๑๔. พระพุทธศาสนาในอินเดีย

1 มิถุนายน 2515
เป็นตอนที่ 14 จาก 15 ตอนของ

๑๔.
พระพุทธศาสนาในอินเดีย

 

ยุคที่ ๑ การรักษาความมั่นคงในสังฆมณฑล

ยุคที่ ๒ พระพุทธศาสนารุ่งเรืองทั่วชมพูทวีปและแผ่ออกต่างประเทศ

ยุคที่ ๓ พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานแยกตัวออกไปและเจริญรุ่งเรือง

ยุคที่ ๔ ศูนย์กลางการศึกษา วัฒนธรรม และผสมผสานกับศาสนาฮินดู

ยุคที่ ๕ ความเจริญที่อ่อนแอ ความเสื่อมโทรมและสูญสิ้นจากประเทศอินเดีย สมัยปัจจุบัน เหตุที่พระพุทธศาสนาเสื่อมสูญจากอินเดีย

พระพุทธศาสนาในอินเดียสมัยพุทธกาล เป็นเรื่องเนื่องอยู่ในพุทธประวัติจึงงดไว้ ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะความเป็นมาภายหลังพุทธปรินิพพาน ถ้าแบ่งกว้างๆ ความเป็นมาของพระพุทธศาสนาในอินเดียจะปรากฏเป็นสมัยๆ ดังนี้

๑. พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทรุ่งเรือง พ.ศ. ๑ ถึง ๕๐๐

๒. พุทธศาสนาฝ่ายมหายานรุ่งเรือง พ.ศ. ๕๐๐ ถึง ๑๐๐๐

๓. พุทธศาสนาแบบตันตระรุ่งเรือง พ.ศ. ๑๐๐๐ ถึง ๑๕๐๐

๔. ตันตระแบบเสื่อมโทรมจนถึงพุทธศาสนาสูญสิ้น พ.ศ. ๑๕๐๐ ถึง ๑๗๐๐

เพื่อความสะดวกในการศึกษา อาจแบ่งประวัติพระพุทธศาสนาในอินเดียเป็น ๕ ยุค คือ

 

ยุคที่ ๑ การรักษาความมั่นคงภายในสังฆมณฑล
(นับแต่พุทธปรินิพพาน ถึงก่อนพระเจ้าอโศกมหาราช
หรือประมาณ พ.ศ. ๑ ถึง ๒๐๐ เศษ)

พ.ศ. ๑

หลังจากพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน มีการสังคายนาครั้งที่ ๑ ณ เมืองราชคฤห์ แต่เมื่อสังคายนาเสร็จสิ้นแล้ว พระสงฆ์หมู่หนึ่งมี พระปุราณะ เป็นหัวหน้า ไม่ยอมรับการสังคายนานั้น

พ.ศ. ๑๐๐

ภิกษุพวกวัชชีบุตร ถือปฏิบัติวัตถุ ๑๐ ประการ คลาดเคลื่อนจากธรรมวินัย เป็นเหตุให้มีการ สังคายนาครั้งที่ ๒ ณ เมืองเวสาลี แต่พระสงฆ์พวกที่ถือผิดมีจำนวนมากกว่า ได้แยกไปทำสังคายนาของตนต่างหากเรียกว่า มหาสังคีติ และได้ชื่อว่าเป็น มหาสังฆิกะ คือพวกสงฆ์ฝ่ายมาก เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาเริ่มแยกออกเป็น ๒ นิกายใหญ่ คือ ฝ่ายเถรวาท ที่ถือเคร่งครัดตามหลักธรรมวินัยเดิมซึ่งกำหนดไว้ในการสังคายนาครั้งที่ ๑ กับ ฝ่ายอาจริยวาท ที่ถือตามคำสอนและความหมายที่อาจารย์รุ่นหลังสอนต่อมา แต่การแตกแยกยังไม่ปรากฏชัดถึงขาดออกจากกัน

 

ยุคที่ ๒ พระพุทธศาสนารุ่งเรืองทั่วชมพูทวีป และแผ่ออกต่างประเทศ
(จักรวรรดิพุทธที่ ๑ ของพระเจ้าอโศกมหาราช ถึงจักรวรรดิพุทธที่ ๒
ของพระเจ้ากนิษกะ ประมาณ พ.ศ. ๒๕๐ ถึง ๕๐๐)

พ.ศ. ๒๑๘

พระเจ้าอโศกมหาราช ขึ้นครองราชย์ ณ นครปาฏลีบุตร ทรงหันมานับถือพระพุทธศาสนา และทำนุบำรุงพระสงฆ์อย่างมากมาย เป็นเหตุให้เดียรถีย์และผู้เห็นแก่ลาภสักการะเข้ามาบวชในพระศาสนาจำนวนมาก แสดงธรรมวินัยเคลื่อนคลาดแตกแยกออกไปมากมาย เฉพาะนิกายใหญ่มีถึง ๑๘ นิกาย พระเจ้าอโศกจึงทรงจัดการชำระการพระศาสนา ทรงอาราธนาพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธานจัดทำ สังคายนาครั้งที่ ๓ ณ พระนครปาฏลีบุตร เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖ ทรงสร้างมหาวิหาร ๘๔,๐๐๐ แห่ง จัดทำศิลาจารึกประกาศธรรมตามนโยบาย ธรรมวิชัย ทั่วมหาอาณาจักร ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาคุ้มครองอุปถัมภ์ทุกศาสนา ทรงส่งสมณทูต ๙ สายไปเผยแพร่พระพุทธศาสนา ทั้งในแคว้นที่อยู่ในพระราชอำนาจและในต่างประเทศห่างไกล ศิลปกรรมเจริญรุ่งเรือง เริ่มมีสถาปัตยกรรมที่ทำด้วยศิลาแพร่หลายในชมพูทวีปเป็นครั้งแรก

พ.ศ. ๓๕๙

ปุษยมิตร พราหมณ์ผู้เป็นมหาอำมาตย์ ได้วางแผนทรยศปลงพระชนม์ พระเจ้าพฤหทรัตถ์ กษัตริย์ชาวพุทธองค์สุดท้ายเชื้อสายพระเจ้าอโศกมหาราชในราชวงศ์เมารยะ แล้วขึ้นครองราชย์ ณ นครปาฏลีบุตรแทนเป็น ราชวงศ์ศุงคะ อันเป็นฝ่ายพราหมณ์ (วงศ์ศุงคะครองอำนาจอยู่ประมาณ ๑๑๑ ปี) ทำพิธีอัศวเมธ และกวาดล้างพระพุทธศาสนาด้วยการเผาวัดวาอารามฆ่าพระสงฆ์ และให้รางวัลค่าศีรษะแก่ผู้ฆ่าชาวพุทธได้ทุกราย แต่การกวาดล้างของพระเจ้าปุษยมิตรไม่สำเร็จ เพราะพระพุทธศาสนาแพร่หลายมั่นคงในศรัทธาของประชาชนแล้ว ประกอบกับราชาผู้ครองอาณาจักรอื่นๆ ซึ่งตั้งตัวขึ้นในสมัยเมื่อจักรวรรดิของพระเจ้าอโศกมหาราชกำลังสลายตัว ได้ทรงเลื่อมใสและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ที่สำคัญได้แก่ พระเจ้ามิลินท์ หรือ Menander (พ.ศ. ๓๖๘ – ๓๙๓ หรือประมาณ พ.ศ. ๕๐๐) กษัตริย์เชื้อชาติกรีก หรือ โยนก ครองนครสาคละในอาณาจักรบากเตรีย (แถบแควันคันธาระและปัญจาบตะวันตกเฉียงเหนือของชมพูทวีป) พระองค์ทรงเป็นปราชญ์ ได้โต้ตอบปัญหาธรรมกับ พระนาคเสน แล้วทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ตามเรื่องที่ปรากฏในมิลินทปัญหา พระพุทธศาสนาได้รับการทำนุบำรุงรุ่งเรือง ศิลปกรรมกรีกผสมอินเดียที่เรียกว่าแบบคันธาระ ก็เริ่มเกิดมีขึ้นด้วยอาศัยศรัทธาในพระพุทธศาสนา ปราชญ์สันนิษฐานว่า เป็นยุคแรกที่มีการสร้างพระพุทธรูป

