เรื่องหนังสือพุทธธรรม

1 กรกฎาคม 2544
เป็นตอนที่ 13 จาก 20 ตอนของ

เรื่องหนังสือพุทธธรรม

ดร. เบญจ์-บรรจง ใช้เนื้อที่เป็นอันมากในหนังสือของเขา เพื่อบิดเบือนป้ายสีหนังสือ พุทธธรรม เหตุผลที่เขาทำเช่นนั้นจะอธิบายข้างหน้า

ในด้านเนื้อหาของหนังสือ นอกจากกลวิธีตัดต่อของเขาที่ได้ยกมาให้ดูเป็นตัวอย่างแล้ว เขายังบิดเบือนปั้นแต่งเรื่องเกี่ยวกับความเป็นมาของหนังสือนั้น ให้ดูเหมือนเป็นเรื่องเสียหายร้ายแรง เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าไม่น่าเชื่อถือ

ก่อนจะดูความทุจริตของเขา และเข้าใจเรื่องราวได้ชัดเจน พึงทราบก่อนว่า หนังสือ พุทธธรรม นี้เดิมทีเดียวพระธรรมปิฎกเขียนไว้ยาว ๒๐๖ หน้า ต่อมาได้เขียนขยายความออกไปจนยาวขึ้นเป็น ๑,๑๔๕ หน้า ซึ่งมีขนาดใหญ่มาก ผู้ที่ต้องการพิมพ์บางท่านจึงขอพิมพ์เฉพาะของเดิมที่ยาว ๒๐๖ หน้า ทำให้กลายเป็นเหมือนมี ๒ ฉบับ คือฉบับเดิมยาว ๒๐๖ หน้า และฉบับขยายความยาว ๑,๑๔๕ หน้า

ขอให้ดูคำเล่าแบบบิดเบือนใส่ร้ายของ ดร. เบญจ์-บรรจง (ในหนังสือ “พระพุทธศาสนา ชะตาของชาติ” หน้า ๓๑–๓๒, ฉบับคัดย่อ หน้า ๑๘) ที่เขียนไว้ยืดยาวว่า

“หนังสือ ‘พุทธธรรม’ นี้กรมการศาสนาได้มอบให้พระราชวรมุนี (ป.อ.ปยุตโต) เป็นผู้เรียบเรียงโดยได้มีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อความในต้นฉบับเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกเถรวาท โดยท่านอธิบดีกรมการศาสนา และผู้กล่าวนามข้างต้นซึ่งนับว่าเป็นฉบับที่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา มีทั้งหมด ๒๐๖ หน้า

“ด้วยความถูกต้องของ ‘พุทธธรรม’ ฉบับพิมพ์โดยกรมการศาสนานี้เองทำให้ฉบับนี้ไม่มีการอ้างอิงถึง ในการพิมพ์ครั้งต่อๆ มาทั้งสิ้นเพราะไม่มีการปลอมปน อาจเป็นเพราะพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) กลัวว่าหากมีผู้นำฉบับนี้มาเทียบเคียง กับฉบับใหม่จะมีข้อความที่ขัดแย้งกันเอง ไม่เพียงไม่อ้างอิงเท่านั้น พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) ยังเผยแพร่ข้อความว่า “…หนังสือพุทธธรรม ที่กรมการศาสนาจัดพิมพ์นี้ มีข้อความไม่ถูกต้อง และเป็นการถือวิสาสะจัดพิมพ์เองโดยไม่บอกกล่าวเจ้าของลิขสิทธิ์”??? (ปรากฏตามคำนำการพิมพ์หนังสือพุทธธรรมครั้งที่ ๕ (๒๐๖ หน้า) ลงนามโดยพระราชวรมุนี(ป.อ.ปยุตโต) ๒๒ ก.ค. ๒๖) จึงนับเป็นเรื่องแปลกประหลาดเรื่องหนึ่ง และไม่ปรากฏว่ามีการอ้างอิงหนังสือพุทธธรรม ๒๐๖ หน้า ซึ่งจัดพิมพ์ในปี ๒๕๒๖ ณ ที่ใดอีกเลย…”

