๑๐. พระพุทธศาสนาในเวียดนาม

1 มิถุนายน 2515
เป็นตอนที่ 10 จาก 15 ตอนของ

๑๐.
พระพุทธศาสนาในเวียดนาม

 

เพื่อความสะดวกในการศึกษาเรื่องพระพุทธศาสนาในเวียดนาม ขอแบ่งดินแดนของประเทศเวียดนามปัจจุบันออกเป็น ๓ อาณาเขต (ตามแบบที่ฝรั่งเศสเคยแบ่งในสมัยที่เวียดนามเป็นอาณานิคม) คือ ตังเกี๋ย (Tongking ได้แก่ แผ่นดินกว้างตอนบน บริเวณลุ่มแม่น้ำแดง) อานัม (Annam ได้แก่ แผ่นดินแคบยาว ทอดตามฝั่งทะเลที่อยู่ตอนกลางระหว่างตังเกี๋ย กับ โคชินจีน) และ โคชินจีน (Cochin China ได้แก่ แผ่นดินส่วนล่างทั้งหมด บริเวณลุ่มแม่น้ำโขง) อาณาเขตทั้งสามนี้ เทียบได้กับอาณาจักรต่างๆ ที่มีอยู่ในตอนเริ่มต้นประวัติศาสตร์ คือ ตังเกี๋ย และภาคเหนือของอานัม เป็นอาณาจักรอานัม ซึ่งได้เจริญต่อมาเป็นประเทศเวียดนาม

ทุกวันนี้ อานัมภาคใต้ เป็นอาณาจักร จัมปา ส่วนโคชินจีนเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร ฟูนัน ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ในประเทศกัมพูชาปัจจุบัน (ดู กัมพูชา) อาณาจักรอานัมมีอารยธรรมที่สืบสาวมาจากจีน ส่วนจัมปากับฟูนันมีอารยธรรมที่สืบสายมาจากอินเดีย

อาณาจักรของพวกอานัมนั้น กล่าวกันว่ามีอายุเก่าแก่เกือบ ๓,๐๐๐ ปีแล้ว แต่ไม่มีเรื่องราวเป็นหลักฐานชัดเจน จนถึงราว พ.ศ. ๓๓๗ จึงได้จัดตั้งกันขึ้นเป็นอาณาจักร นามเวียด (แปลว่า อาณาจักรฝ่ายทักษิณ) แต่ต่อมาใน พ.ศ. ๔๓๓ อาณาจักรนามเวียดได้ตกเป็นเมืองขึ้นของจีน และได้ถูกจีนครอบครองสืบมาช้านานกว่า ๑,๐๐๐ ปี ระหว่างระยะเวลานี้เรียกชื่อตามอย่างที่จีนเรียกว่า อนัม หรือ อานัม (แปลว่า สันติทักษิณ หรือปักษ์ใต้ที่สงบ) จากการที่ได้ตกอยู่ในอำนาจของจีนเป็นเวลานาน ศาสนาและวัฒนธรรมของชนชาติอานัม จึงเป็นอย่างจีนแทบทั้งสิ้น ครั้นถึง พ.ศ. ๑๔๘๒ ชาวอานัมกู้เอกราช ประกาศเป็นอิสระจากจีนได้สำเร็จ ต่อจากนั้นอาณาจักรอานัมหรือเวียดนามก็แผ่อำนาจขยายดินแดนลงมาทางใต้โดยลำดับ กลายเป็นคู่สงครามกับอาณาจักรจัมปา และเข้าครอบครองดินแดนของจัมปาจนหมดในที่สุด ดังเรื่องราวโดยย่อดังนี้

ก. อาณาจักรจัมปา

จัมปา คือ อาณาจักรของพวก จาม ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นชนชาติอินโดนีเซียพวกหนึ่ง เป็นชาวทะเล ชอบเดินเรือค้าขาย ทำการประมงและเป็นโจรสลัด พูดภาษาจาม ซึ่งเขียนด้วยอักษรอินเดีย แต่ภาษาวรรณคดีใช้สันสกฤต มีวัฒนธรรมคล้ายกับฟูนัน ซึ่งได้รับอิทธิพลจากอินเดียเช่นเดียวกัน เขตแดนของอาณาจักรจัมปานั้นกำหนดคร่าวๆ ตั้งแต่เมืองดานังหรือตูเรน (Da Nang หรือ Tourane อยู่ใต้เมืองเว้ลงไปเล็กน้อย) ลงไปถึงอ่าวคัมรันห์ (Cam Ranh) และลึกเข้าไปในแผ่นดินถึงเมืองสตรึงเตรงในประเทศกัมพูชาปัจจุบัน อย่างไรก็ดี อาณาเขตนี้ไม่ตายตัว เช่น เมื่อตอนสิ้นราชวงศ์ถังใน พ.ศ. ๑๔๕๐ มีเขตแดนทางเหนือถึง Porte d’Annam หรือราวเส้นขนานที่ ๑๘ แต่ในสมัยหลังค่อยๆ หดลงมาจากทางเหนือตามลำดับจนหมดสิ้นแผ่นดินของตน อาณาจักรจัมปาประกอบด้วยแคว้นสำคัญ ๔ แคว้นคือ อมราวดี (ตรงกับ เมืองกวางนาม=Quang Nam ปัจจุบัน) วิชัย (ตรงกับเมืองบินห์ดินห์=Binh Dinh) เกาฐระ (ตรงกับเมืองนาตรัง=Nha Trang) และ ปัณฑุรังคะ (ตรงกับฟานรัง=Phan Rang) เกาฐระและปัณฑุรังคะเคยเป็นดินแดนของฟูนันมาก่อน และกลายมาเป็นของจัมปาเมื่อครั้งอาณาจักรฟูนันเสียแก่เจนละ (กัมพูชา) ในราว พ.ศ. ๑๑๐๐ (ดินแดนฟูนันที่เหลือจากนี้รวมทั้งโคชินจีนตอนล่างลงไป จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรกัมพูชาสมัยโบราณ)

จัมปามีเรื่องราวปรากฏครั้งแรกในจดหมายเหตุของจีนว่า ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๗๓๕ ในระยะที่ราชวงศ์ฮั่นกำลังอ่อนแอ มีชื่อเรียกในภาษาจีนว่าอาณาจักรหลินอี้ (Lin-Yi) ตั้งเมืองหลวงอยู่ในบริเวณเมืองกวางนาม กษัตริย์จามยิ่งใหญ่พระองค์แรกที่ปรากฏนามคือ พระเจ้าภัทรวรมัน ซึ่งครองราชย์ในราว พ.ศ. ๙๒๐ ได้ทรงสร้างมีซอน (Mison) นครศักดิ์สิทธิ์ (อยู่ใกล้กวางนาม) และประดิษฐานเทวาลัยแห่งแรกพร้อมด้วยศิวลึงค์อุทิศแด่พระศิวภัทเรศวร เป็นหลักฐานแสดงอย่างชัดเจนว่า ศาสนาฮินดูนิกายไศวะเป็นศาสนาประจำชาติหรืออย่างน้อยก็เป็นศาสนาทางราชการของจัมปา

อาณาจักรจัมปามีกรณีพิพาทเรื่องดินแดนกับจีนอยู่เนืองๆ และมักยกทัพไปตีเมืองชายแดนของจีน (หมายถึงอานัมซึ่งเวลานั้นอยู่ในครอบครองของจีน) บ่อยๆ โดยเฉพาะที่ตังเกี๋ย เป็นเหตุให้จีนยกทัพมาตีเมืองหลวงซึ่งอยู่ในบริเวณเมืองเว้ปัจจุบันเป็นคราวใหญ่ถึง ๒ ครั้ง ใน พ.ศ. ๙๘๙ และ ๑๐๔๘ โดยเฉพาะครั้งแรกได้ทำลายเมืองพินาศย่อยยับ และขนทองคำบริสุทธิ์ไปประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ปอนด์ และจดหมายเหตุจีนยังได้บันทึกไว้ด้วยว่า พวกจีนได้ขนเอาคัมภีร์พระพุทธศาสนาไปจากเมืองหลวงนั้นด้วย จำนวน ๑,๓๕๐ เล่ม ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงว่าพระพุทธศาสนาคงจะเจริญอยู่ในจัมปาแล้วในเวลานั้น นอกจากนี้ ยังมีพระพุทธรูปตระกูลศิลปะอมราวดี ซึ่งทำให้สันนิษฐานว่าพระพุทธศาสนาคงจะได้มาประดิษฐานในจัมปาก่อนพุทธศตวรรษที่ ๘

เมื่อราชวงศ์ถังขึ้นปกครองแผ่นดินจีนใน พ.ศ. ๑๑๖๑ จัมปาก็หันมาใช้นโยบายผูกมิตรแสดงความยอมรับอำนาจของจีน หยุดยกทัพไปโจมตีชายแดนจีน ในเวลาต่อจากนั้น จึงมีเหตุวุ่นวายทางการเมืองและการสงครามน้อยครั้ง ทำให้เกิดช่วงระยะแห่งความสงบและการสร้างสรรค์ มีผลงานทางด้านศิลปะและสถาปัตยกรรมเกิดขึ้นมากที่มีซอนและที่ตราเกียว (Tra-kieu) ซึ่งส่วนมากสร้างในรัชกาลพระเจ้าประกาศธรรมวิกรันตวรมัน (พ.ศ. ๑๑๙๖ – ราว ๑๒๒๘) หลวงจีนอี้จิงซึ่งเดินทางสืบศาสนาไปกลับระหว่างจีนและอินเดีย ผ่านภูมิภาคนี้ในระหว่าง พ.ศ. ๑๒๑๔ – ๑๒๓๘ ได้เขียนบันทึกไว้ว่า หลินอี้เป็นประเทศหนึ่งที่นับถือพระพุทธศาสนา ตรงข้ามกับฟูนันซึ่งทำลายพุทธศาสนาลงเกือบหมดสิ้น (คงหมายถึงเฉพาะในรัชกาลหนึ่งหรือสมัยหนึ่ง ซึ่งตรงกับหรือใกล้ๆ กับเวลาที่ท่านอี้จิงเดินทางไป) ชาวพุทธจัมปาทั่วๆ ไปเป็นพวกที่นับถือนิกายอารยสัมมิตียะ แต่มีพวกที่นับถือนิกายสรวาสติวาทะอยู่บ้างเล็กน้อย อนึ่ง ในรัชกาลพระเจ้าวิกรันตวรมันนี้ จัมปาได้แผ่ขยายดินแดนลงไปทางทิศใต้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

ระหว่าง พ.ศ. ๑๓๐๑ ถึง ๑๔๐๒ ราชวงศ์ใหม่ของจัมปาได้ย้ายศูนย์กลางของอาณาจักรออกจากอมราวดี (กวางนาม) ลงไปตั้งที่ปัณฑุรังคะ (ฟันรัง) และเกาฐระ (นาตรัง) ในเวลาเดียวกัน จีนก็เลิกเรียกจัมปาว่าหลินอี้ แต่เปลี่ยนเรียกชื่อใหม่ว่า ฮวนหวั่ง (Huan-wang) ราชวงศ์ใหม่นี้แสดงความนับถือลัทธิไศวะหนักแน่นยิ่งขึ้น และถือคติบูชาศิวลึงค์เด่นชัดยิ่งกว่าอาณาจักรเขมรเสียอีก มีการสร้าง มุขลึงค์ (แท่งหินศิวลึงค์ มีโลหะหุ้มแต่งเป็นรูปหน้าคน หน้าเดียวบ้างหลายหน้าบ้าง) ขึ้นเป็นอันมาก เป็นการแสดงให้เห็นชัดยิ่งขึ้นอีกว่าพระราชาคือพระศิวะ อย่างไรก็ดี เมื่อย้ายเมืองหลวงมาได้ไม่นาน ถึง พ.ศ. ๑๓๑๗ จัมปาก็ถูกชะวารุกรานอย่างหนัก ทำให้วิหารโพนครที่นาตรังถูกเผาพินาศลง และเทวรูปไม้ถูกขนเอาไป วิหารโพนครนี้เป็นที่สถิตของเจ้าแม่ภควดี ซึ่งไม่ปรากฏชัดว่าเริ่มแรกมีขึ้นเมื่อใด บางท่านสันนิษฐานว่าอาจเป็นเจ้าแม่ที่นับถือกันเป็นพื้นเมืองมาก่อนแต่สมัยโบราณ เมื่อพวกจามนับถือฮินดูแล้วก็เลยตั้งชื่อให้เป็นภาษาสันสกฤต เมื่อวิหารพินาศแล้ว พระเจ้าสัตยวรมันก็ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในเวลาใกล้กันนั้นเอง แต่ต่อมาอีกไม่ถึง ๒ ศตวรรษ คือ ใน พ.ศ. ๑๔๘๘ พระเจ้าราเชนทรวรมันที่ ๒ แห่งอาณาจักรเขมร ก็ได้มาโจมตีจัมปาและยึดเอาเทวรูปทองคำของเจ้าแม่ภควดีนำไปเขมรด้วย ครั้นถึง พ.ศ. ๑๕๙๓ พระเจ้าปรเมศวรได้ทรงสร้างเทวรูปขึ้นใหม่อีกองค์หนึ่ง รวมพระศิวะกับพระภควดีเข้าด้วยกัน ถวายแก่วิหารโพนครนี้ เรียกชื่อว่า พระภควตีศวร ทำให้เห็นว่า เจ้าแม่ภควดีคงจะได้รับความนับถืออย่างเป็นพระอุมา

ประมาณ พ.ศ. ๑๔๑๘ พระเจ้าอินทรวรมันที่ ๒ ทรงย้ายศูนย์กลางของอาณาจักรขึ้นไปภาคเหนืออีก โดยทรงสร้างเมืองหลวงใหม่ชื่อ อินทรปุระ ในมณฑลกวางนาม (อมราวดี) และตั้งราชวงศ์ใหม่ พร้อมกันนั้น จีนก็เปลี่ยนเรียกชื่อจัมปาใหม่อีกเป็น จางเจิ้ง (Chang-cheng ตรงกับสันสกฤตว่า จัมปาปุระ) พระเจ้าอินทรวรมันที่ ๒ ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ถึงกับได้ทรงสร้างวัดใหญ่แห่งหนึ่งที่ดองเดือง (Dong-duong) อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของมีซอน อุทิศแก่พระลักษมินทรโลเกศวร (คือพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์นั่นเอง ส่วนลักษมินทรเป็นพระนามของพระเจ้าอินทรวรมันที่ ๒ ก่อนขึ้นครองราชสมบัติ) ซึ่งถือกันว่าเป็นหลักฐานทางศิลปโบราณคดีแห่งแรกที่แสดงว่า พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเจริญอยู่ในจัมปา (พุทธศาสนาที่แพร่หลายในจัมปาก่อนหน้านี้ ปราชญ์เห็นว่าคงเป็นแบบเถรวาท) กษัตริย์องค์ต่อๆ มาในราชวงศ์อินทรวรมัน ล้วนทรงประกอบด้วยศรัทธาและทรงอุปถัมภ์กิจการทางศาสนาอย่างจริงจังยิ่งกว่ากษัตริย์ในสมัยก่อนๆ ทรงสร้างศาสนสถานใหม่ๆ และเอาพระทัยใส่ป้องกันศาสนสถานต่างๆ จากพวกโจรสลัด หากศาสนสถานถูกทำลายก็ทรงสร้างขึ้นใหม่ และชอบสร้างศิลาจารึกประกาศการทรงบริจาคสิ่งต่างๆ พระราชทานแก่วัดและเทวาลัยทั้งหลาย นอกจากนี้ยังได้รักษาสัมพันธไมตรีกับชะวาเป็นอย่างดี เป็นเหตุให้ศิลปะแบบชะวามีอิทธิพลต่อศิลปะของจัมปาในสมัยต่อๆ มาด้วย

ลุ พ.ศ. ๑๔๕๐ ราชวงศ์ถังในประเทศจีนสิ้นอำนาจลง พวกอานัมได้โอกาสกอบกู้เอกราชประกาศอิสรภาพสำเร็จ ตั้งเป็นอาณาจักรเรียกว่า ไดโคเวียด (ได้แก่ อานัมและตังเกี๋ย) สำเร็จใน พ.ศ. ๑๔๘๒ และได้กลายเป็นคู่ศึกประจำซึ่งนำจัมปาเข้าสู่ยุคแห่งความเสื่อมโทรมตลอดไปจนถึงสูญสิ้นในที่สุด นับแต่นี้ไปจัมปาต้องสาละวนอยู่กับการป้องกันและกอบกู้ตนเอง ดินแดนก็หดสั้นเข้าๆ ขาดพลังและความมั่งคั่ง ไม่สามารถสร้างศิลปวัตถุสถานที่ใหญ่โตงดงามเหมือนอย่างแต่ก่อนได้อีก ภาวะเช่นนี้เริ่มต้นใน พ.ศ. ๑๕๒๒ โดยมีเหตุอย่างหนึ่งทำให้จัมปาวิวาทกับพวกอานัม พวกอานัมได้โจมตีทำลายเมืองอินทรปุระพร้อมทั้งสังหารชีวิตกษัตริย์จามลง จัมปาต้องสร้างเมืองหลวงใหม่ที่เมืองวิชัย (ตรงกับ Bing Dinh ปัจจุบัน แต่บางตำราว่าตรงกับเมือง Qui Nhon ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน) แม้จะย้ายกลับไปอยู่ที่เมืองอินทรปุระได้อีกครั้งหนึ่ง ก็เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ ครั้นถึง พ.ศ. ๑๕๔๓ ก็ต้องทิ้งเมืองนั้นมาอยู่ที่เมืองวิชัยอีก ต่อจากนี้จัมปาต้องทำสงครามขับเคี่ยวกับอานัมบ้าง กับเขมรบ้าง อยู่เรื่อยๆ แทบไม่ว่างเว้น บางคราวตกเป็นเมืองขึ้นของเขมร บางคราวตกเป็นเมืองขึ้นและเสียดินแดนให้แก่อานัม อาณาจักรก็แคบเข้าๆ โดยลำดับ

มีช่วงเวลาสั้นๆ เพียงครั้งเดียวที่จัมปาได้เรืองอำนาจทางการเมืองขึ้นมาอย่างจริงจัง คือ ในสมัย พระเจ้าเชบองงา ซึ่งขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๑๙๐๓ นักประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่สุดยอดของจัมปา และในเวลาเดียวกันก็เป็นรังสีสุดท้ายแห่งอาทิตย์อัสดง พระเจ้าเชบองงาเป็นกษัตริย์ที่เก่งกล้าเป็นพิเศษในการสงคราม ได้ตีเมืองต่างๆ ของจัมปากลับคืนมาได้ทั้งหมด และรุกเข้าไปในดินแดนของอานัม จนเข้าโจมตีถึงเมืองฮานอย ทำให้อานัมกลับเป็นฝ่ายหวาดผวาอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งพระเจ้าเชบองงาสวรรคตในการยุทธ์ทางทะเลใน พ.ศ. ๑๙๓๓ แต่พอสิ้นรัชกาลของพระองค์แล้วไม่นาน ดินแดนที่ได้มาก็ต้องสละคืนไปจนหมด

วาระสุดท้ายของจัมปามาถึงใน พ.ศ. ๒๐๑๔ ขณะที่จัมปาอ่อนเปลี้ยหลังจากเกิดเหตุวุ่นวายเป็นสงครามกลางเมืองในระยะเปลี่ยนแผ่นดินและถูกอานัมโจมตีครั้งหนึ่งแล้ว พวกอานัมก็โจมตีครั้งใหญ่อีก เข้าบุกยึดเมืองหลวง คนถูกสังหารไม่ต่ำกว่า ๖๐,๐๐๐ คน พวกอานัมกวาดต้อนเจ้านายในราชตระกูลและประชาชนไปเป็นเชลย ๓๐,๐๐๐ คน แล้วผนวกดินแดนทั้งหมดตลอดลงไปถึง Cap Varella เข้าในอาณาจักรอานัม ส่วนใต้ลงไปจากนั้น ปล่อยให้พวกจามครอบครอง มีอาณาจักรน้อยๆ ไปพลางก่อน

จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๒๖๓ กษัตริย์จามองค์สุดท้ายทนพวกอานัมบีบคั้นไม่ไหว ก็พาราษฎรส่วนมากของตนอพยพหนีเข้าไปอาศัยอยู่ในดินแดนเขมร อาณาจักรจัมปาก็สิ้นสุดลงโดยสิ้นเชิง และต่อมาวงศ์กษัตริย์จามก็สิ้นสุดลงโดยสิ้นเชิงเช่นกัน ในเมื่อเชื้อพระวงศ์องค์สุดท้ายของกษัตริย์จามสิ้นพระชนม์ลงเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ นี้ เมื่ออาณาจักรล่มแล้ว ชาวจามส่วนใหญ่ก็ถูกกลืนทั้งในทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันซึ่งอยู่ในท้องถิ่นที่เคยเป็นดินแดนของจามในอดีต คือ ชาวเวียดนามที่นับถือพุทธศาสนามหายานที่สัมพันธ์สืบเนื่องกับจีน และมีวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากจีน ส่วนชนชาติจามเองกลายมาเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม และเป็นชนส่วนน้อยเหลืออยู่ในปัจจุบัน ในเวียดนามภาคกลางและภาคใต้เพียงประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน (บางตำราว่า ๓๐,๐๐๐ – ๓๕,๐๐๐ คน) อาศัยอยู่ตามแถบภูเขาและหมู่บ้านห่างไกล ประกอบอาชีพทำไร่ทำนาและค้าขายของเล็กๆ น้อยๆ เป็นคนกลางระหว่างชาวเขากับชาวเวียดนาม ยังมีพูดภาษาจามอยู่บ้างเพียงบางส่วน กับอีกจำนวนหนึ่งประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ คน อาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชา ยังรักษาธรรมเนียมดั้งเดิมที่ถือสายตระกูลข้างมารดาเป็นหลัก แต่พูดภาษาเขมร ทำอาชีพจักสานและค้าขาย นับถือศาสนาอิสลามเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี แม้ว่าอาณาจักรจัมปาจะสูญสลายไปแล้ว แต่วัฒนธรรมจามก็ได้มีส่วนอย่างสำคัญในการก่อร่างสร้างประเทศเวียดนาม โดยเฉพาะอิทธิพลด้านศิลปะ ซึ่งแสดงออกชัดเจนในทางดนตรีของชาวเวียดนามปัจจุบัน ปราชญ์กล่าวว่า วัฒนธรรมจามนั้นเรายังรู้เรื่องกันน้อยนัก และยังให้ความสำคัญกันน้อยเกินไปสถาปัตยกรรมของจามมีเหลืออยู่จำนวนไม่มากมายนัก และไม่ใหญ่โตมโหฬาร ไม่วิจิตรพิสดารเหมือนอย่างเขมร สาเหตุหนึ่งที่เหลืออยู่ไม่มาก อาจเป็นเพราะเป็นสิ่งที่ก่อสร้างด้วยไม้ แม้ต่อมาจะทำแข็งแรงขึ้น ก็สร้างด้วยอิฐเป็นหลัก น้อยนักที่จะสร้างด้วยหิน ปราชญ์ยังเห็นความสำคัญของวัฒนธรรมจัมปา ถือว่าเป็นเรื่องที่ควรศึกษาอีกเป็นอันมาก และถือว่าเป็นวัฒนธรรมแบบชาวทะเลแห่งเดียวบนผืนแผ่นดินใหญ่ของทวีปอาเซีย

ข. เวียดนาม

๑) ยุคที่หนึ่ง (กู้เอกราชและรวมแผ่นดิน ครั้งที่ ๑)

เวียดนาม ประกอบด้วยคำว่า “เวียด” แปลว่า “ประชาชน” หรือชนชาติ และ “นาม” แปลว่า “ใต้” รวมกันจึงแปลว่า “ชนชาติฝ่ายใต้” หรือเมืองใต้ หรืออาณาจักรฝ่ายใต้ ชนชาตินี้กำเนิดมาอย่างไร นักประวัติศาสตร์ยังหายุติไม่ บ้างว่าเกิดจากคนพื้นเมืองในตังเกี๋ย ผสมกับชนชาติมองโกลอยด์พวกหนึ่งที่อพยพเข้ามาก่อนประวัติศาสตร์ บ้างว่าสืบเชื้อสายจากคนจีนที่อพยพเข้ามาผสมกับคนเผ่าไทยที่อาศัยอยู่เดิม บ้างก็แจงรายละเอียดออกไปว่า เป็นชาติพันธุ์ผสมก่อนประวัติศาสตร์ปนกันหลายชั้น ระหว่างพวกออสโตรอินโดนีเซียนแห่งคาบสมุทรอินโดจีน กับพวกมองโกลอยด์ที่อพยพลงมาจากทางเหนือ คือ ชนเผ่าไทยหรือเวียดแห่งจีนภาคใต้ ซึ่งต่อมาได้ถูกชนชาติจีนกลืนอีกต่อหนึ่ง หลักฐานทางโบราณคดียุคแรกที่สุดแสดงให้เห็นว่า ชนพวกนี้มีวัฒนธรรมแบบมงโกลผสมอินโดนีเซีย โดยได้รับอิทธิพลจากจีนอย่างลึกซึ้ง ภาษาเป็นเครือเดียวกับภาษาไทยจึงมีหลายระดับเสียง (ในภาษาไทยแสดงด้วยวรรณยุกต์) แต่มีรากจากภาษามอญเขมร คนเวียดนามแต่เดิมมานับถือผีสาง เทพารักษ์ ศาลเจ้า ศาลพระภูมิ เคารพบูชาวีรบุรุษของชาติ

ครั้นอาณาจักรเวียดนามถูกรวมเข้าเป็นดินแดนของจีนใน พ.ศ. ๔๓๓ แล้ว จีนได้ใช้นโยบายผนวกกลืน คือพยายามรวมเวียดนามเข้าในจีนทางเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม และการเมือง โดยจัดการปกครองเวียดนามอย่างมณฑลหนึ่งของจีน เร่งให้ชาวจีนอพยพเข้ามา จัดการศึกษาและธรรมเนียมการสอบแข่งขันเข้ารับราชการแบบจีน ใช้ภาษาจีนเป็นภาษาราชการ ทำให้ภาษาจีนกลายเป็นภาษาของชนชั้นสูงและภาษาวรรณคดีของเวียดนาม เวียดนามใช้หนังสือจีน มีระบบการปกครอง ศาสนาปรัชญา วัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่ละม้ายคล้ายคลึงหรือสืบเนื่องมาจากจีน ศาสนาที่เวียดนามได้รับสืบทอดจากจีนคือ พุทธศาสนา เต๋า และ การบูชาบรรพชน (ลัทธิขงจื้อก็มีอิทธิพลมากเช่นเดียวกัน หลักฐานบางแห่งจึงกล่าวว่า ศาสนาทั้งสามที่สืบทอดจากจีนคือ พุทธ ขงจื้อ และเต๋า) ซึ่งได้เจริญคู่เคียงกันมา และค่อยๆ กลมกลืนกันเข้าจนเป็นลัทธิผสมอันหนึ่งอันเดียว

อย่างไรก็ตาม บรรดาศาสนาเหล่านี้ พระพุทธศาสนาได้มีอิทธิพลมากที่สุด เพราะปรับตัวเข้ากับลักษณะชนชาติเวียดนามได้ดีกว่า และมีวัดมีพระสงฆ์ที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนเป็นศูนย์กลางของชุมชน พระพุทธศาสนาแม้จะเข้ามาจากจีน แต่เมื่อชาวเวียดนามรับนับถือแล้วกลับเป็นส่วนที่ช่วยสร้างเสริมความสำนึกในชาติของตน จึงปรากฏว่าวัดในชนบทได้กลายเป็นศูนย์กลางการลุกฮือต่อต้านรัฐบาลจีนอยู่บ่อยๆ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจีนจึงพยายามจัดวางระบบควบคุมวัดและพุทธศาสนสถานอย่างเข้มงวด โดยแต่งตั้งให้พระสงฆ์ที่ปกครองมีฐานันดรศักดิ์ตามอย่างระบบการปกครองของจีน และถวายความอุปถัมภ์บำรุงพร้อมทั้งอภิสิทธิ์ต่างๆ วางข้อกำหนดให้พระสงฆ์สอบไล่ เสียภาษี เสียค่าธรรมเนียมต่างๆ แก่รัฐ เป็นต้น แต่กระนั้น การควบคุมก็ยังได้ผลแต่เพียงผิวเผิน อิทธิพลของฐานันดรศักดิ์ก็หาได้แข็งแรงไม่ สภาพเช่นนี้มิได้มีเฉพาะในยุคที่จีนปกครองเท่านั้น แม้เมื่อตกเป็นดินแดนในอารักขาของฝรั่งเศสในสมัยหลัง ก็มีความเป็นไปคล้ายคลึงกัน

