รู้ความจริงไว้ เพื่อแก้ปัญหา มิใช่เพื่อมาเคืองแค้นกัน ศาสนาประจำชาติแบบฝรั่ง-ไทย มีความหมายตรงข้ามกัน

20 พฤษภาคม 2550
เป็นตอนที่ 8 จาก 16 ตอนของ

รู้ความจริงไว้ เพื่อแก้ปัญหา มิใช่เพื่อมาเคืองแค้นกัน
ศาสนาประจำชาติแบบฝรั่ง-ไทย มีความหมายตรงข้ามกัน

การที่ศาสนบุคคลและองค์กรศาสนาคริสต์มีอำนาจทางการเมืองนั้น มิใช่เพียงเพื่อเข้าควบคุมหรือบริหารกิจการบ้านเมืองเท่านั้น แต่จุดหมายใหญ่กว่านั้น ก็คือ เพื่อกำกับตลอดจนบังคับควบคุมความเชื่อของประชาชนหรือของหมู่มนุษย์ทั้งหมด ไม่ให้ผิดแผกออกไปจากหลักของศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะจากมติที่ศาสนจักรแห่งกรุงโรมเป็นต้น ได้กำหนดให้

(กรุงวาติกัน/Vatican City ที่เป็นรัฐเล็กๆ อิสระ ขององค์พระสันตะปาปา เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1929/พ.ศ. ๒๔๗๒ ในยุคสมัยใหม่ หลังจากมีประเทศอิตาลีปัจจุบันในค.ศ. 1870/พ.ศ. ๒๔๑๓ แล้ว)

ดังนั้น ตลอดประวัติศาสตร์ในอดีตอันยาวนานกว่าพันปี ทั้งก่อนและในสมัยกลางของยุโรป (Middle Ages, ค.ศ. 476-1453/พ.ศ. ๑๐๑๙-๑๙๙๖) คริสต์ศาสนจักร โดยใช้อำนาจของตนเองบ้าง โดยใช้อำนาจของตนผ่านทางอาณาจักรบ้าง โดยร่วมกับฝ่ายอาณาจักรบ้าง ได้ควบคุมบังคับให้คนเชื่อถือปฏิบัติตามหลักศาสนาคริสต์ และลงโทษคนที่ไม่เชื่อหรือเชื่อต่างออกไป

โดยเฉพาะได้ทำการที่ฝรั่งเรียกว่า “persecution” (การห้ำหั่น หรือย่ำยีบีฑา) ตลอดจน “religious wars” (สงครามศาสนา) มากมาย

เรื่อง persecution และ religious wars นี้ ร้ายและรุนแรงแค่ไหน ไม่ต้องใช้เวลาบรรยายที่นี่ ถ้าสนใจ ก็ไปค้นอ่านเองได้ หาไม่ยาก

ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ การที่องค์สันตะปาปาเกรกอรีที่ ๙ (Pope Gregory IX) ได้ทรงตั้งศาลไต่สวนศรัทธา (Inquisition) ขึ้นใน ค.ศ. 1231 (=พ.ศ. ๑๗๗๔) โดยร่วมกับฝ่ายอาณาจักร คือพระเจ้าเฟรเดอริคที่ ๒ จักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Emperor Frederick II) ซึ่งได้ทรงตรากฎหมายให้อำนาจศาลนั้น ดำเนินการได้ทั่วทั้งจักรวรรดิ สามารถสั่งให้เจ้าหน้าที่ของบ้านเมืองจับคนที่ถูกตัดสินว่าเป็นคนนอกรีตมาเผาทั้งเป็น

การที่บาทหลวงและศาสนจักรเข้าไปแทรกแซงครอบงำกิจการบ้านเมือง การขัดแย้งแย่งอำนาจกับอาณาจักร การบังคับศรัทธาของประชาชน ตลอดจนสงครามศาสนาในยุโรป มีเรื่องราวมากมาย ในที่นี้ พูดไว้พอให้เห็นเค้าความ1

ตลอดเวลายาวนานที่ผ่านไป เมื่อถูกบีบคั้นกดดันรุนแรง คนก็ดิ้นรนหาทางหลุดพ้นในที่สุด การดิ้นรนและปะทะกระแทกก็นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ในสังคมตะวันตก เกิดการปฏิวัติต่างๆ และการก้าวย้ายแห่งยุคสมัยของประวัติศาสตร์

