๑. พระพุทธศาสนาในกัมพูชา

1 มิถุนายน 2515
เป็นตอนที่ 1 จาก 15 ตอนของ

๔. ยุคหลังพระนคร (พ.ศ. ๑๙๗๕ ถึงปัจจุบัน)

ยุคหลังนี้กัมพูชามีกำลังเข้มแข็งมาบ้างในระยะแรกๆ แต่เพราะการสงครามกับอาณาจักรไทยก็ต้องกลับสิ้นอำนาจลงอีก กลายเป็นเมืองขึ้นของไทย ในแผ่นดินพระนเรศวรมหาราช ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๓๗ ถึง ๒๑๖๑ ครั้นได้เอกราชกลับคืนแล้ว ก็พอดีถึงระยะที่เวียดนามมีอำนาจมากขึ้น เพราะเวียดนามคู่สงครามกับจัมปาได้ปราบปรามจัมปาสำเร็จเด็ดขาด รวมจัมปาเข้าเป็นดินแดนของเวียดนามแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๑๔ พอถึงกลาง พ.ศต. ๒๒ ก็ได้ช่องที่กัมพูชาเปิดให้ จึงเข้ามาร่วมวงสงครามในภาคตะวันตกนับแต่นั้นมา กัมพูชาก็มีแต่อ่อนแอเสื่อมโทรมลง เพราะสงครามกับไทยบ้าง สงครามกับเวียดนามบ้าง แย่งชิงราชสมบัติทำสงครามภายในกันเองบ้าง ดึงไทยและเวียดนามเข้าไปกลายเป็นเวทีสงครามของสองประเทศนั้นบ้าง เป็นกันชนระหว่างสองประเทศนั้นบ้าง ตกเป็นเมืองขึ้นของไทยบ้าง ของเวียดนามบ้าง ของทั้งสองประเทศในเวลาเดียวกันบ้าง มีการย้ายเมืองหลวงหลายครั้ง จนกระทั่งถึงใกล้สิ้น พ.ศต. ๒๔ ฝรั่งเศสเริ่มเข้ามามีบทบาทในอินโดจีน ต่อมาไม่นานกัมพูชาก็กลายเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสใน พ.ศ. ๒๔๐๖ และกลายเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสใน พ.ศ. ๒๔๑๐ ตราบถึง พ.ศ. ๒๔๙๗ จึงได้เอกราชกลับคืนและเรียกชื่อประเทศว่า พระราชอาณาจักรกัมพูชา มีเมืองหลวงชื่อ พนมเปญ มีกษัตริย์ครองราชย์มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๓ พระนามว่า “พระเจ้านโรดมสีหนุ”

ต่อมา พ.ศ. ๒๔๙๘ พระเจ้านโรดมสีหนุสละราชสมบัติให้พระเจ้านโรดมสุรามฤตราชบิดาขึ้นครองราชย์สืบแทน แล้วพระองค์เองตั้งพรรคการเมืองชื่อ สังคมราษฎร์นิยม และได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ถือนโยบายตั้งตนเป็นกลาง เมื่อพระเจ้านโรดมสุรามฤตสวรรคตแล้วใน พ.ศ. ๒๕๐๓ เจ้านโรดมสีหนุทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ แต่มิได้ครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ในด้านศาสนาถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติอย่างเป็นทางการ เจ้านโรดมสีหนุผนวชเป็นพระภิกษุ ๒ ครั้ง ใน พ.ศ ๒๔๙๐ และ พ.ศ. ๒๕๐๖ ทรงคิดตั้งทฤษฎีพุทธสังคมนิยมของเขมรขึ้น เพื่อให้เป็นลัทธิการเมืองหรือระบอบการปกครองอย่างใหม่ซึ่งยึดพุทธธรรมเป็นหลักในการบริหารประเทศ หรืออีกนัยหนึ่งสร้างลัทธิสังคมนิยมแบบใหม่ที่มีคำสอนในพระพุทธศาสนาเป็นรากฐาน

