๓. พระพุทธศาสนาในจีน

1 มิถุนายน 2515
เป็นตอนที่ 3 จาก 15 ตอนของ

๑๒. สมัยสาธารณรัฐ (พ.ศ. ๒๔๕๕ เป็นต้นมา)

พ.ศ. ๒๔๕๕

กษัตริย์แมนจูองค์สุดท้ายซึ่งยังเป็นพระกุมารสละราชสมบัติ จีนประกาศตั้งเป็น สาธารณรัฐตงฮั้ว หรือ สาธารณรัฐจีน

พ.ศ. ๒๔๖๕

เฟงยูเซียง ผู้นับถือคริสต์ศาสนาและมีสมญาว่า “นายพลคริสต์” ได้เป็นข้าหลวงใหญ่มณฑลโฮนาน ท่านผู้นี้ได้สั่งทำลายวัดพระพุทธศาสนาและสำนักเต๋าในโฮนานลงทั้งหมด วัดแปะเบ๊ยี่ ที่สร้างครั้งพระพุทธศาสนาแรกเข้าสู่ประเทศจีน ก็ได้ถูกทำลายลงในครั้งนี้ด้วย

กล่าวโดยสรุป สถานการณ์พระพุทธศาสนานับแต่ตั้งสาธารณรัฐจีนจนตลอดสมัยก๊กมินตั๋งหรือจีนคณะชาติ ไม่ดีขึ้นกว่าสมัยราชวงศ์เช็งของแมนจู แม้ว่าจะมีอิสรภาพดีขึ้น รัฐไม่เป็นปฏิปักษ์รุนแรง แต่ก็ไม่สู้อุดหนุนอะไรนัก โดยเฉพาะแนวความคิด ลัทธิมาร์กซิสม์ ได้แพร่หลายออกไปมาก มีการโจมตีวิพากษ์วิจารณ์พระพุทธศาสนา สนับสนุนการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนา และเอาสถานที่วัดไปใช้ในกิจการบ้านเมือง บุคคลสำคัญที่ช่วยกู้ฐานะพระพุทธศาสนาไว้ได้บางส่วน คือ พระอาจารย์ไทซี หรือ ไท้สู (พ.ศ. ๒๔๓๒ – ๒๔๙๐)

พ.ศ. ๒๔๖๕

เนื่องจากสถานการณ์ด้านพระพุทธศาสนาเสื่อมทรามลง และมีการเบียดเบียนพระพุทธศาสนามาก พระอาจารย์ไท้สูจึงดำเนินการปฏิรูปพระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่แม้ว่าจะมีกำลังเพียงเล็กน้อย เริ่มด้วยการตั้งวิทยาลัยสงฆ์ขึ้นที่ วูชัง เอ้หมึง เสฉวน และหลิ่งนาน เพื่อฝึกผู้นำทางพระพุทธศาสนาให้พระสงฆ์รู้วิชาทั้งธรรมวินัยและวิชาการสมัยใหม่ของตะวันตก แล้วดำเนินงานทางการศึกษา การเผยแผ่และการบำเพ็ญประโยชน์ จนถึงจัดตั้งพุทธสมาคมแห่งประเทศจีน สำเร็จใน พ.ศ. ๒๔๗๒ การประกาศพระศาสนาในแนวใหม่ของท่าน ทำให้ปัญญาชนเข้าใจพระพุทธศาสนาดีขึ้น ท่านได้ติดต่อกับพุทธศาสนิกต่างประเทศ ส่งนักศึกษาไปเล่าเรียนในลังกา ไทย และญี่ปุ่น เข้าถึงกิจการของรัฐระดับชาติ แสดงให้รัฐมองเห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนาในการประสานชนต่างเชื้อชาติ ๕ สายของจีนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นต้น ทำให้มีการยอมรับอิสรภาพของศาสนาเพิ่มขึ้น มีการออกคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์สินของวัดและหยุดยั้งการยึดเอาทรัพย์สมบัติของวัดไปใช้ในกิจการภายนอก

พ.ศ. ๒๔๗๓

มีสถิติแสดงว่า ในประเทศจีนมีพระและชี (จีนว่า ภิกษุ และ ภิกษุณี) ๗๓๘,๐๐๐ รูป และวัด ๒๖๗,๐๐๐ วัด

 

๑๓. สมัยสาธารณรัฐประชาชนจีน (พ.ศ. ๒๔๙๒ เป็นต้นมา)

