ดุลยภาพที่ไม่สัมฤทธิ์ คือข้อพิสูจน์สังคมว่ายังพัฒนาไม่สำเร็จ

16 มกราคม 2538
เป็นตอนที่ 16 จาก 25 ตอนของ

ดุลยภาพที่ไม่สัมฤทธิ์
คือข้อพิสูจน์สังคมว่ายังพัฒนาไม่สำเร็จ

เรื่องบูรณาการและดุลยภาพของธรรม ๔ ข้อนี้ มีความสำคัญมิใช่เฉพาะในความสัมพันธ์ของมนุษย์ระหว่างบุคคลเท่านั้น แต่มีผลกว้างไกลในระดับสังคมทั้งหมด กล่าวคือ ในสังคมใด ถ้ามนุษย์ขาดดุลยภาพ ขาดความพอดี ไม่มีบูรณาการในเรื่องนี้ ก็จะเกิดปัญหาแบบต่างๆ

จะเห็นได้ง่ายๆ สังคมใดหนักในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ในสังคมนั้นคนก็จะมีน้ำใจช่วยเหลือกันมาก คนใจดี หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส อยู่ร่วมกันด้วยความสัมพันธ์อันดี อบอุ่น มีความสุข

แต่อีกด้านหนึ่ง สังคมนั้นอาจจะละเลยหรือย่อหย่อนในด้านหลักการและความเป็นธรรม เพราะไม่รู้จักวางอุเบกขา ถ้าเป็นอย่างนี้สังคมนั้นก็จะมีปัญหา คือ คนจะช่วยเหลือกันจนกระทั่งลืมหรือมองข้ามกฎหมาย ไม่ทำตามกฎกติกา ละเลยทอดทิ้งหลักการ ด้วยเหตุนั้นความชอบธรรมความเป็นธรรมในสังคมก็จะเสียไป

ข้อเสียหายอีกอย่างหนึ่งของสังคมแบบนี้ ถ้าเป็นไปมาก คือ เมื่อมนุษย์มีเมตตากรุณาช่วยเหลือกันมาก ก็จะทำให้คนจำนวนหนึ่งคอยหวังพึ่งผู้อื่น จะรอรับความช่วยเหลืออยู่เรื่อยไป ได้แต่คิดหวังว่า อ๋อ ไม่เป็นไร เดี๋ยวนะ ถ้าเราขาดแคลน เรายากจนลง เราก็ไปขอจากญาติพี่น้องได้ ไปหาไปยืมเพื่อนได้ ไม่มีก็ไม่เป็นไร ไม่อดตายหรอก ฯลฯ คือคอยหวังพึ่งคนอื่นได้เรื่อย ก็ทำให้ตกอยู่ในความประมาท ที่พระพุทธเจ้าทรงติเตียนมาก เพราะความประมาทเป็นเหตุแห่งหายนะ ทำให้ชีวิตไม่ก้าวหน้า คนเฉื่อยชา ไม่เข้มแข็ง กาลเวลาสูญเปล่า และสังคมก็ไม่เจริญ

รวมความว่า สังคมที่เอียงไปข้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล มีเมตตากรุณามาก จะมีข้อบกพร่องอย่างที่ว่า

๑) ทำให้เสียหลักการ ความชอบธรรมถูกทอดทิ้ง

๒) ทำให้ตกอยู่ในความประมาท ปล่อยเวลาล่วงไปเปล่า

๓) ทำให้คนในสังคมนั้นอ่อนแอ ขาดความเพียรพยายาม ไม่รู้จักฝึกหัดช่วยตัวเอง พึ่งตัวเองไม่ได้ ได้แต่หวังพึ่งผู้อื่น หรืออำนาจภายนอกที่จะมาบันดาลให้หรือไม่ก็รอโชคช่วย

