จิตวิทยาชี้นำการศึกษาให้พัฒนาคนอย่างถูกทาง พฤติกรรมการกินอยู่ที่พัฒนา บ่งชี้ว่าการศึกษาได้เริ่มต้น

12 มกราคม 2538
เป็นตอนที่ 12 จาก 25 ตอนของ

จิตวิทยาชี้นำการศึกษาให้พัฒนาคนอย่างถูกทาง
พฤติกรรมการกินอยู่ที่พัฒนา บ่งชี้ว่าการศึกษาได้เริ่มต้น

ขอต่อไปอีกข้อหนึ่ง คือเรื่องระบบองค์รวม องค์รวมในระบบการดำรงอยู่ด้วยดีของมนุษย์นี้ จิตวิทยาจะต้องเอาใจใส่ โดยมองกว้างออกไปให้ครอบคลุม จะแยกตัวไปศึกษาเฉพาะจิตอย่างเดียวหรือพฤติกรรมอย่างเดียวไม่ได้ เพราะว่าเรื่องทางจิตใจนี้มีผลออกมาทางด้านพฤติกรรม แล้วออกไปในสังคม จิตวิทยาก็สนใจศึกษาเรื่องสังคมด้วย เราจึงมีจิตวิทยาสังคม แต่การศึกษาจิตวิทยาสังคมก็แยกไปเป็น specialization เสียอีก กลายไปเป็นความชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน ทำให้นักจิตวิทยาเองก็ไปแยกแดนจากกัน ไม่ได้มาทำงานร่วมมือกันเต็มที่

นอกจากสนใจในเรื่องสังคมแล้ว ก็ต้องสนใจเรื่องธรรมชาติแวดล้อมด้วย ถ้ามนุษย์จะอยู่ด้วยดีต่อไป ระบบการพัฒนาบอกแล้วว่าเวลานี้จะต้องเอาใจใส่สิ่งแวดล้อม ชีวิตจะอยู่ด้วยดีและจะมีความยั่งยืน มนุษย์จะต้องให้ความสำคัญแก่สิ่งแวดล้อมด้วย

การดำรงชีวิตของมนุษย์เป็นระบบ และระบบการดำรงอยู่ด้วยดีของชีวิตนี้ต้องมองให้ครบทั้ง ๓ ด้าน ๓ ส่วน หรือ ๓ องค์ประกอบ คือ

๑) ชีวิตหรือตัวมนุษย์

๒) สังคม และ

๓) สิ่งแวดล้อม

สามอย่างนี้จะต้องเอามาโยงประสานกัน และต้องพิจารณาให้ตลอด จึงเรียกว่าระบบองค์รวมที่สมบูรณ์ เริ่มแต่ชีวิตเองก็ต้องมองทั้งกายและใจ

มนุษย์จะต้องพัฒนาขึ้นไปถึงขั้นที่ว่า ไม่ว่าอะไรที่เกิดขึ้นจะต้องให้เกิดเป็นประโยชน์ที่เรียกว่า เป็นความเกื้อกูลต่อองค์รวมทุกส่วน คือ ถ้ามันเกื้อกูลต่อชีวิต ก็ต้องให้เกื้อกูลต่อสังคมด้วย และต้องเกื้อกูลต่อสิ่งแวดล้อมด้วย หรือถ้าเกื้อกูลต่อสังคมก็ต้องให้เกื้อกูลต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เกื้อกูลต่อชีวิตด้วย หรือถ้าเกื้อกูลต่อสิ่งแวดล้อม ก็ต้องให้เกื้อกูลต่อสังคมด้วย เกื้อกูลต่อชีวิตด้วย และถ้าเกื้อกูลต่อชีวิตด้านร่างกายก็ต้องให้เกื้อกูลต่อจิตใจด้วย หรือถ้าเกื้อกูลต่อใจก็ต้องให้เกื้อกูลต่อกายด้วย

