๑. พระพุทธศาสนาในกัมพูชา

1 มิถุนายน 2515
เป็นตอนที่ 1 จาก 15 ตอนของ

๑.
พระพุทธศาสนาในกัมพูชา

 

ดินแดนอันเป็นที่ตั้งของสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา หรือที่เรียกกันสามัญว่าประเทศเขมรในบัดนี้ เมื่อหลายพันปีมาแล้ว ได้เป็นส่วนหนึ่งแห่งถิ่นฐานที่ชนชาติมอญ-เขมรอาศัยอยู่ ชนชาติมอญ-เขมรนั้น นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า อพยพมาจากอินเดีย ผ่านเข้ามาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของคาบสมุทรอินโดจีน หรือมาจากทิศตะวันออกของคาบสมุทรอินโดจีนอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วได้กระจายกันอยู่ทั่วๆ ไป ผสมพันธุ์กับชนเจ้าถิ่นในที่นั้น และต่อมาได้มีอำนาจครอบครองดินแดนในคาบสมุทรอินโดจีนทั้งหมด เมื่อมีชนพวกอื่นอพยพเข้ามาในดินแดนนี้อีก ชนชาติมอญ-เขมรก็ผสมผสานกับชนเหล่านั้น ทั้งในทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมอารยธรรม มีความเจริญเพิ่มขึ้นโดยลำดับ ต่อมาเมื่อประมาณสองพันปีล่วงแล้ว ได้มีนักแสวงโชคและพ่อค้าชาวชมพูทวีปเดินทางมาหาโชคลาภและค้าขายในดินแดนแถบนี้ ชาวอินเดียเหล่านี้ได้นำเอาวัฒนธรรมของตนมาเผยแผ่ พร้อมทั้งได้แต่งงานกับชนเจ้าถิ่นด้วย ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางประวัติศาสตร์ซึ่งนับว่าเป็นความเจริญขึ้นอีกขั้นหนึ่ง

ในช่วงเวลาใกล้กันนี้ พระเจ้าอโศกมหาราช ได้ทรงส่งศาสนทูตมี พระโสณะ และ พระอุตตระ เป็นหัวหน้า มาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ เมื่อกาลเวลาผ่านไปพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท ก็คงแพร่หลายไปในหมู่ประชาชนโดยลำดับ คู่ขนานไปกับความเจริญของฝ่ายบ้านเมืองที่เกิดจากการผสมผสานในทางการติดต่อค้าขาย และวัฒนธรรมอารยธรรมความเจริญทางฝ่ายบ้านเมืองที่ว่านั้นก็คือ การเกิดเป็นอาณาจักรใหญ่ๆ ขึ้น ซึ่งมีผลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับดินแดนที่เป็นประเทศกัมพูชา ในบัดนี้ ก็ได้มีประวัติสืบเนื่องมาตามลำดับสมัย ซึ่งจัดได้เป็น ๔ ยุค คือ ยุคฟูนัน ยุคเจนละ ยุคมหานคร และยุคหลังมหานคร จะบรรยายเฉพาะเหตุการณ์สำคัญและเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาดังต่อไปนี้

๑. ยุคฟูนัน (Funan หรือ Founan)
หรือยุคอาณาจักรพนม หรือยุคก่อนเขมร
(ค.ศต. ๑ – ๖ ตรงกับประมาณ พ.ศ. ๖๐๐ ถึง ๑๑๐๐)

“ฟูนัน” หรือ “ฟูนาน” เป็นคำจีน เรียกกันอย่างนี้เพราะทราบเรื่องราวจากหลักฐานฝ่ายจีน ปราชญ์สันนิษฐานว่า ฟูนัน เพี้ยนไปจากคำเขมรว่า “พนม” ซึ่งแปลว่า ภูเขา ตำนานเล่าว่า พราหมณ์ชาวชมพูทวีปชื่อ เกาณฑินยะ (รูปสันสกฤต; ตรงกับบาลีว่า โกณฑัญญะ) ได้มาสมรสกับราชินีหรือสตรีหัวหน้าเผ่าชนแห่งท้องถิ่นนี้ (ศิลาจารึกว่าสมสู่กับนางนาค ชื่อ โสมา ผู้เป็นธิดาของพญานาค) และได้เป็นต้นวงศ์กษัตริย์แห่งฟูนัน อาณาจักรฟูนันตั้งราชธานีที่เมืองวยาธปุระ และแผ่อำนาจออกไปอย่างกว้างขวาง มีอาณาเขตครอบคลุมภาคใต้ของประเทศกัมพูชาปัจจุบันและแคว้นโคชินจีน (ได้แก่ ดินแดนส่วนล่างสุด ประมาณ ๑ ใน ๔ ของเวียดนามใต้ มีเมืองไซ่ง่อนเป็นศูนย์กลาง) ทั้งหมด และปกครองเมืองขึ้นชื่ออาณาจักรเจนละ ซึ่งมีอาณาเขตต่อฟูนันขึ้นไปทางเหนือ ตรงกับกัมพูชาภาคเหนือและลาวภาคใต้ในปัจจุบัน อาณาจักรที่เจริญร่วมสมัยกับฟูนัน คือ อาณาจักรจัมปาของพวกจาม ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกและทางเหนือของ ฟูนัน (ตรงกับภาคเหนือของเวียดนามใต้ในปัจจุบัน)

