๓. พระพุทธศาสนาในจีน

1 มิถุนายน 2515
เป็นตอนที่ 3 จาก 15 ตอนของ

๔. สมัยราชวงศ์เหนือและใต้ (พ.ศ. ๙๖๓ – ๑๑๒๔)

ประกอบด้วยราชวงศ์ สุง หรือ ส่อง ชี้ เลี้ยง และ ตั้น ในภาคใต้ กับเผ่าทั้ง ๕ ในภาคเหนือ

พ.ศ. ๙๖๒ – ๙๙๐

ในระหว่างการรุกรบโจมตีระหว่างแคว้น ได้มีการประหารพระสงฆ์ ทำลายพระพุทธรูปและพระคัมภีร์อย่างร้ายแรงหลายครั้ง เริ่มแต่ที่นครเชียงอานเป็นต้นไป

พ.ศ. ๙๘๔

มีอุบาสกเผาตนเป็นพุทธบูชาครั้งแรก

อนึ่ง นับแต่ พ.ศ. ๙๔๕ เป็นต้นมา ได้มีการตั้งพระสงฆ์ให้มีตำแหน่งในทางราชการ เป็นเหตุให้พระสงฆ์เข้ายุ่งเกี่ยวพัวพันกับกิจการบ้านเมืองไปด้วย

พ.ศ. ๑๐๓๘

รัชกาลพระเจ้าเม่งตี่ มีการสร้างถ้ำพระพุทธรูป โดยสลักภูเขาทั้งลูกเป็นถ้ำ ทำเป็นพระพุทธรูปและเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา เป็นแบบฉบับของพุทธศิลป์ต่อมา

พ.ศ. ๑๐๕๓

ในรัชกาล พระเจ้าบู่ตี่ ได้สถิติตามการสำรวจว่ามีวัด ๑๓,๐๐๐ วัดเศษ ในนครโลยาง มีภิกษุและภิกษุณี ๒,๐๐๐,๐๐๐ รูปเศษ พระชาวต่างประเทศ ๓,๐๐๐ รูปเศษ

พ.ศ. ๑๐๕๕

พระเจ้าบู่ตี่ ทรงเสวยเจและขอให้พระสงฆ์เลิกฉันเนื้อสัตว์ ทำให้เกิดประเพณีพระสงฆ์จีนถือมังสวิรัติจนถึงทุกวันนี้

พระเจ้าบู่ตี่ ซึ่งครองราชย์แต่ พ.ศ. ๑๐๔๖ ถึง ๑๐๙๒ ทรงมีพระราชศรัทธาในพระศาสนาอย่างแรงกล้า และทรงพยายามดำเนินนโยบายทำนุบำรุงพระศาสนาอย่างพระเจ้าอโศกมหาราช ทำให้การศึกษาพระพุทธศาสนาเจริญก้าวหน้า มีการก่อสร้างวัดวาอารามที่สวยงามใหญ่โต และเกิดประเพณีทางพุทธศาสนาแบบจีนหลายอย่าง

พ.ศ. ๑๐๖๓ หรือ ๑๐๖๙

พระโพธิธรรม จาริกจากอินเดีย ถึงนครโลยางแล้วขึ้นไปอยู่จำพรรษาในภาคเหนือ ตั้งพุทธศาสนานิกาย ฉาน หรือ ธยาน (ญี่ปุ่นเรียก เซน) และเป็นปฐมประมุขแห่งนิกายนั้น

พ.ศ. ๑๐๙๖

ในรัชกาลพระเจ้าง่วนตี่ พระภิกษุอินเดียชื่อปรมิตร จาริกมาเผยแพร่นิกายธรรมลักษณ์ และในระยะเดียวกัน พระพุทธศาสนาได้แพร่จากเกาหลีเข้าสู่ญี่ปุ่น

พ.ศ. ๑๑๑๘ – ๑๑๒๓

รัชกาลพระเจ้าซวนตี่ เป็นระยะเวลาแห่งการทำลายล้างพระพุทธศาสนา เริ่มแต่ในแคว้นจิว ให้ยกเลิกพระพุทธศาสนาและลัทธิเต๋า ต่อมาแคว้นจิวยกทัพเข้ามาโจมตีแคว้นชี้ได้ แล้วทำลายพระพุทธศาสนา ด้วยการบังคับให้พระสงฆ์ลาสิกขา ๒,๐๐๐,๐๐๐ รูป ยึดวัด ๔๐,๐๐๐ วัด ทำลายพระพุทธรูป เอาทองคำและทองแดงไปทำทองแท่งและเหรียญกษาปณ์ ท้ายสุดจึงอนุญาตให้มีการนับถือพระพุทธศาสนาและลัทธิเต๋าใหม่อีก แต่ให้ถือภิกษุเป็นโพธิสัตว์แต่งตัวอย่างสามัญชน ไม่ต้องครองจีวร

