ดร. เบญจ์-บรรจง ทำงานให้ใคร

1 กรกฎาคม 2544
เป็นตอนที่ 14 จาก 20 ตอนของ

ดร. เบญจ์-บรรจง ทำงานให้ใคร

กรรมทุจริตของ ดร. เบญจ์-บรรจง กับพวก ที่ได้พยายามใส่ร้ายป้ายสีจะให้ชาวพุทธเข้าใจผิดต่อพระสงฆ์ที่เผยแผ่ธรรม ต่อชาวพุทธที่ช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน ตลอดจนให้เข้าใจผิดต่อหนังสือธรรม และแม้กระทั่งให้เข้าใจผิดต่อพระไตรปิฎกและหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยไม่มีความละอายและเกรงกลัวบาป แสดงว่าเขาเป็นคนนอกพระพุทธศาสนา ไม่ใช่พุทธศาสนิกชน

ทางการ ตร.บอกว่า ดร. เบญจ์ บาระกุล ทำหนังสือเท็จนี้ขึ้นมาเพื่อปกป้องวัดพระธรรมกาย แต่มีข้อน่าพิจารณายิ่งกว่านั้นว่าเขาทำงานทำลายพุทธศาสนาเพื่อใครอีก

ดูการกระทำแบบซ่อนเงื่อน (ทำเป็นด่าเขา ให้เราตายใจ ที่แท้ก็ทำงานให้เขา) เช่น

โกรธว่าชาวพุทธทวง “อุดมธรรม”

ดร. เบญจ์-บรรจง ตู่เอาคำ “อุดมธรรม” และคำที่มาจากบาลีอีกหลายคำ ว่าเป็นคำของคริสเตียน (หนังสือ “พระพุทธศาสนา ชะตาของชาติ” หน้า ๙๒, ฉบับคัดย่อ หน้า ๓๗)

ใครๆ ก็รู้ว่า คริสเตียนและศาสนาคริสต์ทั้งหมดมาจากเมืองฝรั่งที่มีแต่ภาษาฝรั่ง เช่น ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เมื่อเข้ามาเมืองไทยเขาจึงใช้ภาษาไทยตามคนไทย ถ้าเป็นคำสำคัญก็เอาคำพระที่มาจากภาษาบาลีไปใช้ แม้แต่คำว่า กรุณา สมาธิ ฌาน ฯลฯ กระทั่งคำว่า โบสถ์ วิหาร เขาก็เอาไปใช้ (บางคำเราชาวพุทธทั่วไปไม่รู้ว่าศาสนาคริสต์เอาไปใช้ จนกระทั่งมาเจอในหนังสือของ ดร. เบญจ์-บรรจง นี่เอง แสดงว่า ดร. เบญจ์-บรรจง รู้เรื่องทางคริสต์หรือเป็นคริสต์มากกว่าจะเอาใจใส่พระพุทธศาสนา)

คำว่า “อุดมธรรม” ก็เป็นคำพระที่มาจากภาษาบาลีอีกคำหนึ่งที่ศาสนาคริสต์เอาไปใช้ แต่เมื่อเราใช้คำว่า “อุดมธรรม” นี้ ดร. เบญจ์-บรรจง กลับมากล่าวหาพระธรรมปิฎก รวมทั้งพระเถระรูปอื่น และเราชาวพุทธ ว่าเอาคำของคริสต์มาใช้

ร้ายยิ่งกว่านั้น เมื่อคำว่า “อุดมธรรม” นี้มีในพระไตรปิฎก จะห้ามเราชาวพุทธไม่ให้ใช้ก็ไม่ได้ ก็เอาใหม่ คราวนี้ก็จะบังคับเราให้แปลออกศัพท์ว่า ธรรมอันสูงสุด อย่างเดียว ห้ามเราไม่ให้แปลทับศัพท์ว่า อุดมธรรม

ก็ ธมฺมมุตฺตมํ, อุตฺตมํ ธมฺมตํ, อุตฺตมธมฺโม เป็นคำของพระพุทธเจ้า เป็นคำพุทธ ชาวพุทธจะแปลออกศัพท์ว่า ธรรมอันสูงสุด หรือจะแปลทับศัพท์ว่า อุดมธรรม ก็เป็นสิทธิของเรา

มงฺคลมุตฺตมํ, อุตฺตมํ มงฺคลํ เป็นคำพุทธ ชาวพุทธจะแปลออกศัพท์ว่า มงคลอันสูงสุด หรือจะแปลทับศัพท์ว่า อุดมมงคล ก็เป็นสิทธิของเรา

กลฺยาณมิตฺโต เป็นคำพุทธ ชาวพุทธจะแปลออกศัพท์ว่า มิตรดีงาม หรือจะแปลทับศัพท์ว่า กัลยาณมิตร ก็เป็นสิทธิของเรา

ซ้ำร้ายกว่านั้น ดร. เบญจ์-บรรจง ยังก้าวล้ำไปตู่พระไตรปิฎกอีก (ในหนังสือ “พระพุทธศาสนา ชะตาของชาติ” หน้า ๙๐, ฉบับคัดย่อ หน้า ๓๕) ว่า