อย่างไรก็ดี อาณาจักรกัมพูชาในสมัยใหม่นี้อยู่ในยุคที่อาเซียอาคเนย์เป็นเวทีการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเป็นที่แข่งขันแย่งอำนาจกันระหว่างค่ายโลกเสรีกับค่ายคอมมิวนิสม์ จึงประสบปัญหามากมายทั้งในด้านกิจการระหว่างประเทศ และความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องอาณาเขต เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเวียดนามคู่ศึกในอดีต ครั้นถึง พ.ศ. ๒๕๑๓ เจ้านโรดมสีหนุถูกปฏิวัติสิ้นอำนาจ ลัทธิพุทธสังคมนิยมก็เป็นหมันลง คณะผู้ยึดอำนาจประกาศเปลี่ยนราชอาณาจักรกัมพูชาเป็นสาธารณรัฐเขมร มีประธานาธิบดีคนแรกชื่อ นายพลลอนนอล รัฐบาลใหม่ประกาศย้ำว่ายังถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ และถือเป็นหน้าที่ที่จะปกป้องคุ้มครองทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา แต่จะมุ่งส่งเสริมให้เข้มแข็งในระดับที่เป็นสถาบันสากลระหว่างประเทศ ส่วนคณะสงฆ์ก็ได้ประกาศท่าทีมิให้พระภิกษุเข้ายุ่งเกี่ยวกับการเมือง

พระพุทธศาสนาในประเทศกัมพูชาหลังยุคพระนครแล้ว คล้ายกันมากกับพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ทั้งในด้านสังฆมณฑลและวัฒนธรรมประเพณี เช่น มีวัดและพระภิกษุสามเณรจำนวนมากมาย พระสงฆ์ได้รับความเคารพอย่างสูงจากประชาชน ทำหน้าที่เป็นครูอาจารย์ มีประเพณีให้เด็กและคนหนุ่มอยู่วัด เป็นศิษย์วัดหรือบวชเป็นภิกษุสามเณร เป็นต้น ทั้งนี้เพราะส่วนมากเป็นคติที่เผยแพร่หรือนำเอาไปจากประเทศไทย เหมือนกับเป็นการตอบแทนการที่ไทยเคยได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมของขอมในกาลก่อน ดังตัวอย่างราชสำนักไทยปัจจุบันใช้ราชาศัพท์ภาษาเขมรและราชสำนักเขมรใช้ราชาศัพท์ภาษาไทย พระสงฆ์ก็มี ๒ นิกาย คือ มหานิกาย และธรรมยุติ เหมือนในประเทศไทย ทั้งนี้เกิดจากการที่สมด็จพระสุคันธาธิบดี (ปาน) ไปศึกษาปริยัติธรรมที่กรุงเทพมหานครในประเทศไทย ได้เล่าเรียนแบบแผนของคณะธรรมยุต แล้วนำระบอบธรรมยุติกนิกายไปตั้งในพระราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๗ และทรงเป็นประมุขสงฆ์องค์แรกแห่งคณะธรรมยุติกนิกายในเขมร

ประชากรเขมรใน พ.ศ. ๒๕๑๓ มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ ๗,๐๐๐,๐๐๐ คน เป็นพุทธศาสนิกชนร้อยละ ๙๐ มีวัดรวม ๓,๓๖๙ วัด (แบ่งเป็นวัดมหานิกาย ๓,๒๓๐ วัด วัดธรรมยุติ ๑๓๙ วัด) มีภิกษุสามเณรทั้งหมด ๖๕,๐๖๓ รูป (แบ่งเป็นมหานิกาย ๖๒,๖๗๘ รูป ธรรมยุต ๒,๓๘๕ รูป) การปกครองคณะสงฆ์ ๒ คณะนี้ แยกจากกันเด็ดขาด แต่ละคณะมีประมุขของตนเองไม่ขึ้นต่อกัน ถ้ามีกิจอันเนื่องด้วยประโยชน์สุขร่วมกัน ประมุขสองฝ่ายอาจทำประกาศเป็นแถลงการณ์ร่วมได้ ประมุขสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย เรียกว่า “สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดีสังฆนายก คณะมหานิกาย” ประมุขสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต เรียกว่า “สมเด็จพระสุธัมมาธิบดีสังฆนายก คณะธรรมยุตติกนิกาย”

