เทคโนโลยี: ผู้แปลกหน้า มาดีหรือมาร้าย

7 พฤษภาคม 2531
เป็นตอนที่ 17 จาก 22 ตอนของ

เทคโนโลยี: ผู้แปลกหน้า มาดีหรือมาร้าย

แม้แต่เทคโนโลยีก็เหมือนกัน จะต้องถูกนำมาใช้ภายใต้การพิจารณาควบคุมให้ช่วยส่งเสริมเกื้อกูลแก่ชีวิตที่ประสานกลมกลืนในธรรมชาติและสังคมนี้ ยิ่งสังคมเจริญขึ้นเท่าไร การควบคุมเทคโนโลยีก็มีความสำคัญยิ่งขึ้นเท่านั้น แต่การที่มนุษย์จะควบคุมเทคโนโลยีให้ได้ผลดี เพื่อช่วยให้ชีวิตมนุษย์อยู่ได้ด้วยดีทั้งกายและใจ ภายในความประสานเกื้อกูล กับสภาพแวดล้อมทั้งธรรมชาติและสังคมนั้น มนุษย์จะต้องรู้จักควบคุมตนเองได้ เพราะฉะนั้น มนุษย์ในยุคนี้ ยิ่งเจริญขึ้นไป ก็ยิ่งต้องการการควบคุมตัวเองมากขึ้น

คนในสมัยปัจจุบันนี้จำนวนมาก ฝากความหวังไว้กับเทคโนโลยีว่า เทคโนโลยีนี่แหละจะเป็นตัวเอกที่นำมาซึ่งสันติสุขแก่มนุษย์ จะให้ความสมหวังและความเพียบพร้อมบริบูรณ์ทุกอย่าง อันนี้เป็นเรื่องที่น่าพิจารณา จึงควรจะคุยกันเรื่องเทคโนโลยีอีกนิดหน่อยก่อนที่จะผ่านไปจากยุคพัฒนานี้ แต่ได้บอกแล้วว่า เจ้าบทบาทสำคัญของความเจริญในยุคอุตสาหกรรม หรือ ตัวเอกที่ทำให้ประเทศที่เรียกว่าพัฒนาแล้วได้พัฒนาตัวขึ้นมา ก็คือเทคโนโลยีนี้แหละ เพราะฉะนั้น บทเรียนที่ผ่านมาน่าจะได้สอนไปด้วยส่วนหนึ่งแล้วว่า เทคโนโลยีนี้ไม่ใช่เป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้มนุษย์เกิดมีสันติสุขที่แท้จริง เพราะมิฉะนั้นแล้ว ประเทศที่เจริญทางด้านเทคโนโลยี ก็น่าจะมีความสุขสมบูรณ์มากที่สุด

เทคโนโลยีเกิดขึ้นอย่างไร เทคโนโลยีเกิดขึ้นจากความต้องการของมนุษย์ คือความต้องการที่จะทำอะไรบางอย่างให้ได้ เมื่อยังทำไม่ได้ก็พัฒนาเครื่องช่วยขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น มนุษย์ในยุคบุพกาลเมื่อจะเจริญขึ้นมาเป็นยุคเกษตรกรรมนั้น ต้องการจะมีพืชและสัตว์ที่เป็นของตัวเอง ซึ่งพร้อมที่จะทำเป็นอาหารได้ทันใจ โดยไม่ต้องไปเที่ยวเก็บอาหารที่ขึ้นตามธรรมชาติ และไม่ต้องไปเที่ยวตามล่า วิ่งไล่สัตว์ แต่จะทำอย่างไร ก็ต้องทำขึ้นมาด้วยตนเอง โดยเพาะปลูกเอง แล้วก็เลี้ยงสัตว์เอง แต่ในการที่จะเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์เองนั้น มนุษย์จะต้องมีเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวก จะมัวเอามือมาตักดินขุดหญ้าอยู่ไม่ไหว ตอนแรกก็อาจจะเอาไม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาแซะๆ ขุดๆ ดิน ต่อมาบางคนก็มีความคิดขึ้น แล้วก็พัฒนาไม้นั้นเป็นเครื่องมือ จนในที่สุดก็เกิดจอบขึ้นมา จากความต้องการที่จะใช้งานก็พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมา จึงมีเทคโนโลยีในระบบเกษตรกรรม เช่น มีเสียม มีจอบ เป็นต้น เป็นเครื่องมือที่จะใช้ทำงาน เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นแล้ว ก็กลับมาเป็นเครื่องกำหนดวิถีชีวิตของมนุษย์ มนุษย์ที่เกิดขึ้นมาในสภาพสังคมแบบนั้น มีเครื่องมือแบบนั้น ก็ต้องทำงานและดำเนินชีวิตอยู่ในแบบนั้น มีเครื่องมือแบบเพาะปลูก ก็ต้องเพาะปลูกกันไป วิถีชีวิตก็ถูกกำหนดโดยเทคโนโลยี แต่มนุษย์จะถูกกำหนดโดยเทคโนโลยีฝ่ายเดียวไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ไม่พัฒนา เมื่อมนุษย์ต้องการที่จะพัฒนาต่อไป ก็ต้องพัฒนาเครื่องมือต่อมาอีก จนในที่สุดเทคโนโลยีก็เจริญขึ้นสู่ยุคอุตสาหกรรม นี่ก็เป็นการแสดงถึงพัฒนาการของมนุษย์ที่ก้าวสู่ยุคสมัยต่างๆ แห่งอารยธรรมโดยสัมพันธ์กับเทคโนโลยี เทคโนโลยีก็จึงมีบทบาทมากในความเจริญหรืออารยธรรมของมนุษย์