ส่วนทางทิศตะวันตกและทิศใต้ลงมา คือ ในภาคกลางของอินเดียทั้งหมด ก็มีอาณาจักรที่ตั้งตัวเป็นอิสระขึ้นและรุ่งเรืองต่อมา คือ อาณาจักรของกษัตริย์ ราชวงศ์ศาตวาหนะ หรือ ศาลิวาหนะ แห่งอานธระซึ่งมีศูนย์กลางความเจริญอยู่ที่เมือง อมราวดี (อมราวดีเป็นราชธานีเก่า ต่อมาย้ายไปสู่เมืองประดิษฐาน) อาณาจักรนี้เริ่มก่อตัวขึ้นในปลายราชวงศ์เมารยะ ตอนที่จักรวรรดิอันสืบมาแต่พระเจ้าอโศกมหาราชกำลังจะสลาย ได้รบชนะกษัตริย์แห่งมคธเมื่อ พ.ศ. ๔๕๕ และมีอำนาจรุ่งเรืองอยู่ต่อมาประมาณ ๓ ศตวรรษ (ระยะรุ่งเรืองคือประมาณ พ.ศ. ๔๐๐ ถึง ๗๐๐ ซึ่งตรงกับสมัยราชวงศ์กุษาณในยุคที่ ๓) กษัตริย์ทุกพระองค์ในราชวงศ์นี้เป็นมิตรกับพระพุทธศาสนา และหลายพระองค์ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง เป็นยุคที่ประชาชนนิยมสร้างและบูชาสถูปเจดีย์ มีวัดวาอารามมาก และศิลปวัฒนธรรมรุ่งเรืองยุคหนึ่ง ถิ่นสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ได้รับบรมราชูปถัมภ์จากกษัตริย์วงศ์นี้ คือ สาญจิ อมราวดี นาคารชุนโกณฑะ เป็นต้น

 

ยุคที่ ๓ พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานแยกตัวออกไป
และเจริญรุ่งเรือง
(จักรวรรดิพุทธที่ ๒ ของพระเจ้ากนิษกะมหาราช
แห่งราชวงศ์กุษาณ ประมาณ พ.ศ. ๕๐๐ ถึง ๗๐๐)

พ.ศ. ๕๑๓

กษัตริย์ราชวงศ์กุษาณ รบชนะกษัตริย์กรีกและกษัตริย์ราชวงศ์ศกะ เข้าครองอำนาจในอินเดียภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ทรงเลื่อมใสศรัทธาและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา (ชนเผ่ากุษาณเป็นชาติพันธุ์มองโกล เดิมอยู่ในอาเซียกลาง ถูกพวกฮั่นรุกราน จึงอพยพมาเข้าครอบครองดินแดนแถบนี้และแผ่อำนาจออกจนเป็นมหาอาณาจักร มีอาณาเขตเทียบปัจจุบันคือ บางส่วนของเปอร์เซีย โขตานในอาเซียกลาง อาฟกานิสถาน ปากีสถานตะวันตกเกือบทั้งหมด แคว้นกัษมีระ หรือแคชเมียร์ แคว้นปัญจาบ ลงมาทางตะวันออกจนถึงเมืองพาราณสี รวมมีขนาดประมาณครึ่งหนึ่งของจักรวรรดิของพระเจ้าอโศกมหาราช ตอนแรกราชวงศ์กุษาณตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองกาบุล แล้วย้ายมายังปุรุษปุระ หรือ Peshawar และท้ายสุดย้ายมายังมถุรา ในยุคเดียวกันนี้มหาอาณาจักรที่รุ่งเรืองในอินเดียภาคกลางก็คือ อานธระของราชวงศ์ศาตวาหนะ ซึ่งทำนุบำรุงพระพุทธศาสนามากเหมือนกัน)

พ.ศ. ๖๒๑

พระเจ้ากนิษกะ กษัตริย์พระองค์ที่ ๓ ในราชวงศ์กุษาณ ขึ้นครองราชย์ ณ เมืองปุรุษปุระ เป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในชมพูทวีปภายหลังสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงมีพระราชศรัทธาอย่างแรงกล้าในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ทรงอุปถัมภ์การ สังคายนาครั้งที่ ๔ ของฝ่ายมหายาน ร้อยกรองพระไตรปิฎกฉบับภาษาสันสกฤต มหายานแยกตัวออกไปอย่างชัดเจนและเจริญรุ่งเรืองแพร่หลาย มีพระสงฆ์และชาวพุทธสำคัญเป็นปราชญ์ เป็นที่ปรึกษา เป็นกวีในราชสำนัก ทรงส่งสมณทูตไปประกาศพระศาสนาในอาเซียกลาง ซึ่งทำให้พระพุทธศาสนาแพร่หลายไปยัง จีน เกาหลี มองโกเลีย และญี่ปุ่น ในสมัยต่อมาทรงสร้างสถูปและวัดวาอารามเป็นอันมาก และ เป็นสมัยที่ศิลปะแบบคันธาระเจริญถึงขีดสุด

อาณาจักรกุษาณรุ่งเรืองและเป็นสะพานเชื่อมระหว่างอารยธรรมอินเดีย จีน กับ โรมัน หรือตะวันออกกับตะวันตกอยู่ประมาณ ๒๐๐ ปีเศษ ในตอนปลายยุคได้ค่อยสูญเสียดินแดนให้แก่เผ่าชนฝ่ายพราหมณ์ตามลำดับ จนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๙ ก็สูญสิ้นวงศ์ และมีอาณาจักรคุปตะของวงศ์กษัตริย์ฝ่ายพราหมณ์รุ่งเรืองขึ้นแทน

 

ยุคที่ ๔ ศูนย์กลางการศึกษา วัฒนธรรม
และการผสมผสานกับศาสนาฮินดู
(ยุคทองของอินเดียในสมัยอาณาจักรฮินดู-พุทธของคุปตะ จักรวรรดิพุทธที่ ๓ ของพระเจ้าหรรษวรรธนะ อาณาจักรพุทธของราชวงศ์ไมตรกะประมาณ พ.ศ. ๘๐๐ ถึง ๑๒๕๐)

