(เนื้อหา)

23 มกราคม 2537
เป็นตอนที่ 1 จาก 1 ตอนของ

แยกให้ชัดระหว่างพระอริยะกับผู้วิเศษ

อีกตัวอย่างหนึ่ง นอกจากห้ามพระอวดอุตริมนุสธรรม ห้ามอวดคุณพิเศษแม้มีในตนแล้ว ท่านยังห้ามอวดฤทธิ์ ห้ามแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ด้วย พระได้ปาฏิหาริย์ได้ฤทธิ์แล้วเอามาอวดเอามาแสดง แม้เป็นจริงก็ต้องอาบัติ มีความผิด1 ทำไมเป็นอย่างนั้น การแสดงฤทธิ์มีโทษกี่อย่างก็คล้ายกันกับการอวดอุตริมนุสธรรมนั่นแหละ แต่มีแง่มุมบางอย่างแปลกไปบ้าง ที่คล้ายกันก็จะพูดย่อ ที่แปลกไปก็จะขยายออกสักหน่อย

๑. ดูดความสนใจไปรวมอยู่ที่บุคคลนั้น ประชาชนเลยไม่เอาใจใส่สงฆ์ว่าเป็นอย่างไร มีอะไรกระทบกระเทือนก็ไม่เอาใจใส่

๒. การมีฤทธิ์เป็นคนละเรื่องกันกับการหมดกิเลส พระมีฤทธิ์ ไม่จำเป็นต้องหมดกิเลส และพระที่หมดกิเลสก็ไม่จำเป็นต้องมีฤทธิ์ ผู้มีฤทธิ์บางทียังมีกิเลสมาก และเอาฤทธิ์มาใช้สนองกิเลสของตน

จะพูดให้เข้าใจง่าย ก็ว่าต้องแยกระหว่างพระอริยะ กับผู้วิเศษ ความเป็นพระอริยะนั้นอยู่ที่คุณธรรมความดี โดยลดละกิเลส มีโลภะ โทสะ โมหะ น้อยลง จนกระทั่งละกิเลสได้หมด เป็นผู้บริสุทธิ์มีคุณธรรมสมบูรณ์ ก็เป็นพระอรหันต์ ส่วนความเป็นผู้วิเศษนั้น เราจะมองกันไปที่การมีฤทธิ์มีอิทธิปาฏิหาริย์ ล่องหนหายตัวได้ บันดาลอะไรต่างๆ ได้ มีอำนาจจิตแรงกล้า ล่วงรู้วาระจิตของผู้อื่น ทายใจคนอื่นได้ ฯลฯ

ถ้าพระอริยะมีฤทธิ์มีความวิเศษด้วยก็ยิ่งดี เป็นคุณสมบัติเสริมความสามารถให้ทำอะไรๆ ได้ดีขึ้น แต่ถ้าผู้วิเศษไม่เป็นอริยะ และมีกิเลสมาก ก็จะเป็นภัยอันตรายร้ายแรง เพราะมีความสามารถที่จะทำความชั่วได้มากกว่าคนชั่วที่ไม่มีฤทธิ์ จะเห็นได้จากตัวอย่างในอดีต เช่น พระเทวทัต และรัสปูติน เป็นต้น

ปัจจุบันนี้ ชักจะมีความสับสนมากขึ้น ในการเอาความเป็นพระอริยะกับความเป็นผู้วิเศษมาปะปนกัน ที่หนักมากก็คือเอาความขลังศักดิ์สิทธิ์หรือความมีฤทธิ์ มาเป็นเครื่องกำหนดความเป็นพระอรหันต์ พอเห็นหรือได้ยินว่าพระองค์ไหนมีฤทธิ์ขลัง ก็บอกว่าเป็นพระอรหันต์ อันนี้เกิดจากการไม่รู้หลักพระพุทธศาสนา ชาวพุทธจึงจะต้องเรียนรู้หลักพระศาสนากันให้มากขึ้น ก่อนที่จะเปลี่ยนพระพุทธศาสนาไปเป็นลัทธิผู้วิเศษโดยไม่รู้ตัว

พระเทวทัตนั้นไม่ได้เป็นพระอริยะ ไม่ได้เป็นพระอรหันต์เลย แต่แสนจะมีฤทธิ์เก่งกาจ แล้วก็หลงฤทธิ์ ก็เลยทำให้กิเลสฟูขึ้นมา ท่านก็เลยใช้ฤทธิ์ในทางร้ายหาลาภสักการะ ต้องการผลประโยชน์และความยิ่งใหญ่ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเครื่องเตือนให้ระวังว่า ถ้าพระที่มีฤทธิ์เป็นผู้วิเศษเกิดมีกิเลสมาก มีโลภะ โทสะ โมหะ มาก ก็จะใช้ฤทธิ์นั้นหาลาภ หรือทำลายผู้อื่น แล้วประชาชนก็จะตกเป็นเหยื่อ