การที่จีนต้องการรวมเวียดนามเข้าเป็นดินแดนของตนนั้น ย่อมมีเหตุผลทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจผสมกัน คือ ในทางการเมือง เพื่อป้องกันมิให้มีอาณาจักรอันเจริญขึ้นมามีกำลังเข้มแข็งแข่งอำนาจเป็นอันตรายแก่ชายแดนภาคใต้ของตน และบางคราวต้องการให้มีประเทศกันชนระหว่างตนกับพวกที่จีนเรียกว่าฮวนนั้ง (ชาติป่าเถื่อน) ในอาเซียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในทางเศรษฐกิจ จีนต้องการได้ผลประโยชน์ทางการค้า เพราะเวียดนามเป็นด่านหน้าในเส้นทางพาณิชย์ระหว่างประเทศของตนกับประเทศอินเดียและประเทศอื่นๆ ตลอดไปถึงแถบเมดิเตอเรเนียน และอาศัยเส้นทางพาณิชย์นี้เอง นักสืบและนักเผยแพร่พระศาสนาจำนวนมาก จึงได้เดินทางไปมาระหว่างประเทศจีนและอินเดีย โดยแวะพักระหว่างทางในเวียดนาม เป็นระยะเวลาสั้นบ้างยาวบ้าง ทำให้เวียดนามได้มีโอกาสต้อนรับทั้งพระภิกษุอินเดียที่เดินทางไปจีน และพระภิกษุจีนที่เดินทางไปอินเดีย ได้รับฟังทั้งคำสอนฝ่ายมหายานและคำสอนฝ่ายเถรวาท

พระพุทธศาสนาเข้าสู่เวียดนามครั้งแรกเมื่อใด ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่ถือเอาตามตำนานว่า เริ่มต้นประมาณ พ.ศ. ๗๓๒ โดยสันนิษฐานว่า ท่านเมียวโป (Meou-Po) ผู้เคยนับถือลัทธิเต๋าแล้วเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา ได้เดินทางจากประเทศจีนเข้ามาเผยแผ่เป็นครั้งแรก อย่างไรก็ดี เข้าใจว่าก่อนหน้านั้นได้มีพระสงฆ์อื่นหลายรูปเดินทางผ่านเข้ามาและกรุยทางไว้ให้แล้ว เช่น พระมหาชีวก พระกัลยาณรุจิ และ พระกังเซงโฮย (เข้าใจว่าเป็นชาวอินเดียทั้งสามท่าน) เป็นต้น ซึ่งเดินทางเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาใน พ.ศต. ๘ เช่นเดียวกับท่านเมียวโป พุทธศาสนาในเวียดนามระยะแรกนี้ มิได้มีความเจริญก้าวหน้าหรืองานเผยแพร่ที่เป็นการสำคัญแต่อย่างใด เพราะเวลานั้น จักรพรรดิจีนสนพระทัยแต่ในการประกาศคำสอนของขงจื้อ และไม่พอพระทัยที่จะเห็นใครนับถือพระพุทธศาสนา

จนกระทั่งต่อมาในช่วง พ.ศ. ๑๐๘๗ ถึง ๑๑๔๕ ได้มีขบวนการกู้อิสรภาพของชาวเวียดนามต่อสู้เพื่อเอกราชหลายครั้งหลายคราว ล้มเหลวบ้าง สำเร็จและตั้งตนเป็นอิสระได้ในระยะสั้นๆ บ้าง แม้ว่าในที่สุดจะต้องกลับตกอยู่ในอำนาจของจีนตามเดิม แต่ก็เป็นเครื่องปลุกจิตสำนึกในชาตินิยมของชาวเวียดนามให้แข็งกล้าขึ้น และในระยะนี้เองพระพุทธศาสนาก็ได้โอกาสที่จะเริ่มตั้งตัวขึ้นอย่างจริงจัง ท่านที่เป็นผู้นำในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาครั้งนี้ เป็นพระภิกษุชาวอินเดีย ชื่อ วินีตรุจิ ท่านศึกษาพระพุทธศาสนาในอินเดียภาคตะวันตกแล้วเดินทางไปยังประเทศจีน พอดีเป็นสมัยที่บ้านเมืองจีนกำลังข่มเหงพระพุทธศาสนา ท่านจึงเดินทางลงมาสู่ภาคใต้ของจีน ได้ศึกษาพุทธศาสนานิกายฉาน (คือ นิกายธยานะ ที่ญี่ปุ่นเรียกว่า เซน) ที่นั่น แล้วเดินทางเข้ามาเผยแพร่คำสอนของ นิกายเธียน (Thien คำเวียดนาม ได้แก่ ธยานะ หรือ ฉาน หรือ เซน นั่นเอง) ในตังเกี๋ย เมื่อ พ.ศ. ๑๑๒๓ และได้รับความนับถือว่าเป็นสังฆราชแห่งนิกายเธียนที่หนึ่ง เมื่อท่านถึงมรณภาพแล้ว ศิษย์ชาวเวียดนามชื่อ ฝับเหียน ได้ดำเนินงานเผยแพร่พระพุทธธรรมสืบต่อมา จนได้รับความนับถือกว้างขวางมากขึ้นโดยลำดับ พอนับได้ว่าตั้งฐานมั่นคง เหตุการณ์ครั้งนี้เรียกกันว่าเป็นการประดิษฐาน นิกายเธียน หรือ ธยานะ ครั้งที่หนึ่ง1

ลุ พ.ศ.๑๑๖๑ ราชวงศ์ถังขึ้นครองแผ่นดินจีน ล่วงจากนั้น ๔ ปี ก็จัดระเบียบการปกครองดินแดนที่เคยเป็นอาณาจักรเวียดนามเดิมนั้นเสียใหม่ให้เข้มแข็งมั่นคงมีประสิทธิภาพ และเรียกชื่อใหม่ว่า “งันนัน” แปลว่า เมืองใต้ที่สงบ เป็นที่มาของคำว่า อานัม ซึ่งชาวตะวันตกใช้เรียกประเทศเวียดนามเรื่อยมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๘ ราชวงศ์ถังจัดการปกครองเวียดนามได้เรียบร้อยดี ทำให้เกิดสันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองเป็นเวลายาวนานจนสิ้นสมัยของราชวงศ์นั้นใน พ.ศ. ๑๔๕๐ ตลอดเวลาเกือบ ๓ ศตวรรษนั้น มีชาวเวียดนามก่อการวุ่นวายเพื่อกู้เอกราชเพียง ๒-๓ ครั้ง และประสบความสำเร็จเพียงครั้งเดียวใน พ.ศ. ๑๓๓๔ ซึ่งตั้งตัวเป็นอิสระอยู่ได้ไม่กี่ปี ก็กลับตกอยู่ในอำนาจของจีนตามเดิม

ราชวงศ์ถังเป็นพุทธศาสนูปถัมภก พระพุทธศาสนานิกายเธียนในเวียดนามจึงได้รับการอุปถัมภ์ส่งเสริมเป็นอย่างดี และได้มีการประดิษฐาน นิกายเธียน หรือ ธยานะ ครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๑๓๖๓ โดยพระภิกษุว่อง่อนถ่อง (Vo-ngon-Thong)2 แต่นิกายเธียนที่ตั้งขึ้นคราวนี้ เป็นอีกสาขาหนึ่งต่างหากจากที่ท่านวินีตรุจิได้ประกาศไว้ในกาลก่อน ประเทศเวียดนามในสมัยนั้นมีสถูปเจดีย์ ๒๐ องค์ มีวัดมากหลายแห่ง และมีพระภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป พระเถรานุเถระมากหลายทรงเกียรติคุณว่าเป็นพหูสูต และทรงวินัยเคร่งครัด พระพุทธศาสนาเมื่อได้เจริญขึ้นเช่นนี้แล้ว ก็ได้เป็นพลังสร้างสรรค์บันดาลให้วัฒนธรรมของเวียดนามพัฒนาต่อไปจนมีรูปลักษณะเป็นของตน ก่อให้เกิดความสำนึกในทางชาตินิยมมากยิ่งขึ้น

ต่อมา พ.ศ. ๑๔๕๐ ราชวงศ์ถังสิ้นสุดลง จีนแตกแยกออกเป็นหลายอาณาจักรและอ่อนแอลง ชาวอานัมได้โอกาสจึงต่อสู้กู้อิสรภาพจนสำเร็จ ตั้งเป็นอาณาจักร ไดโคเวียด ใน พ.ศ. ๑๔๘๒ มีอาณาเขตเพียงตังเกี๋ยกับแคว้นอานัม ๓ แคว้น (Thanh-hoa, Nghe-an และ Ha Tinh คือลงมาถึงตอนเหนือเส้นขนานที่ ๑๘ หรือเลย Pote d’Annam ขึ้นไปเล็กน้อย) ส่วนใต้ลงไปจากนั้นเป็นอาณาจักรจัมปา เมื่อได้อิสรภาพแล้ว อาณาจักรนามเวียดก็เดือดร้อนวุ่นวายด้วยการชิงอำนาจภายในอยู่ประมาณ ๓๐ ปีจึงสงบ ตลอดระยะเวลานี้พระพุทธศาสนาในจีนถูกประหัตประหารอย่างรุนแรงต่อเมื่อราชวงศ์ดินห์ขึ้นครองอำนาจใน พ.ศ. ๑๕๑๒ แล้ว พระพุทธศาสนาจึงเริ่มเจริญขึ้นใหม่ กษัตริย์แทบทุกพระองค์ในราชวงศ์นี้ และราชวงศ์ต่อๆ มาอีก ๔ ราชวงศ์ (ดินห์, เล, ไล, ตรัน) จนถึง พ.ศ. ๑๙๕๗ ล้วนเป็นผู้มีศรัทธาในพระศาสนา ได้ทรงทำนุบำรุงพระสงฆ์และกิจการพระศาสนาเป็นอย่างดี พระสงฆ์เองก็ได้รับความเคารพนับถือจากประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะเป็นทั้งพระสงฆ์ทรงภูมิธรรม และนักปราชญ์ทรงวิทยาคุณ

ธรรมดาว่าชาวเวียดนามในครั้งนั้น มีความนิยมเหมือนอย่างชาวจีนในข้อที่ยกย่องเชิดชูท่านผู้รู้ กับทั้งกวี นักจริยศาสตร์ นักนิติศาสตร์ โหราจารย์และแพทย์ เมื่อชาวเวียดนามตกเป็นเมืองขึ้นของจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นเป็นต้นมา ก็ต้องเรียนเขียนอ่านภาษาจีน แต่การเล่าเรียนนั้นจำกัดอยู่ในวงชนชั้นสูงจำนวนเล็กน้อยเท่านั้น หาขยายมาถึงประชาชนทั่วไปไม่ มีแต่พระภิกษุสงฆ์เท่านั้นที่ว่าเมื่อปรารถนาจะศึกษาค้นคว้าพระธรรม จึงจำต้องขวนขวายแสวงหาความรู้จากคัมภีร์ภาษาจีน ครั้นเวียดนามแยกจากจีนแล้ว จึงหานักปราชญ์ได้แต่พวกนักปราชญ์ขงจื้อ ปราชญ์เต๋าจำนวนน้อย และในหมู่พระสงฆ์เท่านั้น ทำให้พระสงฆ์เป็นบุคคลมีค่า ไปไหนก็ได้รับความเคารพนับถือทั่วแผ่นดิน การเผยแผ่พระธรรมก็เข้าถึงประชาชน ยิ่งได้รับราชูปถัมภ์เป็นเครื่องสนับสนุน พระพุทธศาสนาก็เจริญแพร่หลายทั่วไป กลายเป็นความเชื่อถือสำคัญของประชาชนในเวลาไม่นาน

อนึ่ง ในระยะ พ.ศ. ๑๕๑๑ – ๑๕๒๒ ทางราชการได้จัดตั้งองค์การปกครองคณะสงฆ์ขึ้น โดยรวมเอาคณะนักบวชเต๋ากับพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเข้าในระบบฐานันดรศักดิ์เดียวกัน พอดีเวลานั้น พระจักรพรรดิเวียดนามทรงสดับกิตติศัพท์ของพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ ง่อฉั่นหลู ว่าเป็นปราชญ์ลึกซึ้งสามารถในกวีนิพนธ์ และเชี่ยวชาญในการบำเพ็ญสมาธิแบบนิกายเธียน จึงโปรดให้อาราธนาท่านมาแสดงธรรมถวาย ทรงเลื่อมใส และสถาปนาท่านเป็นประมุขแห่งคณะสงฆ์ และในปีต่อมาได้โปรดแต่งตั้งพระเถระรูปนั้นเป็นที่ปรึกษาของพระจักรพรรดิ

ใน พ.ศ. ๑๕๒๕ เวียดนามเริ่มทำสงครามใหญ่ครั้งแรกกับอาณาจักรจัมปาและเป็นฝ่ายมีชัย ทำลายเมืองหลวงของจัมปาลงได้ แต่ในด้านพระศาสนา กิจการต่างๆ คงดำเนินไปตามปกติ แม้จะมีการเปลี่ยนราชวงศ์ พระพุทธศาสนาก็เจริญก้าวหน้าต่อมาด้วยดี กษัตริย์องค์ที่ ๒ แห่งราชวงศ์เล (พ.ศ. ๑๕๔๘ – ๑๕๕๑) ทรงส่งคณะทูตไปยังประเทศจีน ขอพระไตรปิฎกมา ๑ ชุด และทรงเพียรพยายามชักจูงประชาชนให้หันมานับถือพระพุทธศาสนาแทนลัทธิผีสางเทพารักษ์และการบูชาบรรพชน แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า แม้ประชาชนจะยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา แต่ก็คงยึดถือข้อปฏิบัติตามลัทธิพื้นเมืองอย่างเหนียวแน่นตามเดิม ทำให้การนับถือพระพุทธศาสนาของชาวเวียดนาม ผสมปนเปแฝงอยู่กับลัทธิโบราณเหล่านั้นเรื่อยมา

ลุ พ.ศ. ๑๕๕๓ เวียดนามผลัดราชวงศ์ใหม่ ขุนนางผู้ใหญ่คนหนึ่งซึ่งเคยเป็นศิษย์ของภิกษุวันฮันห์ได้ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าไลไทโต๋ เป็นต้นราชวงศ์ไลอันยาวนานถึง ๒๑๕ ปี ช่วงเวลานี้เป็นทั้งยุคสมัยแห่งการขับเคี่ยวในการสงครามกับจัมปา ทำให้ได้ดินแดนมาเพิ่มพูน และเป็นยุคสมัยที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองถึงที่สุด เป็นศาสนาเดียวที่ได้รับการเคารพเทิดทูน พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ล้วนมีพระราชศรัทธาแรงกล้า นอกจากทรงพระราชทานราชูปถัมภ์แก่กิจการพระศาสนาโดยฐานะอัครศาสนูปถัมภกแล้ว ยังทรงสนิทสนมกับพระศาสนาเป็นการส่วนพระองค์ ด้วยการทรงปฏิบัติธรรมบำเพ็ญสมาธิและทรงคุ้นเคยกับพระภิกษุสงฆ์อีกส่วนหนึ่งด้วย

ในรัชสมัยของพระเจ้าไลไทโต๋เอง พระอาจารย์นิกายเธียนหลายท่าน เช่น ท่านวันฮันห์ เป็นต้น ได้ประกาศพุทธธรรมทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติให้รุ่งเรืองขึ้นเป็นอันมาก ในรัชกาลต่อมา พระเจ้าไลไทต๋อง (โอรสของพระเจ้าไลไทโต๋; พ.ศ. ๑๕๗๑ – ๑๕๘๘) ทรงทำนุบำรุงพระศาสนาอย่างมากมายกว้างขวาง เช่น โปรดให้สร้างวิหาร ๙๕ แห่ง และทรงสร้างวิหารเสาเดียวกลางสระน้ำในเมืองฮานอย ตามพระสุบินนิมิตที่ว่ามีผู้นำเสด็จพระองค์ไปทรงเยือนวังบัวของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ชาวเวียดนามเชื่อกันว่า พระองค์ได้บรรลุโพธิญาณแล้วด้วย

กษัตริย์องค์ต่อมาคือ พระเจ้าไลทันต๋อง (พ.ศ. ๑๕๙๗ – ๑๖๑๕) ปรากฏพระนามเด่นในทางพระมหากรุณา และทรงดำเนินตามพระจริยาวัตรของพระเจ้าอโศกมหาราช ในด้านการสงเคราะห์ประชาชน เช่น ทรงเอาพระทัยใส่เกี่ยวกับความทุกข์ยากเดือดร้อนของคนยากจนและผู้ต้องขัง ทรงห่วงใยคนเหล่านั้นเป็นพิเศษในฤดูหนาว โปรดให้แจกอาหารและเสื้อผ้าแก่คนยากจน และพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษบ่อยๆ

มีเหตุการณ์พิเศษอย่างหนึ่งก่อนพระองค์สวรรคต ๓ ปี คือ ใน พ.ศ. ๑๖๑๒ พระเจ้าไลทันต๋องทรงทำสงครามชนะจัมปา เสด็จกลับมาแล้วทรงแจกจ่ายเชลยสงครามให้เป็นข้าทาสแก่ขุนนางในราชสำนัก ขุนนางที่ได้รับเชลยไปนั้นท่านหนึ่งเป็นพระภิกษุ วันหนึ่ง เมื่อท่านไปกิจธุระภายนอกกลับมา ก็ต้องประหลาดใจที่ได้พบว่ามีผู้มาเขียนแก้ไขข้อความในคัมภีร์ต่างๆ ของท่าน เมื่อสอบถามไปได้ความว่า เป็นการกระทำของทาสคนหนึ่งที่ได้รับพระราชทานมา พระเจ้าไลทันต๋องทรงสดับข่าวจึงโปรดให้เรียกตัวทาสผู้นั้นไปทรงสอบถามข้อธรรมต่างๆ ปรากฏว่าทาสผู้นั้นเฉลยปัญหาได้เรียบร้อยสมบูรณ์เป็นที่น่าอัศจรรย์ ในที่สุดได้ความว่า ทาสผู้นั้นเป็นพระอาจารย์ชาวจีนชื่อ เถาเดือง ถูกจับมาในขณะที่ท่านออกจาริกประกาศธรรมในจัมปา จึงโปรดให้รับท่านเข้าในคณะสงฆ์เวียดนามและทรงอนุญาตให้ท่านเทศนาคำสอนได้ ท่านมีศิษย์จำนวนมาก และได้ประดิษฐานนิกายเธียนใหม่อีกสาขาหนึ่ง นับเป็นการประดิษฐานนิกายเธียนเป็นครั้งที่ ๓ พระเจ้าไลทันต๋องก็ทรงเป็นศิษย์ของท่านด้วย และเชื่อกันมาว่าพระองค์ได้ทรงบรรลุโพธิญาณ นิกายเถาเดือง (Thao Duong) นี้ ยังคงเหลืออยู่บ้างในปัจจุบัน แต่เป็นเพียงนิกายเล็กๆ นิกายหนึ่งเท่านั้น

หลังรัชสมัยพระเจ้าไลทันต๋องแล้ว ราชการเริ่มให้มีการสอบคัดเลือกคนเข้าเป็นขุนนาง ทำให้ลัทธิขงจื้อเข้ามามีบทบาทในหมู่ปัญญาชนของประเทศ แต่ยังไม่กระทบกระเทือนต่อพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด จักรพรรดิ ๓ องค์สุดท้ายของราชวงศ์ไลทรงสนพระทัยในการบำเพ็ญสมาธิตามแบบนิกายเธียนมาก พระองค์สุดท้ายถึงกับทรงสละราชสมบัติให้แก่พระราชธิดาแล้วเสด็จออกผนวช พระราชธิดาทรงถวายราชอำนาจนั้นแก่ตรันคานห์ผู้เป็นพระสวามี จึงเปลี่ยนแผ่นดินจากราชวงศ์ไลมาเป็นราชวงศ์ตรันแต่บัดนั้น ในสมัยของราชวงศ์นี้ การเผยแผ่พระพุทธศาสนาอ่อนกำลังลงและลัทธิขงจื๊อเจริญก้าวหน้ามากขึ้น แต่จำเพาะองค์พระมหากษัตริย์เองยังทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า พระเจ้าตรันคานห์นอกจากทรงอุปถัมภ์บำรุงทางวัตถุอย่างมากมายแล้ว ยังได้ทรงนิพนธ์ศาสนปกรณ์ไว้ด้วย ๒ เรื่อง ว่าด้วยการบำเพ็ญสมาธิเรื่องหนึ่ง และว่าด้วยหลักธรรมทั่วไปเรื่องหนึ่ง ส่วนนัดดาของพระองค์ เมื่อครองราชย์ได้ ๑๕ ปีแล้ว ก็ได้สละราชสมบัติออกผนวชอยู่ ณ วัดแห่งหนึ่งบนภูเขา ทรงบำเพ็ญสมาธิและสั่งสอนศิษย์จำนวนมาก ชาวเวียดนามเหนือถือว่าพระองค์เป็นปฐมสังฆราชแห่ง นิกายตรึ๊กลัม (นิกายป่าไผ่ หรือนิกายเวฬุวัน)

เท่าที่เป็นมาถึงสิ้นราชวงศ์ตรันนี้จะเห็นว่า พระพุทธศาสนาที่เจริญรุ่งเรืองคือ นิกายเธียน หรือ ธยานะ การที่พระมหากษัตริย์หลายพระองค์ผนวช ก็แสดงถึงความนิยมในการบวชที่ได้มีอย่างแพร่หลายขึ้นไปถึงระดับเจ้านายพระราชวงศ์ นอกจากนั้น ยังปรากฏว่าได้มีวัดประจำทั่วทุกหมู่บ้าน แสดงถึงความนับถือที่แผ่กระจายทั่วไปในหมู่ราษฎร

๒) ยุคชาติทรุด-ศาสน์โทรม

ลุ พ.ศ. ๑๙๕๗ เวียดนามตกเป็นเมืองขึ้นของจีนอีก แม้จะเสียอำนาจเป็นเวลาสั้นๆ เพียง ๑๗ ปี แต่ก็ได้ทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรมลงไปมาก เพราะอิทธิพลของกษัตริย์ราชวงศ์หมิงที่ครองจีนอยู่ในเวลานั้น ได้ทำให้ลัทธิขงจื้อและเต๋าเจริญเติบโตแข็งแรงขึ้น ในเวลาเดียวกันพุทธศาสนาแบบตันตระของทิเบตก็หลั่งไหลเข้ามา พร้อมกันนั้น ทางการจีนได้ให้ทำลายวัด และกวาดยึดเอาคัมภีร์พุทธศาสนาไปทั้งหมด เวียดนามได้เอกราชคืนมาใน พ.ศ. ๑๙๗๔ แต่สถานการณ์ด้านพระศาสนาไม่ดีขึ้น เพราะกษัตริย์ราชวงศ์ใหม่ไม่เกื้อกูลแก่พระพุทธศาสนา ทรงจัดการสอบความรู้พระสงฆ์ให้ผู้สอบตกลาสิกขาไป และจัดวางวิธีการบีบคั้นต่างๆ เข้าแทรกแซงในกิจการของสงฆ์และห้ามสร้างวัดเพิ่มใหม่ พระพุทธศาสนายังได้รับความอุปถัมภ์บำรุงจากประชาชนก็จริง แต่ได้เสื่อมโทรมลงกลายเป็นหลักความเชื่อที่ผสมปนเปด้วยลัทธิภายนอก มิใช่พุทธธรรมบริสุทธิ์ดังเดิม และในช่วงนี้เอง พุทธศาสนานิกายตินห์โด (คือ นิกายสุขาวดี นับถือพระอมิตาภะ ที่ญี่ปุ่นเรียกนิกายชิน) ก็เผยแพร่จากจีนเข้าสู่เวียดนาม นิกายนี้ส่วนใหญ่นับถือปฏิบัติกันในวงคฤหัสถ์ และมักแพร่หลายออกไปในยามที่ขาดแคลนพระภิกษุผู้ทรงความรู้ในนิกายเธียน พระภิกษุจีนชื่อวาน-เถ หว่า-เธือง (พ.ศ. ๒๐๗๕ – ๒๑๕๕) ได้ผสมผสานคำสอนในนิกายเธียนกับตินห์โดเข้าด้วยกัน เกิดเป็นพระพุทธศาสนาแบบหนึ่งที่ถือปฏิบัติกันอยู่ตามโรงเจดีย์ (Chua หรือ Pagoda) ทั้งหลายในปัจจุบัน

ทางด้านการเมือง สงครามระหว่างเวียดนามกับจัมปา ได้เกิดขึ้นเป็นระยะเรื่อยมา โดยมากเวียดนามเป็นฝ่ายชนะหรือได้เปรียบ และผนวกดินแดนของจัมปาเข้ามาโดยลำดับ จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๐๑๔ พระเจ้าเลทันต๋องก็ทรงรวมเอาอาณาจักรจัมปาเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของเวียดนามได้สำเร็จ ปล่อยแต่แคว้นปัณฑุรังคะข้างใต้ให้เป็นอาณาจักรน้อยๆ ของจัมปาไปพลางก่อน ซึ่งจะไม่มีพิษภัยอันตรายใดๆ แก่เวียดนามเหลืออยู่อีก และเวียดนามจะได้ค่อยๆ บีบค่อยๆ กลืนจดหมดสิ้นต่อไป

ครั้นสิ้นรัชกาลพระเจ้าเลทันต๋องแล้ว กษัตริย์องค์ต่อๆ มาล้วนอ่อนแอ เกิดการแย่งชิงอำนาจภายในกันเป็นเวลานาน จนในที่สุดถึง พ.ศ. ๒๐๗๖ เวียดนามก็แตกแยกออกเป็น ๒ อาณาจักร เป็นอาณาจักรฝ่ายเหนือที่พวกตระกูลตรินห์ (Trinh) ครองอำนาจ เรียกง่ายๆ ว่าแคว้นตังเกี๋ย กับอาณาจักรฝ่ายใต้ของราชวงศ์เหงียน (Nguyen) เรียกง่ายๆ ว่าแคว้นอานัม นักประวัติศาสตร์ตะวันตกมักเรียกว่าแควันตังเกี๋ยกับแคว้นโคชินจีน แบ่งเขตแดนกันที่ประมาณเส้นขนานที่ ๑๘ ซึ่งต่อมาฝ่ายใต้สร้างกำแพงใหญ่ไว้กั้นการรุกรานของฝ่ายเหนือ แคว้นทั้งสองต่างแข่งอำนาจกัน และขับเคี่ยวทำสงครามเพื่อกำจัดกันเรื่อยมาตลอดเวลาราว ๒๗๐ ปี จนรวมกันเข้าเป็นหนึ่งได้อีกใน พ.ศ. ๒๓๔๕ ระหว่างนั้น นอกจากแข่งอำนาจระหว่างเวียดนามด้วยกันแล้ว อาณาจักรฝ่ายใต้ยังแผ่อำนาจลงไปทางใต้โดยลำดับอีกด้วย ทำให้อาณาจักรน้อยๆ ของพวกจามที่เหลืออยู่ สลายลงโดยสิ้นเชิงใน พ.ศ. ๒๒๖๓

ในระยะเดียวกัน อาณาจักรเขมรซึ่งกำลังเสื่อมอำนาจก็ประสบชะตาร้ายที่คล้ายคลึงกัน โดยค่อยๆ สูญเสียดินแดนให้แก่เวียดนามทีละน้อยๆ ด้วยวิธีการที่เวียดนามเคยใช้กับจัมปามาก่อน กล่าวคือ เริ่มแรกจะมีชาวเวียดนามลี้ภัยบ้าง อพยพบ้าง เร่ร่อนบ้าง แทรกเข้าไปอยู่เป็นหย่อมตามชายแดนของเขมร ต่อมามีจำนวนมากขึ้นก็รวมเข้าเป็นกลุ่มก้อน กลายเป็นเขตที่ขึ้นต่อเวียดนาม เมื่อเขมรเข้าเกี่ยวข้องในเขตนั้น เวียดนามก็ถือเหตุว่าเขมรรุกล้ำดินแดนแล้วยกทัพไปโจมตี โดยวิธีนี้ถึงปี พ.ศ. ๒๒๒๘ เขตไซ่ง่อน (ศูนย์กลางของโคชินจีน) ซึ่งเคยเป็นดินแดนของเจนละน้ำแห่งอาณาจักรกัมพูชา ก็ถูกผนวกเข้าเป็นดินแดนของเวียดนาม ถึงพ.ศ. ๒๒๕๗ อาณาจักรเวียดนามภาคใต้ของราชวงศ์เหงียน ก็ขยายลงไปสุดแหลมโคชินจีนถึงเมือง Ha Tien เพราะความเป็นมาดังกล่าวนี้ จึงมีชาวเขมรอยู่ในภาคใต้ของเวียดนามปัจจุบัน (แคว้นโคชินจีน) ประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ คน ซึ่งส่วนมากนับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาท ยิ่งกว่านั้น ใน พ.ศ. ๒๓๐๓ ระยะที่ไทยกำลังถูกพม่าคุกคามก่อนกรุงแตก เวียดนามยังไปตีได้ถึงจัมปาศักดิ์ ซึ่งเวลานั้นเป็นของเขมรอีกด้วย เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกแล้วและพระยาตากกำลังกู้เอกราชอยู่ เวียดนามได้ก้าวก่ายกิจการของไทย โดยได้สนับสนุนก๊กกรมหมื่นเทพพิพิธ จึงเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งกับประเทศไทย และต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๑๒ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ได้ทรงยกทัพมาตีถึงเมือง Ha Tien นับแต่นั้นมา เวียดนามกับไทยก็มีเหตุขัดแย้งกันเรื่อยมาเกี่ยวกับกรณีประเทศกัมพูชา จนกระทั่งเวียดนามและกัมพูชาตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสในที่สุด

