๓. พระพุทธศาสนาในจีน

1 มิถุนายน 2515
เป็นตอนที่ 3 จาก 15 ตอนของ

๘. สมัยราชวงศ์สุง หรือ ซ้อง (พ.ศ. ๑๕๐๓ – ๑๘๒๓)

พ.ศ. ๑๕๐๔

พระเจ้าเกาโจ้ว เริ่มทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนา เช่น โปรดให้สร้างวัด ณ สถานที่ที่เคยมีการรบใหญ่ ทรงส่งราชทูตไปอาราธนาพระสูตรจากเกาหลีและอินเดีย และใน พ.ศ. ๑๕๑๖ โปรดให้แกะไม้แผ่นพิมพ์พระไตรปิฎกรวม ๑๓๐,๐๐๐ แผ่น หลังจากนั้นมาได้มีผู้มีคุณสมบัติบวชมากขึ้น การศึกษาธรรมวินัยเจริญขึ้น มีพระจาริกมาจากอินเดีย และพระจีนจาริกไปอินเดียมากขึ้น ปรับปรุงประเพณีพิธีกรรม และส่งเสริมการปฏิบัติธรรม ปรากฏว่า ใน พ.ศ. ๑๕๗๘ (รัชกาลพระเจ้ายินจง) มีภิกษุ ๓๘๐,๐๐๐ รูป ภิกษุณี ๔๘,๐๐๐ รูป

พ.ศ. ๑๖๑๒

ราชการเริ่มหารายได้จากการบวชพระ โดยการขายบัตรอุปสมบท ทำให้การบวชเป็นการซื้อขาย คนมีศรัทธาแต่ไม่มีเงินไม่มีโอกาสบวช เป็นเหตุหนึ่งแห่งความเสื่อมของการศึกษาธรรมวินัย ต่อมาใน พ.ศ. ๑๖๘๙ ถึงกับให้พระภิกษุต้องเสียภาษีทุกรูป เว้นแต่อายุครบ ๖๐ ปีหรือพิการ และใน พ.ศ. ๑๖๙๕ ก็ให้นำผลประโยชน์จากที่นาสวนของวัดไปบำรุงโรงเรียนหลวงแทน

พ.ศ. ๑๖๖๑

พระเจ้าฮุยจง ทรงเลื่อมใสลัทธิเต๋ามาก และทรงบีบคั้นพระพุทธศาสนา โปรดให้ทุกอำเภอมีศาลเจ้าของเต๋า เปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาให้เข้าลัทธิเต๋า เช่น เรียกพระนามพระพุทธเจ้า และพระโพธิสัตว์ เป็น “เซียน” เปลี่ยนชื่อวัดเป็นศาลเจ้า ถวายเครื่องครองพระพุทธรูปเป็นแบบเต๋า เป็นต้น จนถึง พ.ศ. ๑๖๖๕ จึงโปรดให้พระพุทธศาสนาคืนสู่ฐานะเดิม คืนนาสวนที่ยึดไปให้แก่วัด และในที่สุด พ.ศ. ๑๖๖๘ ก็ให้เลิกนับถือลัทธิเต๋า

พ.ศ. ๑๖๘๗

ในรัชกาลพระเจ้าเกาจง พระฮวบฮุ้น เรียบเรียงหนังสือ “ศัพท์พุทธศาสนา” ขึ้น เป็นประโยชน์ในการศึกษามาก และใช้กันแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน (ก่อนหน้านี้เคยมีพระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิเรียบเรียงหนังสือสำคัญคล้ายกันขึ้นมาแล้วหลายคราว เรียกชื่อว่า “การออกเสียงและความหมายของศัพท์ในพระไตรปิฎก” คือ ใน พ.ศ. ๑๓๕๑ จำนวน ๑๐๓ เล่ม ใน พ.ศ. ๑๔๘๓ จำนวน ๔๘๐ เล่ม และใน พ.ศ. ๑๕๑๒ เรียก “ศัพท์ในพระไตรปิฎก” ๖๖๐ เล่ม)

