๑. พระพุทธศาสนาในกัมพูชา

1 มิถุนายน 2515
เป็นตอนที่ 1 จาก 15 ตอนของ

๒. ยุคเจนละ (Chenla)
(ครึ่งหลังของ ค.ศต. ๖ – ค.ศ. ๘๐๒ หรือ พ.ศต. ๑๑ – พ.ศ. ๑๓๔๕)

อาณาจักรเจนละ ตั้งอยู่ถัดอาณาจักรฟูนันขึ้นไปทางเหนือ และอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอาณาจักรจัมปา ตรงกับภาคใต้ของลาวและภาคเหนือของกัมพูชาในปัจจุบัน มีศิลาจารึกบอกความไว้ว่า วงศ์กษัตริย์ของเจนละสืบเชื้อสายมาจากฤาษีกัมพูสวยัมภูวะ สมสู่กับเทพธิดาเมรา จึงได้ชื่อว่า “กัมพูชา” (กัมพู + ช = ผู้เกิดจากกัมพู) และจึงถือว่ายุคของกัมพูชาหรือเขมรเริ่มต้น แท้จริงในสมัยของเจนละ เจนละเป็นเมืองขึ้นของฟูนันมาก่อน จนถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๑ จึงมีกำลังเข้มแข็งขึ้น เริ่มตั้งตัวเป็นอิสระด้วยการเลิกถวายเครื่องราชบรรณาการแก่กษัตริย์ฟูนัน และในที่สุดได้รบชนะพวกฟูนันที่ยกทัพมาปราบ ณ นครจัมปาศักดิ์ จึงถือเป็นการเริ่มต้นยุคอาณาจักรเจนละ

พระเจ้าภววรมันขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์ในราว พ.ศ. ๑๐๙๓ กษัตริย์เจนละในระยะต้นนี้คงจะนับถือศาสนาฮินดูนิกายไศวะเป็นหลัก เพราะปรากฏว่าพระเจ้าภววรมันได้ทรงสร้างเทวาลัยอุทิศพระศิวภัทเรศวร และประดิษฐานศิวลึงค์องค์หนึ่งในตอนปลายรัชกาล และกษัตริย์พระองค์ที่ ๒ (พระเจ้ามเหนทรวรมัน นามเดิมว่าเจ้าชายจิตรเสน) เมื่อพิชิตศึกฟูนันสำเร็จอีก ก็ได้ทรงประดิษฐานศิวลึงค์ถวายแด่พระอิศวรเป็นการฉลองชัยชนะ กษัตริย์พระองค์ที่ ๓ ของเจนละพระนามว่า อีศานวรมันที่ ๑ ทรงมีอำนาจเข้มแข็งมาก ได้ทรงปราบอาณาจักรฟูนันรวมเข้าเป็นดินแดนในอาณาจักรเจนละโดยสิ้นเชิงใน พ.ศ. ๑๑๗๐ และขยายอาณาเขตออกไปแทบทุกทิศ โดยเฉพาะทางด้านตะวันตกแผ่มาถึงจังหวัดจันทบุรีปัจจุบัน บางตำรากล่าวว่า ศาสนาฮินดู ลัทธิหริหระเกิดขึ้นในรัชกาลนี้ และได้มีการเบียดเบียนพระพุทธศาสนาอย่างมากมายจนแทบจะสูญสิ้น

ต่อมาในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓ มีกษัตริย์ผู้เข้มแข็งอีกพระองค์หนึ่งพระนามว่า ชัยวรมันที่ ๑ (ครองราชย์ประมาณ พ.ศ. ๑๑๙๓ – ๑๒๕๖) ทรงขยายอาณาเขตไปจนจดอาณาจักรน่านเจ้า ในรัชกาลนี้มีหลักฐานแสดงว่าพระพุทธศาสนายังเจริญรุ่งเรืองอยู่ (หรืออาจกลับเจริญขึ้นมาอีก) คือ มีศิลาจารึกที่วัดไพรเวียร ใกล้เมืองวยาธปุระ เมื่อ พ.ศ. ๑๒๐๗ กล่าวถึงกษัตริย์สององค์พี่น้องนามว่า รัตนภานุ และ รัตนสิงหะ ได้ทรงผนวช พระเจ้าชัยวรมันที่ ๑ ได้ทรงมีพระบัญชาให้สร้างวัดถวายและให้รักษาวัดนั้นให้ยั่งยืน เรื่องนี้ชาวบ้านยังเล่าสืบๆ กันมา และถือเป็นประเพณีที่จะปฏิบัติตามพระราชบัญชาให้รักษาวัดนั้น

อนึ่ง หลวงจีนอี้จิง ซึ่งได้จาริกไปอินเดียและเดินทางผ่านทะเลใต้ (ออกจาริกจนกลับถึงจีน พ.ศ. ๑๒๑๔ – ๑๒๓๘) ได้เขียนบันทึกไว้ว่า ในประเทศฟูนัน (ตอนนี้เท่ากับพูดว่าเจนละนั่นเอง) พุทธศาสนารุ่งเรืองมาก มีวัดทั่วไปทุกแห่ง มีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของพราหมณ์อยู่ใกล้กันกับวัดพุทธศาสนา ทั้งสองศาสนาอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ประชาชนทั่วไปนิยมบวชในพุทธศาสนา แม้พวกเจ้านายก็บวชเช่นเดียวกัน

ต่อมาหลังรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันไม่นาน อาณาจักรเจนละก็แตกแยกออกเป็น ๒ ส่วน กลายเป็นเจนละบกหรือเจนละเหนือฝ่ายหนึ่ง กับเจนละน้ำหรือเจนละใต้อีกฝ่ายหนึ่ง ในตอนปลายยุค เจนละน้ำจะตกอยู่ใต้อิทธิพลของชวา หลังจากแยกกันออกมาประมาณ ๑ ศตวรรษ ยุคเจนละก็สิ้นสุดลงด้วยสาเหตุขัดแย้งกับอาณาจักรชวา กล่าวคือในตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๔ กษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทรแห่งชวา ได้ยกทัพเรือมาตีเจนละ จับพระเจ้ามหิปติวรมัน แห่งเจนละน้ำตัดพระเศียร ส่วนพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ซึ่งขึ้นครองราชย์สืบต่อมา ก็ได้ย้ายเมืองหลวงไปตั้งอาณาจักรใหม่ที่อื่น ยุคเจนละจึงสิ้นสุดลง

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ตามหลักฐานในทางโบราณคดี มีรูปพระโพธิสัตว์ต่างๆ เป็นต้น แสดงว่าพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานคงจะเผยแผ่เข้ามาในแถบอาเซียตะวันออกเฉียงใต้ในระยะใกล้ พ.ศต. ๑๔ นี้เอง โดยอิทธิพลจากอาณาจักรศรีวิชัย และเมื่อเข้ามาแล้วก็ได้แพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว เพราะมีลักษณะคล้ายกับศาสนาพราหมณ์ และเพราะได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากพระมหากษัตริย์ ดังจะเห็นได้ในยุคต่อไป นอกจากนั้น แม้พุทธศาสนาลัทธิตันตระก็ได้ติดตามเข้ามาอีกในเวลาหลังจากนั้นไม่นาน และได้เป็นที่มาแหล่งหนึ่งแห่งประเพณีของประเทศ แต่ไม่สู้มีอิทธิพลกว้างขวางมากนัก

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป๒. พระพุทธศาสนาในเกาหลี >>

หน้า: 1 2 3 4 5

No Comments

Comments are closed.