ในระยะ ๒๗๐ ปีแห่งการแตกแยกเป็น ๒ อาณาจักรนั้น พระพุทธศาสนาได้กลายเป็นเหมือนเครื่องมือสำหรับแสวงหากำลังสนับสนุนของทั้งสองฝ่าย ด้วยเหตุที่ประชาชนมีความผูกพันกับพระศาสนาอย่างลึกซึ้ง ทั้งอาณาจักรเหนือ (พวกตรินห์) และอาณาจักรใต้ (ราชวงศ์เหงียน) จึงต่างแข่งกันแสดงศรัทธาทำนุบำรุงพระศาสนา มีการสร้างและปฏิสังขรณ์วัดวาอารามเป็นการใหญ่ และบรรยากาศก็เอื้ออำนวยให้มีสาขาใหม่ๆ ของนิกายเธียนเกิดเพิ่มขึ้นมาอีก ต่อมาตอนปลายยุค ในอาณาจักรใต้ได้เกิดกบฏชิงอำนาจจากราชวงศ์เหงียนได้ รัชทายาทชื่อเจ้าชายเหงียนอันห์ชนมายุเพียง ๑๕ พรรษา หลบหนีไปได้ด้วยความช่วยเหลือของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง และต่อมาระหว่าง พ.ศ.๒๓๒๘ ถึง ๒๓๓๐ เจ้าชายเหงียนอันห์ได้เสด็จมาลี้ภัยอยู่ในประเทศไทย สมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และได้นำทหารอาสาสมัครชาวเวียดนามออกช่วยต่อสู้กับพม่าเป็นความดีความชอบแก่ราชการไทย ทางด้านเวียดนาม พวกกบฏได้ขึ้นครองอาณาจักรฝ่ายใต้ และยังสามารถรุกรบขึ้นไปทางเหนือจนถึงฮานอย ปราบพวกตรินห์ลงได้หมดสิ้นใน พ.ศ. ๒๓๓๑ แล้วสถาปนาตนเป็นจักรพรรดิครองแผ่นดินเวียดนามทั้งหมด

แต่ในขณะที่พวกอดีตกบฏกำลังรุกรบพัวพันอยู่ทางเหนือนั้นเอง เจ้าชายเหงียนอันห์ก็ได้โอกาสกลับมาสู่เวียดนาม และอาศัยกำลังทหารพร้อมทั้งยุทโธปกรณ์ของฝรั่งเศสที่บาทหลวงผู้เคยช่วยเหลือพระองค์ในคราวก่อนจัดมาสนับสนุน เจ้าชายเหงียนอันห์ก็ทรงทำสงครามชิงอำนาจคืนจากพวกกบฏจนสำเร็จ รวมแผ่นดินเวียดนามเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๒๔๓๕ ทรงนามว่า พระจักรพรรดิเกียลอง (Gia Long ไทยเรียกพระเจ้าเวียดนามยาลอง)

ราชวงค์เหงียนตั้งแต่พระเจ้าเกียลองเป็นต้นไป ได้ส่งเสริมพระพุทธศาสนาในแง่ที่เป็นเครื่องรวมแรงรวมใจคนให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวในชาติ พระสงฆ์เพียงแต่คอยดูแลรักษาวัดของทางราชการไว้ และประกอบพิธีกรรมต่างๆ ให้ตามความต้องการของชาวบ้านก็เป็นการเพียงพอ พระสงฆ์ตามวัดต่างๆ จึงประพฤติย่อหย่อนลงโดยทั่วไป และความเข้าใจหลักธรรมก็เสื่อมถอยลง ประชาชนนับถือพระเจ้าอย่างเป็นเทพเบื้องบนที่คอยทรงประทานผลที่ปรารถนาแก่ผู้เซ่นสรวงบูชา

ส่วนทางด้านศาสนาอื่น ศาสนาที่ได้รับสิทธิพิเศษดำเนินการเผยแพร่ได้ตามสะดวกอยู่ระยะหนึ่งก็คือคริสต์ศาสนา ทั้งนี้ เพราะพระเจ้าเกียลองทรงได้รับความช่วยเหลือจากบาทหลวงฝรั่งเศสดังกล่าวแล้ว จึงโปรดประทานอุปถัมภ์เป็นการตอบแทน ถึงกับได้รับสั่งกำชับแก่ผู้สืบราชสมบัติก่อนเสด็จสวรรคตว่า จะต้องมิให้มีการบีบบังคับข่มเหงแก่ศาสนาทั้งสามที่ได้ประดิษฐานแล้วในแผ่นดินของพระองค์ กล่าวคือ ขงจื้อ พุทธศาสนา และศาสนาคริสต์ อย่างไรก็ดี พระโอรสที่ขึ้นครองราชย์ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๖๓ คือพระเจ้ามินห์ มาง (Minh Mang) เป็นผู้นับถือขงจื้ออย่างเคร่งครัดและทรงนิยมวัฒนธรรมจีน (โอรสองค์โตของพระเจ้าเกียลอง ซึ่งได้รับความอุปถัมภ์จากบาทหลวงและได้รับการศึกษาในฝรั่งเศส ได้สิ้นพระชนม์ก่อนพระราชบิดา) ทรงเกลียดชัง “มนุษย์ป่าเถื่อนจากตะวันตก” จึงหาได้ทรงปฏิบัติตามคำสั่งของพระราชบิดาไม่ กลับทรงตัดสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส และหันกลับไปใช้นโยบายกำราบศาสนาคริสต์ที่กษัตริย์ปางก่อนเคยใช้มาแล้ว

ชาวตะวันตกได้เริ่มเดินทางเข้ามาติดต่อกับเวียดนามในวิถีทางแห่งการค้าขาย และการเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิค ตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ในสมัยที่เวียดนามยังแบ่งแยกเป็น ๒ อาณาจักรคือ ตังเกี๋ย กับ อานัม เริ่มด้วยพวกโปรตุเกส ติดตามด้วยพวกฮอลันดา และฝรั่งเศส ตลอดจนสเปน และอังกฤษ นักเผยแผ่ศาสนานั้น ติดตามมากับพ่อค้าบ้าง เป็นมิชชันนารีแต่มาในรูปของพ่อค้าบ้าง พวกพ่อค้าและนักสอนศาสนาชาวตะวันตกต่างชาติกันเหล่านี้ ขัดแย้งแย่งชิงกันเองในด้านการค้าขายบ้าง วิวาทขัดขวางกันเองในการทำงานเผยแผ่ศาสนาบ้าง บางคราวได้รับความร่วมมือต้อนรับจากเจ้าถิ่น บางคราวก็มีเหตุทะเลาะวิวาทกัน ทำให้การดำเนินงานล้มลุกคลุกคลาน บางพวกก็ละเลิกความเพียรไปเลย บางพวกก็ยักเยื้องหาวิธีตั้งตัวใหม่อยู่เรื่อยๆ เฉพาะในตอนแรกนั้นถูกต่อต้านจากอาณาจักรตังเกี๋ย แต่ประสบความต้อนรับจากอาณาจักรฝ่ายใต้

ในระยะนี้เอง (ปลาย พ.ศต. ๒๒) นักสอนศาสนาชาวโปรตุเกสและชาวฝรั่งเศส ได้ประดิษฐ์วิธีเขียนภาษาเวียดนามด้วยอักษรโรมันขึ้นและได้รับความนิยม ทำให้ชาวเวียดนามเลิกใช้อักษรจีน และใช้อักษรโรมันเขียนภาษาของตนมาจนบัดนี้ อย่างไรก็ดี มิตรภาพระหว่างชาวตะวันตกกับอาณาจักรใต้ เป็นความสัมพันธ์ทางการเมือง เกิดจากคำมั่นสัญญาช่วยเหลือทางกำลังอาวุธยุทโธปกรณ์ เมื่อไม่ได้การช่วยเหลือนั้นสมประสงค์มิตรภาพก็สิ้นสุดลง ความสัมพันธ์ในทางช่วยเหลือกันจึงดำเนินไปได้ชั่วคราวราวครึ่งศตวรรษเท่านั้น จากนั้นราชวงศ์เหงียนก็กลับกลายเป็นปฏิปักษ์กับชาวตะวันตก และตามปกติการเมือง การค้า การทหาร และการเผยแผ่ศาสนาของชาวตะวันตกที่เข้ามาเหล่านั้น มักพันกันอยู่แยกไม่ค่อยออก เมื่อต้อนรับอย่างหนึ่งก็หมายถึงต้อนรับอย่างอื่นด้วย เมื่อปฏิเสธอย่างหนึ่งก็หมายถึงปฏิเสธอย่างอื่นด้วย อาณาจักรใต้จึงเป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนาคริสต์ด้วย และเริ่มกำจัดศาสนิกและกิจกรรมของศาสนาคริสต์เป็นการใหญ่ แล้วการค้าขายกับตะวันตกก็หยุดชะงักไป

จนกระทั่ง พระเจ้าเกียลอง ขึ้นครองราชย์ การค้าขายและการเผยแผ่ศาสนาตลอดไปถึงการเมืองและการทหารของชาวตะวันตก (คราวก่อนโปรตุเกสเป็นหลัก คราวนี้ฝรั่งเศสเป็นหลัก) ในประเทศเวียดนามจึงกลับฟื้นฟูขึ้นมาใหม่อีกระยะหนึ่งในช่วงรัชกาลของพระองค์ แต่เมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว พระโอรสหันกลับไปใช้นโยบายปราบปรามศาสนาคริสต์ดังกล่าวแล้ว ต่อมาถึงรัชกาลพระนัดดา การปราบปรามยิ่งรุนแรงหนักลงไปอีก

จนในที่สุด ถึงรัชกาลพระปนัดดา ซึ่งเป็นผู้รอบรู้ในลัทธิขงจื้อ พระองค์ประสงค์จะปิดประเทศให้พ้นจากอิทธิพลของชาวยุโรปโดยสิ้นเชิง จึงทำการประหัตประหารขั้นเด็ดขาด มีการออกประกาศขับไล่ชุมชนคริสต์ ทำลายหมู่บ้านชาวคริสต์ริบที่ดินไปจัดสรรแบ่งใหม่ ให้ตีตราศาสนิกคริสต์ทุกคนที่แก้มซ้ายว่าเป็นคนนอกศาสนา ที่แก้มขวาตีชื่อตำบลที่ขับไล่ให้ไปอยู่ พร้อมนั้นก็ปราบปรามนักสอนศาสนาอย่างรุนแรง การขัดแย้งระหว่างราชวงศ์เหงียนกับนักสอนศาสนาชาวยุโรปที่มีเรื่อยมาเป็นระยะๆ นี้ ทำให้นักสอนศาสนาเสียชีวิตไปหลายคน และชาวคริสต์ญวนล้มตายไปจำนวนมากมาย ซึ่งในสายตาของราชวงศ์เหงียนอาจมองกลับอีกด้านหนึ่งว่า เป็นการกำจัดชาวยุโรปและพรรคพวกของชาวยุโรป (นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า ชาวญวนคริสต์ถูกสังหารระหว่าง พ.ศ. ๒๓๗๐ ถึง ๒๔๐๑ รวมประมาณ ๑๓๐,๐๐๐ คน)

อย่างไรก็ดี นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า การดำเนินนโยบายเช่นนี้ เป็นการกระทำที่ไม่ฉลาด เพราะเวลานั้นฝรั่งเศสกำลังหาข้ออ้างที่จะเข้าแทรกแซงภายในและยึดดินแดนของเวียดนามอยู่แล้ว ยิ่งกว่านั้นฝรั่งเศสต้องการเร่งทำการเพราะกำลังแข่งอำนาจอยู่กับอังกฤษ เมื่อเวียดนามดำเนินการเช่นนี้ ฝรั่งเศสก็นำเรือรบมาคุกคาม ขู่ และทำลายป้อมหรือเมืองตามชายฝั่ง ความขัดแย้งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ถึง พ.ศ. ๒๔๐๒ ฝรั่งเศสก็ยึดเมืองไซ่ง่อน ถึง พ.ศ. ๒๔๐๕ กษัตริย์เวียดนามก็ต้องทำสัญญายกแคว้นทางตะวันออกของโคชินจีนให้ฝรั่งเศส ต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมาก ต้องเปิดโอกาสให้ชาวคาทอลิคดำเนินงานโดยเสรี และเปิดเมืองค้าขายกับฝรั่งเศส จากนั้นเหตุที่เป็นข้ออ้างอื่นๆ ก็ตามมาอีก

จนถึง พ.ศ. ๒๔๒๖ เวียดนามก็ตกเป็นดินแดนในอารักขาของฝรั่งเศส ในช่วงที่ฝรั่งเศสปกครองอยู่ ๗๑ ปี ชาวเวียดนามได้ลุกฮือขึ้นต่อต้านบ่อยครั้ง และความรู้สึกในทางชาตินิยมก็รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่ฝรั่งเศสก็ปราบปรามอย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน ฝรั่งเศสใช้นโยบายแบ่งแยกปกครองโดยจัดแบ่งเวียดนามออกเป็น ๓ มณฑล คือ ตังเกี๋ย อานัม โคชินจีน และนำเอา ๓ มลฑลนี้ไปรวมกับกัมพูชา และลาว เป็น ๕ มณฑลปกครองรวมเป็นอันเดียว เรียกว่า อินโดจีนของฝรั่งเศส เฉพาะโคชินจีนเป็นเมืองขึ้นโดยสมบูรณ์ ฝรั่งเศสปกครองดูแลเองโดยตรง ส่วนอีก ๔ มณฑลยังมีกษัตริย์ของตนเอง (อานัมกับตังเกี๋ยมีกษัตริย์องค์เดียวกัน)

เมื่อฝรั่งเศสปกครอง พระพุทธศาสนายิ่งเสื่อมโทรมหนักลงไปอีก ฝรั่งเศสส่งเสริมคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิค พร้อมกันนั้น ก็จำกัดและลิดรอนความเจริญเติบโตของพระพุทธศาสนา ฝรั่งเศสนำเอาบาทหลวงคาทอลิคมาพร้อมกับนักปกครองอาณานิคม ขนมปัง และเหล้าองุ่นแดง เมื่อฝรั่งเศสเป็นนายแล้ว ชาวคาทอลิคก็พลอยมีอำนาจคุกคามบั่นรอนพุทธศาสนาได้อย่างออกหน้าออกตา ชาวพุทธเวียดนามจึงถือสืบๆ มาว่า พวกคาทอลิคเป็นก้ามปูที่หนีบเอาเวียดนามไปให้ปู คือประเทศฝรั่งเศสครอบครอง ในโคชินจีนที่ขึ้นต่อฝรั่งเศสโดยตรงนั้น ผู้ที่จะมีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนของมณฑลไปประจำที่ปารีสก็ดี ผู้ที่จะเป็นข้าราชการชั้นสัญญาบัตรก็ดี ต้องมีสัญชาติฝรั่งเศส และผู้ที่โอนสัญชาติเป็นฝรั่งเศสได้ ก็ต้องนับถือคริสต์ศาสนานิกายคาทอลิค ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีชาวพุทธใดจะเป็นข้าราชการผู้ใหญ่หรือเป็นผู้ที่จะมีสิทธิ์มีเสียงทำการอะไรในแผ่นดินได้ พุทธศาสนาจึงถูกปล่อยปละละเลยอย่างมาก

นอกจากนั้น ฝรั่งเศสยังวางกฎเกณฑ์บีบคั้นตัดรอนต่างๆ นานา เช่น จำกัดจำนวนพระภิกษุในวัดแต่ละวัด ห้ามสร้างวัดใหม่เว้นแต่ได้รับอนุญาต จำกัดสิทธิของคณะสงฆ์ที่จะรับทานบริจาคและทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศ เป็นต้น พระภิกษุผู้เคร่งครัดและตั้งใจปฏิบัติศาสนกิจ เมื่อมองไม่เห็นทางก้าวหน้าของพระศาสนา ก็ปลีกตัวออกไปหาที่วิเวกอยู่สงัด พระศาสนาขาดผู้เอาใจใส่ดูแลควบคุม ก็ยิ่งอำนวยโอกาสแก่ผู้ที่บวชเข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ศาสนธรรมก็ยิ่งเลอะเลือน กลายเป็นลัทธิผสมปนเปไปด้วยตันตระ ไสยศาสตร์ ความเชื่อผีสางเทพารักษ์ต่างๆ ลัทธิผสมใหม่ๆ เหล่านี้โดยเฉพาะพวกหัวเหาและเกาได๋3ได้เจริญเติบโตขึ้นในเขตโคชินจีนอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับนิกายโรมันคาทอลิค ส่วนพระพุทธศาสนานั้นก็เสื่อมโทรมลีบเรียวลงอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งว่าเมื่อตอนกลาง พ.ศต. ๒๕ ได้มีการคาดหมายกันทั่วไปว่า พระพุทธศาสนาในเวียดนามจะอันตรธานไปโดยสิ้นเชิง

๓) ยุคกอบกู้-ฟูแล้วกลับยุบ

พระพุทธศาสนายุคนี้ เริ่มต้นในระยะที่งานกู้อิสรภาพของชาวเวียดนามกำลังก่อรูปเป็นขบวนการที่เหนียวแน่นมั่นคง และแพร่ออกทั่วไปอย่างกว้างขวาง กิจการทางพระพุทธศาสนาในระยะนี้พัวพันกับการเมืองมากจนยากที่จะแยกออกพูดต่างหาก ทั้งนี้ เพราะการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในระยะนี้ ในด้านหนึ่งก็หมายถึงการกอบกู้ตนให้พ้นจากอำนาจการเมืองของต่างชาติที่เข้ามาครอบงำและบีบคั้นบั่นรอนอยู่นั่นเอง อีกอย่างหนึ่งวัดเป็นศูนย์กลางที่รวมใจและที่พึ่งแห่งสำคัญของประชาชน เมื่อประชาชนต้องการรวมกำลังกันต่อสู้อำนาจเหนือตน ก็ยึดเอาวัดเป็นที่ก่อตัวบ้างเป็นที่คุ้มครองตัวบ้าง นอกจากนั้น นักการเมืองฝ่ายต่างๆ ก็พยายามใช้วัดและพระศาสนาให้เป็นประโยชน์แก่ตน สภาพเช่นนี้ ทำให้สถาบันพุทธศาสนาจำเป็นต้องปรับปรุงและฟื้นฟูตนเอง แต่ในเวลาเดียวกันก็ล่อแหลมต่อการที่จะเสียหลัก ก้าวเลยขอบเขต และอาจกลายเป็นความเสื่อมยิ่งขึ้นไปอีก ความเป็นไปของพระพุทธศาสนาในเวียดนามยุคนี้ มีทั้งการปรับปรุง การต่อสู้ และความปั่นป่วน สับสนวุ่นวายคล้ายกันกับประวัติศาสตร์ฝ่ายบ้านเมือง

เมื่อชาวเวียดนามลุกขึ้นต่อสู้ และถูกปราบปรามอย่างรุนแรงราบคาบไปเป็นระยะๆ ความรู้สึกชาตินิยมกลับแข็งกล้ายิ่งขึ้น และความชำนาญจัดเจนในการต่อสู้ก็เพิ่มขึ้น จนกระทั่งในตอนกลาง พ.ศต. ๒๕ การต่อสู้เป็นไปในรูปขบวนการที่มีข่ายงานกว้างขวาง มีหลักการสำหรับยึดเหนี่ยวให้เกาะกุมกันเหนียวแน่น นอกจากนั้น การที่ฝรั่งเศสแบ่งแยกเวียดนามปกครองเป็นส่วนๆ ก็ได้ทำให้เกิดขบวนการกู้ชาติที่มีลักษณะแตกต่างกันขึ้นด้วย และเรื่องนี้ส่งผลถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวียดนามต่อมาอีกนาน เฉพาะในเวลานั้น ผลที่ต่างกันคือ ในเวียดนามภาคเหนือ เหตุปัจจัยต่างๆ ได้หนุนให้ลัทธิคอมมิวนิสม์มีกำลังเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ จนการต่อสู้กู้ชาติในภาคนี้เป็นขบวนการของชาตินิยมคอมมิวนิสม์ ส่วนในเวียดนามภาคใต้ขบวนการเป็นชาตินิยมแบบกึ่งศาสนา เช่น ขบวนการของลัทธิเกาได๋ และลัทธิหัวเหา เป็นต้น

ในระยะนี้เองที่พระพุทธศาสนาซึ่งกำลังมีทีท่าว่าจะเสื่อมลงถึงขั้นดับสูญ ก็กลับรู้สึกตัวตื่นขึ้น แล้วเร่งฟื้นฟูปรับปรุงตนเอง ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดการฟื้นฟูคือ เวลานั้นพระอาจารย์ไทซี หรือไท้สู กำลังดำเนินงานกอบกู้ฐานะของพระพุทธศาสนาในประเทศจีนทั้งในด้านการศึกษาและการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ชาวพุทธเวียดนามได้เห็นแบบอย่างเช่นนั้นก็เกิดกำลังใจคิดริเริ่มทำในบ้านเมืองของตนบ้าง งานฟื้นฟูเริ่มขึ้นประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๓ โดยชาวพุทธระดับปัญญาชนซึ่งต้องการให้คนเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างถูกต้อง และแปลความหมายให้ทันกับสังคมสมัยใหม่ การตื่นตัวและปรับปรุงนี้เป็นไปทั่วทั้ง ๓ ภาคของเวียดนาม และมีการร่วมมือประสานงานถึงกัน แต่ระยะแรกงานก้าวหน้าไปล่าช้า

จนถึงปี ๒๔๗๔ จึงได้มีการจัดตั้ง สมาคมพุทธศาสนศึกษาแห่งโคชินจีน (Cochinchina Buddhist Study Society หรือ ฮอยนามไกเหียนจูผัดฮอค) ขึ้นที่เมืองไซ่ง่อน และต่อมาก็มีสมาคมประเภทเดียวกันเกิดขึ้นที่เมืองเว้ (เวียดนามกลาง หรืออานัม) ใน พ.ศ. ๒๔๗๕ และที่เมืองฮานอย (เวียดนามเหนือ หรือตังเกี๋ย) ใน พ.ศ.๒๔๗๗ ทุกสมาคมมีสมาชิกทั้งฝ่ายพระภิกษุและคฤหัสถ์ การฟื้นฟูมุ่งเน้นงานสำคัญ ๒ ด้าน คือ การศึกษา และสังคมสงเคราะห์ โดยให้มีการปรับปรุงสภาพภายในวัด กวดขันวินัยของพระสงฆ์ ให้การศึกษาแก่พระสงฆ์รุ่นใหม่ให้เป็นผู้พรั่งพร้อมทั้งด้านศรัทธาในพระศาสนาและมีความรอบรู้ ส่งพระจำนวนหนึ่งไปศึกษาในประเทศจีน ไทย และญี่ปุ่น จัดพิมพ์วารสารเผยแผ่และผลงานแปลจากพระไตรปิฎกทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายานเป็นภาษาเวียดนามอักษรโรมัน โดยเลิกใช้อักษรจีน กำจัดความเชื่อถืองมงายต่างๆ

ส่วนในด้านสังคมสงเคราะห์ ชาวพุทธก็จัดตั้งโรงพยาบาล สถานเลี้ยงดูเด็กเล็ก สถานสงเคราะห์เด็กกำพร้า และโรงเรียนระดับต่างๆ มอบให้แม่ชีซึ่งในอดีตเคยอยู่แต่ในวัดเงียบๆ ออกมาทำงานบำเพ็ญประโยชน์ในโรงพยาบาล สถานสงเคราะห์ และโรงเรียนเหล่านั้น ในเวลาเดียวกันก็ส่งเสริมให้เยาวชนผู้ได้รับการศึกษาสมัยใหม่ตามแบบตะวันตก ได้มีโอกาสเรียนรู้พระพุทธศาสนา และเป็นสื่อถ่ายทอดพุทธธรรมไปยังเยาวชนด้วยกัน จนถึงขั้นมีการจัดตั้งองค์การพุทธเยาวชนหรือยุวพุทธิกะแห่งแรกขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ มีกิจกรรมต่างๆ เช่น ออกวารสารเผยแผ่ชื่อเวียนอาม เป็นต้น ขบวนการเยาวชนนี้เจริญสืบต่อมาและเป็นปัจจัยสำคัญให้มีการตั้งโรงเรียนประถมและมัธยมเรียกว่า “โรงเรียนโพธิ” ขึ้น ในทุกจังหวัดของเวียดนามใต้

มีข้อควรสังเกตบางอย่างเกี่ยวกับกิจกรรมพระพุทธศาสนาในระยะนี้ กล่าวคือ พระพุทธศาสนา นิกายเธียน ที่เคยรุ่งเรืองในอดีตอันยาวนานได้เสื่อมลงไปดังกล่าวแล้วข้างต้น ครั้นถึงเวลานี้ นิกายตินห์โด (คือ นิกายสุขาวดี หรือพระอมิตาภะ ที่ญี่ปุ่นเรียก ว่านิกายชิน) ได้เจริญขึ้นแทนที่ อีกประการหนึ่ง ทางด้านการเมือง ขบวนการชาตินิยมต่างๆ ได้เจริญเข้มแข็งและแพร่ไปทั่วแล้ว การใช้วิธีปราบปรามเพียงอย่างเดียวไม่อาจทำได้สำเร็จ รัฐบาลฝรั่งเศสจึงต้องยักเยื้องใช้วิธีการต่างๆ ทั้งแบบรุนแรงและสงบ สุดแต่จะเห็นว่าวิธีใดจะได้ผลดีเป็นกรณีๆ ไป เมื่อชาวพุทธเวียดนามจัดตั้งองค์การและกิจการต่างๆ ขึ้นมานี้ แทนที่ฝรั่งเศสจะกำราบ กลับยอมรับ และเข้าสนับสนุนเป็นทางการ ทั้งนี้เพื่อจะได้มีโอกาสเข้าดูแลควบคุมกิจการภายในได้ ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม อีกประการหนึ่ง ก็เป็นวิธีการที่จะแสวงหาความนิยมจากประชาชน และหากเป็นไปได้ก็จะส่งเสริมให้ประชาชนมัววุ่นอยู่กับพรตพิธีต่างๆ เสีย จิตใจจะได้ห่างจากความคิดความรู้สึกเกี่ยวกับการต่อสู้กู้ชาติ

งานฟื้นฟูพุทธศาสนาในเวียดนาม ต้องหยุดชะงักลงชั่วคราวระหว่างเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๔๘๔ ถึง ๒๔๘๘ รัฐบาลฝรั่งเศสที่ปกครองอินโดจีน หยุดสู้รบ และยอมร่วมมือกับญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๔๘๓ ญี่ปุ่นยึดครองเวียดนามและใช้ภาคเหนือเป็นฐานสู้รบในจีนภาคใต้ ใช้ภาคใต้ของเวียดนามเป็นฐานโจมตีมลายูและพม่า นักชาตินิยมเวียดนามได้รับความสนับสนุนจากสัมพันธมิตรมีจีนเป็นต้น ดำเนินงานใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่น

ในช่วงนี้ขบวนการชาตินิยมฝ่ายคอมมิวนิสต์มี โฮจิมินห์ เป็นผู้นำ ได้ตั้งคณะเวียดมินห์ขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๘๔ และมีกำลังเข้มแข็งขึ้นโดยลำดับ ต่อมาถึงเดือนมีนาคม ๒๔๘๘ ญี่ปุ่นซึ่งจวนเจียนจะแพ้สงครามอยู่แล้ว กลับหันมากำจัดรัฐบาลอินโดจีนของฝรั่งเศส จัดการให้เวียดนามประกาศอิสรภาพ ยก จักรพรรดิเบาได๋ กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์เหงียน เป็นผู้ปกครองประเทศเอกราชใหม่นี้ แต่พวกเวียดมินห์ไม่ยอมรับ และพวกชาตินิยมฝ่ายกษัตริย์เบาได๋ก็กลายเป็นผู้ด่างพร้อยเพราะร่วมมือกับญี่ปุ่น ทำให้เสียความนิยมไป จึงครองราชย์อยู่ได้เพียง ๕ เดือน ก็ถูกเวียดมินห์โค่นอำนาจ

กษัตริย์หรือจักรพรรดิเบาได๋สละราชสมบัติแล้ว แล้วพวกเวียดมินห์ก็ตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามขึ้นในเดือนกันยายน ๒๔๘๘ นั้นเอง ต่อมาไม่นาน ฝรั่งเศสก็หวนกลับมาอีก ด้วยความช่วยเหลือทางทหารของอังกฤษ เข้าครองอำนาจในเวียดนามภาคใต้ เมื่อต้นปี ๒๔๘๙ แต่ในเวียดนามเหนือ รัฐบาลของเวียดมินห์ยังครอบครองอยู่