ประชาชนที่ไปหลงฤทธิ์ของผู้อื่นนั้น ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง ไปฝากความหวังไว้กับปัจจัยภายนอก เป็นการปฏิบัติที่ผิดหลักพระศาสนา พระพุทธศาสนาต้องการให้เราพัฒนาตนเอง ให้ทำการตามหลักเหตุผล ให้บรรลุความสำเร็จด้วยความเพียรพยายามของตน พัฒนาตัวเองให้ดีงามสามารถยิ่งขึ้นอยู่เสมอ

ถ้าเราไปมัวหวังความสำเร็จจากการดลบันดาลของอำนาจหรืออานุภาพภายนอก เราเองก็ไม่รู้จักทำอะไร และไม่เป็นอันทำอะไร ได้แต่รอคอยฤทธิ์มาช่วย รอคอยผลจากการดลบันดาลของท่านผู้มีฤทธิ์ พร้อมกันนั้นก็มีผลเสียแก่ตัวบุคคลที่มีฤทธิ์นั้นเองด้วย เพราะถ้ายังไม่หมดกิเลสก็จะเพลิดเพลินมัวเมาติดฤทธิ์ เช่นหลงเพลินลาภสักการะ แล้วละเลยการปฏิบัติฝึกหัดขัดเกลาตัวเอง เพื่อบรรลุธรรมเบื้องสูงขึ้นไป ทำให้พระบางองค์ติดอยู่แค่นั้น ไม่สามารถก้าวต่อไปสู่การบรรลุมรรคผลนิพพาน เมื่อตนเองหลงลาภสักการะแล้ว ก็ไปล่อหลอกหาลาภสักการะจากประชาชนอีก ทางฝ่ายประชาชนเองเมื่อมัวแต่วุ่นวายติดตามผู้มีฤทธิ์และรอคอยผลจากการบันดาลด้วยฤทธิ์ของผู้อื่น ก็ไม่เป็นอันทำกิจทำการที่ควรทำให้แข็งขันจริงจัง และละเลยการพัฒนาตัวเอง เป็นอันว่า เกิดผลเสียทั้งแก่ตัวผู้อวดฤทธิ์เอง ทั้งแก่ประชาชน แล้วในที่สุดผลเสียนั้นก็ตกแก่พระศาสนาและสังคมส่วนรวม

ฤทธิ์ทำคนให้เป็นพระอรหันต์ไม่ได้

หลักธรรมสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้เข้าใจแยกในเรื่องนี้ได้ดี ก็คือ เรื่อง ปาฏิหาริย์ ๓ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ปาฏิหาริย์ คือ การกระทำให้เกิดผลอย่างอัศจรรย์ นั้นมี ๓ อย่าง คือ2

๑. อิทธิปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือฤทธิ์ หรือแสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ เช่น เดินน้ำ ดำดิน ล่องหน หายตัวเหาะเหิน บันดาลอะไรต่างๆ

๒. อาเทศนาปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือการทายใจ หรือรู้ใจคนอื่นได้เป็นอัศจรรย์ รู้ว่าคนอื่นกำลังคิดอะไร ต้องการ จะทำอะไรเป็นต้น

๓. อนุศาสนีปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือคำสั่งสอน หรือสอนให้รู้เข้าใจและทำได้จริงเป็นอัศจรรย์ ชี้แจงอธิบาย ทำให้ผู้ฟังเกิดปัญญารู้ถึงความจริงได้ด้วยตนเอง

ปาฏิหาริย์ ๒ อย่างแรก คือ ฤทธิ์และการดักใจทายใจได้นั้น พระพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญ ไม่ทรงสนับสนุน ทรงสรรเสริญแต่ปาฏิหาริย์ข้อที่ ๓ คือ อนุศาสนีปาฏิหาริย์ ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น

ฤทธิ์มีข้อเสียอย่างไร นอกจากที่เคยพูดมาแล้ว ขอสรุปให้ว่า

ฤทธิ์กำจัดกิเลสไม่ได้ ฤทธิ์ไม่ทำให้ความโลภ โกรธ หลง ลดน้อยลง ถ้าไม่ระวังจะทำให้กิเลสฟูมากขึ้นด้วยซ้ำ

