กลลวง ของ ดร. เบญจ์-บรรจง

1 กรกฎาคม 2544
เป็นตอนที่ 11 จาก 20 ตอนของ

กลลวง ของ ดร. เบญจ์-บรรจง

ดร. เบญจ์-บรรจง ได้พิมพ์เผยแพร่หนังสือ-เอกสารเท็จบิดเบือนจำนวนมาก เช่น

เปิดโปงขบวนการล้มพุทธ, นำพิสูจน์ทราบโดย ดร. เบญจ์ บาระกุล. พ.ศ. ๒๕๔๒ (๑๗๖ หน้า)

พระพุทธศาสนา ชะตาของชาติ, นำพิสูจน์ทราบโดย ดร. เบญจ์ บาระกุล. พ.ศ. ๒๕๔๒ (๒๒๔ หน้า)

พระพุทธศาสนา ชะตาของชาติ (ฉบับคัดย่อ), นำพิสูจน์ทราบโดย ดร. เบญจ์ บาระกุล. พ.ศ. ๒๕๔๒ (๖๔ หน้า)

ไวรัสศาสนา มหันตภัยของชาวพุทธ, พิมพ์ครั้งที่ ๑ – ๒๓ ต.ค. ๒๕๔๒ (๒๘๖ หน้า)

ไวรัสศาสนา มหันตภัยของชาวพุทธ (ฉบับคัดย่อ), พิมพ์ครั้งที่ ๑ – ๒๓ ต.ค. ๒๕๔๒ (๖๔ หน้า)

หนังสือเหล่านี้ทั้งหมด (รวมทั้งเล่มและแผ่นปลีกย่อยอื่นๆ) เขียนขึ้นเพื่อใส่ความและสร้างความเข้าใจผิด ต่อบุคคลหลายท่านที่ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระธรรมวินัย และปัญหาธรรมกาย กลวิธีที่เขาใช้ปั้นแต่งเรื่องเท็จ-ป้ายสี-บิดเบือน มีมากมายหลายแบบ ถ้าจะตีแผ่ให้ชัดทุกอย่างก็จะยาวมาก หนังสือจะหนาเกินกำลัง

กลวิธี ดร. เบญจ์-บรรจง ที่ทำง่ายถ้าไม่ละอาย

กลวิธีสำคัญของ ดร. เบญจ์-บรรจง ซึ่งที่จริงก็ง่ายๆ ไม่ว่าใคร ถ้าไม่ซื่อ ไม่มีความละอาย และมีเจตนาร้าย ก็ทำได้ทั้งนั้น คือ ตัดต่อถ้อยคำของคนที่ตนจะทำร้ายเพื่อให้คนนั้นถูกเข้าใจผิด จะยกตัวอย่างมาเทียบให้เห็นได้ง่าย เช่น

“ป้าบุญทิพย์เล่าว่า หลานคนนี้เอาแต่เที่ยวกินเหล้าติดยา ลุงบุญมาโกรธมาก ได้ด่าว่าอย่างรุนแรง และขับไล่ไม่ให้อยู่ด้วย”

กลวิธี ดร. เบญจ์-บรรจง ก็จะแกล้งตัดต่อทำนองนี้ว่า

“ป้าบุญทิพย์เล่าว่า … ลุงบุญมาโกรธมาก ได้ด่าว่าอย่างรุนแรง และขับไล่ไม่ให้อยู่ด้วย”

พอตัดอย่างนี้ คนอ่านก็จะเข้าใจผิด แทนที่จะคิดว่าลุงบุญมาโกรธและไล่หลาน ก็กลายเป็นว่า ลุงบุญมาโกรธป้าบุญทิพย์ และไล่ป้าบุญทิพย์ออกจากบ้าน

อีกตัวอย่างหนึ่ง

“เจ้าหน้าที่เตือนว่า วัดนี้บริเวณกว้างขวางมาก วิหารเก่าหลังนี้อยู่ไกล พระที่วัดนี้ ต้องระวัง เวลานี้คนติดยากันมากคอยหาที่มั่วสุม จะเข้ามาลอบเสพยากันได้ง่าย”

