ถ้าไม่ถึงธรรม ก็ไม่พ้นภัยของการพัฒนา

7 พฤษภาคม 2531
เป็นตอนที่ 20 จาก 22 ตอนของ

ถ้าไม่ถึงธรรม ก็ไม่พ้นภัยของการพัฒนา

เมื่อว่าตามหลักธรรมก็สมคล้อยกับเรื่องที่พูดมาเมื่อกี้นี้ว่า มนุษย์เรามีความสัมพันธ์อิงอาศัยที่จะต้องเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ระหว่างชีวิตกับธรรมชาติและสังคม ทั้งสามอย่างนี้เป็นองค์ประกอบของระบบพื้นฐานแห่งการดำรงอยู่ของมนุษย์ การที่มนุษย์จะเป็นอยู่อย่างประสานกลมกลืนนั้นเป็นอย่างไร เริ่มต้นมนุษย์ก็ต้องรู้จักธรรมชาติ รู้จักธรรมชาติคือ รู้ความจริงของธรรมชาติ มนุษย์รู้ธรรมชาติและรู้ความจริงของธรรมชาติเพื่ออะไร ก็เพื่อจะได้ปฏิบัติถูกต้องต่อธรรมชาติ และนำความรู้นั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิต การที่จะรู้ความจริงของธรรมชาติได้ ก็ต้องมีปัญญา เพราะฉะนั้น มนุษย์จึงต้องพัฒนาปัญญา ซึ่งมีความหมายว่าเป็นการรู้ความจริงของธรรมชาติ ความจริงของธรรมชาตินั้น จะเป็นสภาวะของธรรมชาติ หรือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติก็ตาม เรียกว่า ธรรม เมื่อรู้ความจริงของธรรมชาติถึงขั้นที่เป็นความรู้แจ้งอย่างแท้จริง ก็จะมองเห็นถึงความจำเป็น ที่จะต้องเป็นอยู่อย่างเกื้อกูลต่อกันด้วย แล้วก็นำเอาความรู้ในกฎเกณฑ์ของธรรมชาตินั้นมาใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่เป็นการเอาเปรียบ และไม่เบียดเบียนธรรมชาติ แต่ใช้ในทางที่จะอยู่กลมกลืน และเกื้อกูลกับธรรมชาติได้ดียิ่งขึ้น มนุษย์ก็จะมีความสุขมากขึ้น เป็นอิสระ พ้นจากความทุกข์ เรียกว่า เข้าถึงภาวะไร้ทุกข์ในระดับต่างๆ เป็นชีวิตที่ดำรงอยู่ด้วยดี อีกด้านหนึ่ง นอกจากธรรมชาติ ก็ต้องเกื้อกูลกันในสังคมอีกด้วย แทนที่จะเป็นไปตามลักษณะของยุคพัฒนาที่ว่า แข่งขันแย่งชิงเอาเปรียบกัน ก็ต้องเปลี่ยนเป็นการร่วมมือและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ฉะนั้น ลักษณะของชีวิตในสังคมที่ไปพ้นจากยุคพัฒนานี้ หรือไปสู่ยุคประสานกลมกลืนกันก็คือ ชีวิตที่ไร้ทุกข์ บนพื้นฐานของความรู้เข้าใจความจริงของธรรมชาติ โดยเกื้อกูลแก่สังคม รวมเป็นหลัก ๓ ประการ ซึ่งเรียกในภาษาของพระพุทธศาสนาว่า

๑. ไร้ทุกข์ คือภาวะที่เรียกว่า วิมุตติ หมายถึง ความหลุดพ้นจากทุกข์ ปลอดปัญหา เป็นอิสระ

๒. บนพื้นฐานของความรู้ที่เรียกว่า ปัญญา ซึ่งเข้าใจความจริงของธรรมชาติ เพื่อนำความรู้ในธรรมชาตินั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ในการที่จะเป็นอยู่อย่างเกื้อกูล กลมกลืนกับธรรมชาติ โดยรู้ประมาณ คือ ความพอดีที่จะรักษาสมดุลเอาไว้ให้ได้

๓. โดยเกื้อกูลแก่สังคม อันรวมทั้งสรรพชีวิตในระบบนิเวศ หรือสรรพโลก หรือสรรพสัตว์ ด้วยคุณธรรม คือ กรุณา