ฤทธิ์ไม่ทำให้รู้เข้าใจสัจจธรรม คือไม่ทำให้เกิดปัญญาที่จะรู้เแจ้งความจริงของสิ่งทั้งหลาย จึงไม่สามารถทำใครให้เป็นพระอรหันต์ หรือแม้แต่เป็นพระอริยะชั้นใดๆ ได้

ในทางตรงข้าม อนุศาสนี คือคำสอนที่แสดงธรรม แสดงความจริง ทำให้คนเกิดปัญญา รู้ความจริง เข้าถึงสัจจธรรมได้ ทำให้คนละกิเลสได้ ทำให้ผู้ฟังและนำไปปฏิบัติบรรลุธรรม เป็นพระอริยะ เป็นพระอรหันต์ได้

คนมาดูเห็นฤทธิ์เห็นความขลัง ก็ได้แต่ตื่นเต้นทันตา แต่ตัวเองไม่ได้อะไร ไม่มีอะไรพัฒนาขึ้นในตัว อาจจะงงงันที่ได้เห็นความอัศจรรย์ แล้วก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร ก็เลยกลายเป็นมีโมหะมากขึ้น และตัวเองก็ทำสิ่งนั้นไม่ได้ เลยต้องเอาตัวไปฝากไปขึ้นกับผู้ที่ขลังมีฤทธิ์ เลยดีแก่ผู้แสดงฤทธิ์ ชาวบ้านที่ดู ยิ่งเชื่อก็ยิ่งหมดอิสรภาพในการกระทำของตัว

ตรงข้ามกับอนุศาสนีปาฏิหาริย์ ซึ่งทำให้ผู้ฟังเกิดปัญญา รู้ความจริง ผู้สอนรู้อย่างไร ผู้ฟังเข้าใจก็รู้ได้อย่างนั้น และเอาความรู้นั้นไปทำอะไรให้เกิดผลด้วยตนเองได้ ผู้ฟังเป็นผู้ได้ คือได้ปัญญา และปัญญานั้นก็เป็นของของเขาเอง เขาจะไปไหนปัญญาก็ไปด้วย ผู้ฟังก็เป็นอิสระ ไม่ต้องมาขึ้นต่อผู้สอน ไม่ต้องคอยรอพึ่งผู้สอนเรื่อยไปเหมือนอย่างพวกที่เชื่อฤทธิ์ เชื่อความขลัง ที่ตัวเองมืดมัว ต้องรอให้เขาบันดาลผลให้

อีกอย่างหนึ่ง ผู้มีฤทธิ์กับคนพึ่งฤทธิ์ มักจะมาพบกันในระบบผลประโยชน์ โดยต่างก็ต้องการผลได้บางอย่างแก่ตน คนที่มาหาผู้มีฤทธิ์ก็ต้องการโชคลาภจากความขลัง หรือการดลบันดาล ของผู้มีฤทธิ์ ผู้แสดงฤทธิ์ ก็หวังลาภสักการะจากคนที่มาขอผล กลายเป็นความสัมพันธ์ในเชิงกิเลส โดยเฉพาะการกระทำเพื่อสนองโลภะ

เมื่อเรื่องความขลังความศักดิ์สิทธิ์เข้ามาแทรกในการทำบุญทำทานในพระศาสนา ความวิปริตผิดเพี้ยนก็เกิดขึ้น ผู้ทำบุญหรือผู้บริจาคแทนที่จะบริจาคทรัพย์ให้ด้วยมองเห็นคุณประโยชน์ของสิ่งที่จะร่วมสร้างสรรค์ ว่าจะเป็นการส่งเสริมกิจการพระศาสนา หรือช่วยให้เกิดประโยชน์สุขแก่ส่วนรวมอย่างนั้นๆ ก็มองเหมือนการแลกเปลี่ยนซื้อขายที่ตนจะได้สิ่งตอบแทน คือมุ่งจะได้ของขลังสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น จึงเอาเงินมาบริจาคให้ ใจก็คิดแต่จะให้ได้ของนั้นตอบแทน โดยไม่ได้คำนึงว่าผู้มีฤทธิ์หรือผู้จัดทำสิ่งขลังศักดิ์สิทธิ์จะเอาเงินนั้นไปทำอะไรอย่างไร จึงเป็นการผันแปรจากการทำบุญบริจาคด้วยปัญญาที่พิจารณาเห็นคุณประโยชน์ที่ตนจะส่งเสริม พร้อมกับการเสียสละละกิเลส และพัฒนาคุณธรรมขึ้นในใจของตน กลายมาเป็นการจ่ายเงินออกไปด้วยโลภะ ที่มุ่งจะเอาของตอบแทน ภายใต้ความปกคลุมของโมหะ ที่ไม่รู้ไม่คำนึงว่าอะไรเพื่ออะไรและจะเป็นไปอย่างไร