กลวิธี ดร. เบญจ์-บรรจง ก็จะแกล้งตัดต่อทำนองนี้ว่า

“เจ้าหน้าที่เตือนว่า วัดนี้บริเวณกว้างขวางมาก วิหารเก่าหลังนี้อยู่ไกล พระที่วัดนี้ ต้องระวัง … จะเข้ามาลอบเสพยากันได้ง่าย”

พอตัดต่ออย่างนี้ คนอ่านก็จะเข้าใจผิดไปกลายเป็นเจ้าหน้าที่ว่าพระจะไปลอบเสพยาในวิหารหลังเก่า ดร. เบญจ์-บรรจง ก็เอาข้อความในหนังสือ พุทธธรรม และหนังสือเล่มอื่นๆ ของพระธรรมปิฎก มาตัดต่อให้คนเข้าใจผิดอย่างนี้

ตัวอย่างที่ ดร. เบญจ์-บรรจง ตัดต่อเพื่อป้ายสีหนังสือ “พุทธธรรม”

ดร. เบญจ์-บรรจง เหมือนกับอาฆาตมาดร้ายหนังสือ พุทธธรรม ยิ่งนัก จึงยอมเสียเนื้อที่ในหนังสือของเขามากมายเพื่อป้ายสีหนังสือ พุทธธรรม ถึงกับตั้งเป็นหัวข้อขึ้นมาวิเคราะห์โดยเฉพาะ แต่เมื่อตั้งใจตรวจสอบสักนิด ก็มองเห็นกลวิธีทุจริตซ้ำไปซ้ำมาแบบเดียวกัน พอจับจุดวิธีเท็จได้ รู้ทันแล้ว หนังสือทุจริตของเขาก็ไร้สาระทั้งหมด

ยกตัวอย่างที่เขาใช้วิธีตัดต่อ อย่างที่พูดข้างต้น เช่น (ในหนังสือ “พระพุทธศาสนา ชะตาของชาติ” หน้า ๗๕-๗๖) ดร. เบญจ์-บรรจง ยกข้อความใน “พุทธธรรม” หน้า ๘๓๘-๘๓๙ (“พุทธธรรม” ฉบับเดิม หน้า ๒๐๕ ก็มีข้อความนี้) ขึ้นมากล่าวหาว่า “เหยียบย่ำจาบจ้วงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เจตนาแสดงให้เห็นว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม และแสวงหาความสุขส่วนตัวโดยใช้ฌาน”

ขอให้ดูตรงจุดที่เขาใช้วิธีตัดต่อให้ได้ความอย่างที่เขาต้องการ ดังนี้

“และการนิยมหาความสุขจากฌานนี้….เป็นเหตุความละเลยความรับผิดชอบต่อส่วนรวมย่อมถูกถือเป็นเหตุตำหนิได้”

แต่ทีนี้ มาดูข้อความของจริงในหนังสือ พุทธธรรม ต่อไปนี้

“และการนิยมหาความสุขจากฌานนี้ บุคคลใดจะทำแค่ไหนเพียงใดย่อมเป็นเสรีภาพส่วนบุคคล แต่หากความติดชอบมากนั้น กลายเป็นเหตุละเลยความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ย่อมถูกถือเป็นเหตุตำหนิได้ . . . สำหรับพระพุทธเจ้าและท่านที่ปฏิบัติถูกต้อง สมาธิย่อมช่วยเสริมการบำเพ็ญกิจเพื่อพหูชน”

จะเห็นว่า ใน พุทธธรรม ได้แยกการปฏิบัติของพระพุทธเจ้าและท่านผู้สุปฏิบัติไว้ต่างหากแล้ว ส่วนการปฏิบัติที่ถูกตำหนิได้ซึ่งพูดไว้ตอนต้นนั้นเป็นเรื่องของคนทั่วไป