ต่อมาเมื่อพระราชอาณาจักรกัมพูชาเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐเขมรแล้ว ประธานาธิบดีลอนนอลได้ประกาศถวายเกียรติยกย่องพระสังฆนายกทั้งสององค์นั้นขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๑๕

ในด้านศาสนศึกษา นับว่าได้รับแบบแผนและอิทธิพลไปจากประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่มาตั้งแต่เบื้องต้น กล่าวคือ สมเด็จพระมหาสังฆราชเที่ยง เมื่อครั้งยังเยาว์ได้ทรงรับการศึกษาพระพุทธศาสนาที่กรุงเทพฯ จนจบประโยคสูงสุด ต่อมาพระมหาวิมลธรรม (ทอง) ศิษย์ของสมเด็จพระสังฆราชเที่ยง ก็ได้เดินทางไปศึกษาที่กรุงเทพฯ เช่นเดียวกัน และได้กลับมาจัดตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกในกัมพูชา โรงเรียนบาลีแห่งแรกตั้งที่นครวัด เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๗ ย้ายมาตั้งที่กรุงพนมเปญ เรียกชื่อว่า “ศาลาบาลีชั้นสูง” ระยะหลังได้เจริญขึ้นมาและเปลี่ยนชื่อใหม่อีกว่า “พุทธิกวิทยาลัย” และมีมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาที่เจ้านโรดมสีหนุทรงตั้งขึ้น เรียกว่า “มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาพระสีหนุราช” เริ่มดำเนินการสอนในชั้นปริญญาตรี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ ปริญญาโท เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ และจะให้ปริญญาเอกต่อไปด้วย ใน พ.ศ. ๒๕๑๕ มีพระภิกษุเรียนปริญญาตรี ๑๕๐ รูป กำลังเรียนปริญญาโท ๕๔ รูป

ก่อน พ.ศ. ๒๕๐๔ มีพระภิกษุเขมรจำนวนมากเดินทางไปศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี และมหาวิทยาลัยสงฆ์ในประเทศไทย พำนักอยู่ตามวัดต่างๆ ในกรุงเทพฯ แต่หลังจากเขมรตัดสัมพันธไมตรีกับประเทศไทยใน พ.ศ. ๒๕๐๔ แล้ว ความนิยมนี้ก็จำต้องหยุดชะงักไป อนึ่ง ใน พ.ศ. ๒๕๑๑ กัมพูชาได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกสำเร็จเสร็จสิ้น และได้ประกอบพิธีสมโภชเป็นทางราชการในปีต่อมา พระไตรปิฎกชุดนี้มีทั้งภาษาบาลีและคำแปลภาษาเขมรรวมอยู่ด้วยกัน เริ่มจัดทำตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๒ มีจำนวนชุดละ ๑๐๐ เล่ม แบ่งเป็นพระวินัย ๑๓ เล่ม พระสูตร ๖๓ เล่ม พระอภิธรรม ๓๔ เล่ม