เวลานี้มนุษย์พัฒนามาถึงจุดหัวต่อนี้ หมายความว่า เราได้ประสบปัญหาจนกระทั่งว่า มันทำให้เราต้องคิดในแง่นี้ จิตวิทยาก็จะต้องพิจารณาเรื่องนี้ด้วย ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นแก่มนุษย์หรือสิ่งที่มนุษย์จะทำนั้น ทำอย่างไรจะให้เกิดประโยชน์ที่เกื้อกูลทั้ง ๓ ส่วนอย่างนี้ จนกระทั่งเราสามารถพูดได้ว่า สิ่งใดที่เกื้อกูลต่อชีวิตก็เกื้อกูลต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย สิ่งใดเกื้อกูลต่อสังคมก็เกื้อกูลต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมด้วย สิ่งใดเกื้อกูลต่อสิ่งแวดล้อมก็เกื้อกูลต่อชีวิตกายใจและสังคมด้วย ถ้าเราสามารถทำได้ถึงขั้นนี้ อันนี้คือการพัฒนาที่ยั่งยืน

ถ้าจะให้การพัฒนามาถึงจุดนี้เราจะทำอย่างไร จิตวิทยาจะมีบทบาทมาช่วยได้อย่างไร ตอบว่าการพัฒนามนุษย์ด้วยจิตวิทยาแบบยั่งยืนนี้แหละจะเป็นแกนสำคัญ ที่ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กล่าวมา เพราะการพัฒนามนุษย์ที่แท้จริง และการใช้จิตวิทยาให้สำเร็จประโยชน์อย่างแท้จริง จะมีผลอย่างนั้น จนกระทั่งว่าสิ่งที่เกื้อกูลต่อชีวิตก็เกื้อกูลต่อสังคมด้วย เป็นต้น อย่างที่ว่าไปแล้ว

ตอนนี้ก็จะยกตัวอย่างอีก เอาง่ายๆ ก่อนในเรื่องธรรมดานี่แหละคือ การกินการอยู่การเสพบริโภควัตถุ มนุษย์เราที่มีชีวิตกันอยู่นี้เราบริโภคปัจจัยสี่ เช่น กินอาหาร ถ้ามนุษย์กินอาหารด้วยพื้นฐานทางจิตวิทยาที่ถูกต้อง มันจะต้องเกื้อกูลต่อชีวิตทั้งร่างกายและจิตใจของเขา และเกื้อกูลต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมพร้อมไปด้วยกัน เราหาจุดเชื่อมได้ไหมว่าจิตวิทยาแบบไหนจะทำให้การกินอาหารนี้เกื้อกูลได้ทั้ง ๓ ด้านอย่างนี้

แบบที่ ๑ ถ้าเรามีแนวคิดทางจิตวิทยาว่า ความสุขของมนุษย์อยู่ที่การเสพวัตถุ เรามีรูปภาพสวยงามดู เรามีเสียงไพเราะฟัง เรามีกลิ่นหอมดม เรามีรสอาหารอร่อยให้ลิ้นลิ้ม ถ้าอย่างนี้เราก็กินด้วยพื้นฐานทางจิตวิทยา ที่มีความเชื่อคือทิฏฐิที่แฝงอยู่เบื้องหลังว่าการกินอาหารที่อร่อยคือความสุขของมนุษย์ ถ้าเราดำเนินชีวิตเพื่อสนองแนวความคิดความเชื่ออันนี้ จะมีผลอย่างไร? ผลจะเกิดขึ้นในแบบที่ว่าสิ่งที่เกื้อกูลต่อชีวิตจะเกื้อกูลต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ลองคิดดู ถ้ากินด้วยสนองความต้องการรสอร่อย จะเกิดผลอะไรบ้าง?

๑. อร่อย แง่นี้ได้ผลแล้ว คือมีความพอใจ ลัทธิเศรษฐกิจสมัยใหม่ก็บอกว่าถูกต้อง เศรษฐศาสตร์สายหลักยอมรับ เศรษฐศาสตร์ก็ประสานสอดคล้องสนับสนุน

๒. แต่ในเชิงธรรมชาติของชีวิตที่เป็นจริง พอกินเพื่อรสอร่อยจะเกิดผลอย่างไรต่อร่างกาย? ในด้านจิต เมื่อมีความเชื่อว่ากินเพื่อเสพรสอร่อย การกินเป็นการสนองความต้องการที่สอดคล้องกัน ก็ได้ผลทางจิตใจ คือ เกิดความชอบใจ พอใจในรสอร่อย แต่ทางด้านร่างกายเป็นอย่างไร ลิ้นได้รับรสอร่อย แต่ร่างกายตกอยู่ในภาวะเสี่ยง

๑) เสี่ยงต่อการเกิดผลร้ายต่อร่างกายที่ว่า เพราะอร่อย ชอบใจ ก็กินมากจนอาหารไม่ย่อย อึดอัด และเกิดปัญหาสุขภาพ