โดยสรุป ในราชวงศ์นี้ กษัตริย์และนักปราชญ์ราชบัณฑิตมีศรัทธาในพระศาสนาดี พระพุทธศาสนาฟื้นฟูขึ้นมาพอสมควร แต่เพราะราชการมัวพะวงกับการหารายได้แม้จากวัด เพื่อใช้ในการป้องกันราชวงศ์จากอริราชศัตรู ความเจริญจึงไม่มีเท่าที่ควร

 

๙. สมัยราชวงศ์หงวน หรือ หยวน (พ.ศ. ๑๘๒๓ – ๑๙๑๑)

พ.ศ. ๑๘๐๒ – ๑๘๓๗

รัชกาลพระเจ้าซีโจ้ว หรือ กุบไลข่าน ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา เช่น โปรดให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกขึ้นใหม่ ยกเลิกเก็บภาษีวัด เป็นต้น โดยเฉพาะทรงส่งเสริมพระลามะเป็นพิเศษ โดยมุ่งผลทางการปกครองเป็นสำคัญ จึงไม่สู้เป็นผลดีแก่พระศาสนาเท่าใดนัก แม้กษัตริย์พระองค์ต่อๆ มาในราชวงศ์หงวน ก็ยึดถือนโยบายอย่างนี้

 

๑๐. สมัยราชวงศ์หมิง หรือ เหม็ง (พ.ศ. ๑๙๑๑ – ๒๑๘๗)

พ.ศ. ๑๙๑๑ – ๑๙๔๓

รัชกาลพระเจ้าไท่โจ้ว หรือ ฮุ่งวู หรือ ฮั่งบู๊ พระมหากษัตริย์เคยผนวชมาก่อน จึงทรงอุปถัมภ์บำรุงพระศาสนาให้กลับเจริญมั่นคงขึ้นอีกมาก

พ.ศ. ๒๐๖๙ – ๒๑๐๙

รัชกาลพระเจ้าซีจง กษัตริย์องค์นี้เลื่อมใสลัทธิเต๋ามาก และเป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาจึงถูกทำลายครั้งใหญ่อีก เริ่มแต่ทำลายพระพุทธรูป ทำลายวัด ให้นักบวชเต๋าเข้าอยู่ในวัด วัดถูกแปลงเป็นสำนักเต๋า ภิกษุครองจีวรแบบเต๋า พิธีกรรมพุทธกับเต๋าปะปนกันไปหมด

พ.ศ. ๒๑๔๔ – ๒๑๘๖

คริสต์ศาสนาซึ่งเริ่มเข้ามาเผยแพร่ที่มาเก๊า ตั้งแต่ขึ้นต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ได้เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในราชสำนัก และได้ช่วยถ่ายทอดวิชาการสมัยใหม่แก่จีน ในสมัยราชวงศ์เช็งต่อไปเป็นอันมาก

 

๑๑. สมัยราชวงศ์ชิง หรือ เช็ง (พ.ศ. ๒๑๘๗ – ๒๔๕๕)

พ.ศ. ๒๑๘๗ – ๒๓๓๘

เมื่อราชวงศ์เช็ง ซึ่งเป็นเผ่าแมนจู ขึ้นครองมหาอาณาจักรจีน ก็ได้บังคับให้ประชาชนไว้ผมเปีย แทนไว้ผมยาว และให้แต่งกายแบบแมนจู มีชาวจีนที่ขัดขืนถูกประหารชีวิตไปนับล้าน ในครึ่งแรกของราชวงศ์นี้ มีกษัตริย์ยิ่งด้วยบุญญาธิการ ๒ พระองค์ คือ พระเจ้าคังฮี และ พระเจ้าเคียงล้ง ทรงเป็นนักรบที่เก่งกาจ เป็นนักปกครองที่สามารถ ส่งเสริมวรรณกรรมการศึกษา วิชาการต่างๆ แต่ในทางพระพุทธศาสนา กลับทรงกวดขันการบวช ต้องให้ได้รับอนุญาตจากทางการก่อน ห้ามสร้างวัดใหม่หรือขยายเขตวัดเก่า ส่วนในทางวิชาการทรงช่วยสนับสนุนบ้าง เช่น ให้รวบรวมพระไตรปิฎกถวายวัดทุกวัด ให้แปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาแมนจูเรีย ทรงอุปถัมภ์บำรุงเฉพาะพระลามะเท่านั้น