ท่ามกลางสังคมสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ได้มีสภาพการณ์ทางพระศาสนาที่น่าเป็นห่วงหลายอย่าง โดยเฉพาะในถิ่นที่เจริญขึ้นเป็นสังคมเมือง เด็กหนุ่มสาวรุ่นใหม่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตก แม้รัฐจะจัดให้มีการสอนพุทธศาสนาในทุกระดับ เด็กก็เติบโตขึ้นแบบตะวันตก มีความสัมพันธ์กับวัดและพระสงฆ์น้อยเหลือเกิน การบวชเรียนยังมีแต่ในหมู่เด็กชนบท ส่วนในเมืองเด็กไปบวชเรียนหาได้ยาก แม้แต่ที่บวชระยะสั้นก็มีน้อยคน ยิ่งกว่านั้น ในตัวเมืองพระสงฆ์เลิกบิณฑบาตแล้ว พระเณรที่เรียนหนังสือต้องอาศัยนิตยภัตเป็นอยู่ กิจการทางพระพุทธศาสนาโดยทั่วไปมุ่งในด้านสังคมมากกว่าคุณค่าทางจิตใจ การปฏิบัติในทางสมาธิภาวนาเสื่อมจากความสนใจ ศาสนศึกษาเน้นด้านเหตุผล เลิกละความเชื่องมงายต่างๆ ก็จริง แต่ผู้เรียนมักมุ่งได้ปริญญา ประกาศนียบัตร และความก้าวหน้าในสังคม มากกว่างานค้นคว้าวิจัยและการยกระดับภูมิธรรมทางจิตใจ ประชาชนทั่วไปเกิดความหวั่นไหว มีศรัทธาสั่นคลอน เริ่มไม่มั่นใจในประสิทธิภาพของพระพุทธศาสนา เพราะหลักที่ยึดถือกันมาว่า ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ต้องอยู่ด้วยกันไม่อาจแยกได้ ก็ได้เกิดการแยกขึ้นแล้ว ทฤษฎีพุทธสังคมนิยมที่ว่าจะนำไปสู่สันติสุขที่แท้จริง ยังไม่ทันเผล็ดผลออกมา ก็มีอันเหี่ยวเฉาไปเสียก่อน ทำให้คนต้องตั้งความหวังจากหลักการ ทฤษฎี หรือระบบอื่นต่อไป

นับแต่กัมพูชาเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐเขมรใน พ.ศ. ๒๕๑๓ แล้ว บ้านเมืองก็ประสบปัญหาปั่นป่วนวุ่นวายด้วยการศึกสงครามโดยตลอด ทั้งกับเวียดมินห์ เวียดกง และเขมรแดง จนถึงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๘ ก็พ่ายแพ้ถูกเขมรแดงเข้ายึดครองทั้งหมด กองทัพคอมมิวนิสต์พร้อมด้วยวัยรุ่นปฏิวัติได้ดำเนินการจัดระเบียบบ้านเมืองใหม่ด้วยวิธีการอันพลันแล่นและรุนแรง สังหารผู้ไม่เห็นพ้องและทหารฝ่ายรัฐบาลอย่างไม่ปรานีปราศรัย สั่งให้ประชาชนอพยพออกจากเมืองทั้งหมด และให้ไปตั้งถิ่นฐานในป่า หักร้างถางพงบุกเบิกที่ทำไร่ไถนาหากินกันใหม่ สาธารณรัฐเขมรเปลี่ยนเป็น “ประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย” ใช้ระบบการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสม์ ส่วนผลที่เกิดแก่พระพุทธศาสนาอันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงนี้ ปรากฏแก่สายตาของชาวพุทธนอกกัมพูชา เสมือนจุดอวสานที่ปิดคลุมด้วยม่านสีดำ หรืออย่างน้อยเหมือนการเลื่อนฉากสีดำมาบังไว้

พระเถระผู้นำชาวพุทธเขมรที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เล่าแก่ที่ประชุม ณ ศาลาว่าการเมืองบอสตัน เมื่อเดือน เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๔ ตอนหนึ่งว่า

“ดังที่ท่านก็ทราบอยู่แล้ว ประชาชนกัมพูชาเกินกว่า ๑ ใน ๓ ได้ถูกสังหารไปแล้ว ภายในเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านนี้ รวมทั้งพระภิกษุเกือบทั้งหมด ๘๐,๐๐๐ รูป”

ในเดือนมกราคม ๒๕๒๒ กองทัพของสภาปฏิวัติของประชาชนแห่งกัมพูชา ซึ่งเวียดนามหนุนหลังได้เข้ายึดครองกรุงพนมเปญ และเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น “สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา” โดยมี เฮงสัมริน เป็นประธานาธิบดี กองทัพของรัฐบาลประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย ได้ถอยร่นเข้าไปอยู่ในป่า และทำสงครามเพื่อชิงอำนาจคืน การต่อสู้ยังคงดำเนินอยู่ หาความสุขสงบมิได้จนบัดนี้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป๒. พระพุทธศาสนาในเกาหลี >>

หน้า: 1 2 3 4 5

No Comments

Comments are closed.