ขอย้ำว่า ถ้าเข้าถึงธรรม คือรู้ความจริงของธรรมชาติอย่างถ่องแท้ทั่วตลอดจริงๆ แล้ว ก็จะมองเห็นความสัมพันธ์อิงอาศัยกันของสิ่งทั้งหลายทั่วทั้งหมด แล้วก็จะรู้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องเป็นอยู่อย่างเกื้อกูลต่อกัน และรู้ถึงวิถีทางที่จะเป็นอยู่อย่างดีได้โดยไม่ต้องเบียดเบียนกัน พร้อมทั้งรู้ประมาณ คือ ขอบเขตของความพอดี ที่เป็น มัชฌิมา สำหรับชีวิตและการพัฒนาที่จะดำเนินไปได้โดยสมดุล แล้วก็จะมีความเป็นไปเองตามธรรมดาที่ว่า บุคคลนั้นๆ จะดำเนินชีวิตที่ดีงาม ไร้ทุกข์ ปลอดปัญหา ด้วยการเป็นอยู่และปฏิบัติการต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาในทางที่จะทำให้เกิดความเกื้อกูล และความสมดุลในระบบแห่งชีวิต ธรรมชาติ และสังคม ด้วยความรู้ที่แจ้งจริง ถึงตัวธรรมนั้น นี้คือความหมายอย่างหนึ่งของหลักการที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งเป็นปฏิบัติการแห่งความสมดุลพอดี ปัญหาปัจจุบันที่มีอยู่ในการพัฒนาก็คือ วิทยาการต่างๆ ที่เจริญก้าวหน้ามามากมายนั้น ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์ก็ตาม ต่างก็รู้ความจริงกันคนละแง่ละด้าน คนละสายคนละทาง ไม่ทั่วตลอดถึงธรรมเลย องค์รวมของความรู้ก็ไม่เกิดขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือ ยังไม่รู้จริงนั่นเอง จึงรวมความว่า ถ้าไม่ถึงธรรม ก็ไปไม่พ้นยุคพัฒนา

เพราะฉะนั้น บุคคลในอุดมคติของพระพุทธศาสนาจึงมีคุณสมบัติ ๓ ประการนี้ คือ มี ปัญญา รู้เข้าใจความจริง คือความจริงของธรรมชาติ มี วิมุตติ หลุดพ้นจากความชั่วร้ายและทุกข์ แก้ปัญหาของมนุษย์ได้สำเร็จ และมี กรุณา ที่จะเกื้อกูลต่อระบบนิเวศและสังคม นี้แหละคืออุดมคติในการพัฒนามนุษย์ ถ้ามนุษย์มีคุณสมบัติอย่างนี้ หรือพัฒนาตัวเองในแนวทางของคุณสมบัติอย่างนี้แล้ว เมื่อมาสร้างสรรค์ พัฒนา มีและใช้เทคโนโลยี เทคโนโลยีนั้นก็จะเกื้อกูลแก่ชีวิตมนุษย์เอง ทั้งกายและใจ เกื้อกูลแก่ธรรมชาติ และเกื้อกูลแก่สังคมด้วย

๑. มนุษย์ที่เป็นบุคคลอุดมคติมีคุณสมบัติ ๓ ประการ คือ ปัญญา วิมุตติ และ กรุณา อย่างนี้ เราเรียกว่า พุทธะ เราพัฒนามนุษย์ขึ้นไปเพื่อให้เป็น พุทธะ เป็นองค์ที่หนึ่ง

๒. พุทธะนี้ เป็นพุทธะขึ้นมาได้ ก็ด้วยการพัฒนาปัญญาให้รู้แจ้งความจริงของธรรมชาติ ที่เรียกว่า ธรรม เป็นองค์ที่สอง

๓. เมื่อคนอื่นปฏิบัติตามอย่างพุทธะนี้ ก็จะเกิดเป็นสังคมที่ดีงาม ซึ่งทุกๆ คนมีชีวิตที่กลมกลืนเกื้อกูลในความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เรียกว่า สังฆะ เป็นองค์ที่สาม