ตรงนี้เป็นตอนที่เขาเริ่มวิเคราะห์ ซึ่งพอเริ่มเท่านั้น ก็เห็นเจตนาร้ายของเขาได้ทันที เมื่อ ดร. เบญจ์-บรรจง มีเจตนาร้ายแม้แต่กับการเผยแผ่ธรรมของพระพุทธเจ้า เขาจะไม่ประทุษร้ายพระพุทธศาสนาและชาวพุทธได้อย่างไร

คราวนี้ก็อีก ทั้งตัดต่อ-แต่งเติม-บิดเบือน

เพื่อจะปั้นแต่งพระธรรมปิฎกให้เป็นผู้ทำลายพระพุทธศาสนาให้ได้ ดร. เบญจ์-บรรจง ก็เที่ยวค้นหาเรื่องที่พอจะตั้งเป็นเค้าขึ้น แล้วก็ตัดต่อแต่งเติมบิดเบือนสอดเสริม เพิ่มความเข้าไป ตลอดจนจับโน่นชนนี่ ปะติดปะต่อ จนกว่าจะได้เนื้อความตามเป้า ขอให้ดูอีกสักตัวอย่างหนึ่ง

ในหนังสือ พระพุทธศาสนา ชะตาของชาติ หน้า ๑๕๖ ดร. เบญจ์-บรรจง เขียนว่าพระธรรมปิฎกไปเป็นวิทยากร และได้พูดว่า

“อาตมาได้รับนิมนต์ให้มาพูดเรื่องพุทธศาสนาในฐานะเป็นศาสนาประจำชาติไทย… อาตมาจะต้องขอทำความเข้าใจกับที่ประชุมก่อนว่า ตัวอาตมานั้นไม่ได้มาเพื่อที่จะร่วมรณรงค์ในเรื่องนี้ และว่าที่จริง อาตมาก็ไม่ได้สนใจเรื่องการบัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติหรือไม่ เหตุผลในการที่จะบัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็ไม่เห็นด้วย

การที่ ดร. เบญจ์-บรรจง เขียนอย่างนี้ ก็เพื่อทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าพระธรรมปิฎกคัดค้านการที่จะให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ หรือพูดเป็นปฏิปักษ์กับพระพุทธศาสนา แต่พระธรรมปิฎกก็ไม่เคยพูดอย่างนั้น เมื่อหาไม่ได้ เขาจึงต้องเอาคำพูดครั้งนี้ตั้งเป็นเค้าขึ้นมา แล้วก็ ตัดต่อแต่งเติมบิดเบือนสอดเสริม เพิ่มความเข้าไป อย่างข้างบนนั้น ทีนี้ขอให้ดูคำพูดที่แท้ของพระธรรมปิฎกเอง ดังนี้ (หนังสือ อุดมธรรมนำจิตสำนึกของสังคมไทย, พ.ศ. ๒๕๓๗ หน้า ๒-๔)

“อาตมภาพได้รับนิมนต์มาให้พูดเรื่อง ‘พระพุทธศาสนา ในฐานะเป็นศาสนาประจำชาติไทย’ … อาตมภาพจะต้องขอทำความเข้าใจกับที่ประชุมก่อนว่า ตัวอาตมภาพเองนั้นไม่ได้มาเพื่อจะร่วมรณรงค์ในเรื่องนี้ และว่าที่จริงในการรณรงค์นี้ อาตมภาพก็ไม่ได้สนใจ ทำไมจึงพูดอย่างนั้น … อาตมภาพไม่สนใจในแง่ของการรณรงค์ แต่สนใจในแง่เป็นห่วง คือเป็นห่วงเรื่องของการรณรงค์นั้นอีกทีหนึ่ง … ทำไมจึงเป็นห่วง เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ที่เราเคารพนับถือ แล้วก็เกี่ยวกับประโยชน์สุขของส่วนรวม ถ้าทำดีก็ดีไป ถ้าทำไม่ดีก็อาจจะเกิดผลเสียได้มาก … เมื่อมีการกระทำแล้วก็ต้องทำให้ได้ผลดี”