๒) กินสิ่งที่มีรสอร่อยโดยไม่ได้คำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการ ไม่ใช้ปัญญาพิจารณา มุ่งแต่จะเสพรส จึงทำให้กินสิ่งที่อาจจะเป็นโทษต่อร่างกาย เช่น สารเคมี สิ่งปรุงแต่งสีแต่งรส ทำให้เสียสุขภาพ เช่น เกิดไขมันในเส้นเลือดสูง หรือสารเคมีเป็นพิษในร่างกาย อาจจะเกิดมะเร็งหรือปัญหาอื่นทำนองนี้หลายอย่าง

รวมความว่า การกินอย่างนี้ ทำให้เกิดความขัดแย้งในระบบของชีวิตเอง

ทีนี้ต่อสังคมเป็นอย่างไร ในด้านสังคม ผลก็คือ เมื่อกินเพื่อรสอร่อย ก็กินอย่างไม่จำกัดขอบเขตและเที่ยวพล่านหาสิ่งที่อร่อยกิน ก็จะเป็นทางให้มีการโฆษณาและแต่งอาหารต่างๆ เพื่อหาเงินจากเรา เราก็ต้องใช้เงินมากเข้า อาจจะต้องกินอาหารมื้อละเป็นพัน เป็นหมื่น เพื่อจะให้ได้คุณค่าอาหารนิดเดียว

๑) ตัวเองก็ใช้จ่ายสิ้นเปลือง

๒) สังคมมีวิถีชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย

๓) เกิดการเบียดเบียนแย่งชิงกันในสังคมมากขึ้น

เมื่อเป็นอย่างนี้ มนุษย์ก็จะไม่เกื้อกูลกัน แต่จะแย่งชิงเบียดเบียนกันมากขึ้น เกิดผลเสียทางสังคม

ในแง่สิ่งแวดล้อม เมื่อบริโภคมาก ก็จะเกิดผลเสีย คือ ในกระบวนการผลิตก็ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และก่อมลภาวะให้อากาศเสีย ดินเสีย น้ำเสีย แล้วอะไรอีก เมื่อต้องผลิตในรูปแบบต่างๆ เพื่อจะแต่งสรรให้น่าบริโภคที่สุด แม้แต่สิ่งหุ้มห่อก็ต้องทำให้รุงรังสวยงามที่สุด เพื่อล่อใจเป็นต้น การผลิตต่างๆ นี้ก็จะยิ่งก่อให้เกิดมลภาวะมากขึ้น พร้อมกันไปกับการบริโภคมากที่เพิ่มขยะจนจัดการไม่ทัน ทั้งทำลายทรัพยากรและทำให้เกิดมลภาวะ

เพราะฉะนั้น การกินบนพื้นฐานความเชื่อแบบนี้ และด้วยสภาพจิตใจแบบนี้ ก็จะเกิดผลเสียแก่ชีวิตทั้งด้านร่างกายสุขภาพ เกิดผลเสียต่อสังคม และเกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม

แบบที่ ๒ ทีนี้หันมาพัฒนาพฤติกรรมในการกินเสียใหม่ให้ถูกต้องและเกื้อกูล ก็มาดูว่าพฤติกรรมในการกินที่ถูกต้องจะเกิดขึ้นได้อย่างไร จะเห็นชัดว่ามันต้องสัมพันธ์กันหมด ทั้งด้านพฤติกรรม ด้านจิตใจ และด้านปัญญา

เริ่มต้น คนที่จะกินได้ถูกต้อง ก็คือต้องกินเพื่อผลที่เป็นจุดหมายที่แท้จริงของการกินนั่นเอง และจุดหมายหรือวัตถุประสงค์นี้จะรู้ได้ด้วยปัญญา หรือด้วยการรู้จักคิดพิจารณา ดังนั้นจึงต้องเริ่มจากการที่ต้องมีปัญญา และต้องกินด้วยปัญญา โดยรู้ประโยชน์ รู้ความมุ่งหมายของการกิน ว่ากินเพื่ออะไร