ผลร้ายที่สำคัญยิ่งอีกอย่างหนึ่งของความไม่รู้หลักพระศาสนา ไม่รู้จักแยกระหว่างพระอริยะกับผู้วิเศษ ไม่รู้ฐานะของความขลังศักดิ์สิทธิ์ฤทธิ์ปาฏิหาริย์ว่าเป็นอย่างไร ในพระศาสนา นอกจากทำให้เขวออกไปจากตัวแท้ตัวจริงของพระศาสนา และทำให้พระพุทธศาสนาเลือนลางลงไปแล้ว เพราะความไม่เข้าใจแยกว่าผู้วิเศษเป็นคนละอย่างกับพระอริยะ ไปฝากความเป็นพระอรหันต์ไว้กับความขลังศักดิ์สิทธิ์อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ พอผู้วิเศษซึ่งยังมีกิเลสปรากฏพฤติกรรมเสื่อมทราม ก็คร่ำครวญบ่นว่าพระที่สูงเลิศก็ยังเป็นถึงอย่างนี้ คงจะหาพระดีที่จะไหว้อีกไม่ได้ ซึ่งแท้จริงจะต้องทบทวนพิจารณาตนเองใหม่ว่า พระดีไม่มีให้ไหว้ หรือคนไหว้นับถือผิด จึงมองไม่เห็นพระดีที่จะไหว้ และทำให้พระดีที่น่าไหว้ค่อยๆ ลดน้อยลงไปจากพระศาสนา

เร่งคิดและทำให้สัมฤทธิ์
อย่ามัวนอนคอยฤทธิ์ จะผิดหลักชาวพุทธ

เพราะฉะนั้น ฤทธิ์นี้แม้จะทำได้ ท่านก็ไม่สนับสนุน ผลเสียที่ว่ามานี้ก็เป็นตัวอย่าง ตกลงว่าหลักพระศาสนาท่านวางไว้ให้แล้ว เราจะต้องช่วยกันรักษาหลักพระศาสนาไว้โดยปฏิบัติให้ถูกต้อง ให้สมกับที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงคุณสมบัติของชาวพุทธไว้ ซึ่งเราควรจะนำมาเตือนกันให้มากๆ คุณสมบัติที่ว่านี้ก็คือคุณสมบัติของอุบาสก อุบาสิกา ที่ดี ถ้าเราเป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ดี มีคุณสมบัติที่ว่านี้ ก็จะไม่หลงออกไปนอกลู่นอกทาง

อุบาสกอุบาสิกาที่ดีมีคุณสมบัติ ๕ ประการ3 ในห้าประการนี้ มีอยู่ข้อหนึ่งว่า ไม่ตื่นข่าวมงคล ท่านแปลกันมาว่า ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เรียกตามภาษาบาลีว่า ไม่เป็นคนชนิด โกตุหลมังคลิกะ คนที่ตื่นข่าวมงคลนั้น เวลามีเสียงเล่าข่าวลือ เกี่ยวกับความขลังศักดิ์สิทธิ์ฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เช่นว่ามีผู้วิเศษเกิดขึ้นที่ไหน ไม่ว่าที่โน่นที่นี่ ก็ตื่นตามกันไป ถ้าเป็นผู้ตื่นข่าวมงคลก็ไม่สามารถเป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ดีได้

ถ้าเป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ดี ไม่เป็นผู้ตื่นข่าวมงคลแล้ว ก็จะเป็นคนมีเหตุมีผล ตั้งอยู่ในหลักพระศาสนา แล้วก็จะเอาใจใส่ถามกันว่า เราจะต้องประพฤติปฏิบัติอะไร สิ่งที่เราทำอยู่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องดีแล้วไหม มีอะไรที่เราควรจะปฏิบัติต่อไปอีก แล้วก็ยินดีอิ่มอกอิ่มใจอยู่กับการกระทำในสิ่งที่ดีที่ชอบนั้น ไม่มัวไปยุ่งคิดฝันหวังเพ้อตื่นข่าวที่โน่น ตื่นพระดังที่นั่น เดี๋ยวดังที่โน่นเดี๋ยวดังที่นี่ ไม่เป็นตัวของตัวเองเลย ไปโน่นทีไปนี่ที หมดเวลาไปเดือนหนึ่งไม่ต้องทำอะไร ถ้าเอาเวลานั้นมาใช้ ตั้งใจทำการตามเหตุผลด้วยความเพียรพยายามก็จะได้การได้งานมากมาย หรือจะใช้ในการฝึกฝนพัฒนาตนเอง ก็เจริญก้าวหน้าพัฒนาไปได้มาก ถ้าอยากมีฤทธิ์ ก็ฝึกตัวให้มีฤทธิ์เอง พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วนี่ เธอก็ทำได้ แล้วทำไมจะต้องไปรอให้คนอื่นทำฤทธิ์ให้ เพราะเราก็คนเหมือนกันนี่ เราก็พัฒนาตัวเองได้ เราอยากจะเป็นพระพุทธเจ้า ยังมีสิทธิเลย