ชัดอยู่แล้วว่า พระธรรมปิฎกไม่ได้พูดว่าไม่สนใจเรื่องจะให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่พูดว่าไม่สนใจในแง่การรณรงค์ ขอให้ดูข้อความที่ขีดเส้นใต้ข้างบนเทียบกัน ก็จะเห็นว่า ข้อความว่า อาตมาก็ไม่ได้สนใจเรื่องการบัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติหรือไม่ เหตุผลในการที่จะบัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็ไม่เห็นด้วย นี้ ดร. เบญจ์-บรรจง เขียนเติมเข้ามาเองทั้งหมด

ทำไมจึงไม่สนใจในแง่การรณรงค์ พระธรรมปิฎกก็ได้พูดให้ที่ประชุมฟังแล้ว เช่นว่าเพราะเป็นพระก็ทำหน้าที่สอนธรรมะไป ถ้าสอนได้ผล ประชาชนเห็นคุณค่า ประชาชนก็ใช้ปัญญาทำกันไป พูดง่ายๆ ว่า วันนั้น พระธรรมปิฎกไปพูดเตือนหรือให้สติแก่ที่ประชุม เพราะเหตุผลที่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาตินั้น พระธรรมปิฎกได้เขียนไว้นานแล้ว ในหนังสือ “ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะเป็นศาสนาประจำชาติ” และการที่ผู้จัดประชุมนิมนต์พระธรรมปิฎกไปพูด ก็เพราะนึกถึงหนังสือนั้นและได้แจกหนังสือนั้นแก่ที่ประชุมแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องบรรยายซ้ำกับในหนังสือนั้นอีก

หนังสือ “ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะเป็นศาสนาประจำชาติ” นี้ คณะอนุกรรมการจัดทำหนังสืออนุสรณ์พุทธบูชา ในคณะกรรมการอำนวยการจัดสร้างพุทธมณฑล ได้อาราธนาพระธรรมปิฎกเขียนขึ้น เพื่อจัดพิมพ์เป็นที่ระลึก เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ มหาราช รวมในหนังสือใหญ่ชื่อ “พุทธมณฑล เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ มหาราช” พิมพ์เสร็จตั้งแต่ปี ๒๕๓๑

ผู้ที่ต้องการรู้ความจริงควรจะเอาหนังสือ “ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะเป็นศาสนาประจำชาติ” และ “อุดมธรรมนำจิตสำนึกของสังคมไทย” นี้มาอ่านเองโดยตรง ไม่ต้องฟังต่อจากพวก ดร. เบญจ์-บรรจง ซึ่งจะได้แต่ของบิดเบือนแต่งเติม

ตัดต่อให้คำของใบปลิวเท็จกลายเป็นคำของหนังสือพิมพ์

ไม่เฉพาะกับหนังสือเท่านั้น ดร. เบญจ์-บรรจง ได้ตัดต่อแม้กระทั่งข่าวหนังสือพิมพ์ให้คนอ่านเข้าใจผิด เช่น นสพ. เดลินิวส์ ลงข่าวว่า มีการแจกใบปลิวที่วัดพระธรรมกาย ใบปลิวนั้นกล่าวหาว่าพระธรรมปิฎกยกตนเหนือกว่าพระอรหันต์ ดร. เบญจ์-บรรจง ก็ตัดต่อให้กลายเป็นว่า นสพ. เดลินิวส์ รายงานข่าวว่าพระธรรมปิฎกยกตนเหนือกว่าพระอรหันต์

(ใบปลิวซึ่งแจกที่วัดพระธรรมกายนั้น ก็มีเนื้อความอย่างในหนังสือของ ดร. เบญจ์-บรรจง นั่นเอง การตัดต่อข่าว นสพ.นี้ จึงเท่ากับว่าจะเอาผลสองชั้น คือจะให้เรื่องเท็จที่ปั้นแต่งขึ้นทั้งในหนังสือและเป็นใบปลิวนั้น มีค่าเป็นรายงานข่าว นสพ.)