ในปลายปี ๒๔๘๙ นั่นเอง สงครามอันยืดเยื้อระหว่างฝรั่งเศสกับเวียดมินห์ก็เริ่มขึ้น ในตอนต้นของสงคราม ฝรั่งเศสครอบครองเมืองใหญ่ทุกเมือง ส่วนเวียดมินห์มีกำลังอยู่ในชนบท ถึงปี ๒๔๙๑ ฝรั่งเศสปล่อยให้มีการตั้งรัฐบาลสำรองขึ้นปกครองเวียดนามทั้งหมด โดยมีอดีตกษัตริย์เบาได๋เป็นประมุข

ต่อมาอีก ๒ ปี สหรัฐและอังกฤษก็ได้รับรองเวียดนามใหม่นี้ด้วย และข้อนี้เป็นเหตุชักนำให้สหรัฐเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องในเวียดนาม เพราะต้องช่วยเหลือฝรั่งเศสในการสู้รบกับเวียดมินห์ สงครามแตกหักใน พ.ศ. ๒๔๙๗ เมื่อเวียดมินห์ยึดค่ายเดียนเบียนฟูของฝรั่งเศสได้ สงครามก็ยุติลง ฝรั่งเศสเซ็นสัญญาสงบศึกในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๔๙๗ เวียดนามได้อิสรภาพพร้อมกับแยกเป็น ๒ ประเทศคือ เวียดนามเหนือ และ เวียดนามใต้ แบ่งเขตกันที่เส้นขนานที่ ๑๗ ในเวียดนามเหนือ โฮจิมินห์ซึ่งเป็นผู้นำต่อมาจนตลอดชีวิต เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจแก้ไขความเสียหายจากสงคราม โดยได้รับความช่วยเหลือจากจีนและโซเวียต

ส่วนทางด้านเวียดนามใต้ก็ได้รับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากสหรัฐ แต่การเมืองไม่มั่นคง มีกลุ่มอำนาจต่างๆ เช่น หัวเหา เกาได๋ คาทอลิค บินห์ซูเยน เป็นต้น พยายามยื้อแย่งความเป็นใหญ่กัน นอกจากนั้น ผู้นำคือกษัตริย์เบาได๋ก็ครองอำนาจอยู่ต่อมาได้อีกเพียง ๑ ปี ทั้งนี้เพราะในปลายปี ๒๔๙๗ นั้นเอง โงดินห์เดียมยึดอำนาจได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วกำราบพรรคคอมมิวนิสต์ พร้อมทั้งทำลายอำนาจของนิกายศาสนากึ่งการเมืองต่างๆ คือ หัวเหา เกาได๋ และบินห์ซูเยน และจัดให้มีการลงคะแนนเสียงล้มเลิกระบบกษัตริย์เสียในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๙๘ แล้วสถาปนา สาธารณรัฐเวียดนาม (ใต้) ขึ้น โดยมีโงดินห์เดียม เป็นประธานาธิบดีคนแรก ครองอำนาจสืบต่อมา

ทางด้านพระศาสนา เมื่อสงครามโลกยุกติลงใน พ.ศ. ๒๔๘๘ แล้ว แต่บ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อย ยังมีอิทธิพลของต่างชาติครอบงำอยู่ ขบวนการชาตินิยมต่างๆ จึงยังคงดำเนินงานกันต่อไป ชาวเวียดนามทุกคนจะถูกชักชวนให้เข้าร่วมขบวนการด้วย ในสภาพเช่นนี้ศาสนิกชนและองค์การศาสนาทั้งหลาย จึงมีโอกาสเข้าไปพัวพันเกี่ยวข้องกับการเมืองได้มาก ดังนั้น เมื่อเวียดมินห์โค่นอำนาจรัฐบาลของจักรพรรดิเบาได๋ที่ญี่ปุ่นจัดตั้งขึ้น แล้วตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นแทนนั้น ได้มีกลุ่มหรือองค์การต่างๆ เกิดขึ้นมาก เช่น สมาคมสตรีกอบกู้ปิตุภูมิ เยาวชนกอบกู้ปิตุภูมิ ชาวคาทอลิคกอบกู้ปิตุภูมิ ชาวพุทธกอบกู้ปิตุภูมิ เป็นต้น ภิกษุกลุ่มหนึ่งก็ได้ตั้งองค์การพุทธศาสนิกเพื่อต่อต้านลัทธิอาณานิคมขึ้นต่อต้านฝรั่งเศสในระยะนั้น องค์การนี้สลายตัวไปเอง เมื่อเวียดนามได้อิสรภาพจากฝรั่งเศสใน พ.ศ. ๒๔๙๗

ในด้านงานเผยแผ่ ก็มีวารสารใหม่ๆ ของชาวพุทธเกิดขึ้น ซึ่งเน้นการประยุกต์ธรรมเข้ากับการดำเนินชีวิตสมัยใหม่บ้าง เน้นชาตินิยมและการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์บ้าง พร้อมกันนั้นก็ให้ข้อคิดแสดงทัศนะทางการเมืองไปด้วย ในด้านสาธารณูปการและสังคมสงเคราะห์ มีการซ่อมแซมปฏิสังขรณ์วัดที่ถูกทำลาย รื้อฟื้นงานสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้า โรงเรียน และช่วยเหลือผู้ประสบภัยสงคราม เป็นต้น ในด้านการศึกษาก็มีการส่งพระภิกษุไปเล่าเรียนในประเทศอินเดีย ลังกา และประเทศตะวันตก

ใน พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้มีการประชุมใหญ่ระดับชาติของชาวพุทธทั่วประเทศที่เมืองเว้ มีพระภิกษุและคฤหัสถ์ซึ่งเป็นผู้แทนของคณะสงฆ์และพุทธสมาคมทั้งหกในภาคทั้งสาม (เหนือ-กลาง-ใต้) ของเวียดนามมาร่วมประชุมราว ๕๐ คน ที่ประชุมมีมติที่สำคัญ คือ ประกาศรวมองค์การทั้งหกนั้นเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียว และตั้งสมาคมมวลพุทธบริษัทเวียดนามขึ้น นอกจากนั้น ให้มีการจัดระเบียบคณะสงฆ์ใหม่ วางมาตรฐานเกี่ยวกับการประกอบพิธีกรรม การสอนพุทธศาสนาแก่ผู้ใหญ่ การก่อตั้งขบวนการพุทธเยาวชน และตกลงร่วมมือสนับสนุนองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยผลของการประชุมชาวพุทธทั่วโลกที่กรุงโคลอมโบ ใน พ.ศ. ๒๔๙๓

ปีต่อมาคือใน พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปยังที่ประชุมใหญ่ขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ณ นครโตเกียว โดยหยุดพักประดิษฐานให้ประชาชนนมัสการที่เมืองไซ่ง่อน ๒๔ ชั่วโมง ปรากฏว่ามีชาวเวียดนามไปนมัสการถึง ๕๐,๐๐๐ คน เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเครื่องเร้าศรัทธาชาวพุทธ ทำให้เกิดความรู้สึกร่วมใจกันและกระตือรือร้นในทางพระศาสนามากยิ่งขึ้น

อนึ่ง พุทธสมาคมสากลเวียดนามได้ออกวารสารฉบับหนึ่ง เพื่อประกาศแนวนโยบายชาตินิยมและบำเพ็ญประโยชน์เรียกชื่อว่า “Vietnamese Buddhism” กิจการด้านต่างๆ ของพุทธศาสนาทั้งด้านสังคมสงเคราะห์ โรงเรียนปริยัติธรรม โรงเรียนราษฎร์ของชาวพุทธ และองค์การเยาวชนทั้งหลาย ได้เจริญรุ่งเรือง และเพิ่มขยายมากขึ้น นับเป็นความก้าวหน้าอย่างมาก จนกระทั่งเกิดอุปสรรคใหม่ขึ้นอีก คือ การที่ประเทศแบ่งแยกออกเป็นเวียดนามเหนือ เวียดนามใต้ ใน พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งทำให้สมาคมมวลพุทธบริษัทเวียดนามหรือสหภาพชาวพุทธเวียดนามพลอยแตกออกเป็น ๒ ส่วนไปด้วย และกิจการต่างๆ ก็อ่อนกำลังลง

เมื่อประเทศแบ่งแยกออกไปแล้ว ในเวียดนามเหนือ เวียดมินห์ปกครอง พระพุทธศาสนาก็อยู่ใต้ความควบคุมของระบบการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ส่วนในเวียดนามใต้ หลังจากเกิดเป็นประเทศใหม่ได้เพียง ๑ ปี ก็เปลี่ยนการปกครองจากระบบมีกษัตริย์เป็นสาธารณรัฐ โงดินห์เดียมขึ้นครองอำนาจเป็นประธานาธิบดี ยุคแห่งความทุกข์ยากเดือดร้อนของชาวพุทธก็กลับเริ่มต้นใหม่อีก

๔) ยุควิกฤติการณ์ชาวพุทธ ถึงวิกฤติการณ์รวมประเทศ
(พ.ศ. ๒๕๐๖ ถึงปัจจุบัน)

การปกครองประเทศเวียดนามใต้ ในสมัยของประธานาธิบดีโงดินห์เดียมนั้น มักเรียกกันว่า การปกครองของ ตระกูลโง เพราะเป็นการผูกขาดอำนาจอยู่ในหมู่พี่น้องของประธานาธิบดีโงดินห์เดียมเท่านั้น พี่น้องกลุ่มนี้เป็นผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิค มีจำนวน ๖ คน คือ

บาทหลวงโงดินห์ถึก อาร์ชบิชอพ (ในเมืองไทยชาวคาทอลิคใช้คำแปลอย่างไม่เป็นทางการว่า อัครสังฆราช หรือ อัครมหาสังฆราช) แห่งเมืองเว้

ประธานาธิบดีโงดินห์เดียม โงดินห์ข่อย (ถูกเวียดมินห์ สังหารเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘)

โงดินห์คาน ผู้ปกครองเวียดนามภาคกลาง โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเว้

โงดินห์นู เจ้าของกองกำลังพิเศษ ซึ่งเขามีอำนาจสั่งการได้โดยอิสระและฉับไว และ

โงดินห์เหลียน เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศอังกฤษ

โงดินห์เดียม เป็นชาวคาทอลิคผู้เคร่งครัด ถือพรหมจรรย์ครองตนเป็นโสด แม้จะเป็นประธานาธิบดี ก็มิใช่ผู้มีอำนาจอย่างแท้จริง โงดินห์นู น้องชายเป็นผู้กุมอำนาจอยู่หลังฉาก เป็นทั้งผู้วางแผนนโยบายและผู้บงการปฏิบัติการต่างๆ ของรัฐบาล ภรรยาของโงดินห์นู ซึ่งเรียกกันว่า มาดามนู ทำหน้าที่เป็นสตรีหมายเลข ๑ ของเวียดนาม และร่วมกับสามีในการวางแผนและบงการกิจการต่างๆ ของรัฐบาล ดำเนินการปกครองแบบเมาอำนาจ สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนมากขึ้นโดยลำดับ จนเป็นเหตุให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงเป็นวิกฤติการณ์ขึ้นในที่สุด

ภาวการณ์ทางศาสนาในเวียดนามใต้ที่ควรทราบ คือ บรรดาประชากรประมาณ ๑๖ ล้านคน มีชาวพุทธประมาณ ๑๒ ล้านคน หรือราวร้อยละ ๘๐ แบ่งเป็นผู้นับถือมหายานด้วยศรัทธาแรงกล้าราวร้อยละ ๓๕ ถึง ๔๐ เป็นชาวพุทธในนามราวร้อยละ ๔๐ ในจำนวนชาวพุทธ ๑๒ ล้านคนนั้นมีผู้นับถือนิกายเถรวาทราว ๒ ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่แถบชายแดนด้านที่ต่อกับเขมร นอกจากนั้นเป็นฝ่ายมหายาน ชาวคาทอลิคมีจำนวนประมาณ ๑.๗ ล้านคน หรือราวร้อยละ ๑๐ ของประชากรทั้งหมด ประชากรที่เหลือจากข้างต้นคือราวร้อยละ ๑๐ หรือ ๑๕ นับถือลัทธิหัวเหา เกาได๋ และนิกายอื่นๆ (แต่พวกหัวเหาว่าตนมีศาสนิกถึง ๒ ล้านคน และพวกเกาได๋ว่ามี ๑-๒ ล้านคน) วัดพุทธศาสนาทั้งฝ่ายมหายานและเถรวาทมีจำนวน ๖,๐๗๙ วัด มีภิกษุ ภิกษุณี และแม่ชีทั้งสองนิกาย ๒๓,๒๓๑ รูป (สองตัวเลขท้ายเป็นสถิติ พ.ศ. ๒๕๑๑)4

ประธานาธิบดีโงดินห์เดียม นายโงดินห์นู และมาดามนู เป็นคาทอลิคประเภทคลั่งศาสนา นอกจากส่งเสริมนิกายคาทอลิคและพยายามดัดแปลงวัฒนธรรมประเพณีของเวียดนามให้เป็นอย่างประเทศคาทอลิคในตะวันตกแล้ว ยังดูถูกเหยียดหยามและบีบคั้นข่มเหงพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมประเพณีเดิมของชาติด้วย มาดามนูเคยกล่าวแก่ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งใน พ.ศ. ๒๕๐๕ ว่า “พุทธศาสนาในเวียดนามนั้นอ่อนแอ เวียดนามจึงอาจเปลี่ยนเป็นประเทศคาทอลิคได้เป็นอย่างดี”

ในปลายปีเดียวกันนั้น พระภิกษุเวียดนามรูปหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์แก่นิตยสาร ‘Life’ ของอเมริกาว่า “ถ้าคุณอยากมั่งคั่งร่ำรวย ถ้าคุณอยากเป็นข้าราชการตำแหน่งสูง คุณต้องเป็นคาทอลิค”

ชาวเวียดนามคนหนึ่งพูดต่อว่าชาวอเมริกันแก่นักหนังสือพิมพ์อเมริกันว่า “ตลอดเวลาที่พวกฝรั่งเศสยึดครอง ก็ไม่เคยเอาจักรพรรดิคาทอลิคมาตั้งบนราชบัลลังก์เวียดนามได้สำเร็จเลย แต่พอถึงสมัยเดียม พวกคุณชาวอเมริกันได้เอาจักรพรรดิคาทอลิคมาให้แก่เราองค์หนึ่ง”

ถ้อยคำเหล่านี้ พอจะสะท้อนให้เห็นพฤติการณ์ของรัฐบาลโงดินห์เดียม และสภาพความเป็นไปในทางพระศาสนาสมัยนั้นได้ดีพอสมควร นอกจากพฤติการณ์ทั่วๆ ไปแล้ว ก็ได้มีเหตุการณ์สำคัญบางอย่างช่วยเพิ่มความกดดัน และความตึงเครียดขึ้นด้วย เช่น เมื่อประธานาธิบดีโงดินห์เดียมขึ้นครองอำนาจใหม่ๆ ได้มีชาวเวียดนามเหนืออพยพมาขอลี้ภัยในเวียดนามใต้ประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ คน คนเหล่านี้เป็นคาทอลิคร้อยละ ๘๐ คราวนั้นได้เกิดข้อติฉินว่า ประธานาธิบดีมีความลำเอียงในการให้ความช่วยเหลือปันส่วนอาหาร และจัดสรรที่ดินแก่ผู้ลี้ภัยชาวคาทอลิคดีกว่าชาวพุทธ และระแวงกันว่าท่านเดียมจะใช้ผู้ลี้ภัยเป็นเครื่องกุมอำนาจการเมืองให้มั่น และสถาปนารัฐคาทอลิคขึ้นในเวียดนามใต้

ความรู้สึกชาตินิยมที่เคยทำให้ชาวคาทอลิคกับชาวพุทธผนึกกำลังกันต่อสู้ฝรั่งเศสและโฮจิมินห์ ได้จืดจางหายไป มีความไม่ไว้วางใจกัน ความแตกแยก และชิงชังกันก่อตัวพอกพูนขึ้นมาแทนที่ ความกดดันและตึงเครียดทวีขึ้น จนในที่สุดก็เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่เรียกว่า “วิกฤติการณ์ชาวพุทธ” ขึ้นในปลายปี พ.ศ ๒๕๐๖ ซึ่งก่อความตื่นเต้นหวั่นไหวสะเทือนใจคนทั่วโลก และทำให้ระบอบตระกูลโงโค่นล้มลงในที่สุด นาย Jerrold Schecter หัวหน้าสำนักงานที่โตเกียวของหนังสือไทม์ไลฟ์ ได้เขียนเล่าเรื่องนี้ไว้ในหนังสือพระพักตร์ใหม่ของพระพุทธเจ้า (The New Face of Buddha) อย่างยืดยาวถึง ๑๐๘ หน้า

จุดก่อตัวของเหตุการณ์เริ่มต้นในวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๐๖ ในวันนั้นอาร์ชบิชชอพโงดินห์ถึก ได้จัดงานฉลองใหญ่โตที่เมืองดาลัท ในโอกาสที่ท่านเป็นบาทหลวงมาครบรอบปีที่ ๒๕ ในงานนี้ มีการประดับธงศาสนจักรคาทอลิคแห่งกรุงวางติกัน โดยมิได้ประดับธงชาติเวียดนามไว้เคียงคู่ด้วย ต่อมาอีก ๒ วัน ชาวพุทธที่เมืองเว้เตรียมจัดงานวิสาขบูชาซึ่งจะมีขึ้นในวันรุ่งขึ้น คือ วันที่ ๘ พฤษภาคม และได้นำธงฉัพพรรณรังสีอันเป็นเครื่องหมายของพระพุทธศาสนาขึ้นประดับ แต่ตำรวจเมืองเว้ได้เข้าสั่งห้ามและฉีกทึ้งธงบางส่วนที่นำขึ้นประดับแล้วลงมา ชาวพุทธได้ประท้วงต่อเจ้าเมืองซึ่งเป็นชาวพุทธ เจ้าเมืองได้สั่งห้ามตำรวจไม่ให้เก็บธงอีก และยังได้รับรองแก่ชาวพุทธอีกด้วยว่า ทางการอนุญาตให้ขบวนพิธีวิสาขบูชาตามประเพณีของชาวพุทธเคลื่อนไปตามท้องถนนเมืองเว้ในตอนเช้าวันรุ่งขึ้นได้ตามกำหนดการที่วางไว้

ต่อมานายโงตรองเฮียว รัฐมนตรีกิจการพลเรือนของรัฐบาลเวียดนามได้ชี้แจงแก่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศถึงเหตุผลที่ตำรวจห้ามมิให้ชาวพุทธประดับธงพระพุทธศาสนาว่า ประธานาธิบดีโงดินห์เดียมได้ออกคำสั่งไว้เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๐๕ ว่า ในการชักหรือประดับธงต่างๆ จะต้องให้มีธงชาติของสาธารณรัฐเวียดนามอยู่ในฐานะเด่นเป็นสำคัญยิ่งกว่าธงอื่นใด ครั้นถึงวันฉลองชีวิตบาทหลวงของท่านโงดินห์ถึก ท่านประธานาธิบดีได้ไปร่วมงานฉลองด้วย และเมื่อท่านเห็นธงวาติกันประดับอยู่อย่างเดียวโดยไม่มีธงชาติร่วมอยู่ด้วย ท่านรู้สึกตกใจมาก ครั้นกลับมาถึงเมืองไซ่ง่อนแล้ว ท่านก็รีบส่งบันทึกเตือนความจำเกี่ยวกับคำสั่งเรื่องการประดับธงไปยังข้าราชการทั่วประเทศ เจ้าหน้าที่แขวงเว้ได้รับบันทึกนั้นในวันที่ ๗ พฤษภาคม ก่อนวันวิสาขบูชาเพียง ๑ วันพอดี จึงได้ดำเนินการไปอย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ตาม ดร.อีริค วุลฟ์ หัวหน้าแผนกจิตเวชศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศเยอรมัน ซึ่งขณะนั้นไปปฏิบัติงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยเว้ ได้ให้ความเห็นว่า ประธานาธิบดีโงดินห์เดียมห้ามชาวพุทธประดับธงศาสนาในวันนั้น เพราะไม่พอใจที่ พระถิช ตรีกวาง ประธานพุทธสมาคมแห่งเวียดนามกลาง มิได้ส่งโทรเลขอวยพรไปยังบาทหลวงโงดินห์ถึก ในการฉลองครบรอบปีที่ ๒๕ แห่งชีวิตบาทหลวงของท่าน

ตามกำหนดการพิธีวิสาขบูชา วันที่ ๘ พฤษภาคม พระถิช เธียนเขียดมหาเถระ ประมุขสงฆ์เวียดนาม (ประธานสมาคมมวลพุทธบริษัทเวียดนาม) จะกล่าวสัมโมทนียกถาทางสถานีวิทยุเมืองเว้ในตอนค่ำ แต่เมื่อเริ่มต้นงานในตอนเช้า ก็เกิดเหตุเสียก่อน กล่าวคือ ในเวลา ๑๐.๐๐ น. เจ้าเมืองได้กล่าวสุนทรพจน์สั้นๆ จากนั้นพระภิกษุรูปหนึ่งได้กล่าวสัมโมทนียกถาแก่ประชาชนที่มาชุมนุมประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน ท่านได้กล่าวพาดพิงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ชาวพุทธมิได้ต่อต้านรัฐบาล แต่ก็ไม่อาจทนต่อปฏิบัติการด้านศาสนาอย่างที่เป็นอยู่นั้นต่อไปได้อีก ท่านเรียกร้องขอให้มีอิสรภาพทางศาสนาโดยสมบูรณ์ พระภิกษุอีกรูปหนึ่งได้ตะโกนคำนัดแล้วก็มีธง ๑๕ ผืนชูขึ้น พร้อมกับคำประกาศก้องว่า “เสรีภาพทางศาสนา ผู้ต่อต้านศาสนาจงพินาศ พุทธศาสน์อยู่นิรันดร์” ทันใดนั้นรัฐบาลก็โต้ตอบโดยให้ระงับรายการกล่าวสัมโมทนียกถาทางวิทยุของประมุขสงฆ์ในตอนค่ำ ให้มีรายการเกี่ยวกับพุทธศาสนาอย่างอื่นแทน ส่วนการพูดให้เลื่อนออกไป (โดยไม่มีกำหนด)

ประชาชนประมาณ ๓,๐๐๐ คน ได้มาชุมนุมเดินขบวนอย่างสงบนอกสถานีวิทยุกระจายเสียงเมืองเว้ ต่อมาราว ๒๒ น. เศษ รัฐบาลได้ส่งรถถังและยานเกราะมาต้านประชาชน รถถังและกองทหารได้แล่นตะลุยพร้อมกับยิงปืนเข้าไปที่ฝูงชน ทำให้คนแตกกระจายออกไป ปรากฏว่ามีคนตาย ๙ คน ในจำนวนนี้เป็นเด็ก ๖ คน รัฐบาลแถลงว่าผู้ก่อการร้ายเวียดกงขว้างระเบิดเข้าไปกลางที่ชุมนุม แต่ผู้เห็นเหตุการณ์ก็ดี ภาพถ่ายที่ ดร.วุลฟ์ และแพทย์เยอรมันอีกคนหนึ่งถ่ายไว้ในตอนเกิดเหตุการณ์ก็ดี ยืนยันเป็นหลักฐานว่าคนทั้งเก้าตายเพราะกระสุนปืนจากรถถังและยานเกราะบ้าง ถูกรถเหล่านั้นบดขยี้บ้าง

ต่อมาในวันที่ ๑๕ คณะชาวพุทธทั้งพระและคฤหัสถ์ได้เข้าพบประธานาธิบดีและยื่นข้อเรียกร้อง ๕ ข้อคือ

๑. ขอให้ยกเลิกคำสั่งของประธานาธิบดีที่ห้ามมิให้ชักและประดับธงอันเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา

๒. ขอให้ชาวพุทธและชาวคาทอลิคมีความเสมอภาคกันตามกฎหมาย

๓. ขอให้รัฐบาลเลิกการแกล้งจับกุมชาวพุทธ

๔. ขอให้มีเสรีภาพในการปฏิบัติและเผยแพร่คำสอนทางพระพุทธศาสนา

๕. ขอให้จ่ายค่าเสียหายแก่ครอบครัวของชาวพุทธที่ถูกสังหารในวันที่ ๘ พฤษภาคม และดำเนินการแก่เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในการกระทำความผิดตามตัวบทกฎหมาย

ประธานาธิบดีได้พูดโต้แย้งทำนองที่ถือว่า ข้อเรียกร้องเหล่านั้นเป็นคำกล่าวหาต่อรัฐบาล และชี้แจงว่ารัฐบาลไม่ได้ทำความผิดหรือสิ่งเสียหายใดๆ ตามคำกล่าวหาเหล่านั้น ชาวพุทธจึงไม่ได้รับความพอใจ

ครั้นถึงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พระภิกษุและแม่ชีราว ๔๐๐ รูป ได้นั่งอดอาหารประท้วงที่หน้าตึกรัฐสภา รัฐบาลก็ตอบโต้ด้วยการปลดเจ้าเมือง (ชาวพุทธ) นายกเทศมนตรี และผู้แทนรัฐบาลที่เมืองเว้ นอกจากนั้น ประธานาธิบดียังแกล้งลบหลู่ทำให้สมาคมมวลพุทธบริษัทเวียดนามเสียหน้า โดยไปประกอบพิธีเปิดวัดใหม่ให้แก่คณะชาวพุทธนิกายโคซอนมอนที่เมืองไซ่ง่อนอีกด้วย นิกายโคซอนมอนนี้ ให้พระสงฆ์แต่งงานมีครอบครัวได้ และสมาคมมวลพุทธบริษัทเวียดนามไม่รับรอง ประธานาธิบดีจึงมีแผนการจะยกนิกายนี้ขึ้น และจะให้นิกายนี้เป็นตัวแทนชาวพุทธเวียดนามในองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกแทนสมาคมมวลพุทธบริษัทเวียดนาม แผนการนี้เป็นยุทธวิธีของโงดินห์เดียม ที่จะทำให้ตำแหน่งผู้นำชาวพุทธกระจายออกไป เกิดมีคู่แข่งกันเอง ทำให้ชาวพุทธแตกแยกกัน และทำให้สมาคมมวลพุทธบริษัทเวียดนามเสื่อมจากความเชื่อถือหรือถึงกับหมดความหมายไป แต่ประธานาธิบดีลืมคิดไปว่าบัดนี้เหตุการณ์ได้ขยายกว้างขวางออกไปเลยเขตวัดเสียแล้ว

ในวันที่ ๓ มิถุนายน นักเรียน นักศึกษา ๓,๕๐๐ คนได้ชุมนุมหน้าทำเนียบประธานาธิบดีประท้วงการเดียดฉันท์ทางศาสนา แต่รัฐบาลได้ส่งทหารเข้าขับไล่จับผู้ชุมนุมไปขังคุก ๓๘ คน มีผู้บาดเจ็บเข้ารักษาในโรงพยาบาล ๖๗ คน พร้อมนั้นก็ประกาศกฎอัยการศึก ห้ามชุมนุม ห้ามออกจากบ้าน เอาทหารเข้าคุมเมืองเว้ และล้อมวัดตูดาม ซึ่งเป็นวัดสำคัญของเมืองเว้ไว้ กั้นรั้วลวดหนาม ตัดน้ำไฟไม่ให้เข้าทั้งหมด และตรวจค้นผู้ที่จะผ่านเข้าออกทุกคน แล้วติดป้ายประกาศว่า พวกนักโกหกหลอกลวง พวกต่างชาติ และพวกเวียดกง เป็นผู้ก่อความวุ่นวายทั้งหมด จากนั้นรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการพิเศษสมทบต่างกระทรวงขึ้น มีรองประธานาธิบดีเป็นประธาน เพื่อให้พบปะเจรจากับคณะกรรมการนานานิกายของฝ่ายชาวพุทธ แต่ในเวลาเดียวกัน หน่วยราชการและกองทหารก็แจกใบปลิวประณามพระถิช ตรีกวาง นายกพุทธสมาคมเวียดนามกลางว่า ทำอุบายเชิญประชาชนมาสวดมนต์ แล้วจัดการเดินขบวนที่รุนแรงขึ้นแทน