“… ไม่มีศัพท์ โดยอรรถ พยัญชนะ หรือไวพจน์ของคำว่านิพพาน กับ อุดมธรรมใช้แทนกัน ณ ที่ใดในพระไตรปิฎก ไม่ว่าเป็น ฉบับภาษาใดในโลก”

ทั้งๆ ที่ในพระไตรปิฎกแสดงไว้ชัดว่า อุดมธรรม หมายถึงพระนิพพาน และอรรถกถาขยายกว้างออกไปว่าหมายถึงโลกุตตรธรรมทั้ง ๙ ก็ได้ ซึ่งก็รวมทั้งพระนิพพานด้วย ดังความว่า

๑. “ธมฺมมุตฺตมํ วุจฺจติ อมตํ นิพฺพานํ” (พระไตรปิฎกบาลีเล่ม ๓๐ ข้อ ๑๗๓ หน้า ๘๙)

๒. “ธมฺมมุตฺตมนฺติ: นววิธํ โลกุตฺตรธมฺมํ. โส หิ อุตฺตมธมฺโม นาม.” (ธัมมปทัฏฐกถา ๔/๑๐๙)

  1. “นิพพานอันเป็นอมตะ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่าอุดมธรรม/ธรรมอันอุดม
  2. ธรรมอันอุดม ได้แก่โลกุตตรธรรม ๙ อย่าง, แท้จริง โลกุตตรธรรม ๙ นั้น ชื่อว่า อุดมธรรม

ทั้งที่หลักฐานในพระไตรปิฎกชัดเจนแน่นอนว่า “อุดมธรรม หมายถึงพระนิพพาน” (ที่จริงก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะธรรมสูงสุดในพระพุทธศาสนา ก็ย่อมได้แก่นิพพาน) แต่ ดร. เบญจ์-บรรจง ก็จะไม่ยอมให้ชาวพุทธใช้คำว่า อุดมธรรม

อุดมธรรม ของชาวพุทธมีความหมายอย่างนี้ เมื่อคริสเตียนและศาสนาคริสต์มาเอา อุดมธรรม ไปใช้ จะเอาไปหมายถึงอะไร ก็เป็นเรื่องของชาวคริสต์ แต่จะมาห้ามไม่ให้ชาวพุทธใช้คำของชาวพุทธเอง หรือจะมาบังคับชาวพุทธว่าต้องแปลอย่างโน้นไม่ให้แปลอย่างนี้ ก็ต้องพูดว่าเกินไปแล้ว

นี่ก็คือ ดร. เบญจ์-บรรจง มาเห็นพระธรรมปิฎกและชาวพุทธใช้คำว่า อุดมธรรม ที่เป็นของชาวพุทธแล้ว ก็เดือดร้อน ทนไม่ได้ เหมือนกับว่าชาวพุทธจะทวงคำพระของชาวพุทธคืน ดร. เบญจ์-บรรจง ก็เลยต้องออกมาโวยวาย

เป็นอันว่า อุดมธรรม เป็นคำของชาวพุทธแน่นอน และเราจะแปลว่าอย่างไร ก็เป็นสิทธิของเรา ขอให้แปลให้ถูกต้องตามหลักภาษาและตรงกับหลักธรรมก็แล้วกัน

ถ้าขืนเชื่อคนอย่าง ดร. เบญจ์-บรรจง ต่อไปเขาก็คงถ่ายรูปโบสถ์คริสต์พวกเขามา แล้วบอกว่านี่คำว่า “โบสถ์” เป็นคำของคริสต์ ใครใช้คำว่า “โบสถ์” จะถูกกล่าวหาว่าใช้คำของคริสต์ ชาวพุทธจะต้องรู้ทัน ดร. เบญจ์-บรรจง ที่เป็นคนทุจริตแฝงตัวมานี้

โกรธหนังสือ “พุทธธรรม” ที่ปฏิเสธพระผู้เป็นเจ้า

ดร. เบญจ์-บรรจง โจมตีใส่ร้ายป้ายสีหนังสือพุทธธรรม เป็นนักเป็นหนา ถึงกับเอาเนื้อความใน พุทธธรรม มาตัดต่อแต่งเติมต่างๆ เพื่อให้คนเข้าใจผิด และจะให้เข้าใจว่าเป็นหนังสือคริสต์ เพื่อให้ชาวพุทธหลงกลแล้วจะได้ไม่อ่าน

ความจริงก็คือ คนนอกพระพุทธศาสนาพวกนี้เกลียดกลัวหนังสือพุทธธรรมอย่างมาก เพราะหนังสือพุทธธรรม แสดงหลักพระพุทธศาสนาให้คนสมัยปัจจุบันเข้าใจได้ง่าย จึงเป็นอุปสรรคต่องานของเขาที่จะทำลายพระพุทธศาสนาลงไปให้ถึงแก่นถึงราก