ดร. เบญจ์-บรรจง เขียนต่อไปอีกยาว รวมแล้ว เขาต้องการให้เข้าใจผิดว่า

  • หนังสือ พุทธธรรม ยาว ๒๐๖ หน้านี้ กรมการศาสนาได้มอบให้พระธรรมปิฎก (เมื่อยังเป็นพระราชวรมุนี) เรียบเรียงขึ้น จัดพิมพ์ในปี ๒๕๒๖
  • พุทธธรรม ยาว ๒๐๖ หน้านี้ อธิบดีกรมการศาสนา เป็นต้น ได้ตรวจแล้ว จึงเป็นฉบับที่ถูกต้อง
  • พุทธธรรม ยาว ๒๐๖ หน้า ซึ่งจัดพิมพ์ในปี ๒๕๒๖ นี้ ไม่ปรากฏว่ามีการอ้างอิง ณ ที่ใดอีก
  • พุทธธรรม ที่กรมการศาสนาจัดพิมพ์นี้ กรมการศาสนาได้ตรวจถูกต้องแล้ว แต่พระธรรมปิฎกหาว่ามีข้อความไม่ถูกต้อง และว่ากรมฯ ถือวิสาสะจัดพิมพ์เอง
  • พุทธธรรม ฉบับขยายความที่ยาว ๑,๑๔๕ หน้า มิได้มีการตรวจสอบความถูกต้องโดยผู้รู้ทางพุทธศาสนา หรือหน่วยงานทางราชการ จึงเป็นฉบับที่ผิด ปลอมปน

นี่คือกลวิธี ดร. เบญจ์-บรรจง ที่เอาเรื่องจริงบ้างเท็จบ้างมาโยงกันไปโยงกันมาและแต่งเติมเพิ่มเข้าไป ให้ได้เนื้อความตามเป้าที่จะใส่ร้ายป้ายสีได้สำเร็จ

ทีนี้ก็มาดูเรื่องจริงว่าเป็นอย่างไร

หนังสือ พุทธธรรม ๒๐๖ หน้านั้นมีอยู่แล้วก่อนปี ๒๕๒๖ คือเกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๔ (=๑๒ ปีก่อนที่กรมการศาสนาจะพิมพ์) จึงมิใช่ว่ากรมการศาสนามอบให้พระธรรมปิฎกเรียบเรียงขึ้น

พุทธธรรม ฉบับเดิม ๒๐๖ หน้านั้น รวมอยู่ในหนังสือชุด “วรรณไวทยากร” โครงการตำราฯ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้อาราธนาพระธรรมปิฎกเรียบเรียงขึ้น แล้วจัดพิมพ์ถวาย พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ในโอกาสที่พระชนม์ครบ ๘๐ พรรษาบริบูรณ์ วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๑๔

หลังจากปี ๒๕๑๔ แล้ว มีผู้ขอพิมพ์พุทธธรรมฉบับเดิมนี้อีกเป็นครั้งคราว (ในงานพระราชทานเพลิงศพ ท่านเจ้าคุณพระศีลขันธโสภิต วัดพลับพลาชัย พ.ศ. ๒๕๑๙ งานพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระวันรัต วัดสังเวชวิศยาราม พ.ศ. ๒๕๒๐) จนกระทั่ง ๑๒ ปีหลังจากพิมพ์ครั้งแรก กรมการศาสนาจึงขอพิมพ์บ้างในปี ๒๕๒๖

ทางกรมการศาสนาคงเห็นว่าหนังสือของพระธรรมปิฎกทุกเล่มท่านไม่หวงลิขสิทธิ์อยู่แล้ว จึงจัดพิมพ์ขึ้นเลยโดยมิได้ขออนุญาต อาจคิดว่าค่อยบอกทีหลังก็ได้

แต่พุทธธรรมฉบับเดิมนี้ พระธรรมปิฎกให้ถือโครงการตำราฯ เสมือนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โดยเกียรติ ดังนั้น เมื่อพระธรรมปิฎกเจอหนังสือที่กรมการศาสนาพิมพ์ จึงบอกให้กรมการศาสนาขออนุญาตจากโครงการตำราฯ และเขียนคำนำใหม่ให้ถูกต้อง