คอมมูนิสต์ ได้เข้าครองอำนาจในประเทศจีนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ สถานการณ์พระพุทธศาสนาในระยะหลังจากนี้ ไม่สู้เป็นที่รู้กระจ่างชัด ในที่นี้จะกล่าวตามแนวที่ เคนเนธ เฉิน แสดงไว้ในหนังสือ “พระพุทธศาสนาในประเทศจีน”

ในฐานะที่ชาวคอมมูนิสต์นับถือลัทธิมาร์กซ์ อันเป็นลัทธิหนึ่งต่างหาก และมีพื้นฐานคำสอนขัดแย้งกับศาสนาทั้งหลาย จึงมิได้ต้องการให้มีพระพุทธศาสนาอยู่ร่วมด้วย แต่เบื้องต้นเห็นว่า พระพุทธศาสนาแม้จะเสื่อมลงแล้ว แต่ก็มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งในหมู่ประชาชน จึงยังไม่เห็นเป็นโอกาสที่จะเกี่ยวข้อง โดยใช้มาตรการตรงหรือแสดงออกชัดเจน เริ่มแรกจึงให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาก่อน แต่ย้ำเสรีภาพในการที่จะไม่เชื่อและยอมให้มีการตีความเสรีภาพนี้ ไปในแง่สิทธิที่จะต่อต้านความเชื่อถือทางศาสนา

พ.ศ. ๒๔๙๓

ออกประกาศข้อกำหนดว่า พระสงฆ์เป็นกาฝากสังคม พร้อมกันนั้นก็สร้างความรู้สึกให้มีการแบ่งแยกชาวบ้านกับพระสงฆ์ และพระสงฆ์ทั่วไปกับพระผู้บริหารว่าเป็นคนต่างชนชั้นกัน

พ.ศ. ๒๔๙๔

เพิกถอนสิทธิของวัดในการยึดครองที่ดิน เป็นการบีบรัดในด้านการดำรงชีพ เท่ากับบังคับโดยอ้อมให้พระภิกษุและภิกษุณีสึก ส่วนผู้ที่ไม่สึกก็ต้องประกอบอาชีพ เช่น ทำนา ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดย่อม ปลูกชา สอนโรงเรียน เป็นต้น พร้อมกันนั้นก็พยายามกล่อมเกลาให้ละเลิกความเชื่อถือในลัทธิคำสอนอันนอกเหนือจากลัทธิมาร์กซิสม์

พ.ศ. ๒๔๙๖

เมื่อจำนวนพระสงฆ์ลดน้อยและอ่อนกำลังลง จึงตั้ง “พุทธสมาคมแห่งประเทศจีน” ขึ้นในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม โดยวัตถุประสงค์ว่า เพื่อผนึกชาวพุทธทั้งปวงภายใต้การนำของรัฐบาลประชาชน เพื่อแสดงความรักต่อปิตุภูมิและรักษาสันติภาพของโลก แล้วจำแนกวัตถุประสงค์ออกเป็น ๔ ข้อ คือ เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างรัฐกับพุทธศาสนิกชน เพื่อฝึกพุทธบุคลากร เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางวัฒนธรรมของพระพุทธศาสนา และส่งเสริมความร่วมมือทางพุทธศาสนากับนานาชาติ

ทั้งนี้ผู้เขียนหนังสือ “พระพุทธศาสนาในจีน” นั้น สรุปว่า วัตถุประสงค์ที่แท้จริงก็เพื่อเป็นศูนย์สำหรับให้รัฐบาลสอดส่องดูแลและควบคุมพุทธศาสนิกชนทั้งหมดได้ และเป็นช่องทางที่รัฐจะได้เป็นผู้แทนของชาวพุทธในกิจการระหว่างชาติ นอกจากนั้น เพื่อสนองนโยบายนี้ก็ได้ออกนิตยสารรายเดือนชื่อ “พุทธศาสนาสมัยใหม่” (Modern Buddhism) ส่วนในด้านแนวความคิด ก็มุ่งให้หันเหจากหลักเมตตากรุณาไปสู่หลักความขัดแย้งและการต่อสู้

นอกจากนี้ รัฐได้ทำการทะนุบำรุง ดูแลรักษาวัดและศิลปกรรมสวยงามในที่ต่างๆ โดยเฉพาะที่ถือว่าเป็นผลงานของประชาชน แต่ต่อมาปรากฏว่าศิลปวัตถุและศาสนสถานต่างๆ ได้ถูกพวกเรดการ์ดทำลายลงเสียเป็นจำนวนมาก