หนังสือพุทธธรรม อธิบายให้เห็นว่า โลกทั้งหมดทั้งสิ้นเป็นสังขาร คือสังขตธรรม มีแต่รูปธรรมและนามธรรมที่เป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย เป็นเรื่องของกฎธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องมีผู้สร้างผู้บันดาล ปฏิเสธการดลบันดาลของพระผู้เป็นเจ้าเช่นกล่าว (หน้า ๘๕) ว่า “มูลการณ์เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะในรูปพระผู้สร้างหรือสิ่งใดๆ” และบอกให้รู้ตามหลักพระพุทธศาสนาว่า ความเชื่อในการดลบันดาลของพระผู้เป็นเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะฉะนั้นจึงเป็นคำสอนที่ตรงข้ามกับศาสนาคริสต์ แต่ก็เป็นการพูดตรงไปตรงมาตามหลัก ไม่ได้ตั้งใจโจมตีหรือติเตียนใคร มีแต่ ดร. เบญจ์-บรรจง และพวกที่ถือคริสต์แบบคลั่งไคล้เท่านั้น ที่จะหาทางขัดขวางหนังสือพุทธธรรม ไม่ให้เผยแพร่ออกไป

กลัวพระพุทธศาสนาจะก้าวหน้า จึงว่าร้ายพระไตรปิฎกคอมพิวเตอร์

ดร. เบญจ์-บรรจง และพวก แสดงเจตนาร้ายออกมาว่า พวกเขาไม่ยินดีในความเจริญของพระพุทธศาสนา ไม่อยากเห็นความก้าวหน้าในการศึกษาพระพุทธศาสนา จึงปั้นแต่งเรื่องป้ายสีพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ ที่สำนักคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยมหิดลจัดทำขึ้น ว่าเป็นการทำพระไตรปิฎกขึ้นใหม่ให้บิดเบือนปลอมปน

ใครๆ ที่อยู่ในวงการศึกษาพระพุทธศาสนา ก็รู้กันดีว่าการทำพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ ก็คือการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกที่มีอยู่แล้ว หมายความว่าพระไตรปิฎกที่เรามีอยู่และศึกษาค้นคว้ากันอยู่นี้ มีถึง ๔๕ เล่ม นับได้ ๒๒,๐๐๐ กว่าหน้า เวลาจะค้นหาอะไร มัวพลิกทีละหน้าหรือเปิดสุ่มๆ ไป ก็ยากที่จะพบ เมื่อเอาเทคโนโลยีมาช่วย ก็ค้นหาได้สะดวกรวดเร็วทั่วถึง เรียกง่ายๆ ว่าทำเครื่องมือค้นขึ้นนั่นเอง เพราะฉะนั้น พระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์จึงเป็นเครื่องมือค้นของพระไตรปิฎกฉบับเป็นเล่มหนังสือที่มีอยู่ก่อนแล้ว

พระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ที่ ม.มหิดลจัดทำขึ้นนั้น เป็นเครื่องมือสำหรับค้นพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ ก็ต้องพิมพ์ข้อมูลคือข้อความทั้งหมดของพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐลงไปในคอมพิวเตอร์ แล้วเครื่องมือที่ทำขึ้นใช้ค้น ก็ค้นไปตามนั้น

จะเห็นว่า เมื่อทำพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ขึ้นมาแล้ว พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐก็คงอยู่อย่างเดิม ยังเป็นต้นแบบอยู่ต่อไป การจัดทำพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ไม่ใช่เป็นการทำพระไตรปิฎกขึ้นใหม่ ความใหม่และความดีพิเศษของพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์อยู่ที่ว่าทำให้เกิดวิธีการใหม่ที่ช่วยให้ศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกอย่างได้ผลมีประสิทธิภาพมาก ยิ่งค้นได้รวดเร็วละเอียดครบถ้วนทั่วถึงมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นความดีพิเศษของพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์มากเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับความจริงว่า คัมภีร์/หนังสือใหญ่ๆ ขนาดยาวเป็นหมื่นๆ หน้าอย่างนั้น ถึงจะระวังตรวจกันถี่ถ้วนเพียงใดก็อดลอดตรวจหลงตาไปบ้างไม่ได้ เพราะเหตุนั้นเมื่อทำงานออกพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ไปรุ่นหนึ่งๆ แล้ว ทางสำนักคอมพิวเตอร์ ม.มหิดลก็ยังต้องตามแก้ไขคำที่พิมพ์ผิดพลาดตกหล่นต่อไปอีก โดยเฉพาะจะขอความร่วมมือจากผู้ใช้ช่วยบอกแจ้งคำ-ความพิมพ์ผิดพลาดตกหล่นที่ได้พบ แล้วรวบรวมไว้แก้ไข พร้อมไปกับการปรับปรุงเครื่องมือค้น เพื่อให้ฉบับที่ออกรุ่นต่อไปสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งในด้านคำ-ความและประสิทธิภาพในการค้น

ทางฝ่ายผู้ใช้ทั้งในและต่างประเทศจำนวนไม่น้อย เมื่อพบข้อบกพร่องก็ได้แจ้งให้คณะผู้จัดทำทราบ เป็นการร่วมมือกันทั้งฝ่ายผู้ทำงานและผู้ใช้งาน เพื่อประโยชน์ส่วนรวมคือความเจริญแห่งการศึกษาและปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ทั้งนี้ ทุกคนทราบและเข้าใจดีว่าข้อบกพร่องเหล่านั้นเป็นเรื่องของการพิมพ์พลั้งพลาดตกหล่น ที่จะต้องช่วยร่วมมือกันบอกแจ้งแก้ไขเพื่อทำให้สมบูรณ์ต่อไป ไม่ใช่ว่าจะมีใครแกล้งทำให้ผิดเพี้ยนเสียหาย (ตามปกติ คำ-ความที่พิมพ์ผิดพลาดตกหล่นนั้น ผู้รู้ผู้ศึกษาพอพบเข้าก็รู้ว่าไม่ได้ตั้งใจ เพราะเมื่อผิดพลาดไปก็จะกลายเป็นคำหรือข้อความที่อ่านไม่รู้เรื่องหรือผิดปกติในทางไวยากรณ์ อย่างน้อยก็พอสังเกตได้)