ดร. เบญจ์-บรรจง ตัดต่อข่าวหนังสือพิมพ์ให้คนอ่านเข้าใจผิดอย่างนี้ไม่ใช่ครั้งเดียว ขอยกมาให้ดูเทียบข่าวจริง กับข้อความตัดต่อของ ดร. เบญจ์-บรรจง สักครั้ง

นสพ. เดลินิวส์ ประจำวันจันทร์ที่ ๑๒ ก.ค. ๒๕๔๒ ลงข่าวว่า

“เจ้าหน้าที่วัดพระธรรมกายได้แจกจ่ายใบปลิวฉบับหนึ่ง ซึ่งจัดพิมพ์ในลักษณะของหนังสือพิมพ์มีจำนวน ๔ หน้า โดยในหน้า ๔ นั้นมีบทความพิเศษ ชื่อเรื่องว่า “เทวทัตยุคไฮเทค” สาระสำคัญของบทความชิ้นนี้มีเรื่องราวตอบโต้การสัมมนาเรื่อง “วัดพระธรรมกายกับผลกระทบเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมไทย” ซึ่งจัดที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๓ ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดยมูลนิธิโกมลคีมทอง มูลนิธิพุทธธรรม และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ บทความชิ้นดังกล่าวนี้อ้างว่า การจัดสัมมนาครั้งนั้นมีการโจมตีวัฒนธรรมประเพณีไทย และพระพุทธศาสนา …1

ดร. เบญจ์-บรรจง นำข้อความข้างบนนี้มาตีพิมพ์ในหนังสือ “เปิดโปงขบวนการล้มพุทธ” แต่ตัดข้อความ(พิมพ์ตัวหนาเป็นที่สังเกต)ว่า “เจ้าหน้าที่วัดพระธรรมกายได้แจกจ่ายใบปลิวฉบับหนึ่ง …” ทิ้งไปเสีย เหลือแค่ว่า

“การสัมมนาเรื่อง “วัดพระธรรมกายกับผลกระทบเศรษฐกิจการเมืองและสังคมไทย” ซึ่งจัดที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๓ ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดยมูลนิธิโกมลคีมทอง มูลนิธิพุทธธรรม และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ … การจัดสัมมนาครั้งนั้นมีการโจมตีวัฒนธรรมประเพณีไทย และพระพุทธศาสนา…”

กลวิธีนี้ต้องการทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดว่าเป็นรายงานข่าวของ นสพ. เดลินิวส์ แต่ที่จริงเป็นข้อความในใบปลิวที่ จนท.วัดพระธรรมกายแจก ไม่ใช่คำของ นสพ. เดลินิวส์

ใบปลิวนี้ยาว ดูอีกหน่อย

ใบปลิวซึ่งแจกที่วัดพระธรรมกาย ที่ นสพ. เดลินิวส์ นำมาเปิดเผยนั้น ยังมีข้อความอีกมากมาย ซึ่งล้วนเป็นความเท็จที่ปั้นแต่งขึ้นแบบอาฆาตมาดร้าย ขอยกมาให้ดูอีกนิดหนึ่ง ใบปลิวนั้นเขียนว่า

“… การดำเนินการของพระศรีวิสุทธิโมลี หรือพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) ในทุกเรื่องด้วยว่า ต้องการเปลี่ยนแปลงคณะสงฆ์ ทำการแก้ไขบิดเบือนพระไตรปิฎก ไม่เคยศึกษาด้านวิปัสสนาธุระหรือธุดงควัตรเลยตั้งแต่บวช …”