ว่าโดยย่อ ควรรู้จักการปฏิวัติออกจากอิทธิพลและการครอบงำของศาสนจักรคริสต์ ดังต่อไปนี้

การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ (Scientific Revolution) ถือว่าเริ่มต้นใน ค.ศ. 1543 และดำเนินต่อมาตลอดศตวรรษที่ 16 และ 17 จนทำให้ ค.ศต. 18 เป็นยุคพุทธิปัญญา (Enlightenment) หรือยุคแห่งเหตุผล (Age of Reason) ที่ฝรั่งสมัยใหม่ใฝนิยม จนถึงกับตื่นวิทยาศาสตร์ และหันหลังให้แก่ศาสนาคริสต์

การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรษที่ ๑๘ ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ (เริ่มในอังกฤษ ประมาณ ค.ศ. 1750-1850) ซึ่งทำให้ฝรั่งหันไปเพลิดเพลินกับวิถีชีวิตแบบใหม่ในแนวทางของเทคโนโลยี เปี่ยมด้วยความหวังจากวิทยาศาสตร์ และห่างเหินจากศาสนาคริสต์ยิ่งขึ้น

การปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution, ค.ศ. 1789-1815 ตามมาใกล้ๆ กับการปฏิวัติของอเมริกา/American Revolution ใน ค.ศ. 1775-1783) อันเป็นการปฏิวัติทางการเมือง ที่ล้มเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประกาศสิทธิของมนุษย์และราษฎร ซึ่งสามัญชน (เรียกในคราวนั้นว่า Third Estate/ฐานันดรที่ ๓) ลุกขึ้นมาล้มล้างลัทธิศักดินา พร้อมทั้งระบอบอภิชนาธิปไตย (aristocracy, คณาธิปไตย ก็ว่า)

การปฏิวัติฝรั่งเศสนั้น มุ่งปลดเปลื้องสังคมให้พ้นจากอำนาจครอบงำของอภิสิทธิชน ๒ พวก คือ ขุนนาง และบาทหลวง (2 privileged classes, i.e., the nobility and the clergy เรียกในคราวนั้นว่าเป็น First & Second Estates/ฐานันดรที่ ๑ และ ๒) อันเป็นจุดเริ่มเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย (democracy)

(การปฏิวัติครั้งนี้ทำให้บาทหลวงในประเทศฝรั่งเศสหมดไปครึ่งต่อครึ่ง เนื่องจากบาทหลวงจำนวนมากถูกประหารชีวิตหรือไม่ก็สิ้นชีพในคุก และอีกพวกหนึ่งก็ออกจากศาสนจักรไปเลย)

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับคริสต์ศาสนจักรที่ศาสนาคริสต์กลายเป็นแกนนำกำกับควบคุมเศรษฐกิจ การทหาร การเมืองของยุโรป มาตลอดเวลาพันปีแห่งสมัยกลางของโลกตะวันตก บัดนี้ได้สิ้นสุดลง และหักหันออกไปในทางตรงข้ามสู่การแยกออกจากกัน

นี่ก็คือแบบแผนอย่างใหม่ ที่เริ่มขึ้นในสังคมตะวันตกสมัยใหม่ และสังคมประชาธิปไตยทั่วไปยึดถือตามเป็นหลัก คือการแยกรัฐกับศาสนจักรออกต่างหากจากกัน (separation of church and state หรือ church-state separation)

แม้ว่าบางประเทศจะมีแนวทางและแบบแผนอย่างใหม่ของตนเอง เช่น ประเทศอังกฤษเริ่มยุคใหม่นี้ด้วยการถอนตัวออกจากอำนาจของคริสต์ศาสนจักรแห่งกรุงโรม โดยตั้งศาสนจักรจำเพาะของตนเองขึ้นมา คือศาสนจักรอังกฤษ หรือนิกายอังกฤษ (Church of England อย่างกว้างเรียกว่า Anglican Church รวมอยู่ในนิกายโปรเตสแตนต์) ซึ่งเป็นศาสนาแห่งรัฐหรือศาสนาประจำชาติของอังกฤษจนบัดนี้