แม้แต่พระไตรปิฎกที่พิมพ์เป็นเล่มหนังสือทุกๆ ชุด ก็ไม่พ้นที่จะมีข้อผิดพลาดพลั้งเผลอในการพิมพ์อย่างนี้ มากบ้างน้อยบ้าง เหมือนอย่างเมื่อเจ้าหน้าที่พิมพ์ต้นฉบับตามพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ พบคำบาลีที่พิมพ์ไว้เดิมในพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐนั้นเป็นทำนอง ภิกขุ บ้าง ภิขุโน บ้าง ปวตฺตตุํ บ้าง ฯลฯ แม้จะไม่รู้ภาษาบาลี แต่อาศัยความคุ้นจากการได้ผ่านตามาก ก็ยังสะดุด สงสัย และยกเอามาถาม ซึ่งนักบาลีย่อมรู้ว่าพิมพ์ผิดแน่นอน และทำให้ได้แก้ไขให้ถูกต้อง เป็น ภิกฺขุ เป็น ภิกฺขุโน เป็น ปวตฺติตุํ ดังนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้นผู้ที่ใช้ด้วยใจจริงที่ตั้งไว้เป็นกุศล จึงเห็นคุณค่าแล้วชื่นชมและขอบคุณทางสำนักคอมพิวเตอร์ ม.มหิดล ที่ได้ทำงานอันเกื้อหนุนพระพุทธศาสนานี้ขึ้นมา กับทั้งมีความภูมิใจ ถือว่าเป็นเกียรติแก่พระพุทธศาสนาและประเทศชาติไทย ที่คนไทยจัดทำพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ได้สำเร็จเป็นแห่งแรกของโลก

การจัดทำพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ที่ว่ามานี้ เป็นความคิดริเริ่มและเป็นการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยมหิดลเอง ด้วยมุ่งหมายจะให้เป็นส่วนร่วมเฉลิมฉลองและเทอดทูนพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสรัชมังคลาภิเษก ๒ กรกฎาคม ๒๕๓๑ มีความเกี่ยวข้องกับพระธรรมปิฎกในแง่ที่ว่าได้นิมนต์เป็นที่ปรึกษา ซึ่งได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับพระคัมภีร์ เช่นว่า คัมภีร์พุทธศาสนามีอะไรบ้าง จัดแบ่งอย่างไร ควรจะใช้พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐด้วยเหตุผลอย่างใด คัมภีร์นั้นๆ จะหาได้ที่ไหน ฯลฯ ตลอดจนตอบข้อสงสัยต่างๆ พระธรรมปิฎกเพียงอยู่ข้างนอกห่างๆ และไม่มีเวลาที่จะเข้าไปยุ่งกับงานภายใน ซึ่งก็เป็นไปตามฐานะของที่ปรึกษา

ดร. เบญจ์-บรรจง ปั้นแต่งเรื่องขึ้นว่าพระธรรมปิฎก “แฝงตัวเข้าสู่สถาบันอุดมศึกษา เพื่อทำการแก้ไขบิดเบือนพระไตรปิฎก ที่จะใช้เป็นหลักอ้างอิงของพระพุทธศาสนาของสถาบันอุดมศึกษา และพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ โดยสร้างเป็นระบบคอมพิวเตอร์…” และจับเอาคำ-ความที่พิมพ์พลั้งพลาดตกหล่นมาจับโน่นชนนี่ ปั้นแต่งเป็นเรื่องราวว่ามีการบิดเบือนปลอมปนพระไตรปิฎก ซึ่งก็หลอกได้เฉพาะคนข้างนอกที่ไม่รู้เรื่องพระไตรปิฎกเท่านั้น แต่สำหรับผู้รู้ผู้ศึกษา การกระทำของเขาก็เป็นเหมือนการแต่งนิยายเหลวไหล ที่ไม่มีความหมายอะไร ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าในวงผู้รู้ผู้ศึกษานั้น การปั้นแต่งเรื่องของ ดร. เบญจ์-บรรจง ไม่เกิดผลอะไรเลย

ความจริงนั้น คนกลุ่ม ดร. เบญจ์-บรรจง นี้ไม่ได้สนใจศึกษาพระธรรมวินัย ไม่ได้เคยนึกถึงพระไตรปิฎก แม้แต่ชื่อคัมภีร์ง่ายๆ ในพระไตรปิฎกเขาก็เรียกไม่ถูก การที่เขาทำอย่างนี้ ก็ด้วยเจตนาร้ายที่มุ่งจะตามกำจัดผู้ที่ทำงานเพื่อพระพุทธศาสนาอย่างเดียว มิได้มีน้ำใจหวังดีต่อพระพุทธศาสนาแม้แต่น้อยนิด แท้จริงนั้นเขาก็คือศัตรูผู้มุ่งทำลายพระพุทธศาสนาและจ้องจะประทุษร้ายชาวพุทธเท่านั้นเอง