จะเห็นว่า ระบบทั้งหมดโยงกันทั้งสิ้น การมีคุณสมบัติที่เป็นอุดมคติของมนุษย์ ๓ ประการ ก็มาสัมพันธ์กับหลักที่เรียกว่า รัตนตรัย หรือ ไตรสรณะ นั่นเอง คือ พุทธะ ธรรมะ สังฆะ สามอย่างนี้รวมกันเป็นระบบแห่งการพัฒนาตนของมนุษย์ขึ้นไปสู่ความดีงามสูงสุด ส่วนในระบบการดำรงอยู่ของมนุษย์ ก็มีองค์ประกอบ ๓ ประการเหมือนกัน คือ มนุษย์ ธรรมชาติ สังคม สามอย่างนี้ควรจะอิงอาศัยซึ่งกันและกันในระบบที่ประสานกลมกลืนและเกื้อกูลแก่กัน แต่มนุษย์จะสามารถเป็นอยู่เกื้อกูลกัน อิงอาศัยกับธรรมชาติได้ดี ทำให้ชีวิตของตนดีขึ้นได้ ก็จะต้องรู้ความจริงของธรรมชาติมากขึ้น และการที่จะรู้ความจริงได้มากขึ้น ก็ต้องพัฒนาปัญญาให้แก่กล้าขึ้นไป และในแนวทางของการพัฒนานี้ องค์สามก็จะเปลี่ยนจาก มนุษย์ ธรรมชาติ สังคม มาเป็น พุทธะ ธรรมะ และสังฆะ คือ มนุษย์พัฒนาสูงสุดเป็นพุทธะ ความจริงของธรรมชาติที่เราจะต้องรู้เพื่อจะเป็นพุทธะ ก็คือธรรมะ และสังคมที่มนุษย์พัฒนาตัวเองด้วยดี มีชีวิตที่ดีงามตามอย่างพุทธะนั้นก็เป็น สังฆะ และในการพัฒนาตนขึ้นไปเช่นนี้ บุคคลแต่ละคนก็จะมีคุณสมบัติที่เกิดจากการพัฒนาเพิ่มสูงขึ้นไปเป็น ปัญญา ที่รู้แจ้งธรรมชาติตามเป็นจริง วิมุตติ ความมีชีวิตที่เป็นอิสระหลุดพ้น และ กรุณา หรือ อหิงสา ซึ่งเป็นตัวนำความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันในสังคมและระบบชีวิต ทั้งหมดนี้ก็เป็นไปตามหลักการที่ว่ามาเมื่อกี้ คือ ความเป็นอยู่อย่างไร้ทุกข์ บนพื้นฐานของความรู้เข้าใจความจริงของธรรมชาติโดยเกื้อกูลแก่สังคม เพราะฉะนั้น องค์ ๓ ของระบบการดำรงอยู่ด้วยดีของชีวิต คือ มนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม ก็มาสัมพันธ์ต่อโยงกับองค์ ๓ ของระบบการพัฒนาชีวิตสู่ความดีงามสูงสุด คือ พุทธะ ธรรมะ และ สังฆะ โดยที่องค์ประกอบต่างๆ ที่จะต้องนำมาใช้ในระบบชีวิตที่ดีงามเหล่านี้ มีความประสานกลมกลืนกันในแต่ละระดับ จนในที่สุด

๑. มนุษย์ มีชีวิตที่หลุดพ้นเป็นอิสระไร้ทุกข์ เข้าถึง วิมุตติ เป็น พุทธะ

๒. ธรรมชาติ ประจักษ์แจ้งแก่มนุษย์ในภาวะของความจริงแท้ ด้วย ปัญญา เป็น ธรรมะ

๓. สังคม เข้าถึงความดีงาม สันติสุข และอิสรภาพ ด้วย กรุณา เป็น สังฆะ

มนุษย์แต่ละบุคคลที่กลายเป็นพุทธะ เป็นตัวแบบที่ประชุมพร้อมของ ปัญญา วิมุตติ และกรุณา เพราะเป็นที่โยงให้ระบบแห่งชีวิต ธรรมชาติ และสังคม ประสานสัมพันธ์เกื้อกูลกัน จนถึงภาวะที่สมดุลและสมบูรณ์ และเป็นต้นแบบให้มนุษย์ทั้งหลายอื่นบังเกิดความมั่นใจในศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ของตน เพื่อพร้อมที่จะพัฒนาตนจนถึงความดีงามสมบูรณ์เช่นนั้นด้วย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ออกจากยุคพัฒนา ด้วยการพัฒนาให้สมดุลทางเลือกที่รอการเริ่ม >>

No Comments

Comments are closed.