พระพุทธเจ้าไม่เคยหวงตำแหน่ง พระพุทธเจ้าไม่เคยผูกขาดตำแหน่ง ใครอยากเป็นพระพุทธเจ้าก็เอาเลย ตั้งใจเข้าว่าจะเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีไป พระพุทธเจ้าถือว่าทุกคนมีศักยภาพ มีสิทธิทั้งนั้น ไม่ว่าอะไรที่อยู่ในวิสัยของมนุษย์ ย่อมสำเร็จได้ด้วยการฝึกหัดฝึกฝนโดยพัฒนาตนยิ่งขึ้นไป เพราะฉะนั้น ถ้าเราต้องการมีฤทธิ์ เราก็ฝึกตัวเอง พัฒนาตัวเองให้มีฤทธิ์ได้ แต่ก็ขอให้ทราบว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้สรรเสริญในเรื่องนี้ เพราะว่าการมีฤทธิ์นั้นไม่ได้ทำให้หมดกิเลส

ทางแห่งการมีฤทธิ์กับทางแห่งการหมดกิเลส ไม่ใช่ทางเดียวกัน แต่ผู้หมดกิเลสอาจจะมีฤทธิ์ด้วยก็ได้ หรือผู้มีฤทธิ์อาจจะยังมีกิเลสมากก็ได้ ถ้าคนหมดกิเลสมีฤทธิ์ก็เป็นผลดี เพราะท่านจะใช้เทคโนโลยีแห่งฤทธิ์ในทางที่เป็นประโยชน์ อิทธิฤทธิ์นั้นเป็นเหมือนเทคโนโลยี ใช้เป็นเครื่องมือหรือเป็นอุปกรณ์ในการทำงานได้

เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์ ช่วยให้มนุษย์ทำอะไรๆ ได้สำเร็จมากมายและง่ายยิ่งขึ้น ถ้าคนที่ใช้เทคโนโลยีเป็นคนดี ก็จะใช้เทคโนโลยีในทางที่ดี ถ้าคนที่ใช้เป็นคนชั่วก็จะใช้เทคโนโลยีในทางร้าย ฤทธิ์ก็เป็นเทคโนโลยีอีกระดับหนึ่ง จะดีหรือร้ายก็อยู่ที่ผู้ใช้ เพราะฉะนั้น พระที่ท่านหมดกิเลสแล้วท่านไม่หวังลาภสักการะเพื่อตนเอง ท่านก็เอาฤทธิ์ไปใช้ประโยชน์ในการทำงานพระศาสนา แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ฤทธิ์นั้นก็เป็นของท่าน ไม่ใช่ของเรา เราเอามาใช้ไม่ได้ ไม่เหมือนเทคโนโลยีทางวัตถุที่ยืมใช้กันได้ ถ้าผู้อื่นเอาฤทธิ์มาช่วยเรา เราก็ไม่เป็นตัวของตัวเองในเรื่องนั้น และถ้าเรามัววุ่นวายอยู่กับเรื่องนี้ ก็จะเกิดผลเสียมากกว่าไม่คุ้มที่ได้ โดยเฉพาะจะหยุดพัฒนา ท่านจึงให้เราหวังผลจากการกระทำด้วยความเพียรพยายามของตนเอง โดยใช้สติปัญญาทำการให้ตรงกับเหตุปัจจัย ซึ่งเราจะเป็นตัวของตัวเอง และทำให้เราพัฒนาต่อไป

อย่างไรก็ตาม คนจำนวนมากยังมีจิตใจไม่เข้มแข็งพอที่จะยืนอยู่และเดินหน้าไปด้วยความเพียรและปัญญาของตนเอง จึงหวังอำนาจคุ้มครองช่วยเหลือจากภายนอก ในกรณีอย่างนี้ ก็จะต้องรู้จักปฏิบัติให้ถูกต้อง อย่าให้เสียหลัก ทั้งในฝ่ายผู้มีฤทธิ์ และฝ่ายเราผู้หวังพึ่งฤทธิ์ สำหรับทางด้านพระขลังมีฤทธิ์นั้น เราก็ดูว่าท่านมุ่งหวังหรือลุ่มหลงในลาภสักการะ และให้เราหลงติดท่านหรือไม่ ทำให้ขึ้นต่อบุคคลไหม และในด้านของเราก็ดูว่าความสัมพันธ์นี้ทำให้เราเพียรพยายามทำกรรมดี เพื่อผลสำเร็จที่ต้องการตามเหตุตามผล หรือว่าทำให้เรามัวรอหวังผลจากการดลบันดาลของปัจจัยภายนอก

