๔. พระพุทธศาสนาในญี่ปุ่น

1 มิถุนายน 2515
เป็นตอนที่ 4 จาก 15 ตอนของ

๔.
พระพุทธศาสนาในญี่ปุ่น

 

ชาวต่างประเทศที่เดินทางไปในประเทศญี่ปุ่น และได้มีโอกาสพบปะกับชาวญี่ปุ่นจำนวนมากตามสถานที่ต่างๆ นั้น คงได้พบพระญี่ปุ่นรวมอยู่ในจำนวนผู้คนเหล่านั้นด้วย แต่อาจจะไม่ทราบว่าตนได้พบพระญี่ปุ่นแล้วก็ได้ หรือแม้ผู้ที่ติดต่อกับชาวญี่ปุ่นที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในฐานะนักธุรกิจ นักศึกษา เป็นต้น ก็อาจจะไม่ทราบว่าชาวญี่ปุ่นเหล่านั้น บางคนเป็นพระนักบวชในพระพุทธศาสนา ทั้งนี้เพราะพระญี่ปุ่นบางนิกายมีความเป็นอยู่เหมือนชาวบ้านดำเนินชีวิตปะปนอยู่ในสังคม ประกอบสัมมาชีพเหมือนประชาชนอื่นๆ เรื่องนี้จึงนับว่าเป็นลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนาแบบญี่ปุ่น ในที่นี้จะได้เล่าเรื่องความเป็นมา และสภาวการณ์ของพระพุทธศาสนาในญี่ปุ่นสู่กันฟังเป็นการประดับความรู้

พระพุทธศาสนาเข้าสู่ญี่ปุ่น

หนังสือประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นสมัยโบราณ ชื่อ “นิฮอนโชกิ” บันทึกไว้ว่า พุทธศาสนาได้เข้ามาสู่ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๑๐๙๕ อันเป็นปีที่ ๑๓ ในรัชสมัยของพระเจ้าจักรพรรดิกิมเมอิ ซึ่งทรงเป็นจักรพรรดิ (มิกาโด) พระองค์ที่ ๒๙ ของญี่ปุ่น นี้เป็นบันทึกของราชการ แต่ตามข้อเท็จจริง พุทธศาสนาคงจะได้มาถึงญี่ปุ่นก่อนหน้านั้นแล้ว

ครั้งนั้น แผ่นดินเกาหลียังแบ่งแยกกันเป็น ๓ แว่นแคว้น แคว้นหนึ่งอยู่ฝ่ายเหนือ ชื่อ โกมา (เรียกอีกอย่างว่า โกคุเรียว) อีกสองแคว้นอยู่ฝ่ายใต้ คือ ชิราคิ (หรือซิลลา) อยู่ด้านตะวันออกแคว้นหนึ่ง กับ กุดารา (หรือปีกเช) อยู่ด้านตะวันตกอีกแควันหนึ่ง สมัยนั้นชนชาวเกาหลีคงจะได้ข้ามทะเลญี่ปุ่น นำพระพุทธศาสนามาเผยแพร่แก่ชาวญี่ปุ่นในเกาะกิวชิวภาคเหนือบ้างแล้ว ก่อนที่จะได้มีการรับรู้เป็นทางราชการ

ตามบันทึกของราชการ เล่าว่า กษัตริย์เซเมโอ แห่งแคว้นกุดาราได้ทรงส่งราชทูตชื่อ นูริชิชิเกอิ มายังราชสำนักญี่ปุ่น ทรงมอบให้ราชทูตนำพระพุทธรูปทองเหลืองหุ้มทองคำ ๑ องค์ ราชธัชและคัมภีร์พระสูตรต่างๆ พร้อมด้วยพระราชสาส์นฉบับหนึ่ง เข้าเฝ้าทูลถวายแด่พระเจ้าจักรพรรดิ ในพระราชสาสน์นั้น พระเจ้าเซเมโอทรงพรรณนาคุณแห่งพระสัทธรรม แสดงอานิสงส์แห่งการบูชาพระพุทธรูป แถลงความเป็นมาแห่งพระพุทธศาสนา นับแต่เผยแพร่ออกจากชมพูทวีปเข้าสู่ประเทศจีนไปถึงเกาหลี และประกาศพระราชประสงค์ว่า ได้ทรงส่งราชทูตมาครั้งนี้ เพื่อเผยแพร่พระสัทธรรมให้ปรากฏกว้างขวางไกลออกไป สมตามพุทธทำนายว่า พระธรรมวินัยจักแพร่หลายมาทางทิศตะวันออก เหตุการณ์ครั้งนี้ นับว่าเป็นการนำพระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในทางราชการ

นิฮอนโชกิเล่าต่อไปว่า พระจักรพรรดิกิมเมอิทรงพอพระทัยอย่างยิ่งถึงกับตรัสว่า “เรายังไม่เคยได้สดับคำสอนอันวิเศษอัศจรรย์อย่างนี้มาก่อนเลย… เราไม่เคยได้เห็นสิ่งใดมีความงดงาม ผ่องใส น่าอิ่มใจ เหมือนดังพระพักตร์ของพระพุทธรูปนี้เลย”

จากนั้น พระองค์ได้ตรัสขอความเห็นจากบรรดาข้าราชสำนัก ท่านโซคา-โน-อินาเม สมุหนายก กราบทูลถวายความเห็นว่า พระพุทธศาสนาจะต้องเจริญรุ่งเรืองด้วยดีในประเทศญี่ปุ่น เช่นเดียวกับที่เคยเป็นมาแล้วในประเทศอื่นๆ แต่ท่านโมโนโนเบโนโอโกชิ สมุหกลาโหม และท่านนากาโตมิ-โน-กามาโก เสนาบดีฝ่ายศาสนพิธีในลัทธิชินโต ได้แสดงความเห็นคัดค้านอย่างรุนแรงว่า พระจักรพรรดิญี่ปุ่นได้ทรงบูชาเทพเจ้าประจำชาติมาแต่บรรพกาล หากมีสิ่งผิดแปลกเข้ามาในบ้านเมือง ก็จักก่อความพิโรธแก่เทพเจ้าประจำชาติที่ทรงพิทักษ์รักษาบ้านเมือง

เมื่อเกิดมีความเห็นขัดแย้งกันเช่นนี้ พระจักรพรรดิจึงได้ทรงตัดสินว่าให้ทั้งสองศาสนาคงอยู่ร่วมกัน และได้พระราชทานพระพุทธรูปแก่โซคา-โน-อินาเม ให้นำไปสักการบูชาเป็นการส่วนตัว เหตุการณ์ครั้งนี้ได้เป็นสาเหตุให้เกิดความบาดหมางระหว่างตระกูลทั้งสองสืบมาเป็นเวลาเกือบ ๔๐ ปี

พระจักรพรรดิพระองค์ถัดมาพระนามว่า บิดัทสุ เป็นโอรสของพระเจ้ากิมเมอิ เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. ๑๑๑๕ มิได้ทรงใส่พระทัยในพระพุทธศาสนา เมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว พระจักรพรรดิโยเมอิ ซึ่งเป็นพระอนุชา ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นมิกาโดองค์ที่ ๓๑ พระเจ้าโยเมอิทรงเป็นพระจักรพรรดิพระองค์แรก ที่ทรงประกาศความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา แต่เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ไม่นานก็ประชวรหนัก เป็นเหตุให้ประชาชนเศร้าโศกมาก ได้พากันแสวงหาพระไปสวดถวายเพื่อให้หายประชวร และในครั้งนี้เองได้มีบุรุษผู้หนึ่งชื่อ กุรัตสุกุริ-โน-ตะสุนะ ออกบวชเป็นพระภิกษุเพื่อมาสาธยายมนต์ถวายพระจักรพรรดิ นับเป็นชายญี่ปุ่นคนแรกที่ได้บวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา ต่อมาเมื่อประชวรหนักลงอีก พระจักรพรรดิมีพระประสงค์ให้สร้างพระรูปพระพุทธเจ้ายากุชินโยไร (พระไภษัชยคุรุ) พระนางซุยโก ซึ่งเป็นกนิฏฐภคินีได้ทรงรับภาระในการสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ แต่พระจักรพรรดิได้สวรรคตก่อนที่การสร้างพระพุทธรูปจะสำเร็จ

พระพุทธศาสนารุ่งเรืองในญี่ปุ่น

เมื่อพระเจ้าโยเมอิสวรรคตแล้ว ตระกูลโซคาได้อัญเชิญ พระเจ้าซุซุน ขึ้นครองราชย์ แต่พระองค์ครองราชย์ได้เพียง ๕ ปี ก็ถูกปลงพระชนม์เสีย เมื่อ พ.ศ. ๑๑๓๕

ครั้งนั้นเป็นยามวิกฤติ ขุนนางจึงได้อัญเชิญพระนางซุยโกมเหสีของพระเจ้าบิดัทสุ และเป็นพระกนิฏฐภคินีของพระเจ้าโยเมอิ ขึ้นครองราชย์เป็นมิกาโดพระองค์ที่ ๓๓ นับเป็นพระจักรพรรดินีพระองค์แรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

พระจักรพรรดินีซุยโก ได้ทรงสถาปนา เจ้าชายโชโตกุ โอรสของพระเจ้าโยเมอิ พระชนมายุ ๑๙ พรรษาเป็นมกุฎราชกุมาร และเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินมีสิทธิขาดในการว่าราชการทั้งปวง และเจ้าชายพระองค์นี้เอง ที่ได้ทรงวางรากฐานการปกครองของประเทศญี่ปุ่น สร้างสรรค์วัฒนธรรมและเชิดชูพระพุทธศาสนา ทำประเทศญี่ปุ่นให้เจริญก้าวหน้าอย่างพิเศษ ตลอดระยะเวลาที่ทรงบริหารราชการแผ่นดินอยู่ ๓๐ ปี เจ้าชายได้ทรงตั้งโรงเรียน ประกาศธรรมนูญปกครองอาณาจักร ทรงส่งราชทูตและนักศึกษาไปศึกษาวิชาการจากประเทศจีน ทรงเร่งรัดการอุตสาหกรรม ส่งเสริมการรักษาพยาบาลคนเจ็บไข้ สงเคราะห์คนกำพร้าและคนทุพลภาพ ส่งเสริมการขนส่ง และการสื่อสาร การคุ้มครองสัตว์ และโปรดให้รวบรวมประวัติศาสตร์ประเทศญี่ปุ่นขึ้นไว้

ในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๑๑๓๗ พระองค์ได้ประกาศพระจักรพรรดิราชโองการเชิดชูพระไตรรัตน์ คราวนี้พระพุทธศาสนาก็ประดิษฐานมั่นคงในญี่ปุ่น ความขัดแย้งระหว่างตระกูลโซคากับตระกูลโมโนโนเบได้ยุติลง ประชาชนญี่ปุ่นรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในฐานะพุทธศาสนิกชนข้าราชการทหารและพลเรือนทั้งปวง ต่างแข่งขันกันสร้างวัดพุทธศาสนา เพื่อแสดงกตัญญูกตเวทิตาธรรมแด่พระจักรพรรดิและบรรพบุรุษ และได้สร้างสำนักปฏิบัติธรรมขึ้นเป็นอันมาก

อนึ่ง งานสร้างพระรูปพระพุทธเจ้ายากุชินโยไรที่ได้เริ่มขึ้นแต่ครั้งพระจักรพรรดิโยเมอิประชวรหนักนั้น ก็คงดำเนินต่อมา จนสำเร็จบริบูรณ์ใน พ.ศ. ๑๑๕๐ อันเป็นปีที่ ๑๕ ในรัชกาลแห่งพระจักรพรรดินีซุยโก และได้ประดิษฐานพระพุทธรูปพระองค์นี้ไว้ในวัดที่โปรดให้สร้างขึ้น ณ เมืองนารา เป็นวัดที่มีโครงสร้างเป็นไม้ล้วนเก่าแก่ที่สุดในโลก มีชื่อว่า โฮริจิ แปลว่าวัดสัทธรรมไพโรจน์ สร้างเสร็จใน พ.ศ. ๑๑๓๙ และวัดทั้งปวงที่ราชการจัดให้สร้างขึ้นในคราวแรก ก็ได้นามว่า โฮริวจิ หรือ โฮโกจิ ทั้งสิ้น ยิ่งกว่านั้น ยุคสมัยนี้ยังได้ชื่อว่า ยุคโฮโก ซึ่งแปลว่า ยุคที่สัทธรรมไพโรจน์ อีกด้วย

ในวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๑๑๔๗ เจ้าชายโชโตกุ ได้ทรงประกาศ “ธรรมนูญ ๑๗ มาตรา” ธรรมนูญนี้ได้ประกาศหลักสามัคคีธรรมของสังคม ซึ่งเกิดมีขึ้นได้ด้วยอาศัยการเคารพเชื่อถือพระรัตนตรัย อันเป็นเครื่องกำจัดความชั่วร้ายและความประพฤติผิดนานา พร้อมทั้งบัญญัติความสัมพันธ์ระหว่างพระจักรพรรดิกับประชาชน และหลักปฏิบัติสำหรับข้าราชการทั้งปวง

ในปี พ.ศ. ๑๑๔๙ เจ้าชายโชโตกุ ได้ทรงแสดงเทศนาใน โชมังเคียวสูตร และ โฮเกเกียวสูตร หน้าพระที่นั่ง เหตุการณ์นี้ถือว่าเป็นการเริ่มต้นการแสดงเทศนาเกี่ยวกับพระสูตรในประเทศญี่ปุ่น และพระองค์ได้โปรดให้จารึกเทศนาต่างๆ ลงเป็นลายลักษณ์อักษร ได้ทรงส่งนักปราชญ์เป็นราชทูตไปยังราชสำนักของจีน เพื่อการติดต่อทางวัฒนธรรม ได้นำเอาตำราและคัมภีร์พุทธศาสนา รวมทั้งอรรถกถาต่างๆ เข้ามาสู่ประเทศญี่ปุ่น แม้เจ้าชายเองก็ได้ทรงแต่งคัมภีร์อรรถกถาแสดงหลักธรรมตามแนวศรัทธา และทรรศนะของพระองค์เองไว้ด้วย

ก็แลพระพุทธศาสนาอย่างที่เจ้าชายโชโตกุ ทรงนับถือปฏิบัติครั้งนั้นมีชื่อเรียกเป็นพิเศษว่า เอกยาน เป็นคำสอนแบบเชื่อมประสานระหว่างมหายานกับหินยาน มีธรรมกายเป็นวัตถุประสงค์ ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างพระสงฆ์และคฤหัสถ์ มุ่งการปฏิบัติธรรมรวมอยู่ในชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องสละเหย้าเรือนหรืออยู่ในป่าเขาอันวิเวก แนวความเชื่อถือและปฏิบัติธรรมของเจ้าชายโชโตกุนี้ นับว่าเป็นที่มาอย่างหนึ่งแห่งวิวัฒนาการของพระพุทธศาสนาแบบญี่ปุ่นอันมีลักษณะพิเศษจำเพาะตน