ด้านวิปัสสนานั้น พระธรรมปิฎกเข้าปฏิบัติตั้งแต่อยู่ในต่างจังหวัดเป็นสามเณร และพระอาจารย์กรรมฐานพอใจชวนให้มาอยู่ด้วยที่สำนักวิปัสสนาในกรุงเทพฯ แต่โยมบิดาขอไว้ไม่ให้มา จึงยั้งไว้ จะเห็นว่า ดร. เบญจ์-บรรจง นี้ไม่ใช่แค่ตัดต่อเท่านั้น แต่แต่งเติม ปั้นเรื่องเท็จใส่เพิ่ม บิดเบือน คือทำได้ทุกอย่างที่จะทำร้ายป้ายสีให้เสียหาย แต่เมื่อเป็นเรื่องเท็จ ยิ่งพูดมาก ความเท็จและเจตนาร้ายของเขาก็ยิ่งปูดออกมา

ส่วนเรื่องว่า “ทำการแก้ไขบิดเบือนพระไตรปิฎก” ก็เป็นการหาทางใส่ร้ายไปเรื่อยๆ ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาชี้แจง ตัวเขาเองนั้นพระไตรปิฎกก็แทบจะไม่รู้จัก เพียงพูดต่อๆ ตามๆ เขาไป ผิดๆ ถูกๆ แม้แต่ชื่อคัมภีร์ในพระไตรปิฎกเขาก็ยังเรียกไม่ถูก (อย่างในหนังสือ พระพุทธศาสนา ชะตาของชาติ (น. ๙๓, ๑๒๑) พูดถึงพระไตรปิฎก เล่ม ๘ คือ ปริวาร เขาเรียกชื่อเป็นปริวารวัคค์ และเรียกซ้ำๆ แสดงว่ามิใช่เผลอ มิใช่ว่าพูดเขียนบ่อยๆ แล้วพลั้งไปบ้าง แถมยังลบหลู่ว่าเป็น “พวกอรรถกถา” แสดงอาการเหยียดหยามหลักฐานที่ไม่ถูกใจตน)

ที่ว่ามาแสดงว่าคนกลุ่มนี้ขาดความรู้ธรรมวินัยและมิได้นับถือพระคัมภีร์ แล้วคนอย่างนี้จะมากล่าวหาท่านผู้อื่นว่าบิดเบือนพระไตรปิฎก ก็มีแต่ฟ้องว่าตัวเขาเองต้องมีเบื้องหลังจะทำการร้ายอะไรสักอย่าง และที่ชัดอยู่แล้วก็คือตัวเขาเองนั่นแหละได้บิดเบือนอะไรๆ อย่างที่ได้ชี้ให้ดูมาแล้ว เขาจึงไม่ใช่คนสุจริตที่จะเชื่อถือหรือไว้ใจอะไรได้

เรื่องว่า “ต้องการเปลี่ยนแปลงคณะสงฆ์” ก็แบบเดียวกัน จับโน่นต่อนี่ เจอคนอย่างนี้มีเรื่องไม่รู้จบ แต่พอรู้ทัน จับจุดได้ เรื่องก็จบ เพราะเขาจะพูดอะไรอีกเราก็รู้ก่อนแล้วว่าตัดต่อ-แต่งเติม-บิดเบือน-ปะติดปะต่อ เรื่องเปลี่ยนแปลงคณะสงฆ์ เราก็พูดล้อไปได้เลยว่า เมื่อมีอะไรไม่ดี พระเถระผู้บริหารท่านก็ต้องการเปลี่ยนแปลงทั้งนั้น คือเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น การที่พระวินยาธิการและเจ้าหน้าที่จับพระเหลวไหลสึกไป ก็เพราะท่านต้องการให้เปลี่ยนแปลง คือเปลี่ยนให้พระที่ประพฤติไม่ดีหมดไป