พ.ศ. ๘๐๐

เมื่อราชวงศ์กุษาณเสื่อมอำนาจลงแล้ว อาณาจักรคุปตะได้ตั้งตัวขึ้นทางแคว้นมคธ (หรือพิหารในปัจจุบัน) เบื้องต้นมีราชธานีอยู่ที่เมืองปาฏลีบุตร แต่ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ ได้แผ่อำนาจออกไปทางตะวันตกจนมีอาณาเขตจดทะเลทั้งสองด้าน คือ ทางทิศตะวันออกจดอ่าวเบงกอลบริเวณบังคลาเทศ และเมืองกัลกัตตา ทิศตะวันตกจดทะเลอาหรับที่แหลมคุชรัต ทิศตะวันตกเฉียงเหนือและทิศเหนือ ลึกเข้าไปในแคว้นราชาสถานบางส่วน ปัญจาบบางส่วน และอุตตรประเทศส่วนใหญ่ ทิศใต้จดเทือกเขาวินธัย รวมอาณาเขตทั้งหมดประมาณ ๑ ใน ๓ ของจักรวรรดิของพระเจ้าอโศก ในรัชกาลนี้ได้ย้ายราชธานีไปอยู่ที่ เมืองอโยธยา กษัตริย์วงศ์นี้ครองอำนาจอยู่ได้ประมาณ ๒ ศตวรรษ ถึงแม้จะเป็นวงศ์กษัตริย์ฮินดู แต่แทบทุกพระองค์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา และมีหลายพระองค์ที่เปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา

มีข้อสังเกตว่า ราชวงศ์กุษาณเป็นชนชาติอื่นที่เข้ามาครองอำนาจในอินเดีย และได้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างมาก ในปลายยุคเมื่อกุษาณเสื่อมอำนาจลงแล้ว ชนเผ่าต่างๆ ที่จะตั้งตัวเป็นใหญ่จึงถือเอาการนับถือพระพุทธศาสนาว่าเป็นเรื่องคนต่างชาติไปด้วย และผนวกเอาความเป็นฮินดูเข้ากับความเป็นอินเดีย ศาสนาฮินดูจึงมีความหมายสำหรับการเป็นชาตินิยม และทำให้พระพุทธศาสนาเสียเปรียบมาก แต่เนื่องด้วยพระพุทธศาสนาได้ประดิษฐานมั่นคง ประชาชนนับถือแพร่หลายทั่วไปหมดแล้ว วัดซึ่งเป็นสถาบันพระพุทธศาสนามีฐานะเป็นสถาบันการศึกษาอยู่ในตัว และเป็นสิ่งที่เนื่องอยู่กับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนผู้ปกครอง แม้จะเป็นชาวฮินดูก็บำรุงวัดวาอารามในฐานะเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐ บางทีก็มีมเหสีเป็นชาวพุทธ หรือไม่ก็มีที่ปรึกษาราชการเป็นชาวพุทธ เช่น กษัตริย์องค์ที่ ๒ (สมุทรคุปต์) มีท่านวสุพันธุเป็นที่ปรึกษาวางระบบการบริหารราชการเป็นต้น อย่างไรก็ดี การที่ศาสนาฮินดูเป็นหลักของราชวงศ์นี้ ก็เป็นหตุให้พระพุทธศาสนาเริ่มมีการประนีประนอมในทางหลักธรรมกับศาสนาฮินดูมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนับว่าเป็นสาเหตุแห่งความเสื่อมของพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง

สมัยคุปตะนี้ เป็นยุคที่รุ่งเรืองด้วยศิลปวิทยาการ วรรณคดีสันสกฤตได้เจริญถึงขีดสุด มีกวีสำคัญ เช่น กาลิทาส เป็นต้น มีการรวบรวมคัมภีร์ธรรมศาสตร์ ร้อยกรองคัมภีร์ มหาภารตะ รามยณะ และปุราณะ มีนักดาราศาสตร์คนสำคัญชื่อ อารยภัฏ นักคณิตศาสตร์สำคัญชื่อ วราหะมิหิระ ศัลยแพทย์ชื่อ สุศรุตะ ศิลปกรรมต่างๆ เจริญก้าวหน้าฝีมือยอดเยี่ยม ศาสนาฮินดูก็ปรับปรุงตัวขึ้นมาในรูปใหม่ วัดในพระพุทธศาสนากลายเป็นมหาวิหาร เป็นสถาบันการศึกษาอย่างที่เรียกว่า มหาวิทยาลัย มหาวิหารที่กำลังก่อตัวมีชื่อเสียงเด่นขึ้นมาเป็นพิเศษในยุคนี้ คือ นาลันทา

ลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งของยุคนี้ คือ การที่พระสงฆ์และนักจาริกออกเดินทางไปมาระหว่างอินเดียกับอาณาจักรต่างๆ ในอาเซียกลาง นำคัมภีร์พุทธศาสนาหรือพระสารีริกธาตุไปบ้าง มีผู้มาแปลคัมภีร์ไปบ้าง ปราชญ์อินเดียไปอยู่ในราชสำนักต่างๆ บ้าง มหาวิหารต่างๆ โดยเฉพาะนาลันทา ได้เป็นศูนย์กลางการเผยแพร่วัฒนธรรมระหว่างประเทศในยุคนี้ และทำให้พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานแพร่หลายมั่นคงทั่วอาเซียตะวันออก นักจาริกสำคัญที่ปรากฏชื่อในประวัติศาสตร์ยุคนี้ คือ หลวงจีนฟาเหียน ซึ่งจาริกอยู่ในอินเดียประมาณ พ.ศ. ๙๐๐

พ.ศ. ๑๐๐๐

ชนเผ่า หูณะ หรือ ฮั่นขาว มีมิหิรกุละเป็นหัวหน้า ได้เข้ารุกรานอินเดีย ยึดครองคันธาระและกัษมีระไว้ได้ พวกหูณะนับถือศาสนาฮินดูนิกายไศวะ ได้ทำลายวัดวาอาราม กำจัดพระภิกษุสงฆ์ โดยเฉพาะ ตักกสิลา อันเป็นศูนย์กลางการศึกษาวัฒนธรรมและพระพุทธศาสนาในภาคนี้ ได้ถูกทำลายพินาศหมดในคราวนี้ พวกหูณะนี้รุกรานต่อเข้ามาอีกจนถึงโกสัมพี แต่จะยึดอาณาจักรคุปตะเลยกว่านี้เข้ามาไม่ได้ ถึงกระนั้นก็ทำให้คุปตะต้องอ่อนแอลง พวกหูณะครองอำนาจอยู่ได้ประมาณ ๕๐ ปีจึงถูกกษัตริย์คุปตะปราบปรามลงได้ พวกหูณะที่คงอยู่ในอินเดียได้รับเอาวัฒนธรรมอินเดียและกลายเป็นอินเดียไป ส่วนราชวงศ์คุปตะแม้จะกู้อำนาจคืนมาได้ แต่รุ่งเรืองอยู่ต่อมาอีกไม่นานก็ต้องสิ้นอำนาจ