เจ้าชายโชโตกุสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๑๑๖๕ คราวนั้นบันทึกทางประวัติศาสตร์เล่าว่า “บรรดาประชาชนทั้งปวงมีความโศกเศร้าเสียใจยิ่งนัก เปรียบเหมือนมารดาบิดาผู้ชราที่ต้องสูญเสียบุตรคนเดียวของตน หรือเหมือนบุตรน้อยที่บิดามารดาผู้การุณมาพลัดพรากไป เหมือนฟ้าและดินสะท้านทะลาย หรือเดือนและตะวันดับแสงลงฉะนั้น”

ณ อาคารหนึ่งในวัดโฮริวจิ ชาวญี่ปุ่นได้สร้างพระพุทธรูปองค์หนึ่งขนาดเท่าองค์เจ้าชายโชโตกุ ประดิษฐานไว้เป็นอนุสรณ์แห่งคุณความดีของพระองค์

หลังจากเจ้าชายโชโตกุสิ้นพระชนม์แล้ว ตระกูลโซคาได้มีกำลังเข้มแข็งยิ่งขึ้น จนถึงปี พ.ศ. ๑๑๘๖ ก็ได้กำจัดเชื้อสายของเจ้าชายโชโตกุลงหมดสิ้น แต่หลังจากนั้นได้เพียง ๒ ปี ทางฝ่ายพระเจ้าจักรพรรดิก็ได้กำจัดขุนนางทรยศยึดอำนาจกลับคืนมาได้ นับแต่กาลนั้นมาพระพุทธศาสนาก็เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการศึกษาและการปฏิบัติธรรม ประเพณี พิธีกรรม และวันสำคัญต่างๆ ทางพระพุทธศาสนาก็เกิดมีขึ้น และได้กลายเป็นส่วนสำคัญแห่งวัฒนธรรมของชนชาติญี่ปุ่นสืบมา

ยุคเมืองนาราเป็นราชธานี

แต่เดิมมา ประเทศญี่ปุ่นมิได้ยึดถือจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งเป็นเมืองหลวงแน่นอนลงไป คงได้ย้ายไปมาอยู่ในระหว่างจังหวัดสำคัญทั้งห้า คือ ยามาโต ยามาชิโร เซทซุ กาวาชิ และ อิซูมิ หรือ ออตสุ ณ ทะเลสาบบิวา การเคลื่อนย้ายเมืองหลวงบ่อยๆ เช่นนี้ เป็นเหตุก่อความเดือดร้อนแก่ชนประเภทกรรมกร ที่ต้องถูกเรียกตัวมาทำงานก่อสร้างอยู่บ่อยๆ และให้บังเกิดความไม่สะดวกหลายประการ ครั้นถึงรัชสมัยแห่งพระจักรพรรดินีเงียมเมียว พุทธศักราชล่วงได้ ๑๒๕๓ ปี ทางราชการจึงได้เลือกเอาเมืองนาราเป็นราชธานีถาวร และเมืองนารานี้ได้เป็นที่สถิตแห่งพระจักรพรรดิสืบมาเป็นเวลาค่อนศตวรรษ เป็นดินแดนที่สงบสุข เป็นยุคแห่งความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปะ วรรณคดี และศาสนา

กล่าวในฝ่ายพระศาสนา นับแต่เจ้าชายโชโตกุได้ทรงดำเนินวิเทโศบายติดต่อกับประเทศจีน และแลกเปลี่ยนราชทูตกันระหว่างราชสำนักทั้งสองเป็นต้นมา จำนวนนักศึกษา นักปราชญ์ ที่ได้ไปศึกษาในประเทศจีนนำเอาวิชาการทางศาสนาและวัฒนาธรรมกลับมาสู่ประเทศญี่ปุ่น ก็เพิ่มมากขึ้น บางท่านได้ไปศึกษาอยู่ถึง ๒๐ ปีบ้าง ๓๐ ปีบ้าง แล้วนำเอาคำสอนของพระพุทธศาสนานิกายต่างๆ ที่รุ่งเรืองอยู่ในประเทศจีนสมัยนั้น มาเผยแพร่ในประเทศญี่ปุ่น ยังผลให้พระพุทธศาสนาในยุคกรุงนารามีส่วนแบ่งย่อยออกเป็นหลายนิกาย เฉพาะที่ยอมรับทางราชการในรัชสมัยแห่งพระจักรพรรดินี โกเกน มีถึง ๖ นิกาย เรียกกันว่า “นานโต-โรกุชู” หรือนิกายทั้งหกแห่งราชธานีใต้ (คือ นารา) ดังรายชื่อต่อไปนี้

๑. นิกายซานรอน (คือ นิกายมาธยมิกะ) เริ่มนำเข้ามาทางเกาหลีเมื่อ พ.ศ. ๑๑๖๘ แต่ได้เจริญแพร่หลายด้วยอาศัยการศึกษาโดยตรงจากประเทศจีน เริ่มแต่ พ.ศ. ๑๒๔๕ มีคำสอนมุ่งในศูนย์ตา ไม่ใส่ใจต่อความเป็นไปของชาวโลก

๒. นิกายฮอสโซ (คือ นิกายโยคาจาร) เริ่มนำเข้ามาโดยท่านโดโช ซึ่งได้ไปศึกษาในประเทศจีนแต่ พ.ศ. ๑๑๙๖ ท่านผู้นำแห่งนิกายนี้ส่งเสริมงานสังคมสงเคราะห์เป็นอย่างมาก เมื่อถึงมรณภาพในปี พ.ศ. ๑๒๔๓ บรรดาสานุศิษย์ได้กระทำฌาปนกิจศพของท่านตามคำสั่ง นับเป็นการฌาปนกิจศพครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น และได้รับความนิยมต่อมา เพราะเป็นการอนุโลมเข้าได้กับหลักธรรมส่วนหนึ่ง และเป็นการตัดทอนความสิ้นเปลือง นำเอาส่วนที่จะพึงเป็นรายจ่ายไปใช้สร้างอารามใหญ่ๆ ได้

๓. นิกายเคงอน (คือ นิกายอวตัมสกะ) นับเป็นวิวัฒนาการสืบมาแต่สองนิกายข้างต้น นำเข้ามาโดยตรงจากประเทศจีน เริ่มปรากฏโฉมหน้าใน พ.ศ. ๑๒๖๕ และถือว่าได้เริ่มประวัติในประเทศญี่ปุ่น เมื่อท่านชินโจแสดงคำสอนใน พ.ศ. ๑๒๘๓ นิกายนี้แสดงหลักเอกยาน และเป็นนิกายเดียวแห่งยุคนารา ที่ยังคงอยู่รอดถึงสมัยหลังต่อมา โดยได้พัฒนามาเป็นนิกายเทนได และชินงอน

๔. นิกายริตสุ (คือ นิกายวินัย) อันนับเนื่องในฝ่ายหินยาน ได้ประดิษฐานลงในญี่ปุ่น เมื่อท่านงันจินเดินทางจากประเทศจีนมาถึงแผ่นดินญี่ปุ่นใน พ.ศ. ๑๒๙๗ และได้เริ่มประกอบพิธีอุปสมบทภิกษุ ๘๐ รูป กับสามเณร ๔๔๐ รูป ทั้งได้ถวายโพธิสัตวศีลแด่พระจักรพรรดิและพระจักรพรรดินีโกเกนด้วย ณ วัดโตไดจิ ในกรุงนารา นิกายนี้สอนให้เว้นจากการกินเนื้อสัตว์ และให้เคร่งครัดในศีลวัตร ตลอดจนมารยาทต่างๆ ในการรับประทานอาหาร การประชุม และการเดินถนน เป็นต้น ซึ่งได้ตกทอดสืบมาในวัฒนธรรมญี่ปุ่นแม้ถึงสมัยปัจจุบัน

๕. นิกายกุชา (คือ นิกายสรวาสติวาทิน หรือ อภิธรรมโกษศาสตร์) และ

๖. นิกายโจจิตสุ (คือ เสาตรานตริกะ หรือ สัตยสัทธิศาสตร์)

ทั้งสองนิกายท้ายนี้เป็นฝ่ายหินยาน และมีชื่อปรากฏเป็นที่ยอมรับในยุคกรุงนาราด้วย แต่ไม่สู้จะเป็นที่นิยมนับถือยั่งยืน

เมื่อครั้งรัชสมัยพระจักรพรรดินีซุยโก ที่เจ้าชายโชโตกุทรงว่าราชการแผ่นดินนั้น พระองค์ได้โปรดให้สร้าง วัดชิเตนโนจิ ขึ้น ซึ่งแปลว่า วัดท้าวจาตุมหาราช เพื่อพิทักษ์รักษาประเทศชาติ และในรัชสมัยของพระจักรพรรดิองค์ต่อๆ มา ทางราชการได้แต่งตั้งตำแหน่งโกกุชิ หรือ อนุศาสนาจารย์ของชาติ ขึ้นไว้ประจำในทุกจังหวัด เพื่อช่วยแนะนำสั่งสอนประชาชนในทางจิตใจ การกระทำเหล่านี้นับว่าเป็นรัฐประศาสโนบาย ช่วยให้ประเทศชาติรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยมีพระจักรพรรดิเป็นศูนย์รวมจิตใจ ครั้นมาถึงรัชสมัยพระเจ้าจักรพรรดิโชมุ มิกาโดองค์ที่ ๔๕ ซึ่งครองกรุงนารานี้ พระองค์ได้ประกาศพระจักรพรรดิราชโองการฉบับหนึ่งในปี พ.ศ. ๑๒๘๔ บัญญัติให้สร้างวัดของราชการประจำจังหวัดขึ้นทั่วประเทศ คราวนั้นก็ได้เกิดมี วัดโตไดจิ ขึ้นในกรุงนารา เป็นที่ประดิษฐานพระรูปพระมหาไวโรจนพุทธะ สูง ๕๓ ฟุตครึ่ง และในจังหวัดต่างๆ ทั้ง ๖๔ จังหวัดทั่วญี่ปุ่นก็มีวัดประจำแต่ละจังหวัดเรียกว่า โกกุบุนนจิ (วัดของราชการสำหรับภิกษุ) และ โกกุบุนนิจิ (วัดของราชการสำหรับภิกษุณี) มีพระพุทธรูปแห่งพระศากยมุนีพุทธประดิษฐาน ทุกแห่งสูง ๑๖ ฟุต การสร้างวัดเหล่านี้เป็นผลงานร่วมกันแห่งพระจักรพรรดิกับประชาชน และให้พระสงฆ์ที่อยู่ประจำในวัดเหล่านี้ได้ศึกษาเล่าเรียนพระสูตร พร้อมทั้งอบรมสั่งสอนให้การศึกษาแก่ประชาชน การบริหารประเทศชาติอาศัยพุทธธรรมเป็นเครื่องนำทาง วัฒนธรรมของชาติก็ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นอันมาก จนมีชื่อบัญญัติเรียกยุคนี้ไว้เป็นพิเศษว่า เตมเปียว แปลว่า มีสันติทั่วทั้งฟ้าและดิน

ต่อมา พระจักรพรรดิโชมุ มีพระประสงค์จะทรงศึกษาและปฏิบัติธรรมให้ยิ่งขึ้นไป จึงได้ทรงสละราชสมบัติ และให้พระราชธิดาพระองค์เดียวขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระจักรพรรดินีโกเกน เป็นมิกาโดพระองค์ที่ ๔๖ พระจักรพรรดินีได้ทรงเจริญรอยตามพระราชบิดา และต่อมาได้ออกผนวชเป็นพระภิกษุณี ให้พระจักรพรรดิจุนนินขึ้นครองราชย์แทน แต่พระจักรพรรดินีโกเกนผนวชอยู่ได้เพียงระยะเวลาหนึ่ง ก็ทรงลาเพศกลับขึ้นครองราชย์ใหม่ เป็นมิกาโดองค์ที่ ๔๘ ทรงพระนามใหม่ว่า พระจักรพรรดินีโชโตกุ พระนางได้ทรงพระดำริว่า ควรจะมีมนตรีที่เป็นพระภิกษุช่วยราชการอยู่ด้วย จึงได้ทรงสถาปนา พระภิกษุโดเกียว ขึ้นเป็น ดะโชไดจินเซนจิ แปลว่า พระภิกษุมุขมนตรี

ข้อที่พระจักรพรรดินีทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและส่งเสริมการปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่งนี้ ได้เป็นเหตุให้คนบาปจำนวนมากผู้มุ่งหวังเพียงชื่อเสียงและลาภสักการะ เข้าอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ชักนำความเสื่อมโทรมเข้ามาสู่วงการคณะสงฆ์และเศรษฐกิจของแผ่นดิน นับเป็นสาเหตุของความเสื่อมสลายแห่งนาราราชธานี และให้เกิดการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงการแผ่นดินใหม่ พร้อมทั้งการโยกย้ายราชธานีไปตั้ง ณ นครเกียวโต

ยุคเมืองเฮอันเป็นราชธานี

สมัยที่นาราเป็นเมืองหลวงนั้น พุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองมาก และเป็นครั้งแรกที่ได้มีการแบ่งแยกออกเป็นนิกายต่างๆ ราชการและประชาชนสร้างวัดไว้กลางใจเมือง ชีวิตพระสงฆ์ก็ใกล้ชิดเกี่ยวข้องกับฆราวาสมากยิ่งขึ้น เวลาผ่านไป พระสงฆ์ก็ยิ่งเข้าไปมีส่วนพัวพันกับกิจการบ้านเมืองและความเป็นอยู่ของชาวบ้านมากยิ่งขึ้น จนดูท่าทีจะครอบงำบงการราชการแผ่นดินเสียเอง ข้อนี้เป็นเหตุให้ชีวิตของพระสงฆ์เหินห่างจากธรรมปฏิบัติมากขึ้น และเป็นเหตุให้พระเจ้าจักรพรรดิทรงหาทางลิดรอนอำนาจของวัด ปลดเปลื้องพระองค์ให้พ้นจากอิทธิพลของพระสงฆ์

ฉะนั้น ในปี พ.ศ. ๑๓๓๗ พระจักรพรรดิกัมมุ มิกาโดพระองค์ที่ ๕๐ จึงได้โปรดให้ย้ายเมืองหลวงไปตั้ง ณ เมืองเฮอัน ซึ่งแปลว่า ราชธานีแห่งสันติ หรือที่เรียกในปัจจุบันว่า เกียวโต นครแห่งนี้ได้เป็นราชธานีของพระจักรพรรดิสืบมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๑๒ นับเป็นเวลาถึง ๑๐๗๕ ปี อีกนัยหนึ่งเรียกชื่อยุคนี้ว่า ยุคฟูจิวาระ ตามชื่อตระกูลขุนนางตระกูลใหญ่ตระกูลแรก ที่ได้เรืองอำนาจขึ้นหลังรัชกาลพระจักรพรรดิกัมมุ และได้ครอบงำการแผ่นดินทั้งปวง ทำให้พระจักรพรรดิเป็นดุจหุ่นที่ชักนำไปได้ตามความพอใจของตน