พอถึงวันที่ ๘ มิถุนายน มาดามนูก็เริ่มออกโรง โดยทำการแถลงการณ์ประณามชาวพุทธว่าเป็นพวกสงวนท่า ไม่ขวนขวายช่วยต่อสู้คอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นศัตรูของประเทศ เป็นพวกที่มีพฤติกรรมอันส่อถึงเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ เป็นพวกหลงผิด ถูกเขาใช้เป็นเครื่องมือ ทางด้านสหรัฐสถานทูตอเมริกันได้พยายามเร่งเร้าให้ประธานาธิบดีหาทางออมชอมกับชาวพุทธเสีย ถึงกับกล่าวว่าถ้ารัฐบาลไม่ดำเนินการยุติวิกฤติการณ์ รัฐบาลสหรัฐก็จำเป็นจะต้องปลีกตัวจากนโยบายของรัฐบาลเวียดนามและประกาศให้ประชาชนทราบว่าสหรัฐไม่เห็นด้วยกับนโยบายนั้น แต่รัฐบาลเวียดนามก็ยังดึงดันอยู่ต่อไป ก่อนจะถึงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๓ วัน ประธานาธิบดีได้รับแจ้งล่วงหน้าว่าจะมีพระภิกษุเผาตัวตาย เพื่อเรียกร้องขอความเสมอภาคในการปฏิบัติการทางศาสนา แต่ประธานาธิบดีก็ไม่ยอมผันผ่อนอ่อนข้อใดๆ ทั้งสิ้น ด้วยเห็นว่าเป็นแต่เพียงคำขู่ ซึ่งพระสงฆ์คงจะไม่ทำจริง

ครั้นถึงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๐๖ ขณะที่พระภิกษุและแม่ชีประมาณ ๑ พันรูป ได้ประกอบพิธีสวดมนต์อุทิศกุศลแก่ผู้เสียชีวิตในวันวิสาขบูชา แล้วเดินไปตามถนนในเมืองไซ่ง่อน พอถึงหน้าสถานทูตเขมร พระภิกษุถิช กวางดึ๊ก อายุ ๗๒ ปี ก็เผาตนเองถึงแก่มรณภาพ ชาวพุทธได้นำศพของท่านไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดซาลอยซึ่งเป็นศูนย์กลางของชาวพุทธในเมืองไซ่ง่อน วัดต่างๆ ชักธงศาสนาครึ่งเสาเป็นการไว้อาลัยแก่ท่าน ทางรัฐบาลก็ได้ส่งทหารและตำรวจมาล้อมวัดซาลอยไว้ การเผาตัวของท่านถิช กวางดึ๊กนี้ ก่อความสะเทือนใจแก่ชาวพุทธเวียดนามทั่วทั้งหมด จูงให้เกิดอารมณ์ร่วม แม้ชาวพุทธที่ต่างนิกายกัน และชาวพุทธแต่เพียงในนาม หรือชาวพุทธวงนอก ก็หันมาเอาใจใส่การที่ศาสนาของตนถูกข่มเหงรังแก เกิดความเห็นอกเห็นใจกันและมีจิตใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

การเผาตัวของพระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกเวียดนามในเหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นข่าวตื่นเต้นอย่างยิ่ง ทำให้วิกฤติการณ์ในเวียดนามกลายเป็นจุดสนใจของคนทั่วโลก และมีผู้วิพากย์วิจารณ์เรื่องการเผาตัวนั้นต่างๆ นานา ในที่นี้จะละเว้นความเห็นของชาวพุทธเอง พูดถึงแต่ทัศนะของคนภายนอกบางคนเป็นตัวอย่าง นาย Schecter ผู้แต่งหนังสือ “พระพักตร์ใหม่ของพระพุทธเจ้า” และศาสตราจารย์ Paul Mus แห่งมหาวิทยาลัยเยล (ในหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นชื่อ The Yomiuri ฉบับ ๓๑ ส.ค. ๑๙๖๓) ผู้เคยอยู่ในเวียดนามถึง ๒๗ ปี ได้แสดงความคิดเห็นมีสาระสำคัญว่า การเผาตัวของพระได้เคยมีมาในประเพณีทางศาสนาของฝ่ายมหายานอยู่แล้ว เมื่อพระถิช กวางดึ๊กเผาตัวถึงแก่มรณภาพ ชาวพุทธมหายานจึงยอมรับการกระทำนั้นได้ทันที และนับถือว่าเป็นการพลีชีวิตเพื่อพระศาสนาของท่านผู้สำเร็จ ส่วนในด้านผลทางการเมือง การกระทำนี้แสดงถึงความทุกข์ของชาวพุทธที่รุนแรงและสยดสยองถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นเครื่องรวมใจให้มหาชนเกิดความเคียดแค้นชิงชังต่อรัฐบาลของโงดินห์เดียมอย่างพร้อมเพรียงกัน และเร้าใจให้ชาวพุทธเวียดนามเกิดความสำนึกในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เกิดกำลังใจและความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวที่จะต่อต้านรัฐบาลโงดินห์เดียม ดังเช่นข้าราชการพลเรือนเวียดนามคนหนึ่งที่พูดว่า

“พวกเราอยู่กันมาใต้ระบอบแห่งความหวาดผวา แต่เมื่อเกิดเหตุกับท่านกวางดึ๊กแล้ว ผมไม่กลัวมันอีกต่อไป”

การเผาตัวเป็นการหลีกเลี่ยงการทำร้ายผู้อื่นของผู้ยึดมั่นในหลักการไม่เบียดเบียน เป็นการสละชีวิตของตนเองเพื่อรักษาชีวิตของผู้อื่น ทั้งฝ่ายตนเองและฝ่ายผู้ทำร้าย คือรักษาชีวิตผู้อื่นในฝ่ายของตนด้วยการแจ้งแก่ฝ่ายผู้ทำร้ายว่า พวกตนจะไม่เป็นภัยอันตรายที่พวกเขาจะต้องกำจัด และรักษาชีวิตของฝ่ายผู้ทำร้ายด้วยการเตือนฝ่ายพวกตนในยามที่ทุกคนกำลังนึกถึงการแก้แค้น ไม่ให้ไปทำร้ายเขา เป็นการระงับการนองเลือดโดยเอาชีวิตของตนเข้าแลก นอกจากนั้น ตามปกติคนทั่วไปและผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ มักจะรู้ว่าเหตุการณ์ร้ายแรงก็ต่อเมื่อเกิดการนองเลือดขึ้นแล้ว การเผาตัวเป็นการแจ้งให้ทราบถึงความรุนแรงของสถานการณ์ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องรับผิดชอบตื่นตระหนัก แล้วรีบป้องกันแก้ไขไม่ให้เกิดการพินาศสูญเสียต่อไป เป็นการเสียสละตนเองเพื่อรักษาชีวิตผู้อื่นอีกเช่นเดียวกัน เป็นความรับผิดชอบทางศีลธรรมอย่างสูงสุด

เมื่อพระถิช กวางดึ๊ก เผาตัวถึงมรณภาพแล้ว คณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้น ได้พบปะกับชาวพุทธ เพื่อเร่งทำความตกลงออมชอมกัน และในตอนเช้าวันที่ ๑๘ มิถุนายน ซึ่งเป็นวันกำหนดพิธีเผาศพท่านกวางดึ๊ก ทั้งสองฝ่ายก็ตกลงกันได้ในข้อเรียกร้อง ๕ ข้อของชาวพุทธ ทางฝ่ายรัฐบาลขอแก้ข้อความว่า “ชดใช้ค่าเสียหาย” เป็นว่า “รัฐบาลจะช่วยเหลือผู้ประสบอันตราย” และตกลงแต่งตั้งคณะกรรมการอีกคณะหนึ่งสำหรับสอบสวนตามข้อกล่าวหาของชาวพุทธที่ว่า รัฐบาลข่มเหงรังแกชาวพุทธ แล้วลงนามในแถลงการณ์ร่วม

ประธานาธิบดีได้ลงนามโดยเขียนกำกับไว้ว่า “ประเด็นต่างๆ ที่ปรากฏในแถลงการณ์ร่วมนี้ ข้าพเจ้าได้เห็นชอบด้วยในหลักการมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว” ซึ่งความจริงท่านได้บิดพลิ้วและดึงดันมาโดยตลอด ฝ่ายชาวพุทธยอมตกลงเลื่อนกำหนดงานเผาศพออกไป เพื่อจะได้มีเวลาแจ้งข่าวการตกลงกันนี้ให้ประชาชนทราบทั่วถึงกันเสียก่อน เมื่อถึงพิธีสำคัญซึ่งเป็นตอนที่คนจะเกิดอารมณ์รุนแรง ความตึงเครียดจะได้ผ่อนคลายลง แต่ไปประกาศเลื่อนงานเอาในเวลาที่ประชาชนมาชุมนุมกันแล้ว ฝูงชนซึ่งมีจำนวนถึง ๑๐,๐๐๐ คนไม่ยอมฟังแม้แต่พระที่ขึ้นไปประกาศ เกิดความสับสนวุ่นวาย ประชาชนและนักเรียนนักศึกษาพากันเอาก้อนหินขว้างปาตำรวจที่เอาลวดหนามมาล้อมกั้นตามถนน ตำรวจจึงระงับการเดินขบวน จับนักศึกษาไป ๒๐๐ คน และมีเด็กหนุ่มคนหนึ่งถูกยิงที่ศีรษะถึงแก่ความตาย

ตอนนี้ผู้นำชาวพุทธเกิดแตกแยกกัน พระหนุ่มเลือดร้อนโกรธเคืองไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนข้อความในแถลงการณ์ร่วมจาก “ชดใช้ค่าเสียหาย” เป็น “รัฐบาลจะช่วยเหลือผู้ประสบอันตราย” อย่างไรก็ตาม ในวันรุ่งขึ้นก็ได้มีพิธีเผาศพท่านกวางดึ๊กโดยมีตำรวจ ๗,๐๐๐ คนมาคอยกั้นไม่ให้ประชาชนเข้าร่วมขบวนศพ เสร็จพิธีศพแล้ว ปรากฏว่ามีหัวใจของท่านกวางดึ๊กเกรียมดำ แต่ไม่ไหม้ อยู่ในกองเถ้าถ่านด้วย ชาวพุทธจึงนำเอาไปประดิษฐานไว้บนแท่นบูชาในวัดซาลอย หัวใจนี้กลายเป็นเครื่องดึงความสนใจให้คนมาวัดซาลอยกันมากมายขึ้นอีก และทำให้เหตุการณ์วันเผาตัวพร้อมทั้งการกระทำของท่านกวางดึ๊กคงอยู่ในจิตสำนึกของประชาชนต่อไป อีกทั้งข่าวเรื่องปาฏิหาริย์หัวใจไม่ไหม้นี้ก็แพร่กระจายไปทั่วประเทศ เพิ่มพลังแก่กรณีนี้มากขึ้นไปอีก

แม้ว่าจะได้มีการตกลงกันดังกล่าวแล้ว แต่เหตุการณ์ที่ยากที่จะยุติลงได้ เพราะโงดินห์นูและมาดามนู ซึ่งเป็นตัวการชักใยรัฐบาลในการต่อต้านชาวพุทธ มีความตั้งใจที่จะบดขยี้ชาวพุทธให้ได้ โงดินห์นูมีแผนการณ์ว่าจะทำให้การประท้วงของชาวพุทธสงบเงียบลง หาทางให้ประชาชนคลายความสนับสนุนลงก่อน แล้วจึงลงมือ

เฉพาะตัวประธานาธิบดีนั้น ตอนแรกก็มีท่าทีเอนเอียงไปในทางที่จะยอมรับคำแนะนำของสถานทูตอเมริกันและการเร่งเร้าของที่ปรึกษาใกล้ชิดบางคนให้ประนีประนอมออมชอมกับชาวพุทธ แต่โงดินห์นูและมาดามนูไม่ยอมฟังเสียงทั้งสิ้น เขาทั้งสองถือว่า พวกชาวพุทธเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกคอมมิวนิสต์แทรกซึมและเป็นผู้ต้องการโค่นล้มการปกครองของตระกูลโง โงดินห์นูวางแผนอยู่เรื่อยๆ ตามความคิดของเขา และคอยเวลาดำเนินการ ถึงตอนนี้โงดินห์นูเรียกพระว่า พวกกบฏ และกล่าวคำเยาะเย้ยต่างๆ เขาเขียนบทวิจารณ์เหตุการณ์ครั้งนี้ออกเผยแพร่ต่อกันเป็นชุด เวลาพูดถึงการเผาตัวของท่านกวางดึ๊ก เขาใช้คำเรียกว่า “การย่างเนื้อสดของชาวพุทธ นูให้สัมภาษณ์แก่นาย Schecter ว่า

“ประวัติความดีความชอบของพวกชาวพุทธมีเพียงอย่างเดียวคือ การย่างเนื้อสดของกวางดึ๊ก พวกเหล่านี้ไม่ได้ทำอะไรให้เกิดความเจริญก้าวหน้าแก่ประเทศชาติเลย ไม่ว่าทางสติปัญญา ทางการสู้รบ หรือทางเศรษฐกิจก็ตาม พวกชาวพุทธเป็นได้อย่างเดียวคือตัวอุปสรรค พวกนี้ไม่ได้มีส่วนช่วยอะไรเลย”

ส่วนมาดามนูนั้นถึงกับกล่าวว่า “ถ้ามีพระย่างเนื้อสดตัวเองอีก ฉันจะตบมือให้” คำพูดของนางจึงเป็นการโหมกระพือไฟให้ลุกโพลงยิ่งขึ้น โงดินห์นูบอกกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศว่า “แถลงการณ์ร่วมของรัฐบาลนั้น เป็นอันแก้ไขปัญหาหมดทุกอย่างแล้ว ไม่มีเหตุผลใดๆ อีกที่พวกชาวพุทธจะดำเนินขบวนการผิดกฎหมายต่อไป ถ้ารัฐบาลนี้ไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยได้ รัฐบาลที่เข้ามาใหม่ก็จะบดขยี้พวกชาวพุทธ เพราะเดี๋ยวนี้ ทุกคนต่อต้านชาวพุทธทั้งนั้น ทุกคนไม่เห็นด้วยกับพระ ๕-๖ องค์ที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของใครเลย”

แต่สถานการณ์ที่แท้จริงกลายเป็นว่า รัฐบาลยังไม่ได้ปล่อยคนอีกจำนวนมากที่ถูกจับตั้งแต่คราวเดินขบวน รัฐบาลยังจับผู้นำชาวพุทธตามพอใจ และห้ามมิให้ชาวพุทธไปประกอบพิธีที่วัดในชนบท พระเถระประมุขสงฆ์มีหนังสือแจ้งเรื่องนี้ไปยังประธานาธิบดีๆ ก็ปฏิเสธ จึงมีการบอกแจ้งให้รู้กันว่า ข้อตกลงล้มเหลว รัฐบาลไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง เมื่อเป็นเช่นนี้ การเดินขบวนของชาวพุทธก็เริ่มต้นอีกในวันที่ ๑๖ กรกฎาคม เหตุการณ์วุ่นวาย การประท้วง และการปราบปรามดำเนินต่อไปอีก

พึงสังเกตว่าในตอนนี้ศาสนจักรโรมันคาทอลิคได้ประกาศแล้วว่า ไม่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการของรัฐบาลโงดินห์เดียมในการบีบคั้นชาวพุทธ เพราะองค์สันตะปาปาที่กรุงโรมทรงละอายต่อการกระทำของรัฐบาลนั้น แม้วงการคาทอลิคในเวียดนามเองก็แยกตัวไม่เกี่ยวข้อง บาทหลวงท่านหนึ่งกล่าวว่า “การต่อสู้ของชาวพุทธ ไม่ได้มุ่งต่อต้านศาสนจักรคาทอลิค หากแต่ต่อต้านรัฐบาลที่บังเอิญมีชาวคาทอลิคร่วมอยู่ด้วยเท่านั้นเอง”

ต่อมาถึงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหาคม รองประธานาธิบดีได้แจ้งให้ความมั่นใจแก่ชาวพุทธว่า รัฐบาลมีความปรารถนาอย่างจริงจังที่จะออมชอมกับชาวพุทธ และจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนคำร้องทุกข์ต่างๆ ของชาวพุทธ ตอนนี้ทุกอย่างทำท่าจะเรียบร้อย เจ้าหน้าที่สถานทูตอเมริกันถึงกับแจ้งให้ผู้สื่อข่าวมั่นใจว่า ทุกคนลงกันได้แล้วตามนโยบายประนีประนอม

แต่แล้วโดยไม่มีใครคาดคิด ในวันที่ ๓ สิงหาคม มาดามนูแต่งตัวชุดสีจีวรพระทั้งชุด ขึ้นกล่าวคำปราศรัยหน้าศาลากลางจังหวัดในเมืองไซ่ง่อน โจมตีชาวพุทธอย่างรุนแรงที่สุดตั้งแต่เริ่มเกิดวิกฤติการณ์ นางกล่าวว่า “การก่อกวนของชาวพุทธ เป็นการทรยศที่ต่ำช้าเลวทราม ชาวพุทธทำมายาหลอกลวงว่าตนถูกโจมตี จะหลอกลวงได้ก็แต่คนที่อยากถูกหลอกลวงเท่านั้น การกระทำของชาวพุทธ ลดเกียรติของพุทธศาสนาลงให้เป็นเพียงลัทธิมายาสาไถย หรือลัทธิลวงโลก พวกชาวพุทธนำเอากโลบายที่น่ารังเกียจที่สุดของพวกคอมมิวนิสต์มาใช้”

วาทะของมาดามนูครั้งนี้ทำให้ชาวพุทธเคลื่อนไหวอีก และทำให้ผู้นำชาวพุทธเชื่อแน่ว่า การทำท่าจะประนีประนอมของรัฐบาลเป็นเพียงหลุมพรางให้การประท้วงของชาวพุทธอ่อนกำลังลงเท่านั้น การชุมนุมประท้วง การเดินขบวน และการใช้กำลังทหารปราบปรามดำเนินต่อไปอีก และมีการเผาตัวเพิ่มขึ้นด้วย ในช่วงระหว่างวันที่ ๔-๑๖ สิงหาคม ถึง ๔ ราย เป็นภิกษุ ๒ รูป (อายุ ๒๔ และ ๗๑ ปี) สามเณร ๑ รูป (อายุ ๑๙ ปี) และชีสาว ๑ รูป (อายุ ๒๐ ปี) ไม่นับนักศึกษาสาวอายุ ๑๘ ปี แห่งมหาวิทยาลัยเว้อีก ๑ รายที่ใช้ขวานสับข้อมือของตนประท้วงทารุณกรรมของรัฐบาล และได้ถึงแก่กรรมในเวลาต่อมา

โงดินห์นูลงมือทำการขั้นต่อไปด้วยวิธีจู่โจมทำลายแบบสายฟ้าแลบ ในตอนเที่ยงคืนของวันที่ ๒๐ ต่อกับวันที่ ๒๑ สิงหาคม กองกำลังพิเศษของเขาได้เคลื่อนมายังวัดซาลอย บุกข้ามรั้วลวดหนามเข้าไป พังประตูกุฏิพระและเรือนแม่ชี ฉุดกระชากลากตัว และใช้ปืนขู่บังคับเอาตัวไปขึ้นรถ เสียงปืนดังก้องสลับด้วยเสียงพระร้องตะโกน เสียงหวีดร้องของแม่ชี ต่อด้วยเสียงตึงตังโครมครามของประตูหน้าต่างสิ่งของเครื่องใช้ที่ถูกทหารทุบทำลายดังแซงขึ้นมากลบเสียงตะโกนและเสียงหวีดร้อง นอกจากวัดซาลอยแล้ว รัฐบาลได้ดำเนินการล้อมจับอย่างทารุณเช่นนี้ที่วัดอื่นในเมืองไซ่ง่อนอีก ๕ วัด ส่วนที่เว้ รัฐบาลส่งกองทหารเข้ายึดเมือง และบุกเข้าโจมตีวัดตูดาม ประชาชนตื่นตระหนกตกใจพากันวิ่งออกมาอลหม่านในท้องถนน ฉวยได้หม้อบ้างกะทะบ้าง ตีบอกกันเป็นสัญญาณแจ้งอันตราย ประธานาธิบดีประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ พอรุ่งเช้าราษฎร ๕ พันคนก็เดินประท้วงไปตามท้องถนน ทหารยิงปืนไล่และลากคนเดินขบวนขึ้นรถไป ตามเมืองต่างๆ เช่น ดานัง ควินอน กวางตรี เป็นต้น มีชาวพุทธเดินขบวนกันทั่วไป และทหารก็เข้าจับกุมทุกแห่ง

ในวันที่ ๒๑ สิงหาคม กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นชอบด้วยกับปฏิบัติการในทางกดขี่บีบคั้นของรัฐบาลเวียดนามใต้ และกล่าวโทษรัฐบาลเวียดนามใต้ที่มิได้ปฏิบัติตามคำขอร้องของสหรัฐฯ ที่ให้ประนีประนอมกัน ในระยะเดียวกันนั้น ประธานาธิบดีเคนเนดีก็สั่งองค์การซีไอเอ ให้หยุดเลิกการอุดหนุนแก่กองกำลังพิเศษของโงดินห์นู ทั้งในด้านทุนและอาวุธ

ส่วนชาวพุทธนั้น เมื่อถูกบั่นรอนทำลายอย่างนี้ ก็ลงดำเนินงานใต้ดินต่อไป โดยมีพลังประชาชนซึ่งบัดนี้มีจิตใจรวมเป็นอันเดียวกันแล้ว เป็นเครื่องสนับสนุน ข้าราชการเวียดนามก็กล้าแสดงออกประท้วงการกระทำของรัฐบาล เริ่มด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศยื่นใบลาออก และโกนศีรษะประท้วง เอกอัครราชทูตเวียดนามใต้ประจำสหรัฐฯ และผู้สังเกตการณ์พิเศษของเวียดนามใต้ประจำองค์การสหประชาชาติ (บิดามารดาของมาดามนู) ลาออกจากตำแหน่ง เจ้าหน้าที่สถานทูตเวียดนามใต้ในสหรัฐฯ ลาออกทั้งคณะ นักศึกษาและนักเรียนทั้งในมหาวิทยาลัยและโรงเรียนต่างๆ นัดหยุดเรียนบ้าง เดินขบวนบ้าง ชุมนุมประท้วงบ้าง จนตำรวจต้องไปคุมโรงเรียนทุกแห่ง นักศึกษาถูกจับไปอีกเกิน ๓,๐๐๐ คน นักการทูตและชาวพุทธในประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น พม่า เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส ลังกา อินเดีย อินโดนีเซีย ทูตไทยในอินเดีย เคลื่อนไหวแสดงความเห็นอกเห็นใจชาวพุทธเวียดนามใต้ และเรียกร้องให้รัฐบาลโงดินห์เดียมยุติการประหัตประหารชาวพุทธเสีย มีพระภิกษุเผาตัวถึงมรณภาพอีก ๒ รูป ในวันที่ ๕ และ ๒๗ ตุลาคม รวมกับเก่าเป็น ๗ รูป

องค์การสหประชาชาติตั้งคณะผู้แทนมาสอบสวนข้อเท็จจริงที่เวียดนามใต้ และจะอภิปรายเรื่องนี้ ทางด้านรัฐบาลโงดินห์เดียม แม้จะมีกำลังอาวุธ แต่ก็อ่อนเปลี้ยในด้านกำลังสนับสนุนจากประชาชน เมื่อเหตุการณ์สุกงอมแล้ว แต่โงดินห์เดียมและโงดินห์นูก็ยังสร้างแต่ความกดดันให้ตึงเครียดอยู่ต่อไป รัฐบาลอเมริกันจึงไม่ขัดข้องที่คณะทหารเวียดนามจะทำการรัฐประหาร ครั้นแล้วในวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๖ คณะทหารมีนายพลเดือง วัน มินห์ เป็นผู้นำ ก็ได้ยึดอำนาจรัฐบาลเวียดนามใต้ โค่นล้มประธานาธิบดีโงดินห์เดียมลง ทั้งโงดินห์เดียมและโงดินห์นูหนีไปหลบซ่อน แต่ถูกจับได้และถูกสังหารที่ภายในท้ายรถบรรทุกทหารในตำบลโซลอน แห่งนครไซ่ง่อน ระบอบตระกูลโงก็ถึงอวสานแต่บัดนั้น

วิกฤติการณ์ครั้งนี้ทำให้พระพุทธศาสนาสัมพันธ์กับลัทธิชาตินิยมมากขึ้น เอกสารของสหพุทธจักรเวียดนามถึงกับกล่าวว่า การต่อสู้เพื่อโค่นล้มระบอบโงดินห์เดียม ประสบความสำเร็จไม่แต่เพียงเคลื่อนกำลังชาวพุทธเข้าปกป้องพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังได้ปลุกสำนึกชาตินิยมของมวลชนขึ้นด้วย พระพุทธศาสนากับชาตินิยมเกี่ยวพันกลมกลืนกันในความรู้สึกของชาวพุทธทุกคน จนยากที่จะแยกออกจากกันได้

ส่วนผลระยะยาวต่อกิจการพระพุทธศาสนาในเวียดนามใต้ก็มีมากเช่นเดียวกัน กล่าวคือ นอกจากทำให้ชาวพุทธตื่นตัวขึ้น หันมาเอาใจใส่ศาสนาของตน มีจิตใจรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และรีบเร่งฟื้นฟูปรับปรุงกิจการของตนแล้ว ยังทำให้พระสงฆ์เข้าไปพัวพันในการเมืองอย่างลึกซึ้งอีกด้วย ทั้งนี้เพราะวิกฤติการณ์นี้ แม้ตอนเริ่มต้นจะเป็นเรื่องทางศาสนา หรือการต่อสู้เพื่อพระศาสนา แต่การต่อสู้ได้ดำเนินไปเป็นเวลานาน ต้องขับเคี่ยวกับอำนาจการเมือง ในที่สุดก็เลยกลายเป็นวิกฤติการณ์และการต่อสู้ทางการเมือง พระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้นำของชาวพุทธ ไม่แต่เพียงจะถูกการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ยังได้ผ่านประสบการณ์ในการต่อสู้ทางการเมืองอย่างมากมายอีกด้วย

นอกจากนั้น ในการต่อสู้ ชาวพุทธเป็นฝ่ายได้รับความสนับสนุนและความนิยมจากประชาชนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พระสงฆ์จึงมีอำนาจทางการเมืองมากขึ้นด้วย ยิ่งได้เป็นฝ่ายชนะในวิกฤติการณ์เข้าอีก ชาวพุทธก็กลายเป็นพลังใหญ่ในทางการเมืองไปทีเดียว เสียงของพระสงฆ์กลายเป็นเสียงหนักแน่นที่นักการเมืองผู้ยังต้องอาศัยความสนับสนุนจากประชาชนจะต้องรับฟัง เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเกิดมีปัญหาใหม่ขึ้นในวงการพระศาสนาว่า เมื่องานสำเร็จแล้ว พระสงฆ์ผู้นำเหล่านั้นจะรู้ตัวรีบกลับเข้าในหลักเขตของตน มุ่งดำเนินงานด้านฟื้นฟูปรับปรุงกิจการพระศาสนาให้เต็มที่ต่อไป หรือจะติดในอำนาจและเพลิดเพลินในการใช้ความจัดเจนทางการเมือง ก้าวเลยขอบเขตของตนต่อไป และเข้าไปแทรกแซงวุ่นวายในด้านการเมืองเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งหากเป็นอย่างนัยหลังก็อาจเป็นอันตรายได้มากทั้งแก่ตนเอง แก่พระศาสนา และแก่ประเทศชาติ เพราะในเวลานั้นประเทศเวียดนามใต้กำลังอยู่ในสภาพที่ไม่เป็นปกติสุข มีคู่ต่อสู้ทางการเมืองที่กำลังขับเคี่ยวกันอยู่แล้ว คือฝ่ายรัฐบาลกับเวียดกง และทั้งสองฝ่ายนี้มีกำลังทหารสำหรับใช้อาวุธสู้รบกันด้วย ถ้าพระสงฆ์นำชาวพุทธเข้าไปร่วมเวที ตนเองปราศจากกำลังทหารและอาวุธ จะสู้เพื่อเข้าครองอำนาจเองก็ไม่ใช่ ถ้าไม่มีความรู้ความเข้าใจและความชำนาญเพียงพอก็ยิ่งจะทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายมากขึ้น หรืออาจกลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปได้โดยง่าย

เมื่อรัฐบาลโงดินห์เดียมล้มลงแล้ว รัฐบาลทหารขึ้นครองอำนาจแทน ชาวพุทธกลายเป็นพลังใหญ่ทางการเมืองถัดจากทหารและเวียดกง พระสงฆ์ต้องการจะฟื้นฟูปรับปรุงกิจการพระศาสนารวมชาวพุทธให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และจัดตั้งองค์การกลางชาวพุทธที่มีระบบงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงตกลงจัดให้มีการประชุมใหญ่ขึ้นที่วัดซาลอยในไซ่ง่อนระหว่างวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๐๖ ถึง ๓ มกราคม ๒๕๐๗ เรียกชื่อว่า “การประชุมใหญ่เพื่อรวมชาวพุทธเวียดนาม” รัฐบาลทหารซึ่งต้องการความสนับสนุนจากชาวพุทธก็ถวายความเห็นชอบเป็นอย่างดี สมาคมมวลพุทธบริษัทเวียดนาม (มหายาน) คณะสงฆ์เถรวาท และองค์การพุทธศาสนาอื่นๆ ในเวียดนามใต้ได้มาประชุมพิจารณาปรึกษาหารือร่วมกัน ผลการประชุมที่สำคัญคือ การรวมพระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายมหายานและเถรวาทในเวียดนามใต้เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เรียกว่า “สหพุทธจักรเวียดนาม” (The Unified Buddhist Church of Vietnam ย่อว่า UBCVN)5 เป็นองค์การที่มีระบบการบริหารและหน่วยงานต่างๆ ที่จะดำเนินกิจการพระพุทธศาสนาให้ได้ผลดีที่สุดในสังคมปัจจุบัน และรัฐบาลก็ได้ถวายที่ดินเป็นที่ตั้งองค์การใหม่นี้ ณ ชานกรุงไซ่ง่อน สำนักงานที่สร้างเสร็จแล้วคือ เวียนหว่าเด๋า (Vien Hoa Dao = สภาบริหารกลาง)