ถ้าหากว่ามันทำให้เราเกิดกำลังใจ แล้วมีความเพียรในการทำการตามเหตุผลมากยิ่งขึ้นก็พอใช้ได้ เพราะเรายังไม่มีกำลังใจเข้มแข็งพอ เรายังไม่เข้มแข็งขนาดเป็นตัวของตัวเองเต็มที่ เรายังอยากได้สิ่งที่ช่วยเสริมกำลังใจบ้าง แต่จุดตัดสินก็คืออย่าละทิ้งหลักกรรม คือ การกระทำเป็นอันขาด ต้องทำๆ ตามเหตุตามผล ทำที่เหตุปัจจัย โดยใช้ปัญญาสืบสาวหาเหตุปัจจัย แล้วแก้ไขที่เหตุปัจจัย และสร้างสรรค์ทำให้สำเร็จด้วยการทำเหตุปัจจัย อย่างนี้แหละจึงจะไม่ผิดหลักพระศาสนา

นับถือพระโพธิสัตว์อย่างไร จึงจะไม่ผิดเพี้ยน

หลักที่ว่านี้จะโยงไปถึงเรื่องพระโพธิสัตว์ด้วย ฉะนั้นอาตมภาพก็จะขอพูดต่อไปเสียเลย อย่างเวลานี้ก็มีการนับถือพระโพธิสัตว์แบบมหายานเข้ามา เช่น นับถือเจ้าแม่กวนอิม

เจ้าแม่กวนอิมนั้นตามตำนานว่าเป็นพระโพธิสัตว์ ชื่อเดิมของท่านว่า พระอวโลกิเตศวร ตอนที่อยู่ในอินเดียมีชื่อหนึ่ง แต่ไปเมืองจีนเปลี่ยนเป็นอีกชื่อหนึ่ง พระอวโลกิเตศวรนี่ เป็นพระโพธิสัตว์ที่เด่นที่สุดในบรรดาพระโพธิสัตว์หลายองค์ของมหายาน พระอวโลกิเตศวรมีชื่อทางกรุณา บำเพ็ญความดีในการช่วยเหลือผู้อื่นอย่างไม่มีขอบเขต ก็เลยเป็นที่นิยมมาก พอเข้าไปในจีนก็ได้ชื่อใหม่เป็นพระกวนอิม แต่เดิมท่านเป็นผู้ชาย เมื่อเข้าไปในจีนแล้วกลายเป็นผู้หญิง ชื่อก็เปลี่ยนเพศก็เปลี่ยน เปลี่ยนอย่างไรละ

มีเรื่องเล่าเป็นตำนาน และอาจจะหลายตำนานด้วย ตำนานหนึ่งบอกว่า พระราชธิดาของพระเจ้ากรุงจีนประชวร แล้วก็เป็นโรคที่ไม่มีใครรักษาได้ หมอหลวง หมอราษฎร์ทั้งหลายไม่มีใครรักษาสำเร็จ จึงร้อนถึงพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรกวนอิมมาช่วย แต่จะเข้าในพระราชวังฝ่ายในนี่เป็นผู้ชายเข้าไม่ได้ พระโพธิสัตว์ก็เลยต้องแปลงร่างเป็นหญิง แล้วก็เลยเข้าไปรักษาพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงจีนได้ จนกระทั่งหายประชวร ก็เป็นอันสำเร็จ เมื่อทำหน้าที่เสร็จแล้ว เรื่องก็บอกว่าไม่ได้กลับคืนเพศอีก ก็เลยเป็นผู้หญิงสืบมา

อันนี้ก็เป็นเรื่องของเจ้าแม่กวนอิม แต่เจ้าแม่กวนอิมซึ่งเป็นเรื่องในคติพระโพธิสัตว์ จะมาโยงกันอย่างไร กับเรื่องที่อาตมภาพว่ามา