พ.ศ. ๑๑๐๐

พระเจ้าหรรษะ แห่งราชวงศ์วรรธนะ แห่งวรรณะแพศย์ได้กำจัดอำนาจกษัตริย์คุปตะแห่งวรรณะพราหมณ์ลงได้ และขึ้นครองราชย์เป็นมหาราชที่ยิ่งใหญ่ มีอาณาเขตคลุมอินเดียภาคเหนือส่วนใหญ่ คือ ตั้งแต่ใกล้อ่าวเบงกอลไปจนถึงเมืองวลภี ของกษัตริย์วงศ์ไมตรกะ (ได้นามว่าจักรพรรดิแห่งอาณาจักรทั้ง ๕ คือ ปัญจาบ กโนช เคาฑะ หรือเบงกอล มีถิลาหรือพิหาร และโอริสสา) ตั้งราชธานีอยู่ ณ เมืองกานยกุพชะ หรือ กโนช หรือ กเนาช์ (Kanauj) พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเป็นอย่างมาก ได้ทรงทำนุบำรุงมหาวิทยาลัยนาลันทาเป็นอย่างดี ทรงส่งเสริมศิลปะ วรรณคดี และวิทยาการ เป็นยุคสั้นๆ ที่อารยธรรมอินเดียเจริญถึงที่สุดอีกครั้งหนึ่ง แต่พระพุทธศาสนาในยุคนี้ได้เริ่มกลายรูปเป็นแบบตันตระไปแล้ว และเข้ากันกับศาสนาฮินดูได้สนิทรวมทั้งใช้วรรณคดีสันสกฤตด้วย ส่วนพวกฮินดูแม้จะได้รับการอุปถัมภ์จากพระเจ้าหรรษะ แต่ก็ขัดเคืองในการที่พระองค์ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างมากมายถึงกับวางแผนปลงพระชนม์ คราวแรกถูกจับได้ แต่ต่อมาพระเจ้าหรรษะก็ถูกลอบปลงพระชนม์สำเร็จในที่สุด ในยุคนี้มีนักจาริกสำคัญเดินทางมาอีกท่านหนึ่ง คือ หลวงจีนเหี้ยนจัง หรือ ยวนฉาง หรือ พระถังซัมจั๋ง ซึ่งได้เขียนจดหมายเหตุไว้อันเป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก

นาลันทามหาวิหาร หรือมหาวิทยาลัยนาลันทาในยุคนี้ มีอาจารย์และศิษย์พำนักอยู่ประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน ศึกษาหลักธรรมฝ่ายมหายานเป็นวิชาบังคับ นอกจากนั้น มีวิชาหลักธรรมฝ่ายหีนยาน นิรุกติศาสตร์ ตรรกศาสตร์ ปรัชญา แพทยศาสตร์ ศิลปะ ไตรเพท เป็นต้น มีนักศึกษาทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ทั้งมหายาน หีนยาน ทั้งพุทธ มิใช่พุทธ ทั้งชาวอินเดียและชาวต่างประเทศ มีการสอบคัดเลือกเข้าศึกษา มีห้องสมุด และอาคารต่างๆ ที่ใหญ่โต วิจิตรด้วยศิลปกรรมอันประณีตมากมาย

พ.ศ. ๙๕๐ – ๑๒๕๐

ในช่วงเวลานี้มีอาณาจักรเล็กแห่งหนึ่ง ของกษัตริย์ราชวงศ์ไมตรกะ ซึ่งตั้งราชธานีอยู่ ณ เมืองวลภี (อยู่บนแหลมคุชรัต ฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอินเดีย) กษัตริย์ราชวงศ์นี้ตลอดสายได้ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ประจำของมหาวิหารแห่งหนึ่ง เรียกว่า วลภี หรือ ทุฑฑา (เรียกเต็มว่า ทุฑฑาวิหารมณฑล แปลว่า กลุ่มวัดของพระนางทุฑฑา ซึ่งเป็นเจ้าหญิงที่ได้ทรงเริ่มสร้างวัดนี้) วลภี เป็นมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาที่เด่นฝ่ายหีนยาน เป็นสถาบันการศึกษาที่มีเกียรติคุณเคียงคู่หรือเป็นคู่แข่งกับนาลันทาที่เด่นฝ่ายมหายาน แต่ได้ถูกทำลายหมดสิ้น เมื่อทัพของชาวมุสลิมเข้ารุกรานประมาณ พ.ศ. ๑๓๕๐ ถึง ๑๔๐๐

 

ยุคที่ ๕ ความเจริญที่อ่อนแอ ความเสื่อมโทรม
และสูญสิ้นจากประเทศอินเดีย
(อาณาจักรพุทธของราชวงศ์ปาละ พระพุทธศาสนาแบบตันตระ และการรุกรานของทัพเตอร์กมุสลิม ประมาณ พ.ศ. ๑๒๕๐ – ๑๗๐๐)

พ.ศ. ๑๒๕๐

หลังจากพระเจ้าหรรษวรรธนะสวรรคตแล้ว ชมพูทวีปได้ระส่ำระสายรวมกันไม่ติดอยู่ประมาณ ๑ ศตวรรษ จากนั้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้มีคนวรรณศูทร ตั้ง ราชวงศ์ปาละ ขึ้นครองอาณาจักรเล็กๆ แห่งหนึ่ง มีอาณาเขตเทียบตามชื่อปัจจุบัน ได้แก่ แคว้นพิหาร และเบงกอล กษัตริย์ราชวงศ์นี้เป็นพุทธมามกะ ได้ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะได้ทรงทำนุบำรุงมหาวิทยาลัยนาลันทา และมหาวิหารต่างๆ และทรงสร้างมหาวิทยาลัยใหม่ๆ ของราชวงศ์ปาละเองขึ้นอีกหลายแห่ง คือ โอทันตปุระ วิกรมศิลา โสมปุระ และ ชคัททละ หรือ วาเรนทรี สถาบันเหล่านี้ยังคงทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการศึกษา และเผยแพร่วัฒนธรรมระหว่างชาติต่อมาได้เป็นอย่างดี เช่น กษัตริย์แห่งศรีวิชัย พระองค์หนึ่งได้ทรงสร้างวัดถวายที่นาลันทา เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๓๕๐ พระศานตรักษิต และ ปัทมสัมภวะ ได้เดินทางจากนาลันทาไปเผยแพร่พุทธศาสนาในทิเบตในพุทธศตวรรษที่ ๑๔ และ พระอตีศะ ได้เดินทางจากมหาวิทยาลัยวิกรมศิลาไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในทิเบต ในพุทธตวรรษที่ ๑๖ เป็นต้น สำหรับวิกรมศิลานั้นในระยะหลังปรากฏว่า ได้เจริญรุ่งเรืองล้ำหน้านาลันทาออกไปอีก

อย่างไรก็ดี สถาบันพุทธศาสนาเหล่านี้ แม้จะมีจำนวนมากขึ้น และได้รับการอุปถัมภ์บำรุงอย่างดี แต่ในสมัยนี้ได้หันมาเน้นการศึกษาพระพุทธศาสนาแบบตันตระอย่างเดียว และพระพุทธศาสนาที่เจริญในยุคนี้ก็เป็นแบบตันตระที่กลายรูปออกไปใกล้เคียงกับตันตระของฮินดูเข้าทุกที อันเป็นความเจริญที่อ่อนแอ และนำไปสู่ความเสื่อมในที่สุด