โกรธพระธรรมปิฎก ที่เปิดเผยให้ชาวพุทธรู้ ภูมิหลังของฝรั่งและศาสนาคริสต์

ดร. เบญจ์-บรรจง ทำร้ายป้ายสีพระสงฆ์และคฤหัสถ์ชาวพุทธหลายท่าน โดยปั้นแต่งเรื่องโยงไปโยงมาจับเอาไปคลุกเคล้าปนเปกับคนกลุ่มอื่นแม้แต่กับคนนอกพระพุทธศาสนา ที่พระสงฆ์และชาวพุทธเหล่านั้นไม่รู้จัก

การทำร้ายป้ายสีทั้งหมดนี้ ดร. เบญจ์-บรรจง พุ่งเป้าไปที่พระธรรมปิฎก เพราะหนังสือของพระธรรมปิฎกนอกจากแสดงหลักพระธรรมวินัยตรงไปตรงมาแล้ว มีหลายเล่มที่ทำให้คนไทยมองเห็นภูมิหลังของศาสนาคริสต์ในประเทศตะวันตก รู้เท่าทันฝรั่ง ไม่เปิดโอกาสให้ลัทธิภายนอกเข้ามาแทรกแซงในพระพุทธศาสนา จึงไม่เป็นที่พอใจของคนนอกศาสนาอย่าง ดร. เบญจ์-บรรจง

ตัวอย่างเช่น เมื่อ ๑๓ ปีมาแล้ว (พ.ศ. ๒๕๓๑) พระปลัดเอี่ยม เขียนจดหมายมาถึงพระธรรมปิฎก เล่าว่าทางภาคใต้แถวจังหวัดของท่าน พวกเผยแพร่ศาสนาคริสต์ชักจูงคนไทยไปเข้าคริสต์โดยพูดให้หลงเข้าใจไปว่า ฝรั่งชาวตะวันตกถือศาสนาคริสต์ จึงมีความเจริญก้าวหน้าด้านต่างๆ มากมาย เช่นในทางวิทยาศาสตร์ ทำให้คนไทยบางพวกคล้อยตาม หันไปเข้าคริสต์กัน พระปลัดเอี่ยมปรารภเป็นห่วงว่าจะทำอย่างไรดี

พระธรรมปิฎกได้เขียนตอบไปโดยเริ่มต้นว่า “วิธีการเผยแพร่และชักจูงของนักสอนศาสนาคริสต์ที่ทำอย่างนี้ เป็นการกระทำที่น่ารังเกียจ เพราะเป็นการกล่าวเท็จ ไม่ตรงตามความเป็นจริง และเป็นการไม่ยุติธรรมทั้งแก่คนไทยและแก่พระพุทธศาสนา ถ้าเขาใช้วิธีเผยแพร่แบบมีเล่ห์กลอย่างนี้ ก็ควรจะต้องเผยแพร่ความจริงให้เป็นที่รู้เข้าใจกันไว้”

พระธรรมปิฎกได้เล่าภูมิหลังของตะวันตกให้รู้ว่า ฝรั่งตกอยู่ใต้อิทธิพลศาสนาคริสต์ครอบงำนานหลายศตวรรษ ระหว่างนั้นวิทยาการต่างๆ ชะงักงัน ปัญญาไม่งอกงาม ต่อมาฝรั่งจึงดิ้นรนจนพ้นจากอิทธิพลของศาสนาคริสต์ออกมาได้ แล้วสร้างความเจริญอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ฝรั่งจึงเรียกเวลาราวห้าร้อยถึงพันปีที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลศาสนาคริสต์ว่าเป็น “ยุคมืด” (Dark Ages) พระธรรมปิฎกได้เตือนและเชิญชวนคนไทยให้ศึกษาหาความรู้ให้เข้าใจภูมิหลังของฝรั่ง ให้รู้ทันเขา จะได้วินิจฉัยเรื่องราวต่างๆ ได้ถูกต้อง ไม่ให้ใครมาล่อหลอกชักจูงให้ไขว้เขวไปเพราะความไม่รู้

เรื่องที่พระธรรมปิฎกอธิบายแก่พระปลัดเอี่ยมครั้งนี้ ได้พิมพ์เป็นหนังสือแล้ว เล่มเล็กๆ มีชื่อเรื่องว่า “ฝรั่งเจริญ เพราะดิ้นรนให้พ้นจากการบีบคั้นของศาสนาคริสต์” และได้พิมพ์เผยแพร่มาแล้วหลายครั้ง

