- ๑. พระพุทธศาสนาในกัมพูชา
- ๒. พระพุทธศาสนาในเกาหลี
- ๓. พระพุทธศาสนาในจีน
- ๔. พระพุทธศาสนาในญี่ปุ่น
- ๕. พระพุทธศาสนาในทิเบต
- ๖. พระพุทธศาสนาในไทย
- ๗. พระพุทธศาสนาในเนปาล
- ๘. พระพุทธศาสนาในพม่า
- ๙. พระพุทธศาสนาในลาว
- ๑๐. พระพุทธศาสนาในเวียดนาม
- ๑๑. พระพุทธศาสนาในศรีลังกา
- ๑๒. พระพุทธศาสนาในอาเซียกลาง
- ๑๓. พระพุทธศาสนาในอาฟกานิสถาน
- ๑๔. พระพุทธศาสนาในอินเดีย
- คำนำสำนักพิมพ์
คำนำสำนักพิมพ์
หนังสือ “พระพุทธศาสนาในอาเซีย” เล่มนี้ เป็นหนังสือวิชาการที่อ่านเพลิดเพลิน มีเนื้อหาสนุกสนานเข้มข้น (เช่น เรื่อง พุทธศาสนาในเวียดนาม เป็นต้น) กล่าวได้ว่า เรื่องราวในประวัติศาสตร์นั้น บางทีก็มีความรุนแรง มีความสะเทือนใจยิ่งกว่านิยายเป็นอันมาก การศึกษาเรื่องราวในประวัติศาสตร์ ย่อมทำให้เห็นภาพอดีต อันวิญญูชนผู้ฉลาดพึงนำมาเป็นอุทาหรณ์และอนุสติเตือนใจสำหรับการดำรงชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบัน
“พระพุทธศาสนาในอาเซีย” เคยได้รับการตีพิมพ์มาแล้ว ๕ ครั้ง คือ
ครั้งแรก มิถุนายน ๒๕๑๕ ในวาระงานออกเมรุพระศพ สมเด็จพระสังฆราชอุฏฐายีมหาเถระ
ครั้งที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๑๗ ในงานอนุสรณ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (คณะกรรมการนิสิตจัดพิมพ์)
ครั้งที่ ๓ มีนาคม ๒๕๑๘ ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระทีฆทัสสีมุนีวงศ์ อดีตเจ้าคณะจังหวัดพิจิตร
ครั้งที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๓๑ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จัดพิมพ์เผยแพร่ และแจกในงานปลงศพคุณแม่ชุนกี อารยางกูร
ในการพิมพ์ครั้งที่ ๔ ท่านผู้แต่งได้บันทึกความเป็นมาของหนังสือ อันมีสาระสำคัญ ดังนี้
“หนังสือพระพุทธศาสนาในอาเซียนี้ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ๑๖ ปีมาแล้ว เดิมเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ เพราะเขียนขึ้นด้วยความมุ่งหมายเพียงจะให้เป็นความรู้รอบตัวๆ พอให้พระภิกษุสามเณร โดยเฉพาะที่เป็นนิสิต นักศึกษา และนักเรียน สนใจและรู้จักพระพุทธศาสนาในดินแดนอื่นๆ บ้าง ส่วนที่มีเนื้อหามากสักหน่อย ก็คือพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับตนเองที่ควรรู้จักให้มากกว่าที่อื่น แต่กระนั้นก็ได้เขียนอย่างเป็นกาลานุกรม (chronology) เพื่อให้ย่นย่อและรวบรัดที่สุด