ส่วนพุทธธรรม ฉบับขยายความยาว ๑,๑๔๕ หน้า ก็คือฉบับเดิมยาว ๒๐๖ หน้า นั่นเอง แต่เขียนคราวแรกเวลาจำกัดก็ทำได้เท่านั้น ครั้นเวลาผ่านไป มีโอกาสเมื่อใด ก็เป็นธรรมดาว่าจะอธิบายให้ละเอียดยิ่งขึ้น หนังสือก็ยาวออกไป ดังนั้นที่จริงก็เป็นฉบับเดียวกันนั่นเอง คือฉบับเดิม ๒๐๖ หน้า ก็รวมอยู่ในฉบับขยายความ ๑,๑๔๕ หน้า

เมื่อรู้ความจริงนี้แล้ว ก็มาดูให้รู้ทันกลวิธี ดร. เบญจ์-บรรจง ต่อไป

🠺 หนังสือ พุทธธรรม ยาว ๒๐๖ หน้านี้ กรมการศาสนาไม่ได้มอบให้พระธรรมปิฎกเรียบเรียง แต่เป็นหนังสือที่พระธรรมปิฎกเรียบเรียงไว้นานตั้งแต่ปี ๒๕๑๔ แล้ว กรมการศาสนาเพียงแต่นำมาพิมพ์ซ้ำไปตามเดิมในปี ๒๕๒๖

🠺 พุทธธรรม ยาว ๒๐๖ หน้านี้ กรมการศาสนาเพียงแค่พิมพ์ซ้ำไปตามเดิม อธิบดีกรมการศาสนา และเจ้าหน้าที่อื่นๆ จึงไม่ต้องมาตรวจความถูกต้องอะไรเลย เพียงแต่ตรวจสอบให้ตรงตามของเดิมเท่านั้น

แต่เวลาเขียนคำนำ เจ้าหน้าที่กรมการศาสนาก็ทำไปตามแบบฟอร์มที่เคยทำว่า

“หนังสือพุทธธรรมนี้ กรมการศาสนาได้มอบให้พระราชวรมุนี วัดพระพิเรนทร์ เป็นผู้เรียบเรียง (ชื่ออธิบดี) อธิบดีกรมการศาสนา และ (ชื่อขรก.) ผู้อำนวยการกองศาสนศึกษา เป็นผู้ตรวจต้นฉบับ…”

หลังจากกรมการศาสนาพิมพ์ไปแล้ว ต่อมาพระธรรมปิฎกได้พบหนังสือนี้ จึงแนะนำกรมการศาสนาให้ขออนุญาตและแก้ไขคำนำให้ถูกต้อง กรมการศาสนาจึงเปลี่ยนคำนำข้างบนนั้น พิมพ์ใหม่ว่าดังนี้

“หนังสือพุทธธรรมนี้ พระราชวรมุนี ได้เรียบเรียงและมอบลิขสิทธิ์ให้โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ กรมการศาสนาเห็นว่าเป็นหนังสือที่มีคุณค่าในทางส่งเสริมจริยธรรมสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของทางราชการ จึงได้ขออนุญาตโครงการฯ จัดพิมพ์เผยแพร่”

ตอนนี้ ดร. เบญจ์-บรรจง พลาดมาก คือเขาตั้งใจจะตั้งแง่จับผิดว่าพุทธธรรมฉบับเดิมนี้กรมการศาสนาตรวจแล้ว จึงถูกต้อง แล้วก็จะไปโจมตีพุทธธรรมฉบับขยายความว่าทางราชการยังไม่ได้ตรวจ จึงไม่ถูกต้อง แต่เรื่องจริงกลายเป็นว่าหนังสือพุทธธรรมถูกต้องเป็นหลักอยู่แล้ว กรมการศาสนาจึงมาขอเอาไปพิมพ์