พ.ศ. ๑๓๐๐

ศังกราจารย์ นักบวชฮินดูนิกายไศวะผู้แสดงปรัชญาเวทานตะ ได้นำเอาหลักธรรมและหลักปรัชญาในพระพุทธศาสนาไปปรับปรุงออกใหม่เป็นคำสอนในศาสนาฮินดู เที่ยวสั่งสอนและโต้วาทะไปในถิ่นต่างๆ และนำเอาคติแห่งการตั้งคณะสงฆ์และวัดในพระพุทธศาสนาไปจัดตั้งคณะนักบวชสันยาสีและวัดฮินดูขึ้น เผยแพร่คำสอนและสงเคราะห์ประชาชน ทำให้ศาสนาฮินดูเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาซึ่งกำลังตกอยู่ในสภาพที่หลงลืมหน้าที่ และมีความคิดเห็นคลาดเคลื่อนออกไป จึงอยู่ในสภาพเสียเปรียบ และเร่งความเสื่อมโทรมให้เร็วยิ่งขึ้น

พ.ศ. ๑๕๐๐

พุทธศาสนาแบบตันตระแต่นี้ไป ได้กลายรูปไปในทางเสื่อมโทรมยิ่งขึ้น หลงหมกมุ่นในเรื่องไสยศาสตร์ มนตร์ ยันตร์ การแสดงทางเพศอันอุจาดอนาจารต่างๆ จนแยกไม่ออกจากตันตระตามลัทธิศักติของฮินดู และเผยแพร่ลัทธินี้ออกไปยังทิเบตและเนปาลเป็นต้นด้วย สภาพเช่นนี้ดำเนินไปจนถึงอวสานของพระพุทธศาสนาใน พ.ศ. ๑๗๐๐

พ.ศ. ๑๗๐๐

ในขณะที่อินเดียกำลังอ่อนแอ ไม่สามารถรวมกำลังกันเป็นอาณาจักรใหญ่ๆ ได้นี้ กองทัพเตอร์กมุสลิม ก็ได้ยกเข้ารุกรานผ่านตั้งแต่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือเข้ามาตามลำดับจนเกือบทั่วทั้งชมพูทวีป ทุกแห่งที่ผ่านไป ทัพเตอร์กมุสลิมฆ่าพระสงฆ์ เผาวัด ทำลายสิ่งก่อสร้างทางศาสนาทุกอย่าง ตลอดจนหอสมุดและคัมภีร์ต่างๆ ทั้งหมด บางแห่งแม้แต่ซากก็ไม่ให้เหลือ พระสงฆ์บางส่วนที่หนีทัน ได้ลี้ภัยไปอยู่ในเนปาลและทิเบต กล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนาซึ่งอ่อนกำลังอยู่แล้ว ได้สูญสิ้นไปจากประเทศอินเดียแต่บัดนั้น ส่วนศาสนาฮินดู แม้จะถูกทำลายล้างเหมือนกันแต่เพราะสภาพต่างกัน เช่น นักบวชฮินดูบางพวกอยู่ในบ้านเรือน แต่งตัวไม่ต่างจากชาวบ้านทั่วไป ไม่เป็นสังเกตที่จะแยกออกต่างหาก จึงหลงเหลืออยู่เป็นเชื้อให้ศาสนาฮินดูฟื้นตัวขึ้นภายหลังได้อีก

ต่อแต่นี้ไปเป็นยุคของ อาณาจักรมุสลิม ซึ่งยาวนานประมาณ ๕๐๐ ปี ในยุคนี้ระยะเวลาที่รวมอำนาจได้มากที่สุด คือ จักรวรรดิโมกุล หรือ มุขุล ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๖๙ ถึง ๒๓๒๗ และระยะที่รุ่งเรืองที่สุดคือรัชกาลของอักบาร์มหาราช (พ.ศ. ๒๐๙๙ – ๒๑๔๘) ซึ่งเป็นกษัตริย์มุสลิมที่ผ่อนปรน ให้โอกาสในการนับถือศาสนา

 

สมัยปัจจุบัน

ใน พ.ศ. ๒๐๔๑ ชาวยุโรป ได้เริ่มเข้ามาติดต่อทำการค้าขายกับอินเดีย เริ่มด้วยชาวโปรตุเกสก่อน ต่อจากนั้นชาวฮอลันดา และชาวอังกฤษได้เข้ามาติดต่อบ้างตามลำดับ ชมพูทวีปได้ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๗ และได้เอกราชคืนเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๔๙๐ โดยแบ่งแยกออกเป็น ๒ ประเทศ คือ อินเดีย กับ ปากีสถาน

ในยุคที่อินเดียเป็นอาณานิคมนั้น ชาวยุโรปได้นำคริสต์ศาสนาเข้าไปเผยแพร่ แต่ได้ผลไม่มากนัก เมื่อชาวอินเดียตื่นตัวในเรื่องชาตินิยม ก็ตื่นตัวในเรื่องศาสนาของตนด้วย ทำให้มีขบวนการปรับปรุงส่งเสริมในศาสนาฮินดู ประชาชนยังคงนับถือเชื่อมั่นในศาสนาฮินดูอย่างแน่นแฟ้น ตามสถิติเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ ชาวอินเดียนับถือศาสนาฮินดู ร้อยละ ๘๓.๕ อิสลาม ๑๐.๗ คริสต์ ๒.๔ สิกข์ ๑.๘ และ เชน ๐.๕ สำหรับพระพุทธศาสนานั้นได้ถูกชาวอินเดียลืมสนิท ตลอดระยะเวลาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘ ถึง ๒๔ แม้จะเชื่อถือประพฤติปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนาอยู่หลายอย่าง ก็เป็นไปโดยไม่รู้ตัวเพราะได้ถูกนำไปผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของฮินดู หรือดัดแปลงให้กลายเป็นฮินดูไปแล้ว เช่น การบูชาพระพุทธาวตาร ในฐานะที่พระพุทธเจ้าเป็นอวตารของพระนารายณ์ เป็นต้น เมื่อชาวอินเดียพูดถึงหรือได้ยินได้ฟังเรื่องพระพุทธศาสนา ก็รู้สึกเหมือนเป็นเรื่องคนต่างถิ่น ที่เหลือเป็นชาวพุทธแท้ก็มีเพียงเป็นกลุ่มๆ อยู่ใน กัษมีระ อัสสัม และจิตตะกอง เท่านั้น

การฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย เพิ่งจะมีขึ้นไม่นานมานี้ และส่วนมากเป็นการริเริ่มหรือเกิดจากการกระตุ้นของชาวยุโรปและอเมริกัน ที่ได้ศึกษาเรื่องราวแล้วมีความเลื่อมใส ซึ่งจะลำดับเหตุการณ์สำคัญได้ดังนี้

พ.ศ. ๒๓๙๕

นายพล เซอร์ อเลกซานเดอร์ คันนิ่งแฮม นักโบราณคดีอินเดียและนักสำรวจ ได้ดำเนินการขุดค้นโบราณสถานและโบราณวัตถุต่างๆ ในทางพระพุทธศาสนา แสดงให้โลกและชาวอินเดียได้ตื่นเต้นมองเห็นความยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนาในประวัติศาสตร์ เช่น เรื่องพระเจ้าอโศกและนาลันทา เป็นต้น

พ.ศ. ๒๔๒๒

เซอร์ เอดวิน อาร์โนลด์ ชาวอังกฤษประพันธ์เรื่อง “ประทีปแห่งทวีปอาเซีย” หรือ “The Light of Asia” เป็นหนังสือพุทธประวัติที่ไพเราะลึกซึ้ง ทำให้คนอินเดียและชาวตะวันตกสนใจพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก ที่เปลี่ยนศาสนามานับถือก็มี