เทคโนโลยีนี้ ถ้ามองดูให้กว้าง จะเห็นว่ามีเหตุปัจจัยหลักอยู่ ๒ อย่าง อย่างแรก เช่นตัวอย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ คือเรื่องเกี่ยวกับการทำมาหากิน ที่ว่าพัฒนาจอบเสียม ตลอดจนเครื่องจักรกลในการผลิตอะไรต่างๆ แต่การพัฒนาเทคโนโลยีอีกอย่างหนึ่งเกิดจากการต่อสู้ป้องกันภัย มนุษย์พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่อต่อสู้ป้องกันตัวให้พ้นภัยธรรมชาติบ้าง ภัยจากสัตว์ร้ายบ้าง ภัยจากมนุษย์ด้วยกันบ้าง ตอนแรกก็อาจจะเอาหินมาขว้างปา ต่อมาก็พัฒนาหินนั้นทำให้ใช้งานได้ดียิ่งขึ้น มีการเสี้ยมมีการลับให้แหลมคมขึ้นมาเป็นอาวุธ ต่อมาแค่นั้นไม่พอ ก็พัฒนามาเป็นขวานเป็นดาบเป็นเครื่องขว้างเครื่องยิงต่างๆ มากมาย มนุษย์ได้พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมามากมายเหลือเกินจากการต่อสู้ป้องกันภัย เมื่อพัฒนาตอนแรกๆ เราจะเห็นว่า เทคโนโลยีสำหรับการต่อสู้ป้องกันภัยนั้น มักจะใช้ได้ด้วยกันกับการเป็นอยู่หรือทำมาหากิน สอดคล้องกับชีวิตจริงที่มักต้องต่อสู้ป้องกันภัย ในการหาและแย่งอาหาร เช่น มีดก็อาจจะเอาไว้ใช้ต่อสู้แทงฟันคนอื่น แทงฟันสัตว์ ตลอดจนผ่าฟืนตัดต้นไม้ทำอาหารได้ด้วย แม้แต่มีปืนแล้วก็ยังเอาไปยิงสัตว์ล่าสัตว์ได้ ในสมัยก่อนโน้นเทคโนโลยีจึงยังเป็นเรื่องกว้างๆ ไม่ค่อยชำนาญเฉพาะ