เดิมชนพื้นเมืองของฟูนันเป็นชนชาติมลายู นับถือโลกธาตุและผีสางเทวดา เมื่อพระพุทธศาสนาเข้าสู่สุวรรณภูมิแล้ว ก็คงเผยแผ่ไปในหมู่ประชาชนชาวฟูนันกว้างออกไปตามลำดับ แต่ในราชสำนักและชนชั้นสูงปรากฏว่านับถือศาสนาฮินดูนิกายไศวะ (นับถือพระอิศวร) เป็นหลัก และอาจจะนับถือพุทธศาสนาปะปนอยู่ด้วย ชาวอินเดียได้นำแบบแผนการปกครอง ศิลปะ การช่าง และวิทยาการต่างๆ เข้ามาสร้างความเจริญแก่ฟูนัน ทำให้ฟูนันมีอารยธรรมคล้ายคลึงกับอินเดียในสมัยนั้น

ในตอนปลายยุค ดูเหมือนว่าพระมหากษัตริย์จะหันมานับถือพุทธศาสนามากขึ้น ดังเอกสารฝ่ายจีนในราชวงศ์ชี้ทางภาคใต้ (พ.ศต. ๑๑) ว่า กษัตริย์ฟูนัน พระนามเกาณฑินยะชัยวรมัน (เกาจินจูเชเยปาโม สวรรคต พ.ศ. ๑๐๕๗) เมื่อก่อนนี้ทรงนับถือศาสนาพราหมณ์ ต่อมาทรงนับถือพุทธศาสนา และในรัชกาลนี้มีพระภิกษุอินเดียรูปหนึ่งชื่อ นาคเสน (นาคาเสียง) เดินทางไปยังประเทศจีน ได้แวะที่ฟูนันก่อน และได้ทูลพระเจ้ากรุงจีนว่า ประเทศฟูนันนับถือศาสนาฮินดูนิกายไศวะ (เคารพพระอิศวร) แต่พุทธศาสนาก็เจริญรุ่งเรือง มีภิกษุสามเณรมาก ที่สำคัญกว่านั้นก็คือในรัชกาลเดียวกันนี้ได้มีพระภิกษุชาวฟูนันรูปหนึ่ง สร้างเกียรติให้แก่ฟูนันไว้ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาระหว่างประเทศ กล่าวคือพระภิกษุชาวฟูนันชื่อ สังฆปาละ (เรียกในตำนานว่า พระติปิฏกะ สังฆปาละ แห่งฟูนัน, เรียกตามสำเนียงจีนว่า เสงโปโล, เรียกเป็นภาษาจีนสำเนียงญี่ปุ่นว่า โซโย หรือโซกุย) (เกิดราว พ.ศ. ๑๐๐๒ มรณภาพ พ.ศ. ๑๐๖๗) เป็นผู้เชี่ยวชาญในพระอภิธรรม ได้เดินทางไปยังกวางตุ้ง และได้ศึกษาเพิ่มเติมจากพระภิกษุอินเดียชื่อคุณภัทร มีความรู้แตกฉานในธรรมวินัยและภาษาต่างๆ พร้อมทั้งมีจริยาวัตรอันงาม เป็นที่เลื่อมใสของพระเจ้าจักรพรรดิบู่ตี่ (ครองราชย์ พ.ศ. ๑๐๔๖ – ๑๐๙๒) ทรงถวายสถานที่ ๕ แห่งให้เป็นที่พำนัก และทรงอาราธนาให้ท่านแปลคัมภีร์พุทธศาสนาจำนวนมากเป็นภาษาจีน ผลงานแปลของท่านสละสลวยและถูกต้องดี ในบรรดางานแปลเหล่านี้ มีคัมภีร์สำคัญที่ได้รับความสนใจจากนักปราชญ์ภาษาบาลีเป็นอันมาก คือ คัมภีร์ “วิมุตติมรรค” (รจนาโดยพระอุปติสสเถระ มีเนื้อความคล้ายกันมากกับคัมภีร์วิสุทธิมรรค แต่เป็นคัมภีร์ที่แต่งก่อนและย่อกว่า บัดนี้มีฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว) ตำนานเล่าต่อไปว่า ท่านได้รับเกียรติจากพระเจ้าจักรพรรดิบู่ตี่ให้เป็นผู้อนุศาสน์ธรรมในราชสำนัก ท่านได้เปลี่ยนแปลงธรรมเนียมประเพณีของประชาชนหลายอย่าง ท่านเป็นอยู่ง่ายๆ ไม่สะสม และได้นำปัจจัยที่ผู้ศรัทธาถวายไปสร้างวัดชื่อ “อารัทธวิริยาราม” ท่านถึงมรณภาพเมื่ออายุได้ ๖๕ ปี นอกจากท่านสังฆปาละแล้วยังมีพระเถระชาวฟูนันอีกท่านหนึ่งเดินทางไปเมืองจีนในระยะเวลาใกล้ๆ กัน คือ ท่านมัณฑาระ ซึ่งได้รับอาราธนาให้แปลคัมภีร์บางเล่มร่วมกับท่านสังฆปาละด้วย แต่ท่านผู้นี้ไม่ชำนาญภาษาจีนเพียงพอ ผลงานจึงไม่ดีเด่นและไม่ได้รับยกย่อง