พ.ศ. ๒๔๒๔

ที. ดับลิว รีส เดวิดส์ กับภรรยาและคณะ ร่วมกันตั้ง สมาคมบาลีปกรณ์ (The Pali Text Society) ขึ้นที่กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ สำหรับดำเนินงานพิมพ์พระไตรปิฎกและคัมภีร์พระพุทธศาสนาต่างๆ นับเป็นก้าวสำคัญในการศึกษาภาษาบาลีและพระพุทธศาสนาในสมัยปัจจุบัน ในช่วงเวลาระยะนี้ การศึกษาค้นคว้าภาษาบาลีและพระพุทธศาสนาในหมู่ชาวตะวันตกได้ก้าวหน้าเป็นอย่างมาก เช่น มีการพิมพ์พจนานุกรมภาษาบาลี-อังกฤษของชิลเดอร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๘ พิมพ์อรรถกถาชาดกด้วยอักษรโรมันครบชุด ใน พ.ศ. ๒๔๒๐ – ๒๔๔๐ พิมพ์และแปลคัมภีร์ทีปวงศ์ พ.ศ. ๒๔๒๑ พิมพ์บาลีวินัยปิฎกครบชุด พ.ศ. ๒๔๒๒ – ๒๔๒๖ พิมพ์มิลินทปัญหา พ.ศ. ๒๔๒๓ พิมพ์บาลี สุตตันตปิฎก อภิธรรมปิฎก และอรรถกถาเล่มสำคัญๆ ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๒๗ ถึง ๒๔๖๘ พร้อมกับเริ่มงานพิมพ์พระไตรปิฎกแปลตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.๒๔๒๔ เป็นต้นมา ส่วนในฝ่ายคัมภีร์สันสกฤตของมหายานก็มีความก้าวหน้าอย่างมากมายไม่แพ้กัน กล่าวได้ว่า ปัจจุบัน คัมภีร์และตำรับตำราศึกษาภาษาบาลีสันสกฤตและพระพุทธศาสนาที่เป็นภาษาอังกฤษมีพรั่งพร้อมบริบูรณ์กว่าในภาษาใดๆ

พ.ศ. ๒๔๓๕

มีการตั้ง สมาคมพุทธศาสนปกรณ์ (The Buddhist Text Society) ณ เมืองกัลกัตตา นับว่าเป็นการตื่นตัวในหมู่ปราชญ์อินเดียอันเกิดจากแรงกระตุ้นที่ได้เห็นชาวยุโรปศึกษาค้นคว้ากันอย่างเข้มแข็งจริงจัง ในช่วงเวลาต่อนี้มา ปราชญ์อินเดียได้เริ่มศึกษาค้นคว้าพระพุทธศาสนา ทั้งในด้านหลักธรรมและประวัติศาสตร์มากขึ้นโดยลำดับ เมื่อรัฐบาลอินเดียได้เอกราชแล้ว รัฐบาลแห่งแคว้นพิหารได้ตั้ง นวนาลันทามหาวิหาร หรือ สถาบันวิจัยและศึกษาพระพุทธศาสนาและภาษาบาลีแห่งนาลันทาขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ ณ สถานที่ใกล้กับที่ตั้งของมหาวิทยาลัยนาลันทาเดิม แม้สถาบันการศึกษาชั้นสูงแห่งอื่นๆ ก็มีการสอนวิชาพระพุทธศาสนาบ้าง ภาษาบาลีบ้าง หลายแห่ง

พ.ศ. ๒๔๓๔

อนาคาริก ธรรมปาละ ชาวลังกา (เดิมชื่อ เดวิด เหมวิตรเน) เกิดในตระกูลผู้ดีชาวลังกาที่เปลี่ยนไปนับถือคริสต์ศาสนาแล้ว ได้รับคำสั่งสอนจากครูอเมริกันชื่อ พันเอกออคคอตต์ ให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา มีความเข้าใจในสถานการณ์ต่างๆ และมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนา จึงใช้ชื่อใหม่อันแสดงจุดมุ่งหมายของตน ได้ไปนมัสการสังเวชนียสถานต่างๆ ในประเทศอินเดีย ได้เห็นพุทธคยาอันเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ถูกปล่อยปละละเลย และอยู่ในความยึดครองของนักบวชฮินดูแล้ว ไปปฏิญาณตนต่อหน้าต้นโพธิ์ตรัสรู้ว่า จะขอเสียสละพลีชีวิตของตน เพื่อกู้ปูชนียสถานของพระพุทธศาสนาให้พ้นจากสภาพที่ถูกทอดทิ้งให้จงได้ ในปีนี้เอง อนาคาริก ธรรมปาละ ได้เริ่มตั้ง มหาโพธิสมาคม แห่งแรกที่พุทธคยา จากนั้นได้ทำงานอย่างเด็ดเดี่ยวจริงจังเพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ได้เดินทางไปในประเทศต่างๆ เผยแพร่พุทธธรรม และขอความช่วยเหลือ ความพยายามของท่านผู้นี้ทำให้เกิดความตื่นตัวและการร่วมมือเป็นอันมาก โดยเฉพาะจากคนอเมริกัน มหาโพธิสมาคมได้ขยายตัวมีสาขาตั้งขึ้นในเมืองสำคัญต่างๆ ทั่วประเทศอินเดีย ท่านได้อุปสมบทในวัยชรา ณ ประเทศลังกาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ และถึงมรณภาพในปีนั้นเอง เมื่อถึงแก่มรณภาพ ได้เปล่งวาจาว่า ขอเกิดใหม่อีก ๒๘ ครั้ง เพื่อเผยแพร่พุทธธรรม ความเพียรพยายามของท่านทำให้พุทธคยาหลุดพ้นจากการครอบครองและเบียดเบียนของนักบวชฮินดู กลับคืนเป็นกรรมสิทธิ์ของพุทธศาสนิกชนสมความมุ่งหมาย ทำให้ฐานะของพระพุทธศาสนาฟื้นตัว และชาวพุทธเริ่มดำเนินงานเพื่อพระศาสนาได้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

พ.ศ. ๒๔๙๙

รัฐบาลอินเดียได้จัดงานฉลอง “พุทธชยันตี” ในโอกาสครบรอบ ๒๕ พุทธศตวรรษ (อินเดียนับศักราชอย่างลังกา เร็วกว่าประเทศไทย ๑ ปี) ก่อนจัดงานฉลองนั้นรัฐบาลอินเดียได้ทำการบูรณะสังเวชนียสถานทั้งสี่และสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาทุกแห่งเป็นการใหญ่ พร้อมกับสร้างที่พักสำหรับผู้จาริกแสวงบุญไว้ครบทุกแห่ง และจัดพิมพ์หนังสือสำคัญเป็นอนุสรณ์แห่งพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย

ในปีเดียวกันนี้ ดร. อัมเบดการ์ อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนแรกของอินเดีย ซึ่งเป็นผู้นำคนวรรณะศูทร ได้เปลี่ยนศาสนาจากฮินดู ปฏิญาณตนเป็นพุทธศาสนิก ทำให้คนวรรณะศูทรหันมานับถือพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนล้านคน ท่านผู้นี้ได้ดำเนินการต่างๆ เพื่อยกฐานะคนวรรณะศูทรทั้งทางสังคมและการศึกษา ด้วยอาศัยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านการศึกษา ได้ตั้งวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาพุทธศาสนาเพื่อสอนวิชาการต่างๆ มากมายหลายแห่ง เช่น สิทธารถวิทยาลัยทางนิติศาสตร์ เป็นต้น ท่านได้รับความเคารพเทิดทูนบูชาจากคนวรรณะศูทรดุจเป็นพระโพธิสัตว์หรือยิ่งเทพเจ้า ท่านผู้นี้ถึงมรณกรรมใน พ.ศ. ๒๔๙๙ นั่นเอง

ปัจจุบัน พุทธศาสนิกชนประเทศต่างๆ เดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานเป็นจำนวนมากทุกปี บางประเทศก็สร้างวัดตามแบบของชาติของตนไว้ ณ สังเวชนียสถานนั้นๆ สำหรับประเทศไทย รัฐบาลได้ดำเนินการสร้างวัดไว้แห่งหนึ่งที่พุทธคยา เรียกว่า “วัดไทยพุทธคยา” หรือ Wat Thai Buddhagaya เริ่มสร้างตามคำขอร้องของรัฐบาลอินเดียในโอกาสฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ และส่งพระสงฆ์ไทยไปอยู่ประจำ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นต้นมา

 

เหตุที่พระพุทธศาสนาเสื่อมสูญจากอินเดีย

การศึกษาเรื่องนี้ ยังได้หลักฐานไม่ชัดแจ้งสมบูรณ์ แต่เท่าที่ปราชญ์สันนิษฐานกันไว้ พอประมวลได้ดังนี้

๑. คณะสงฆ์อ่อนแอเสื่อมโทรมลง

พระสงฆ์แต่เดิมดำรงมั่นในศาสนปฏิบัติ มีศีลาจารวัตร รักษาระเบียบวินัย มีความเสียสละ เที่ยวจาริกสั่งสอนประชาชน บำเพ็ญศาสนกิจเพื่อประโยชน์แก่พหูชน คนจึงเลื่อมใสศรัทธาในพระศาสนา พระมหากษัตริย์ ขุนนาง เศรษฐี คหบดี พากันถวายความอุปถัมภ์บำรุง สร้างวัดวาอารามใหญ่โตถวาย ที่ถึงกลับกลายเป็นมหาวิทยาลัยก็มี พระสงฆ์มีความเป็นอยู่สุขสบาย ตั้งใจศึกษาปฏิบัติและอบรมสั่งสอนประชาชน ไม่ละเลยทอดทิ้งหน้าที่อันถูกต้องต่อพุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ พระศาสนาก็รุ่งเรือง แต่ต่อมาเพราะชีวิตที่ได้รับการบำรุงสุขสบายนั้นก็ติดและลุ่มหลง ลืมหน้าที่ที่แท้จริง เป็นเหตุให้

– ติดถิ่น ติดที่ เพลิดเพลินในลาภสักการะและความสุขสบาย นึกถึงแต่เรื่องของตนเอง และปัจจัยเครื่องอาศัยของตนเอง ทอดทิ้งหน้าที่ต่อประชาชน

– วุ่นวายอยู่กับพิธีกรรม และงานฉลองอันสนุกสนานต่างๆ จนความเข้าใจเรื่องบุญกุศลแคบลงเป็นเรื่องรับเข้าหรือเอาฝ่ายเดียว

– ศึกษาเล่าเรียนลึกซึ้งลงไปแล้ว มัวหลงเพลินกับการถกเถียงปัญหาทางปรัชญาประเภท อันตคาหิกทิฏฐิ จนลืมศาสนกิจสามัญในระหว่างพุทธบริษัท

– มีความประพฤติปฏิบัติย่อหย่อนลง เพราะเพลิดเพลินในความสุขสบาย และแตกสามัคคีแยกเป็นพวกเป็นนิกาย เพราะถือรั้นรังเกียจกันตกลงกันไม่ได้

– เห็นแก่ความง่าย ตามใจตนเอง ตามใจคน ปล่อยให้เรื่องไสยศาสตร์เรื่องลึกลับอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ พอกพูนมากขึ้น ตนเองก็เพลิดเพลินมัวเมาในเรื่องเหล่านั้น และทำให้ประชาชนจมดิ่งลง แทนที่จะมีเหตุผลยิ่งขึ้น เข้มแข็ง มีปัญญาและพึ่งตนได้มากขึ้น ก็กลับอ่อนแอต้องคอยหวังพึ่งปัจจัยภายนอกมากยิ่งขึ้น และทำให้พระพุทธศาสนามีสภาพคล้ายคลึงกับศาสนาอื่นๆ มากมาย เช่น ที่แปรรูปไปเป็น ตันตระ แบบเสื่อมโทรม จนเหมือนกับตันตระของฮินดู และหมดลักษณะพิเศษของตนเอง

๒. ศาสนาฮินดูต่อต้านบีบคั้น

คำสอนของพระพุทธศาสนาขัดแย้งและทำลายความเชื่อถือเดิมในศาสนาพราหมณ์มากมายหลายอย่าง เป็นเหตุให้ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูในสมัยต่อมา พยายามหาทางลิดรอนพระพุทธศาสนาโดยวิธีต่างๆ ข้อที่ควรศึกษาในเรื่องนี้มีดังนี้

– พระพุทธศาสนาสอนว่าทุกคนมีความเสมอภาค ควรมีสิทธิและโอกาสเท่าเทียมกัน ไม่จำกัดด้วยวรรณะ และให้ทุกคนศึกษาเล่าเรียนในพระธรรมวินัยเหมือนกันหมด คำสอนนี้กระทบกระเทือนฐานะของพราหมณ์ทั้งหลาย ซึ่งถือว่าตนเป็นวรรณะสูงสุด มีสิทธิพิเศษต่างๆ และเคยผูกขาดการศึกษาไว้ โดยปกติพราหมณ์เป็นคนชั้นสูง มีอำนาจและอิทธิมาก เช่น เป็นปุโรหิตของพระราชา เป็นต้น แต่พระพุทธศาสนาแพร่หลายในหมู่ประชาชนทั่วไป ตราบใดที่ประชาชนยังมีศรัทธามั่นคง พระสงฆ์ยังเป็นที่พึ่งของประชาชนและทำหน้าที่ต่อประชาชนอย่างถูกต้อง พวกพราหมณ์ก็ไม่กล้าทำอันตราย หรือทำก็ไม่สำเร็จ ยิ่งเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงอุปถัมภ์อยู่ด้วย พระพุทธศาสนาก็ยิ่งมั่นคง จะสังเกตเห็นได้ว่าพระมหากษัตริย์ที่เป็นพุทธมามกะ ทุกพระองค์ทรงให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา อุปถัมภ์ทุกๆ ศาสนา เช่น พระเจ้าอโศก กนิษกะ หรรษวรรธนะ เป็นต้น แต่พราหมณ์จะไม่พอใจในการอุปถัมภ์พุทธศาสนา เช่น ปุษยมิตร ทำลายวงศ์กษัตริย์พุทธขึ้นครองราชย์ แล้วกำจัดพุทธศาสนา พวกพราหมณ์ข้าราชการของพระเจ้าหรรษวรรธนะ ริษยาการทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ถึงกับวางแผนปลงพระชนม์ เป็นต้น ในสมัยที่พราหมณ์ขึ้นเป็นกษัตริย์แม้จะไม่กล้ากำจัดพระพุทธศาสนา แต่ก็ทำให้พระพุทธศาสนาต้องยอมประนีประนอมคำสอนกับฮินดู จนกลายเป็นเหมือนกันและถูกกลืนไปในที่สุด