เมื่อพระจักรพรรดิย้ายราชธานีมาตั้ง ณ กรุงเฮอันหรือเกียวโตแล้ว พุทธศาสนาทั้ง ๖ นิกายสมัยกรุงนารา ก็ได้อับเฉา และเสื่อมลง เพราะไม่ได้รับความส่งเสริม ทั้งมีนิกายอื่นอันได้รับพระจักรพรรดิราชูปถัมภ์เกิดขึ้นแทนที่อีกด้วย

พระจักรพรรดิกัมมุ ได้ทรงประกาศพระโองการต่างๆ เร่งรัดให้พระสงฆ์ดำรงมั่นในศาสนศึกษา และสมณปฏิบัติ ทรงสร้างวัดใหม่หลายแห่ง แต่ได้โปรดให้ตรากฎหมายบังคับว่า ผู้ใดสร้างวัด จะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตเสียก่อน กับได้ทรงอาราธนาพระภิกษุผู้มั่นคงในการศึกษา และปฏิบัติธรรมอยู่ในป่าเขา ห่างไกลจากสังคม ให้มาอบรมสั่งสอนธรรมในเมืองหลวง แต่พระภิกษุสำคัญชั้นหัวหน้า ๒ รูปที่ได้รับอาราธนา พร้อมทั้งบรรดาศิษย์ หาได้เข้ามาอยู่ในตัวเมืองไม่ กลับไปตั้งสำนักอยู่บนภูเขาใกล้เมือง คือ ท่านไซโจ ตั้งสำนัก ณ ภูเขาฮิเออิ และ ท่านกุไก ตั้งสำนัก ณ ภูเขาโกยา ทั้งสองท่านได้รับพระจักรพรรดิราชูปถัมภ์ให้เดินทางไปประเทศจีนพร้อมกัน และต่างก็ได้ศึกษามิกเกียว หรือพระพุทธศาสนาแบบวิศิษฎคูฬหธรรมมาจากประเทศจีน แต่เมื่อกลับสู่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว ในภายหลังได้แบ่งแยกออกจากกัน ต่างตั้งพุทธศาสนาแบบใหม่ขึ้นท่านละนิกาย คือ

๑. นิกายเทนได ของท่าน ไซโจ ตั้งชื่อตามภูเขาเทียนไทในประเทศจีนที่ท่านไซโจไปศึกษาอยู่ นิกายนี้ได้ฟื้นฟูหลักธรรมเอกยานขึ้นแสดงใหม่ให้ชัดเจนและมีหลักฐานมั่นคงยิ่งขึ้น และท่านไซโจได้เป็นบุคคลแรกที่ทำให้พุทธศาสนามหายานในญี่ปุ่น มีอิสระในการจัดพิธีให้ศีลและอุปสมบท ไม่ต้องขึ้นต่อฝ่ายหินยานนิกายเดิมในนาราต่อไป

๒. นิกายชินงอน (คือ นิกายมันตระ แปลตามตัวว่า พระวจนะ ที่แท้) ของท่านกุไก หรือ โกโบไดชิ สั่งสอนแข่งขันกับนิกายเทนได ในเรื่องมิกเกียว หรือ วิศิษฎคูฬหธรรม ยึดคัมภีร์มหาไวโรจนสูตรเป็นหลัก และแสดงคำสอนที่ประสานเข้าได้กับลัทธิชินโต ถึงกับเปลี่ยนวัดชินโตมาเป็นวัดพุทธศาสนานิกายชินงอนได้หลายแห่ง สอนว่าพระไวโรจนพุทธะซึ่งเป็นที่เคารพสูงสุดของนิกายนี้ เป็นองค์เดียวกับพระสุริยเทวี (พระอะมะเตระสุ-โอมิกามิ) ของลัทธิชินโต หลักมิกเกียวทำให้นิกายนี้มีข้อกำหนดให้ประกอบพิธีกรรมหลายอย่างเป็นการเฉพาะในกลุ่มบุคคลที่มีองค์คุณตามเงื่อนไข เรื่องนี้เองได้เป็นสาเหตุสำคัญให้นิกายชินงอนต้องแยกย่อยสาขาออกไป จนมีจำนวนถึง ๗๐ สาขาในที่สุด หลักธรรมมิกเกียวนี้ได้เจริญรุ่งเรืองตลอดยุคเฮอัน เพราะทำตนให้สอดคล้องเป็นประโยชน์แก่กิจการของรัฐ แก่สังคมและปัจเจกชน และสนองความต้องการของมนุษย์ได้ ด้วยวิธียอมลดตนลงจากหลักคำสอนและการปฏิบัติดั้งเดิมที่ลึกซึ้ง กลายเป็นคำสอนแบบง่ายๆ ที่มีหลักสำคัญอยู่เพียงแค่การสวดอ้อนวอนขอผลประโยชน์ ตามวิธีการของผู้เชื่อถือในโชคเคราะห์ต่างๆ

ในทางราชการ ปรากฏว่าพระจักรพรรดิทั้งหลายรวมทั้งพวกตระกูลขุนนาง ได้มีความเลื่อมใสและส่งเสริมพระพุทธศาสนาอย่างมาก นับแต่พระจักรพรรดิพระองค์ที่ ๕๙ ถึงพระองค์ที่ ๗๗ เกือบทุกพระองค์ได้เคยอุปสมบทเป็นพระภิกษุ

เมื่อครั้งที่นาราเป็นราชธานีนั้น พระพุทธศาสนากับลัทธิชินโตเริ่มกลมกลืนเข้ากันได้บ้างแล้ว ครั้นถึงยุคกรุงเฮอันนี้ โดยเฉพาะนับแต่กลางยุคเป็นต้นมา ทั้งสองศาสนาก็ผสมผสานเข้ากันเป็นอย่างดี เทพเจ้าเก่าๆ ในลัทธิชินโตมีสร้อยพระนามเพิ่มขึ้นว่า เป็นพระโพธิสัตว์ และเรียกชื่อว่าเป็น “งองเง็น” ซึ่งแปลว่า “รูปกายชั่วคราว (ของพระพุทธเจ้า) ที่สำแดงพระองค์ในโลกนี้” ถือกันว่าพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ได้มาสำแดงพระองค์ในประเทศญี่ปุ่น โดยปรากฏรูปเป็นเทพเจ้าของญี่ปุ่น เพื่อช่วยนำประชาชนไปสู่อริยมรรค พระเทวีอะมะเตระสุ-โอมิ-กามิ ซึ่งถือว่าเป็นผู้สร้างประเทศญี่ปุ่น ก็พลอยถูกเชื่อว่าเป็นอวตารของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ไปด้วย แต่ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาทั้งสองนี้ ได้กลายเป็นความแตกแยกกันอีกครั้งหนึ่ง เพราะนโยบายการปกครองของประเทศในสมัยพระจักรพรรดิเมอิจิ ดังจะกล่าวต่อไป

มีข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่ง คือ ในสมัยที่ผ่านมาชาวญี่ปุ่นมีความนับถือในวัฒนธรรมจีน มองเห็นสิ่งต่างๆ ที่มาจากจีนว่าเป็นของดีน่านิยมยกย่อง และถือเป็นแบบอย่าง แต่ครั้นถึงกลางยุคเฮอันนี้ ญี่ปุ่นได้มองเห็นว่าตนสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองแล้ว จึงยกเลิกความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศจีน คงไว้แต่การติดต่ออย่างไม่เป็นทางการในด้านการศึกษาและการค้าบางส่วน และพระพุทธศาสนาในยุคนี้ ก็ได้พัฒนามาถึงขั้นเป็นพุทธศาสนาแบบของญี่ปุ่นเองแท้ๆ แล้วด้วย

ตอนนี้ ควรจะเล่าเหตุการณ์ฝ่ายบ้านเมืองประกอบไว้ด้วย เพราะเป็นส่วนสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ที่ทำให้การพระศาสนาเปลี่ยนแปลงไปต่างๆ ทั้งในทางเจริญและทางเสื่อม กล่าวคือ หลังจากรัชกาลพระจักรพรรดิกัมมุแล้ว อำนาจในการว่าราชการแผ่นดินได้ค่อยๆ ตกไปอยู่ในความบงการของตระกูลขุนนางใหญ่ที่ชื่อว่า ฟูจิวาระ จนหมดสิ้น พระจักรพรรดิทรงอำนาจแต่ในนาม เช่น พระจักรพรรดิอภิเษกกับกุลสตรีในตระกูลฟูจิวาระ พระโอรสก็จะได้รับการศึกษาอบรมในตระกูลฟูจิวาระ เมื่อพระจักรพรรดิทรงหาทางดึงอำนาจว่าราชการแผ่นดินกลับมา ก็จะทรงถูกบีบคั้นจากตระกูลฟูจิวาระให้สละราชสมบัติออกผนวชเสีย เมื่อพระโอรสขึ้นครองราชย์ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ เสนาบดีตระกูลฟูจิวาระก็จะดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ครั้นพระจักรพรรดิทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว ตระกูลฟูจิวาระก็จะเข้าดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีว่าราชการต่อไป หากพระจักรพรรดิหาทางดึงอำนาจกลับคืน ก็จะถูกบีบคั้นให้สละราชสมบัติอีก เป็นไปในทำนองนี้ ตลอดสมัยที่ตระกูลฟูจิวาระปกครองมีจักรพรรดิ ๑๕ พระองค์เป็นจักรพรรดิทรงพระเยาว์ ต้องมีผู้สำเร็จราชการรวม ๗ พระองค์ และพระจักรพรรดิที่ต้องสละราชสมบัติ ๘ พระองค์

บรรดาพระจักรพรรดิที่สละราชสมบัติออกผนวชนั้น หลายพระองค์ทรงหาทางยึดอำนาจกลับคืน หรือดำรงพระราชอำนาจบางส่วนไว้ทั้งที่ได้ออกผนวชแล้ว ข้อนี้เป็นเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้พระสงฆ์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบ้านเมืองมากขึ้น จนถึงในระยะปลายสมัยฟูจิวาระ วัดของนิกายเทนไดบนภูเขาฮิเออิมีกองทัพพระถืออาวุธไว้ป้องกันตนเอง และบางคราวก็ยกทัพลงมาในเมืองเกียวโต เพื่อข่มขู่ทางราชการด้วย สภาพของพุทธศาสนาจึงกลับคืนสู่สภาพที่คล้ายกับสมัยกรุงนาราตอนปลายอีกครั้งหนึ่ง

กล่าวโดยทั่วไป สมัยฟูจิวาระหรือเฮอันนี้เป็นยุคที่สงบสุข และเจริญก้าวหน้าในด้านวัฒนธรรม ศิลปวรรณคดี และพุทธศาสนาก็รุ่งเรือง แต่ผู้ปกครองใส่ใจเฉพาะการภายในเมืองหลวงและเมืองใหญ่ ละเลยกิจการในจังหวัดรอบนอกปล่อยให้หละหลวม การต่างๆ เป็นไปในทางชักจูงระบบการปกครองแบบทหารให้เกิดขึ้น และในปลายสมัยนี้ เมื่อพระจักรพรรดิกำลังพยายามดึงพระราชอำนาจคืนอยู่ ก็มีตระกูลขุนนางฝ่ายทหารสองตระกูลมาช่วยสนับสนุน เป็นเหตุให้ตระกูลฟูจิวาระสิ้นอำนาจลง แต่แล้วตระกูลขุนนางฝ่ายทหารทั้งสองนั้น คือ ตระกูลมินาโมโต กับ ตระกูลไทรา ก็รบพุ่งแย่งชิงอำนาจกันเอง เพื่อเป็นผู้ควบคุมราชการแผ่นดินต่อๆ มา

พระพุทธศาสนายุคกามากุระ

ในปี พ.ศ. ๑๗๒๘ ขุนพลชื่อ โยริโมโต แห่งตระกูล มินาโมโต ได้ชิงอำนาจจากตระกูลไทราได้สิ้นเชิง พอถึง พ.ศ. ๑๗๓๕ ก็ย้ายศูนย์บัญชาการงานแผ่นดินมายังเมืองกามากุระ ได้รับสถาปนาจากพระจักรพรรดิให้เป็น โชกุน ผู้มีอำนาจสิทธิขาดในการป้องกันและดูแลความสงบสุขของมหาอาณาจักรทั้งสิ้น โยริโมโตได้จัดการแผ่นดินอย่างทั่วถึง จัดให้มีตำแหน่งทหารและผู้ปกครองประจำทุกจังหวัด และจัดให้อยู่ภายในความควบคุมจากศูนย์กลางอย่างรัดกุม ทำให้การแผ่นดินเนื่องถึงกันหมด ให้เกิดความรู้สึกว่า ทุกส่วนเป็นดินแดนของมหาอาณาจักรญี่ปุ่นร่วมกัน แม้พระเจ้าจักรพรรดิจะยังคงอยู่ และประทับ ณ นครเกียวโตตามเดิม แต่อำนาจการปกครองทั้งปวง อยู่ในความบัญชาของตระกูลขุนพลที่กามากุระสิ้น

ในระยะที่มีการรบพุ่งแย่งชิงอำนาจกันนั้น เกียวโตและนาราถูกไฟเผาผลาญ วัดต่างๆ ถูกไฟไหม้ไปมาก รวมทั้งวัดใหญ่ๆ ที่สำคัญ เช่น วัดโตไดจิในนาราและโตจิในเกียวโตด้วย ประชาชนได้ประสบภาวะยุคเข็ญ โรคระบาด สงครามกลางเมือง ไฟที่เผาผลาญบ้านเมือง และความเสื่อมโทรมทางศีลธรรม แม้ในหมู่พระสงฆ์ก็มีกองทัพไว้ป้องกันตัว และเข้าไปพัวพันในการช่วงชิงอำนาจกับเขาด้วย

เฉพาะในฝ่ายพระสงฆ์ สภาวการณ์นี้สัมพันธ์กับสมัยเฮอัน คือเมื่อท่านไซโจตั้งนิกายเทนไดขึ้น ณ ภูเขาฮิเออินั้น ท่านได้ประกาศการประกอบพิธีรับศีล และอุปสมบทแบบมหายาน เป็นอิสระจากนิกายริตสุ หรือนิกายวินัยแห่งวัดโตไดจิ ก็แต่ศีลฝ่ายมหายานนี้ มีลักษณะยืดหยุ่นได้ ขึ้นต่อคุณธรรมในจิตใจ และการยับยั้งบังคับจิตใจตนเอง มิใช่ศีลตามแบบแผนที่รักษาสืบๆ กันมาเป็นประเพณี กล่าวคือ ผู้ปฏิบัติพึงตัดสินด้วยตนเองว่าจะปฏิบัติเคร่งครัด หรือผ่อนผันเพียงใด การรักษาศีลแบบนี้จึงเป็นไปได้ทั้งในทางที่เคร่งตึงจัด และในทางที่หย่อนยาน ครั้นเวลาล่วงมาถึงกลางยุคเฮอัน ความเข้าใจที่เป็นพื้นฐานในการรักษาศีลนี้ก็เลือนลางไป กลายเป็นเครื่องที่ยกมาอ้างสำหรับการประพฤติย่อหย่อนเสื่อมทราม ชีวิตพระสงฆ์จึงได้เหินห่างจากธรรมวินัยไปมาก

เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ทำให้ประชาชนคิดถึงคำทำนายในคัมภีร์ว่า เมื่อสิ้นยุคสัทธรรมลางเลือน ซึ่งยังคงมีปฏิบัติธรรมได้ แต่ไม่มีปฏิเวธธรรม อันเป็นยุคที่ ๒ แล้วก็จะถึงยุคสุดท้าย คือ ยุคสัทธรรมอันตรธาน ซึ่งสัทธรรมเหลือแต่ชื่อ และจะสูญไปเมื่อสิ้นยุค ประชาชนคิดว่ายุคสุดท้ายนี้กำลังมาถึงแล้ว เหตุการณ์บ้านเมืองและกระแสความคิดเหล่านี้เป็นเหตุให้เกิดพุทธศาสนาแบบต่างๆ ขึ้นในยุคกามากุระอีก เป็นส่วนฟื้นฟูและปรับปรุง สมกับลักษณะเหตุการณ์และจิตใจของผู้คนในยุคนั้นรวม ๓ นิกาย คือ นิกายสุขาวดี (โจโด) นิกายเซน และ นิกายนิจิเรน

๑. นิกายสุขาวดี ที่จริง แนวความคิดเรื่องแดนสุขาวดีของพระอมิตาภพุทธเจ้านั้น ปรากฏรูปร่างให้เห็นแล้วตั้งแต่สมัยพุทธศาสนาเริ่มเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น เช่น ในคำสอนของเจ้าชายโชโตกุ และในสมัยนาราก็ปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้นจนเป็นหลักความเชื่ออย่างหนึ่งต่างหาก และขยายตัวมากขึ้นเรื่อยมาตลอดสมัยเฮอัน จะเห็นได้ว่าปราชญ์ทั้งหลายในนิกายซานรอนก็ดี ฮอสโซก็ดี เทนไดก็ดี และนิกายอื่นๆ ก็ดี ล้วนปรารถนาไปเกิดในแดนสุขาวดี สวรรค์ทิศตะวันตกของพระอมิตาภพุทธเจ้าทั้งนั้น เพราะแนวคิดเรื่องนี้ปรากฏอยู่แล้วในคัมภีร์ โฮเกเกียว คือ สัทธรรมปุณฑริกสูตร ซึ่งได้นำเข้ามาในญี่ปุ่นแต่ยุคต้นแรกมีพุทธศาสนาในญี่ปุ่น และเป็นคัมภีร์ที่เจ้าชายโชโตกุทรงเลื่อมใสมาก แต่เท่าที่เป็นมาทั้งหมด ไม่ได้ทำให้เกิดข้อปฏิบัติจำเพาะขึ้นมาถึงเป็นนิกายอันใดอันหนึ่ง

ครั้นถึงสมัยกามากุระนี้ ท่าน โฮเนน จึงได้ตั้งนิกาย โจโด ขึ้น ท่านโฮเนนได้ศึกษา ณ ภูเขาฮิเออิอันเป็นศูนย์กลางของนิกายเทนได และที่หลายสำนักในนครนารา แต่มิได้รับความพอใจ เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาในใจได้หมดสิ้น วันหนึ่งในปี พ.ศ. ๑๗๑๘ โฮเนนอายุได้ ๔๒ ปี เมื่ออ่านคัมภีร์อรรถกถาแห่งอมิตายุรธยานสูตร ได้พบข้อความตอนหนึ่งว่า “หากบุคคลนึกถึงและออกพระนามพระอมิตาภพุทธเจ้าโดยมิต้องคำนึงถึงอากัปกิริยาและกาลเวลาแล้ว ถ้าปฏิบัติได้สม่ำเสมอ ย่อมเรียกได้ว่าเป็นสัมมากัมมันตะ เพราะต้องด้วยปฏิญญาแห่งพระอมิตาภพุทธเจ้า”

โฮเนนเห็นปลอดโปร่งว่า ข้อความนี้แก้ปัญหาได้สิ้นทุกอย่าง และได้ละเลิกข้อปฏิบัติอย่างอื่นทั้งหมด กระทำแต่เนมบุตสุ (คำญี่ปุ่น = นโมพุทฺธสฺส) เพียงอย่างเดียว แล้วลงจากภูเขาฮิเออิ สร้างอาศรมที่โยชิมิสุในเกียวโต เริ่มเผยแพร่คำสอนนิกายโจโดนี้ และได้รับความนิยมนับถืออย่างรวดเร็ว แต่พร้อมกันนั้น ก็ถูกคัดค้านขัดขวางอย่างรุนแรงจากรอบด้าน เพราะคำสอนนี้อาจให้เกิดความเข้าใจผิดไปถึงว่า ใครก็ตามแม้ทำบาปอย่างมากมาย เมื่อกระทำเนมบุตสุ คือ ออกพระนามพระอมิตาภพุทธเจ้าเสมอแล้ว ก็จะได้รับพระมหากรุณาให้ไปสู่สวรรค์แดนสุขาวดีเพื่อบรรลุสัจธรรม ณ ที่นั้นได้ ในที่สุด โฮเนนถูกเนรเทศไปอยู่ในถิ่นห่างไกลเป็นเวลาสี่ปี จึงได้รับอนุญาตให้กลับมา และได้ถึงแก่มรณภาพที่โอตานิเมื่ออายุ ๗๙ ปี สานุศิษย์ได้สร้างวัดอุทิศให้ ณ ที่มรณภาพของท่าน ชื่อวัดชิโอนิน ในเกียวโต เป็นศูนย์กลางของนิกายโจโดสืบมา

เมื่อท่านโฮเนนถึงมรณภาพแล้ว ศิษย์ผู้ใหญ่หลายท่านได้ประกาศคำสอนแตกต่างกันออกไป จนเกิดเป็นนิกายย่อย ๆ เพิ่มขึ้นอีก แต่ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะนิกายย่อยที่สำคัญที่สุด ซึ่งได้ขยายตัวออกไปจนเป็นนิกายสำคัญอีกนิกายหนึ่งต่างหาก นิกายนี้คือ นิกายโจโดชิน (แปลว่า นิกายสุขาวดีที่แท้จริง) หรือที่นิยมเรียกกันว่า นิกายชิน ซึ่งท่าน ชินแรน เป็นผู้ตั้ง

ท่านชินแรนศึกษานิกายเทนได ณ ภูเขาฮิเออิ แล้วมาอยู่กับท่านโฮเนน ๖ ปี แล้วถูกเนรเทศไปอยู่ที่เอชิโง และใช้ชีวิตบั้นปลายเมื่อพ้นเนรเทศแล้วที่เมืองเกียวโต นับแต่ถูกเนรเทศเป็นต้นมา ท่านชินแรนได้ยึดคติธรรมของท่านว่า “ฮิโซ ฮิโซกุ” แปลว่า “ไม่มีพระ ไม่มีฆราวาส” ท่านเองก็มีครอบครัว และบุตรหลานได้เป็นผู้สืบคำสอนทำการเผยแพร่ต่อมาด้วย ท่านสอนว่า การกระทำของมนุษย์ทางไตรทวาร ถึงจะดีเพียงใด ทำด้วยความพากเพียรเพียงใด ก็ยังไม่พ้นจากความแปดเปื้อนด้วยกิเลส ไม่อาจนำมาซึ่งโพธิได้ จำต้องอาศัยพลังแห่งพระมหากรุณาธิคุณของพระอมิตาภพุทธเจ้าเป็นเครื่องบันดาล ศาสนิกจึงต้องมีศรัทธาเชื่อมั่นในพระองค์เป็นข้อสำคัญที่สุด และเป็นสิ่งเดียวที่จะช่วยให้หลุดพ้นได้ พระในนิกายนี้มีครอบครัวได้ ฉันเนื้อสัตว์ได้ และดำเนินชีวิตอย่างฆราวาสท่ามกลางสังคม

ณ ที่ฝังศพของท่านชินแรน ต่อมาได้เกิดมีวัดชื่อว่า “ฮองอันจิ” เป็นศูนย์กลางของนิกายชิน และวัดนี้เอง ต่อมาก็ถูกแบ่งออกตามนโยบายของรัฐบาลกลายเป็น ๒ วัด ชื่อ ฮิงะชิ-ฮองอันจิ (ฮองอันจิตะวันออก) และ นิชิ-ฮองอันจิ (ฮองอันจิตะวันตก) เป็นศูนย์กลางแห่งสาขาใหญ่ทั้งสองของนิกายชินสมัยต่อมา

นิกายย่อยที่ขอกล่าวถึงสักเล็กน้อย คือ นิกายจิ ที่ตั้งโดย ท่านอิปเปน (พ.ศ. ๑๗๘๒ – ๑๘๓๒) ซึ่งเป็นรุ่นศิษย์ของศิษย์ของท่านโฮเนน สอนว่า การกล่าวเนมบุตสุนั้น ย่อมทำให้ไม่มีความรู้สึกว่า “เรา” ว่า “เขา” เกิดขึ้น และแสดงออกซึ่งความรู้สึกเป็นบรมสุขทางจิตด้วยการฟ้อนรำ จึงเรียกว่า นิกายยุเงียวฮา หรือ ยุยะกุ-เนมบุตสุ (เนมบุตสุฟ้อนรำ) และที่เรียกว่า นิกายจิ (แปลว่า กาลนิกาย) ก็เพราะสอนว่าในเวลากล่าวเนมบุตสุนั้น ให้ทำใจว่าทุกๆ ขณะเป็นเวลาที่จะละทิ้งชีวิตนี้ไป นิกายนี้มีวัดโชโจโกจิ ณ ฟูจิซาวา ใกล้กามากุระ เป็นศูนย์กลาง

นิกายสุขาวดีทั้งหลายนี้ มีที่เคารพคือพระอมิตาภพุทธเจ้าและท่านผู้ตั้งนิกายสาขานั้นๆ สามัญชนส่วนมากนิยมนับถือนิกายนี้ เพราะมีข้อปฏิบัติที่ทำตามได้ง่าย

๒. นิกายเซน หรือ ธฺยาน เกิดขึ้นจากความคิดที่จะฟื้นฟูพระศาสนา ปรับปรุงความประพฤติปฏิบัติให้กลับคืนสู่สภาพเดิมอย่างในสมัยพุทธกาล มุ่งปลุกพุทธภาวะอันมีอยู่แล้วในบุคคลทุกคนให้ฟื้นขึ้น ในบรรดาท่านที่พากเพียรเพื่อการนี้สามารถแบ่งได้เป็น ๒ พวก คือ พวกหนึ่งมุ่งต่อต้านศีลแบบมหายานแห่งภูเขาฮิเออิที่ตนเห็นว่าได้เสื่อมโทรมลงแล้ว และอีกพวกหนึ่งหาวิธีปรับปรุงชีวิตพระสงฆ์ ให้เป็นของศักดิ์สิทธิ์น่าเคารพขึ้น ด้วยข้อปฏิบัติและคำสอนของพุทธศาสนานิกายฉานหรือเซนที่นำมาจากประเทศจีน ท่านเหล่านี้ บางท่านก็มีความเชื่อในคำสอนเรื่องแดนสุขาวดี บางท่านเป็นผู้ต่อต้านนิกายโจโดอย่างรุนแรง ในที่นี้ จะกล่าวถึงบุคคลสำคัญในนิกายนี้เพียง ๒ ท่าน คือ

ท่านโยไซ (พ.ศ. ๑๖๘๔ – ๑๗๕๘) ได้ศึกษานิกายเทนไดและมิกเกียวที่ภูเขาฮิเออิ และได้เดินทางไปประเทศจีน นำเอานิกายรินไซเซนมาเผยแพร่ ท่านได้สอนเซนไปพร้อมๆ กับมิกเกียวและเทนไดด้วย ท่านได้สร้างวัดของนิกายนี้ที่เกาะกิวชิว ที่กามากุระ และที่เกียวโต วัดที่เกียวโตชื่อ เกนนินจิ ได้เป็นศูนย์กลางของนิกาย รินไซเซน สาขาเกนนินจิสืบมา

ท่านโดเงน (พ.ศ. ๑๗๔๓ – ๑๗๙๖) ได้ศึกษา ณ ภูเขาฮิเออิเช่นกัน เคยพบกับท่านโยไซ และต่อมาได้เดินทางไปประเทศจีนศึกษานิกายเซน กลับมาอยู่ที่วัดเกนนินจิ และตอนท้ายได้ตั้งวัด เออิเฮอิจิ ซึ่งปัจจุบันเป็นศูนย์กลางของนิกาย โซโตเซน

นิกายเซนได้เจริญแพร่หลาย มีปราชญ์สั่งสอนต่อมามาก บางท่านได้รับสถาปนาจากพระจักรพรรดิเป็นโกกุชิ ซึ่งแปลว่า พระอาจารย์แห่งแว่นแคว้น หลายท่านได้ไปศึกษาในประเทศจีน และพระสงฆ์จีนที่เดินทางเข้ามาช่วยสั่งสอนก็มีตำแหน่งเกียรติยศที่พระจักรพรรดิพระราชทานแก่พระนิกายเซน เรียกว่า “เซนจิ” เกิดขึ้น ปราชญ์ในนิกายเซนเหล่านี้ได้นำเอาศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ของจีน เข้ามาในญี่ปุ่นหลายอย่าง เช่น วรรณคดีจีน การคัดลายมืออย่างจีน การจัดดอกไม้ พิธีน้ำชา การวาดภาพด้วยหมึกดำ เป็นต้น ซึ่งได้แพร่หลายไปพร้อมๆ กับนิกายเซน

นิกายเซนเคารพบูชาพระศากยมุนีพุทธเจ้าพร้อมทั้งปราชญ์ผู้ตั้งและผู้เป็นอาจารย์ต่อๆ มาในสายแห่งนิกายของตน มีคำสอนว่า ทุกคนและทุกสิ่งมีธาตุแห่งพุทธะ หรือพุทธภาวะแฝงอยู่ในตนแล้ว การที่จะบรรลุถึงโพธิจึงต้องอาศัยการเกิดญาณบรรลุแจ่มแจ้งฉับพลันขึ้นในตนเอง ด้วยวิธีการอย่างใดก็ได้ สุดแต่อาจารย์จะใช้ตามที่เห็นเหมาะเป็นการถ่ายทอดโพธิโดยตรง ไม่ต้องอาศัยคัมภีร์ ในระบบการศึกษาอบรมสอนให้ปฏิบัติเข้มงวดในด้านระเบียบวินัยทางกาย และการฝึกอบรมจิตใจด้วยฌานหรือธยาน อันเป็นที่มาแห่งชื่อของนิกายนี้ เพราะเหตุที่สอนให้ดำรงชีวิตอย่างง่ายๆ แต่เป็นผู้เพ่งพินิจและฝึกอบรมทั้งกายและจิตใจให้มีระเบียบวินัยเช่นนี้ นิกายเซนจึงแพร่หลาย และเป็นข้อปฏิบัติที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูงตลอดถึงพระเจ้าจักรพรรดิ โดยเฉพาะในหมู่นักรบหรือพวกซามูไรนั้นนับถือเป็นพิเศษ และคำสอนกับข้อปฏิบัติในนิกายนี้ ก็ได้เป็นที่มาอย่างสำคัญของลัทธิบูชิโด รวมทั้งยูโด และเกนโด การจัดสวนญี่ปุ่น และละครที่เรียกว่า “โน” เป็นต้น