กล่าวโดยสรุป ระยะเวลาประมาณ ๓๖๐ ปีที่ประเทศมีแต่ความแตกแยกระส่ำระสาย รบราฆ่าฟันกัน นับแต่สิ้นราชวงศ์ฮั่นเป็นต้นมานี้ กลับเป็นระยะเวลาที่พระพุทธศาสนาเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยทำหน้าที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ และเสริมสร้างศิลปวัฒนธรรมของจีน ตลอดจนคงเป็นพลังช่วยให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติในที่สุด ดังจะเห็นได้ในสมัยต่อไป

 

๕. สมัยราชวงศ์ซุย (พ.ศ. ๑๑๒๔ – ๑๑๖๑)

พ.ศ. ๑๑๒๔

พระเจ้าบุ่นตี่ ทรงรวบรวมประเทศจีนทั้งภาคเหนือและภาคใต้ทั้งหมดเข้าได้เป็นอันเดียวกัน พระองค์มีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ครั้นขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ได้ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนา โปรดให้พระสงฆ์กลับครองจีวรตามเดิม ทรงแต่งตั้งประมุขสงฆ์ และโปรดให้สร้างวัดขึ้นใหม่ทั่วประเทศโดยเฉพาะ ณ ภูเขาแห่งที่สวยงาม กับให้มีที่นาประจำสำหรับบำรุงวัด ให้ทำสารบาญรายชื่อพระสูตรรวบรวมพระไตรปิฎกขึ้นให้เรียบร้อย

 

๖. สมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ. ๑๑๖๑ – ๑๔๕๐)

พ.ศ. ๑๑๖๓

พระเจ้าเกาโจ มีพระบรมราชโองการกำหนดเดือน ๑ เดือน ๕ เดือน ๙ ตลอดเดือนและวันที่ ๑, ๘, ๑๔-๑๕, ๑๘, ๒๓-๒๔, ๒๘-๒๙-๓๐ ของทุกเดือนเป็นวันอุโบสถ ห้ามการประหารชีวิต ตกปลา ล่าสัตว์ ตามวินัยของมหายาน ซึ่งเป็นประเพณีปฏิบัติธรรมของชาวพุทธจีนมาจนปัจจุบัน และในปีต่อมาก็ได้ทรงสละพระราชวังเดิมให้เป็นวัด

พ.ศ. ๑๑๗๒

ในรัชกาลพระเจ้าถังไทจง พระถังซัมจั๋ง (บางทีเรียก หลวงจีนเหี้ยนจัง หรือยวนฉาง) ออกจาริกไปสืบศาสนาในชมพูทวีป กลับมาถึงจีนใน พ.ศ. ๑๑๘๘ ทรงอาราธนาให้สถิต ณ เมืองโลยาง ทรงอุปถัมภ์ในการแปลพระสูตรมากมายที่นำมาจากอินเดีย พระถังซัมจั๋งได้เขียนบันทึกการเดินทางชื่อ “บันทึกแคว้นตะวันตก” ไว้ อันมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างมากมาย และได้ปฏิบัติศาสนกิจต่อมาจนถึงมรณภาพใน พ.ศ. ๑๒๐๘ ในรัชกาลพระเจ้าเกาจง

พ.ศ. ๑๑๘๕

พระเจ้าถังไทจง โปรดเกล้าฯ ยกพระราชธิดาบุ่นเซ้ง ให้อภิเษกสมรสกับกษัตริย์ทิเบต เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาแพร่เข้าสู่ประเทศทิเบต พระนางบุ่นเซ้งทรงริเริ่มสร้างอักษรทิเบตขึ้นตามแบบอักษรอินเดียที่ใช้เขียนภาษาสันสกฤต และทรงสร้างสรรค์ความเจริญแก่ทิเบตเป็นอันมาก จนชาวทิเบตยกย่องเป็นพระแม่เจ้าตราบถึงปัจจุบัน

พ.ศ. ๑๒๑๔

ในรัชกาลพระเจ้าเกาจง หลวงจีนเต่าซวนผู้ริเริ่มนิกายวินัย ได้ถึงมรณภาพและในปีเดียวกัน หลวงจีนอี้จิง (งี่เจ๋ง) ออกจาริกไปอินเดีย และพักที่สุมาตราหลายปี กลับถึงจีนใน พ.ศ. ๑๒๓๘ พระนางบูเจ็กเทียน เสด็จไปรับถึงนอกประตูวัง หลวงจีนอี้จิงพูดได้หลายภาษา แปลคัมภีร์พระวินัยและพระสูตร และประพันธ์หนังสือเรื่อง “ประวัติสงฆ์จีนจาริกไปอินเดีย” และ “พิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาในเกาะแถบทะเลใต้” ท่านถึงมรณภาพใน พ.ศ. ๑๒๕๕

พ.ศ. ๑๒๑๘

หลวงจีนเว่ยหล่างหรือฮุยเหนิง ได้รับตำแหน่งเป็นประมุของค์ที่ ๖ ของนิกายเซน และถึงมรณภาพใน พ.ศ. ๑๒๕๕ (ปีเดียวกับหลวงจีนอี้จิง)