พ.ศ. ๒๓๙๗

เกิดขบถผมยาวของพวกนับถือคริสต์ศาสนานานถึง ๑๕ ปี ทำให้วัดและพระคัมภีร์ในภาคใต้ถูกทำลายเกือบหมดสิ้น

พ.ศ. ๒๔๐๙ – ๒๔๕๕

ข้าราชการผู้ใหญ่คนหนึ่งชื่อ ยางวานฮุย ได้ขวนขวายฟื้นฟูการศึกษาพุทธศาสนา และเผยแพร่พระพุทธศาสนาไปยังต่างประเทศ ช่วยให้สถานการณ์พระพุทธศาสนาซึ่งกำลังเสื่อมโทรมดีขึ้นบ้าง

พ.ศ. ๒๔๔๗

ราชการปรับปรุงระบบการปกครองใหม่ตามแบบตะวันตก ให้ท้องถิ่นปกครองตนเอง ทำให้คนที่คิดร้ายได้โอกาสเข้ายึดวัดและนาสวน โดยอ้างว่าจะดัดแปลงเป็นโรงเรียน วัดถูกทำลายไปมากมาย

พ.ศ. ๒๔๕๑

มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และเป็นปีเดียวกับที่ พระเจ้ากวงซู้ และ พระนางซูสีไทเฮา เสด็จสวรรคต

โดยสรุป พระพุทธศาสนาในจีนเจริญถึงขีดสุดในสมัยราชวงศ์ถัง หลังจากนั้นก็เสื่อมโทรมลง กลับฟื้นฟูทรงตัวขึ้นได้ในสมัยราชวงศ์สุง หรือ ซ้อง ก็เสื่อมโทรมลงอีกนับแต่สมัยราชวงศ์หงวนของมงโกลเป็นต้นมา มีแต่พระเจ้าไท่โจ้ว ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์เหม็งองค์เดียว ที่บำรุงพระพุทธศาสนาจริงจัง เพราะเคยผนวชมาก่อน นอกนั้น ยกย่องพระพุทธศาสนาบางคราวเพียงเพื่อผลในการปกครอง โดยเฉพาะเอาใจพระลามะเพื่อครอบครองทิเบตไว้โดยง่าย เป็นเหตุให้การศึกษาธรรมวินัยเสื่อมโทรมอย่างยิ่ง มีแต่ความเชื่อถือทางไสยศาสตร์และพิธีกรรมอ้อนวอน หนำซ้ำกษัตริย์บางองค์ยังเลื่อมใสลัทธิเต๋าแล้วทำลายพระพุทธศาสนาอีก พระพุทธศาสนาเสื่อมถึงขั้นที่วัดใหญ่พระต้องทำนาและอาศัยค่าเช่านาเป็นอยู่ ส่วนวัดเล็กก็อาศัยการให้เช่ากุฏิบ้าง ประกอบพิธีกงเต๊กบ้าง ไม่มีกำลังบำรุงให้ศึกษาธรรมวินัยได้ จนถึงปลายราชวงศ์เช็ง จึงมีข้าราชการบางท่านช่วยฟื้นฟูประคับประคองไว้บางส่วน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ๒. พระพุทธศาสนาในเกาหลี๔. พระพุทธศาสนาในญี่ปุ่น >>

หน้า: 1 2 3 4

No Comments

Comments are closed.