กิจการของสหพุทธจักรเวียดนาม เป็นไปตามกฎบัตรซึ่งมีบทบัญญัติ ๑๐ หมวด รวม ๓๖ มาตรา (ต่อมา พ.ศ. ๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมเป็น ๓๗ มาตรา) ตามกฎบัตรนี้ สหพุทธจักรเวียดนามมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุข และดำเนินงานโดยสภา ๒ สภา คือ สภาสูงสุดของคณะสงฆ์ (Vien Tang Thong – The Supreme Council of the Sangha) สภาบริหารกลาง (Vien Hoa Dao-the Cetral Executive Council) มีสาระสำคัญที่ควรทราบคือ

๑. สภาสูงสุดของคณะสงฆ์ มีอำนาจหน้าที่ทั้งด้านนิติบัญญัติ ด้านวินัยธร (ตุลาการ) และควบคุมดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในคณะสงฆ์ ประกอบด้วยหน่วยงาน ๒ อย่างคือ

๑) มหาเถรสมาคม (Assembly of Elders) ประกอบด้วย พระทรงสมณศักดิ์ชั้นสูง และพระมหาเถระอายุ ๔๐ ปี พรรษา ๒๐ ขึ้นไป จากนิกายทั้งสอง (มหายานและเถรวาท) ซึ่งสภาบริหารกลางพิจารณานำกราบทูลเสนอสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง จำนวนอย่างน้อย ๖๐ รูป ดำรงตำแหน่งไม่กำหนดวาระสิ้นสุด

๒) สำนักงานเลขาธิการ ประกอบด้วยเลขาธิการและผู้ช่วยเลขาธิการ ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งจากพระมหาเถระที่เป็นสมาชิกของมหาเถรสมาคม

สมเด็จพระสังฆราชซึ่งทรงเป็นทั้งประมุขของสหพุทธจักรเวียดนาม นายกสภาสูงสุดของคณะสงฆ์ และประธานมหาเถรสมาคมนั้น มหาเถรสมาคมเลือกตั้งจากมหาเถระที่เป็นสมาชิกของมหาเถรสมาคมซึ่งมีอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป ดำรงตำแหน่งวาระละ ๓ ปี สมเด็จพระสังฆราชที่จะดำรงตำแหน่งสืบต่อไป ทรงสังกัดต่างนิกายหมุนเวียนกันไป และให้มีผู้ช่วยสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง ซึ่งมหาเถรสมาคมเลือกตั้งจากมหาเถระที่เป็นสมาชิกมหาเถรสมาคม ซึ่งมีคุณสมบัติอย่างเดียวกับสมเด็จพระสังฆราช แต่ต้องสังกัดนิกายต่างจากสมเด็จพระสังฆราช

๒. สภาบริหารกลาง ซึ่งสภาสูงสุดของคณะสงฆ์กราบทูลเสนอสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง มีอำนาจหน้าที่อำนวยการ ประสานงานกิจการทั้งหลายของสหพุทธจักรเวียดนาม โดยเฉพาะกิจการของสถาบันพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับรัฐและประชาชนทั่วไป ประกอบด้วย

  • ประธาน
  • รองประธาน ๒ ท่าน
  • อธิบดีทบวงการทุกทบวงการ
  • เลขาธิการ
  • เหรัญญิก

ประธานสภาบริหารกลาง ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของสหพุทธจักรเวียดนามในกิจการทั่วไป ทุกตำแหน่งในสภาบริหารกลางมีวาระ ๒ ปี ผู้ดำรงตำแหน่งจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ก็ได้

ใน พ.ศ. ๒๕๐๘ ทบวงการต่างๆ มีจำนวน ๙ ทบวงการ (ทบวงการหนึ่งแบ่งย่อยออกไปเป็นบริการ) คือ

๑) ทบวงการคณะสงฆ์มี ๔ บริการ (ควบคุมดูแลพระภิกษุ ภิกษุณี แม่ชี ทั้งฝ่ายมหายาน และเถรวาท)

๒) ทบวงการเผยแผ่ มี ๓ บริการ

๓) ทบวงการศึกษา มี ๒ บริการ

๔) ทบวงการสังคมสงเคราะห์ มี ๓ บริการ

๕) ทบวงการวัฒนธรรม มี ๓ บริการ

๖) ทบวงการเยาวชน มี ๕ บริการ (บริการองค์การยุวพุทธิกะ, บริการนักเรียน นักศึกษาชาวพุทธ, บริการวัยรุ่น, บริการอาสาสมัครยุวพุทธ, บริการลูกเสือชาวพุทธ)

๗) ทบวงการศาสนสมบัติ มี ๒ บริการ

๘) ทบวงการนวกรรม มี ๒ บริการ (การก่อสร้างและปฏิสังขรณ์เกี่ยวกับศาสนา สังคม และวัฒนธรรม)

๙) ทบวงการคฤหัสถชน มี ๓ บริการ (บริการคฤหัสถ์อุตรนิกาย บริการคฤหัสถ์ทักษิณนิกาย บริการพุทธสมาคมฝ่ายคฤหัสถ์)

การบริหารงานในส่วนท้องถิ่น แบ่งเป็นภาค (๘ ภาค) จังหวัด (๕๒ จังหวัด) อำเภอ (๒๕๘ อำเภอ) และตำบล (๒,๑๙๑ ตำบล) มีเจ้าคณะภาค คณะกรรมการศาสนกิจจังหวัด คณะกรรมการศาสนกิจอำเภอ และคณะกรรมการศาสนกิจตำบล รับผิดชอบตามลำดับ สำหรับระดับจังหวัดและอำเภอนั้น คณะกรรมการมีรูปร่างเลียนแบบสภาบริหารกลาง คือ มีผู้แทนรับผิดชอบงานของแต่ละทบวงการร่วมอยู่ในคณะกรรมการด้วย แต่คณะกรรมการศาสนกิจตำบล มีเพียงประธาน รองประธาน เลขานุการ และผู้ช่วยเหรัญญิกและผู้ช่วย กับที่ปรึกษา ๔ ท่านเท่านั้น คณะกรรมการศาสนกิจ ๓ ระดับนี้ เท่ากับเป็นสภาบริหารกลางในท้องถิ่น ทำหน้าที่เป็นสาขาของทบวงทั้ง ๙ ในระดับจังหวัด อำเภอ และ ตำบล ส่วนกิจการของชาวพุทธเวียดนามในต่างประเทศ ก็มีหน่วยงานพิเศษรับผิดชอบต่างหากออกไป เรียกว่า กองการต่างประเทศ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปารีส แบ่งส่วนงานเป็น ๑๑ แผนก ตามจำนวนประเทศที่เกี่ยวข้อง คือ ฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น อินเดีย อังกฤษ สหรัฐฯ ประเทศไทย ลาว กัมพูชา สวิสฯ และแคนาดา

เมื่อพิจารณาดูระบบงานที่จัดวางไว้นี้ พอจะเห็นได้ว่า ผู้ตรากฎบัตรคงจะได้ศึกษาเปรียบเทียบระบบการปกครองคณะสงฆ์ในประเทศต่างๆ เป็นอย่างดีแล้ว จึงปรับปรุงวางรูปขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับความมุ่งหมายเฉพาะและสภาพของเวียดนาม (ดูเหมือนว่าจะมีส่วนประกอบแบบไทยและเกาหลีผสมอยู่มาก) นับว่าเป็นระบบที่ก้าวหน้าพอสมควร มีขอบข่ายงานกว้างขวางยิ่งกว่าระบบของประเทศพุทธศาสนาอื่นๆ หากจัดได้เต็มรูปก็จะทำให้กิจการพระศาสนาในเวียดนามมีลักษณะคล้ายเป็นรัฐอิสระ ตั้งขึ้นเป็นเอกเทศในท่ามกลางรัฐใหม่คือประเทศเวียดนามใต้

ลักษณะเช่นนี้มักมีคติเป็น ๒ คือ เป็นระบบที่ร่วมประสานกับรัฐ หรือไม่ก็กลายเป็นระบบที่แข่งอำนาจกับรัฐ ระบบตามกฎบัตรนี้ ดูเผินๆ ก็มีโครงสร้างแนวเดียวกับระบบการปกครองคณะสงฆ์ในประเทศไทย และยังมีส่วนประกอบเพิ่มเติมพิเศษออกไป ซึ่งจะนับว่าเป็นความก้าวหน้าต่อไปอีกก็ได้ แต่เมื่อพิจารณาสภาพแวดล้อมรอบด้านแล้ว จะเห็นว่ามีข้อแตกต่างสำคัญบางอย่าง ซึ่งโดยทั่วไปอาจจะถือว่าเป็นจุดอ่อนก็ได้ คือ

ประการที่หนึ่ง ระบบในประเทศไทยเป็นการจัดตั้งโดยอำนาจรัฐ ฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐตราขึ้นเป็นตัวบทกฎหมาย ทำให้กิจการพระศาสนาที่มีลักษณะเข้าข่ายต้องถูกรวมเข้าอยู่ในระบบทั้งหมด ไม่มีข้อยกเว้น ไม่ขึ้นต่อมีความสมัครใจหรือไม่ แต่ระบบของเวียดนามตามกฎบัตรนี้ ชาวพุทธคณะต่างๆ ตกลงร่วมใจกันจัดตั้งขึ้นเอง คณะใดสมัครใจและยอมรับก็เข้าร่วม คณะใดไม่สมัครใจ ไม่ยอมรับ ก็ไม่เข้าร่วม และไม่อาจบังคับได้ (และความจริงก็ปรากฏว่าคณะชาวพุทธเวียดนามบางพวกไม่เข้าร่วมระบบของสหพุทธจักรนี้ก็มี) อย่างไรก็ดี ระบบนี้ถ้าทุกคณะพร้อมใจกันเข้าร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งหมด (ซึ่งเป็นไปได้ยาก) หรือสามารถทำให้ปวงชนยอมรับนับถือจริงจัง ก็อาจกลับมีอำนาจเข้มแข็งยิ่งกว่าที่รัฐจะจัดตั้งให้

ประการที่สอง ระบบตามกฎบัตรนี้ ไม่ได้ระบุชัดถึงช่องทางสื่อหรือวิธีปฏิบัติสำหรับสัมพันธ์ หรือร่วมมือประสานงานกับรัฐ โอกาสที่จะเกิดความไม่เข้าใจกัน ขัดแย้งกัน หรือแข่งอำนาจกันกับรัฐจึงอาจเกิดขึ้นได้ง่าย ต่างกับระบบของคณะสงฆ์ไทย ซึ่งมีช่องทางเช่นนั้นมากมายตลอดทั้งระบบ ตั้งแต่ตำแหน่งประมุขของคณะสงฆ์ ซึ่งรัฐเป็นผู้รับรองด้วยการที่พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และในด้านการดำเนินงานก็มีส่วนราชการที่ตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ คือ กรมการศาสนาซึ่งเป็นสื่อกลางระหว่างรัฐกับคณะสงฆ์และเป็นไวยาวัจกรของคณะสงฆ์

ประการที่สาม ระบบของคณะสงฆ์เวียดนามใต้ ขาดประสบการณ์ ขาดความเคยชิน หรืออย่างน้อยขาดประเพณีที่ต่อเนื่อง เกี่ยวกับการดำเนินงานและการวางตัวในท่ามกลางระบบของรัฐ ต่างกับระบบคณะสงฆ์ไทย ซึ่งมีประเพณีด้านนี้สืบเนื่องมาโดยตลอด จนความสัมพันธ์แทบทุกอย่างเข้ารูปลงตัว เกิดเป็นขนบธรรมเนียมต่างๆ เชื่อมโยงกันเป็นสายทั่วไปหมด สภาพเช่นนี้มีทั้งแง่ดีและแง่เสีย อย่างน้อยเรื่องที่ริเริ่มใหม่มักเข้ากับสภาวการณ์ปัจจุบันดีกว่า แต่มีโอกาสที่จะกระทบกระทั่ง ทำให้เกิดความระแวงหรือความไม่เข้าใจกันได้ง่ายกว่า อย่างไรก็ตาม คงจะต้องยอมรับว่า ภายในตัวระบบเอง การจัดโครงสร้างนับว่าดีมาก เอื้อต่อการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ สมกับเป็นระบบนี้ได้ปรับปรุงขึ้นจากระบบของประเทศอื่นๆ ที่มีอยู่ก่อน

ใน พ.ศ. ๒๕๐๖ ขณะที่กำลังต่อสู้กับรัฐบาลโงดินห์เดียม ชาวพุทธได้จัดตั้งคณะกรรมการผสมนานานิกายเพื่อพิทักษ์พระพุทธศาสนาขึ้น ซึ่งได้ทำหน้าที่ต่างๆ เช่น เจรจากับฝ่ายรัฐบาล เป็นต้น คณะกรรมการผสมผสานนานานิกายนั้นประกอบด้วยผู้แทนกลุ่มชาวพุทธเกือบทุกกลุ่มทุกคณะ แต่เมื่อจัดตั้งกันขึ้นใหม่เป็นสหพุทธจักรเวียดนาม ซึ่งเป็นองค์การที่มีระบบงานและกฎเกณฑ์แน่นอนตายตัวมากขึ้น ชาวพุทธหัวเก่าบางกลุ่มและวัดบางวัดก็ไม่เข้าร่วมสหพุทธจักรเวียดนาม จึงรวมชาวพุทธไว้ไม่ได้หมดสิ้น แต่กระนั้นก็ตาม สหพุทธจักรก็เป็นองค์การใหญ่ มีอำนาจแผ่ไปในระดับต่างๆ อย่างกว้างขวางพอสมควร เช่น ในท้องถิ่นหลายแห่ง ก่อนจะตั้งพระภิกษุเข้าดำรงตำแหน่งใดๆ จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของสหพุทธจักรเวียดนามประจำท้องถิ่นนั้นก่อน เป็นต้น แต่กิจการที่เข้มแข็งมีอิทธิพลมากก็คือ งานด้านประชาชนในเมืองใหญ่ๆ ได้แก่ องค์การของฝ่ายคฤหัสถ์ งานสาธารณประโยชน์และขบวนการเยาวชน ดังจะเห็นได้จากสถิติกิจการใน พ.ศ. ๒๕๑๓ – ๒๕๑๔ เท่าที่ควรทราบ คือ

ทบวงการศึกษา มีมหาวิทยาลัย ๑ แห่ง (มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาวันฮันห์) สถาบันศึกษาพุทธศาสนาชั้นสูง ๑ แห่ง สถาบันพุทธศาสตร์ระดับปริญญาโท ๒ แห่ง สถาบันพุทธศาสตร์ระดับปริญญาตรี ๑๒ แห่ง โรงเรียนมัธยม ๖๕ แห่ง โรงเรียนประถม ๖๒ แห่ง โรงเรียนอนุบาล ๑๑ แห่ง สถาบันพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ๑ แห่ง สถาบันภิกษุณีและแม่ชี ๔ แห่ง

ทบวงการสังคมสงเคราะห์ มีสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้า ๑๙ แห่ง (เด็ก ๔,๗๘๐ คน) สถานรับเลี้ยงและดูแลเด็ก ๒๔๔ แห่ง สถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าและเลี้ยงดูแลเด็ก ๕๓ แห่ง คลีนิค ๖ แห่ง โอสถสถาน ๗๒ แห่ง

ทบวงการเยาวชน มีองค์การเยาวชนหลายแห่ง คือ องค์การยุวพุทธิกะ (เกีย ดินห์ ผัด ตู) องค์การลูกเสือชาวพุทธ องค์การนักเรียนมัธยมชาวพุทธ องค์การนิสิตนักศึกษาชาวพุทธ องค์การยุวพุทธอาสาสมัครบำเพ็ญประโยชน์ รวมมีสมาชิก ๒๖๗,๐๐๐ คน โดยเฉพาะองค์การยุวพุทธิกะซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นองค์การที่มีโครงสร้างดีมาก มีพื้นฐานด้านการศึกษาและการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาที่เข้มแข็งมั่นคง มีผู้นำและนักการศึกษากว่า ๑๕,๐๐๐ คน มีสมาชิก ๑๗๘,๒๐๘ คน สหพุทธจักรเวียดนามสามารถกล่าวอ้างว่า องค์การเยาวชนของตน เป็นขบวนการเยาวชนที่ใหญ่ที่สุด และมีการจัดตั้งดีที่สุดในเวียดนาม

ทบวงการคฤหัสถชน มีหลายองค์การ เช่น องค์การกรรมกรชาวพุทธ องค์การพ่อค้าย่อยชาวพุทธ สหพันธ์ลูกจ้างและข้าราชการ สมาคมครูชาวพุทธ สมาคมผู้ขับรถรับจ้างโดยสารชาวพุทธ พุทธิกสตรีสมาคม สมาคมเภสัชกรชาวพุทธ สมาคมนักเขียนและจิตรกรชาวพุทธ สมาคมกุลีชาวพุทธ สมาคมรถสามล้อมชาวพุทธ สมาคมสามล้อเครื่องชาวพุทธ เป็นต้น

มหาวิทยาลัยวันฮันห์ ตั้งขึ้นโดยสหพุทธจักรเวียดนาม และได้รับการรับรองจากรัฐบาลเวียดนาม เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๐๗ ปัจจุบันมี ๔ คณะ คือ คณะพุทธศาสตร์และบูรพาวิทยา คณะอักษรศาสตร์และมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และคณะภาษาศาสตร์ เฉพาะคณะพุทธศาสตร์และบูรพาวิทยา แบ่งเป็น ๙ ภาควิชา คือ ภาควิชาพุทธปรัชญา วรรณคดีพุทธศาสนา พุทธศาสนประวัติ พุทธศาสนาทั่วไป พุทธศาสนาในเวียดนาม ปรัชญาตะวันออก ปรัชญาอินเดีย ปรัชญาจีน และปรัชญาตะวันตก

มหาวิทยาลัยเปิดรับนักศึกษาทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ใน พ.ศ. ๒๕๑๑ มีคณาจารย์ ๖๘ ท่าน นักศึกษา ๑,๙๓๘ คน (คณะพุทธศาสตร์ ๒๑๖ อักษรศาสตร์ ๑๙๒ สังคมศาสตร์ ๑,๑๙๐ ศูนย์ภาษาซึ่งต่อมาเป็นคณะภาษาศาสตร์ ๓๔๐) เป็นชาย ๑,๓๕๑ คน หญิง ๕๘๑ คน นักศึกษาต่างประเทศ ๒๕ คน และมหาวิทยาลัยมีศูนย์ฝึกสมาธิสำหรับอาจารย์และนักศึกษา ซึ่งส่วนมากใช้วิธีอานาปานสติ

นอกจากมหาวิทยาลัยวันฮันห์และสถานศึกษาอื่นๆ ที่กล่าวแล้ว ยังมีโรงเรียนเยาวชนเพื่อสังคมสงเคราะห์ ซึ่งผลิตนักสังคมสงเคราะห์ออกไปช่วยชาวไร่ชาวนาในชนบท แก้ปัญหาเกี่ยวกับงานฟื้นฟูและพัฒนา ดำเนินงานพัฒนาท้องถิ่น ตลอดจนทำงานบรรเทาทุกข์ในเขตที่ประสบความเสียหายจากสงครามและภัยธรรมชาติ และวิทยาลัยนักเผยแผ่แห่งชาติ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๔ ทำหน้าที่ผลิตอนุศาสนาจารย์ให้แก่ทหาร องค์การและสมาคมต่างๆ ของชาวพุทธ โดยเฉพาะขบวนการทั้งหลายของเยาวชน เช่น ลูกเสือ และเนตรนารี เป็นต้น

ทางสหพุทธจักรเวียดนามประสบปัญหาความขาดแคลนอนุศาสนาจารย์ เพราะพระสงฆ์ผู้ฝึกอบรมมีจำนวนจำกัด และอุปกรณ์ในการฝึกอบรมมีไม่เพียงพอ จึงผลิตอนุศาสนาจารย์ไม่ทันกับความต้องการขององค์การและสมาคมทั้งหลาย หน่วยงานอนุศาสนาจารย์นี้เป็นกองกำลังสำคัญ เป็นฐานปฏิบัติการปลุกเร้าและโฆษณาของผู้นำชาวพุทธ ชาวพุทธได้ขอตั้งหน่วยนี้ขึ้นตั้งแต่สมัยโงดินห์เดียมแต่ไม่สำเร็จ ครั้นโงดินห์เดียมล้มแล้วจึงเริ่มดำเนินงานได้ อนุศาสนาจารย์เหล่านี้ทำหน้าที่สั่งสอนอบรมธรรม สวดอวยพรแก่ทหารผู้ไปสงครามและประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศผู้เสียชีวิต นอกจากนั้นทางหน่วยมีโครงการที่จะพัฒนาบทบาทของอนุศาสนาจารย์ ในการยกระดับมาตรฐานการครองชีพของครอบครัวทหารด้วย โดยจะช่วยจัดให้มีสหกรณ์ขายปัจจัย ๔ ในราคาถูกแก่ครอบครัวทหาร ช่วยจัดสรรที่อยู่อาศัย และบริการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ส่วนในด้านการเผยแผ่ทางเอกสาร สหพุทธจักรเวียดนามออกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ๓ ฉบับ (สถิติจำหน่าย ๘๐,๐๐๐ ฉบับ) นิตยสารรายเดือน ๓ ฉบับ (สถิติจำหน่าย ๑๒๐,๐๐๐ ฉบับ) วารสารอื่นอีก ๒๕ ฉบับ (สถิติจำหน่าย ๔๐๐,๐๐๐ ฉบับ)

ด้วยระบบที่จัดวางไว้เป็นอย่างดี และกิจการที่ดำเนินไปอย่างเข้มแข็งเช่นนี้ ผู้นำชาวพุทธเวียดนามเชื่อว่า หลักพุทธศาสนาจะเป็นทางเลือกของเวียดนามใต้แทนลัทธิการเมืองของเวียดกง และชาวเวียดนามใต้จะสู้กับคอมมิวนิสต์ได้

อย่างไรก็ดี พระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้นำของชาวพุทธมีจุดอ่อนสำคัญ คือ ความไม่พร้อมที่จะเข้าสวมบทบาทรับภาระหน้าที่ที่มาถึงนี้ได้ เพราะขาดพื้นฐานทางการศึกษา ด้วยว่า ตลอดเวลาเกือบ ๑๐๐ ปีที่ฝรั่งเศสยึดครองเวียดนาม ประชาชนทั่วไปถูกปล่อยปละละเลยไม่ได้รับการศึกษา พระสงฆ์ที่เป็นผู้นำชาวพุทธล้วนมาจากตระกูลชาวไร่ชาวนา ได้ศึกษาเล่าเรียนบ้างก็แต่เพียงความรู้ในแบบแผนเก่าๆ ที่สืบมาตามประเพณี น้อยองค์นักที่จะพูดภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ หรือภาษาอื่นๆ ได้ มียกเว้นแต่ภาษาญี่ปุ่นซึ่งบางรูปได้ไปเล่าเรียนในสมัยใหม่นี้เอง ในวงการเมืองถือว่าพระสงฆ์เป็นกลุ่มชนผู้ด้อยหรือไร้การศึกษา มีลักษณะเด่นคือกลัวและดูถูกวัฒนธรรมจากภายนอก แต่มีกำลังอิทธิพลอยู่ในหมู่ราษฎร

ในด้านความไม่พร้อมทางการศึกษานี้ เอกสารของสหพุทธจักรเวียดนามเองก็ยอมรับอย่างชัดแจ้ง โดยกล่าว (เอกสารหน้า ๒๑) ว่า

“หลังจากการปฏิวัติวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๑๙๖๓ ซึ่งโค่นล้มระบอบของประธานาธิบดีโงดินห์เดียมลงได้แล้ว พระพุทธศาสนาก็มีเกียรติฐานะเลื่อนเด่นขึ้นถึงจุดสูงสุด และชักนำให้ปัญญาชน นักศึกษา ตลอดถึงเยาวชนจำนวนมากหันมาสนใจ อย่างไรก็ดี เมื่อถึงตอนนี้ พระพุทธศาสนากลับยังไม่พร้อมที่จะฉลองศรัทธาอันแรงกล้านั้นให้บริบูรณ์ได้ พระภิกษุส่วนใหญ่มิได้รับการฝึกฝนมาเพื่อแบกภารกิจใหม่ของพระพุทธศาสนา ท่านได้รับการฝึกสอนมาสำหรับจะสวดมนตร์ นั่งสมาธิ และแสดงพระธรรมเทศนา จึงบังเกิดความอึดอัดกระอักกระอ่วนใจที่จะเข้าสวมรับบทบาทเป็นผู้นำที่มีความรับผิดชอบอันเขาจับยัดเยียดให้อย่างฉับพลันทันใด ในเมื่อความต้องการผู้นำที่รับผิดชอบกำลังเร่งร้อน พระภิกษุและคฤหัสถ์ที่มีความสามารถและประสบการณ์เพียงพอกลับมีจำนวนเพียงเล็กน้อย ….