นอกจากหนังสือขนาดเล็กแล้ว พระธรรมปิฎกยังได้เรียบเรียงหนังสือเล่มหนาที่เล่าประวัติหรือภูมิหลังของประเทศตะวันตก เช่น “มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์” ซึ่งช่วยให้รู้ความจริงว่า ฝรั่งมีปัญหากับศาสนาคริสต์ ถูกบีบบังคับความเชื่อ รบราฆ่าฟันทำสงครามกันเพราะเหตุเพียงแค่ต่างนิกายในศาสนาเดียวกันอย่างไร องค์กรคริสต์ร่วมกับอำนาจรัฐห้ำหั่นบีฑาผู้คน ทำให้ต้องดิ้นรนหนีภัยศาสนา แสวงหาอิสรภาพ จนมาตั้งประเทศใหม่เกิดเป็นสหรัฐอเมริกาอย่างไร

การที่พระธรรมปิฎกพูดและเขียนเล่าเรื่องราวเหล่านี้ไว้ มิใช่ว่าจะมีเจตนาตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับศาสนาคริสต์หรือทำด้วยความจงเกลียดจงชังอย่างใดๆ แต่ทำไปตามเหตุผลที่สมควร คือตามหลักแห่งความถูกความควรตามธรรมดาว่า เมื่อเราจะคบหาสัมพันธ์กับใคร ก็ต้องรู้จักเขาตามเป็นจริงว่าเขาเป็นใคร เป็นคนอย่างไร มีเทือกเถาเหล่ากอเป็นมาอย่างไร จะได้วางตัววางใจปฏิบัติต่อเขาได้ถูกต้อง

แม้ว่าชาวพุทธจะไม่ถือโทษโกรธแค้นหรือจองเวรใคร ถึงแม้เราจะอยู่กับเขาด้วยเมตตาไมตรี ก็ต้องรู้จักและเข้าใจเขาตามเป็นจริง ต้องเป็นเมตตาที่ประกอบด้วยปัญญา ต้องเป็นรักอย่างรู้จักเขา ไม่ใช่รักอย่างเรื่อยเปื่อยหลงใหล

เป็นเรื่องแปลกประหลาดมากที่คนไทยคบหากับฝรั่งมานาน แต่ไม่ได้สนใจศึกษาให้รู้จักภูมิหลังความเป็นมาของเขา โดยเฉพาะเรื่องการห้ำหั่นบีฑาและสงครามศาสนา (religious persecution, religious wars) ที่เป็นเหตุปัจจัยอยู่เบื้องหลังเอกลักษณ์แห่งความเป็นชาติของเขา ทั้งที่ในประเทศฝรั่งเอง เขาก็คอยเตือนอนุชนให้เรียนรู้ภูมิหลังแห่งชาติของตนไว้ คนไทยไม่ควรเอาอย่างฝรั่งเพียงแค่คอยตามบริโภคของฝรั่ง แต่ควรเอาเยี่ยงเขาในการแสวงหาความรู้

ที่แปลกประหลาดยิ่งกว่านั้นก็คือ เมื่อเราช่วยให้คนไทยรู้เข้าใจเรื่องนี้ คนอย่างดร. เบญจ์-บรรจง ที่เป็นคนไทย และอ้างตัวว่ารักชาติรักศาสนา กลับโกรธเกลียดเคียดแค้น และหาทางทำลายผู้ที่ให้ความรู้

การที่คนไทยละเลยมองข้ามเรื่องนี้ไป อาจเป็นด้วยคนไทยทั่วๆ ไปมัวตื่นเต้นหลงใหลอยู่กับความเจริญทางวัตถุในปัจจุบันของฝรั่ง หรือเป็นเพราะคนไทยจำนวนมากเรียนเรื่องเมืองฝรั่งจากโรงเรียนของศาสนาคริสต์ ซึ่งอาจจะกลบเกลื่อนปิดบังเรื่องราวเหล่านี้เสีย แต่พระธรรมปิฎกมองเห็นว่า ถ้าเราคนไทยจะรู้จักเข้าใจฝรั่งชาวตะวันตกได้ถูกต้องตามเป็นจริง จะต้องรู้เข้าใจเรื่องราวเหล่านี้ จึงนำมาเล่าให้รู้กันไว้

ที่แท้นั้น แม้แต่ชาวศาสนาคริสต์เอง ที่มีใจเป็นธรรม ก็ต้องยอมรับเรื่องนี้ เพราะเป็นความจริงอย่างนั้น คือเป็นข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ และเป็นเรื่องของความรู้ ซึ่งผู้ที่มีการศึกษาจะต้องเข้าใจ โดยเฉพาะผู้รับผิดชอบสังคมจะต้องเท่าทัน

การที่ ดร. เบญจ์-บรรจง พยายามปั้นแต่งเรื่องสร้างภาพศาสนาคริสต์ใส่พระธรรมปิฎกเพื่อให้ชาวพุทธเข้าใจผิด จะได้ไม่อ่านหนังสือของท่านนั้น พอชาวพุทธจับจุดได้ก็รู้ทันว่าที่แท้ ดร. เบญจ์-บรรจง ก็คือคนทุจริตที่คิดจะทำลายพุทธเท่านั้นเอง

