจริญของไทยอย่างที่กล่าวมานี้ก็คือ เป็นการทำให้พ้นจากภัยที่มาคุกคาม เมื่อมีภัยมาคุกคามอยู่ต่อหน้า การจะทำอะไรก็ต้องมีการเร่งรัดรีบด่วน เพราะฉะนั้น การสร้างความเจริญในสมัยนั้น จึงมีลักษณะสำคัญอยู่อย่างหนึ่ง คือ เร่งรัดรีบด่วน กล่าวคือ อะไรที่สำคัญ อะไรที่เกี่ยวกับการทำให้ประเทศทันสมัยทัดเทียมประเทศตะวันตก โดยเฉพาะอะไรที่จะเป็นเครื่องมือช่วยให้หลุดรอดพ้นภัย ก็ต้องทำก่อน ส่วนเรื่องอื่นที่มีความสำคัญในแง่นี้น้อยกว่าก็เอาไว้ทีหลัง ตรงนี้เป็นจุดสำคัญมากที่จะต้องสังเกตไว้ เพราะมันมีผลต่อความเป็นมาของประเทศชาติเป็นอันมาก ทั้งในด้านที่เป็นคุณและเป็นโทษ และเมื่อเราเร่งรัดสร้างสรรค์ความเจริญของประเทศชาติกัน ในตอนนั้นอย่างนั้น ในที่สุดก็ได้ผลดี คือ ประเทศไทยได้เจริญก้าวหน้า ทันสมัยในแนวทางที่จะทัดเทียมประเทศตะวันตกจริง และเราก็พ้นจากภัยคุกคามของลัทธิอาณานิคมได้จริง อย่างน้อยก็พ้นจากภัยคุกคามในรูปที่รุนแรงเปิดเผย เรามีกระทรวง ทบวง กรม มีระบบการทหาร การตำรวจ มีโรงพยาบาล มีการประปา มีการรถไฟ มีการไปรษณีย์ โทรเลข เป็นต้น ซึ่งเป็นความเจริญทางวัตถุ ที่นับได้ว่าก้าวหน้าเป็นแบบแผนพอที่จะกล่าวว่าจะทัดเทียมกับประเทศตะวันตกแล้ว ในสมัยต่อมาแม้ว่าเราจะได้มีการเร่งรัดพัฒนาขึ้นอีก แต่ก็เป็นการก้าวต่อมาในแนวทางเดียวกัน และเป็นความเจริญในลักษณะเดียวกัน ในสมัยปัจจุบัน เรามีตึกระฟ้า มีทางด่วน มีสะพานลอย มีสถาปัตยกรรม มีวิศวกรรม ที่เจริญมาก ซึ่งล้วนแต่แสดงว่าวิทยาการต่างๆ ที่เรานำเข้ามาจากตะวันตกนั้นได้เจริญอย่างรวดเร็ว ดังเช่นการแพทย์ของเราปัจจุบันนี้ก็เจริญก้าวหน้ามาก อยู่ในระดับยอดเยี่ยมไม่แพ้ประเทศตะวันตก หรืออาจจะเรียกได้ว่า ยอดเยี่ยมในระดับอาเซียหรือเอเชียอาคเนย์

เราต้องยอมรับคุณประโยชน์ ของการทำประเทศให้ทันสมัย และการพยายามพัฒนาที่ผ่านมา ซึ่งเป็นความสำเร็จด้านหนึ่ง แต่พร้อมกันนั้น พร้อมกับการที่ได้เร่งรัดสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าแบบสมัยใหม่นี้ ก็ได้มีปัญหาใหม่ๆ เกิดขึ้น เป็นปัญหาที่สำคัญร้ายแรงไม่เบาไปกว่าความสำเร็จเหมือนกัน ปัญหานั้นเป็นอย่างไร อันนี้เป็นเรื่องที่จะต้องมาทำความเข้าใจกันนิดหน่อย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< เริ่มฉากใหม่ของการพัฒนาพ้นจากทำให้ทันสมัย กลายเป็นกำลังพัฒนา >>

No Comments

Comments are closed.