เพราะฉะนั้น การขาดแคลนบุคคลผู้มีคุณสมบัติจึงเป็นภาวะที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ผู้นำชาวพุทธจำใจต้องจับเอาคนที่มีความสามารถด้อยสักหน่อยมาใช้งาน แม้เขาจะเป็นชาวพุทธแต่เพียงโดยคำเอ่ยอ้างหาใช่เป็นชาวพุทธที่แท้จริงไม่ ยิ่งกว่านั้น ใน พ.ศ. ๒๕๐๗ และ ๒๕๐๘ พวกคนเก่าของพรรคคานเหลาเดิมของโงดินห์นูที่หลงเหลืออยู่ก็ได้กลับเริ่มต้นทำงานเก่าที่พวกเขาเคยคุ้นอีก ทำให้เกิดความลำบากยุ่งยากอย่างมากมายแก่สหพุทธจักรเวียดนาม ซึ่งยังเป็นองค์การใหม่อยู่ สหพุทธจักรต้องผจญกับการลอบทำลาย การแก้แค้น และความพยายามที่จะหวนคืนสู่อำนาจของคนพวกนี้ ซึ่งเพียงเรื่องนี้อย่างเดียวก็สิ้นเปลืองพละกำลังมากอยู่แล้ว มิหนำซ้ำยังมีพวกนักฉวยโอกาสเล็ดลอดเข้ามา แทรกอยู่ในกลุ่มบริษัทบริวารของผู้นำสหพุทธจักร แล้วแสวงหาผลประโยชน์จากอิทธิพลของสหพุทธจักรอีกด้วย อิทธิพลที่นักฉวยโอกาสเหล่านี้มีต่อพระสงฆ์ นับได้ว่าเป็นสาเหตุสำคัญแห่งความผิดพลาดหลายอย่างของพระภิกษุเหล่านั้น”

บรรดาผู้นำชาวพุทธทั้งหลายนั้น มีผู้นำสองท่านที่ควรทราบ เพราะดำรงตำแหน่งสำคัญในคณะสงฆ์เวียดนาม เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการโค่นล้มรัฐบาลโงดินห์เดียม และเป็นตัวจักรสำคัญที่ทำให้เกิดความเจริญและความเสื่อมแก่สหพุทธจักรเวียดนามในสมัยต่อๆ มา ท่านแรกคือ พระถิช ตรีกวาง แห่งเมืองเว้ เดิมดำรงตำแหน่งประธานพุทธสมาคมแห่งเวียดนามกลาง ต่อมาเมื่อจัดตั้งสหพุทธจักรเวียดนามแล้ว ได้เปลี่ยนมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาสูงสุดของคณะสงฆ์ นักข่าวต่างประเทศถือว่าท่านเป็นพระหัวรุนแรงหรือพวกเลือดนักสู้

ท่านที่สองคือ พระถิช ทัมเจา แห่งเมืองไซ่ง่อน ดำรงตำแหน่งประธานสภาบริหารกลางของสหพุทธจักรเวียดนาม เป็นผู้ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างสุดแรงแต่มีนิสัยน้อมไปในทางประนีประนอมชอบการเจรจา นักสื่อข่าวต่างประเทศถือว่าท่านเป็นพวกรู้จักผ่อนปรน หรือพวกอะลุ้มอล่วย พระถิช ตรีกวาง กับ พระถิช ทัมเจา นี้ได้เริ่มขัดแย้งกันตั้งแต่สมัยต่อสู้กับรัฐบาลโงดินห์เดียม ต่อมาภายหลัง ท่านทั้งสองได้ขัดแย้งและแตกแยกกันรุนแรงยิ่งขึ้นจนเป็นเหตุอย่างหนึ่งให้สหพุทธจักรเวียดนามอ่อนแอลง

หันกลับไปมองด้านเหตุการณ์ของประเทศ เมื่อโค่นล้มรัฐบาลโงดินห์เดียมลงได้ใน พ.ศ. ๒๕๐๖ แล้ว นายพลเดือง วันมินห์ (มินห์ใหญ่) ปกครองอยู่ได้ไม่นาน คณะทหารเห็นว่ารัฐบาลมีท่าทีจะเป็นกลางมากเกินไป การปราบคอมมิวนิสต์จะไม่ได้ผลดี จึงทำรัฐประหาร แล้ว นายพลเหงียน คานห์ ขึ้นครองอำนาจ ส่วนทางด้านพุทธศาสนา พระสงฆ์ที่เป็นผู้นำชาวพุทธก็มีกำลังอำนาจมาก เกียรติฐานะของพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ดีเด่น ชาวพุทธก็รวมกำลังกันสนับสนุน ขบวนการต่างๆ เช่น องค์การเยาวชนที่เป็นฐานกำลัง พร้อมจะปฏิบัติการตามคำสั่งก็มีมาก ผู้นำในวงการภายนอกก็หันมาสนใจ รัฐบาลทหารที่เข้ามาใหม่ก็ต้องเอาใจ พระก็สามารถพูดเสียงดังเข้าไปถึงกลางเวทีการเมือง ถึงแม้จุดหมายหลักคือการโค่นรัฐบาลร้ายจะเสร็จสิ้นแล้ว แต่พระสงฆ์เหล่านั้นยังพอใจที่จะใช้อำนาจทางการเมืองต่อไป แม้ว่าท่านจะไม่ต้องการเข้าไปเป็นรัฐบาลเอง แต่ท่านก็ต้องการให้คณะสงฆ์มีเสียงในรัฐบาล หรือรัฐบาลต้องรับฟังคณะสงฆ์ ทำนองว่าให้พระสงฆ์เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาล ต้องการให้พระสงฆ์มีอำนาจอย่างเดียวกับที่รัฐบาลเดียมเคยให้แก่คณะนักบวชและศาสนิกคาทอลิค ต้องการให้คนที่คณะสงฆ์เลือกหรือเห็นเหมาะสมเข้าไปดำรงตำแหน่งในรัฐบาล ต้องการให้รัฐอุปถัมภ์พระพุทธศาสนามากขึ้น และต้องการให้เยาวชนชาวพุทธมีสิทธิ มีส่วนในชะตากรรมของสังคมเวียดนามมากขึ้น

ดังนั้น พอถึงปลายปี ๒๕๐๗ พระสงฆ์ก็เริ่มบทบาททางการเมืองอีก โดยร้องว่ามีคนของโงดินห์เดียมหลงเหลืออยู่ในคณะรัฐบาลมาก แล้วใช้อิทธิพลบีบให้รัฐบาลแก้ไขเสีย ฝ่ายพวกคาทอลิกกลัวว่ารัฐบาลจะสนับสนุนชาวพุทธมากเกินไป จึงประท้วงขึ้น ต่อมาเกิดการปะทะระหว่างชาวพุทธกับชาวคริสต์ มีคนตายจากความวุ่นวายเหล่านี้ราว ๓๐ คน บาดเจ็บหลายร้อยคน

จากนั้น พระถิช ตรีกวางวางแผนตั้งองค์การการเมืองของชาวพุทธ ต่อมาอาศัยฐานทางฝ่ายนักศึกษาก็เกิดสภาประชาชนเพื่อการกู้ชาติขึ้น เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กองกำลังปฏิวัติของประชาชน เป็นขั้นตอนที่จะตั้งพรรคการเมืองของคฤหัสถ์ชาวพุทธต่อไป มีคติพรรคว่า “ชำระรัฐบาล เอาพวกคานเหลา (องค์การลับของโงดินห์เดียมและโงดินห์นู) ออกไป”

จากนั้นนักศึกษาก็ก่อความวุ่นวาย มีการเข้ายึดสถานีวิทยุกระจายเสียงเป็นต้น พวกเวียดกงได้โอกาสเข้าแทรก เปลี่ยนการเดินขบวนจากการชำระรัฐบาล เป็นการเดินขบวนต่อต้านสงคราม รัฐบาลต้องประกาศกฎอัยการศึกระงับเหตุวุ่นวาย สภาประชาชนเพื่อการกู้ชาติก็เสื่อมความเชื่อถือลง ส่วนนายพลเหงียนคานท์ก็ต้องลาออก ปฏิรูปคณะรัฐบาลใหม่ให้นายทหารใหญ่ ๓ คนร่วมกันปกครอง แต่ไม่ทันนานพระและนักศึกษาก็บีบว่าควรให้รัฐบาลพลเรือนปกครองประเทศ ทหารไปรบไม่ต้องยุ่งการเมือง จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ ได้ นายตรันวันเฮือง อดีตนายกเทศมนตรีไซ่ง่อน ที่ชาวพุทธนิยมรักใคร่ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ทันถึงเดือน พระและนักศึกษาก็ขัดแย้งกับนายกรัฐมนตรีเฮือง หาว่าคณะรัฐบาลของเฮืองมีแต่นักวิชาการอ่อนแอเกินไป และต่อมาว่าเฮืองใช้กลวิธีอย่างเดียวกับโงดินห์เดียม มีนโยบายชั่วร้ายต่อพุทธศาสนาจะแยกการเมืองออกจากศาสนา จากนั้นก็เกิดเหตุวุ่นวายใหม่อีก ในที่สุดพวกทหารหนุ่ม “ยังเตอร์กส์” ก็ยึดอำนาจโค่นรัฐบาลพลเรือนของเฮืองลง ตั้งรัฐบาลใหม่ การขัดแย้ง บีบคั้น จากชาวพุทธ ความวุ่นวายและการเปลี่ยนรัฐบาลดำเนินต่อไปอีก จนในที่สุด วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๐๘ นายพลเหงียนเกากี แม่ทัพอากาศก็ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี รวบอำนาจไว้กับฝ่ายทหารทั้งหมด เป็นการตั้งต้นใหม่ สรุปรวมตั้งแต่โค่นโงดินห์เดียมลงถึงนายพลเหงียนเกากีขึ้นปกครอง มีการเปลี่ยนรัฐบาลภายในเวลา ๑ ปี ๘ เดือน ถึง ๙ ครั้ง

ความวุ่นวายของบ้านเมือง และการขาดเสถียรภาพของรัฐบาลตลอดเวลาต่อเนื่องกันนานๆ ทำให้สังคมเวียดนามใต้มีสภาพอ่อนแอเรรวน ขาดแรงต้านทานและง่ายต่อการแทรกแซงจากภายนอก ฝ่ายผู้นำชาวพุทธแม้จะมีกำลังอิทธิพลมาก สามารถบันดาลให้เกิดเหตุการณ์ใหญ่ๆ แต่เมื่อเหตุการณ์บานออกไป ตนเองก็ไม่อาจควบคุมได้ เมื่อตั้งขบวนการทางการเมืองของตนขึ้นมา ขบวนการนั้นก็เกิดขึ้นจริงๆ และออกโรงมีบทบาทใช้อำนาจได้จริง แต่แล้วพองานขยายออกไปก็เกินความสามารถของตนที่จะจัดรูปคุมร่างไว้ได้ เลยควบคุมไม่อยู่ กลายเป็นเกิดผลเสียขึ้นแทน พวกที่ได้ผลประโยชน์เป็นชิ้นเป็นอันจากสภาพเช่นนี้ก็คือพวกเวียดกง ส่วนพระผู้นำชาวพุทธ ก็ได้รับภาพที่เขาตราให้ว่า ถึงจะมีอำนาจ ก็ใช้อำนาจได้แต่ในแง่ลบ ชอบวิพากย์วิจารณ์โดยไม่มีความรับผิดชอบ ดีแต่ต่อต้านรัฐบาล มิได้สร้างสรรค์อะไรที่เป็นสาระ นอกจากนั้น ความแตกแยกขัดแย้งระหว่างผู้นำชาวพุทธเอง คือ พระถิช ตรีกวาง กับ พระถิช ทัมเจา ก็กว้างขวางรุนแรงมากขึ้น พระถิช ตรีกวาง ยังมุ่งแต่จะเดินหน้าไปด้วยวิธีรุนแรง ออกโรงโจ่งแจ้ง ใช้พลังหมู่เข้าว่า ส่วนพระถิช ทัมเจา ต้องการทำงานแบบเดินแผน โดยรู้จักใช้วิธีผ่อนปรน และการเจรจาเป็นทางเดิน ในเวลาเดียวกันชาวพุทธคฤหัสถ์ เริ่มเบื่อต่อบทบาทของพระสงฆ์เหล่านี้ เห็นว่าพระชักจะซุ่มซ่ามเลยเถิด เจ้ากี้เจ้าการในเรื่องการเมือง ทำอะไรวุ่นๆ ไม่เข้าเรื่อง จึงขอให้พระชลอๆ ลงบ้าง ผ่อนด้านการเมืองลง ขอให้หันมาสร้างเสริมกิจการภายในองค์การของตนให้เข้มแข็งมั่นคง วัดต่างๆ ทั่วเวียดนามใต้จึงหันมาใส่ใจดำเนินงานด้านการศึกษาและการเผยแผ่ธรรมมากขึ้น

ความสงบคงอยู่ได้ไม่นาน พอถึงเดือนมีนาคม ๒๕๐๙ พระผู้นำก็เริ่มขัดแย้งกับนายพลเหงียนเกากี นายพลเหงียนเกากีปลดนายพลผู้บัญชาการกองทัพที่ ๑ ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวพุทธ สหพุทธจักรเวียดนามก็ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จัดการเลือกตั้ง และให้นายพลทั้งหลายกลับไปทำหน้าที่ทางทหาร ชาวพุทธหัวรุนแรงมี พระถิช ตรีกวาง เป็นผู้นำ เริ่มบีบรัฐบาลอย่างหนัก และเพราะความมั่นใจในพละกำลังของตนจึงใช้วิธีรุนแรงแต่เริ่มต้น ต่างกับสมัยต่อสู้กับโงดินห์เดียม ซึ่งใช้วิธีนุ่มนวลก่อน เมื่อได้กำลังฝูงชนสนับสนุนแล้วจึงกล้าปะทะเต็มที่ แต่ทางฝ่ายนายพลเหงียนเกากี ก็มั่นใจในกำลังและวิธีการของตนเช่นเดียวกัน จึงไม่ยอมอ่อนข้อให้ และได้ตอบโต้อย่างรุนแรง วิกฤติการณ์ชาวพุทธแห่ง พ.ศ. ๒๕๐๙ จึงเกิดขึ้นย้อนรอยวิกฤติการณ์ชาวพุทธแห่ง พ.ศ. ๒๕๐๖ เพื่อนำกำลังอำนาจการเมืองของพระสงฆ์ที่ได้เกิดขึ้นและตั้งอยู่แล้ว ไปสู่ความดับให้ครบกระบวนแห่งคติธรรมดา วิธีการบีบคั้นรัฐบาลก็คล้ายกับวิธีการที่เคยใช้มาแล้ว เช่น นักศึกษาเคลื่อนขบวนไปยึดสถานีวิทยุกระจายเสียงที่เมืองเว้ แต่คราวนี้ดูแรกเริ่มเหมือนว่ารัฐบาลน่าจะสั่นคลอนมาก เพราะราชการเมืองเว้ เมืองดานัง และเมืองฮอยอัน รวมทั้งกองทัพที่ ๑ เข้าด้วยกับฝ่ายพระ และทำท่าว่าจะเป็นขบถต่อรัฐบาล เมื่อนักศึกษาเข้ายึดสถานีวิทยุเมืองเว้ ทหารที่รักษาการณ์ก็เปิดทางให้เหมือนอย่างรู้กัน

ฝ่ายนายพลกีเริ่มต้นตอบสนองด้วยวิธีนุ่มนวลใจเย็น มีการเจรจากับพระถิช ทัมเจาซึ่งเป็นพระฝ่ายนิยมผ่อนปรนและตกลงตามข้อเรียกร้อง ๑๐ ข้อของชาวพุทธ ซึ่งเป็นเรื่องทางการเมืองทั้งสิ้น ไม่มีเรื่องทางศาสนาเลย เช่น

ข้อที่ ๑ ว่า คณะทหารผู้อำนวยการปกครองพึงแถลงอย่างชัดแจ้งว่า ตนปฏิบัติหน้าที่เพียงชั่วคราว และจะถอนตัวออกไปในทันทีที่มีการเลือกตั้งรัฐสภา

ข้อ ๓ ว่า คณะทหารผู้อำนวยการปกครอง พึงแต่งตั้งคณะกรรมการร่างกฎหมายเลือกตั้งและจัดเตรียมการอื่นๆ เพื่อให้มีการเลือกตั้ง

ข้อ ๔ ว่า รัฐบาลพึงดำเนินการทุกวิถีทางที่จำเป็นเพื่อมิให้มีพวกคอมมิวนิสต์ และพวกนิยมความเป็นกลางแทรกซึมเข้ามาในตำแหน่งต่างๆ แห่งสภาที่ได้รับการเลือกตั้งนั้น

ข้อ ๖ ว่า พึงส่งเสริมให้มีการก่อตั้งพรรคการเมือง

ข้อ ๑๐ ว่า ประชาชาติพึงร่วมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อปราบลัทธิคอมมิวนิสต์และฟื้นฟูสันติภาพ

อย่างไรก็ดี พอชาวพุทธเงียบลง นายพลกีก็เริ่มรุกทันที เริ่มด้วยใช้กำลังทหารเข้ายึดกองทัพ ๑ ที่เข้ากับชาวพุทธ ยึดสถานีวิทยุกลับคืน ยึดเมืองดานัง ยึดวัดสำคัญของเมืองนั้น เมื่อชาวพุทธต่อต้าน ทหารก็ปราบปรามอย่างเฉียบขาด มีคนตาย ๘๐ บาดเจ็บ ๓๐๐ คน ทหารรัฐบาลต้องปราบทั้งทหารฝ่ายขบถและทัพเด็กลูกเสือเป็นต้น ต่อจากดานัง ทหารรัฐบาลก็เข้ายึดเมืองเว้คืน เด็กๆ และนักศึกษาได้เผาหนังสือเกือบทั้งหมดในห้องสมุดยูซิส และเผาสถานกงสุลอเมริกัน

เมื่อชาวพุทธเพลี่ยงพล้ำลงกลายเป็นเบี้ยล่าง และจะหมดทางสู้แล้ว ก็หันกลับไปใช้วิธีการเก่าอีกให้เห็นว่ารัฐบาลกดขี่ประหัตประหาร คือ การเผาตัวตาย และเดินขบวน เริ่มแต่วันที่ ๒๙ พฤษภาคม มีผู้เผาตัวถึงแก่กรรมทั้งหมด ๙ ราย มีทั้งภิกษุณี พระภิกษุ สามเณร และนักศึกษาสาว แต่คราวนี้เสียงตอบสนองของประชาชนที่มีต่อการเผาตัวมีน้อยมาก คนทั่วไปไม่สู้รู้สึกสะเทือนใจหรือเห็นใจเท่าใด ทั้งนี้เพราะไม่เห็นสาเหตุสมกับการกระทำ ในที่สุดทหารรัฐบาลก็ยึดเมืองเว้ได้ และต่อมาก็เข้ายึดสำนักงานสภาบริหารกลางของสหพุทธจักรเวียดนาม (เวียนหว่าเด๋า) ที่เมืองไซ่ง่อนสำเร็จ วิกฤติการณ์ก็สิ้นสุดลงในวันที่ ๒๓ มิถุนายน

จากนั้นนายกรัฐมนตรีเหงียนเกากีก็มีสาสน์ไปกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช เพื่อชี้แจงให้เห็นว่า รัฐบาลมิได้มีเจตนากดขี่บีบคั้นพระศาสนาแต่อย่างใดเลย แต่ดำเนินการทุกอย่างไปเพื่อฟื้นฟูพลังอำนาจของชาติและความเป็นปึกแผ่นในการต่อสู้กับพวกคอมมิวนิสต์ ด้วยปรารถนาจะรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ เขายินดีจะชดใช้ค่าเสียหายแก่วัดและบ้านเรือนราษฎรที่เสียหาย และขอให้พระสงฆ์เลิกการกระทำที่เป็นการต่อต้านรัฐบาล ตามข้อความตอนท้ายในสาสน์ว่า

“(ยุติ) การกระทำต่างๆ ซึ่งไม่แต่เพียงจะกระทบกระเทือนต่อพลังของชาติ และความสามารถในการต่อสู้ของประชาชนทั้งมวลเท่านั้น แต่ยังเป็นอันตรายต่อพระศาสนาอีกด้วย ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายจงเจริญด้วยสุขภาพพลานามัยจรรโลงพระบวรพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองสืบไป”

ผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่ได้สังเกตและศึกษาเหตุการณ์โดยตลอด ได้ชี้สาเหตุแห่งความพ่ายแพ้หรือล้มเหลวแห่งการต่อสู้ของพระผู้นำเหล่านี้ว่า นอกจากท่านจะเก็งความแข็งแกร่งเหนียวแน่นของนายพลกีผิดและรู้ไม่ทันอุบายของเขาแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เหตุผลในการกระทำทั้งนี้ไม่สามารถทำให้ประชาชนส่วนใหญ่พลอยเห็นดีเห็นชอบและเร้าใจเขาให้เกิดอารมณ์ร่วมเข้ามารวมพลังสนับสนุนอย่างพร้อมเพรียงได้ ต่างจากเหตุการณ์ใน พ.ศ.๒๕๐๖ สมัยโค่นโงดินห์เดียม ครั้งนั้นเหตุเริ่มแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระศาสนา แต่ผู้บริหารประเทศดื้อรั้นไม่แก้ไขด้วยดี จึงบานปลายออกไปกลายเป็นการต่อสู้ทางการเมือง ส่วนเหตุการณ์คราวหลังนี้เป็นกรณีทางการเมืองอย่างโจ่งแจ้งมาแต่ต้น ต่อเมื่อเห็นว่าจะสู้เขาไม่ไหว จึงพยายามแปรรูปให้เป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องพระศาสนา

นอกจากนั้น พระผู้นำก็แตกแยกขัดแย้งกันอย่างรุนแรง พระถิช ตรีกวางระดมกำลังคนเข้าต่อสู้ ส่วนพระถิช ทัมเจาต้องการเจรจาประนีประนอม เมื่อการต่อสู้พ่ายแพ้ลงแล้ว พระถิช ตรีกวางก็กลายเป็นพระสิ้นฤทธิ์ หรือจ๋องไป ส่วนพระถิช ทัมเจาเมื่อพระถิช ตรีกวางหมดทางไป กำลังจะพ่ายแพ้แน่นอนอยู่แล้ว ก็วิพากษ์วิจารณ์ตำหนิพระถิช ตรีกวางอย่างเปิดเผย และถึงกับกล่าวว่า พระถิช ตรีกวางไม่มีสิทธิที่จะเข้ามายุ่มย่ามในกิจการของสภาบริหารกลาง (เวียนหว่าเด๋า)

อย่างไรก็ตาม แม้ชาวพุทธหัวรุนแรงจะไม่ประสบความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายของตน แต่ผลต่อบ้านเมืองก็มีอยู่บ้าง คือ ช่วยเร่งรัดกำหนดเวลา ทำให้นายพลกีต้องรักษาสัญญาที่จะจัดให้มีการเลือกตั้ง ส่วนพวกชาวพุทธหัวรุนแรงเองนอกจากจะไม่มีโอกาสใช้อิทธิพลของตนหมุนการเลือกตั้งให้เป็นไปดังใจหวังแล้ว ก็ยังไม่ได้มีส่วนร่วมมือช่วยสนับสนุนการเลือกตั้งอีกด้วย เมื่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมาถึงในวันที่ ๑๑ กันยายน สหพุทธจักรเวียดนามบอยคอตต์การเลือกตั้งและชักจูงคนของตนไม่ให้ไปลงคะแนนเสียง แต่เสียงของพระหัวรุนแรงก็ไม่สู้มีใครทำตาม ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ทหารได้ที่นั่ง ๒๐ ที่ ผู้แทนที่สหพุทธจักรเวียดนามคัดตัวไว้ไม่ได้ที่นั่งเลย มีแต่ชาวพุทธในนามได้ ๓๔ ที่ ชาวคาทอลิคได้ ๓๐ ที่ เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าชาวคาทอลิคมีการจัดตั้งและเดินแผนงานได้ผลเป็นอย่างดี เมื่อสรุปผลการเลือกตั้งแล้ว นายพลกีกล่าวแก่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศว่า เขาเชื่อว่า เรื่องที่ชาวพุทธเป็นพลังการเมืองกลุ่มหนึ่งในเวียดนามใต้นั้น เป็นอันปิดฉากจบสิ้นกันเสียที ที่พยายามจะโค่นกี ก็พ่ายแพ้ยับเยิน ที่ภายในพวกตนเองก็แตกแยกกันจนกะปลกกะเปลี้ย

อย่างไรก็ดี นักหนังสือพิมพ์อย่างนายเชคเตอร์เชื่อว่า พลังที่แท้จริงของชาวพุทธหาได้หมดสิ้นไปไม่ พลังที่เป็นหมันหมดความหมายไปคือ พลังนักต่อสู้แบบออกโรงปาวๆ เต้นร้องระดมพลังหมู่กลางฝูงชนเท่านั้น เรียกอีกอย่างว่า ยุคหลวงพี่ระดมพลกลางท้องถนน (monks and mobs in the street) นั้น หมดสมัยเสียแล้ว แต่ฐานะของวัดและพระสงฆ์ในแต่ละชุมชนยังคงอยู่ พลังหลักอันเกิดจากการที่พระธำรงรักษาสาระที่เป็นเอกลักษณ์แห่งความเป็นพระแบบพุทธของตนไว้ได้มั่น แล้วถ่ายทอดกระแสปัญญาญาณและอิทธิพลแห่งคุณธรรมออกมาสู่สังคม รวมกับพลังชาวพุทธคฤหัสถ์ที่มีวิจารณญาณ โดยมีประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาวพุทธเป็นพลังมวลชนรองรับอยู่เบื้องล่าง พลังดังกล่าวนี้ ยังเป็นอำนาจสำคัญยิ่งใหญ่ที่ฝ่ายบ้านเมืองยังต้องใส่ใจหรือต้องพึ่งอาศัย การที่นายพลเหงียนเกากีรีบส่งสาส์นมากราบทูลสมเด็จพระสังฆราชแห่งสหพุทธจักรเวียดนาม (และถึงพระถิช ทัมเจาด้วย) เมื่อวิกฤติการณ์สิ้นสุดลงเป็นเครื่องยืนยันความที่ว่ามานี้อยู่โดยนัย

บทส่งท้าย:

ก่อนกล่าวถึงเหตุการณ์ต่อไป ควรทราบสภาพบางอย่างของพระพุทธศาสนาในสังคมเวียดนามใต้ หรือสาธารณรัฐเวียดนามเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย หมู่บ้านเวียดนามเกือบทุกหมู่ มีศูนย์กลางชุมชนอยู่ ๒ แห่ง คือ

๑. ศาลเจ้า หรือโรงบูชาเทพารักษ์ที่เรียกว่า ดินห์ (Dinh) เป็นศาลาประชาคม หรือที่ชุมนุมของชาวบ้าน และเป็นที่บูชาเทพารักษ์ประจำหมู่บ้าน

๒. ศาลเจดีย์ หรือโรงเจดีย์ หรือหอเจดีย์ ที่เรียกว่า จัว (Chua = Pagoda) เป็นที่บูชาพระพุทธเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพระพุทธศาสนา และเป็นที่ประกอบพิธีบูชาหรืองานเทศกาลทางพระพุทธศาสนา เช่น พิธีวัน ๑ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และงานทำบุญศราทธ์กลางเดือน ๗ เป็นต้น พระพุทธศาสนาอย่างที่นับถือปฏิบัติตามศาลเจดีย์เหล่านั้น เป็นรูปผสมระหว่างนิกายเธียน (เซน) กับตินห์โด (ชิน) หรือเป็นศาสนาแบบชาวบ้าน ไม่สู้มีเนื้อหาหลักธรรมลึกซึ้งอะไร คือ เป็นลัทธิบูชาพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ พระอรหันต์ หรือปูชนียบุคคลของจีน เช่น พระกวาน อาม (กวนอิม = พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ที่จีนแปลงไปเป็นสตรี) พระวานธู (พระมัญชุศรีโพธิสัตว์) พระโฟเหียน (พระโพธิสัตว์สมันตภัทร) พระคาเดียป (พระกัสสป) เป็นต้น ในศาลเจดีย์หลายแห่งอาจมีพระสงฆ์อยู่บ้าง ๒-๓ รูป ตามปกติลัทธิผสมที่ว่ามานี้ (เธียน + ตินห์โด) มีอุบาสกอยู่ประเภทหนึ่งสำหรับเป็นพิธีกรและทำหน้าที่อื่นๆ ทางศาสนา เรียกว่า คูสี (Cu-si) (คงจะคล้ายกับพระพิธีกรในนิกายชินของญี่ปุ่นกระมัง)

นอกจากศาสนสถาน ๒ อย่างนี้แล้ว บางหมู่บ้านอาจมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในลัทธิขงจื้อ เรียกว่า เมียว (Mieu) ซึ่งสร้างอุทิศแด่ปราชญ์ในลัทธิขงจื้อเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งด้วย ส่วนวัดทางพระพุทธศาสนาขนาดใหญ่ๆ มีอยู่ไม่สู้มาก และหลายวัดเป็นของนิกายเธียน วัดเธียนเหล่านี้เป็นแหล่งให้การศึกษาธรรมวินัย และเป็นที่ฝึกสอนสมาธิแก่พระสงฆ์นิกายเธียนสาขาเก่าๆ ที่เหลืออยู่ มีสาขาเดียวคือ สาขาเถาเดือง (นิกายเธียนที่ ๓) ซึ่งปัจจุบันเป็นสาขาเล็กเหลือเกิน นอกนั้นเป็นสาขาที่เกิดภายหลัง (อย่างเก่าที่สุดคือ ตรึ๊กลัม เริ่ม พ.ศ. ๑๘๒๑ นอกนั้นเริ่มกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๒ เป็นต้นมา) อีกราว ๖-๗ สาขา สมณศักดิ์ของพระสงฆ์แบ่งเป็นชั้นๆ ตามแบบที่มีมาแต่โบราณ ผู้ที่จะเลื่อนชั้นสมณศักดิ์ได้ต้องผ่านการสอบไล่โดยรัฐเป็นผู้ควบคุม สมณศักดิ์เหล่านี้เมื่อเวียดนามตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสแล้ว ก็หมดความศักดิ์สิทธิ์เป็นสักว่ามี ต่อเมื่อตั้งสหพุทธจักรเวียดนามขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๐๗ แล้ว สภาสูงสุดของคณะสงฆ์จึงฟื้นฟูระบบสอบตั้งสมณศักดิ์ขึ้นใหม่ ให้มีการสอบอย่างเคร่งครัด พระสมณศักดิ์สูงสุดเรียกว่า หว่าเธือง ร่วมกันทำหน้าที่เป็นสภาสูงสุดของคณะสงฆ์ (เวียนถังธอง) คณะพระหว่าเธืองนี้ ทำหน้าที่สอบพระภิกษุ ราว ๗๕๐ รูป และจะต้องร่วมอยู่ในพิธีสอบเลื่อนตำแหน่งพระสมณศักดิ์ชั้นต่ำลงมา แต่ก่อนนี้วรรณคดีหรือคัมภีร์ต่างๆ ที่พระสงฆ์เวียดนามเรียนและสวดสาธยาย ส่วนมากเป็นภาษาจีน มีภาษาสันสกฤตที่เขียนด้วยอักษรจีนบ้างเพียงเล็กน้อย สำหรับใช้ในพิธีกรรมต่างๆ แต่เมื่อตั้งสหพุทธจักรเวียดนามขึ้นแล้ว ได้มีวรรณคดีพุทธศาสนาภาษาเวียดนามเกิดขึ้นมากมาย

พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในเวียดนามนั้น แต่เดิมจำกัดอยู่แต่ในชนกลุ่มน้อย เชื้อสายเขมร ซึ่งอยู่ในแถบโคชินจีนส่วนล่างที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเขมร เมื่อครั้งที่ฝรั่งเศสปกครองและจัดให้โคชินจีนเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินโดจีนของฝรั่งเศส วัดและพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทเชื้อสายเขมรเหล่านี้ ขึ้นตรงต่อประมุขสงฆ์ในกัมพูชา แต่เมื่อเวียดนามได้เอกราชแล้ว คณะสงฆ์เถรวาทในเวียดนามก็แยกตัวออกมาจากการปกครองของคณะสงฆ์เขมร และจัดการปกครองขึ้นใหม่เป็นระบบของตนเอง เมื่อมีการฟื้นฟูปรับปรุงกิจการพระพุทธศาสนา มีการจัดตั้งสมาคมและกลุ่มศึกษาพุทธศาสนากันขึ้นในช่วงก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น ชาวเวียดนามได้เริ่มหันมาสนใจคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้าที่สืบทอดมาในฝ่ายเถรวาท ครั้นต่อมามีการจัดตั้งองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๙๓ ชาวเวียดนามมีโอกาสติดต่อสัมพันธ์กับประเทศเถรวาทมากขึ้น ความสนใจนั้นก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นอีก พระพุทธศาสนาในฝ่ายเถรวาทในเวียดนามจึงเจริญขยายตัวออก มีการสร้างวัดเถรวาทใหม่ๆ ขึ้นในภาคใต้ของเวียดนามอีกหลายวัด โดยศูนย์กลางของคณะสงฆ์เถรวาทตั้งอยู่ที่วัดเชตวัน ในกรุงไซง่อน

ครั้นเมื่อชาวพุทธจัดตั้งสหพุทธจักรเวียดนามขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๐๗ แล้ว คณะสงฆ์และชาวพุทธฝ่ายเถรวาท ก็มีสิทธิมีเสียงในกิจการพุทธศาสนาของเวียดนามใต้เท่าเทียมกันกับฝ่ายมหายาน สาเหตุที่ทำให้พุทธศาสนาเถรวาทในเวียดนามมีเกียรติเชิดหน้าชูตามากขึ้นเช่นนี้ นอกจากเป็นเพราะความต้องการที่จะรวมกำลังสร้างความสามัคคีในหมู่ชาวพุทธต่างหมู่ต่างคณะ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งเป็นปึกแผ่นมั่นคงแก่พระศาสนา และจะได้ช่วยกันสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าและประโยชน์สุขแก่ส่วนรวมต่อไปแล้ว ก็เป็นเพราะพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทเป็นแหล่งที่ธำรงไว้ซึ่งคำสั่งสอนดั้งเดิมแท้ของพระพุทธเจ้า ซึ่งชาวพุทธเวียดนามสมัยใหม่มองเห็นคุณค่าว่า เป็นหลักธรรมอันทันสมัยแสดงให้เห็นความประเสริฐเลิศล้ำของพระพุทธศาสนา

ดังปรากฏว่า ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของงานฟื้นฟูพระพุทธศาสนาของชาวพุทธเวียดนามสมัยใหม่ ได้แก่ การแสดงหลักความคิดว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเดียวที่มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ พุทธศาสนาไม่แต่เพียงสอดคล้องเข้ากันได้กับสิ่งที่วิทยาการสมัยใหม่ค้นพบเท่านั้น แต่ยังแสดงสัจธรรมเลยหน้าการค้นพบของวิทยาศาสตร์อีกด้วย หลักความคิดที่กล่าวมานี้ก็ดี การแปลความหมายหลักธรรมในแง่ที่พึงนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตสมัยปัจจุบันและเป็นเครื่องปฏิรูปสังคมก็ดี ได้ปรากฏในวรรณกรรมใหม่ของชาวพุทธเวียดนาม เช่นเดียวกับที่มีดื่นในข้อเขียนสมัยปัจจุบันของฝ่ายเถรวาท โดยเฉพาะในลังกาและพม่า แสดงว่าเป็นแนวโน้มเดียวกัน และเป็นความจริงแน่นอนว่า เวียดนามเป็นฝ่ายรับเอาความคิดริเริ่มเหล่านี้ไม่มากก็น้อยมาจากประเทศเถรวาทเหล่านั้น

ตามปกติชาวพุทธฝ่ายมหายานยึดถือกันเรื่อยมาตลอดเวลาหลายศตวรรษแล้วว่า ปรัชญาธรรมของฝ่ายตนเท่านั้นดีเด่นเป็นเลิศ การที่นิกายทั้งสองซึ่งมีสายความคิดสายประเพณีแตกต่างจนแยกห่างกันไปไกลกลับมาตีความหลักธรรมสอดคล้องต้องกันได้อย่างกว้างขวาง และฝ่ายมหายานยอมยกคำสอนของฝ่ายเถรวาทออกนำหน้าได้เช่นนี้ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ใจอยู่ นับว่าความเคลื่อนไหวของคนหัวใหม่ที่แปลความหมายหลักธรรมให้เข้ากับกาลสมัยนี้ ได้ช่วยให้พระพุทธศาสนาต่างแบบต่างนิกายกัน โอนอ่อนเข้ามาใกล้ชิดกัน ถึงขนาดที่คิดว่าเมื่อ ๒๐-๓๐ ปีมาแล้วคงเป็นไปไม่ได้ ท่านผู้รู้ในเรื่องนี้กล่าวว่า (Buddhism in the Modern World, p.192) “แน่ทีเดียว เหตุผลประการหนึ่ง ได้แก่ ความจริงที่ว่า คำสอนของพระพุทธศาสนาแบบเดิม (เถรวาท) เหมาะกันกับความคิดในสมัยของพวกเรา ยิ่งกว่าคำสอนของมหายานที่สืบๆ กันมา เป็นอันมาก” ความเป็นไปเช่นนี้กลายเป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของเวียดนาม คือ เป็นประเทศในอาเซียประเทศเดียวในปัจจุบันที่พระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายมหายานและเถรวาทดำรงอยู่คู่เคียงกัน และศาสนิกแห่งนิกายทั้งสองได้มีโอกาสดำเนินงานร่วมกันในสหพุทธจักรเวียดนาม

พระพุทธศาสนาในเวียดนามสมัยได้เอกราชจากฝรั่งเศสแล้ว มีความพัวพันกับเหตุการณ์ฝ่ายบ้านเมืองมาก ดังที่ได้เห็นมาแล้วโดยลำดับ เพื่อความเข้าใจชัด จึงยกเอาเหตุการณ์บ้านเมืองมาพิจารณาประกอบด้วย คราวนี้ควรหันมามองดูความเป็นไปทางบ้านเมืองอีกครั้งหนึ่ง ความเป็นไปตอนนี้โดยทั่วไปก็เป็นเรื่องสงครามแทบทั้งสิ้น และสงครามเวียดนามสมัยใหม่นี้สหรัฐฯ ได้เข้ามาร่วมแสดงบทบาทด้วยอย่างมากมาย ขอทบทวนเพื่อเชื่อมโยงเหตุการณ์ว่า สหรัฐฯ ถูกชักเข้ามามีบทบาทในเวียดนามเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ เริ่มด้วยประธานาธิบดีทรูแมน ส่งคณะที่ปรึกษาทางทหาร ๓๕ คน มาช่วยเหลือฝรั่งเศสซึ่งกำลังรบกับ เวียด มินห์ เมื่อฝรั่งเศสแพ้ที่เดียนเบียนฟู เวียดนามได้เอกราช แบ่งเป็นเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ แล้วฝรั่งเศสถอนตัวออกไป สหรัฐฯ ก็ต้องเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น โดยช่วยเวียดนามใต้ฟื้นฟูประเทศ ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์และประธานาธิบดีเคนเนดีได้ส่งที่ปรึกษาพลเรือน และต่อมาส่งที่ปรึกษาทางทหารมาช่วยฝึกคนเวียดนามใต้ ทางฝ่ายเวียดนามเหนือ โฮจิมินห์ก็ไปเซ็นสัญญาช่วยเหลือกับจีนและโซเวียตใน พ.ศ. ๒๔๙๘ ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๙๙ เกิดขบถชาวนาต่อต้านโครงการนารวมในเวียดนามเหนือ รัฐบาลใช้กำลังทหารปราบราบคาบ พอถึงปี ๒๕๐๒ ก็เกิดมีพวกเวียดกงขึ้นก่อความไม่สงบต่างๆ ในเวียดนามใต้ เพื่อดำเนินงานตามแผนของเวียดนามเหนือที่จะรวมเวียดนามเข้าด้วยกัน

ปีต่อมา ๒๕๐๓ พวกคอมมิวนิสต์ในภาคใต้ก็จัดตั้งขบวนการขึ้นมาเรียกว่า แนวร่วมปลดแอกแห่งชาติ (NLF) ทำให้เวียดนามใต้มีภาระในการต่อสู้ป้องกันมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาปี ๒๕๐๖ ได้เกิดวิกฤติการณ์ชาวพุทธครั้งที่ ๑ ขึ้น เพราะรัฐบาลบีบคั้นประหัตประหารชาวพุทธด้วยความเดียดฉันท์ทางศาสนา รัฐบาลถูกรัฐประหาร ประธานาธิบดีโงดินห์เดียมถูกสังหาร รัฐบาลที่ตั้งขึ้นต่อจากนี้ถึง พ.ศ. ๒๕๐๘ ขาดเสถียรภาพ ถูกเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ และมีเหตุวุ่นวายจากกลุ่มที่บีบคั้นรัฐบาลมากโดยเฉพาะจากชาวพุทธ ระหว่างนี้ที่ปรึกษาทางทหารของสหรัฐฯ ในเวียดนามใต้ได้เพิ่มขึ้นถึง ๑๕,๐๐๐ คนแล้วตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๖

พอถึง พ.ศ. ๒๕๐๗ เรือพิฆาตลำหนึ่งของสหรัฐฯ ถูกเรือตอร์ปิโดของเวียดนามเหนือโจมตีในอ่าวตังเกี๋ย ประธานาธิบดีจอห์นสันจึงส่งทหารสหรัฐฯ โจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายสำคัญๆ ในเวียดนามเหนือเป็นการแก้ลำ ทำให้ปีต่อมาคือ พ.ศ. ๒๕๐๘ เป็นปีที่กำลังทหารสหรัฐฯ เริ่มออกโรงรบเองด้วยการทิ้งระเบิดเวียดนามเหนือและปฏิบัติการรบในเวียดนามใต้ ในปีเดียวกันนี้ นายพลเหงียนเกากีแม่ทัพอากาศได้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีนายพลเหงียนวันเทียวเป็นประมุขรัฐ รัฐบาลได้เกิดความขัดแย้งกับชาวพุทธอย่างรุนแรง กลายเป็นวิกฤติการณ์ชาวพุทธครั้งที่ ๒ นายพลเหงียนเกากีสามารถปราบปรามเหตุวุ่นวายและการกบฏให้ราบคาบ พร้อมทั้งกำจัดขบวนการฝ่ายรุนแรงของชาวพุทธลงได้ด้วย จึงเกิดมีรัฐบาลที่เข้มแข็งมั่นคงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อปราบการจลาจลวุ่นวายภายในลงได้แล้ว นายพลเหงียนเกากีก็พยายามสร้างระบบการเมืองให้มีเสถียรภาพ โดยยึดเอาระบบการเมืองเกาหลีใต้ของประธานาธิบดีปาร์ก จงฮี เป็นแบบอย่าง ในสิ้นปี ๒๕๐๙ กำลังทหารอากาศสหรัฐฯ ในเวียดนามมีถึง ๑๘๔,๐๐๐ คน

ถึง พ.ศ. ๒๕๑๐ มีการเลือกตั้งทั่วไป นายพลเหงียนวันเทียวได้เป็นประธานาธิบดี นายพลเหงียนเกากีเป็นรองประธานาธิบดี เมื่อกำลังทหารสหรัฐฯ ปฏิบัติการในเวียดนามมากขึ้น ได้เกิดปฏิกิริยาจากประชาชนในสหรัฐฯ เอง บีบให้มีการจำกัดกำลังทหารสหรัฐฯ ในเวียดนามไม่ให้เกิน ๕๕๐,๐๐๐ คน และในสิ้นปี ๒๕๑๑ ทหารสหรัฐฯ ในเวียดนามได้มีจำนวนเกือบถึง ๕๒๕,๐๐๐ คน ต่อมา พ.ศ. ๒๕๑๒ โฮจิมินห์ ประมุขของเวียดนามเหนือถึงแก่กรรมลง แต่การสู้รบหาเพลาลงไม่ เวียดนามใต้บอบช้ำลงทั่วไป เพราะเป็นเวทีการแทรกซึมและสงครามกองโจร ตลอดเวลานี้องค์การชาวพุทธได้ช่วยเหลือประเทศชาติด้วยงานด้านสันติ คือการสังคมสงเคราะห์ต่างๆ มีช่วยเหลือผู้ประสบภัยสงคราม ทั้งทหารและพลเรือน สงเคราะห์เด็กกำพร้า เป็นต้น

ในปีถัดมาประธานาธิบดีนิกสันแห่งสหรัฐฯ ต้องส่งทหารเข้าไปปฏิบัติการในเขมร เพื่อตัดเส้นทางแทรกซึมและขนส่งจากเวียดนามเหนือ หลังจากนั้นกำลังส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ ได้ถูกถอนกลับ ปีต่อมา ประธานาธิบดีเหงียนวันเทียว ได้รับการเลือกตั้งดำรงตำแหน่งต่ออีก ๔ ปี แต่ปีนี้รัฐสภาสหรัฐฯ ลงมติห้ามไม่ให้ใช้ทหารสหรัฐฯ ปฏิบัติการรบภาคพื้นดิน ให้ใช้ได้แต่กำลังทางอากาศ ทัพเวียดนามใต้ต้องช่วยตัวเองมากขึ้น และในปีเดียวกันนี้ ทัพเวียดนามใต้ซึ่งเข้าไปปฏิบัติการตัดทางขนส่งลำเลียงของเวียดนามเหนือในลาว ทำงานไม่สำเร็จ ถูกไล่ถอยกลับมา ใน พ.ศ. ๒๕๑๕ ประธานาธิบดีนิกสันจึงสั่งทิ้งระเบิดเมืองท่าสำคัญของเวียดนามเหนือ บริเวณฮานอย ไฮฟองอย่างหนัก เพื่อบีบให้เวียดนามเหนือยอมเจรจาตกลง พอถึงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๑๖ ผู้แทนเวียดนามเหนือ เวียดนามใต้ สหรัฐฯ และแนวร่วมปลดแอกแห่งชาติก็ตกลงกันได้โดยลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพที่ปารีส ยุติสงครามอันได้ชื่อว่ายืดเยื้อยาวนานที่สุดในประวัติของประเทศสหรัฐอเมริกา

แม้สงครามจะยุติ เวียดนามใต้ก็คงประสบปัญหาหนัก เพราะเป็นเวทีสงคราม มัววุ่นวายในการต่อสู้ป้องกันตัว เป็นฝ่ายรับ สะสมความเสียหายไว้มากมาย จะสร้างเสริมความมั่นคงปลอดภัยช่วยตัวเองไหวหรือไม่ ชาวนาหลายล้านคนเป็นผู้ยากไร้ ขาดแคลนที่ดิน ประชาชนในเมืองใหญ่จำนวนมากก็ยากจน ไม่มีงานทำ ทำให้ราษฎรทั่วไปมีความร่วมใจกับรัฐบาลน้อย ยิ่งกว่านั้นเวียดนามใต้มีคนหลายพวก กลุ่มอิทธิพลต่างๆ ทางการเมือง ก็ช่วยลดความเข้มแข็งของบ้านเมืองลงไปอีก ความรู้สึกต่อต้านประธานาธิบดีเทียวทวีขึ้นโดยลำดับ

จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๗ ความวุ่นวายภายในก็เกิดขึ้นอีก พวกชาวคาทอลิค ชาวพุทธ และพวกหัวรุนแรงทางการเมืองอื่นๆ พากันเดินขบวนอย่างกว้างขวางในเมืองไซ่ง่อน ประจวบเวลาใกล้ๆ นั้น ประธานาธิบดีนิกสันผู้สนับสนุนประธานาธิบดีเทียว ก็ลาออก รัฐบาลสหรัฐฯ ตัดทอนความช่วยเหลือแก่เวียดนามใต้ เวียดนามใต้จึงต้องลดกำลังป้องกันลงอีก ตรงข้ามกับเวียดนามเหนือซึ่งเป็นฝ่ายรุก ปฏิบัติการรบนอกดินแดนของตน พอยุติสงครามก็รีบใช้โอกาสนั้นระดมกำลังคนหนุ่มกลับคืนจากกองทัพกลับไปบูรณะฟื้นฟูประเทศของตน สร้างซ่อมถนนหนทาง โรงงานอุตสาหกรรมที่เสียหายจากการทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ ฟื้นฟูการชลประทานและสร้างเสริมการเกษตรในเขตอุดมสมบูรณ์แถบลุ่มแม่น้ำแดง ผลิตผลการเกษตรก็เพิ่มพูนขึ้นมาก พร้อมกันนั้นก็ได้รับความช่วยเหลือจากประเทศคอมมิวนิสต์อื่นๆ คือ โซเวียต (ช่วย ๑ ใน ๒ ส่วน) จีน (ช่วย ๑ ใน ๓) และประเทศคอมมิวนิสต์อื่นในยุโรปตะวันออก (ช่วยส่วนที่เหลือ) และส่งกำลังอีกส่วนหนึ่งประมาณ ๒ แสนคนเข้ามาในเวียดนามใต้ สร้างเส้นทางแทรกซึมและลำเลียง ส่วนสนธิสัญญาสันติภาพใน พ.ศ. ๒๕๑๖ ก็เป็นเพียงการกระทำโดยนิตินัย และได้ผลเล็กน้อยชั่วระยะสั้นๆ

ในปีต่อมาคือ พ.ศ. ๒๕๑๘ สงครามเต็มขนาดก็ดำเนินต่อไป ฝ่ายเวียดนามเหนือยึดเมืองใหญ่ๆ ของเวียดนามใต้ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พอถึงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๑๘ กองทัพเวียดกง และเวียนนามเหนือ ก็เคลื่อนเข้ายึดเมืองไซ่ง่อนได้ ในขณะที่ชาวไซ่ง่อนจำนวนมากกำลังสนุกสนานรื่นเริงอยู่ในบาร์และไนท์คลับต่างๆ โดยไม่รู้ตัวว่าอิสรภาพสิ้นสุดแล้ว ตนเองจะกลายเป็นผู้ไร้สมบัติพัสถาน หรือถึงกับไร้แผ่นดินที่จะอยู่ภายในไม่กี่วันเวลาข้างหน้า

เมื่อคอมมิวนิสต์ได้ชัยชนะแล้วก็ตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นปกครองเวียดนามใต้ ในวันที่ ๖ มิถุนายน และต่อมาได้ประกาศให้ วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๑๙ เป็นวันรวมประเทศเวียดนามเป็นทางการ โดยมีฮานอยเป็นเมืองหลวงของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เมืองไซ่ง่อน เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองโฮจิมินห์

สงครามเวียดนามอันยาวนานที่สิ้นสุดลงแล้ว ได้พรากชีวิตชาวเวียดนามไป ๑,๓๐๐,๐๐๐ คน ชาวอเมริกัน ๕๖,๐๐๐ คน พร้อมด้วยเงินช่วยเหลือของสหรัฐฯ ๑๔๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ เหรียญอเมริกัน หรือราว ๕,๘๒๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ชาวเวียดนามอพยพลี้ภัยออกจากประเทศของตนทั้งทางเรือและเครื่องบินในระยะต้นๆ เกินกว่า ๑๔๐,๐๐๐ คน ส่วนมากเดินทางไปสู่สหรัฐฯ และรัฐสภาสหรัฐฯ ก็ได้อนุมัติเงิน ๔๐๕,๐๐๐,๐๐๐ เหรียญอเมริกัน เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวอินโดจีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเวียดนาม ให้ตั้งถิ่นฐานในสหรัฐฯ ชาวเวียดนามจำนวนมากมายยังคงเสี่ยงภัยหลบหนีออกจากประเทศของตนอยู่ต่อมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน ชาวญวนอพยพยังตกค้างอยู่ในค่ายสงเคราะห์ผู้ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ อีกเกินแสนคน และจำนวนใหม่ก็ยังเพิ่มเติมมาอยู่เรื่อยๆ ก่อให้เกิดความหวั่นวิตกในกิจการระหว่างประเทศ เป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของโลกปัจจุบัน

เมื่อฝ่ายคอมมิวนิสต์ยึดครองเวียดนามใต้แล้ว ก็ดำเนินการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเวียดนามใต้เสียใหม่ สั่งห้ามตำราประวัติศาสตร์ที่เขียนจากทัศนะแบบอเมริกัน จัดการสัมมนาให้การศึกษาอบรมใหม่แก่ข้าราชการและทหารเวียดนามใต้ทุกคน ขับไล่ชาวต่างประเทศออกไปทั้งหมด แม้แต่ผู้ที่แต่งงานกับชาวเวียดนาม รัฐชวนหรือบีบให้ราษฎรในเมืองออกไปตั้งหลักแหล่งทำไร่ไถนาในชนบท แต่ไม่ถึงกับใช้วิธีบังคับรุนแรงอย่างในกัมพูชา ตั้งนักการเมืองชาวเหนือเข้าดำรงตำแหน่งในรัฐบาลท้องถิ่นแห่งภาคใต้ ส่วนพระสงฆ์ วัดวาอาราม และสถาบันต่างๆ ทางพระพุทธศาสนา ไม่สู้มีข่าวคราวปรากฏออกมาภายนอก มีเสียงกล่าวว่า จะถูกปล่อยให้เป็นเหมือนต้นไม้ที่ยืนต้นตายไปเอง แต่อย่างน้อยก็คงต้องแปลงรูปไปตามอย่างระบบของฝ่ายที่ชนะ ประวัติพุทธศาสนาในเวียดนามจึงเป็นอันตัดตอนได้ว่าจบสิ้นไปอีกยุคหนึ่ง

แม้สงครามจะยุติแล้ว แต่ความทุกข์ยากของชาวเวียดนามภาคใต้ยังไม่สิ้น ผืนแผ่นดินเวียดนามภาคใต้นั้นตกอยู่ในสภาพน่าเศร้า เป็นเหมือนคนที่เนื้อตัวเต็มไปด้วยบาดแผล มีหลุมระเบิดบ้างเศษหินเศษโลหะจากกระสุนปืนและระเบิดเป็นต้นกระจายไปทั่วบ้าง ป่าไม้ที่ถูกทำลายมีแต่ซากหรือเป็นตอดำบ้าง ล้วนไม่อำนวยแก่การใช้ประโยชน์ในเกษตรกรรม ประชาชนเวียดนามปัจจุบันเผชิญอยู่กับความทุกข์ยากแสนสาหัสภายใน และ ส่วนหนึ่งก็ออกไปเผชิญชะตากรรมจากการอพยพลี้ภัยด้วยการระเหระหนในท้องทะเล อย่างไรก็ดี สิ่งที่ประเทศทั้งหลายสนใจเป็นพิเศษก็คือ เมื่อการต่อสู้ภายในเวียดนามเองผ่านพ้นไปแล้ว ความขัดแย้ง การพิพาท และการต่อสู้ช่วงชิงดินแดนระหว่าง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม กับจีน และกัมพูชา คู่ศึกคู่ สงครามเก่าในอดีต ก็เริ่มตั้งต้นขึ้นอีก ดังจะซ้ำรอยเดิม หมุนวงจรประวัติศาสตร์ให้เคลื่อนต่อไปใหม่

ใน พ.ศ. ๒๕๒๐ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามที่รวมกันแล้วมีเนื้อที่ ๑๒๘,๓๐๒ ตารางไมล์ หรือ ๓๓๒,๕๕๙ ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ ๔๗,๘๗๕,๐๐๐ คน.

หนังสือและเอกสารประกอบ

Buddhism in the Modern World. Edited by Heinrich Dumoulin and John C. Maraldo, New York: Macmillan Publishing Co., Inc., 1967.

Encyclopedia Americana. 1969 ed., sv.“Vietnam.”

Encyclopaedia Britannica. 1968 ed., sv.“Vietnam”

Hall, D.G.E. A History of South-East Asia. New York: St. Martin’s Press, 1970.

Schecter, Jerrold. The New Face of Buddha. Tokyo: John Weatherhill, Inc., 1976.

Vien Hoa-Dao. The Unified Buddhist Church of Vietnam. Cholon: Vien Hoa-Dao, Chu An-QUANG 243, Su Van-Hauh, approx.1972.

เอกสารของคณะผู้แทนองค์การ พ.ส.ล. แห่งเวียดนามใต้ เสนอต่อที่ประชุมเรื่องการศึกษาชั้นสูงทางพระพุทธศาสนา ขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ณ สำนักงานใหญ่ พ.ส.ล. ในกรุงเทพฯ วันที่ ๖-๑๐ พฤษภาคม ๒๕๑๑.

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ๙. พระพุทธศาสนาในลาว๑๑. พระพุทธศาสนาในศรีลังกา >>

เชิงอรรถ

  1. นิกายเธียนที่ ๑ นี้ ได้สูญสิ้นไปนานแล้วตั้งแต่ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ แต่ท่านวินีตรุจิ ยังเป็นที่เคารพนับถืออยู่ในวัดหลายแห่งแม้ในปัจจุบัน
  2. นิกายว่อง่อนถ่องนี้ สูญสิ้นไปแล้ว ไม่มีอยู่ในปัจจุบัน
  3. เกาได๋ เป็นลัทธกึ่งการเมือง ผสมผสานกันระหว่างพุทธศาสนา เต๋า ขงจื๊อ และคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิค เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ โดยผู้ตั้งลัทธิสั่งสอนว่าศาสนาทุกศาสนามีทั้งข้อดีและข้อเสีย เขาจึงรวบรวมเอาเฉพาะส่วนดีของศาสนาเหล่านั้นมาสั่งสอน ลัทธินี้ถือพระพุทธเจ้า ขงจื๊อ พระเยซูและเล่าจื๊อเป็นกึ่งเทพเจ้า และรวมเอาบุคคลต่างๆ เช่น วิคเตอร์ ฮิวโก โจนออฟอาร์ค และซุนยัตเซน เป็นต้น มาเป็นนักบุญ เป็นลัทธิสำคัญที่ทำให้เกิดชาตินิยมของชาวเวียดนาม มีการจัดตั้ิงอย่างพรรคการเมือง มีโป๊ปและคณะนักบวชของตนเอง ดำเนินการต่อต้านฝรั่งเศสและต่อมาต่อต้านโงดินห์เดียม ใน พ.ศ. ๒๔๙๗ มีศาสนิกราว ๑๕๐,๐๐๐ คนแต่ใน พ.ศ. ๒๕๐๙ ประมาณว่ามีสาวก ๑ ถึง ๒ ล้านคน

    หัวเหา (ออกเสียงที่ถูกเป็น หว่าเหา) เป็นลัทธิอิสระของพวกหัวรุนแรงแต่อิงพระพุทธศาสนา เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ ผู้ตั้งเป็นชายหนุ่มขี้โรคและมักถูกคนเรียกว่าเป็นหมอผีและเป็นพระเสียสติ มีหลักการและคำสอนอย่างง่ายๆ เชื่ออำนาจศักดิ์สิทธิ์ในการรักษาโรคและอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ เข้าถึงชาวนาและคนยากจนได้ดี พวกหัวเหามีกองทัพของตนเอง ต่อต้านทั้งฝรั่งเศสและโงดินห์เดียม เมื่อโงดินห์เดียมขึ้นครองอำนาจแล้ว ได้จับแม่ทัพของหัวเหาประหารชีวิตเสียใน พ.ศ. ๒๕๐๗ ลัทธินี้อ้างว่าตนมีศาสนิกถึง ๒ ล้านคน ทั้งหัวเหาและเกาได๋ จำกัดตัวอยู่ในเวียดนามภาคใต้ โดยเฉพาะแถบโคชินจีนเป็นส่วนมาก เช่นเดียวกับคาทอลิค

  4. หนังสือ Buddhism in Modern World แสดงสถิติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ว่าประชากรเวียดนามใต้มี ๑๔ ล้านคนเป็นพวกหัวเหา ๒.๕ ล้าน เกาได๋ ๒ ล้าน โรมันคาทอลิค ๒.๒ ล้าน โปรเตสแตนท์ ๐.๔ ล้าน ชาวเขานับถือศาสนาพื้นบ้าน ๑ ล้าน ชาวบ้านที่ไม่เป็นคริสต์หรือเกาได๋ เรียกตัวเองว่าเป็นพุทธ รวมมีชาวพุทธได้ไม่ถึง ๖ ล้านคน มีแนวโน้มจะเลิกนับถือลัทธิผสมพุทธ ขงจื้อ เต๋า และถือเอาพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
  5. พึงสังเกตวัตถุประสงค์ของสหพุทธจักรฯ ซึ่งระบุไว้เป็นมาตรา ๔ ของกฎบัตรว่า “สหพุทธจักรเวียดนามมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อให้เกิดความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแห่งพระพุทธศาสนาทั้งสองนิกายในเวียดนาม และเพื่อบำเพ็ญประโยชน์แก่มนุษยชาติและประชาชนด้วยการสั่งสอนและปฏิบัติธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

No Comments

Comments are closed.