๓. นิกายนิจิเรน ท่านนิจิเรน (พ.ศ. ๑๗๖๕ – ๑๘๒๕) ผู้ตั้งนิกายนี้ ได้ศึกษาที่กามากุระแล้วเดินทางไปภูเขาฮิเออิ นารา และภูเขาโกยา ท่านได้เริ่มประกาศคำสอนแก่ประชาชนที่เมืองกามากุระ โดยการประณามนิกายอื่นๆ อย่างรุนแรง เช่น ว่าการกล่าวเนมบุตสุ (ของนิกายสุขาวดี) เป็นทางไปสู่นรก เซนไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า แต่เป็นคำสอนของเทวดา มาร และ อสุรกาย ชินงอนเป็นเพียงกองแห่งพิธีกรรมเหลวไหลที่จะนำประเทศชาติไปสู่หายนะ นิกายริตสุ (นิกายวินัย) ไม่ช่วยให้ประชาชนมีการศึกษาและเป็นผู้มีคุณประโยชน์แก่รัฐได้เลย มีแต่จะทำให้ประชาชนกลายเป็นผู้ทรยศ นำความเสื่อมมาให้แก่ประเทศชาติ พึงเคารพในคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตรเพียงอย่างเดียว พึงเพ่งพินิจในวาทะว่า “นะมุเมียว โฮเรงเงเกียว” (นโม สทฺธมฺมปุณฺฑรีกสุตฺตสฺส) เมื่อกล่าวคำนี้ออกมาพร้อมด้วยความตระหนักใจว่า ตนเองมีพุทธภาวะอยู่ในตัว ก็จะกำจัดสักกายทิฏฐิอันเป็นอุปสรรคแล้วบรรลุซึ่งโพธิได้

การที่ท่านนิจิเรนโจมตีนิกายอื่นอย่างเผ็ดร้อนรุนแรงนี้ เป็นเหตุให้ท่านถูกเนรเทศไปอยู่อิซูและเกาะซาโด แต่ท่านหาหยุดยั้งไม่ กลับทำความพากเพียรเผยแพร่คำสอนมากยิ่งขึ้น เมื่อพ้นการเนรเทศแล้ว ก็มาสร้างวัดกุออนจิ อยู่ ณ ภูเขามิโนบุ ทำเป็นศูนย์กลางนิกาย คำสอนของท่านแพร่ไปทั่วญี่ปุ่น โดยเฉพาะในหมู่สามัญชน

นิกายนิจิเรนมีวัตถุเคารพบูชา คือ “มอนจิ-มันดาระ” (มณฑลแห่งอักษร) และรูปปราชญ์ผู้ตั้งนิกายกับอาจารย์ในภายหลังแห่งสำนักของตนๆ

พระพุทธศาสนาในยุคต่อๆ มา

การปกครองของโชกุนในยุคกามากุระนั้น มิใช่จะราบรื่นดีนัก เมื่อเวลาผ่านไปไม่นานนัก อำนาจก็ตกไปอยู่ในกำมือของผู้สำเร็จราชการ และโชกุนก็กลายเป็นเพียงหุ่นเชิด เช่นกับที่พระจักรพรรดิเคยเป็นมาแล้ว และในตอนท้ายเมื่อความเสื่อมโทรมของราชการมีมากขึ้น ทั้งถูกภัยธรรมชาติคือข้าวยากหมากแพงเข้าซ้ำเติม ประชาชนก็ลดความนิยมนับถือในผู้บริหารการแผ่นดินที่กามากุระ ในที่สุดพระจักรพรรดิที่เกียวโตก็ทรงขัดแย้งกับระบบโชกุนที่กามากุระ เกิดการรบพุ่งกันอย่างรุนแรง แล้วระบบโชกุนที่กามากุระก็ถูกกำจัดลง อำนาจกลับคืนไปอยู่กับพระจักรพรรดิตามเดิม

แต่อยู่มาไม่นาน ก็มีขุนพลชื่อ อะชิกางะ ประกาศตนเป็นโชกุนขึ้นที่เกียวโตใน พ.ศ. ๑๘๗๘ พระจักรพรรดิหนีไปยึดเอาตำบลโยชิโนเป็นเมืองหลวง ฝ่ายโชกุนก็ประกาศตั้งจักรพรรดิองค์ใหม่ขึ้นที่เกียวโต กลายเป็นจักรพรรดิ ๒ พระองค์ ครองวังหลวงใต้ (ที่โยชิโน) และวังหลวงเหนือ (ที่เกียวโต) ตามลำดับ ราชการทั้ง ๒ แห่งนี้ ต่างก็ใช้กิจการทางศาสนาให้เป็นประโยชน์แก่ตน จึงชักนำให้พระสงฆ์และวัดวาอารามต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการบ้านเมืองและการสงคราม แยกตนไม่ออก เหตุการณ์เป็นเช่นนี้อยู่ถึง ๕๖ ปี วังหลวงใต้ที่โยชิโนจึงสิ้นอำนาจ คงมีจักรพรรดิแต่พระองค์เดียวที่เกียวโตตามเดิม

นับแต่อะชิกางะประกาศตนเป็นโชกุนแล้ว ก็นับว่าเป็นการเริ่มต้นยุคใหม่ เรียกว่า ยุคอะชิกางะ เป็นยุคที่โชกุนบริหารราชการอยู่ที่เกียวโต ในระยะประมาณ ๑๕๐ ปีแรกที่โชกุนตระกูลนี้ ยังคงดำรงอำนาจบริหารการแผ่นดินด้วยดี พุทธศาสนานิกายเซนได้เจริญแพร่หลายเป็นอันมาก พระเซนเดินทางไปมาระหว่างจีนและญี่ปุ่น โชกุนก็สร้างวัดวาอารามเพิ่มขึ้น ศิลปวรรณคดีรุ่งเรืองอย่างไม่เคยมีมาก่อน ละครที่เรียกว่า “โน” ได้มีขึ้น นักวาดภาพฝีมือเยี่ยมเกิดขึ้น พิธีน้ำชาและการจัดดอกไม้ได้รับความนิยมแพร่หลายในหมู่ประชาชน พระเซนศึกษาเชี่ยวชาญไม่เฉพาะคำสอนในนิกายเซนเท่านั้น แต่รวมถึงวรรณคดีจีนและลัทธิขงจื้อด้วย บรรยากาศในวัดก็ร่มรื่นเยือกเย็นด้วยวิธีการจัดสวนญี่ปุ่น วัดเซนกลายเป็นศูนย์กลางแห่งวัฒนธรรมของชาติ ในขณะเดียวกัน นิกายชิน และนิจิเรน ก็เผยแพร่คำสอนของตนกว้างขวางออกไปทั่วประเทศญี่ปุ่น

แต่แล้ว ต่อมาอำนาจของโชกุนก็เสื่อมลง ข้าราชการผู้ใดมีความสามารถหาพรรคพวกได้มา ก็ตั้งตนขึ้นเป็นใหญ่เป็นผู้พิทักษ์ของโชกุน ครอบงำโชกุนไว้ในอำนาจ และบริหารการแผ่นดินตามชอบใจตน นอกเมืองหลวงออกไปพวกขุนศึกก็ตั้งตนเป็นอิสระขึ้นในจังหวัดต่างๆ คนไหนมีกำลังและสามารถในการรบ ก็แผ่ขยายอำนาจออกไปยึดครองพื้นที่กว้างขวางขึ้น วัดต่างๆ ก็ต้องตั้งกองทัพขึ้นรักษาตนเองโดยเฉพาะ พระนิกายชินที่มีครอบครัวได้ก็มีการสืบทอดตำแหน่งและทรัพย์สมบัติทางสายโลหิต มีความเป็นอยู่แบบขุนนางศักดินา ระยะนี้เป็นระยะเวลาแห่งการรบพุ่งหาความสงบมิได้ จนในที่สุดขุนนางคนหนึ่งในต่างจังหวัดชื่อ โนบุนางะ พร้อมด้วยผู้ช่วยชื่อ ฮิเดโยชิ ได้แผ่อำนาจยึดครองจังหวัดต่างๆ แล้วยกทัพเข้ายึดครองเกียวโตได้ ญี่ปุ่นจึงเริ่มรวมเข้าได้โดยมีศูนย์กลางการปกครองแห่งเดียวอีกครั้งหนึ่ง

ในระยะเดียวกันนี้ ชาวตะวันตกชาติแรก คือ โปรตุเกส พร้อมทั้งนักสอนศาสนาคริสต์นิกายเยซูอิตก็เข้ามาถึงญี่ปุ่น และได้รับการต้อนรับอย่างดี โนบุนางะได้สนับสนุนและคุ้มครองนักสอนศาสนาเหล่านี้ คริสต์ศาสนาจึงเผยแพร่กว้างขวางออกไปโดยรวดเร็ว ส่วนในด้านพุทธศาสนา พระเคยเข้ากับฝ่ายตรงข้ามของโนบุนางะ เมื่อโนบุนางะปราบฝ่ายตรงข้ามได้แล้ว ก็ยกทัพบุกภูเขาฮิเออิ ได้ฆ่าฟันพระล้มตายไปมาก และเผาวัดเสียประมาณ ๓,๐๐๐ วัด แต่ที่โอซากามีวัดที่เข้มแข็งแห่งหนึ่ง ซึ่งโนบุนางะล้อมอยู่นานก็ไม่สามารถเข้ายึดได้ จนต้องให้พระจักรพรรดิเป็นสื่อสงบศึกทั้งสองฝ่าย

เมื่อสิ้นโนบุนางะแล้ว ฮิเดโยชิ ได้สืบทอดอำนาจต่อมา และปราบปรามผู้แข็งอำนาจต่างๆ ได้จนหมดสิ้น ตอนแรกๆ ฮิเดโยชิไม่รู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อคริสต์ศาสนา แต่ต่อมาเขาได้ระแวงในพฤติการณ์ต่าง ๆ ว่านักบวชเหล่านี้จะเป็นสื่อสำหรับให้ชาวตะวันตกเข้ายึดครองญี่ปุ่น เขาจึงเริ่มกำจัดและบีบคั้นนักสอนศาสนาเหล่านี้ ต่อมาชาวสเปนได้มาถึงญี่ปุ่นพร้อมด้วยนักสอนศาสนาคริสต์นิกายฟรานซิสกัน นักบวชโปรตุเกสกับสเปนได้ขัดแย้งวิวาทกัน ฟ้องร้องต่อมหาจักรพรรดิ ครั้งหนึ่งมีนายเรือสเปนคนหนึ่งต้องการให้ชาวญี่ปุ่นยำเกรงอำนาจแห่งประเทศของตน จึงพูดว่า “พระมหากษัตริย์คาทอลิคทรงส่งพระคุณเจ้าเหล่านี้มาเผยแพร่พระศาสนา เพื่อเปลี่ยนศาสนาชาวเมืองเสียก่อน แล้วจึงจะร่วมมือกับนายทัพของพระมหากษัตริย์เจ้า ช่วยให้ยึดครองแผ่นดินได้โดยง่ายในภายหลัง”

คำกล่าวนี้ เพิ่มความระแวงสงสัยแก่ฮิเดโยชิมากขึ้น จึงทำการกำจัดและกวาดล้างนักสอนศาสนา พร้อมทั้งคนที่เปลี่ยนไปนับถือคริสต์เป็นการใหญ่ยิ่งขึ้น แต่การนี้ยังไม่ถึงที่สุด ก็พอดีฮิเดโยชิสิ้นบุญเสียก่อน

เมื่อฮิเดโยชิสิ้นบุญนั้น มีการรบระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีและจีนค้างอยู่ อิเยยะสุ ซึ่งขึ้นครองอำนาจต่อมา ได้ทำการสงบศึก และใน พ.ศ. ๒๑๓๓ ได้ย้ายศูนย์บริหารการแผ่นดินไปอยู่ที่เมือง เยโด (ต่อมาเมื่อพระจักรพรรดิย้ายมาประทับในปี พ.ศ. ๒๔๑๒ แล้ว เรียกชื่อใหม่ว่า โตเกียว แปลว่า ราชธานีตะวันออก และบางทีเรียกเกียวโตว่า ไซเกียว แปลว่า ราชธานีตะวันตก) นับเป็นการเริ่มยุคใหม่ เรียกว่า ยุคโตกุงาวะ ระยะนี้ ชนชาติฮอลันดาและอังกฤษได้เริ่มเข้ามาติดต่อค้าขาย แต่ชาวอังกฤษมาดำเนินกิจการอยู่เพียง ๑๐ ปี ก็เลิกล้มกิจการไป คงเหลือแต่ฮอลันดา ในตอนเริ่มครองอำนาจ อิเยยะสุไม่มีความรังเกียจในคริสต์ศาสนา แต่ต่อมาได้คิดเห็นว่า คณะสอนศาสนาของสเปนและโปรตุเกส เป็นกลไกทางการเมืองที่เป็นอันตราย ชาวอังกฤษคนหนึ่งได้อธิบายให้อิเยยะสุทราบความแตกต่างระหว่างโปรเตสแตนท์กับโรมันคาทอลิค และเล่าถึงการที่ประเทศโปรเตสแตนท์ในยุโรปขับไล่นักบวชคาทอลิคออกจากประเทศ นอกจากนี้ นักบวชเยซูอิตของโปรตุเกสก็พยายามใส่ความนักบวชฟรานซิสกันของสเปน และขอให้รัฐบาลญี่ปุ่นขับไล่พวกฟรานซิสกันออกจากประเทศ ฝ่ายพวกสเปนก็แนะนำให้ขับไล่ชาวฮอลันดาออกไป ในที่สุดอิเยยะสุก็เริ่มทำการกำจัดนักบวชและศาสนิกแห่งคริสต์ศาสนาอย่างรุนแรง มีการประหารชีวิตและให้สละศาสนาเป็นต้น อิเยยะสุสนับสนุนการติดต่อกับตะวันตกในด้านการค้า แต่ไม่สนับสนุนในด้านกิจการของนักสอนศาสนา

เมื่อสิ้นบุญอิเยยะสุ ในปี ๒๑๕๙ แล้ว ผู้สืบตำแหน่งโชกุนต่อๆ มา ได้ดำเนินการกำจัดศาสนาคริสต์ถึงขั้นสุดท้าย โดยประกาศห้ามชาวญี่ปุ่นนับถือศาสนาคริสต์หรือติดต่อกับนักสอนศาสนา กำหนดโทษเผาทั้งเป็น และริบทรัพย์สมบัติ