พระพุทธศาสนาในจีนได้เสื่อมโทรมลง ตลอดเวลายาวนานในยุคหลังๆ เพราะประสบความบีบคั้นต่างๆ และความอ่อนแอภายใน โดยเฉพาะในด้านการศึกษาปฏิบัติธรรมวินัย การทำหน้าที่ต่อประชาชน และการหันเหไปหาลัทธิพิธีต่างๆ สภาพเหล่านี้แม้คอมมูนิสต์ไม่เข้าครองถ้าไม่มีการทำลายต่อให้ถึงดับสูญเสียก่อน ก็จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงจนได้ เช่นที่ท่านไท้สูได้ริเริ่มขึ้นเป็นต้น แม้พระมหากษัตริย์ในปางก่อนก็ได้ทรงกระทำแล้วหลายครั้งหลายคราว สิ่งที่ยังค้างวินิจฉัยมีอย่างเดียวคือ ที่ทำอย่างนั้นๆ เป็นการปรับปรุงเพื่อฟื้นฟู หรือเป็นการทำลาย หรือเป็นการปรับปรุงเพื่อทำลาย ซึ่งจะต้องพิสูจน์กันต่อไป

เนื่องจากจีนเป็นศูนย์กลางสำคัญแห่งหนึ่งของพระพุทธศาสนามาตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนาน แต่ในยุคหลังนี้ ชาวพุทธภายนอกไม่มีโอกาสทราบข่าวความเป็นไปเท่าที่ควร เมื่อไม่ทราบข่าวทางศาสนาโดยตรง จึงขอนำเหตุการณ์ฝ่ายบ้านเมือง ซึ่งเป็นเรื่องของชาติโดยส่วนรวมมาลงไว้ พอเป็นทางประกอบการพิจารณา สำหรับสันนิษฐานภาวการณ์ทางพระศาสนาในประเทศนั้น

หลังจาก พ.ศ. ๒๔๙๖ แล้ว มีเหตุการณ์น่าสนใจในสาธารณรัฐประชาชนจีนเกิดขึ้นอีกหลายอย่าง ได้รวบรวมจากหนังสือเหตุการณ์ประจำปี และเอกสารบางเรื่องที่องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดพิมพ์ แสดงไว้เฉพาะที่สำคัญและควรแก่การพิจารณา ดังนี้

พ.ศ. ๒๕๐๒

นับแต่ปี ๒๔๙๙ เป็นต้นมา ได้เริ่มมีข่าวเกี่ยวกับความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศทิเบต จนกระทั่งมีการจลาจลร้ายแรงในแคว้นขาม เพราะชาวทิเบตโกรธแค้นในการที่ชาวจีนหลายแสนคนอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐาน และมีการนำเอาเยาวชนทิเบตไปยังประเทศจีนเพื่อการฝึกอบรมชั้นสูง ต่อมาได้มีการจลาจลเกิดขึ้นใน กรุงลาซา นครหลวงของทิเบต เพราะจีนจะจับองค์ ทะไลลามะ ประมุขของพระพุทธศาสนานิกายลามะ และประมุขของประเทศทิเบต ทำให้พระองค์เสด็จหนีออกจากประเทศทิเบตมาลี้ภัยอยู่ในประเทศอินเดีย เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๐๒ แต่นั้นมารัฐบาลทิเบตก็สลายตัว มีคณะกรรมการคณะหนึ่งขึ้นมาบริหาร โดยมีปันเชนลามะเป็นประมุข

พ.ศ. ๒๕๑๑

นับแต่ราว พ.ศ. ๒๕๐๖ จีนได้กลับกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อโซเวียต โดยถือว่าโซเวียตเป็นพวกลัทธิแก้ ซึ่งเป็นศัตรูที่ร้ายแรงของจีน พอๆ กับจักรวรรดินิยมอเมริกัน หลิวเซ่าฉี ซึ่งได้สืบตำแหน่งจากเหมาเจ๋อตงเป็นประธานแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๐๒ เป็นต้นมา ได้มีความขัดแย้งแข่งอำนาจกับเหมาเจ๋อตงและหลินเปียว โดยร่วมกับเลขาธิการพรรคชื่อ เตงเฉียวปิง ต่อต้านนโยบายของผู้นำทั้งสองท่านนั้นอย่างลับๆ มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๕ และมีสหภาพกรรมกรเป็นที่มั่น ครั้นถึง พ.ศ. ๒๕๐๙ วารสารของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมูนิสต์จีนได้ประณาม หลิวเซ่าฉี ว่าเป็นพวกลัทธิแก้ฝ่ายกฏุมพี จากนั้นพวกเรดการ์ด ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนเหมาเจ๋อตง ได้ดำเนินการปฏิวัติทางวัฒนธรรมครั้งใหญ่ ตลอดระยะเวลานั้น หลิวเซ่าฉีถูกกักขังอยู่ในบ้าน และถูกเรียกว่าครุสชอพแห่งประเทศจีน ครั้นถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๑ หลิวเซ่าฉีก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งประมุขของรัฐ จากตำแหน่งทุกตำแหน่งในพรรคคอมมูนิสต์และขับออกจากพรรค หายตัวไปในที่สุด ส่วนสหภาพกรรมกรก็ได้สลายตัวไปในระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรมนั้นด้วย (ตั้งขึ้นใหม่อีกเมื่อการปฏิวัติทางวัฒนธรรมสิ้นสุดแล้ว)