ส่วนสังคมบางสังคมก็ตรงข้าม สุดโต่งไปอีกทาง คือเอาแต่อุเบกขา หย่อนในด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ขาดเมตตา กรุณา ความช่วยเหลือกันในระหว่างมนุษย์ไม่ค่อยมี แห้งแล้งน้ำใจ ไม่เอาใจใส่กัน จะเป็นแบบที่ว่าถือแต่หลักการ เอาแต่กฎเกณฑ์กติกา คอยดูอยู่แค่ว่ากฎหมายว่าอย่างไร กติกาสังคมว่าอย่างไร คุณปฏิบัติไปตามนั้น ถ้าคุณปฏิบัติถูกแล้วไป ถ้าคุณปฏิบัติผิดก็โดนจัดการ สังคมแบบนี้เรียกว่าสังคมที่หนักในอุเบกขา ไปๆ มาๆ เมื่อหย่อนในด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล แห้งแล้งน้ำใจ ก็จะเป็นสังคมตัวใครตัวมัน

ในสังคมที่ตัวใครตัวมัน เอียงไปข้างอุเบกขา เอาแต่กฎกติกามาบังคับควบคุมกัน ให้แต่ละคนรับผิดชอบต่อกฎเกณฑ์กติกาเอาเอง เฉยเมย ไม่ต้องช่วยกัน สังคมแบบนี้ก็จะมีจุดอ่อน ในแง่ที่ว่าแห้งแล้งน้ำใจ เหงา อ้างว้าง ว้าเหว่ ประสาทกระวนกระวาย จิตใจเครียด ไม่ค่อยมีความสุข แต่มีผลดี คือ

๑) ทำให้รักษาความเป็นธรรมและหลักการของสังคมไว้ได้

๒) ทำให้คนเข้มแข็ง เพราะไม่สามารถรอคอยหวังความช่วยเหลือจากใครได้ ทุกคนจะต้องดิ้นรนสุดฤทธิ์เพื่อให้ตัวรอด และให้เหนือคนอื่น ต้องกระตือรือร้นขวนขวาย แข่งขันกันเต็มที่ เมื่อรอใครไม่ได้ก็ต้องทำเอง และเมื่อทำก็ต้องเพียรพยายาม ทำให้คนเข้มแข็ง แต่อาจจะค่อนไปทางแข็งแบบกระด้างหรือก้าวร้าว

อย่างไรก็ตาม จะต้องระวังว่าข้อเสียอีกอย่างหนึ่งก็รออยู่ด้วยคือ สังคมแบบนี้โดยพื้นฐานก็คือสังคมกฎป่า ที่ว่าใครดีใครอยู่ ใครแข็งใครรอด ทุกคนต้องดิ้นให้ตัวรอด และแข่งให้ขึ้นหน้าคนอื่น ถ้าเลยเถิดไป เมื่อคนขาดเมตตากรุณาไม่มีน้ำใจกันเลยจนกระทั่งถึงที่สุดแล้ว จะเกิดสภาพจิตที่เครียด จนกระทั่งมนุษย์แต่ละคนนั้นจะเกิดความคับแค้นชิงชัง ไม่พอใจเต็มที่ เกิดโทสะรุนแรง แล้วอาจจะทำลายแม้แต่หลักการทั้งหมดของสังคมนั้น เพราะมันทำให้เขาไม่มีความสุข อัดอั้นตันด้วยทุกข์ เดือดร้อนเหลือทน จนไม่มีทางไป จะเอาไว้ทำไมหลักการของสังคมอันนี้ ในที่สุดสังคมที่สุดโต่งไปทางอุเบกขาก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน

เวลานี้สังคมทั้งหลายที่ยังอยู่ได้ก็เพราะยังมีอยู่บ้างในทั้ง ๔ ข้อนั้น แต่ต่างกันที่ว่าสังคมใดจะหย่อนจะเอียงไปข้างไหนมาก

ขอให้พิจารณาสังคมไทยเราว่า เอียงไปข้างไหน เอียงในทางขาดอุเบกขาใช่ไหม คือหนักไปในทางความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