ตัดเอาแต่ส่วนที่ให้ร้ายได้ เพราะเจตนาทุจริตนำไป

เรื่องบางอย่างต้องอ่านให้ตลอด จับประเด็นให้ได้ และมองเห็นความประสงค์ของผู้พูด จึงจะเข้าใจเนื้อหาสาระชัดเจน ถ้าดูเฉพาะจุดเฉพาะที่ อาจจะเข้าใจผิดได้ ดังนั้นพวกคนที่เจตนาร้ายจึงใช้วิธีเอาคำพูดบางจุดบางส่วนที่ยังไม่จบเนื้อถ้อยกระทงความไปใส่ร้ายผู้อื่นได้

ดร. เบญจ์-บรรจง ก็ใช้วิธีที่ว่านี้ด้วย คือตัดคำพูดที่ยังไม่เต็มความไปกล่าวหาผู้อื่น ส่วนข้อความอื่นต่อจากนั้นที่จะทำให้คนอ่านเข้าใจเรื่องถูกต้อง ก็ทิ้งเสีย

ขอยกอีกตัวอย่างหนึ่ง ดร. เบญจ์-บรรจง ตั้งข้อกล่าวหา (คือใส่ร้ายนั่นเอง) ว่าพระธรรมปิฎก “เขียนข้อความเหยียดหยามหมิ่นพระบารมีขององค์พระประมุขของชาติว่าไร้พระปรีชา” (นี่เป็นคำพูดของ ดร. เบญจ์-บรรจง เอง) เขายกคำสนทนาให้สัมภาษณ์ของพระธรรมปิฎก ใน ปาจารยสาร ปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๓ หน้า ๖๘ มาอ้างว่า

“คณะสงฆ์ จะโดยรู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง ก็ไปยกย่องยกยอพระมหากษัตริย์แม้แต่ในเรื่องบุญญาธิการ พระก็อาจไปเทศน์ทำให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์นี่ได้สร้างสมบุญญาบารมีมามาก มีงานทีก็พูดสรรเสริญกัน ก็ทำให้ความรู้สึกเช่นนี้ถูกเน้นชัดขึ้นมา กลายเป็นว่าพระนี่คอยจะยกย่องกษัตริย์ กษัตริย์ก็พอใจในการสรรเสริญเยินยอ มันก็เสริมซึ่งกันและกัน…”

เรื่องจริงก็คือ ปาจารยสาร ได้สัมภาษณ์พระธรรมปิฎก และตรงนี้กำลังพูดถึงเรื่องในอดีต เช่นเกี่ยวกับไตรภูมิพระร่วง เรื่องสมัยหลายร้อยปีมาแล้ว ท่านกำลังชี้แจงเหตุปัจจัยในบางยุคบางสมัย ที่ทำให้การสอนพระพุทธศาสนาเน้นย้ำไปในบางจุดบางแง่ เช่นการเน้นแต่กรรมเก่า และการที่ไสยศาสตร์ (ในสมัยอยุธยาอย่างน้อยบางช่วง) เข้ามาเฟื่องฟูแม้แต่ในวงของพระพุทธศาสนา คือไม่ใช่เรื่องปัจจุบันอย่างที่ ดร. เบญจ์-บรรจง พยายามจะดึงให้คนอ่านเข้าใจ

ก็อย่างที่ชาวบ้านก็รู้กันดีว่า ในอดีตนั้น พระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐทรงแผ่ความร่มเย็นเป็นสุขแก่ประชาราษฎร์นำประเทศชาติให้รุ่งเรือง ก็มี แต่กษัตริย์ที่มัวเมาเหลวไหลทำให้เสียบ้านเสียเมือง ก็มี นี่เราพูดกันถึงเรื่องราวปางหลัง

แต่ที่สำคัญที่สุด ซึ่งแสดงเจตนาร้ายของ ดร. เบญจ์-บรรจง ออกมาชัดๆ ก็คือ ทั้งที่มีเนื้อความต่อไปอีก ที่จะทำให้ประเด็นของเรื่องชัดขึ้นมา เขาก็เว้นเสีย ไม่ยกมาให้ผู้อ่านได้ดู คือในเมื่ออดีตบางยุคมีปัญหาอย่างนั้นแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ตรงนี้พระธรรมปิฎกได้พูดไว้ แต่ ดร. เบญจ์-บรรจง ไม่พูดถึง จึงขอยกมาให้ดู