– พวกพราหมณ์ใช้ศาสนาฮินดูเป็นหลักของลัทธิชาตินิยม โดยผนวกความเป็นคนอินเดียเข้ากับความเป็นฮินดู ซึ่งจะสังเกตเห็นว่ากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของอินเดียเป็นพุทธมามกะ และมักจะเป็นเชื้อสายชนต่างชาติ ที่เห็นชัดเจนคือ พระเจ้ากนิษกะทรงเป็นชนเชื้อสายมงโกลในเผ่ากุษาณ ชาวอินเดียที่จะกำจัดราชวงศ์กุษาณในสมัยต่อมา ใช้ลัทธิชาตินิยมเป็นเครื่องรวมกำลังและการที่กษัตริย์วงศ์นี้นับถือพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า พระพุทธศาสนาจึงถูกเพ่งมองในฐานะศาสนาของคนต่างชาติด้วย แม้ในเรื่องนี้พระเจ้าอโศกมหาราชก็เช่นกัน มีปราชญ์สันนิษฐานว่า พระองค์มีพระมารดาเป็นชนชาติกรีก พวกพราหมณ์ได้พยายามกำจัดราชวงศ์นี้พร้อมทั้งพระพุทธศาสนา พระเจ้าอโศกแม้จะเป็นกษัตริย์ยิ่งใหญ่ที่สุด แต่ไม่ปรากฏเกียรติคุณในประวัติศาสตร์ของชาวฮินดูเลย ต่อเมื่อชาวยุโรปมาขุดค้นศึกษา พระนามของพระเจ้าอโศกจึงปรากฏขึ้นมา และชาวอินเดียเองจึงพลอยยอมรับ นอกจากนี้ แม้พระพุทธเจ้าเองก็มีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะทรงเป็นชนเผ่ามงโกล ซึ่งย่อมไม่เป็นที่พึงพอใจของพราหมณ์

– ปราชญ์ฮินดูพยายามนำเอาหลักการในพระพุทธศาสนาไปปรับปรุงหลักธรรมของตนเองให้ออกรูปใหม่บ้าง นำไปทำตามอย่างบ้าง เพื่อให้มีกำลังเทียบเคียงกันได้ และให้ดูคล้ายคลึงเหมือนกัน กลืนกันจนไม่จำเป็นจะต้องมีพระพุทธศาสนาอยู่ต่างหาก และเมื่อฝ่ายพุทธศาสนาอ่อนแอก็กลืนได้ง่าย เช่น ศังกราจารย์ นำหลักในพุทธปรัชญาไปแปลงรูปเป็นปรัชญาเวทานตะของตน และสร้างวัดฮินดู ตั้งคณะนักบวชสันยาสีเลียนแบบคณะสงฆ์ เป็นต้น แม้องค์พระพุทธเจ้าเอง ก็กลายเป็นอวตารของพระนารายณ์ไป

๓. ชนชาติมุสลิมเข้ารุกรานและทำลาย

ในระยะที่คณะสงฆ์กำลังอ่อนแอลงนั้น ก็พอดีกองทัพชนชาติอาหรับและเตอร์กเข้ารุกรานเป็นระลอกๆ และทำลายพระพุทธศาสนาลงจนหมด เช่น ทำลายมหาวิทยาลัยวลภีลงในราว พ.ศ. ๑๓๕๐ – ๑๔๐๐ และทำลายหมดทุกแห่งใน พ.ศ. ๑๗๐๐ เป็นต้น โดยวิธี

– ฆ่าพระสงฆ์ เช่นที่นาลันทา นักประวัติศาสตร์มุสลิมเองบันทึกไว้ว่า พระถูกฆ่าประมาณหมื่นรูป คือไม่ให้เหลือเลยทุกแห่ง

– ทำลายสถาบันและสิ่งก่อสร้างโดยเผาผลาญวัดวาอาราม และมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาทุกแห่ง บางแห่งแม้แต่ซากก็ไม่ให้เหลือ

– เผาคัมภีร์และตำรับตำราพระพุทธศาสนา เช่น ที่หอสมุดของนาลันทา เผาอยู่แรมเดือน

การทำลายครั้งนี้ทำให้คณะสงฆ์สลายตัว และตั้งไม่ติดอีกเลย ระบบของพระพุทธศาสนานั้นดำรงอยู่ในรูปสถาบัน ซึ่งปันเป็นพุทธบริษัท ๒ ฝ่าย ปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละฝ่ายต่อกันโดยฝ่ายพระสงฆ์เป็นผู้นำในทางจิตใจ มีความเป็นอยู่และที่อยู่ต่างหากชัดเจน กำจัดได้ง่าย เมื่อหมดพระสงฆ์ หมดผู้นำ พุทธศาสนิกก็ถูกบังคับบ้าง ถูกชักจูงบ้าง กลายเป็นมุสลิมหรือฮินดูไป ฝ่ายฮินดูถึงจะถูกกำจัดพร้อมกัน แต่เพราะนักบวชฮินดูมีหลายแบบ บางพวกอยู่บ้านมีครอบครัว มีความเป็นอยู่ไม่ต่างจากคนทั่วไป ก็เหลือรอดอยู่ได้ง่าย ขณะนั้นหลักการทั่วไปของพระพุทธศาสนากับฮินดูคล้ายคลึงกัน หรือผสมผสานกันมากแล้ว เมื่อฝ่ายฮินดูเหลืออยู่ ก็ชักไปเข้าฮินดูโดยง่าย ไม่มีใครขัดขวาง วัดพุทธศาสนาที่หลงเหลืออยู่ก็ถูกพราหมณ์เข้าครองกลายเป็นวัดฮินดู ชาวพุทธที่เหลือก็ถูกกลืนช้าๆ เข้าสู่สังคมแห่งวรรณะของฮินดู

ปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า พระพุทธศาสนาไม่ได้สูญสิ้นไปจากประเทศอินเดีย เพราะสิ่งที่พระพุทธศาสนาสร้างขึ้นแล้วในประเทศอินเดีย ก็ยังคงอยู่ในประเทศอินเดีย ในรูปศิลปะ โบราณคดี วัฒนธรรมต่างๆ ที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนในด้านหลักธรรมก็เป็นเครื่องปรับปรุงขัดเกลา และเป็นแบบอย่างที่ทำให้ศาสนาฮินดูซึ่งเจริญมาถึงปัจจุบันกลายรูปไปในทางที่ประณีตขึ้น เช่น เลิกการบูชายัญ มีหลักศีลธรรมเด่นชัดขึ้น มีหลักปรัชญาที่ลึกซึ้งขึ้นด้วยวิธีดึงเอามาจากพระพุทธศาสนาเท่าที่เป็นประโยชน์แก่ตน ดังนี้ เป็นต้น

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ๑๓. พระพุทธศาสนาในอาฟกานิสถานคำนำสำนักพิมพ์ >>

No Comments

Comments are closed.