เมื่อรู้เข้าใจอย่างนี้แล้ว ชาวพุทธไทยก็ควรปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องแน่นอน คือชวนกันอ่านหนังสือที่จะให้เข้าใจรู้จักชนชาติตะวันตก ตั้งแต่หนังสือเล่มเล็กๆ อย่างเรื่อง “ฝรั่งเจริญ เพราะดิ้นรนให้พ้นจากการบีบคั้นของศาสนาคริสต์” ที่พูดถึงแล้วข้างต้น ซึ่งจะทำให้รู้จักทั้งฝรั่ง ทั้งศาสนาคริสต์ และทั้ง ดร. เบญจ์-บรรจง ไปพร้อมกันทั้งหมด

ดร. เบญจ์-บรรจง คนนอกศาสนา ที่สวมรอยเข้ามาทำลายพุทธ

การสวมรอยลอบทำร้าย เป็นวิธีการหนึ่งที่ ดร. เบญจ์-บรรจง ใช้บ่อย คือ เมื่อชาวพุทธมีการเคลื่อนไหวอะไรเพื่อส่งเสริมหรือเพื่อแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เขาก็เข้าสวมรอยแสดงตัวเหมือนว่าเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนั้น หรือได้มีส่วนร่วมรู้ร่วมคิดด้วย และพอได้ช่อง เขาก็จะตลบหลังใส่ร้ายชาวพุทธที่เคลื่อนไหวตัวจริง โดยป้ายสีต่างๆ เพื่อให้คนเข้าใจผิดกลายเป็นว่าชาวพุทธเหล่านั้นเป็นผู้ก่อปัญหา

ตัวอย่างที่เด่นของการใช้วิธี สวมรอยลอบทำร้าย นี้ ก็คือ เรื่องที่เขาเรียกว่า “คำสั่งจากวาติกัน” และเรื่องการรณรงค์เพื่อให้มีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ

ขอยกเอาตัวอย่างแรกขึ้นมาตีแผ่เป็นอุทาหรณ์ เพื่อให้รู้จักคนกลุ่มนี้ชัดเจนขึ้น:

พอเริ่มต้นเปิดเข้าสู่เนื้อเรื่องในหนังสือของเขา ดร. เบญจ์-บรรจง ก็จั่วหัวข้อใหญ่กลางหน้าว่า “คำสั่งจากวาติกัน” (หนังสือ “พระพุทธศาสนา ชะตาของชาติ” หน้า ๑๖, ฉบับคัดย่อ หน้า ๘) ต่อจากนั้นก็เขียนบรรยายให้ดูเหมือนกับว่าพวกเขานี่แหละได้เป็นผู้ล่วงรู้แผนลับของวาติกัน (ศูนย์กลางของศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก) ที่สืบเนื่องจากการประชุมใหญ่ Vatican Council II ว่ามีการวางแผนเป็นขั้นตอนที่จะทำลายพระพุทธศาสนาในประเทศไทย และปั้นแต่งเค้าโครงเรื่องให้คนอ่านเคลิ้มเข้าใจเหมือนกับว่าบุคคลทั้งหลายที่เขากล่าวหาในหนังสือของตนนั้นเป็นผู้ทำงานตามแผนจากวาติกันนี้

แต่ตามเรื่องจริงนั้น หลายคนที่ถูกกล่าวหาใส่ความให้เป็นผู้ร้ายในหนังสือของ ดร. เบญจ์-บรรจง นั่นแหละที่เป็นผู้ล่วงรู้แผนลับของวาติกัน และนำมาบอกกล่าวให้เพื่อนชาวพุทธรู้ทันไว้นานมาแล้ว ส่วนคนกลุ่ม ดร. เบญจ์-บรรจง นี้ เป็นเพียงนักฉวยโอกาสที่สวมรอยเข้ามา โดยที่พวกเขาเองไม่มีส่วนได้รู้แผนลับนี้มาก่อน (และก็คงไม่เคยสนใจมาก่อนคิดการร้ายนี้ด้วย) เพิ่งจะมาได้เอกสารเหลือเศษนิดๆหน่อยๆ จากที่ชาวพุทธแจกออกไปสมัยก่อนนั้น แล้วเอามาปั้นแต่งเรื่องที่จะใส่ร้ายชาวพุทธ

เหตุการณ์จริงนั้นเกิดขึ้นเมื่อ ๑๙ ปีมาแล้ว ขอเล่าอย่างรวบรัดว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕ พวกเราชาวพุทธได้พบเอกสารลับเกี่ยวกับนโยบายของศาสนจักรโรมัน คาทอลิก ที่สืบเนื่องจากการประชุมใหญ่วาติกันครั้งที่ ๒ (Vatican Council II) ค.ศ. ๑๙๖๒–๑๙๖๕ (พ.ศ. ๒๕๐๕–๒๕๐๘) ซึ่งมีมติให้เปลี่ยนแปลงแนววิธีเผยแพร่ศาสนาคริสต์ใหม่ โดยให้เลิกวิธีติเตียนโจมตีและรุนแรง หันมาใช้นโยบายกลมกลืน ที่เรียกว่า “ศาสนสัมพันธ์” (เขาแปลจากคำอังกฤษว่า dialogue) และพบว่าในประเทศไทย องค์กรคาทอลิกได้มีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบายนี้

เมื่อได้บอกกล่าวกันไป ชาวพุทธผู้รักพระศาสนาเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญมาก จึงมีการเคลื่อนไหว เช่น จัดประชุม และเผยแพร่เอกสาร เพื่อปลุกให้ชาวพุทธตื่นตัวรู้ทัน และเป็นการประท้วงต่อวิธีปฏิบัติที่ไม่สมควรขององค์กรคาทอลิกไปพร้อมกันด้วย