ในการพิมพ์ครั้งต่อๆ มา ได้พิจารณาเห็นว่าเรื่องที่เขียนไว้เดิมนั้นมีเนื้อหาสาระน้อยเกินไป จึงได้ขยายเพิ่มรายละเอียดลงไปมากขึ้น โดยเฉพาะในการพิมพ์ครั้งที่ ๓ ได้เขียนเพิ่มความเป็นมาแบบกาลานุกรม ลงในเรื่องประเทศจีน ทำให้ “พระพุทธศาสนาในประเทศจีน” ยาวขึ้นอีกมาก
ในการพิมพ์ครั้งที่ ๔ นี้ ได้นำเรื่องที่พิมพ์แล้ว และเตรียมไว้พิมพ์สำหรับโอกาสอื่นๆ มาแทนที่เรื่องเก่าๆ ในหนังสือนี้หลายเรื่อง คือ “พระพุทธศาสนาในญี่ปุ่น” จากหนังสือเล่มเล็กๆ ซึ่งพิมพ์ใน พ.ศ. ๒๕๑๑ “พระพุทธศาสนาในกัมพูชา” “พระพุทธศาสนาในลาว” และ “พระพุทธศาสนาในเวียดนาม” จากต้นฉบับที่เขียนไว้สำหรับสารานุกรมพระพุทธศาสนา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ เนื่องจากเรื่องทั้งสี่นี้มีความยาวเป็นอันมาก จึงทำให้หนังสือขยายหนาออกไปกว่าเดิมหลายส่วน และที่สำคัญไม่น้อยก็คือ ได้ทำให้เรื่องต่างๆ ในเล่มมีปริมาณของเนื้อหายาวสั้น มากน้อย กว่ากันมาก จนดูไม่ได้สัดส่วนสมดุลกันเลย โดยเฉพาะเรื่อง “พระพุทธศาสนาในอาเซียกลาง” และ “พระพุทธศาสนาในอาฟกานิสถาน” ยังคงสั้นมาก มีลักษณะเป็นเพียงความรู้รอบตัว และเรื่อง “พระพุทธศาสนาในเกาหลี” ที่เขียนไว้ค่อนข้างยาวใน “พุทธจักร” ใน พ.ศ. ๒๕๑๑ ก็ยังไม่ได้ปรับปรุง และนำมาแทนที่เรื่องที่มีชื่อเดียวกันในหนังสือนี้…..”
แม้ว่า “พระพุทธศาสนาในอาเซีย” จะได้รับการตีพิมพ์มาแล้วถึง ๕ ครั้ง ครั้งที่ ๕ ธรรมสภาจัดพิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ถ้าเทียบดูเวลาจะเห็นได้ว่า ระยะเวลานับจากการพิมพ์ครั้งสุดท้ายนั้นจนถึงปัจจุบันนี้ ผ่านมาเกือบสิบห้าปีแล้ว และยังไม่มีการตีพิมพ์ขึ้นใหม่อีกเลย
ธรรมสภา ตระหนักถึงคุณค่าของหนังสือ “พระพุทธศาสนาในอาเซีย” ประสงค์จะได้มีโอกาสเผยแพร่ผลงานเปี่ยมคุณภาพอีกเล่มหนึ่งของพระเดชพระคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) จึงได้กราบนมัสการขออนุญาตพระเดชพระคุณฯ ตีพิมพ์ “พระพุทธศาสนาในอาเซีย” ขึ้นอีกครั้ง ซึ่งท่านก็มีเมตตาอนุญาตให้ตีพิมพ์ได้ตามความประสงค์ โดยเป็นการให้เปล่าเหมือนดังผลงานเล่มอื่นๆ ของท่าน
ในการพิมพ์ครั้งนี้ ธรรมสภา ได้จัดทำอย่างประณีต แทรกภาพน่าสนใจเข้ากับเนื้อหาประกอบไว้ตลอดเล่ม เป็นการเพิ่มคุณค่าให้แก่หนังสือเล่มนี้มากยิ่งขึ้น
ธรรมสภาหวังว่า หนังสือ “พุทธศาสนาในอาเซีย” คงจะได้สำเร็จประโยชน์ในการให้ความรู้ในทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา และให้แง่คิดอันควรพินิจแก่ผู้สนใจโดยทั่วกัน
ด้วยความสุจริตหวังดี
ธรรมสภาปรารถนาให้โลกได้พบความสงบสุข
No Comments
Comments are closed.