ปาจารยสาร ถามต่อไปว่า “จุดไหนบ้างครับในประวัติศาสตร์ ที่คนมีปัญญาเกิดมาเพื่อหยุดยั้งเรื่องนี้ หรือเขียนหนังสือไว้พอที่เราจะสืบค้นบ้าง มีไหมครับ”

พระธรรมปิฎก ตอบว่า “มันก็มีมาเรื่อยๆ แม้แต่เรื่องจำพวกการอ้อนวอนเทพเจ้า เรื่องไสยศาสตร์ ซึ่งถูกนำมาปนเปกับเรื่องบุญกรรม ก็มีประกาศรัชกาลที่ ๑ นี่ก็ชัดว่า รัชกาลที่ ๑ ไม่เอาไสยศาสตร์ มีการเตือนสติขึ้นมาเป็นครั้งคราว…” และยังมีการตอบคำถามต่อไปอีก จนถึงว่า “…ก็จะมีการตรวจสอบกันเป็นระยะๆ ตลอดมาถึงรัชกาลที่ ๔ จนถึงสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ท่านก็พยายามพูดอะไรอย่างเป็นเหตุเป็นผล…”

อ่านให้ครบอย่างนี้ ก็จะแจ่มแจ้งไปว่าคำกล่าวหาของ ดร. เบญจ์-บรรจง ไม่เป็นความจริง เป็นเพียงการแสดงเจตนาของคนที่มุ่งร้าย

ข้อที่ยังบกพร่องมีอยู่เพียงว่า เพราะเป็นการพิมพ์ในวารสารหนังสือพิมพ์ เลยยังเป็นคำสัมภาษณ์แบบภาษาพูดคุยกันบ้าง ถ้าเมื่อไรจะพิมพ์เป็นเล่มหนังสือ ก็จะต้องตรวจชำระให้ตลอด ตัดคำเฟ้อ เช่น ‘มัน’ ออกไป และเติมคำราชาศัพท์ให้ครบ

กลวิธี ดร. เบญจ์-บรรจง ที่แสดงมาเพียงเท่านี้ ก็เพียงพอแล้วที่จะให้มองเห็นว่าหนังสือของเขาเกิดขึ้นด้วยกรรมทุจริตอย่างไร รวมแล้ว กลวิธีสำคัญ ของเขา ก็คือ

  1. ตัดต่อ หรือตัดข้อความเอามาเพียงบางส่วน
  2. เอาข้อมูลหรือเหตุการณ์จริงส่วนหนึ่งมาตั้งเป็นโครง แล้วใส่เรื่องเท็จเติมเข้าไป
  3. ปั้นแต่งเรื่องเท็จขึ้นมาดื้อๆ ทั้งเรื่อง
  4. บิดเบือนเรื่อง
  5. สวมรอย ลอบทำร้าย

แม้ว่ากลวิธี ดร. เบญจ์-บรรจง ที่ได้ชี้ตีแผ่มานี้ จะทำให้รู้ทันความทุจริตและจับเท็จเขาได้แล้ว แต่ยังชี้เป็นจุดๆ คิดว่าควรจะชี้ความเท็จที่เป็นเรื่องๆ ด้วย จะได้เห็นชัดยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้นจึงจะขอยกประเด็นใหญ่ที่ ดร. เบญจ์-บรรจง สร้างความเท็จมาชี้ให้เห็นกลวิธีเท็จของเขาสัก ๒ เรื่อง ดังนี้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< หนังสือเท็จทุจริต ของ ดร. เบญจ์-บรรจงเรื่องพระธรรมปิฎกไปต่างประเทศ >>

เชิงอรรถ

  1. เส้นใต้ที่ขีดไว้ที่นี่ เพื่อใหเห็นชัดเจน สะดวกในการกำหนด

No Comments

Comments are closed.