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๑๖๗ ก็ออกคำสั่งขับชาวสเปนออกจากประเทศทั้งหมด ต่อมาอีก ๑๒ ปี ได้ห้ามชาวญี่ปุ่นออกไปต่างประเทศและห้ามสร้างเรือขนาดใหญ่พอที่ข้ามสมุทรได้ จากนั้นก็ตัดการติดต่อกับโปรตุเกส จนในที่สุดญี่ปุ่นก็ตัดขาดจากโลกภายนอกอยู่อย่างโดดเดี่ยว จะมีชาวต่างประเทศบ้างก็เฉพาะชาวฮอลันดาจำนวนเล็กน้อยที่ถูกจำกัดที่อยู่ และดำเนินกิจการภายในเงื่อนไขที่กำหนดให้

ด้านภายใน พระจักรพรรดิทรงมีกองทัพของโชกุนจัดไว้พิทักษ์อย่างกวดขัน ไม่ปรากฏพระองค์ให้ใครเห็น และคนเข้าเฝ้าไม่ได้ เว้นแต่ข้าราชสำนักชั้นสูง ทรงมีหน้าที่เพียงเป็นสื่อกลางระหว่างบรรพบุรุษในสวรรค์กับไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ไม่ทรงมีส่วนในการปกครองประเทศ และมีกฎหมายตอนหนึ่งบัญญัติว่า ถ้าพระจักรพรรดิทรงเขลาไปติดต่อกับศัตรูของโชกุน ให้โชกุนถอดพระองค์และตั้งผู้อื่นขึ้นเป็นพระจักรพรรดิแทนได้ นอกจากนั้น โชกุนได้ตั้งตำแหน่งไดเมียวหรือขุนศึกขึ้นไว้ทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นเครื่องถ่วงอำนาจกันและกัน และบัญญัติให้ไดเมียวต้องมาเมืองเยโดปีละ ๑ ครั้ง เพื่อดำรงอำนาจของรัฐบาลกลางให้คงอยู่

ในด้านพุทธศาสนา เมื่อรัฐบาลโชกุนกำจัดชาวคริสต์นั้น ก็ได้บังคับให้ประชาชนมีสังกัดเป็นดันกา หรือทายกของวัดใดวัดหนึ่งในพุทธศาสนา และให้จัดการเรื่องการเกิด แต่งงาน การตาย และพิธีศพที่วัดนั้น ในเวลาเดียวกัน ก็ได้ดำเนินการลิดรอนอำนาจของวัด ให้อยู่ในความควบคุมของรัฐบาลด้วยวิธีการต่างๆ เช่น แยกอำนาจของนิกายแต่ละนิกายออกไป ให้มีศูนย์กลางหรือสำนักงานใหญ่แยกเป็น ๒ แห่ง ที่เยโดแห่งหนึ่ง และเกียวโตแห่งหนึ่ง อาทิ นิกายชินก็ให้มี วัดฮิกาชิ ฮองอันจิ ขึ้นแข่งกับ นิชิ ฮองอันจิ เป็นต้น วัดได้กลายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งสำหรับโชกุน ที่จะใช้ประโยชน์ในการปกครองบ้านเมือง ยุคนี้จึงเป็นยุคหยุดชะงักของกิจการศาสนา พระสงฆ์ก็พอใจหยุดนิ่งอยู่ในความคุ้มครองและความปลอดภัยที่ได้จากรัฐ จะสนใจศึกษาค้นคว้าธรรมก็เฉพาะในเรื่องนิกายของตน และเป็นครูสอนเขียนอ่านและคิดเลขให้แก่เด็กชาวบ้านชาวตลาดที่วัด กับสอนหลักศีลธรรมทั่วๆ ไป เช่น ความขยัน การประหยัด เป็นต้น ประชาชนทั่วไปแสวงหาความสุขตามโลกียวิสัยและสนใจแต่เรื่องการค้าขาย วัดก็ปล่อยให้ความเชื่อถือในเรื่องเหลวไหลเกิดมีขึ้น เพียงเพื่อชักคนเข้าวัด และหาผลประโยชน์ ลัทธิขงจื้อซึ่งพระเซนนำเข้ามา ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นแทนที่พุทธศาสนา เพราะลัทธินี้มีประโยชน์ในการช่วยรักษารูปสังคมสมัยนั้นไว้ จึงได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลเป็นอย่างดี

ในสมัยนี้มีนิกายเซนเกิดขึ้นใหม่สาขาหนึ่ง คือ สาขาโอบากุ ซึ่งท่านอิงเงนนำเข้ามา เป็นนิกายที่นำเอาเนมบุตสุมาใช้ด้วย และดำเนินงานสงเคราะห์คนยากจนและขาดแคลน กับได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับโอบากุสำเร็จในปี พ.ศ. ๒๒๒๔

ในปี พ.ศ. ๒๓๙๖ นายพลอเมริกันชื่อเปอรี ได้นำกองเรือมาสำแดงอานุภาพแก่ชาวญี่ปุ่น เป็นเหตุให้โชกุนต้องเลิกนโยบายอยู่โดดเดี่ยว และเริ่มยุคใหม่แห่งการติดต่อกับชาวต่างประเทศ เหตุแวดล้อมต่างๆ ทำให้ประชาชนเสื่อมความนิยมในโชกุน และมีความรู้สึกว่า สภาพเหตุการณ์ควรแก่การมีศูนย์ร่วมอำนาจแห่งเดียวซึ่งควรจะได้แก่พระจักรพรรดิ ในที่สุด โชกุน ขุนศึก และซามูไรทั้งหลายก็ยอมสละตำแหน่งและอำนาจถวายแก่พระจักรพรรดิ เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ เป็นการสิ้นยุคโชกุน และขึ้นยุคใหม่สมัยพระจักรพรรดิเมอิจิ เรียกว่ายุคเมอิจิ และย้ายเมืองหลวงสู่เยโด เรียกชื่อใหม่ว่าโตเกียว แต่นั้นมาญี่ปุ่นก็ได้ปรับปรุงกิจการทุกด้านของประเทศ ให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมประเทศตะวันตก

พระพุทธศาสนา ซึ่งได้หยุดชะงักความเจริญก้าวหน้าเสมือนเป็นอัมพาตเรื่อยมาตลอดยุคโตกุงาวะ เพราะเหตุนโยบายการปกครองของประเทศบีบคั้นโดยอ้อม ไม่ให้พระสงฆ์มีความคิดริเริ่มใดๆ นั้น ครั้นถึงยุคเมอิจิสภาพการณ์ก็ยิ่งเสื่อมทรุดลง บ้านเมืองหันไปเชิดชูลัทธิชินโต เพราะลัทธิชินโตสอนยกย่องพระจักรพรรดิ ให้เป็นอวตารของเทพเจ้า เป็นปูชนียบุคคลของประชาชน นับเป็นคำสอนที่เป็นประโยชน์แก่การปกครอง ลัทธิชินโตจึงได้แตกแยกกับพุทธศาสนา พิธีกรรม ความเชื่อถือและวัตถุที่เคารพในพุทธศาสนาถูกยกเลิกหมดไปจากราชสำนักของพระจักรพรรดิ ห้ามตั้งนิกายใหม่ ห้ามสร้างวัดเพิ่มขึ้นอีก เกิดมีนโยบายล้มล้างพุทธศาสนาขึ้น ศาสนาคริสต์เริ่มเผยแพร่ออกได้อีก พร้อมกับการต้อนรับวัฒนธรรมตะวันตก

อนึ่ง เมื่อพุทธศาสนาชะงักความเจริญอยู่ ครั้นถึงยุคเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ก็ตื่นตัวไม่ทัน การศึกษาสมัยใหม่ในฝ่ายประชาชนได้เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว พระสงฆ์ซึ่งสมัยหนึ่งเคยเป็นผู้นำประชาชนทางการศึกษา ทำหน้าที่เป็นครู อาจารย์ ในทุกด้าน ก็ถูกทอดทิ้งให้ล้าหลัง มิได้รับฐานะและความเคารพนับถือมากเท่าสมัยเดิม พวกปัญญาชนในเมืองใหญ่ไม่เคยมาใกล้วัด จะเข้าวัดก็ต่อเมื่อมีพิธีศพ น้อยคนนักจะมาฟังเทศนาเพื่อแก้ปัญหาชีวิต

ครั้นการศึกษาสมัยใหม่เจริญมากขึ้น พุทธศาสนาก็ถูกยกขึ้นมาศึกษาในแง่วิชาการ และวัฒนธรรม ในฐานะเป็นปรัชญาตะวันออก นักศึกษาที่ไปเรียนต่อในยุโรป นำเอาความรู้วิชาภาษาบาลีและสันสกฤตเข้ามาพร้อมกับวิชาการอื่นๆ พระสงฆ์จึงเริ่มงานการศึกษาและวิจัยอย่างกว้างขวาง ตามวิธีการสมัยใหม่ แสวงหาตำรับตำราและคัมภีร์พุทธศาสนาภาษาต่างๆ มาไว้พร้อมบริบูรณ์ แต่งานค้นคว้าวิจัยเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ในขอบเขตเป็นการศึกษาเพื่อความรอบรู้ เพื่อความเป็นนักปราชญ์และในแง่วิชาการเท่านั้น พระสงฆ์นิกายต่างๆ ยังคงทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์อย่างโบราณ ทำการสาธยายพระสูตรตามแบบนิกายของตน และจัดพิธีกรรมประจำปีสำหรับประชาชนที่มาชุมชนในงานประเพณี ชาวญี่ปุ่นยังรอด้วยความหวังว่า เมื่อใดจักถึงเวลาที่มีผู้สามารถนำเอาพุทธศาสนาก้าวออกมาสู่ฐานะอันเป็นที่ยอมรับในอารยธรรมสมัยใหม่อีกครั้งหนึ่ง

สภาพปัจจุบัน

ฐานะของพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่นปัจจุบัน อาจมองเห็นได้จากตัวเลขสถิติเปรียบเทียบกับศาสนาอื่นๆ กล่าวคือ ในจำนวนประชาชนญี่ปุ่นจำนวน ๙๗,๑๘๖,๐๐๐ คน ใน พ.ศ. ๒๕๐๗ มีสถิติทางศาสนาของกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่น ดังนี้

ศาสนา จำนวนศาสนิก จำนวนพระ
หรือนักบวช
วัด/โบสถ์/
ศาสนสถาน
ชินโต ๗๙,๖๘๙,๐๐๐ ๒๐๕,๘๑๒ ๗๙,๗๑๕
พุทธ ๗๓,๗๕๗,๐๐๐ ๙๕๑,๔๖๖ ๗๖,๕๓๖
คริสต์ ๗๕๒,๐๐๐ ๑๖,๘๖๒ ๓,๑๕๔
ศาสนาอื่นๆ ๕,๓๔๓,๐๐๐ ๑๘,๒๒๐ ๖๗๐

 

พึงสังเกตว่า ตัวเลขชาวพุทธกับชินโตนั้นมักจะซ้ำบุคคลกัน คือบุคคลเดียวนับถือสองศาสนา อีกประการหนึ่ง ถ้าเทียบกับสถิติใน พ.ศ. ๒๕๐๖ ตัวเลขศาสนิกชินโตลดลงจาก ๘๐ ล้านมาเป็น ๗๙ ล้าน ของพุทธเพิ่มจาก ๖๙ ล้านมาเป็น ๗๓ ล้าน ของคริสต์เพิ่มจาก ๗๑๒,๐๐๐ เป็น ๗๕๒,๐๐๐ คน ศาสนาอื่นๆ คงเดิม

ในจำนวนพุทธศาสนิกชน ๗๓ ล้านคนเศษนั้น แบ่งออกได้เป็นหลายนิกาย และชาวญี่ปุ่นเป็นนักคิดก้าวหน้า ชอบตั้งนิกายใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเสมอ เมื่อสมัยเมอิจิ ญี่ปุ่นมีนิกายใหญ่ ๑๓ นิกาย กับนิกายสาขาอีก ๕๖ สาขา ตัวเลขนี้คงที่ตลอดสมัยเมอิจิ เพราะถูกบีบรัดด้วยนโยบายของประเทศ ครั้นถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ รัฐบาลมีนโยบายรวบอำนาจ ตัวเลขยิ่งลดลงเหลือ ๑๓ นิกาย ๒๘ สาขา หลังสงครามแล้วกิจการทางศาสนาเป็นอิสระ จึงเริ่มเกิดนิกายต่างๆ แยกออกไปเป็นอันมาก นิกายที่แยกสาขามากที่สุด คือ นิจิเรน ชินงอน เทนได และ โจโด สาเหตุการแตกแยกในสมัยหลังๆ นี้ ส่วนมากเป็นเรื่องการเงิน หาใช่เรื่องหลักธรรมในนิกายไม่

ตามสถิติของกระทรวงศึกษาธิการ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ มีกลุ่มชาวพุทธทั้งที่เป็นนิกาย สาขา และสาขาย่อยๆ ต่างๆ รวมทั้งหมด ๒๓๔ หน่วย ในที่นี้จะแสดงเฉพาะที่สำคัญๆ คือ

 

อนุนิกาย
สำคัญ
วัดใหญ่ วัดสาขา พระสงฆ์ ศาสนิก
ก. นิกายเกิดยุคกรุงนารา
๑. ฮอนโซ ๔๓ ๓๐ ๖๗๔ ๕๒,๔๘๐
๒. เคงอน ๕๑ ๒๓ ๕๑๒ ๕๓,๘๐๐
๓. ริตสุ ๒๓ ๑๔ ๔๗ ๓๓,๒๐๔
ข. นิกายเกิดยุคกรุงเฮอัน
๑. เทนได ๔,๐๘๑ ๕๓๑ ๕,๘๕๔ ๗๘๐,๐๙๑
๒. ชินงอน ๑๑,๓๙๙ ๒,๖๑๙ ๑๖,๗๐๒ ๓,๐๓๒,๗๔๓
ค. นิกายเกิดสมัยกามากุระ
๑. โจโด ๕,๘๑๖ ๓๓๕ ๗,๒๕๗ ๓,๕๔๒,๘๖๒
๒. ชิน (โจโดชิน) ๑๐ ๒๑,๘๕๙ ๗๐๘ ๓๔,๐๓๘ ๑๔,๓๐๗,๓๘๔
๓. จิ ๔๒๔ ๕๙๐ ๔๓,๗๙๙
๔. ยุซุเนมบุตสุ ๓๕๔ ๓๑ ๖๐,๐๐๐
๕. รินไซ (เซน) ๕,๐๒๘ ๑๘ ๕,๑๒๗ ๒,๓๖๒,๔๖๖
๖. โซโต (เซน) ๑๔,๙๑๔ ๑๕,๘๓๖ ๖,๗๕๘,๘๑๘
๗. นิจิเรน ๕,๗๔๑ ๖๗๖ ๗,๕๗๗ ๒,๒๘๐,๑๘๖
ง. นิกายเกิดสมัยโตกุงาวะ
๑. โอบากุ (เซน) ๕๔๗ ๗๑๒ ๑๑๑,๖๐๔

 