ถ้าเราฝึกปัญญาเริ่มให้คิด โดยถามว่ากินเพื่ออะไร คำตอบก็จะตามมาว่ากินเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกายให้แข็งแรง ให้ชีวิตเป็นอยู่ได้ และมีสุขภาพดี แล้วเราจะได้ใช้ร่างกายนี้ดำเนินชีวิตที่ดีงาม สร้างสรรค์ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ พูดสั้นๆ ว่า กินเพื่อสนองความต้องการที่จะให้ร่างกายดำรงอยู่ด้วยดี หรือกินเพื่อสนองความต้องการของชีวิต

พอเรามองที่จุดนี้ การกินจะมีขอบเขตขึ้นมาทันที เวลาจะกิน ความมุ่งหมายที่รู้ด้วยปัญญาก็จะมาจำกัดขอบเขตว่า

๑) กินเท่าไรจึงจะพอดีกับความต้องการของร่างกาย ปริมาณ อาหารที่จะกินก็ถูกจำกัดอย่างถูกต้อง

๒) มันจะบอกให้เราเลือกอาหาร ที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์ โดยไม่ต้องไปมัวคำนึงมากนักกับรสกลิ่น การแต่งสีและสิ่งหุ้มห่ออะไรต่างๆ ประเภทของอาหารก็จะถูกจำกัดอย่างถูกต้อง

ทั้งสองข้อนี้จะทำให้เกิดผลในการประหยัดไปด้วย พอเราปฏิบัติตามนี้ พฤติกรรมในการกินก็เปลี่ยนแปลงพัฒนาไป และจะทำให้เราได้อะไรบ้าง?

๑) สุขภาพร่างกายของเราดี เพราะกินอาหารที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์ในปริมาณที่พอดี ร่างกายก็ได้สุขภาพ

๒) จิตใจของเราเป็นอย่างไร? เราก็พอใจเป็นสุขด้วย เพราะว่าตอนนี้ความรู้ความเข้าใจและความต้องการที่ถูกต้อง ทำให้เราอยากกินอาหารที่ทำให้มีสุขภาพดี เมื่อเราได้สนองความต้องการอย่างนี้ คือสนองความต้องการกินอาหารที่มีคุณภาพ เราก็มีความพึงพอใจและมีความสุข ซึ่งเป็นความสุขอีกแบบหนึ่ง ที่ไม่เหมือนกับการสนองความต้องการเสพรสอร่อย

พร้อมกันนั้น ก็เกิดความมั่นใจที่รู้ว่าได้มีพฤติกรรมในการกินอย่างถูกต้อง ตรงตามจุดหมายที่เป็นจริง เป็นการกินอย่างฉลาด คือกินด้วยปัญญาที่รู้ความจริง เป็นความมั่นคงทางจิตใจ

พฤติกรรมการกินที่ถูกต้อง จึงเป็นการสนองความต้องการของชีวิตทั้งระบบ คือ ทั้งของร่างกาย (ได้สุขภาพ) จิตใจ (มีความสุข) และปัญญา (ตรงกับความจริง) ประสานกลมกลืน ไม่ขัดแย้งกัน

ต่อไป ด้วยการกินอย่างนี้ ก็ทำให้เราใช้จ่ายสิ้นเปลืองน้อยและแย่งชิงกันน้อย ไม่ต้องเบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบกันในสังคม พร้อมทั้งสามารถเผื่อแผ่แบ่งปันกันได้มากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อสังคม

จากนั้น ผลต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อบริโภคพอดีในปริมาณที่จำกัดด้วยขอบเขตแห่งความมุ่งหมายที่ถูกต้อง ก็ทำลายทรัพยากรน้อย ทำให้เกิดของเสียก่อมลภาวะน้อย

เพราะฉะนั้น พฤติกรรมการกินที่ถูกต้องจึงทำให้เกิดผลดีทั้งต่อชีวิตร่างกายจิตใจ และต่อสังคม แล้วก็ต่อสิ่งแวดล้อม แต่การพัฒนาอย่างนี้จะทำได้อย่างไร? เพราะว่ามนุษย์ที่ยังไม่พัฒนา ก็ต้องกินอาหารตามรสอร่อย แต่ถ้าเราปล่อยตามนั้นหรือไปยอมรับว่าถูกต้อง ก็จะไม่มีทางแก้ไขปัญหา ทั้งปัญหาของชีวิตและปัญหาของโลก สิ่งแวดล้อมก็โทรม สังคมก็เบียดเบียนกัน แก้ไม่ได้ ถ้าไม่ได้แก้ไขปัญหาพฤติกรรมการกินของคน