หลักพระพุทธศาสนานั้นสอนเราให้ถือหลักกรรม ไม่ตื่นข่าวมงคล ให้หวังผลจากการกระทำตามเหตุผล โดยใช้ปัญญาศึกษาเหตุปัจจัยแล้วแก้ไขจัดทำที่เหตุปัจจัย อันนี้เป็นหลักสำคัญมาก ทีนี้ พอมีพระโพธิสัตว์แบบมหายานนี้มาก็ปรากฏว่า มีการไปอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์ เอ แล้วพระโพธิสัตว์ตามความหมายที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าคืออย่างไร ตอนนี้เราจะต้องมาทำความเข้าใจกันนิดหน่อย คติพระโพธิสัตว์มีเรื่องราวเป็นมาอย่างไร พระโพธิสัตว์คือใคร

พระโพธิสัตว์ ก็คือท่านผู้บำเพ็ญบารมี เพียรพยายามประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างยวดยิ่ง เพื่อจะได้เป็นพระพุทธเจ้าต่อไป คือ ฝึกฝนพัฒนาตนเองเต็มที่ อุทิศตัวให้แก่คุณธรรม และในการบำเพ็ญความดีอุทิศตัวให้แก่คุณธรรมนั้น ก็อุทิศตนให้แก่ผู้อื่นโดยไม่มีความเห็นแก่ตัวเลย เสียสละได้แม้แต่ชีวิตของตนเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น มีเรื่องราวมากมายที่พระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ได้อุทิศชีวิตเพื่อประโยชน์สุขของมหาชน บางชาติก็สละชีวิตยอมตายเลยเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น

แทนที่จะเสียสละทำความดีอย่างพระโพธิสัตว์
กลับเห็นพระโพธิสัตว์เสียสละเลยไปขอความช่วยเหลือ

ทีนี้ เมื่อพระโพธิสัตว์มีความหมายเป็นอย่างนี้ คือเป็นผู้ที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้า โดยบำเพ็ญบารมีอย่างนี้ แล้วท่านตรัสเรื่องพระโพธิสัตว์ขึ้นมาทำไม? ก็ตรัสขึ้นมาเพื่อให้เป็นแบบอย่างแก่เรา เราจะได้เอาอย่างพระโพธิสัตว์ คือพยายามบำเพ็ญคุณความดีต่างๆ อย่างเต็มที่ ไม่มีความระย่อท้อถอย แม้จะต้องสละชีวิตก็ยอม

อีกข้อหนึ่ง พระพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์มาก่อน กว่าจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้ต้องบำเพ็ญเพียรอย่างยวดยิ่ง ไม่ใช่จะมาเป็นพระพุทธเจ้าได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้นก็เป็นเครื่องเตือนใจเราว่า เราจะบรรลุสิ่งที่ดีงามประเสริฐ จะเข้าถึงจุดหมายที่สูงสุดได้นี่เราจะต้องมีความขยันหมั่นเพียรเข้มแข็งอดทน เรามีพระพุทธเจ้าตั้งแต่ครั้งเป็นพระโพธิสัตว์เป็นตัวอย่าง เราจะต้องพยายามทำให้ได้อย่างนั้น คือจะต้องเพียรพยายามเต็มที่ ไม่ยอมท้อถอย คติเดิมก็คือพระโพธิสัตว์เป็นตัวอย่าง เป็นแบบอย่างให้แก่เราในการบำเพ็ญเพียรทำความดี

พร้อมกันนั้น เราก็จะเกิดมีความซาบซึ้งในพระคุณของพระพุทธเจ้าว่า โอ้ พระพุทธเจ้าของเรานี้ กว่าพระองค์จะเป็นพระพุทธเจ้าได้พระองค์ต้องบากบั่นเสียสละเพียรพยายามทำความดีมามากมายเหลือเกิน ไม่ใช่จะเป็นได้ง่ายๆ เมื่อมีความซาบซึ้งในพระคุณของท่าน แล้วก็จะทำให้เกิดกำลังใจแก่เราในการทำความดี เพราะคนเราที่ทำความดีนี้ บางทีก็ยังไม่มีความเข้มแข็งพอ ครั้นไปเจออุปสรรคเข้า ก็ท้อถอย บางทีทำไปแล้ว ไม่ได้รับผลที่ต้องการทันเวลาที่ต้องการ ก็เกิดความผิดหวังและท้อใจ บางทีก็ถึงกับร้องทุกข์บ่นคร่ำครวญว่า เรานี่ทำดีไม่ได้ดี อุตส่าห์ทำดีแทบตาย ไม่เห็นได้รับผลดีเลย คนทำชั่วได้ดีมีถมไป หลายคนจะโอดครวญร้องทุกข์อย่างนี้

