คำนำสำนักพิมพ์

1 พฤศจิกายน 2527
เป็นตอนที่ 23 จาก 24 ตอนของ

คำนำสำนักพิมพ์

พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เป็นผู้ที่ได้รับความยอมรับนับถือจากผู้รู้และใฝ่ธรรม ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ อย่างยากที่พระภิกษุไทยในปัจจุบันจะอยู่ในสถานะเช่นนั้นได้ ด้วยนอกจากศีลาจารวัตรของท่านจะงดงาม เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของวิสาสิกชนแล้ว ความเปรื่องปราดปรีชาญาณของท่าน โดยเฉพาะในทางพุทธศาสนา ยังเป็นที่เห็นพ้องต้องกันในหมู่ศาสนิกชนชั้นนำอีกด้วย ข้อเขียนและคำบรรยายของท่านไม่เพียงแต่จะลุ่มลึกและรอบด้านในข้ออรรถธรรม หากยังถ่ายทอดด้วยภาษาอันหมดจด อย่างกระชับ และต่อเนื่องเป็นลำดับ ยังความกระจ่างแจ้งจับใจแก่ผู้อ่าน และผู้ฟังเป็นอย่างยิ่ง ในภาวะที่พุทธศาสนาในไทยตกอยู่ในฐานะง่อนแง่น เป็นเป้าแห่งความเข้าใจผิดและการประเมินค่าอย่างฉาบฉวย แม้กระทั่งในหมู่พุทธศาสนิกชนด้วยกัน พระราชวรมนี้ได้เป็นสดมภ์หลักหนึ่งใน การแสดงสารัตถะแห่งพุทธศาสนา ทำคุณค่าให้ปรากฏอย่างสัมพันธ์สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี ดังมีงานเอกอุ เช่น พุทธธรรม เป็นตัวอย่างอันเด่นชัด

สถาบันสงฆ์กับสังคมไทย เป็นผลงานอีกชิ้นหนึ่งของพระราชวรมุนี ที่ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของสถาบันสำคัญสถาบันหนึ่งของไทย ซึ่งแม้จะมีคุณค่าต่อชีวิตและสังคมเพียงใดก็ตาม แต่ก็มักไม่เป็นที่รับรู้เข้าใจกัน จนกลายเป็นความเข้าใจผิดในหมู่ผู้คนทั่วไปในปัจจุบัน การขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องดังกล่าว ในแง่หนึ่งได้ทำให้สถาบันสงฆ์ถูกปล่อยปละละเลย ไม่ได้รับการบำรุงเอาใจใส่ในทางสร้างสรรค์เท่าที่ควร ในอีกแง่หนึ่งได้ก่อให้เกิดความรู้สึกอคติต่อสถาบันสงฆ์ จนถึงกับเป็นปฏิปักษ์ มุ่งขจัดขัดขวางสถาบันนี้ก็มี ทั้งสองประการย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้สถาบันนี้ทรุดโทรมซวดเซเป็นลำดับ หนังสือเล่มนี้ มุ่งที่จะสร้างความเข้าใจในสถาบันสงฆ์ที่ถูกต้อง ให้แลเห็นไม่เฉพาะบทบาท คุณค่าในอดีตและปัจจุบันเท่านั้น หากยังรวมถึงปัญหา อุปสรรค และข้อบกพร่องในตัวสถาบันเอง ข้อเขียนและคำบรรยายที่ประมวลเป็น สถาบันสงฆ์กับสังคมไทย นั้น เกือบทั้งหมดเป็นผลงานของพระราชวรมุนี เมื่อครั้งยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับการศึกษาของคณะสงฆ์ ทั้งในฐานะอาจารย์ผู้สอน และรองเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งล้วนเป็นตำแหน่งหน้าที่ในอดีตของท่าน แต่แม้กาลเวลาจะล่วงเลยไปร่วมสองทศวรรษ นับแต่บทความชิ้นแรกสุดของท่านในเรื่องสถาบันสงฆ์ได้ปรากฏสู่สาธารณชน แต่ ปัญหา ฐานะ และภารกิจของพระสงฆ์ก็หาได้เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญแต่อย่างใดไม่ ข้อเขียนและคำบรรยายเหล่านี้จึงยังทรงคุณค่า ทั้งในฐานะแนวทางสำหรับการฟื้นฟูความเป็นผู้นำทางสติปัญญาของพระสงฆ์ ที่ยังเหมาะกับปัจจุบัน และในฐานะงานแบบฉบับ อันจะมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในอนาคต ด้วยแม้จนบัดนี้ ก็ยังหามีงานเขียนใดที่จะเป็นพยานหลักฐานได้ดีกว่านี้ไม่ ในแง่ที่ชี้ให้เห็นถึงความพยายามของนักคิดไทยคนสำคัญ ที่มุ่งกระตุ้นเตือนให้ผู้คนได้ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วน ในการแก้ปัญหาวิกฤต อันเกิดกับสถาบันคู่บ้านคู่เมืองดังกล่าว ก่อนที่การณ์จะสายเกินแก้ โดยที่ความพยายามดังกล่าวจะสัมฤทธิ์เพียงใดหรือไม่นั้น ผลย่อมแลเห็นได้ในกาลข้างหน้า

สถาบันสงฆ์กับสังคมไทย มูลนิธิโกมลคีมทองได้จัดพิมพ์ให้เข้าชุดกับ ปรัชญาการศึกษาไทย พุทธศาสนากับสังคมไทย และ ลักษณะสังคมพุทธ ของผู้ประพันธ์ท่านเดียวกัน ซึ่งกรุณามอบสิทธิในการพิมพ์เฉพาะครั้ง อย่างให้เปล่า มาโดยตลอด อันนับเป็นพระคุณต่อมูลนิธิอย่างยิ่ง เชื่อว่า ในวาระอันควร มูลนิธิจะได้มีโอกาสพิมพ์ผลงานลำดับต่อไป ในชุดเดียวกันของท่าน ซึ่งมีคุณค่าสาระไม่น้อยไปกว่าผลงานที่ผ่านมา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ภาคผนวก: วิเคราะห์ปัญหา และลู่ทางแก้ไขปัญหาการศึกษาของสถาบันสงฆ์คำอนุโมทนา >>

No Comments

Comments are closed.