พฤติกรรมการกินนี้จะแก้ได้มนุษย์ต้องใช้ปัญญา จึงต้องพัฒนาให้เขารู้จักกินด้วยการพิจารณาให้รู้ความหมายและความมุ่งหมายของการกิน ที่เรียกว่ามีโยนิโสมนสิการ ให้เป็นการกินด้วยปัญญา แล้วก็มีความสุขความพึงพอใจในการมีพฤติกรรมอย่างนั้น

รวมความว่า ให้องค์ประกอบทั้ง ๓ ด้านเหล่านี้มาประสานสัมพันธ์กัน มนุษย์จะต้องพัฒนา โดยใช้ระบบสัมพันธ์ให้บูรณาการเป็นองค์รวมอย่างที่ว่านี้ เพราะฉะนั้นความรู้ทางจิตวิทยาถ้าใช้อย่างถูกต้อง ก็จะมีผลต่อระบบการดำรงอยู่ด้วยดีของมนุษย์ ที่ว่านี้ คือ ทั้งชีวิต และสังคม แล้วก็สิ่งแวดล้อม อยู่กันด้วยดี จนกระทั่งว่ามนุษย์ยิ่งสุขมากขึ้น ชีวิตก็ดีขึ้น สังคมก็ดีขึ้น และสิ่งแวดล้อมก็ดีขึ้น

คำถามนี้จึงเป็นอีกข้อหนึ่งที่น่าสนใจ คือ เป็นไปได้ไหมที่มนุษย์จะสุขยิ่งขึ้น โดยที่สังคมก็เกษมศานต์ยิ่งขึ้น และธรรมชาติก็รื่นรมย์ยิ่งขึ้นด้วย

ถ้ามนุษย์ไม่สามารถตอบคำถามนี้ การแก้ปัญหาของโลกก็ไม่สำเร็จ เพราะมนุษย์ต้องการมีความสุขมากขึ้นแน่นอน แต่ขณะนี้เป็นปัญหาที่เกิดภาวะขัดกัน กล่าวคือ ถ้ามนุษย์สุขมากขึ้น คือตัวบุคคลหรือปัจเจกชนสุขมากขึ้น ก็ไม่สามารถทำให้สังคมสุขมากขึ้น เพราะสุขของบุคคลหนึ่งหมายถึงการทำให้คนอื่นและสังคมต้องสุขน้อยลง หรืออีกด้านหนึ่ง ในความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ถ้าบุคคลจะสุขมากขึ้น สิ่งแวดล้อมก็ต้องเสื่อมเสียลง

เวลานี้ความขัดกันนี้เป็นปัญหาที่ติดตันอยู่ในตัว ถ้าเราสามารถพัฒนาไปถึงจุดหมายนี้ได้ คือ ทำอย่างไรให้มนุษย์สุขยิ่งขึ้น พร้อมกับสังคมก็ดีขึ้น และธรรมชาติแวดล้อมก็ดีขึ้น หรืออยู่ได้อย่างดีด้วยกัน ก็จะเป็นคำตอบ

ศาสตร์ทั้งหลายในปัจจุบัน จะต้องหาทางเข้าถึงจุดหมายนี้ ถ้าเข้าถึงได้ก็ไม่ต้องมีปัญหา และมนุษย์จะมีการพัฒนาที่ยั่งยืนได้แน่นอน แค่นี้เอง คือ ทำให้มนุษย์แต่ละชีวิตแต่ละบุคคลสุขยิ่งขึ้นได้ โดยสังคมก็ดีขึ้น และธรรมชาติแวดล้อมก็อยู่ในสภาพที่ดี อันนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่จะพูดกันต่อไปถ้ามีเวลา

การหาความสุขของมนุษย์ เป็นเรื่องของจิตวิทยาที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะถ้าจิตวิทยาจะบริการแก่มนุษยชาติ ก็จะต้องบริการในเรื่องความสุขด้วย คือ จะต้องหาทางทำให้มนุษย์มีความสุขให้ได้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ในระบบสัมพันธ์ ที่กว้างออกไป จิตวิทยาชี้นำกลไกการจัดสรรสังคมการแก้ปัญหาของมนุษย์อย่างเป็นระบบ จะไม่เป็นระบบจริง ถ้าหยั่งไม่ถึงระบบมูลฐาน ในตัวมนุษย์เอง >>

No Comments

Comments are closed.