ข้อสำคัญก็คือ เพราะเจตนาร้ายต่อท่านผู้อื่นแล้วไปคว้าเอาข้อมูลมาผิดๆ ถูกๆ ดร. เบญจ์-บรรจง จึงทำตัวเองให้ถูกจับได้ว่า ที่จริงนั้นตัวเขาไม่มีความรู้ในเรื่องพระพุทธศาสนา ไม่รู้ว่าใครเป็นมาตรฐานที่จะตัดสินใคร เขามีอย่างเดียวคือเจตนาทุจริตที่จะใช้เล่ห์กลทำร้ายผู้อื่นเท่านั้น

🠺 ถึงตอนนี้ คำพูดอะไรก็ตามของ ดร. เบญจ์-บรรจง ก็ไม่มีความหมายต่อไปแล้ว แต่ก็จะให้ดูความเท็จทุจริตของเขาต่อไปให้จบตอนอีกหน่อย

ตรงนี้ ดร. เบญจ์-บรรจง อ้างคำนำการพิมพ์พุทธธรรม ครั้งที่ ๕ แต่บิดเบือนว่า

“พระธรรมปิฎก ยังเผยแพร่ข้อความว่า “…หนังสือพุทธธรรม ที่กรมการศาสนาจัดพิมพ์นี้ มีข้อความไม่ถูกต้อง และเป็นการถือวิสาสะจัดพิมพ์เองโดยไม่บอกกล่าวเจ้าของลิขสิทธิ์”???”

เขาพูดอย่างนี้ เพื่อจะลวงให้เข้าใจว่าพระธรรมปิฎกกลัวพุทธธรรมฉบับที่กรมการศาสนาพิมพ์ ซึ่งเขาบอกว่าเป็นฉบับที่ถูกต้องเพราะกรมการศาสนาได้ตรวจแล้ว แต่ถึงตอนนี้คำพูดของเขาหมดความหมาย ลวงไม่สำเร็จแล้ว จะให้ดูการบิดเบือนของเขาในคำนำนี้อีก ข้อความที่แท้จริงในคำนำนั้นว่า

“ครั้งล่าสุด เมื่อต้นปี ๒๕๒๖ นี้ ผู้เขียนได้เห็นพุทธธรรมฉบับเดิมนั้น ซึ่งมีผู้ได้รับแจกจากกรมการศาสนานำไปให้ดู … ผู้เขียนจึงได้แนะนำให้กรมการศาสนาขออนุญาตจากมูลนิธิโครงการตำราฯ ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ และให้แก้ไขคำนำที่มีข้อความผิดพลาด ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง …”

ขอให้เทียบข้อความที่ขีดเส้นใต้ ระหว่างของบิดเบือน กับของจริง จะเห็นกลวิธีสร้างความเท็จและการแกล้งทำให้เข้าใจผิด คือของจริงพูดถึงคำนำที่ผิดพลาด แต่ ดร. เบญจ์-บรรจง ทำให้กำกวมในทำนองว่าเนื้อหาในหนังสือไม่ถูกต้อง (กรมการศาสนาเพียงแต่พิมพ์ซ้ำ โดยใช้วิธีถ่ายภาพจากหนังสือเล่มเก่า ฉะนั้นเนื้อหาในหนังสือทั้งเล่มจึงเหมือนของเดิม มีแต่คำนำเท่านั้นที่ผิด และคำนำที่ผิดนั้นกรมการศาสนาก็ได้แก้ไขตามที่พระธรรมปิฎกแนะนำ)

🠺 ดร. เบญจ์-บรรจง บอกว่า พุทธธรรม ฉบับ ๒๐๖ หน้า ซึ่งพิมพ์ในปี ๒๕๒๖ นี้ ไม่ปรากฏว่ามีการอ้างอิง ณ ที่ใดอีก

เรื่องนี้ตอบง่ายๆ อย่างที่พูดแล้วว่า พุทธธรรม ฉบับ ๒๐๖ หน้า ก็รวมอยู่เป็นแกนของพุทธธรรม ฉบับขยายความ ๑,๑๔๕ หน้าแล้ว จึงไม่ต้องอ้างอิงต่างหาก นอกจากนั้น ใน “บันทึกของผู้เขียน” ท้ายเล่มของพุทธธรรม ฉบับขยายความ ได้เล่าความเป็นมาของพุทธธรรมตั้งแต่ต้น เชื่อมต่อฉบับเดิมกับฉบับขยายความถึงกันหมดแล้ว จนไม่จำเป็นต้องอ้างแยกกัน