ใน พ.ศ. ๑๐๕๗ พระเจ้ารุทรวรมัน ขึ้นครองราชย์ ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า และได้ทรงประกาศถวายพระองค์เป็นอุบาสก ทรงมีพระเกศธาตุเส้นหนึ่งไว้เป็นที่สักการะบูชา พระเจ้ารุทรวรมันเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายที่ปรากฏนามของฟูนัน ในระยะเวลานี้อาณาจักรเจนละซึ่งเป็นเมืองขึ้นของฟูนัน ได้มีอำนาจมากขึ้น ตั้งตัวเป็นอิสระ และต่อมาใน พ.ศ. ๑๑๗๐ ก็ได้ยกทัพมาโจมตีรวมฟูนันเข้าเป็นส่วนหนึ่งแห่งอาณาจักรเจนละ

ปราชญ์บางท่านให้ความเห็นว่า หลักฐานต่างๆ เท่าที่มี แสดงว่าพระพุทธศาสนาที่นับถือในยุคฟูนันเป็นแบบเถรวาท เช่น ศิลาจารึกต่างๆ มีข้อความเป็นแบบเถรวาท คัมภีร์วิมุตติมรรคที่พระสังฆปาละแปลก็เป็นของฝ่ายเถรวาท และเวลานั้นพุทธศาสนาฝ่ายมหายานยังไม่มาสู่ฟูนัน หากความเห็นนี้ถูกต้อง ก็คงจะต้องสรุปความเป็นมาของพระพุทธศาสนาในฟูนันว่า เบื้องแรก พระพุทธศาสนาแบบเถรวาทเจริญแพร่หลายอยู่ก่อน ต่อมา ศาสนาฮินดูนิกายไศวะได้แผ่เข้ามาทางชนชั้นปกครองที่เป็นเชื้อสายอินเดียและชาวอินเดียที่มาติดต่อเกี่ยวข้องกับชนชั้นปกครอง ทำให้ศาสนาฮินดูเฟื่องฟูมากในราชสำนักตลอดระยะแรกๆ ต่อมาเมื่อความตื่นตัวจางลงแล้ว จึงได้หันมาสนใจกับพระพุทธศาสนาที่เป็นของมีอยู่แต่เดิม ศาสนาฮินดูกับพระพุทธศาสนาก็ได้เจริญรุ่งเรืองอยู่คู่เคียงกันตลอดมาจนสิ้นยุค

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป๒. พระพุทธศาสนาในเกาหลี >>

หน้า: 1 2 3 4 5

No Comments

Comments are closed.