ต่อมาในคราวร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ชาวพุทธจำนวนมากในกลุ่มนี้ก็ได้เป็นแกนรณรงค์เรียกร้องให้บัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ

เมื่อเกิดปัญหาวัดพระธรรมกายขึ้น ชาวพุทธเหล่านี้ต้องยอมเสี่ยงภัยอันตราย ออกมาว่ากล่าวติติง ขอให้ผู้ก่อปัญหาเห็นแก่พระธรรมวินัย และแก้ไขปรับปรุงคำสอนและกิจการให้ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัยนั้น

ตอนนี้แหละที่ชาวพุทธเหล่านั้นถูกคนกลุ่ม ดร. เบญจ์-บรรจง ปั้นแต่งเรื่องใส่ร้ายว่าได้รับเงินคริสต์ (ตามแผนลับของวาติกัน!) ให้มาทำลายพระพุทธศาสนา และไม่ได้ร่วมรณรงค์ให้บัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ

แต่เรื่องจริงนั้นตรงกันข้าม คือ เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์จริง คนกลุ่ม ดร. เบญจ์-บรรจง นี้ไม่ได้รู้เรื่องราว ไม่ได้ใส่ใจ และไม่ได้มีส่วนร่วมอะไร ไม่ว่าในการเปิดเผยนโยบายของคาทอลิก/แผนลับของวาติกัน หรือในการรณรงค์ให้บัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่สวมรอยตู่ความดีของเขามาใส่ตัว และเอาความทุจริตของตัวไปลอบทำร้ายใส่บุคคลและองค์กรข้างต้น

เรื่องการประชุมใหญ่วาติกันครั้งที่ ๒ นี้ คนกลุ่ม ดร. เบญจ์-บรรจง ก็ไม่ได้รู้เรื่อง การเคลื่อนไหวเมื่อ ๑๙ ปีก่อนโน้น คนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้มีบทบาทช่วยเหลืออะไร ข้อมูลเอกสารต่างๆ ของวาติกัน คนกลุ่มนี้ก็เข้าไม่ถึง เพียงแต่ไปเก็บเอาเศษความรู้กระเส็นกระสายจากเอกสารเก่าที่ชาวพุทธกลุ่มผู้พิทักษ์พระศาสนาข้างต้นได้นำมาเปิดเผยแจกกันไว้ โดยไม่ได้จากแหล่งที่แท้จริง เมื่อได้มาบ้างนิดหน่อย ก็เอามาพิมพ์ในหนังสือของตัว ยังกะว่าได้ไปรู้เรื่องหรือได้มาพิเศษ ทำให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องขึงขังจริงจัง แต่ที่จริงเป็นการใช้กลวิธีสวมรอยลอบทำร้าย ตัดต่อเติมแต่งเรื่องขึ้น ด้วยเจตนาอันเป็นบาป มุ่งประทุษร้ายท่านผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา โดยที่ตัวเขาเองไม่ได้มีความซื่อสัตย์จริงใจ ทั้งต่อพระพุทธศาสนาและต่อชาวพุทธใดเลย

ในเมื่อที่จริงเขามุ่งทำร้ายชาวพุทธแล้ว ดร. เบญจ์-บรรจง ทำงานให้ใคร ทำไมเขาจึงด่าหรือทำเหมือนกับว่าเขาเป็นศัตรูกับคริสต์ นี่แหละคือการกระทำแบบซ่อนเงื่อน

ขอให้นึกถึงเรื่องวัสสการพราหมณ์ ที่เป็นเสนาบดีของแคว้นมคธ คบคิดกับพระเจ้าอชาตศัตรู ทำเป็นว่าโกรธกัน ถูกโบยและขับไล่ออกจากแคว้นมคธ มาอยู่กับกษัตริย์ลิจฉวีในแคว้นวัชชี ก็ต้องทำเป็นอยู่ข้างวัชชี แล้วก็ด่าแคว้นมคธให้พวกวัชชีตายใจ เมื่อได้โอกาสก็ยุแยกให้พวกวัชชีแตกกัน แล้วส่งสัญญาณให้แคว้นมคธเข้าตี แคว้นวัชชีก็แตกถึงความพินาศ กลายเป็นข้าของมคธไป นี้ฉันใด ชาวพุทธเราก็จะต้องเข้าใจรู้เท่าทัน ดร. เบญจ์-บรรจง ฉันนั้น

การล่วงรู้และเปิดเผยนโยบายของคาทอลิกหรือแผนลับของวาติกันนี้ เป็นอานิสงส์ที่สืบเนื่องจากสมเด็จพระสังฆราช องค์หนึ่ง แต่ถ้าจะเล่าเรื่องทั้งหมดไว้ที่นี่ก็จะยืดยาวใช้เนื้อที่มากเกินไป จึงจะเล่าไว้ต่างหาก

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< เรื่องหนังสือพุทธธรรมทำไมตำรวจจึงว่า ดร. เบญจ์ ทำงานให้วัดธรรมกาย >>

No Comments

Comments are closed.