กษัตริย์อังกฤษทรงเป็นประมุขของศาสนจักรอังกฤษนี้เสียเอง กับทั้งยังเริ่มยุคใหม่ด้วยการกำจัดร่องรอยแห่งอำนาจของคริสต์ศาสนจักรแห่งกรุงโรม คือของนิกายโรมันคาทอลิกที่เป็นหลักมาแต่เดิมนั้นด้วยอย่างรุนแรง (ทำ persecution เช่น ยึดที่วัด เผาวัด ฆ่าศาสนิก ริบทรัพย์สิน)

ประเทศสำคัญที่จัดวางแบบแผนความสัมพันธ์แบบแยกรัฐกับศาสนจักร (church-state separation) อย่างเดียวกันและเกือบพร้อมกันกับฝรั่งเศส คือสหรัฐอเมริกา

ชนชาติที่ตั้งประเทศอเมริกานี้ มีภูมิหลังแห่งการถูกบีบคั้นบังคับทางศาสนาและหนีภัยการห้ำหั่นปีฑานั้นมาจากยุโรป จึงมุ่งหวังและยึดมั่นอย่างยิ่งในอุดมคติแห่งอิสรเสรีภาพ (freedom) เมื่อตรารัฐธรรมนูญจึงเน้นนักในเรื่องนี้ และถือเป็นความทรงจำที่จะต้องเตือนสำนึกของชนในชาติให้ตระหนักอยู่ตลอดทุกเวลา

ดังคำของศาลสูงสุด (Supreme Court) ของอเมริกา ที่เขียนเตือนใจคนอเมริกันไว้เมื่อครั้งพิจารณาตัดสินคดีหนึ่ง ใน ค.ศ. 1947 ดังขอคัดความบางตอนมาว่า

อนุบัญญัติข้อ ๑ (the First Amendment ในรัฐธรรมนูญอเมริกัน) ซึ่งอาศัยอนุบัญญัติข้อ ๑๔ ให้บังคับใช้แก่บรรดารัฐทั้งหลาย…กำหนดว่า รัฐ “จะไม่ตรากฎหมายขึ้นเชิดชูสถาบันศาสนาหนึ่งใด หรือห้ามการดำเนินการโดยเสรีของศาสนานั้น…”

ถ้อยคำในอนุบัญญัติข้อ ๑ เหล่านี้ สะท้อนขึ้นมาในใจของชาวอเมริกันยุคแรก ให้เห็นมโนภาพอันเด่นชัด ที่แสดงถึงสภาพและปฏิบัติการต่างๆ ที่พวกเขามีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะขจัดให้หมดสิ้นไป เพื่อจะรักษาเสรีภาพไว้ให้แก่ตนและคนรุ่นหลัง

แน่นอนว่า จุดหมายของเขายังไม่ลุล่วงโดยสมบูรณ์ แต่กระนั้น ทั้งที่ชนชาติอเมริกันได้มุ่งหน้าสู่จุดหมายนั้นมาถึงเพียงนี้แล้ว ข้อความว่า “กฎหมายขึ้นเชิดชูสถาบันศาสนาหนึ่งใด” ก็ดูจะมิได้ช่วยให้คนอเมริกันสมัยปัจจุบันระลึกนึกเห็นได้ชัดเจนนัก ถึงความเลวร้าย ความน่าหวาดกลัว และปัญหาต่างๆ ทางการเมือง ที่เป็นเหตุให้ต้องเขียนข้อความนั้นไว้ในสิทธิบรรณของเรา (Bill of Rights = อนุบัญญัติ ๑๐ ข้อแรกในรัฐธรรมนูญอเมริกัน) …

เหล่าชนผู้มาตั้งถิ่นฐานในประเทศนี้ยุคแรกๆ นั้น จำนวนมากทีเดียว มาประเทศนี้จากยุโรป เพื่อ หลบหนีจากข้อกำหนดของกฎหมาย ที่บังคับเขาให้อุปถัมภ์บำรุงและเข้าร่วมกิจกรรมของนิกายศาสนาที่รัฐบาลอุปถัมภ์บำรุง

หลายศตวรรษก่อนหน้านั้น รวมทั้งในยุคสมัยเดียวกับที่อเมริกาเป็นอาณานิคม เต็มไปด้วยความปั่นป่วน การวิวาทขัดแย้งวุ่นวายของประชาชนและการทำนั่นบีฑากัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากนิกายที่รัฐยกขึ้นสถาปนา ซึ่งมีความมุ่งมั่นที่จะรักษาความยิ่งใหญ่ทางศาสนาและการเมืองของตนไว้ให้เด็ดขาด