ต่อมามนุษย์เจริญมากขึ้น มีเวลาว่างจากการทำมาหากินมากขึ้น การหากามและบริโภคกามก็มีบทบาทมากขึ้นในชีวิตของมนุษย์ มนุษย์ก็ทำร้ายต่อสู้กันเพราะเรื่องกามมากขึ้น ยิ่งกว่านั้น เพื่อผลทั้งในการหากินและในการหากาม มนุษย์ก็ต้องการอำนาจและหาอำนาจมากขึ้น ในขณะเดียวกัน เมื่อมนุษย์เจริญขึ้น ก็มีการแบ่งงานแบ่งการแบ่งหน้าที่กันทำมากยิ่งขึ้น ความชำนาญพิเศษเฉพาะทางก็พัฒนามากขึ้น วิทยาการเฉพาะด้านก็แตกสาขาละเอียดลออลึกซึ้ง กระจายตัวยิ่งขึ้น การหากิน หากาม และหาอำนาจ ที่เคยเป็นกิจกรรมปะปนรวมๆ กันอยู่ มองเห็นความสัมพันธ์กันชัดๆ ตรงๆ ก็แยกออกเป็นกิจกรรมเฉพาะด้าน มุ่งไปในเรื่องของตัว โดยมีความสัมพันธ์โยงกันและเป็นปัจจัยต่อกันอย่างลี้ลับซับซ้อนหรืออ้อมไปอ้อมมา จนถึงกับว่า ถ้าไม่ได้พินิจพิจารณา ก็มองไม่เห็นว่า การหาอำนาจโยงไปถึงการหากามและหากินอย่างไร เมื่อกิจกรรม ความชำนาญ และวิทยาการทั้งหลาย เป็นเรื่องเฉพาะด้านเฉพาะทางมากยิ่งขึ้น ความแตกต่างในหมู่มนุษย์ก็มีมากขึ้น และสังคมก็มีความสลับซับซ้อนหลากหลายมากยิ่งขึ้น เทคโนโลยีเองก็ได้รับการพัฒนาให้มีความชำนาญพิเศษเฉพาะด้านมากขึ้นๆ จนกระทั่งอาวุธที่ใช้ฆ่าคนก็ต้องเป็นเครื่องมือโดยเฉพาะ คือเป็นอาวุธที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับใช้ฆ่าคนให้ได้ผลมากที่สุดโดยเฉพาะ ซึ่งอาวุธเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ในด้านอื่นๆ เลย ไม่มีประโยชน์ในการทำมาหากิน นอกจากทำมาขายให้คนอื่นซื้อไปใช้ ตลอดจนประเทศที่พัฒนาแล้วเอามาขายให้ประเทศที่ด้อยพัฒนาเอาไปใช้ฆ่าฟันทำสงครามกัน จึงอาจจะมีประโยชน์ในทางเศรษฐกิจบ้าง แต่โดยธรรมดาแล้วก็เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาเฉพาะด้าน โดยไม่มีคุณค่าด้านอื่น เทคโนโลยีประเภทนี้ได้เจริญมามาก ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า พร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านการทำมาหาเลี้ยงชีพ ก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านการต่อสู้กันมากขึ้นด้วย

ในสมัยก่อนนั้น คุณค่าของเทคโนโลยี เขาพิจารณากันในแง่คุณและโทษต่อการทำมาหากิน และประสิทธิภาพในการใช้งานทำมาหากิน หรือใช้ในการต่อสู้ทำศึกสงครามว่าสำเร็จผลดีแค่ไหน แต่ต่อมาปัญหาของเทคโนโลยีได้ก้าวไกลออกไปอีก โดยที่มนุษย์ได้ตระหนักว่า มันได้เข้ามามีผลต่อชีวิตมนุษย์ โดยก่อปัญหาทางด้านสภาพแวดล้อมและสังคมอีกด้วย เทคโนโลยีบางอย่างพัฒนาขึ้นมาแล้ว ทำให้มนุษย์อยู่ดีกินดี แต่ทำให้สภาพแวดล้อมเสีย เช่น ทำให้เกิดมลภาวะ เป็นปัญหาใหม่เกิดขึ้นที่จะต้องพิจารณา มนุษย์เพิ่งจะเริ่มตระหนักกันมาสิบกว่าปีนี้เอง เกี่ยวกับปัญหาเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งรวมไปถึงเรื่องเศรษฐกิจในแง่ที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมในธรรมชาติ ตลอดจนปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น การมีโทรทัศน์อาจจะก่อโทษแก่สังคมหรือไม่ วีดีโอก่อโทษแก่สังคมอย่างไร การที่เรามีรถวิ่งกันและมีน้ำมันใช้กันอย่างมากมายนั้น ก่อให้เกิดมลภาวะเป็นมลพิษในสภาพแวดล้อม แล้วสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษนั้น ก็ทำให้ชีวิตคนไม่เป็นสุข ก่อให้เกิดโทษแก่สังคมต่อไป โยงและพันกันไปหมด เพราะฉะนั้น การพิจารณาคุณค่าของเทคโนโลยีในสมัยปัจจุบันจึงก้าวต่อมาอีกขั้นหนึ่งคือ นอกเหนือจากการประเมินคุณค่าในแง่การทำมาหากิน และการต่อสู้ป้องกันภัยแล้ว ก็มาพิจารณาในแง่คุณโทษต่อสภาพแวดล้อมหรือต่อธรรมชาติและต่อสังคมด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จึงยิ่งทำให้ทัศนะที่มองในแง่ของการประสานกลมกลืน และความสัมพันธ์อิงอาศัยกันขององค์ประกอบทั้งหลาย มีความสำคัญมากขึ้น

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< เบื้องหลังปัญหาการพัฒนาระดับโลกเทคโนโลยี: ปัจจัยนอกระบบ เพียงแปลกหน้า หรือว่าแปลกปลอม >>

No Comments

Comments are closed.