นอกจากนี้ ยังมีสาขาที่ไม่จัดเข้าในตัวเลขข้างบนอีกเป็นจำนวนมาก เช่น นิกายนิจิเรนยังมีวัดใหญ่ วัดสาขาอีกเกิน ๑๐๐ แห่ง และมีศาสนิกที่ขึ้นต่อวัดเหล่านั้นอีกจำนวนเกินล้านคน เมื่อรวมรายใหญ่และปลีกย่อยด้วยกันทั้งหมดแล้ว จึงได้ตัวเลขนิกายและสาขา รวม ๒๓๔ หน่วย และศาสนิกเกือบ ๘๐ ล้านคน ดังกล่าวแล้วข้างต้น

ในระยะหลังๆ นี้ ได้มีนักการศาสนามากท่าน พยายามเชื่อมประสานพุทธศาสนานิกายต่างๆ เข้าด้วยกัน มีการประชุมองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกครั้งที่ ๒ ที่โตเกียว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ จากนั้นในญี่ปุ่นเอง ก็เกิดการเคลื่อนไหวในด้านนี้เป็นอันมาก เช่น เกิดพุทธศาสนิกสมาพันธ์สากลฝ่ายญี่ปุ่น (Japan Chapter of the World Federation of Buddhists) ยุวพุทธศาสนิกสมาพันธ์แห่งญี่ปุ่น (AIl-Japan Young Buddhists Federation) และสันนิบาตพุทธสตรีสมาคมแห่งญี่ปุ่น (League of the All-Japan Buddhist Women’s Associations)

องค์การสื่อสัมพันธ์ระหว่างชาวพุทธที่ใหม่สุด เห็นจะได้แก่พุทธศาสนิกสมาพันธ์แห่งญี่ปุ่น (Japan Buddhist Federation) ซึ่งท่าน ไตโอะ ซาซากิ ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๐๐ มีสำนักงานอยู่ที่วัดซุกิจิ ฮองวันจิ ในนครโตเกียว มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดในบรรดานิกายและกลุ่มชาวพุทธทั้งปวงในญี่ปุ่น และวางแผนการผนึกกำลังชาวพุทธในการดำเนินการเพื่อความก้าวหน้า แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างชาติ และเสริมสร้างสันติสุขของชาวโลก ด้วยอาศัยหลักอิสรภาพตามแนวพุทธศาสนา ออกนิตยสารรายเดือนชื่อ เซน-บุตสุ-นิวส์ สถิติพิมพ์ ๑๐,๐๐๐ ฉบับ ปัจจุบันมีผู้เข้าสังกัดแล้ว ๕๗ นิกาย พุทธสมาคมประจำมณฑล ๓๔ แห่ง กับกลุ่มและสมาคมพุทธศาสนาอื่นๆ ๒๐ หน่วย ตามสถิติที่องค์การนี้จัดทำไว้ใน พ.ศ. ๒๕๑๑ ว่าปัจจุบันญี่ปุ่นมีพุทธศาสนิกชน ๘๐ ล้านคน มีพระภิกษุ ๑๘๐,๐๐๐ รูป ภิกษุณี ๕,๐๐๐ รูป วัดและโบสถ์ ๘๐,๐๐๐ แห่ง มีพุทธศาสนสถานในต่างประเทศ คือ

  1. ในสหรัฐ ๗๐ แห่ง
  2. ในบราซิล ๓๐ แห่ง
  3. ในแคนาดา ๑๐ แห่ง
  4. ในอินเดีย ๖ แห่ง
  5. ในเยอรมนี ๑ แห่ง

กิจการทางพุทธศาสนา ที่เด่นและรุดหน้าที่สุดของญี่ปุ่น เห็นจะได้แก่การศึกษานิกายต่างๆ ได้มีมหาวิทยาลัยของตนเอง พร้อมทั้งวิทยาลัย โรงเรียนประถม ตลอดจนโรงเรียนอนุบาลเป็นอันมาก

ปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ๗๓ แห่ง มหาวิทยาลัยประชาภิบาล ๓๕ แห่ง และมหาวิทยาลัยเอกชน ๒๐๙ แห่ง มีนักศึกษา ๙๓๗,๖๐๐ คน ในจำนวนนี้ มีมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาซึ่งจัดเข้าในประเภทมหาวิทยาลัยเอกชน คือ

ชื่อมหาวิทยาลัย ที่ตั้ง นิกายเจ้าของ จำนวน
คณะ
จำนวน
นักศึกษา
ประเภท
๑. โกมาซาวา โตเกียว โซโตเซน ๗,๐๐๐ สหศึกษา
๒. โตโย กึ่งพุทธ ๑๐,๐๐๐
๓. ไตโช โจโด, ชินงอน
เทนได
๑,๕๐๐
๔. ริชโช นิจิเรน ๗,๐๐๐
๕. มุสะชิโน ชิน (ยังไม่ทราบ) สตรี
๖. ชุชิอิน เกียวโต ชินงอน ๕๐ สหศึกษา
๗. บุกเกียว โจโด ๑,๐๐๐
๘. ริวโกกุ ชิน ๗,๐๐๐
๙. สตรีแห่งเกียวโต ๒,๗๕๔ สตรี
๑๐. โอตานี ๑,๘๐๐ สหศึกษา
๑๑. ฮานาโซโน รินไซเซน ๔๕๐
๑๒. ไอชิงะกุอิน นาโกยา โซโตเซน (ยังไม่ทราบ)
๑๓. โดโฮ ชิน (ยังไม่ทราบ)
๑๔. สตรีโอตานี โอซากา (ยังไม่ทราบ) สตรี
๑๕. สตรีโซไอ (ยังไม่ทราบ)
๑๖. โกยาซัน โกยาซัน ชินงอน (ยังไม่ทราบ)

 

ในมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาเหล่านี้มีส่วนที่ขาดไม่ได้คือ คณะหรือแผนกวิชาพุทธศาสนา เฉพาะใน ๑๐ มหาวิทยาลัยที่ให้ตัวเลขไว้ข้างบนนั้น มีตัวเลขนักศึกษาในคณะหรือแผนกวิชาพุทธศาสนารวมอยู่ด้วยประมาณ ๔,๒๔๐ คน ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนมากเป็นพระและนักบวช

ในจำนวน ๑๖ มหาวิทยาลัยนี้ มหาวิทยาลัยที่เป็นสหศึกษา มักมีนักศึกษาเป็นชายมากกว่าหญิง คือมีหญิงเพียงราว ๑๐-๒๐% และมหาวิทยาลัยที่มีคณะเดียวควรเรียกว่าเป็นวิทยาลัยมากกว่ามหาวิทยาลัย และวิทยาลัยเหล่านี้ มักมีบัณฑิตวิทยาลัย มีจูเนียร์คอลเลจ ไฮสคูล มิดเดิลสคูล ตลอดจนโรงเรียนประถมศึกษาของตนเอง ตามตัวเลขของ Japan Buddhist Federation มีสถาบันขั้นบัณฑิตวิทยาลัยของชาวพุทธ ๗ แห่ง วิทยาลัยนอกจากที่เขียนไว้ข้างบนอีก ๓๓ แห่ง ไฮสคูล ๑๐๘ แห่ง โรงเรียนฝึกอบรมยุวพุทธ ๑๖ แห่ง ส่วนโรงเรียนประถม และมัธยมต้นอื่นๆ ไม่ได้แสดงตัวเลขไว้ ซึ่งคงมีมากพอสมควร

ในด้านความเป็นอยู่ของพระสงฆ์นั้น แต่เดิมมา เว้นนิกายชินเสียแล้ว พระนิกายอื่นๆ ล้วนประพฤติพรหมจรรย์ปราศจากครอบครัวทั้งสิ้น แต่นับจากยุคเมอิจิเป็นต้นมา ความเป็นอยู่ของพระสงฆ์เปลี่ยนแปลงไป เพราะรัฐไม่อุ้มชูเหมือนแต่ก่อน ครั้นถึงสมัยปัจจุบันจึงปรากฏว่าพระส่วนมากมีครอบครัวได้ จะมีถือพรหมจรรย์อยู่เฉพาะพระชั้นเจ้าอาวาสและชั้นอาจารย์ผู้ฝึกอบรมในนิกายเทนได ชินงอน และเซนเท่านั้น ยิ่งกว่านั้น ตำแหน่งของพระยังสืบทอดเป็นมรดกแก่บุตรคนโต หรือคนรองๆ ได้ด้วย เว้นแต่ในนิกายชินงอนและเซน ซึ่งจะมอบตำแหน่งให้แก่ศิษย์คนใดคนหนึ่งที่อาจารย์เห็นเหมาะสม

โซกะ งักไก

เมื่อพูดถึงพุทธศาสนาในญี่ปุ่นยุคปัจจุบัน ถ้าไม่กล่าวถึง โซกะ งักไก เสียแล้ว ก็ดูจะขาดความสมบูรณ์ไป เพราะ โซกะ งักไก เป็นบทบาทสำคัญของพุทธศาสนาในญี่ปุ่น ซึ่งมีท่าทีว่าจะเป็นผู้กำหนดอนาคตของพุทธศาสนาในญี่ปุ่น และอาจจะถึงกับกำหนดอนาคตของชาติญี่ปุ่นต่อไปก็ได้

ขอย้อนไปกล่าวถึงประวัติของพุทธศาสนานิกายนิจิเรนสักเล็กน้อย เมื่อท่านนิจิเรนตั้งนิกายชื่อนี้ขึ้นในยุคกามากุระนั้น ญี่ปุ่นกำลังวุ่นวายด้วยสงครามกลางเมือง และพระสงฆ์เองก็มีกองทัพของตนไว้ป้องกันรักษาวัด ท่านนิจิเรนซึ่งรับการศึกษามาอย่างดี เป็นปราชญ์สำคัญรู้ธรรมลึกซึ้งท่านหนึ่ง แต่คิดค้นหาทางที่จะให้คนทั้งหลาย แม้ที่เขลาที่สุดเข้าถึงแก่นแท้ของพุทธศาสนาได้ด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด จึงได้นำเอาวิธีการที่ตนคิดค้นได้ คือ “นะมุ เมียวโฮ เรงเง เกียว” ออกเผยแพร่ในหมู่ประชาชน ว่าเป็นวิธีเดียวที่จะช่วยมนุษย์ให้หลุดพ้นได้ ทั้งได้ประณามนิกายอื่นๆ ทั้งปวง ว่าเป็นคำสอนที่ผิดพลาดนอกรีตนอกรอย นำมาซึ่งหายนะ กล่าวโจมตีและประณามอย่างเผ็ดร้อนรุนแรง และเสนอต่อรัฐบาลขอให้เลิกนับถือนิกายอื่นๆ เสียทั้งหมด แล้วหันมานับถือคำสอนอย่างเดียวกันอันถูกต้อง คือ นิกายที่ท่านตั้งขึ้นใหม่ เพื่อสันติสุขของประเทศชาติ คราวนั้นท่านนิจิเรนถูกรัฐบาลตัดสินประหารชีวิต แต่พอดีขณะจะทำการประหารได้เกิดมีอุกกาบาตลูกใหญ่ปรากฏในท้องฟ้า ทำให้เพชฌฆาตตกใจหนีไป จึงได้รับเพลาโทษลงเป็นการถูกปล่อยเกาะ เมื่อพ้นโทษแล้วท่านยังได้ประสบเหตุการณ์ร้าย คือ สาวกในนิกายของตนถูกบีบบังคับกำจัดอีก จึงได้เขียน ไดโงฮอนซอน ขึ้นเป็นอักษรจีน เขียนเป็นแผนภาพแสดงสากลจักรวาล จัดลำดับพระพุทธเจ้าทุกพระองค์เป็นวงล้อมรอบแผ่ขยายออกไปโดยลำดับจากพระองค์ที่เป็นศูนย์กลาง คือพระเจ้าแห่งคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตรซึ่งสถิตเป็นประธาน แผนภาพอักษรนี้จารึกอยู่ในม้วนคัมภีร์พร้อมด้วยคำว่า “นะมุ เมียวโฮ เรงเง เกียว” มอนชิมันดาระ คือ มณฑลแห่งอักษรนี้ได้เป็นวัตถุที่เคารพของนิกายนิจิเรน แทนวัตถุเคารพอื่นๆ ทั้งปวงสืบมา และท่านนิจิเรนยังได้ทำนายไว้ด้วยว่า ในกาลข้างหน้า คนญี่ปุ่นทั้งประเทศ และชาวโลกทั้งโลกจักรับนับถือคำสอนของท่านเป็นทางรอดพ้นสืบไป

เมื่อท่านนิจิเรนถึงมรณภาพแล้ว ศิษย์ได้แยกกันออกไป ตั้งเป็นนิกายย่อย ๆ เพิ่มขึ้น มีศิษย์ท่านหนึ่งชื่อ นิกโก ได้ไปสร้างวัดอยู่ ณ เชิงเขาฟูจิ ชื่อ วัดไตเซกิ และเรียกชื่อนิกายของตนว่า นิจิเรนโชชุ แปลว่า นิจิเรนที่แท้

นิกายนิจิเรนได้อับเฉาตลอดยุคโตกุงาวะ ครั้นถึงสมัยเมอิจิ จึงได้กลับแพร่หลายมากขึ้นในหมู่คนยากจน ครั้นถึง พ.ศ.๒๔๗๓ ได้มีครูใหญ่โรงเรียนประถมคนหนึ่ง ชื่อ นายสุเนสะ บุโร มะกิงุจิ ตั้งสมาคมชื่อ “โซกะ เกียว อิกุ งักไก” ขึ้น แปลว่า “สมาคมการศึกษาสร้างสรรค์คุณค่า” มีวัตถุประสงค์ทำงานค้นคว้าวิจัยทางการศึกษา แต่ในปีต่อมา นายมะกิงุจิ ได้เข้านับถือนิกายนิจิเรนโชชุ จึงได้เริ่มกิจการทางศาสนาขึ้นในสมาคมของตน จำนวนสมาชิกได้เพิ่มขึ้นโดยรวดเร็ว ใน พ.ศ. ๒๔๘๐ มีผู้ร่วมพิธีเพียง ๖๐ คน แต่ใน พ.ศ. ๒๔๘๔ มีสมาชิกถึง ๓,๐๐๐ คน พอดีเกิดสงครามโลก รัฐบาลจึงขอร้องให้นายมะกิงุจิรวมตัวเข้ากับนิกายอื่นๆ ที่ยอมรับลัทธิชินโต และสนับสนุนการทำสงครามตามนโยบายสร้างวงไพบูลย์แห่งอาเซีย รัฐบาลขอให้ทุกบ้านมี กามิดานะ คือ หิ้งบูชาเทพเจ้าแห่งลัทธิชินโตไว้ประจำ และให้ถือลัทธิชินโตเป็นศาสนาราชการของจักรวรรดิญี่ปุ่น นายมะกิงุจิได้ปฏิเสธไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล จึงถูกจับขังคุกพร้อมกับศิษย์ ๒๒ คน ตัวนายมะกิงุจิเอง ได้เป็นโรคขาดอาหารถึงแก่กรรมระหว่างคุมขัง เมื่อสิ้นหัวหน้า ศิษย์หลายคนก็ได้ยอมสละทิ้งความเชื่อถือ และได้รับการปลดปล่อย แต่นายโจเซ อิโตดะ ศิษย์คนสนิทที่สุดของมะกิงุจิไม่ยอมเลิกล้มความเชื่อถือและได้รับการปลดปล่อยใน พ.ศ. ๒๔๘๘

เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลงแล้ว ฐานะของพระจักพรรดิก็เปลี่ยนไป มีประกาศของพระจักรพรรดิว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างพระจักรพรรดิกับประชาชน มิใช่การถือตามระบบความคิดที่ผิดว่า พระจักรพรรดิเป็นเทพเจ้า” ครั้นแล้วลัทธิชินโตก็เสื่อม พุทธศาสนิกนิกายอื่นๆ ก็อับเฉา เพราะมีมลทินในข้อที่ร่วมสนับสนุนการทำสงคราม

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ นายโตดะซึ่งพ้นโทษแล้วได้รวมพวกตั้งสมาคมขึ้นใหม่ ชื่อ “โซกะ งักไก” แปลว่า “สมาคมสร้างสรรค์คุณค่า” และนำเอาพิธีนำคนเข้านิกายที่เรียกว่า “ชากุบุกุ” ของท่านนิจิเรนมาใช้ จำนวนสมาชิกได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ มีสมาชิก ๗๕๐,๐๐๐ คน เมื่อนายโตดะถึงแก่กรรมใน พ.ศ. ๒๕๐๑ แล้ว นายไดสะกุ อิเกดะ ได้เป็นประธานสมาคมคนที่ ๓ สืบมา เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๐๙ สมาคมนี้ได้แสดงจำนวนศาสนิกในนิกายของตนว่ามีสมาชิกทั้งหมด ๖,๑๐๐,๐๐๐ ครอบครัว นับเป็นจำนวนบุคคลได้เกินกว่า ๑๕ ล้านคน หรือประมาณ ๑๕% ของจำนวนประชากรญี่ปุ่นทั้งหมด และในจำนวนนี้มีคนหนุ่มสาวประมาณ ๓ ล้านคน เป็นคนหนุ่มสาวที่มีบทบาทอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ คน

การที่จำนวนศาสนิกผู้สังกัดองค์การนี้เพิ่มขึ้นโดยรวดเร็วอย่างยิ่งนั้น น่าจะเป็นด้วยมีหลักคำสอนที่ปฏิบัติได้โดยง่ายอย่างหนึ่ง และรู้จักใช้วิธีการอันฉลาดแนบเนียนในการเผยแพร่อีกอย่างหนึ่ง กล่าวคือ หลักคำสอนของนิกายนี้ มิใช่สิ่งที่จะพึงต้องทำความเข้าใจด้วยการพินิจเหตุผลหรือศึกษาค้นคว้าด้วยสติปัญญาอันลึกซึ้งแต่ประการใด เพียงแต่มีศรัทธามั่นคงในไดโงฮอนซอน และกล่าวคำนมัสการว่า นะมุ เมียวโฮ เรงเง เกียว ด้วยจิตเชื่อมั่นแน่วแน่เพียงอย่างเดียว

ในฝ่ายวิธีการเผยแผ่นั้น นิกายนิจิเรนสาขานี้ประกาศว่า จุดมุ่งหมายของตนได้แก่ โกเซน-รุฟุ คือความหลุดพ้นของมนุษยชาติ และการสร้างสังคมอันสงบสุขให้เกิดขึ้น ด้วยอาศัยการเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่แท้จริง จะช่วยเหลือคนมีทุกข์ทั่วโลก และนำสันติมาสู่มวลมนุษย์ เมื่อผู้ใดเข้ามาร่วมศรัทธาในไดโงฮอนซอน ผู้นั้นก็จะพ้นจากความยากจน ถ้าตกงานก็มีงานทำ ถ้าชีวิตครอบครัวระส่ำระสาย ก็จะกลายเป็นราบรื่น หากมีโรคภัย ก็จะกลับฟื้นหาย จะพ้นทุกข์ประสบความสุขแท้จริง ศิษย์ของนิกาย (คือสมาคม) นี้ จะคอยแสวงหาสมาชิกมาเข้าสังกัดใหม่ คอยสงเคราะห์ชักนำคนตามครอบครัวที่มีคนตายใหม่ ๆ คนที่มีความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ หรือเวลามีภัยธรรมชาติ ด้วยวิธีการนี้ นิกายนี้จึงแพร่หลายไปรวดเร็ว โดยเฉพาะในหมู่ประชาชนที่มีฐานะค่อนข้างยากจน และคนชั้นกลาง พวกเจ้าของร้านค้าย่อย กรรมกร ลูกจ้าง ซึ่งองค์การอื่นๆ เหลียวแลไม่ค่อยถึง

วิธีนำคนเข้าสู่นิกายนิจิเรนสาขานี้ เรียกว่า ชากุบุกุ แปลง่ายๆ ว่า “ทำลายแล้วครอบครอง” หมายความว่าทำให้มองเห็นข้อผิดพลาดในหลักคำสอนที่นับถืออยู่เก่า แล้วทำลายความเชื่อในคำสอนนั้นเสีย เปลี่ยนมารับนับถือนิกายนิจิเรนแทน ในทางปฏิบัติ ศิษย์นิกายนี้มักมีอารมณ์เชื่อมั่นรุนแรง จนถึงกลายเป็นการบังคับ และใช้กำลังกาย เช่น ทำลายแท่นบูชาในศาสนาเดิมของผู้เข้านิกาย เป็นต้น ถึงกับประธานสมาคมต้องออกประกาศว่า ชากุบุกุ มิใช่การบีบบังคับ เพราะการเข้านับถือศาสนาจะเกิดขึ้นด้วยการใช้กำลังบังคับหาได้ไม่ แต่ ชากุบุกุ หมายถึงการทำลายอกุศลธรรมในดวงจิต ด้วยอาศัยพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธองค์ วิธีเข้านิกายที่ทำตามปกติก็คือ ทำลายรูปเคารพในศาสนาหรือนิกายเดิมของตน ละทิ้งเทพเจ้าเก่าๆ ที่ตนนับถือ แล้วไปเข้าพิธีในวัดใกล้ๆ ประมาณ ๒๕ นาที พร้อมทั้งรับมอบ โงฮอนซอน (คือ มอนชิมันดาระ) มาตั้งบูชาที่บ้านของตน สวดบูชา สัทธรรมปุณฑริกสูตร (คือ นะมุ เมียวโฮ เรงเง เกียว) ทุกวัน เช้า ๕ ครั้ง ค่ำ ๓ ครั้ง

การบริหารขององค์การหรือสมาคมนี้ ไม่ใช่วิธีเลือกตั้ง แต่ใช้วิธีแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ ยึดเอาศรัทธาและความเข้าใจซึ้งในหลักของนิกายเป็นหลักพิจารณาคุณสมบัติ สมาชิกรวมกันได้เป็นอันหนึ่งอันเดียว มีแนวความคิดเห็นเป็นอย่างเดียวกัน ไม่มีการโต้แย้ง บุคคลเป็นเพียงส่วนประกอบของส่วนรวม การกระทำของหมู่เป็นสิ่งสำคัญ บุคคลมีความหมายเพียงช่วยร่วมให้เกิดการกระทำของหมู่ หมู่จะผนึกกำลังกันได้เข้มแข็งมั่นคง ด้วยมีศรัทธาเป็นฐานและเป็นจุดศูนย์รวม “ตราบใดศรัทธายังคงอยู่ โซกาก็จะคงอยู่ตลอดไป”

วิธีรวมกำลังส่วนใหญ่ของนิกายนี้ อาศัยระบบการบริหารของนิกายทั่วประเทศ ซึ่งชาวตะวันตกบางคนเรียกว่าเป็นการสร้างรัฐซ้อนขึ้นในรัฐ กล่าวคือ ศาสนิกนิกายนี้ประมาณ ๒๐-๓๐ ครอบครัว รวมกันเป็นกลุ่มเรียกว่า Squad กลุ่มอย่างนี้ ๖ กลุ่มรวมกันเป็นหมวดเรียกว่า Company ๑๐ คัมปะนีรวมกันเป็นย่านหนึ่งเรียกว่า District หลายดิสตริครวมกันเป็นภาคหนึ่ง เรียกว่า Regional Chapter ในปี ๒๕๐๙ ทั่วญี่ปุ่นมีภาคอย่างนี้ ๑,๗๘๙ ภาค หน่วยย่อยเหล่านี้ มีการประชุมกันเป็นประจำเพื่อเล่าและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางศาสนาซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งเตรียมการชากุบุกุสำหรับสมาชิกใหม่ ในด้านกิจกรรมสำหรับเยาวชนได้จัดให้มีการสอนธรรมภาคฤดูร้อน แจกตำราเกี่ยวกับหลักธรรมของนิจิเรน และจัดการสอบประจำปี เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๘ มีสมาชิกเข้าสอบ ๒ ล้านคน เมื่อสอบได้ ก็ได้รับคุณวุฒิตามลำดับชั้น นอกจากนี้ ยังจัดให้มีกิจกรรมด้านกีฬาและวัฒนธรรมอย่างอื่นๆ เช่น มีวงดนตรีของตน เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้ประกอบด้วยระเบียบวินัยเป็นอย่างดี

ความสำคัญของพระพุทธศาสนานิกายนิจิเรนสาขานี้อีกอย่างหนึ่งก็คือ ปัจจุบัน โซกะ งักไก กำลังมีบทบาทสำคัญอย่างมากในทางการเมืองของญี่ปุ่น กล่าวคือ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๗ ได้มีพรรคการเมืองเกิดขึ้นพรรคหนึ่งชื่อ พรรคโกเมอิโต ซึ่งแปลว่า พรรควิสุทธิรัฐ กล่าวได้ว่า พรรคการเมืองนี้เป็นของโซกะ งักไก นายฮิโรชิ โฮโจ เลขาธิการพรรคนี้เป็นบุคคลชั้นหัวหน้าในโซกะ งักไก นโยบายของพรรคนี้ดำเนินไปตามคติของโซกะ งักไก โดยประกาศหลักการของตนว่า เป็นประชาธิปไตยแบบพุทธศาสนา เป็นสังคมนิยมของมวลมนุษย์ เป็นลัทธิเอกภาพของปวงชนชาวโลก และเป็นหลักสากลเอกชาติพันธุ์ กับถือตนว่ามีนโยบายเดินสายกลาง มุ่งปฏิบัติงานด้านสังคมสงเคราะห์ ปัจจุบันพรรคนี้ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนเป็นพรรคที่มีอิทธิพลยิ่งใหญ่เป็นอันดับที่สามของญี่ปุ่น คือรองจากพรรคลิเบอรัล ดีโมแครต และพรรคโซเชียลลิสต์ และยังวางแผนว่าจะเพิ่มจำนวนเสียงในรัฐสภาขึ้นเรื่อยๆ จนให้ได้ที่นั่ง ๑ ใน ๕ ของรัฐสภาแล้ว ก็จะเป็นผู้บันดาลมติของรัฐบาลได้

ศาสนิกของโซกะ งักไก มิได้มีเฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่กำลังแพร่ขยายตัวในต่างประเทศด้วย ในฮาไว เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๐๙ มีสมาชิก ๑,๓๔๕ ครอบครัว ในสหรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๓ มีสมาชิก ๒๕๐ ครอบครัว ครั้นถึง พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้เพิ่มขึ้นเป็น ๑๕,๐๐๐ ครอบครัว ในอเมริกาใต้ ปี ๒๕๐๓ มี ๖๐ ครอบครัว ครั้นถึงปี ๒๕๐๙ จำนวนเพิ่มขึ้นเป็น ๑,๐๐๐ ครอบครัว นอกจากนี้ ยังมีการเผยแพร่ในประเทศอื่นๆ เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี และในยุโรปด้วย ในญี่ปุ่นเอง ขณะนี้บุคคลชั้นผู้บริหารของโซกะ งักไก รู้สึกพอใจในจำนวนศาสนิกที่มีอยู่แล้ว จึงไม่เร่งรัดในเรื่องการหาสมาชิกใหม่ แต่หันมากวดขันมากขึ้นในด้านการเลือกเฟ้นตัวบุคคลที่จะรับเข้ามาเป็นสมาชิก

ขณะนี้ มีชาวต่างประเทศและแม้ชาวญี่ปุ่นเองจำนวนไม่น้อย กำลังเฝ้ามองด้วยความหวั่นใจและห่วงใยในหลักการ วิธีการ และความเป็นไปของโซกะ งักไก คนเหล่านี้กำลังคิดถึงกาลข้างหน้า ตามคำพูดของนายอิเกดะผู้เป็นประธานสมาคมโซกะ งักไกที่ว่า “จุดหมายของนิจิเรนโชชุ และโซกะ งักไกนี้ มิใช่จะคับแคบเล็กน้อยเพียงแค่เป็นศาสนาประจำชาติ หรือมีอำนาจในทางการเมืองเท่านั้น แต่จักอาศัยสารธรรมของพระมหาปราชญ์นิจิเรน เป็นพลังบันดาลให้มนุษยชาติทั้งมวล มีโงฮอนซอนร่วมกัน” เมื่อมองจากจุดนี้ออกไป ก็อาจทำให้ต้องคิดคาดคะเนถึงกาลข้างหน้าว่า โซกะ งักไก จักมีส่วนร่วมในการบันดาลอนาคตของญี่ปุ่นหรือแม้ของโลก ต่อไปอย่างไร

หนังสือและเอกสารประกอบการเขียน

๑. บันทึกการเดินทางเยี่ยมเยียน สถาบันการศึกษาชั้นสูงทางพระพุทธศาสนาในสิงคโปร์ ลังกา มาเลเซีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี และฮ่องกง ของผู้แทนสถาบันการศึกษาชั้นสูงทางพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ในความอุปถัมภ์ของ พสล. พ.ศ. ๒๕๑๐ ของพระมหาประยุทธ์ ปยุตฺโต

๒. A History of Japanese Buddhism โดย Shinsho Hanayama, CIIB Press, Tokyo,1960.

๓. Japan Handbook 1967, Rengo Press, Tokyo.

๔. The New Face of Buddha โดย Jerrold Schecter, John Weatherhill, Inc., Tokyo, 1967.

๕. Mahayana Buddhism, A Brief Outline โดย Beatrice Lane Suzuki, George Allen and Unwin, 1959.

๖. Encyclopaedia of Religion and Religions โดย Royston Pike, George Allen and Unwin, 1951.

๗. Encyclopaedia Britannica, 1959, Vols, 12-13 (หัวข้อเรื่อง Japan และ Korea)

๘. เอกสารของ Japan Buddhist Federation, 1968.

๙. รายชื่อวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาในญี่ปุ่น รวบรวมโดย Dr. Richard A. Gard.

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ๓. พระพุทธศาสนาในจีน๕. พระพุทธศาสนาในทิเบต >>

No Comments

Comments are closed.