ด้วยอำนาจของรัฐบาลที่ส่งเสริมสนับสนุนนิกายศาสนานั้นๆ ในต่างกาละ ต่างเทศะ พวกคาทอลิกก็ห้ำหั่นบีฑาพวกโปรเตสแตนต์ พวกโปรเตสแตนต์ก็หวั่นบีฑาพวกคาทอลิก พวกโปรเตสแตนต์นิกายโน้นก็ทำหุ่นโปรเตสแตนต์ที่ต่างนิกายอื่นๆ พวกคาทอลิกสายความเชื่อหนึ่ง ก็ห้ำหั่นบีฑาพวกคาทอลิกอีกสายความเชื่อหนึ่ง แล้วทุกนิกายเหล่านี้ (ทั้งโปรเตสแตนต์ ทั้งคาทอลิก) ก็ได้ห้ำหั่นบีฑาพวกยิวเป็นคราวๆ

ด้วยความพยายามที่จะบังคับให้จงรักภักดีต่อนิกายศาสนาที่ได้ขึ้นมาเป็นนิกายที่สูงสุดและเข้า พวกกับรัฐบาลในยุคสมัยนั้นๆ ชายหญิงทั้งหลาย ได้ถูกปรับสินไหม ได้ถูกจับขังคุก ได้ถูกทรมานอย่างโหดร้าย และถูกสังหาร

ในบรรดาความผิดทั้งหลายที่คนเหล่านี้ถูกลงโทษ ก็เช่นการพูดโดยไม่เคารพต่อความคิดเห็นของอาจารย์สอนศาสนาในนิกายที่รัฐบาลอุ้มชู การไม่ไปร่วมกิจกรรมของนิกายเหล่านั้น การแสดงความไม่เชื่อในคำสอนของอาจารย์สอนศาสนาเหล่านั้น และการที่มิได้ยอมเสียภาษีรัฐและภาษีศาสนาเพื่ออุปถัมภ์บำรุงนิกายศาสนานั้น

ปฏิบัติการเหล่านี้ที่มีในโลกเก่า คือยุโรป ได้ถูกนำมาปลูกฝังลง และเริ่มจะแพร่ขยายไปในผืนแผ่นดินอเมริกาใหม่…

ผู้ที่มีความคิดเห็นผิดแผกแตกแยกออกไปเหล่านี้ ถูกบังคับให้ต้องเสียภาษีศาสนาและภาษีบ้านเมือง เพื่อเอามาอุปถัมภ์บำรุงนิกายศาสนาที่รัฐอุ้มชู ซึ่งมีศาสนาจารย์ไปเที่ยวเทศนาคำสอนอันแสบร้อน ที่มุ่งจะเสริมสร้างความเข้มแข็งมั่นคงให้แก่นิกายของตน ด้วยการก่อให้เกิดความชิงชังอย่างร้อนแรงแก่ผู้ที่คิดผิดแผกออกไป

ปฏิบัติการเหล่านี้ได้กลายเป็นสิ่งสามัญดาษดื่น ถึงขั้นที่สร้างความหวาดผวาแก่ชาวอาณานิคมผู้รักเสรีภาพ จนเกิดเป็นความรู้สึกขยาดแขยง การเรียกเก็บภาษีเพื่อเอามาจ่ายเป็นเงินเดือนของอาจารย์สอนศาสนาและมาก่อสร้างดูแลรักษาโบสถ์ พร้อมทั้งทรัพย์สินของโบสถ์เหล่านี้ ก่อให้เกิดความขุ่นข้องหมองใจแก่ชาวอาณานิคมเหล่านั้น ความรู้สึกเหล่านี้แหละ ที่แสดงออกมาเป็นข้อความในอนุบัญญัติข้อที่ ๑ (First Amendment)

[Excerpt from the opinion of the US Supreme Court, Everson v. Board of Education, 1947. Microsoft Encarta Encyclopedia 2001]2

แท้จริงนั้น เมื่อรู้ภูมิหลังอย่างที่ว่ามาแล้ว ถ้าเมื่อใดมีโอกาส ควรจะยกเรื่องการแยกรัฐกับศาสนจักรของฝรั่งนี้ขึ้นมาพิจารณากันว่า มันเป็นหลักการของประชาธิปไตยจริง หรือว่า