ทีนี้ พอระลึกถึงพระพุทธเจ้า ไปเห็นประวัติของพระโพธิสัตว์แล้ว ก็จะเกิดกำลังใจขึ้นว่า โอ เราทำแค่นี้จะมาท้อใจอะไร พระพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์ได้บำเพ็ญบารมีมายากเย็นกว่าเรานักหนา ต้องสละแม้แต่ชีวิต บางทีทั้งชีวิตทำดีมาตลอดไม่รู้เท่าไร เขาก็ไม่เห็นความดี เอาพระองค์ไปฆ่าก็มี แล้วเราทำความดีแค่นี้จะไปท้อทำไม พอนึกถึงประวัติของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่เป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญเพียรบารมีมาอย่างนี้ เราก็เกิดกำลังใจเข้มแข็ง สู้ต่อไป

นี่คือคติการนับถือพระโพธิสัตว์ที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นประโยชน์หลายสถาน

๑. ให้เกิดความซาบซึ้งในพระคุณของพระพุทธเจ้า

๒. เป็นเครื่องเตือนใจให้เราระลึกถึงหน้าที่ของมนุษย์ ในการพัฒนาศักยภาพของตน

๓. เป็นแบบอย่างในการบำเพ็ญคุณความดี ให้มีความเพียรอย่างยิ่งยวด

๔. ให้เกิดกำลังใจโดยเฉพาะในยามที่ท้อถอย ทำให้เพียรพยายามต่อไป ไม่หยุดไม่หย่อน

รวมความว่า พระโพธิสัตว์เป็นแบบอย่าง แต่ทีนี้ต่อมา คติมันพลิกกลับ แทนที่จะคิดว่า พระพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์ทำความดีมามากมาย เราต้องทำความดีอย่างพระองค์บ้าง พระโพธิสัตว์ท่านเสียสละช่วยเหลือผู้อื่น เราต้องเสียสละช่วยเหลือผู้อื่นอย่างนั้นบ้าง กลับคิดไปเสียอีกอย่างหนึ่งว่า พระโพธิสัตว์ท่านเสียสละเพื่อผู้อื่นท่านคอยช่วยเหลือสัตว์ทั้งหลาย เรามีพระโพธิสัตว์คอยช่วยเราอยู่แล้ว เราไปขอความช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์ดีกว่า นี่กลับตรงข้ามเลยใช่ไหม?

ความหมายกลายไปแล้ว คติพลิกกลับตรงข้ามไปเลย แทนที่จะทำอย่างพระโพธิสัตว์ ท่านเสียสละช่วยเหลือผู้อื่นเต็มที่โดยไม่เห็นแก่ตัว เราต้องทำอย่างนั้น แต่กลับพลิกไปว่า พระโพธิสัตว์คอยช่วยเราอยู่แล้ว เราไปขอความช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์ดีกว่า เราไม่ต้องทำอะไร ได้แต่นอนรอ สบายไปเลย

เป็นอันว่า มันเพี้ยนมาอย่างนี้แล้ว เดี๋ยวนี้มันกลายเป็นอย่างนี้ไปแล้ว กลายเป็นว่ามีพระโพธิสัตว์คอยช่วยเรา เพราะฉะนั้น เราก็ไปขอความช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์ดีกว่า เราก็เลยไม่ต้องทำอะไร ถ้าอย่างนี้คติพระโพธิสัตว์ก็เพี้ยน สูญเสียความหมายที่แท้จริงไปแล้ว

ฉะนั้น จะต้องเตือนเราชาวพุทธกันให้มาก ว่าหลักพระศาสนากำลังจะเพี้ยนไปหมด ทั้งๆ ที่ตัวหลักเดิมนี่ก็อยู่ คำศัพท์เดิมก็อยู่ ชื่อเดิมก็อยู่ แต่ความหมายมันไม่อยู่ แค่นี้ก็ไปแล้ว มันพลิกกันนิดเดียวนี่แหละ เราบอกได้ว่า พระพุทธศาสนายังอยู่ พระโพธิสัตว์ยังอยู่ พระพุทธเจ้ายังอยู่ ถูก แต่เราไม่ได้นับถือในความหมายที่ถูก พระโพธิสัตว์อยู่ แต่เราไปนับถือเสียอีกแบบหนึ่ง มันกลับตรงข้ามเลย นี่เป็นเรื่องที่น่ากลัว

เชิงอรรถ

  1. ดู พุทธบัญญัติ ใน ภาคผนวก
  2. ดู ปาฏิหาริย์ ๓ ใน ภาคผนวก
  3. ดู คุณสมบัติ ๕ ของอุบาสกอุบาสิกา ใน ภาคผนวก

หน้า: 1 2 3 4

No Comments

Comments are closed.