พ.ศ. ๑๒๕๒

พระเจ้าตงจง โปรดให้มีการสอบคัดเลือกผู้ที่จะบวชเป็นครั้งแรก และต่อมาใน พ.ศ. ๑๒๕๘ พระเจ้าเฮียนจงก็โปรดให้พระที่ไม่ศึกษาปริยัติธรรมลาสิกขา ๑๒,๐๐๐ รูป เพราะมีผู้บวชเพื่อหลีกเลี่ยงการงานมาก และทรงห้ามการสร้างวัดหล่อพระพุทธรูปและคัดพิมพ์พระสูตรโดยไม่ได้รับอนุญาต (ต่อมาใน พ.ศ. ๑๓๐๒ ผู้จะบวชจะต้องสวดพระสูตรได้ ๑,๐๐๐ หน้า หรือเสียค่าบวชให้หลวง ๑๐๐,๐๐๐ อีแปะ)

พ.ศ. ๑๒๖๐

โปรดให้ต้อนรับ พระศุภกรสิงห์ แห่งนิกายมนตรยาน ซึ่งจาริกมาจากอินเดีย เข้ามาพำนักในพระราชวัง ทรงแต่งตั้งเป็นประมุขสงฆ์ หลังจากนี้ก็มีพระวัชรโพธิ และพระอโมฆวัชระ เป็นกำลังสืบงานเผยแพร่ต่อมาอีก เป็นเหตุให้นิกายมนตรยานเริ่มเจริญแพร่หลาย

พ.ศ. ๑๓๗๔

ในรัชกาลพระเจ้าบุ่นจง มีเหตุการณ์น่าสนใจคือ มีรับสั่งให้ภิกษุและภิกษุณีที่บวชโดยไม่ได้รับอนุญาตจากราชการยื่นคำขอใหม่ ในการนั้นมีผู้ยื่นคำขอถึง ๗๐๐,๐๐๐ รูปเศษ และต่อมาใน พ.ศ. ๑๓๘๑ โปรดให้ทุกวัดมีโบสถ์บูชาพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นประเพณีมาจนบัดนี้

พ.ศ. ๑๓๘๕

ได้เริ่มมีการทำลายล้างพระพุทธศาสนา โดย พระเจ้าบู่จง ผู้ทรงเลื่อมใสลัทธิเต๋า ทรงแต่งตั้งนักบวชเต๋าเป็นเสนาบดี แล้ววางแผนทำลาย โดยเริ่มให้มีการโต้วาทะหน้าพระที่นั่งระหว่างพระภิกษุกับนักบวชเต๋า ใน พ.ศ. ๑๓๘๙ แต่ฝ่ายเต๋าปราชัย ไม่สมพระทัยจึงทรงจัดการเองโดยพลการ คือ ให้ภิกษุและภิกษุณีลาสิกขา ๒๖๐,๐๐๐ รูป ริบที่ดินของสงฆ์ ยุบวัด หลอมพระพุทธรูป เผาคัมภีร์ เป็นต้น เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรมแต่นั้นมาอีกหลายร้อยปี (การทำลายล้างหยุดเมื่อเปลี่ยนแผ่นดิน โดยใน พ.ศ. ๑๓๙๑ พระเจ้าซวนจงทรงห้ามการทำลายวัด นำประมุขลัทธิเต๋ากับพวกก่อการไปประหารชีวิต และให้มีการบวชพระได้อีกโดยสอบความรู้ ออกบัตรอนุญาตอุปสมบทให้ และให้มีการปฏิสังขรณ์วัดเฉพาะวัดใหญ่ๆ)

 

๗. สมัยห้าราชวงศ์ หรือ หงอโต้ว (พ.ศ. ๑๔๕๐ – ๑๕๐๓)

พ.ศ. ๑๔๕๙

มีพระรูปหนึ่ง ลักษณะอ้วนร่าเริงจาริกเผยแพร่พระศาสนา ครั้นถึงมรณภาพมีผู้เชื่อว่าท่านเป็น พระเมตไตรย์โพธิสัตว์ ทำให้เกิดความนิยมสร้างรูปของท่านเป็น พระอ้วน สมบูรณ์ ร่าเริง ถือถุงย่ามใบหนึ่ง ไว้ที่หน้าวัดจีน ถือเป็นพระที่ให้ความสุข ความมั่งมี และให้บุตร

พ.ศ. ๑๔๙๙

มีการทำลายพระพุทธศาสนาครั้งใหญ่อีก โดย พระเจ้าซีจง แห่งแคว้นจิว ทรงกวดขันการบวช ยึดและยุบวัดที่ไม่มีพระบรมราชโองการให้สร้าง หลอมพระพุทธรูปตามวัดเอาไปทำเงินตรา และบังคับราษฎรให้ขายพระพุทธรูปและเครื่องบูชาที่เป็นทองแดงให้แก่ราชการทั้งหมด

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ๒. พระพุทธศาสนาในเกาหลี๔. พระพุทธศาสนาในญี่ปุ่น >>

หน้า: 1 2 3 4

No Comments

Comments are closed.