พ.ศ. ๒๕๑๔

หลินเปียว รัฐมนตรีกลาโหมและผู้นำฝ่ายทหาร ซึ่งได้ร่วมกับเหมาเจ๋อตงในการต่อสู้กับหลิวเซ่าฉีมาแต่ต้น ได้มีความสำคัญยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรมระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๙ ถึง ๒๕๑๒ ซึ่งเริ่มขึ้นเพื่อต่อสู้กับความคิดแบบกฏุมพี และเป็นกำลังอำนาจเพื่อสนับสนุนเหมาเจ๋อตง คณะกรรมการปฏิวัตินี้เป็นไตรภาคี ประกอบด้วยกองทัพบก พรรคคอมมูนิสต์ และพวกเรดการ์ด (ผู้พิทักษ์แดงประกอบด้วยเยาวชนชายหญิง) ในการนี้หลินเปียวมีบทบาทสำคัญยิ่ง โดยได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้บัญชาการสูงสุดของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมในเดือนสิงหาคม ๒๕๐๙ และได้เป็นทายาททางการเมืองของประธานเหมาเจ๋อตงแทนหลิวเซ่าฉี ครั้นถึงวันที่ ๔ กันยายน ปีเดียวกัน ก็เป็นหัวหน้าเรดการ์ด พวกเรดการ์ดนอกจากทำลายอำนาจฝ่ายหลิวเซ่าฉีแล้ว ยังปรากฏว่าได้ทำลายศิลปวัตถุ โบราณสถาน วัดวาอาราม เป็นอันมากด้วย แต่ยังไม่ทราบรายละเอียด

ด้วยเหตุการณ์นี้ หลินเปียว และผู้นำฝ่ายทหารได้เรืองอำนาจมากจนจะกลายเป็นผู้ครอบงำพรรคคอมมูนิสต์ ความยิ่งใหญ่ของหลินเปียวปรากฏอยู่จนถึงเดือนกันยายน ๒๕๑๔ ก็กลับหายเงียบไป ในระยะนี้ (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๕) จีนได้หันไปมีความสัมพันธ์กับสหรัฐ ต่อมาภายหลังจึงมีการเปิดเผยว่า หลินเปียวได้คบคิดวางแผนสังหารประธานเหมาเจ๋อตง และสถาปนาระบบเผด็จการทหาร แต่แผนไม่สำเร็จ จึงขึ้นเครื่องบินหนีไปรัสเซีย แต่เครื่องบินตกถึงแก่กรรมในระหว่างทางที่ประเทศมองโกเลีย

นับแต่นั้นมา ก็มิได้มีการแต่งตั้งทายาทการเมืองของเหมาเจ๋อตงอีก จนท่านประธานเหมาสิ้นชีวิตใน พ.ศ. ๒๕๑๙

นับแต่ พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นต้นมา เติ้งเสี่ยวผิงได้มีอำนาจมากขึ้นและได้จัดดำเนินโครงการปรับปรุงเศรษฐกิจให้ทันสมัยตามนโยบายการค้าแบบเสรี ต่อมา อุดมการณ์และโครงสร้างการเมืองแบบเหมาก็ถูกหยุดเลิก นอกจากนโยบายทางเศรษฐกิจและการเมืองจะหันเหมาในทางเสรีมากขึ้นแล้ว การบังคับควบคุมความเชื่อถือและกิจกรรมทางศาสนาก็ผ่อนคลายความเข้มงวดลงด้วย สภาวการณ์ทางศาสนาจึงเริ่มกลับฟื้นตัวขึ้นในที่ทั่วๆ ไป

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ๒. พระพุทธศาสนาในเกาหลี๔. พระพุทธศาสนาในญี่ปุ่น >>

หน้า: 1 2 3 4

No Comments

Comments are closed.