สังคมฝรั่งเอียงทางไหน เอียงไปในทางที่ว่าหนักข้างอุเบกขา แต่หย่อนในด้านเมตตากรุณา

ที่ว่ามานี้ก็เพื่อให้เห็นว่า แม้แต่ในระดับสังคม ถ้าขาดดุลยภาพในธรรม ๔ ข้อนี้ก็จะเป็นปัญหา

แม้แต่แคบเข้ามาในสังคมระดับครอบครัว ถ้ามองดูการเลี้ยงลูกในสังคมไทยกับในสังคมฝรั่ง ก็จะเห็นได้ถึงความเอียงหรือเสียดุลนี้

ลองมาพิจารณาหาทางสร้างชีวิตและสังคมให้มีดุลยภาพ ทำไมพระพุทธเจ้าตรัสเรียกธรรมหมวดนี้ว่าพรหมวิหาร คำว่า “พรหมวิหาร” แปลว่า ธรรมประจำใจของพระพรหม

พระพรหมนั้น ศาสนาพราหมณ์เขาเชื่อว่าเป็นผู้สร้างโลกและเป็นผู้หล่อเลี้ยงพิทักษ์รักษาผดุงโลกนี้ไว้ พระพุทธเจ้าตรัสสอนหลักพรหมวิหารนี้ให้ทุกคนปฏิบัติเพื่ออะไร เพราะเราทุกคนมีส่วนรับผิดชอบ ที่จะต้องช่วยกันสร้างสรรค์ผดุงพิทักษ์อนุรักษ์โลกนี้ไว้ ดังนั้นทุกคนจะต้องเป็นพระพรหม พระพุทธเจ้าตรัสพรหมวิหารให้ทุกคนปฏิบัติเพื่อให้เราทุกคนเป็นพรหม เพราะเราทุกคนมีส่วนร่วมในสังคมนี้หรือในโลกนี้ เราทุกคนจึงมีหน้าที่รับผิดชอบที่จะต้องสร้างสรรค์และผดุงพิทักษ์โลกนี้ไว้

ถ้าเราปฏิบัติตามหลักพรหมวิหาร เราก็มีส่วนในการผดุงโลกนี้ไว้ และโลกคือสังคมมนุษย์ก็จะดำรงอยู่ด้วยดีมีสันติสุข แต่ถ้าเราจะมัวรอพระพรหมเทพเจ้า ที่ว่าสร้างโลกนั่นละก็แย่แน่ เพราะว่าถ้าเราไม่เป็นพรหม เราไม่ปฏิบัติตามหลักพรหมวิหาร เราก็ทำอะไรๆ ตามใจตัว แล้วก็ช่วยกันทำลายโลกนี้เสีย รอให้พระพรหมเทพเจ้าของพราหมณ์มาสร้างท่าเดียว พอมนุษย์ทำให้โลกนี้สลายจนอยู่กันไม่ได้แล้ว พระพรหมก็สร้างใหม่เสียที ระหว่างนั้นพระพรหมเทพเจ้าก็ช่วยอะไรไม่ได้

เพราะฉะนั้น มนุษย์ทุกคนจะต้องเป็นพรหม คือ จะต้องมาช่วยกันพิทักษ์ผดุงโลกนี้ไว้ โดยปฏิบัติตามหลัก ๔ ข้อนี้ เชื่อเถิดว่าถ้าเราปฏิบัติตามหลักพรหมวิหาร โลกนี้อยู่ได้แน่ แต่ขอให้ปฏิบัติให้ถูกตามหลักดุลยภาพนี้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ประสานระบบบูรณาการคุณสมบัติในตัวคน กับสถานการณ์ในสังคมได้ ก็รักษาดุลยภาพของสังคมมนุษย์สำเร็จการศึกษาของคน เริ่มต้นด้วยการเลี้ยงดูในครอบครัว ถ้าพ่อแม่เลี้ยงลูกไม่สมดุล สังคมก็ไม่อาจพัฒนาไปด้วยดี >>

No Comments

Comments are closed.