⊙ ด้านหนึ่ง มันเป็นการหยุดยั้งของอารยธรรมอยู่ในที่หลบพัก เมื่อยังหาทางออกไม่ได้ อันน่าเห็นใจ

◇ อีกด้านหนึ่ง มันเป็นเพียงเครื่องบ่งชี้ถึงอาการสุดโต่งแห่งปฏิกิริยาอับจนของมนุษย์ที่ยังพัฒนาไม่เพียงพอ

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชัดเจนแน่นอนก็คือ ในสังคมตะวันตกแต่เดิมมา เมื่อครั้งรัฐกับศาสนาผูกพันแนบสนิทกัน อันถือได้ว่าเป็นการมีศาสนาประจำชาตินั้น ก็คือการที่อาณาจักรกับศาสนจักรมีความสัมพันธ์ต่อกันแบบคลุกแข่งแย่งอำนาจกัน จนในที่สุดจึงเป็นเหตุให้ต้องแยกออกจากกัน

โดยนัยนี้ หลักการแห่งการแยกรัฐกับศาสนจักรออกต่างหากจากกัน ของสังคมตะวันตกสมัยใหม่ อันสังคมที่ประสงค์จะเป็นประชาธิปไตยมากมายพากันยึดถือตามนั้น จึงควรเรียกให้ชัดว่าเป็น negative separation of church and state

ส่วนในสังคมไทยตามคติพุทธแต่เดิมมา เมื่อครั้งรัฐกับศาสนาผูกพันแนบสนิทกัน อันถือได้ว่าเป็นการมีศาสนาประจำชาตินั้น ก็คือการที่อาณาจักรกับพุทธจักรมีความสัมพันธ์ต่อกันแบบแยกออกทำหน้าที่ต่างหากกัน เพื่อเกื้อกูลกัน

นั่นคือ ในแบบไทยคติพุทธนั้น เป็นการมีศาสนาประจำชาติตามหลักการแห่งการแยกรัฐกับศาสนจักรออกจากกัน หรือหลักการ แยกรัฐกับศาสนจักรออกจากกัน ด้วยการมีศาสนาประจำชาติ เพื่อให้อาณาจักรกับพุทธจักรทำต่างหน้าที่เพื่อร่วมจุดหมายอันหนึ่งเดียวในการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขของประชาชน ซึ่งควรเรียกให้ชัดว่าเป็น positive separation of church and state

ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่า ที่ฝรั่งแยกรัฐกับศาสนาออกจากกันนั้น ก็คือมาเป็นเหมือนจะมีศาสนาประจำชาติแบบไทยคติพุทธของเรานี้แหละ แต่เขาเลยเถิดสุดโต่งไปเสีย แทนที่จะดี ก็กลายเป็นร้าย เพราะกลายเป็น negative ไปเสีย

การกระทำแบบอับจน หรือเพราะยังหาทางออกที่ดีไม่ได้ อย่างนี้หรือ ที่จะเอามาภูมิใจว่าเป็นหลักการอย่างหนึ่งของประชาธิปไตย

ทำไมไม่คิดกันบ้าง ที่จะพัฒนาประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ หรือให้ดีขึ้นไปกว่าที่จะต้องเพียงคอยตามเขาไปๆ อย่างนั้นอย่างนี้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< “รู้เขา” แค่เห็นเงามัว ๆ, “รู้เรา” ก็ไม่เห็นเนื้อตัว ผีฝรั่งจึงมาหลอกคนไทย ได้อย่างน่ากลัวเจอความจริงแม้ขื่นใจ ยังรักได้ นั่นคือใจเมตตาแท้ รู้ให้จริงแท้จึงแก้ปัญหา คือเมตตาคู่ปัญญาที่ต้องการ >>

เชิงอรรถ

  1. ในการพิมพ์ครั้งนี้ (เพื่อไม่ให้หนังสือหนานัก) ได้ตัดข้อความในต้นฉบับ ที่เล่าประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านี้ออกไปก่อน ประมาณ ๒๔ หน้า
  2. คัดตัดตอนจาก ปฏิรูปการศึกษา พระพุทธศาสนาจะไปอยู่ไหน? [กรรมการปฏิรูปการศึกษา สนทนากับ พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) พ.ศ. ๒๕๔๔, หน้า ๕๕-๖๐

No Comments

Comments are closed.