🠺 ดร. เบญจ์-บรรจง บอกว่า พุทธธรรม ฉบับขยายความที่ยาว ๑,๑๔๕ หน้า มิได้มีการตรวจสอบความถูกต้องโดยผู้รู้ทางพุทธศาสนา หรือหน่วยงานทางราชการ จึงเป็นฉบับที่ผิด ปลอมปน

คำกล่าวหานี้ไม่มีความหมายอะไรแล้ว อย่างที่พูดข้างต้นว่า พุทธธรรมฉบับเดิมมีความถูกต้องอยู่แล้ว กรมการศาสนาก็มาขอพิมพ์ซ้ำไปตามนั้น ฉันใด พุทธธรรม ฉบับขยายความ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นต้น ก็มาขอพิมพ์ ฉันนั้น

ที่น่าขำมากก็คือ คนพวก ดร. เบญจ์-บรรจง นี้ ยิ่งพยายามปั้นเรื่องเท็จใส่ร้ายท่านผู้อื่น ความเท็จของตนก็ยิ่งโผล่ออกมาฟ้องตัวเอง อย่างเรื่อง พุทธธรรม นี้ เขาเสแสร้งทำเป็นรับรองความถูกต้องของฉบับเล็กที่กรมการศาสนาพิมพ์ เพื่อจะตีฉบับใหญ่ แต่แล้วข้อความในฉบับใหญ่ที่เขาเอามาตัดต่อเพื่อกล่าวหาพระธรรมปิฎกว่าจาบจ้วงพระพุทธเจ้า (ย้อนไปดูหน้า ๑๒–๑๓) ก็มีอยู่ด้วยในฉบับเล็กที่กรมการศาสนาพิมพ์ ที่เขารับรองว่าถูกต้องนั่นแหละ (หน้า ๒๐๕) เป็นข้อความเดียวกัน

กลวิธี ตัดต่อ-แต่งเติม-บิดเบือน-สอดเสริม เพิ่มความเข้าไป ที่ ดร. เบญจ์-บรรจง ทำอย่างนี้ ชี้ให้ดูไปได้เรื่อยๆ

แม้แต่ “สมาธิ” ที่เป็นธรรมข้อสำคัญ เป็นองค์มรรคข้อที่ ๘ ซึ่งพระธรรมปิฎกถือว่าสำคัญมาก และได้อธิบายไว้ยืดยาวให้เข้าใจอย่างถูกต้องว่า สมาธินั้นจำเป็นต้องปฏิบัติให้ได้ให้มี และแม้ได้ถึงขั้นฌาน ก็ต้องใช้เป็นบาทของวิปัสสนา ให้เป็นฐานของปัญญา ต้องปฏิบัติให้เป็นสัมมา ระวังอย่าปฏิบัติผิดให้กลายเป็นมิจฉาสมาธิ อย่างพวกฤาษีชีไพรหรือพวกที่เอาสมาธิไปใช้เป็นยากล่อม จะผิดจากหลักพระพุทธศาสนา ดร. เบญจ์-บรรจง ก็เอาไปตัดต่อ-แต่งเติม-บิดเบือน-สอดเสริม ให้กลายเป็นว่า พระธรรมปิฎกได้พูดหรือเขียนว่าสมาธิไม่ดี เป็นยากล่อมของเสพติด จะบรรลุธรรมได้โดยไม่ต้องปฏิบัติสมาธิ

แต่เมื่อมองเห็นกลวิธีที่ ดร. เบญจ์-บรรจง ตัดต่อ-แต่งเติม-บิดเบือน-สอดเสริม เพิ่มความเข้าไป อย่างข้างบนนี้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาอธิบายอีกว่าที่แท้นั้นเขาก็แค่หลอกลวง เพียงเท่าที่ได้ยกมาให้ดูก็เห็นว่าเกินพอแล้ว

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< เรื่องพระธรรมปิฎกไปต่างประเทศดร. เบญจ์-บรรจง ทำงานให้ใคร >>

No Comments

Comments are closed.